กระทงลาย
กระทงลาย ชื่อสามัญ Black ipecac, Black oil plant, Black oil tree, Celastrus dependens, Climbing staff plant, Climbing staff tree, Intellect tree[2]
กระทงลาย ชื่อวิทยาศาสตร์ Celastrus paniculatus Willd. จัดอยู่ในวงศ์กระทงลาย (CELASTRACEAE)[1]
สมุนไพรกระทงลาย มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า นางแตก (นครราชสีมา), มะแตก มะแตกเครือ มักแตก (ภาคเหนือ, ภาคอีสาน), กระทงลาย กระทุงลาย โชด (ภาคกลาง), หมากแตก เป็นต้น[1],[2],[4],[5]
ลักษณะของกระทงลาย
- ต้นกระทงลาย จัดเป็นไม้เถาเนื้อแข็งขนาดใหญ่ มีความสูงของต้นประมาณ 3-10 เมตร หรือขึ้นพาดพันต้นไม้อื่นไปได้ไกลถึง 10 เมตร เปลือกลำต้นเป็นสีน้ำตาลปนสีเทา ผิวขรุขระเล็กน้อย ตามกิ่งจะมีรูอากาศกระจายอยู่ทั่วไป ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการใช้เมล็ด ขึ้นได้ในดินทุกชนิด ชอบแสงแดดแบบเต็มวัน สามารถพบต้นกระทงลายได้ทั่วไป โดยมักขึ้นตามป่าเบญจพรรณ ป่าโปร่ง ป่าดงดิบ ป่าผลัดใบ ป่าละเมาะ หรือตามพื้นที่โล่ง ที่ความสูงเหนือระดับน้ำทะเลตั้งแต่ 0-1,300 เมตร และจะพบได้มากทางภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีเขตการกระจายพันธุ์อยู่ทางจีนตอนใต้ พม่า อินเดีย ภูมิภาคอินโดจีน ภูมิภาคมาเลเซีย จนถึงออสเตรเลีย และนิวแคลิโดเนีย สำหรับในประเทศไทยสามารถพบได้ทั่วทุกภาค[1],[2],[3],[4],[5],[7]
- ใบกระทงลาย ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับกัน ลักษณะของใบเป็นรูปรี หรือรูปวงรี หรือเป็นรูปวงรีแกมรูปขอบขนาน ปลายใบแหลม โคนใบมนสอบเข้าหากัน ส่วนขอบใบหยักละเอียดเป็นฟันเลื่อย ใบมีขนาดกว้างประมาณ 2.5-6 เซนติเมตร และยาวประมาณ 5-8 เซนติเมตร หลังใบเรียบ ส่วนท้องใบมีขนอยู่ประปราย มีเส้นแขนงใบประมาณ 5-9 คู่ มองเห็นได้ชัดเจน และก้านใบยาวประมาณ 0.8-2.5 เซนติเมตร[1],[2],[6]
- ดอกกระทงลาย ออกดอกเป็นช่อแบบแยกแขนงที่ปลายกิ่งหรือปลายยอด ยาวประมาณ 4-8 นิ้ว ดอกเป็นแบบแยกเพศ ดอกย่อยมีขนาดเล็กและมีจำนวนมาก ดอกเป็นสีขาวอมสีเหลือง มีกลีบดอก 5 กลีบและมีกลีบเลี้ยงดอก 5 กลีบ โคนกลีบดอกเชื่อมติดกันคล้ายรูประฆัง ปลายกลีบดอกแยกออกเป็นแฉก มีลักษณะค่อนข้างกลม และมีขนขึ้นประปราย ฐานดอกเป็นรูปถ้วยนูน กลางดอกเพศผู้มีเกสรอยู่ 5 ก้าน ยาวประมาณ 2.2.5 มิลลิเมตร ส่วนดอกเพศเมียมีเกสรยาวกว่าเกสรเพศผู้และปลายแยกเป็น 3 แฉก โดยจะออกดอกในช่วงเดือนมีนาคมถึงเดือนพฤษภาคม[1],[4],[6]
- ผลกระทงลาย ผลมีลักษณะค่อนข้างกลม ผลมีขนาดกว้างประมาณ 5-8 มิลลิเมตรและยาวประมาณ 5-10 มิลลิเมตร ผิวผลเรียบ มีลักษณะเป็นพู 3 พู ที่ปลายผลมียอดเกสรเพศเมียติดอยู่ แต่พอผลแก่เต็มที่แล้วเกสรที่ปลายก็จะหลุดออก ผลอ่อนเป็นสีเขียว พอแก่แล้วจะเปลี่ยนเป็นสีส้มปนเหลืองและแตกออกเป็น 3 ซีก ในแต่ละผลจะมีเมล็ดอยู่ประมาณ 3-6 เมล็ด (พูละประมาณ 2 เมล็ด) เมล็ดกระทงลายมีลักษณะเป็นรูปไข่หรือรูปรีและมีเนื้อเยื่อหุ้มเมล็ดสีแดง เมล็ดมีขนาดกว้างประมาณ 2-3 มิลลิเมตรและยาวประมาณ 3.5-5 มิลลิเมตร โดยจะติดผลในช่วงเดือนกรกฎาคมถึงเดือนตุลาคม[1],[3],[4],[6]
สรรพคุณของกระทงลาย
- ใบมีฤทธิ์ในการกระตุ้นประสาท ด้วยการนำใบมาต้มหรือคั้นเอาแต่น้ำกิน (ใบ)[1],[6]
- สารสกัดด้วยน้ำมันจากเมล็ดสามารถช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในด้านความจำได้ (เมล็ด)[8]
- ผลช่วยบำรุงโลหิต (ผล)[2],[5]
- แก่นใช้เป็นยารักษาวัณโรค (แก่น)[2],[5]
- ใช้เป็นยาแก้ไข้มาลาเรีย (เปลือก[1], ราก[2],[5])
- เมล็ดใช้เป็นยาแก้ไข้ (เมล็ด)[1]
- ช่วยขับเหงื่อ (น้ำมันจากเมล็ด)[2]
- ใช้ราก เถา และใบ รับประทานเป็นยาแก้ไข้ลงท้องหรืออาการท้องเดิน (ราก, เถา, ใบ)[9]
- รากตากแห้งใช้ต้มผสมกับข้าวเปลือก 9 เม็ด ใช้ดื่มกินแก้อาการปวดท้อง หรือจะใช้เถาและรากรับประทานก็ได้เช่นกัน (ราก, เถา)[3],[9]
- ใบนำมาต้มหรือคั้นเอาแต่น้ำกินช่วยรักษาโรคบิด หรือจะใช้เปลือกต้นนำมาตำผสมกับตัวมดแดงและเกลือใช้กินครั้งเดียวเพื่อแก้อาการบิดก็ได้ (ใบ, เปลือกต้น)[2],[6]
- ผลช่วยแก้ลมจุกเสียด (ผล)[2],[5]
- ลำต้นนำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยาขับปัสสาวะ (ลำต้น)[2]
- ช่วยแก้ไตพิการ (โรคเกี่ยวกับทางเดินปัสสาวะ มีปัสสาวะขุ่นข้นเป็นสีเหลืองหรือแดง และมักมีอาการแน่นท้อง กินอาหารไม่ได้ร่วมด้วย) ด้วยการใช้ลำต้นนำมาต้มกับน้ำเป็นยาดื่ม (ลำต้น)[2]
- ใบใช้ถอนพิษฝิ่น ด้วยการใช้ใบนำมาต้มหรือคั้นเอาแต่น้ำกิน (ใบ)[1],[6]
- ใบใช้ถอนพิษฝี (ไม่ยืนยัน)[9]
- ผลช่วยแก้พิษงูได้ แต่ยังไม่มีรายงานทางวิทยาศาสตร์รับรอง (ผล)[2]
- น้ำมันจากเมล็ดใช้รักษาโรคเหน็บชา (น้ำมันจากเมล็ด)[2]
- เมล็ดใช้กินหรือใช้พอกรักษาโรคปวดตามข้อ ปวดตามกล้ามเนื้อ(เมล็ด)[2]
- เมล็ดนำมาตำให้ละเอียด ใช้พอกหรือกินเป็นยาแก้โรคอัมพาต (เมล็ด)[2]
- ช่วยบำรุงน้ำนมของสตรีหลังการคลอดบุตรใหม่เวลาอยู่ไฟ (เข้าใจว่าใช้รากต้มผสมกับกับข้าวเปลือก 9 เมล็ด ใช้ดื่มเป็นยา)[3]
- เถานำมาต้มหรือฝนเป็นยารับประทานแทนการอยู่ไฟของสตรีหลังคลอดบุตรและอยู่ในเรือนไฟ อีกทั้งยังเป็นยาบำรุงน้ำนมด้วยอีกด้วย (เถา)[9]
ประโยชน์ของต้นกระทงลาย
- ยอดอ่อนสามารถนำมาใช้แกงใส่ไข่มดแดงหรือใช้ลวกรับประทานร่วมกับน้ำพริก[3]
- น้ำมันจากเมล็ดใช้ตามไฟหรือเคลือบกระดาษกันน้ำซึม[4]
- ผลสามารถนำไปสกัดน้ำมันทำเป็นน้ำมันเชื้อเพลิงได้[5]
- ในสมัยก่อนจะใช้เมล็ดแก่บีบเอาน้ำมันสำหรับใช้จุดตะเกียง[3]
เอกสารอ้างอิง
- หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1. “กระทงลาย (Krathong Lai)”. (ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์). หน้า 27.
- อุทยานธรรมชาติวิทยาสิรีรุกขชาติ, คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล. “กระทงลาย”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.pharmacy.mahidol.ac.th/siri/. [01 ก.พ. 2014].
- หนังสือพืชและอาหารสมุนไพรท้องถิ่นบนพื้นที่สูง, สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน). “กระทงลาย”. (อัปสร และคณะ).
- หนังสือ Flora of Thailand Volume 10 Part 2.
- มูลนิธิสุขภาพไทย. “หมากแตก ใช้ประโยชน์ได้หลายส่วน”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.thaihof.org. [01 ก.พ. 2014].
- ระบบฐานข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นของชุมชน, สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน). “กระทงลาย, มะแตก”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.bedo.or.th. [01 ก.พ. 2014].
- หนังสืออนุกรมวิธานพืช อักษร ก. ราชบัณฑิตยสถาน.
- Bhanumathy M. Harish MS. Shivaprasad HN. Sushma G (2010). “Nootropic activity of Celastrus paniculatus seed”. Pharmaceutical Biology 48 (3): 324–7.
- ศูนย์รวมข้อมูลสิ่งมีชีวิตในประเทศไทย, สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน). “มะแตกเครือ”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.thaibiodiversity.org. [01 ก.พ. 2014].
ภาพประกอบ : www.flickr.com (by dinesh_valke)
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)