กระถินเทศ สรรพคุณและประโยชน์ของต้นกระถินเทศ 38 ข้อ !

กระถินเทศ สรรพคุณและประโยชน์ของต้นกระถินเทศ 38 ข้อ !

กระถินเทศ

กระถินเทศ ชื่อสามัญ Cassie, Cassie Flower, Huisache, Needle Bush, Sponge Tree, Sweet Acacia, Thorny Acacia[1],[3],[5],[7]

กระถินเทศ ชื่อวิทยาศาสตร์ Acacia farnesiana (L.) Willd. จัดอยู่ในวงศ์ถั่ว (FABACEAE หรือ LEGUMINOSAE) และอยู่ในวงศ์ย่อยสีเสียด (MIMOSOIDEAE หรือ MIMOSACEAE)[7]

สมุนไพรกระถินเทศ มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า เกากรึนอง (กาญจนบุรี), บุหงาอินโดนีเซีย (กรุงเทพฯ), บุหงาละสะมะนา บุหงาละสมนา (ปัตตานี), กระถินเทศ กระถินหอม คำใต้ ดอกคำใต้ (ภาคเหนือ), กระถิน (ภาคกลาง), ถิน (ภาคใต้), กะถิ่นเทศ กะถิ่นหอม (ไทย), มอนคำ (เงี้ยว-แม่ฮ่องสอน), บุหงาเซียม (มลายู-ภาคใต้), อะเจ๋าฉิ่ว (จีน-แต้จิ๋ว), ยาจ้าวซู่ จินเหอฮวน (จีนกลาง) เป็นต้น[1],[2],[4],[5]

หมายเหตุ : พรรณไม้ชนิดนี้เคยใช้ชื่อ Acacia farnesia (L.) Willd. มาจนถึงปี ค.ศ.2005 แต่ในปัจจุบันได้เปลี่ยนมาอยู่ในสกุล Vachellia แล้วพร้อมกับชนิดอื่น ๆ แต่อย่างไรก็ตามอาจมีการเปลี่ยนกลับไปอยู่ในสกุลเดิมก็เป็นได้[7]

ลักษณะของกระถินเทศ

  • ต้นกระถินเทศ จัดเป็นพรรณไม้พุ่มผลัดใบขนาดย่อม กิ่งมักคดไปมาแต่จะยืดจนเกือบตรงเมื่อต้นเจริญเติบโตขึ้น ลำต้นมีลักษณะตั้งตรง มีความสูงได้ประมาณ 2-4 เมตร ตามลำต้นและกิ่งก้านมีหนามแหลม กิ่งออกในลักษณะซิกแซ็ก เปลือกต้นเป็นสีคล้ำน้ำตาล ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด ปักชำกิ่ง ตอนกิ่ง เจริญเติบโตได้ดีในดินร่วนซุยและดินเหนียวที่อุ้มน้ำได้ดี ต้องการน้ำปานกลาง ควรปลูกในที่มีแสงแดดทั้งวัน มีถิ่นกำเนิดในอเมริกากลางและอเมริกาใต้ พบขึ้นเป็นวัชพืชทั่วไปในเขตร้อน[1],[2],[5],[7]

ต้นกระถินเทศ

สมุนไพรกระถินเทศ

  • ใบกระถินเทศ ใบเป็นใบประกอบแบบขนนกสองชั้น เรียงสลับ แกนกลางใบประกอบยาวประมาณ 4-6 เซนติเมตร ก้านใบประกอบยาวประมาณ 1-1.3 เซนติเมตร มีต่อมบนก้านใบ เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 0.2-0.4 มิลลิเมตร ไม่มีต่อมบนแกนกลางใบ ช่อใบย่อยมี 4-7 คู่ ยาวประมาณ 1.5-3 เซนติเมตร ก้านใบประกอบย่อยยาวประมาณ 2 มิลลิเมตร ส่วนใบย่อยออกเรียงตรงข้ามกัน มีประมาณ 10-20 คู่ ลักษณะของใบย่อยเป็นรูปดาบ หรือรูปขอบขนาน ปลายใบแหลม เบี้ยว ปลายเป็นติ่ง โคนใบตัด ไร้ก้าน ใบย่อยเป็นสีเขียวแก่มีขนาดยาวประมาณ 2-7 มิลลิเมตร โคนก้านใบมีหูใบแปลงรูปเป็นหนามแหลมตรงและแข็ง 1 คู่ ยาวประมาณ 3-5 เซนติเมตร[1],[2],[5],[7]

ใบกระถินเทศ

หนามกระถินเทศ

  • ดอกกระถินเทศ ออกดอกเป็นช่อกระจุกแน่น มีลักษณะเป็นพุ่มกลม มีหลายช่อออกเป็นกระจุก ก้านช่อยาวประมาณ 1.5-4.5 เซนติเมตร ช่อดอกทรงกลมมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 0.6-1 เซนติเมตร ที่โคนช่อมีวงใบประดับขนาดเล็ก 4-5 ใบ ดอกย่อยไร้ก้าน ใบประดับ 1 ใบ ยาวประมาณ 1 มิลลิเมตร มีขน กลีบเลี้ยงติดกันเป็นหลอด ยาวประมาณ 1.3-1.5 มิลลิเมตร ปลายแยกออกเป็น 5 กลีบ ลักษณะเป็นรูปสามเหลี่ยมขนาดเล็ก ยาวประมาณ 0.2 มิลลิเมตร เกลี้ยง ส่วนกลีบดอกติดกันเป็นหลอด ยาวประมาณ 2.5 มิลลิเมตร ปลายแยกออกเป็น 5 กลีบ ลักษณะของกลีบดอกเป็นรูปขอบขนานขนาดเล็ก ยาวประมาณ 0.5 มิลลิเมตร กลีบดอกเป็นสีเหลืองสด และมีกลิ่นหอมมาก ดอกมีเกสรเพศผู้จำนวนมาก แยกจรดโคน ก้านชูอับเรณูยาวประมาณ 3.5-5.5 มิลลิเมตร ส่วนรังไข่ยาวได้ประมาณ 1.5 มิลลิเมตร เกือบไร้ก้าน เกลี้ยง และมีขนละเอียด ก้านเกสรเพศเมียมีลักษณะเรียวยาว ขนาดยาวเท่า ๆ เกสรเพศผู้ ยอดเกสรมีขนาดเล็ก จะให้ดอกเมื่อต้นมีอายุประมาณ 3 ปี โดนจะออกดอกในช่วงระหว่างเดือนพฤศจิกายนถึงเดือนมีนาคม[1],[5],[7]

รูปกระถินเทศ

ดอกกระถินเทศ

  • ผลกระถินเทศ ออกผลเป็นฝัก ฝักมีลักษณะกลมเป็นรูปทรงกระบอก ยาวได้ประมาณ 2-9 เซนติเมตร มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1-1.5 เซนติเมตร ฝักจะตรงหรือโค้งงอเล็กน้อย ผิวฝักหนาเกลี้ยง เมื่อฝักแก่จะไม่แตก ภายในฝักมีเมล็ดประมาณ 15 เมล็ด เรียงเป็น 2 แถว เมล็ดมีลักษณะเป็นรูปรี แบนเล็กน้อย ยาวประมาณ 7-8 มิลลิเมตร มีรอย (pleurogram) รูปรี ยาว 6-7 มิลลิเมตร[1],[2],[5],[7]

ฝักกระถินเทศ

ผลกระถินเทศ

เมล็ดกระถินเทศ

สรรพคุณของกระถินเทศ

  1. ตำรายาไทยจะใช้รากกระถินเทศกินเป็นยาอายุวัฒนะ (ราก)[1],[3]
  2. หากเป็นวัณโรคมีร่างกายอ่อนแอ ให้ใช้รากแห้งประมาณ 15-30 กรัม ต้มเอาน้ำตุ๋นกับเป็ด หรือไก่ หรือเต้าหู้ (อย่างใดอย่างหนึ่ง) ใช้กินวันละครั้ง (รากแห้ง)[2],[4]
  3. เมล็ดนำมาบดให้เป็นผง หรือคั่วกินเป็นอาหารปกติ จะช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดได้ (เมล็ด)[3]
  4. ยาขี้ผึ้งจากดอกใช้เป็นยาแก้ปวดศีรษะ (ดอก)[2]
  5. เปลือกใช้เป็นยาแก้ไอ (เปลือก)[5]
  6. ยางจากรากใช้อม กิน เคี้ยวเป็นยาแก้ไอ แก้เจ็บคอ ช่วยทำให้คอชุ่ม (ยางจากราก)[2],[3],[4] หรือใช้ยางเข้ายาแก้ไอ บรรเทาอาการระคายคอ (ยาง)[1],[2]
  1. ใช้เป็นยารักษาแผลในคอ (ราก)[3]
  2. รากมีสรรพคุณทำให้อาเจียน (ราก)[5] บ้างใช้เปลือกนำมาต้มกับหอมหัวใหญ่กินเป็นยาทำให้อาเจียน (เปลือกต้น)[2]
  3. เมื่อเป็นโรคเลือดออกตามไรฟัน ให้ใช้เปลือกต้นประมาณ 1 ส่วน น้ำ 20 ส่วน แล้วผสมกับขิงสดอีก 1 แง่ง ต้มให้เดือด แล้วกรองเอาแต่น้ำใช้บ้วนปากทุกเช้าเย็นเป็นประจำ (เปลือกต้น)[2],[4] ส่วนอีกข้อมูลระบุว่า ให้นำรากมาต้มรวมกับขิงใช้อมบ้วนปากแก้เหงือกอักเสบและมีเลือดออก (ราก)[5]
  4. ยาพื้นบ้านล้านนาจะใช้รากนำมาต้มกับน้ำอมเป็นยาแก้ปวดฟัน (ราก)[1]
  5. ใช้เป็นยาแก้โรคปอด (ยาง, รากและเมล็ด)[4]
  6. ยาชงจากดอกใช้กินแก้อาการอาหารไม่ย่อย (ดอก)[2]
  7. ฝักดิบจะมีรสฝาดมาก เมื่อนำมาต้มกับน้ำกินจะมีสรรพคุณเป็นยาแก้โรคบิดได้ (ฝักดิบสีเขียว)[2]
  8. เปลือกต้นมีรสฝาด ใช้ภายในเป็นยาแก้ท้องเสียได้ โดยนำมาต้มเอาน้ำกินแทนน้ำชา (เปลือกต้น)[2],[3],[4]
  9. ดอกใช้แช่กับเหล้ากินเป็นยาแก้ปวดท้อง และเป็นยากระตุ้น (ดอก)[2]
  10. ใช้เป็นยาแก้ริดสีดวงทวาร (เปลือกต้น)[5]
  11. เปลือกใช้ต้มแล้วกรองเอาแต่น้ำใช้ล้างแผล แก้ดากออก แก้ระดูขาว (เปลือกต้น)[2],[4]
  12. เปลือกต้นมีสรรพคุณเป็นยาฝาดสมาน ใช้สมานแผลห้ามเลือด โดยนำมาบดเป็นผงโรยหรือพอกบริเวณบาดแผล หรือบดให้ละเอียดต้มแล้วกรองเอาน้ำใช้ล้างแผลหรือใช้ทาแผล โดยส่วนที่ใช้ต้องทำให้แห้งและใช้ประมาณ 1.5-3 กรัม (เปลือกต้น)[2],[3],[4],[5]
  13. ใบอ่อนใช้ตำแล้วเอากากมาพอกแก้แผลเรื้อรังและแก้บาดแผล เมื่อนำมาต้มกรองเอาแต่น้ำจะใช้ล้างแผลได้ (ใบอ่อน)[2],[4],[5]
  14. รากใช้ภายนอกนำมาต้มแล้วกรองเอาน้ำใช้ล้างแผล หรือนำมาตำให้ละเอียดแล้วเอามาพอกแผล แก้ฝีมีหนอง โดยส่วนที่ใช้ต้องทำให้แห้ง และใช้ประมาณ 15-24 กรัม (ราก)[2],[3] ส่วนตำรับยาแก้ฝีมีหนองหลายตัวนั้น ระบุให้ใช้รากสดประมาณ 60 กรัม ถ้ามีหนองน้อยให้นำมาตุ๋นกับเป็ดหรือไก่กิน แต่ถ้ามีหนองมากให้นำมาตุ๋นกับเต้าหู้กิน (รากสด)[2]
  15. เนื้อหุ้มเมล็ดใช้ตำแล้วนำมาพอกแก้ฝีหลายหัวและใช้แก้เนื้องอก (เนื้อหุ้มเมล็ด)[2]
  16. ใช้รักษาฝีหนองในร่างกาย (รากและเมล็ด)[4]
  17. ฝักดิบใช้ต้มเอาน้ำล้างแผลแก้ผิวหนังที่มีอาการเยื่อเมือกอักเสบ เช่น ที่คอและตา (ฝักดิบสีเขียว)[2],[4] ส่วนราก เปลือก และใบ ก็มีรสฝาดเช่นกัน สามารถนำมาต้มแล้วกรองเอาน้ำใช้ล้างผิวหนังที่มีอาการเยื่อเมือกอักเสบ เช่น ที่คอและตาได้ (ราก, เปลือกต้น, ใบ)[2]
  18. รากใช้เป็นยาทาแก้พิษจากแมลงสัตว์กัดต่อย (ราก)[1],[3]
  19. รากใช้เป็นยาพอกแก้บวม (ราก)[5] บ้างใช้รากผสมกับเหล้าตำพอกแก้แขนขาบวมและอักเสบ (ราก)[2]
  20. รากใช้ต้มกับน้ำกินเป็นยาแก้อักเสบ ปวดข้อ แก้โรคไขข้ออักเสบ (ราก)[2],[3],[4],[5]
  21. ตำรับยาแก้อาการปวดตามข้อ แก้ฝีหนองในปอด จะใช้รากสดประมาณ 60 กรัม นำมาตุ๋นกับเป็ด หรือไก่ หรือเต้าหู้ อย่างใดอย่างหนึ่งกิน (รากสด)[2],[4]
  22. ใบแก่ใช้ตำแล้วคั้นเอาน้ำจากใบมาทาบริเวณเอวและหลัง จะช่วยบรรเทาอาการปวดได้ (ใบแก่)[2],[4]
  23. ดอกใช้เป็นยาแก้เกร็ง (ดอก)[5]
  24. ยางใช้ผสมกับยาผงปั้นเป็นเม็ดผสมกับยาอื่น แก้เยื่ออ่อนของอวัยวะภายในอักเสบ เพิ่มความชุ่มชื้น (ยาง)[2],[4]
  25. ตำรับยาบำรุงหัวใจพื้นบ้านของอำเภอทับคล้อ จังหวัดพิจิตร จะใช้ลำต้นกระถินเทศ 2-3 กิ่ง นำมาตำหรือทุบ แล้วนำไปต้มกับน้ำครึ่งลิตรพอเดือด ทิ้งให้อุ่น ให้หญิงคลอดลูกที่อ่อนเพลียเนื่องจากการตกเลือด ดื่มเป็นยาบำรุงหัวใจจะสดชื่นขึ้นทันที แต่จะให้ดื่มหลังจากที่ดื่มน้ำใบเสนียด ซึ่งเตรียมได้จากการนำใบเสนียดสด ๆ 5 ใบ มาโขลกกับเกลือเล็กน้อยดื่มเพื่อเป็นยาห้ามเลือด ถ้ายังไม่หายอ่อนเพลียก็จะให้รับประทานน้ำต้มจากกิ่งกระถินเทศ (ข้อมูลจากการสัมภาษณ์บุคคล ยังไม่ได้รับการพิสูจน์)

หมายเหตุ : กรณีใช้ภายในให้ใช้ต้นสดครั้งละ 30-60 กรัม ถ้าเป็นต้นแห้งให้ใช้ครั้งละ 15-30 กรัม นำมาต้มกับน้ำรับประทาน ส่วนการใช้ภายนอกให้ใช้ได้ตามความต้องการ[4] ส่วนของยางที่นำมาใช้ ให้ใช้ยางสด ส่วนของใบให้ใช้ใบสด ส่วนเปลือกต้นและรากจะใช้แบบตากแห้งหรือแบบสดก็ได้ (สามารถเก็บไว้ได้ตลอดปี)[2]

ข้อควรระวัง : เกสรจากดอกเมื่อเข้าตาอาจทำให้เคืองตาได้[2]

ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของกระถินเทศ

  • สารสำคัญที่พบ ได้แก่ anisaldehyde, benzoic aldehyde, chotesterol, cresol, djenkolic acid, eugenol, hydrocyanic acid, kaempferol, kaempferol-7-galloyl0glycoside, N-acetyl, sulfoxide, linamarin, palmitic acid, pentadecanoic acid, sitostrol, stigmasterol, tannin, triacontan-l-o, tyramine[3]
  • ฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาที่พบ ได้แก่ ฤทธิ์ลดระดับน้ำตาลในเลือด ลดความดันโลหิต ขยายหลอดลม เพิ่มอัตราการเต้นของหัวใจ ทำให้กล้ามเนื้อมดลูกคลายตัว ลดการอักเสบ ต้านเชื้อแบคทีเรีย เสริมฤทธิ์ยานอนหลับ[3]
  • ในการสกัดสารด้วยแอลกอฮอล์จากกระถินเทศ เมื่อนำมาละลายในน้ำขนาด 20-80 มิลลิกรัมต่อกรัม พบว่ามีฤทธิ์ทำให้หัวใจของกบที่แยกออกจากตัวนั้นบีบตัวลดลงเป็นจังหวะ ความแรงจากการบีบตัวลดลงชั่วคราวในช่วงแรก ต่อมาจะเพิ่มการบีบตัวขึ้นเป็นจังหวะ ส่วนความแรงของการบีบตัวของกระต่ายเมื่อใช้สารสกัดชนิดเดียวกัน พบว่าจะทำให้การบีบตัวในระยะแรกเพิ่มขึ้น ต่อมาก็จะลดลงเป็นจังหวะ ความแรงในการบีบตัวในขนาด 40-80 มิลลิกรัมต่อกรัม ก็จะทำให้หัวใจของสุนัขทั้งห้องบนและห้องล่างบีบตัวเพิ่มขึ้นในช่วงแรก ๆ ทำให้ความดันเลือดของสุนัขที่ทำให้สลบตกลงในช่วงระยะสั้น แล้วความดันเลือดก็จะสูงขึ้นเล็กน้อย นอกจากนี้สารที่สกัดได้จากกระถินเทศยังมีฤทธิ์ทำให้ปริมาตรและจังหวะในการหายใจของสุนัขเพิ่มขึ้นอีกด้วย[2],[4]
  • สารละลายที่ได้จากสมุนไพรชนิดนี้มีความเข้มข้น 1 ต่อ 1,000 ส่วน ทำให้สามารถแก้ฤทธิ์ของ acetylcholine และแบลเรียมคลอไรด์ที่มากระตุ้นกล้ามเนื้อมดลูกของหนูใหญ่ และยังมีฤทธิ์ยับยั้งจังหวะการบีบตัวตามปกติของกล้ามเนื้อมดลูกของหนูใหญ่ที่แยกจากตัว[2],[4]
  • จากการทดสอบฤทธิ์ของสารสกัดจากใบและเปลือกต้นกระถินเทศด้วยเอทานอลร้อยละ 70 ต่อการต้านมาลาเรียจากเชื้อ Plasmodium falciparum ที่ดื้อต่อยาคลอโรควิน พบว่าสารสกัดจากเปลือกต้นกระถินเทศมีฤทธิ์ต้านมาลาเรียจากเชื้อดังกล่าว โดยความเข้มข้นที่มีฤทธิ์ยับยั้งเชื้อได้ครึ่งหนึ่ง มีค่าเท่ากับ 1.3±0.2 มคก./มล. ส่วนสารสกัดจากใบกระถินเทศไม่สามารถต้านมาลาเรียได้ นอกจากนี้สารสกัดเปลือกต้นกระถินเทศ ยังสามารถต้านมาลาเรียจากเชื้อ Plasmodium berghei ได้ 32±5% อีกด้วย[6]
  • เมื่อปี ค.ศ.1992 ที่ประเทศอียิปต์ได้มีการทดลองใช้สารสกัดจากเมล็ดกระถินเทศ ผลการทดลองพบว่า มีฤทธิ์ในการลดระดับน้ำตาลในเลือดได้[3]

ประโยชน์ของกระถินเทศ

  1. มีบ้างที่นำมาปลูกเป็นไม้ประดับทั่วไป[7]
  2. รากใช้ตำแล้วนำมาพอกที่กีบเท้าวัว ควาย จะสามารถฆ่าหรือป้องกันพยาธิได้[2]
  3. ฝักประกอบไปด้วยของฝาด (tannin) ประมาณ 23% สามารถนำมาใช้เป็นสีย้อมแบบการใช้น้ำฝาดและทำหมึก มักใช้ผสมในน้ำต้มย้อมผ้า จะได้เป็นสีธรรมชาติมากขึ้น[2],[5] ส่วนเปลือกนำมาใช้ฟอกหนัง[2]
  4. ดอกสามารถนำมาใช้เป็นยาฆ่าแมลงได้[5]
  5. ในฝรั่งเศสจะปลูกต้นกระถินเทศไว้เป็นจำนวนมาก ทั้งนี้ก็เพื่อนำดอกของมันมาใช้ประโยชน์ในอุตสาหกรรมทำน้ำหอม โดยนำมาสกัดเอากลิ่นหอมของดอกและกลั่นมาเป็นน้ำหอม[2],[4],[5]
  6. น้ำมันจากดอกกระถินเทศ (Cassie oil) สามารถนำมาผสมในเครื่องหอมต่าง ๆ ได้ เช่น น้ำมันใส่ผม อบผ้าเช็ดหน้า ฯลฯ[2] และยังสามารถนำมาใช้แต่งกลิ่นอาหาร เครื่องดื่ม ขนมหวาน และลูกกวาดได้ แต่ต้องใช้ในปริมาณต่ำ[5]
  7. ยางที่ได้จากลำต้นเป็นยางที่มีคุณภาพดี (ลำต้นเมื่อมีบาดแผลจะให้ยางไม้สีเหลืองถึงสีน้ำตาลเข้ม) เรียกว่า “กัมอะคาเซีย” (Gum acacia) สามารถนำมาใช้ทางด้านเภสัชกรรมเป็นสารแขวนลอย ใช้ทำกาว พัฒนาเป็นสารยึดเกาะในอุตสาหกรรมการผลิตยาเม็ด ใช้เป็นยาหล่อลื่น ใช้ทำขนมหวานประเภทลูกอม ลูกกวาด เบียร์ น้ำผลไม้ เบเกอรี่ ผลิตภัณฑ์สารให้กลิ่น ฯลฯ[1],[2],[5]
เอกสารอ้างอิง
  1. หนังสือสมุนไพรพื้นบ้านล้านนา.  (ภาควิชาเภสัชพฤกษศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล).  “กระถินเทศ Sponge Tree, Cassie Flower”.  หน้า 29.
  2. หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5.  (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม).  “กระถินเทศ”.  หน้า 24-27.
  3. หนังสือสมุนไพรบำบัดเบาหวาน 150 ชนิด.  (เภสัชกรหญิง จุไรรัตน์ เกิดดอนแฝก).  “กระถินเทศ”.  หน้า 50.
  4. หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย-จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย.  (วิทยา บุญวรพัฒน์).  “กระถินเทศ”.  หน้า 34.
  5. หน่วยบริการฐานข้อมูลสมุนไพร สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล.  “ฤทธิ์ต้านมาลาเรียจากสารสกัดเปลือกต้นกระถินเทศ”.  เข้าถึงได้จาก : www.medplant.mahidol.ac.th.  [05 ก.ค. 2015].
  6. สำนักงานหอพรรณไม้ สำนักวิจัยการอนุรักษ์ป่าไม้และพันธุ์พืช, กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช. “กระถินเทศ”.  [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.dnp.go.th/botany/.  [05 ก.ค. 2015].

ภาพประกอบ : www.flickr.com (by Desert Botanical Garden, Funkykat2010, maorlando, naturgucker.de / enjoynature.net, Erin White, Jenny Evans, IAFN RIFA, Jerry Oldenettel)

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด