กระดึงช้างเผือก
กระดึงช้างเผือก ชื่อวิทยาศาสตร์ Trichosanthes tricuspidata Lour. จัดอยู่ในวงศ์แตง (CUCURBITACEAE)[1],[3]
สมุนไพรกระดึงช้างเผือก มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า ขี้กาลาย มะตูมกา (นครราชสีมา), ขี้กาแดง (ราชบุรี), กระดึงช้าง กระดึงช้างเผือก (ประจวบคีรีขันธ์), ขี้กาขม (พังงา), ขี้กาใหญ่ (สุราษฎร์ธานี), มะตูมกา (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ), ขี้กา (ภาคกลาง), กระดึงช้าง (ภาคใต้), เถาขี้กา เป็นต้น[1],[3]
ลักษณะของกระดึงช้างเผือก
- ต้นกระดึงช้างเผือก จัดเป็นพรรณไม้เถาเลื้อยไปตามผิวดินขนาดใหญ่ เถามีลักษณะเป็นเหลี่ยมสีเขียวเข้มและมีขนสีขาวสั้น ๆ สากมือ แต่ขนจะค่อย ๆ หลุดร่วงไปจนเกือบเกลี้ยง และมีมือสำหรับยึดเกาะแยกเป็น 2-3 แขนง พบขึ้นตามป่าเบญจพรรณ ในต่างประเทศพบได้ที่จีนตอนใต้ อินเดีย พม่า และในภูมิภาคอินโดจีน[1],[2]
- ใบกระดึงช้างเผือก ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับแบบห่าง ๆ ลักษณะของใบมีรูปร่างแตกต่างกัน มีตั้งแต่รูปไข่กว้าง รูปเกือบกลม ไปจนถึงเป็นรูปทรง 5 เหลี่ยม โคนใบเว้าเข้าคล้ายรูปหัวใจกว้าง ๆ ส่วนขอบใบหยักและเว้าลึก 3-7 แห่ง ทำให้ใบมีลักษณะเป็นแฉก 3-7 แฉก โดยแฉกกลางจะยาวที่สุด ใบมีขนาดกว้างและยาวประมาณ 15-20 เซนติเมตร มีเส้นใบออกจากโคนใบประมาณ 3-7 เส้น ปลายเส้นใบยื่นพันขอบใบออกไปคล้ายหนามสั้น ๆ หลังใบเห็นเป็นร่องของเส้นแขนงใบชัดเจน ผิวใบด้านบนสากมือ ด้านล่างมีขนสีออกขาว ก้านใบมีขนหรือเกือบเกลี้ยง[1],[2]
- ดอกกระดึงช้างเผือก ดอกเป็นแบบแยกเพศอยู่กันคนละต้น ดอกเพศผู้จะออกเป็นช่อยาวประมาณ 10-20 เซนติเมตร โดยจะออกตามซอกใบ ดอกย่อยเป็นสีขาว มีใบประดับรูปไข่กลับ ขอบใบประดับหยักแบบซี่ฟันหรือแยกเป็นแฉกตื้น ๆ กลีบเป็นรูปหอกป้อม ๆ ขอบหยักแบบฟันเลื่อยหรือเว้าถึงแหลม ส่วนกลีบดอกมี 5 กลีบ โคนติดกันเล็กน้อย ขอบกลีบเป็นชายครุย ส่วนกลีบเลี้ยงโคนเชื่อมติดกันเป็นหลอด ปลายแยกออกเป็นกลีบ 5 กลีบ เกสรเพศผู้มี 3 อัน อับเรณูเชื่อมติดกันเป็นรูป S ส่วนดอกเพศเมียจะออกเป็นดอกเดี่ยวตามซอกใบ กลีบเลี้ยงและกลีบดอกจะมีลักษณะคล้ายดอกเพศผู้ กลีบดอกเป็นสีเหลืองอมชมพู มีลายเป็นเส้นสีแดง ฐานดอกเป็นหลอดยาว กลีบเป็นรูปไข่กลีบ ปลายแหลมสีขาว ภายในรังไข่มี 1 ช่อง มีไข่อ่อนจำนวนมาก ท่อรังไข่ยาวเล็กเหมือนเส้นด้าย[1],[2],[3]
- ผลกระดึงช้างเผือก ลักษณะของผลเป็นรูปทรงกลมหรือรูปขอบขนาน ผลอ่อนเป็นสีเขียวเข้ม มีลายทางเป็นเส้นสีขาวหรือสีเขียวอ่อนตลอดผล ผิวมีขน ผลเมื่อสุกจะเปลี่ยนเป็นสีส้มแดงมีลายสีเหลือง ผลมีขนาดประมาณ 3-5 เซนติเมตร เนื้อในผลเป็นสีเขียว มีเนื้อหุ้มเมล็ดสีเทา เมื่อแห้งเนื้อจะโปร่งคล้ายฟองน้ำ ภายในผลมีเมล็ดเป็นสีเทาหรือสีน้ำตาลจำนวนมาก เมล็ดมีลักษณะเป็นรูปขอบขนานแบน[1],[2],[3]
สรรพคุณของกระดึงช้างเผือก
- ดอกใช้เป็นยาบำรุงกำลัง (ดอก)[1],[2]
- รากใช้ต้มกับน้ำดื่มเป็นยาบำรุงร่างกาย (ราก)[1],[2]
- ผลใช้เป็นยาถ่ายพิษตานซาง (ผล)[1],[2]
- ดอกใช้เป็นยาแก้ไข้ (ดอก)[3]
- ใบใช้ตำสุมกระหม่อมเด็กเป็นยาแก้หวัดคัดจมูก (ใบ)[1],[2]
- เถาใช้เป็นยาดับพิษเสมหะและโลหิต ชำระเสมหะให้ตก (เถา)[1],[2]
- ผลใช้เป็นยาถ่ายเสมหะ (ผล)[1],[2]
- ใช้เป็นยาบำบัดโรคท้องผูกเรื้อรัง ด้วยการใช้กระดึงช้างเผือก 250 กรัม (ไม่ได้ระบุว่าใช้ส่วนใด), น้ำตาลทราย 100 กรัม และแป้งหมี่ 750 กรัม โดยเริ่มจากเอาไส้กระดึงช้างเผือกออกมาล้างน้ำให้สะอาด ใส่หม้อดินเติมน้ำพอประมาณ แล้วใส่น้ำตาลทรายต้มด้วยไฟอ่อน ๆ แล้วคนให้เละ จากนั้นให้เอาแป้งหมี่เติมน้ำนวดให้เป็นก้อนเหนียว เมื่อฟูแล้วก็นำมาทำเป็นเปลือกขนมเปี๊ยะสำหรับเอากระดึงช้างเผือกที่ต้มเตรียมไว้ยัดเป็นไส้ แล้วนำไปปิ้งหรือนึ่ง ใช้รับประทานต่างอาหารหลัก มากน้อยตามต้องการ (อาจารย์เกรียงไกร เถลิงพล)
- รากใช้ต้มกับน้ำดื่มเป็นยาถ่าย (ราก)[3]
- ใช้เป็นยาขับพยาธิ (ผล)[1],[2]
- เถาใช้เป็นยาบำรุงน้ำดี (เถา)[1],[2]
- รากนำมาบดให้เป็นผงรับประทานเป็นยาแก้ตับหรือม้ามโต (ราก)[1],[2]
- ผลใช้เป็นยาแก้ตับปอดพิการ (ผล)[1],[2]
- ใบใช้ตำพอกฝี ทาแก้โรคผิวหนัง (ใบ)[3]
- รากสดใช้ตำผสมกับน้ำมันทาแก้โรคเรื้อน (รากสด)[1],[2]
- เถาใช้เป็นยาฆ่าเลือด ไร หิด เหา (เถา)[1],[2]
เอกสารอ้างอิง
- หนังสือสมุนไพรในอุทยานแห่งชาติภาคกลาง. (พญ.เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ, ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, กัญจนา ดีวิเศษ). “ขี้กาลาย”. หน้า 81.
- หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1. (ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์). “ขี้กาลาย (Khi Ka Lai)”. หน้า 65.
- ระบบจัดการฐานความรู้ด้านความหลากหลายทางชีวภาพ สำนักงานความหลากหลายทางชีวภาพด้านป่าไม้ กรมป่าไม้. “กระดึงช้างเผือก”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : biodiversity.forest.go.th. [03 ก.พ. 2015].
ภาพประกอบ : www.flickr.com (by Dinesh Valke, satish nikam, VanLap Hoàng)
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)