กระดังงา สรรพคุณและประโยชน์ของกระดังงาไทย 30 ข้อ !

กระดังงา

กระดังงาไทย ชื่อสามัญ Cananga, Ylang-Ylang, Ilang-Ilang (อิลาง-อิลาง)

กระดังงาไทย ชื่อวิทยาศาสตร์ Cananga odorata (Lam.) Hook.f. & Thomson (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Uvaria odorata Lam.) จัดอยู่ในวงศ์กระดังงา (ANNONACEAE)

สมุนไพรกระดังงาไทย มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า กระดังงา (ยะลา, ตรัง), กระดังงาใบใหญ่ กระดังงาใหญ่ (ภาคกลาง), สะบันงา สะบันงาต้น (ภาคเหนือ) เป็นต้น

ลักษณะของต้นกระดังงา

  • ต้นกระดังงาไทย จัดเป็นไม้ยืนต้นไม่ผลัดใบขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ ลำต้นตั้งตรง มีความสูงได้ประมาณ 15-20 เมตร  เรือนยอดเป็นทรงพุ่มแน่น แตกกิ่งก้านสาขามาก แผ่ออกจากต้นมักลู่ลง เปลือกต้นเป็นสีเทาเกลี้ยงหรือสีเงิน พบรอยแผลใบขนาดใหญ่อยู่ทั่วไป ส่วนที่ยังอ่อนจะมีขนขึ้นปกคลุม สามารถขยายพันธุ์โดยเมล็ดหรือตอนกิ่ง ออกดอกและผลได้ตลอดทั้งปี[1]
    ต้นกระดังงาไทยรูปกระดังงาไทย
  • ใบกระดังงาไทย ใบเป็นใบเดี่ยวสีเขียวอ่อน ออกแบบเรียงสลับในลักษณะห้อยลง ลักษณะของใบเป็นรูปขอบขนาน ปลายใบแหลมหรือมีติ่งแหลม โคนใบมนกลมหรือเบี้ยว ส่วนขอบใบเป็นคลื่น ใบมีขนาดยาวประมาณ 7-12 เซนติเมตร และกว้างประมาณ 4-9 เซนติเมตร มีเส้นแขนงใบ 5-9 คู่ เป็นร่องส่วนบนของใบและนูนเด่นชัดด้านล่างของใบ เส้นกลางใบเห็นได้ชัดเจน ผิวใบบางเรียบและนิ่ม ใบอ่อนมีขนขึ้นทั้งสองด้าน ส่วนใบแก่มักมีขนมากตามเส้นแขนงใบ ก้านใบยาวประมาณ 1-1.5 เซนติเมตร[1]
    ใบกระดังงาไทย
  • ดอกกระดังงาไทย ออกเป็นช่อขนาดใหญ่บนกิ่งเหนือรอยแผลใบ ช่อดอกแยกแขนง ในช่อหนึ่งมีดอกประมาณ 3-6 ดอก ดอกมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 4-6 เซนติเมตร ก้านช่อดอกมีขน ก้านดอกยาวประมาณ 2-4 เซนติเมตร ดอกย่อยเป็นสีเหลืองอมเขียวหรือสีเขียว มีกลิ่นหอมมาก กลีบยาวอ่อนมี 6 กลีบ กลีบดอกห้อยลง กลีบดอกแบ่งเป็น 2 ชั้นและ 3 ชั้น กลีบดอกชั้นนอกมีลักษณะแคบ ยาว ปลายเรียวแหลม ขอบกลีบเรียบหรือเป็นคลื่นเล็กน้อย (เป็นคลื่นน้อยกว่ากระดังงาสงขลา) กลีบดอกมีขนาดยาวประมาณ 5-8.5 เซนติเมตรและกว้างประมาณ 0.5-1.5 เซนติเมตร ส่วนกลีบดอกชั้นในมีลักษณะสั้นและแคบกว่าเล็กน้อย โคนกลีบดอกจะซ้อนทแยงอยู่ใต้รังไข่ กลีบเลี้ยงมี 3 กลีบ ลักษณะเป็นรูปสามเหลี่ยม ยาวประมาณ 0.5 เซนติเมตร มีขนขึ้นปกคลุม ปลายกลีบเลี้ยงกระดกขึ้น รังไข่มีจำนวนมาก เกสรเพศผู้มีจำนวนมากเบียดกันเป็นตุ้มแป้นทรงกลมตรงกึ่งกลางดอก[1]
    รูปดอกกระดังงาไทยดอกกระดังงาไทยภาพกระดังงาไทย
  • ผลกระดังงาไทย ออกเป็นผลกลุ่มมีประมาณ 4-12 ผล ผลมีลักษณะเป็นรูปไข่ มีขนาดยาวประมาณ 1.5-2.5 เซนติเมตรและกว้างประมาณ 1-1.5 เซนติเมตร ก้านช่อผลยาวประมาณ 2-2.5 เซนติเมตร ส่วนก้านผลยาวประมาณ 1.3-2 เซนติเมตร ผลเป็นสีเขียวเข้ม เมื่อแก่แล้วจะเปลี่ยนเป็นสีดำ ภายในผลมีเมล็ดลักษณะรูปไข่แบน สีน้ำตาล ประมาณ 2-12 เมล็ด[1]
    ผลกระดังงาไทย

สรรพคุณของกระดังงา

  • เปลือกต้นกระดังงา มีรสฝาดเฝื่อน มีสรรพคุณเป็นยาขับปัสสาวะ แก้ปัสสาวะพิการ แก้อาการท้องเสีย ใช้เป็นยารักษาโรคผิวหนัง กลากเกลื้อน[1]
  • เนื้อไม้กระดังงา มีรสขมเฝื่อน มีสรรพคุณเป็นยาขับปัสสาวะ แก้ปัสสาวะพิการ[1]
  • รากกระดังงา มีสรรพคุณเป็นยาคุมกำเนิด[1]
  • ใบกระดังงา ใช้เป็นยารักษาโรคผิวหนัง กลากเกลื้อน แก้อาการคัน และใช้เป็นยาขับปัสสาวะ[1]
  • ดอกกระดังงา มีรสหอมสุขุม มีสรรพคุณแก้ลมวิงเวียน ใช้ปรุงเป็นยาหอม ใช้เป็นยาชูกำลัง ทำให้หัวใจชุ่มชื่น บำรุงธาตุ บำรุงโลหิต บำรุงหัวใจ แก้ไข้ แก้อาการอ่อนเพลีย กระหายน้ำ จัดอยู่ในเครื่องยาไทยที่เรียกว่า “พิกัดเกสรทั้ง 7” (สัตตะเกสร) และ “พิกัดเกสรทั้ง 9” (เนาวเกสร)[1] ช่วยแก้อาการไข้เนื่องจากโลหิตเป็นพิษ[2] และมีปรากฏในตำรายาแผนโบราณชื่อคัมภีร์มหาโชติรัตน์ ยาชื่อมาลาสันนิบาต ซึ่งมีสรรพคุณเป็นยาแก้ลมจุกคอ แก้อาการแน่นหน้าอก แก้จุกเสียดและแก้สะอึก[2]
  • เกสรกระดังงา มีสรรพคุณเป็นยาแก้ร้อนใน กระหายน้ำ ช่วยเจริญอาหาร และใช้แก้โรคตา[1]
  • น้ำมันหอมระเหย มีสรรพคุณเป็นยาขับลม ฆ่าเชื้อโรค ช่วยบำรุงประสาท สงบประสาท แก้อาการซึมเศร้า กระวนกระวายใจ แก้หอบหืด ช่วยลดความดันโลหิต[2]

ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของกระดังงา

  • กระดังงาไทยมีฤทธิ์ลดความดันโลหิต ฆ่าเซลล์มะเร็ง ต้านเชื้อแบคทีเรีย ต้านเชื้อรา ยีสต์ ไล่แมลง เป็นเครื่องหอม แก้อาการหัวใจเต้นเร็ว หายใจหอบ ความดันโลหิตสูง มีปัญหาระบบทางเดินอาหาร ใช้สงบประสาท ลดไข้[1]

ประโยชน์ของกระดังงา

  1. คนไทยโบราณเชื่อว่าบ้านใดปลูกต้นกระดังงาไว้ประจำบ้านจะช่วยทำให้มีชื่อเสียงโด่งดัง เนื่องจาก “กระดัง” คือการทำให้เกิดเสียงดังไปไกล นอกจากนี้ยังเชื่อด้วยว่า เสียงดังเหมือนกับนกการเวกในสมัยพุทธกาลที่มีเสียงดังไพเราะและก้องไกลทั่วสวรรค์ ดังนั้นบางคนจึงเรียกกระดังงาว่า การเวก[2]
  2. คนไทยโบราณจะใช้ดอกกระดังงานำมาทอดกับน้ำมันมะพร้าวทำเป็นน้ำมันใส่ผม[1]
  3. ดอกแก่จัดสด ๆ สามารถนำมารมควันเทียนหรือเปลวไฟจากเทียน เพื่อให้ต่อมน้ำหอมในกลีบดอกแตกออกและส่งกลิ่นหอมออกมา แล้วนำไปเสียบไม้ลอยน้ำในภาชนะปิดสนิท 1 คืน เก็บดอกทิ้งในตอนเช้า แล้วนำน้ำไปเป็นน้ำกระสายยา หรือนำไปคั้นกะทิ หรือทำเป็นน้ำเชื่อมปรุงขนมต่าง ๆ[1]
  4. ดอกแห้งใช้ผสมกับดอกไม้หอมอื่น ๆ สำหรับทำบุหงา[1]
  5. น้ำมันหอมใช้ปรุงเป็นน้ำหอมชั้นสูงที่มีราคาแพง ใช้ปรุงขนม น้ำอบ และอาหาร[1]
  6. น้ำมันหอมระเหยที่สกัดมาจากดอก (Cananga oil หรือ Ylang-ylang oil) ถูกนำมาใช้ในทางสุคนธบำบัด (Aromatherapy) ใช้ผลิตเป็นเครื่องสำอาง หรือทำเป็นเครื่องหอมต่าง ๆ[2]
  7. เปลือกสามารถนำมาทำเป็นเชือกได้[2]
เอกสารอ้างอิง
  1. กระดังงาไทย”.  ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.phargarden.com. [27 ส.ค. 2016].
  2. เว็บไซต์ฝ่ายปฏิบัติการวิจัยและเรือนปลูกพืชทดลอง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน, เว็บไซต์สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี, เว็บไซต์ฐานข้อมูลเครื่องยาสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี, วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

ภาพประกอบ : www.flickr.com (by Yero Kuethe), www.phargarden.com (by Sudarat Homhual)

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด