กรดแอสพาร์ติก
กรดแอสพาร์ติก (Aspartic Acid) คือ กรดอะมิโนชนิดหนึ่งซึ่งจัดอยู่ในกลุ่มของกรดอะมิโนไม่จำเป็น ร่างกายสามารถสังเคราะห์ขึ้นมาเองได้ ถ้าร่างกายขาดกรดแอสพาร์ติกก็จะทำให้ร่างกายมีความต้านทานต่อความเหนื่อยล้าลดลง ซึ่งจะมีผลทำให้เกิดอาการเหนื่อยล้าได้ง่ายขึ้น ไม่ว่าจะทำกิจกรรมหรือออกกำลังกายก็ตาม โดยแหล่งอาหารที่ผสมกรดอะมิโนชนิดนี้ก็ได้แก่อาหารจำพวกที่อุดมไปด้วยโปรตีนต่าง ๆ เช่น เนื้อสัตว์ เนื้อไก่ เนื้อปลา และยังพบได้ในผลมะเม่า เป็นต้น
กรดแอล-แอสพาร์ติก คือ รูปธรรมชาติของกรดแอสพาร์ติก ซึ่งมีจำหน่ายเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหารในรูปแบบเม็ด จะมีปริมาณตั้งแต่ 250 มิลลิกรัมไปจนถึง 500 มิลลิกรัม โดยขนาดที่แนะนำให้รับประทานโดยทั่วไปก็คือปริมาณ 500 มิลลิกรัม รับประทานวันละ 1-3 เวลา พร้อมน้ำเปล่าหรือน้ำผลไม้ก็ได้ แต่มีข้อแม้คือห้ามรับประทานร่วมกับโปรตีนอื่น ๆ
ประโยชน์ของกรดแอสพาร์ติก
- กรดแอสพาร์ติกมีส่วนสำคัญในการเพิ่มความทนทานต่อความอ่อนล้าของร่างกาย ถ้าหากนักกีฬาได้เกลือแอสพาร์ติก ก็จะช่วยเพิ่มความแข็งแรงและความแข็งแกร่งให้อึดมากยิ่งขึ้น
- กรดแอสพาร์ติกช่วยส่งเสริมกระบวนการเปลี่ยนคาร์โบไฮเดรตให้เป็นพลังงานภายในเซลล์
- กรดแอสพาร์ติกเป็นส่วนสำคัญของแอสพาร์แตม (Aspartame) ซึ่งเป็นสารให้ความหวานแทนน้ำตาล ซึ่งให้แคลอรีต่ำ
- กรดแอสพาร์ติกช่วยในการขับแอมโมเนียที่เป็นสารอันตรายออกจากร่างกาย เพราะการที่แอมโมเนียเข้าสู่เส้นเลือดนั้น มันจะกลายเป็นสารที่มีพิษสูงมาก
- กรดแอสพาร์ติกช่วยปกป้องระบบประสาทส่วนกลาง
- มีบทบาทในการช่วยผลิตฮอร์โมนและการทำงานของระบบประสาท
- มีความสำคัญต่อการทำงานของ DNA และ RNA
- กรดแอสพาร์ติกมีส่วนสำคัญในการสังเคราะห์แอนติบอดี ซึ่งมีหน้าที่ช่วยตรวจจับและช่วยทำลายฤทธิ์สิ่งแปลกปลอมในร่างกาย อย่างเช่นแบคทีเรียและเชื้อไวรัสต่าง ๆ
แหล่งอ้างอิง : หนังสือวิตามินไบเบิล (ดร.เอิร์ล มินเดลล์)
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)