กรดอะมิโน (Amino Acid) กับประโยชน์ตามวิจัยรวม 20 ชนิด!

กรดอะมิโน (Amino acid) คือ หน่วยเล็ก ๆ ของโปรตีน

กรดอะมิโน คืออะไร?

กรดอะมิโน (Amino acid) คือ หน่วยเล็ก ๆ ของโปรตีน ถ้าไม่มีกรดอะมิโนก็จะไม่มีโปรตีน กล่าวคือ เมื่อเรารับประทานอาหารที่ให้โปรตีนเข้าไป ระบบย่อยอาหารของเราก็จะย่อยโปรตีนเหล่านั้นให้เป็นกรดอะมิโนก่อนที่จะดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือดแล้วนำไปใช้ประโยชน์ในกระบวนการต่าง ๆ เช่น การสร้างกล้ามเนื้อ ควบคุมการทำงานของภูมิคุ้มกัน ป้องกันการเจ็บป่วย  ขนส่งสารอาหาร ฯลฯ แต่ถ้าร่างกายได้รับกรดอะมิโนมากเกินไป ก็จะขับออกมาทางเหงื่อหรือปัสสาวะจนหมด[1]

โดยกรดอะมิโนที่เรารู้จักคุ้นเคยและสำคัญต่อร่างกายจะมีอยู่ด้วยกันประมาณ 20 ชนิด ซึ่งเป็นกรดอะมิโนมาตรฐาน (แต่ในความเป็นจริงแล้วกรดอะมิโนจะมีมากกว่านั้น) และสามารถแบ่งกรดอะมิโนออกได้เป็น 2 กลุ่มใหญ่ ๆ คือ กรดอะมิโนไม่จำเป็น 11 ชนิด (ร่างกายที่แข็งแรงสามารถสร้างขึ้นเองได้) และกรดอะมิโนจำเป็น 9 ชนิด (ร่างกายไม่สามารถสร้างขึ้นเองได้ จำเป็นต้องได้รับจากอาหารปกติหรือจากอาหารเสริม) ซึ่งกรดอะมิโนแต่ละชนิดก็จะมีบทบาทหน้าที่แตกต่างกันไปในร่างกาย และอาการของการขาดกรดอะมิโนแต่ละชนิดก็แตกต่างกันไปด้วยเช่นกัน เช่น ภูมิคุ้มกันลดลง เกิดปัญหาด้านอารมณ์ ปัญหาเรื่องการเจริญพันธุ์ ในเด็กอาจทำให้เจริญเติบโตช้า และปัญหาสุขภาพอื่น ๆ อีกมากมายดังที่จะกล่าวถึงต่อไป

“กรดอะมิโนเป็นโมเลกุลขนาดเล็กที่เป็นส่วนประกอบในการสร้างโปรตีน กรดอะมิโนที่ร่างกายต้องการมีทั้งหมด 20 ชนิด ที่มีความสำคัญอย่างมากในการช่วยให้ร่างกายทำงานได้อย่างปกติ ช่วยซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ เสริมสร้างกล้ามเนื้อ ดูดซึมสารอาหาร ฯลฯ โดยการเสริมกรดอะมิโนที่จำเป็นให้กับร่างกาย สามารถทำได้ด้วยการรับประทานอาหารที่ให้โปรตีนอย่างหลากหลาย โดยเฉพาะจากเนื้อวัว สัตว์ปีก อาหารทะเล ไข่ รวมถึงผลิตภัณฑ์จากนม ถั่วเหลือง เต้าหู้ ฯลฯ หรืออาจเสริมด้วยการรับประทานผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่มีกรดอะมิโนได้หากจำเป็น”

ชนิดของกรดอะมิโน

กรดอะมิโนที่ร่างกายต้องการมีทั้งหมด 20 ชนิด โดยแบ่งเป็นกรดอะมิโนที่ร่างกายสามารถสร้างเองได้เรียกว่า “กรดอะมิโนไม่จำเป็น” (Nonessential amino acids) จำนวน 11 ชนิด และ “กรดอะมิโนจำเป็น” (Essential amino acids) จำนวน 9 ชนิด ที่ร่างกายไม่สามารถสร้างได้และต้องเสริมด้วยการรับประทานอาหารเพิ่มเติม

กรดอะมิโนไม่จำเป็น (Nonessential amino acids) & กรดอะมิโนจำเป็น (Essential amino acids)
กรดอะมิโนไม่จำเป็น (Nonessential amino acids) & กรดอะมิโนจำเป็น (Essential amino acids)

กรดอะมิโนจำเป็น

  1. ทริปโตเฟน (Tryptophan) เป็นสารที่ช่วยรักษาสมดุลไนโตรเจนในร่างกาย จำเป็นสำหรับการเจริญเติบโตอย่างเหมาะสมของทารก และเป็นสารตั้งต้นของสารสื่อประสาทเซโรโทนิน (Serotonin) ที่ควบคุมอารมณ์ การนอนหลับ ความอยากอาหาร และความเจ็บปวด จากการศึกษาพบว่าการเสริมทริปโตเฟนสามารถช่วยลดความเครียด ปรับปรุงสุขภาพจิต บรรเทาอาการไมเกรน และช่วยส่งเสริมการนอนหลับอย่างเป็นธรรมชาติ และการขาดทริปโตเฟนอาจทำให้เกิดโรคเพลแลกรา (Pellagra) ซึ่งทำให้เกิดอาการทางผิวหนัง ปัญหาระบบทางเดินอาหาร และอาการทางประสาทตามมาได้[2]
    • ปริมาณที่แนะนำต่อวัน : ประมาณ 5 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม
    • แหล่งอาหารที่พบได้มาก : จมูกข้าวสาลี คอทเทจชีส ไก่ และไก่งวง
  2. ทรีโอนีน (Threonine) จำเป็นสำหรับสุขภาพผิวและฟันที่แข็งแรง เนื่องจากเป็นส่วนประกอบในสารเคลือบฟัน และคอลลาเจนและอีลาสติน (Elastin) นอกจากนี้ยังมีบทบาทในการช่วยเผาผลาญไขมัน ป้องกันการสะสมของไขมันในตับ ส่งเสริมการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน (โดยช่วยในการผลิตแอนติบอดี) ต้านการเกิดแผลเรื้อรัง ช่วยสร้างลิ่มเลือด (ป้องกันเลือดออก) มีส่วนสำคัญในการสร้างกรดอะมิโนอย่างไกลซีนและเซรีน และอาจเป็นประโยชน์ต่อการรักษาอาการของโรคซึมเศร้าและโรคเซลล์ประสาทนำคำสั่งเสื่อม (Lou Gehrig Disease) เนื่องจากทรีโอนินถูกพบได้มากในระบบประสาทส่วนกลาง[3] จากการศึกษาการขาดสารนี้ในสัตว์ทดลองจะทำให้สัตว์ทดลองมีความต้านทานต่อโรคน้อยลง[4]
    • ปริมาณที่แนะนำต่อวัน : ประมาณ 20 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม
    • แหล่งอาหารที่พบได้มาก : คอทเทจชีสและจมูกข้าวสาลี
  3. ฟีนิลอะลานีน (Phenylalanine) จำเป็นต่อการผลิตสารสื่อประสาทในสมอง เช่น ไทโรซีน (Tyrosine), โดปามีน (Dopamine), อิพิเนฟริน (Epinephrine), นอร์เอพิเนฟริน (Norepinephrine) ซึ่งทำหน้าที่เพิ่มความตื่นตัวและความกระฉับกระเฉง และยังสำคัญต่อการผลิตกรดอะมิโนชนิดอื่น ๆ โดยรวมฟีนิลอะลานีนจะช่วยเพิ่มความตื่นตัว บรรเทาอาการซึมเศร้า ลดความอยากอาหาร เสริมความจำ และอาจช่วยเพิ่มความสนใจในเรื่องเพศ การขาดสารฟีนิลอะลานีนแม้จะพบได้น้อย แต่ก็อาจทำให้น้ำหนักตัวของทารกตัวเพิ่มขึ้นไม่ดี ทำให้เกิดอาการอ่อนเพลียและส่งผลต่อความจำในผู้ใหญ่[5]
    • ปริมาณที่แนะนำต่อวัน : ประมาณ 33 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม
    • แหล่งอาหารที่พบได้มาก : ผลิตภัณฑ์นม เนื้อสัตว์ สัตว์ปีก ถั่วเหลือง ปลา ถั่วและถั่ว
  4. เมไทโอนีน (Methionine) มีบทบาทสำคัญในกระบวนการเมตาบอลิซึมและล้างพิษ (โดยช่วยกำจัดโลหะหนัก เช่น ตะกั่วและสารปรอท) และยังจำเป็นสำหรับการเจริญเติบโตของเนื้อเยื่อและช่วยดูดซึมแร่ธาตุที่จำเป็นอย่างสังกะสีและซีลีเนียม[6]
    • ปริมาณที่แนะนำต่อวัน : ประมาณ 19 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม
    • แหล่งอาหารที่พบได้มาก : ไข่ ธัญพืช ถั่ว และเมล็ดพืช
  5. วาลีน (Valine) เป็นหนึ่งในสามของกรดอะมิโนสายโซ่กิ่ง (BCAAs) มีหน้าที่ช่วยกระตุ้นการเจริญเติบโตของกล้ามเนื้อ ซ่อมแซมกล้ามเนื้อ และมีส่วนในการสร้างพลังงาน นอกจากนี้ยังจำเป็นสำหรับการมีสมาธิและความสงบทางอารมณ์ การขาดกรดอะมิโนชนิดนี้อาจทำให้นอนไม่หลับและทำให้สมาธิลดลง[7]
    • ปริมาณที่แนะนำต่อวัน : ประมาณ 24 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม
    • แหล่งอาหารที่พบได้มาก : ถั่วเหลือง ชีส ถั่วลิสง เห็ด ธัญพืชไม่ขัดสี และผัก
  6. ลิวซีน (Leucine) เช่นเดียวกับกรดอะมิโนวาลีน โดยลิวซีนจะเป็น BCAAs ที่มีความสำคัญต่อการสังเคราะห์โปรตีนและซ่อมแซมเนื้อเยื่อของกล้ามเนื้อและกระดูก นอกจากนี้ยังช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด กระตุ้นการรักษาบาดแผล (ช่วยสมานแผล) และสร้างฮอร์โมนการเจริญเติบโต และการขาดสารลิวซีนอาจทำให้ผมร่วง เป็นผื่นที่ผิวหนัง และเกิดอาการเมื่อยล้า[8]
    • ปริมาณที่แนะนำต่อวัน : ประมาณ 42 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม
    • แหล่งอาหารที่พบได้มาก : นม ถั่วเหลือง ถั่วและพืชตระกูลถั่ว
  7. ไอโซลิวซีน (Isoleucine) เป็น BCAAs ตัวสุดท้ายจากทั้งหมด 3 ชนิด โดยเป็นกรดอะมิโนที่มีอยู่มากในเนื้อเยื่อของกล้ามเนื้อ และจำเป็นสำหรับการทำงานของภูมิคุ้มกัน การควบคุมพลังงาน ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด ผลิตฮอร์โมน ผลิตฮีโมโกลบิน และช่วยในการรักษาบาดแผล ในผู้สูงอายุจะมีแนวโน้มการขาดไอโซลิวซีนได้มากกว่าคนที่มีอายุน้อย ซึ่งการขาดสารนี้อาจทำให้กล้ามเนื้ออ่อนแรงและกล้ามเนื้อกระตุกได้[9]
    • ปริมาณที่แนะนำต่อวัน : ประมาณ 19 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม
    • แหล่งอาหารที่พบได้มาก : เนื้อสัตว์ ปลา สัตว์ปีก ไข่ ชีส ถั่วเลนทิล ถั่ว และเมล็ดพืช
  8. ไลซีน (Lysine) มีบทบาทสำคัญในการสังเคราะห์โปรตีน ดูดซึมแคลเซียม และผลิตฮอร์โมนและเอนไซม์ จำเป็นสำหรับการสร้างพลังงาน ผลิตคอลลาเจนและอีลาสติน สร้างกล้ามเนื้อ รักษาความแข็งแรงของกระดูก (ป้องกันโรคกระดูกพรุน) ช่วยฟื้นฟูการบาดเจ็บหรือจากการผ่าตัด และช่วยเสริมสมาธิ[10] แม้จะมีงานวิจัยไม่มากเกี่ยวกับการขาดไลซีน แต่มีการศึกษาในหนูทดลองที่พบว่าการขาดกรดอะมิโนชนิดนี้สามารถทำให้เกิดความวิตกกังวลและความเครียดได้[11]
    • ปริมาณที่แนะนำต่อวัน : ประมาณ 38 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม
    • แหล่งอาหารที่พบได้มาก : เนื้อสัตว์, ไข่, ถั่วเหลือง, ถั่วดำคีนัว, เมล็ดฟักทอง
  9. ฮิสทิดีน (Histidine) จำเป็นในการสร้างสารสื่อประสาทฮีสตามีน (histamine) ซึ่งมีบทบาทสำคัญต่อการตอบสนองต่อระบบภูมิคุ้มกัน การย่อยอาหาร วงจรการนอนหลับและตื่นนอน และการทำงานทางเพศ และยังเป็นส่วนประกอบสำคัญที่ทำให้ปลอกไมอีลิน (Myelin sheath) ซึ่งเป็นเยื่อหุ้มของเซลล์ประสาทที่คอยป้องกันเซลล์ประสาททำงานได้อย่างเป็นปกติ นอกจากนี้ยังช่วยส่งเสริมการเจริญเติบโต ซ่อมแซมเนื้อเยื่อ และสร้างเซลล์เม็ดเลือดแดง การขาดฮีสทิดีนอาจทำให้เกิดภาวะโลหิตจางได้ ซึ่งพบได้บ่อยในผู้ป่วยโรคไตและผู้ที่มีภาวะข้ออักเสบ[12]
    • ปริมาณที่แนะนำต่อวัน : ประมาณ 14 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม
    • แหล่งอาหารที่พบได้มาก : เนื้อสัตว์ ปลา เนื้อสัตว์ปีก ถั่ว เมล็ดพืช และธัญพืชไม่ขัดสี 

แหล่งอาหารของกรดอะมิโนจำเป็น : แหล่งอาหารที่ดีที่สุดที่ให้กรดอะมิโนจำเป็น คือ โปรตีนจากสัตว์ เช่น เนื้อวัว สัตว์ปีก อาหารทะเล ไข่ รวมถึงผลิตภัณฑ์จากนม ผลิตภัณฑ์จากถั่วเหลือง เต้าหู้ ส่วนผู้ที่รับประทานมังสวิรัติสามารถได้รับกรดอะมิโนจำเป็นจากนมถั่วเหลือง เต้าหู้ เมล็ดพืช ธัญพืช ควินัว บัควีท เป็นต้น อย่างไรก็ตาม คุณไม่จำเป็นต้องรับประทานที่ให้กรดอะมิโนทั้งหมด 9 ชนิดในมื้อเดียว (ตามคำแนะนำเดิม) โดยสามารถแบ่งทานเป็นมื้อ ๆ ได้ตลอดทั้งวัน[16]

กรดอะมิโนไม่จำเป็น 

  1. อาร์จินีน (Arginine)* ช่วยกระตุ้นการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน ลดอาการเหนื่อยล้า และช่วยปรับปรุงสุขภาพหัวใจ
  2. ซิสเทอีน (Cysteine)* มีความสำคัญต่อการผลิตคอลลาเจน ช่วยให้ผิวมีสุขภาพดี
  3. กลูตามีน (Glutamine)* : ช่วยสนับสนุนกระบวนการเผาผลาญและให้พลังงานแก่เซลล์ในร่างกาย
  4. ไกลซีน (Glycine)* ทำหน้าที่เป็นสารสื่อประสาท ช่วยสนับสนุนการทำงานของสมอง
  5. โพรลีน (Proline)* ช่วยส่งเสริมสุขภาพข้อต่อ เพิ่มความยืดหยุ่นของผิวหนัง และช่วยในการเผาผลาญอาหาร
  6. ซีรีน (Serine)* จำเป็นสำหรับการเผาผลาญไขมัน การทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน และช่วยเพิ่มการเจริญเติบโตของกล้ามเนื้อ
  7. ไทโรซีน (Tyrosine)* ช่วยในการสังเคราะห์ฮอร์โมนไทรอยด์ เมลานิน และอะดรีนาลีน
  8. อะลานีน (Alanine) ช่วยในการเผาผลาญและให้พลังงานแก่กล้ามเนื้อ สมอง และระบบประสาทส่วนกลาง
  9. แอสพาราจีน (Asparagine) ทำหน้าที่เป็นยาขับปัสสาวะ ช่วยปรับการทำงานของสมองและเซลล์ประสาทให้เหมาะสม
  10. กรดแอสพาร์ติก (Aspartic acid) : ช่วยสร้างกรดอะมิโนชนิดอื่น ๆ อีกหลายชนิด รวมทั้งแอสพาราจีน อาร์จินีน และไลซีน
  11. กรดกลูตามิก (Glutamic acid)​ : ทำหน้าที่เป็นสารสื่อประสาทในระบบประสาทส่วนกลาง มีความสำคัญในกระบวนการเรียนรู้ และความจำ[26]

นอกจากนี้ยังมีกรดอะมิโนเพิ่มเติมอีก 3 ชนิดที่ไม่ได้อยู่ในรายชื่อกรดอะมิโนมาตรฐาน แต่ก็พบเห็นได้บ่อย ๆ เช่น

  • ซิสทีน (Cystine) ช่วยเสริมความแข็งแรงของโครงสร้างโปรตีนในร่างกาย
  • ทอรีน (Taurine) ส่งเสริมการมองเห็น ป้องกันจอประสาทตาเสื่อม ช่วยให้หัวใจทำงานได้แข็งแรงขึ้น ช่วยรักษาโรควิตกกังวลและโรคลมชัก
  • ออร์นิทีน (Ornitine)* ช่วยกระตุ้นการหลั่งอินซูลินเพื่อมาช่วยเสริมสร้างกล้ามเนื้อ นักเพาะกายจึงนิยมมาก

หมายเหตุ* : กรดอะมิโนไม่จำเป็นหลายชนิดก็จัดเป็นกรดอะมิโนจำเป็นได้ในบางกรณี เรียกว่า “กรดอะมิโนเฉพาะกาล” เช่น ในหญิงตั้งครรภ์ เด็กทารก ผู้อยู่ในช่วงเจ็บป่วย ผู้มีความเครียดสูง ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ผู้ป่วยมะเร็งที่อยู่ระหว่างทำคีโมบำบัด ฯลฯ ที่ในช่วงเวลาเหล่านี้ ร่างกายอาจไม่สามารถผลิตกรดอะมิโนที่ไม่จำเป็นได้อย่างเพียงพอ (เช่น อาร์จินีนที่ถือเป็นกรดอะมิโนไม่จำเป็น แต่ร่างกายไม่สามารถสร้างได้มากพอตามที่ร่างกายต้องการเมื่อเรากำป่วยเป็นโรคเรื้อรังบางอย่างอยู่ เช่น มะเร็ง หรือในหญิงตั้งครรภ์ที่ร่างกายจะต้องการกรดอะมิโนไกลซีนและอาร์จินีนมากกว่าปกติเพื่อสุขภาพของทารกในครรภ์และของคุณแม่ตั้งครรภ์) ด้วยเหตุนี้ ในบางสถานการณ์ ในบางคนอาจจำเป็นต้องรับประทานผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่มีกรดอะมิโนครบถ้วนทั้งที่จำเป็นและไม่จำเป็น แต่ทั้งนี้ก็ควรปรึกษาแพทย์ก่อนเสมอเกี่ยวกับความจำเป็น ความปลอดภัย และปริมาณการใช้[13],[14],[15] 

กรดอะมิโนเฉพาะกาล (Conditional amino acids) ได้แก่ Arginine, Cysteine, Glutamine, Glycine, Proline, Serine, Tyrosine และ Ornithine

“กรดอะมิโนมีบทบาทสำคัญอย่างมากต่อร่างกายของเรา ร่างกายของคนเราต้องการกรดอะมิโน 20 ชนิดที่แตกต่างกันเพื่อช่วยให้การทำงานของร่างกายเป็นไปอย่างปกติและเหมาะสมเพราะกรดอะมิโนเกี่ยวข้องกับระบบและกระบวนการหลายอย่างในร่างกาย ตั้งแต่ระบบประสาท ระบบภูมิคุ้มกัน ระบบสืบพันธุ์ ระบบย่อยอาหาร การเจริญเติบโต การสร้างพลังงาน เป็นต้น นั่นจึงสาเหตุว่าการขาดกรดอะมิโนบางชนิดอาจส่งผลเสียต่อร่างกายหรือทำให้เกิดอาการต่าง ๆ ตามมาได้ เช่น อาเจียน ไม่อยากอาหาร และอาจรวมถึงภาวะซึมเศร้า วิตกกังวล นอนไม่หลับ เหนื่อยล้า อ่อนแรง หากเกิดขึ้นในเด็กอาจทำให้มีการเจริญเติบโตช้า เป็นต้น”

ประโยชน์ของกรดอะมิโน

แม้ว่ากรดอะมิโนทั้งที่จำเป็นและไม่จำเป็นจะสามารถพบได้ในอาหารหลากหลายประเภท แต่การรับประทานในปริมาณที่เข้มข้นในรูปแบบเสริมนั้นเชื่อมโยงกับประโยชน์ต่อสุขภาพหลายประการ ดังนี้

  • อาจเป็นแหล่งพลังงานให้แก่ร่างกาย
  • อาจช่วยเพิ่มภูมิคุ้มกันในร่างกาย
  • อาจช่วยสร้างฮอร์โมนและสารสื่อประสาท ส่งผลให้อารมณ์ดีขึ้น เพราะทริปโตเฟนจำเป็นสำหรับการผลิตเซโรโทนินซึ่งเป็นสารสื่อประสาทที่ช่วยควบคุมอารมณ์และการนอนหลับ โดยระดับเซโรโทนินที่ต่ำจะเชื่อมโยงกับอารมณ์ซึมเศร้าและการมีปัญหาเรื่องการนอน โดยจากการทบทวนการศึกษาคุณภาพสูงรวม 11 ชิ้นพบว่าการทานเสริมสามารถช่วยลดความวิตกกังวลและช่วยให้อารมณ์ดีขึ้นในผู้ที่มีสุขภาพดี[17]
  • อาจช่วยย่อยอาหารและรักษาระบบย่อยอาหารให้ทำงานปกติ
  • อาจช่วยรักษาสุขภาพผม ผิวและเล็บ
  • อาจช่วยเสริมประสิทธิภาพในการออกกำลังกายและการฟื้นตัว มีนักกีฬาหลายคนที่มักใช้กรดอะมิโน BCAAs (Valine, Leucine, Isoleucine) เพื่อลดความเหนื่อยล้า เพิ่มประสิทธิภาพในการออกกำลังกาย (โดยเฉพาะการออกกำลังกายที่มีความเข้มข้นสูง) กระตุ้นการฟื้นตัวของกล้ามเนื้อหลังออกกำลังกาย ลดความเสียหายของกล้ามเนื้อ รวมถึงอาการปวดกล้ามเนื้อหลังออกกำลังกาย เพราะมีหลายการศึกษาที่ยืนยันได้ถึงประสิทธิภาพดังกล่าวเมื่อเทียบกับกลุ่มควบคุม[18],[19],[20],[21]
  • อาจช่วยเสริมสร้างและลดการสูญเสียมวลกล้ามเนื้อได้ โดยมีการศึกษาที่พบว่า หากได้รับกรดอะมิโนจำเป็นไม่เพียงพออาจทำให้มวลกล้ามของผู้สูงอายุลดลง[22] และการเสริมกรดอะมิโนจำเป็นอาจช่วยลดการสูญเสียมวลกล้ามเนื้อในผู้สูงอายุที่ฟื้นตัวจากการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่า[23]
  • อาจช่วยเสริมสร้างและซ่อมแซมเนื้อเยื่อของร่างกาย
  • อาจช่วยในการรักษาบาดแผลและการผ่าตัด โดยมีการศึกษาพบว่าผู้ที่ได้รับกรดอะมิโนเฉพาะกาล (Conditional amino acids) เป็นเวลา 2 สัปดาห์หลังการผ่าตัดจะมีอัตราการเสียชีวิตและภาวะแทรกซ้อนน้อยกว่าผู้ที่ได้รับสารอาหารมาตรฐาน[24] ส่วนการใช้กรดอะมิโน BCAAs (Valine, Leucine, Isoleucine) ในช่วงการผ่าตัดสามารถลดภาวะแทรกซ้อนหลังการผ่าตัดจากการติดเชื้อได้[25]

คนส่วนใหญ่ได้รับกรดอะมิโนเพียงพออยู่แล้วจากอาหารที่ให้โปรตีน อย่างไรก็ตาม การเสริมกรดอะมิโนในรูปของอาหารเสริมนั้นอาจมีประโยชน์สำหรับบางคน เช่น ในผู้สูงอายุที่ต้องการเสริมเพื่อป้องกันหรือลดการสูญเสียมวลกล้ามเนื้อ, ในผู้ป่วยเรื้อรังที่ต้องการฟื้นฟูร่างกายหลังการเจ็บป่วยหรือผ่าตัด, ในนักกีฬาหรือในคนที่ออกกำลังกายหนักที่ต้องการเสริมสมรรถภาพการออกกำลังกายและการฟื้นตัว, ในคนที่ทำงานหนักที่ต้องการเสริมพื่อช่วยปรับปรุงอารมณ์และการนอนหลับให้ดีขึ้น รวมถึงในคนทั่วไปที่อาจเสริมกรดอะมิโนเพื่อช่วยให้ระบบต่าง ๆ ของร่างกายทำงานได้อย่างเป็นปกติ

ข้อมูลและงานวิจัยอ้างอิง
  1. NIH. “Biochemistry, Essential Amino Acids”. (2022)
  2. NIH. “Tryptophan”. (2022)
  3. NIH. “L-threonine”. (2022)
  4. MedicalNewsToday. “What to know about essential amino acids”. (2019)
  5. NIH. “Phenylalanine”. (2022)
  6. NIH. “Methionine”. (2022)
  7. NIH. “Valine”. (2022)
  8. NIH. “Leucine”. (2022)
  9. NIH. “l-Isoleucine”. (2022)
  10. NIH. “Lysine”. (2022)
  11. The Journal of Nutrition. “Dietary L-Lysine Deficiency Increases Stress-Induced Anxiety and Fecal Excretion in Rats”. (2002)
  12. NIH. “Histidine”. (2022)
  13. NIH. “When Is It Appropriate to Use Arginine in Critical Illness?”. (2016)
  14. NIH. “Glycine, a Dispensable Amino Acid, Is Conditionally Indispensable in Late Stages of Human Pregnancy”. (2021)
  15. NIH. “Acquired Amino Acid Deficiencies: A Focus on Arginine and Glutamine”. (2017)
  16. NIH. “Protein content and amino acid composition of commercially available plant-based protein isolates”. (2018)
  17. NIH. “A systematic review of the effect of L-tryptophan supplementation on mood and emotional functioning”. (2021)
  18. NIH. “The effects of acute branched-chain amino acid supplementation on recovery from a single bout of hypertrophy exercise in resistance-trained athletes”. (2017)
  19. NIH. “Branched-chain amino acid supplementation and exercise-induced muscle damage in exercise recovery: A meta-analysis of randomized clinical trials”. (2017)
  20. NIH. “Does Branched-Chain Amino Acids (BCAAs) Supplementation Attenuate Muscle Damage Markers and Soreness after Resistance Exercise in Trained Males? A Meta-Analysis of Randomized Controlled Trials”. (2021)
  21. NIH. “Effects of a commercially available branched-chain amino acid-alanine-carbohydrate-based sports supplement on perceived exertion and performance in high intensity endurance cycling tests”. (2020)
  22. The New York Academy of Sciences. “The importance of dietary protein for muscle health in inactive, hospitalized older adults”. (2014)
  23. NIH. “Essential Amino Acid Supplementation Mitigates Muscle Atrophy After Total Knee Arthroplasty”. (2018)
  24. NIH. “Amino Acid Supplementation Is Associated with Reduced Mortality and Complications Following Acute Fracture Fixation: Results of a Prospective, Randomized Controlled Trial”. (2020)
  25. NIH. “Are Supplemental Branched-Chain Amino Acids Beneficial During the Oncological Peri-Operative Period: A Systematic Review and Meta-Analysis”. (2021)
  26. NIH. “Non-Essential vs. Essential Amino Acids + Benefits for Weight Loss, Muscle Gain and Even Mood”. (2022)

ตรวจสอบทางการแพทย์ล่าสุดเมื่อวันที่ 13 ก.ย. 2022

เภสัชกรประจำเว็บเมดไทย
ประวัติผู้เขียน : จบการศึกษาปริญญาตรี คณะเภสัชศาสตร์ สาขาเภสัชศาสตร์ มีประสบการณ์การทำงานร้านยามากกว่า 5 ปี เคยเป็นผู้จัดการร้านขายยา เคยเป็นผู้ฝึกอบรมผลิตภัณฑ์กลุ่มสุขภาพ เช่น วิตามิน อาหารเสริม เครื่องมือแพทย์ และยา ปัจจุบันทำงานเป็นเภสัชกรอยู่โรงพยาบาลเอกชน โดยให้คำปรึกษาแนะนำเกี่ยวกับยาและผลิตภัณฑ์สุขภาพ