สารในครีมหน้าขาวยอดนิยมมีอะไรบ้าง ตัวไหนเสี่ยงตัวไหนเวิร์ค ?

สารในครีมหน้าขาวยอดนิยมมีอะไรบ้าง ตัวไหนเสี่ยงตัวไหนเวิร์ค ?

ปัจจุบันมีเครื่องสำอางที่ทำให้ผิวขาวออกวางจำหน่ายในท้องตลาดมากมาย หรือที่เรารู้จักกันในนามของ “ครีมหน้าขาว” (Whitening Products) ซึ่งจัดเป็นผลิตภัณฑ์ยอดฮิตของบรรดาสุภาพสตรี เพราะมีครีมหลายตัวที่ใช้แล้วผิวขาวใสขึ้นจริงและเห็นผลเร็ว แต่ภายในระยะเวลาอันสั้น ความขาวใสนี้อาจถูกแทนที่ด้วยผลข้างเคียงต่าง ๆ ได้ เช่น ผื่นแพ้ หน้าบาง รอยแดง รอยไหม้ดำที่ค่อย ๆ แผ่วงกว้าง ฯลฯ ซึ่งต้องใช้เวลาในการรักษานาน และในบางรายอาจเป็นถาวร

แต่เพื่อไม่ให้เราถูกเอาเปรียบและได้รับผลกระทบจากครีมหน้าขาวที่ไม่มีคุณภาพหรือ ครีมหน้าขาวที่แอบใส่สารอันตรายบางตัว ในบทความเราจึงมาอธิบายถึงสารยอดนิยมต่าง ๆ ที่ผู้ผลิตนิยมใส่ (หรือแอบใส่) ลงไปในครีมหน้าขาวว่ามีสารอะไรบ้างที่เป็นอันตรายใช้แล้วเสี่ยงหน้าพัง และสารไหนที่สามารถใช้ได้อย่างปลอดภัยและเวิร์คที่สุด ไปดูกันครับ…

สารในครีมหน้าขาวมีกี่ประเภท

  • สารที่มีฤทธิ์ยับยั้งการสร้างเมลานิน พบได้เป็นส่วนใหญ่ในครีมขาวและมีหลายชนิดมาก โดยจะมีทั้งสารปลอดภัยและไม่ปลอดภัย ได้แก่ อาร์บูติน (Arbutin), กรดโคจิก (Kojic Acid), ลิโคไลซ์ (Licorice Extract), สารสกัดมะหาด (Lakoocha Extract), วิตามินซี (Vitamin C), วิตามินอี (Vitamin E), สารสกัดจากถั่วเหลือง (Soybean Extract), สารในกลุ่มอนุพันธ์รีซอซินอล (Resorcinol) ฯลฯ
  • สารที่มีฤทธิ์ช่วยในการผลัดเซลล์ผิว ได้แก่ กรดเรติโนอิก (Retinoic acid), เอเอชเอ (AHA), บีเอชเอ (BHA) ส่วนใหญ่จะเป็นสารอันตรายและต้องใช้ภายใต้การดูแลของแพทย์ เพราะใช้แล้วจะทำให้ผิวบาง เกิดฝ้า กระได้ง่ายขึ้นกว่าเดิม
  • สารอื่น ๆ ที่อาจพบได้ในครีมผิวขาว ซึ่งเราจะไม่ได้พูดถึงในบทความนี้ เพราะไม่ได้ทำให้ผิวขาวใสขึ้นโดยตรง ได้แก่ สารที่ช่วยป้องกันไม่ทำให้ผิวเกิดการเพิ่มปริมาณของเม็ดสีหรือสารที่ช่วยปกป้องแสงแดด (เช่น Titanium dioxide, Zinc oxide), สารที่ช่วยในการต่อต้านอนุมูลอิสระ (เช่น Co-enzyme Q10), สารที่ช่วยลดการอักเสบหรือระคายเคืองผิวหนัง (เช่น ว่านหางจระเข้ สารสกัดจากใบบัวบก), สารที่ช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นให้กับผิว (เช่น Hyaluronic acid) เป็นต้น

สารในครีมหน้าขาวที่ใช้แล้วเสี่ยงหน้าพัง

สารไวท์เทนนิ่งต่อไปนี้เป็นสารอันตรายที่โดยปกติแล้วเราจะไม่พบในครีมหน้าขาวทั่วไป เพราะเป็นสารที่ถูกห้ามใช้เป็นส่วนประกอบในเครื่องสำอาง (ยกเว้น AHA และ BHA) แต่กระนั้นก็ยังมีผู้ผลิตบางเจ้าที่แอบผสมสารอันตรายเหล่านี้ที่เห็นผลเร็ว ๆ เข้าไปในครีมหน้าขาว ดังนั้น หากคุณใช้ครีมหน้าขาวใด ๆ แล้วเกิดอาการคันหรืออักเสบก็ควรหยุดใช้ในทันที และไปพบแพทย์เพื่อหาทางรักษาต่อไป (สารปรอทเป็นสารที่ถูกห้ามใช้โดยเด็ดขาด ส่วนสารไฮโดรควิโนน สเตียรอยด์ และเรตินอยด์นั้นจะจัดเป็นยาอันตรายที่มีประโยชน์ในการรักษา และสามารถใช้ได้ภายใต้การดูแลและควบคุมของแพทย์เท่านั้น)

  1. ปรอท (Mercury) เป็นสารอันตรายห้ามใช้ตามประกาศกระทรวงสาธารสุข โดยเป็นสารที่มีฤทธิ์ยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ไทโรซิเนส (Tyrosinase) ทำให้มีการสร้างเม็ดสีเมลานิน (Melanin) ลดลง จึงช่วยให้สีผิวขาวขึ้น มีผลข้างเคียงที่พบได้บ่อยคือ ทำให้เกิดการแพ้ ผื่นแดง ผิวหน้าดำ ผิวบางลง เกิดฝ้าถาวร และหากใช้ติดต่อกันเป็นเวลานานจะทำให้เกิดพิษสะสมในผิวหนังและดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือดจนทำให้ตับและไตอักเสบ เกิดโรคโลหิตจาง ทางเดินปัสสาวะอักเสบ
  2. ไฮโดรควิโนน (Hydroquinone) มักถูกนำมาใช้เป็นยาทารักษาฝ้า กระ และจุดด่างดำ เพราะมีฤทธิ์ยับยั้งกระบวนการทางเคมีของเซลล์สร้างเม็ดสี (Melanocyte) โดยไปยับยั้งเอนไซม์ไทโรซิเนสที่ทำหน้าที่ในการสร้างเม็ดสี เมื่อปริมาณเม็ดสีลดลง จึงส่งผลให้ผิวขาวขึ้น ส่วนผลข้างเคียงที่มักพบได้คือ อาการแสบร้อน ตุ่มแดง เกิดภาวะผิวคล้ำมากขึ้นในบริเวณที่ทา และหากใช้อย่างต่อเนื่องก็อาจทำให้เกิดฝ้าภาวะและเพิ่มโอกาสเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งผิวหนังได้ ในการใช้จึงต้องอยู่ภายใต้การดูแลและควบคุมของแพทย์
  3. สเตียรอยด์ (Steroid) เป็นสารที่มักใช้เป็นสูตรผสมกับสารตัวอื่น เช่น ไฮโดรควิโนน หรือเรตินอยด์ในการรักษาฝ้า กระ และจุดด่างดำ โดยจะมีฤทธิ์ยับยั้งการสร้างสารเคมีสื่อกลาง (Mediators) เช่น โพรสตาแกรนดิน (Prostaglandin) และลิวโคไตรอีน (Leukotriene) ที่ใช้ในการการสร้างเม็ดสี จึงทำให้ปริมาณเม็ดสีลดลงส่งผลให้ผิวขาวขึ้น การใช้ครีมที่ (แอบ) มีส่วนผสมของสเตียรอยด์ในความเข้มข้นสูง ใช้ผิดวิธี หรือใช้เป็นเวลานานก็อาจก่อให้เกิดผดผื่น ผิวหน้าบาง เห็นเส้นเลือดแดงตามใบหน้าชัดขึ้น และทำให้มลภาวะสารพิษจากภายนอกเข้าสู่ผิวหนังชั้นแท้ได้ง่ายขึ้น ในการใช้จึงต้องอยู่ภายใต้การดูแลและควบคุมของแพทย์เช่นกัน
  4. กรดเรติโนอิก (Retinoic acid) มีผลรบกวนกระบวนการสร้างเม็ดสี โดยมีกลไกการออกฤทธิ์คือกระตุ้นการแบ่งเซลล์และเร่งการผลัดเซลล์ของผิวในชั้นอิพิทีเรียล/เยื่อบุผิว (Epitherial) ลดการเคลื่อนย้ายเม็ดสีมาที่เซลล์ผิวหนังและยั้บยั้งการทำงานของเอนไซม์ไทโรซิเนสที่ใช้ในการสร้างเม็ดสี การใช้ครีมหรือยาทาที่มีส่วนผสมของสารนี้อย่างไม่ถูกวิธีหรือไม่อยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ก็อาจทำให้เกิดอาการระคายเคืองผิวหนัง ผิวหน้าลอก อักเสบ แพ้แสงแดดได้ง่าย หรือเกิดภาวะผิวด่างขาวหรือผิวคล้ำได้
  5. เอเอชเอ (AHA) หรือกรดผลไม้ เป็นสารที่สกัดจากผลไม้หลายอย่าง เช่น อ้อย องุ่น แอปเปิ้ล มะนาว นมเปรี้ยว แต่ที่นิยมใช้กันคือ Glycolic acid (สกัดจากอ้อย) และ Lactic acid (สกัดจากนมเปรี้ยว) ทางการแพทย์ให้การยอมรับว่าสามารถใช้ผลัดเซลส์ผิวให้ดูกระจ่างใสได้ เพราะทาแล้วทำให้เซลล์ขี้ไคลหลุดออกจากกันได้ง่ายโดยไม่ต้องออกแรงขัด ในการใช้จะเหมาะกับคนผิวแห้ง ผิวแพ้ง่าย หรือผิวที่ถูกแดดทำร้าย แต่การใช้ก็ต้องระวังในเรื่องของความเข้มข้นและระยะเวลาที่ทาเป็นอย่างมาก เพราะจะทำให้เกิดอาการแสบแดงร้อนบริเวณที่ทา เกิดการระคายเคืองผิว ผิวแห้ง เกิดผื่นคัน และผิวไวต่อแสงแดดซึ่งจะทำให้มีโอกาสเสี่ยงต่อการมะเร็งผิวหนังได้ (ความเข้มข้นที่มากกว่า 8% ต้องใช้ด้วยความระมัดระวัง ส่วนความเข้มข้นที่ต้องใช้โดยแพทย์ผิวหนังคือ 30-70%)
  6. บีเอชเอ (BHA) เป็นสารที่สังเคราะห์ขึ้นมา ไม่เสื่อมง่ายเหมือน AHA สารในตระกูลบีเอชเอที่รู้จักกันดีคือ กรดซาลิไซลิก (Salicylic acid) ซึ่งจะมีฤทธิ์ทำให้ผิวหนังชั้นขี้ไคลผลัดตัวได้เร็วขึ้นดีกว่า AHA เหมาะใช้กับคนผิวมันหรือคนที่มีรูขุมขนกว้าง มีผลข้างเคียงที่อาจพบได้ คือ เกิดการระเคืองต่อผิวหนังหรือก่อให้เกิดการแพ้ เกิดภาวะผิวแห้ง และหากใช้เป็นเวลานานอาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อระบบการทำงานภายในร่างกายได้ เช่น คลื่นไส้ ระคายเคืองกระเพาะอาหาร

สารในครีมหน้าขาวที่ใช้แล้วปลอดภัย

มาถึงสารในครีมหน้าขาวที่เราสามารถใช้กันได้อย่างปลอดภัยหายห่วงกันบ้าง ซึ่งในส่วนนี้จะขอกล่าวถึงเฉพาะสารไวท์เทนนิ่งในครีมหน้าขาวที่เราคุ้นเคยและเป็นที่นิยมในท้องตลาดเท่านั้น ซึ่งจะมีดังนี้ครับ

  1. วิตามินซี (Vitamin C) เป็นสารที่ได้จากผลไม้ตระกูลส้มที่เราคุ้นเคยกันเป็นอย่างดี ออกฤทธิ์ไปรบกวน DHICA Oxidation ทำให้เม็ดสีเมลานินในผิวไม่เพิ่มขึ้น จึงช่วยให้ผิวดูสว่างใสขึ้น แต่ในเรื่องของความขาว วิตามินซีดูจะไม่โดดเด่นเท่าไหร่นัก แต่ก็มีจุดเด่นตรงที่มันสามารถช่วยกระตุ้นคอลลาเจนและทำให้ริ้วรอยดูจางลงได้
  2. อาร์บูติน (Arbutin) ซึ่งจะมีทั้งแบบสังเคราะห์ (Alpha Arbutin) และแบบที่ได้จากธรรมชาติ (Beta Arbutin) เช่น บลูเบอร์รี, แครนเบอร์รี เป็นสารไวท์เทนนิ่งที่ได้รับความนิยมอย่างมาก เพราะเรื่องความขาวใส ลดฝ้า กระ และรอยดำคล้ำ ตัวนี้เคยถูกยกให้เป็นที่ 1 เมื่อเทียบกับสารไวท์เทนนิ่งตัวอื่น ๆ ครับ แต่กว่าจะเห็นผลชัดเจนก็ต้องใช้เวลานานประมาณ 3 เดือนขึ้นไป และถ้าใช้ในปริมาณมากเกินไปก็อาจเกิดผลกระทบในระยะยาวได้ครับ
  3. กรดโคจิก (Kojic Acid) เป็นสารที่ได้จากกระบวนการหมักข้าวมอลต์ ช่วยลดเม็ดสีในชั้นผิวด้วยการยับยั้งเอนไซม์ที่สร้างเม็ดสีโดยไม่ทำให้ผิวบางและไวต่อแสงแดด ผิวจึงดูขาวใสขึ้น จากการทดสอบในอาสาสมัครก็พบว่าให้ผลดีพอ ๆ กับอาร์บูติน (แต่อาร์บูตินจะให้ผลดีกว่าเล็กน้อย)
  4. ลิโคไลซ์ (Licorice Extract) หรือสารสกัดจากรากชะเอมเทศ ซึ่งจะมีสารกลาบริดิน (Glabridin) เป็นตัวยับยั้งการสร้างเม็ดสีเมลานิน จึงช่วยปรับผิวให้ขาวใสได้ ซึ่งตัวนี้ก็ได้รับความนิยมมากเช่นกัน เพราะนอกจากจะช่วยยับยังการสร้างเม็ดสีได้แล้ว ลิโคไลซ์ยังช่วยลดการอักเสบของผิวหนังและมีสารต้านอนุมูลอิสระที่ช่วยชะลอการเกิดริ้วรอยของผิวได้ด้วย แต่ในเรื่องของความใสแล้วก็ยังคงเป็นรองอาร์บูติน
  5. สารสกัดมะหาด (Lakoocha Extract) เป็นสารที่มีฤทธิ์ยับยั้งเอ็นไซม์เอนไซม์ไทโรซิเนส สามารถทำให้ผิวขาวขึ้นได้เมื่อใช้ติดต่อกันอย่างต่อเนื่อง โดยจะมีประสิทธิภาพใกล้เคียงกับกรดโคจิก แต่การใช้ครีมที่มีสารสกัดมะหาดจะต้องพิจารณาถึงความเข้มข้น (ควรมีความเข้มข้นอย่างน้อย 1% นน./ปริมาตร) และรูปแบบของผลิตภัณฑ์ด้วย (ควรเป็นเครื่องสำอางโลชั่นชนิดไขมันในน้ำ (Oil-in-water emulsion))
  6. วิตามินอี (Vitamin E) เป็นสารสกัดที่ได้จากกลุ่มถั่ว ผัก และน้ำมันพืช มีฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์ที่สร้างเม็ดสีและช่วยเพิ่มสารกลูตาไธโอน แต่ประสิทธิภาพในเรื่องความขาวใสก็ยังไม่มากนักเมื่อเทียบกับตัวอื่น ๆ แต่วิตามินอีจะโดดเด่นในเรื่องของการลดริ้วรอยและรอยแผลเป็นต่าง ๆ มากกว่า
  7. สารสกัดจากถั่วเหลือง (Soybean Extract) มีฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์สร้างเม็ดสีเช่นกัน แต่ไม่ได้โดดเด่นอะไรมากเมื่อเทียบกับตัวที่กล่าวมา แต่จะมีข้อดีเพิ่มเติมตรงที่มันช่วยกระตุ้นการสร้างคอลลาเจนเพิ่มความชุ่มชื้นใต้ผิวได้นั่นเอง
  8. สารในกลุ่มรีอนุพันธุ์รีซอซินอล (Resorcinol) สารในกลุ่มนี้มีทั้ง PhE-Resorcinol, B-Resorcinol และ THIAMIDOL™ ซึ่งเป็นสารล่าสุดในกลุ่มนี้ โดยมีฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์ไทโรซิเนสที่เป็นตัวกระตุ้นสร้างเม็ดสีเมลานินสีเข้ม

สารในครีมหน้าขาวกลุ่มไหนใช้แล้วเวิร์คที่สุด

ในเรื่องของความขาว ช่วยลดเลือนฝ้า กระ และจุดด่างดำ กลุ่มสารที่ดีที่สุดก็คงหนีไม่พ้น “กลุ่มสารที่มีฤทธิ์ยับยั้งการสร้างเมลานินเพราะสารเหล่านั้นจะเข้าไปยับยั้งการสร้างเม็ดสีเมลานินได้ตั้งแต่ระดับเซลล์ต้นกำเนิด (แต่สารอันตรายบางตัวดังที่กล่าวไปแล้วถ้าเลี่ยงได้ก็ควรเลี่ยง เช่น ไฮโดวควินิน ที่ถึงแม้จะเห็นผลเร็ว แต่ก็เสี่ยงทำให้หน้าพังได้ถ้าใช้โดยไม่ปรึกษาแพทย์) ด้วยเหตุนี้คนส่วนใหญ่จึงเลือกบำรุงผิวด้วยครีมหน้าขาวที่มีส่วนผสมของสารไวท์เทนนิ่งในกลุ่มนี้เพื่อช่วยลดฝ้า กระ จุดด่างดำกันมากกว่าวิธีอื่น ๆ อย่างการลอกผิวหรือทำเลเซอร์ที่แม้จะเห็นผลเร็ว แต่ก็มีวิธีการดูแลรักษาที่ค่อนข้างยากและอาจกลับมาเป็นซ้ำได้ง่ายหากผิวเจอกับปัจจัยกระตุ้น

นอกจากสารไวท์เทนนิ่งที่มีฤทธิ์ยับยั้งการสร้างเมลานินในครีมหน้าขาวที่เราคุ้นเคยแล้ว ยังมีสารอีกตัวหนึ่งที่คนยังไม่รู้จักกันนัก เพราะเป็นสารใหม่ล่าสุดของกลุ่มสารยับยั้งการสร้างเม็ดสีเมลานิน นั่นก็คือ “สารไทอามิดอล” (THIAMIDOL™) ซึ่งในบทความนี้เราจะพูดถึงสารนี้กันสักเล็กน้อย เพราะมันเป็นสารตัวใหม่ที่มีประสิทธิภาพดีมากในการยับยั้งเอนไซม์ไทโรซิเนส (Tyrosinase) ที่เป็นตัวกระตุ้นสร้างเม็ดสีเมลานินสีเข้ม โดยมีประสิทธิภาพดีที่สุดเมื่อเทียบกับสารอื่น ๆ ที่พบได้ทั่วไปตามท้องตลาด ยกตัวอย่างเช่น กรดโคจิกซึ่งเป็นส่วนผสมในผลิตภัณฑ์ไวท์เทนนิ่งส่วนใหญ่ที่ขายในเอเชีย

ไทอามิดอล (THIAMIDOL™)

ไทอามิดอล (THIAMIDOL™) คือ สารไวท์เทนนิ่งตัวใหม่ล่าสุดในกลุ่มอนุพันธ์รีซอร์ซินอล (Resorcinol) ที่มีชื่อทางเคมีว่า “Isobutylamido thiazolyl resorcinol” ถูกคิดค้นขึ้นโดยสถาบันวิจัยและพัฒนาไบเออร์สด๊อรฟ เอจี ฮัมบวร์ค ประเทศเยอรมนี (Beiersdorf AG, Hamburg, Germany) ได้รับการจดสิทธิบัตรและตีพิมพ์ลงในวารสาร Journal of Investigative Dermatology (2018) ซึ่งเป็นวารสารที่แพทย์ผิวหนังทั่วโลกให้การยอมรับ

แต่กว่าจะได้มาซึ่งสารที่ว่านี้ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะสารไวท์เทนนิ่งส่วนใหญ่จะถูกทดสอบกับเอนไซม์ของเห็ด เนื่องจากเห็ดสามารถผลิตเม็ดสีเมลานินแล้วเปลี่ยนจากสีขาวเป็นสีน้ำตาลได้คล้ายกับผิวของมนุษย์ แม้กลไกการทำงานของมันจะเหมือนกับผิวมนุษย์ก็จริง แต่เห็ดกับผิวมนุษย์ก็มีความแตกต่างกันอยู่ดี… ด้วยเหตุนี้ ทางสถาบันวิจัยดังกล่าวจึงได้ทุ่มเททดลองใช้สารไวท์เทนนิ่งจำนวนมากกว่า 50,000 สาร กับเอนไซม์ไทโรซิเนสจากผิวมนุษย์จริง ๆ เพื่อหาดูว่าสารไวท์เทนนิ่งที่ได้ผลกับมนุษย์ตัวไหนดีที่สุด ! ซึ่งกว่าจะพบสารไวท์เทนนิ่งอันทรงพลังนามว่า “ไทอามิดอล” ก็ต้องใช้เวลานานกว่า 10 ปีเลยทีเดียว

โดยจากงานวิจัยพบว่า สารไทอามิดอล (THIAMIDOL™) มีประสิทธิภาพในการยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ไทโรซิเนสที่เป็นตัวกระตุ้นการสร้างเม็ดสีเมลานินสีเข้มได้ดีที่สุดเมื่อเทียบกับสารอื่น ๆ ที่พบได้ทั่วไปตามท้องตลาด โดยดีกว่าสารในกลุ่มอนุพันธุ์ซอร์ซินอลเดียวกันถึง 10 เท่า และมากกว่าหลายร้อยเท่าเมื่อเทียบกับอาร์บูตินและกรดโคจิกซึ่งเป็นส่วนผสมในผลิตภัณฑ์ไวท์เทนนิ่งส่วนใหญ่ที่มีขายในเอเชีย !

ส่วนผลลัพธ์จากผู้ใช้จริงพบว่า ฝ้าแดด จุดด่างดำจางลงอย่างชัดเจน ผิวดูขาวกระจ่างใสขึ้นทั่วใบหน้าตั้งแต่ 2 สัปดาห์แรก และดีขึ้นเมื่อใช้อย่างต่อเนื่อง โดยผู้ใช้ 98% รู้สึกว่าจุดด่างดำดูจางลง และผู้ใช้ 100% รู้สึกว่าผิวดูขาวกระจ่างใสขึ้น (ทดสอบโดยใช้ผลิตภัณฑ์อัลตร้าไวท์ เดย์ฟลูอิด ของ Eucerin ที่มีสาร THIAMIDOL™ เป็นเวลา 4 สัปดาห์ ในกลุ่มอาสาสมัครผู้หญิงจำนวน 120 คน อายุระหว่าง 25-55 ปี โดยบริษัท MWResearch ประเทศไทย เมื่อเดือน พฤศจิกายน พ.ศ.2560)

หลังใช้สารไทอามิดอล

ผลิตภัณฑ์อัลตร้าไวท์ เดย์ฟลูอิด ของ Eucerin ที่มีสาร THIAMIDOL™ เป็นเวลา 4 สัปดาห์
ภาพหลังใช้ผลิตภัณฑ์อัลตร้าไวท์ เดย์ฟลูอิด ของ Eucerin ที่มีสาร THIAMIDOL™ เป็นเวลา 4 สัปดาห์

ด้วยเหตุนี้ สารไทอามิดอล (THIAMIDOL™) จึงถือได้ว่าเป็นสารไวท์เทนนิ่งที่เหมาะอย่างยิ่งสำหรับผิวคนไทยที่มีปัญหาผิวหมองคล้ำ สีผิวไม่สม่ำเสมอจากจุดด่างดำ ฝ้า กระ และยังเป็นตัวช่วยในการดูแลผิวควบคู่กับการทำหัตถการทางการแพทย์ได้อีกด้วย

สารไทอามิดอล (THIAMIDOL™) สารไวท์เทนนิ่งทรงพลังที่ได้รับการพิสูจน์ทางคลินิกแล้วว่ามีประสิทธิภาพในการยับยั้งการสร้างเม็ดสีที่ต้นตอ จึงช่วยลดจุดด่างดำได้อย่างมีประสิทธิภาพ”

เอกสารอ้างอิง
  1. Mann T, Gerwat W, Batzer J, Eggers K, Scherner C, Wenck H, Stäb F, Hearing VJ, Röhm KH, Kolbe L. Inhibition of Human Tyrosinase Requires Molecular Motifs Distinctively Different from Mushroom Tyrosinase. Journal of Investigative Dermatology. 2018 Jul;138(7):1601-1608.
  2. คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ฝ่ายเภสัชกรรม. “อันตรายจากสารต้องห้ามในเครื่องสำอาง”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : med.mahidol.ac.th. [12 ก.พ. 2019].

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)Advertisement

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด