Silymarin (ไซลิมาริน) สรรพคุณ, วิธีใช้, คำแนะนำ ฯลฯ

Silymarin (ไซลิมาริน) ยาสำหรับผู้ป่วยที่มีปัญหาเกี่ยวกับตับ

Silymarin คืออะไร

Silymarin เป็นสารสกัดจากเมล็ดของพืช Milk Thistle (ชื่อวิทยาศาสตร์: Silybum marianum L.) ซึ่งได้รับการยอมรับในด้านคุณสมบัติที่ช่วยส่งเสริมสุขภาพตับ (คำว่า “Milk Thistle” และ “Silymarin” มักถูกใช้เรียกแทนกันอยู่บ่อยครั้ง) แพทย์มักใช้สารนี้ในการรักษาปัญหาที่เกี่ยวข้องกับตับ ในขณะที่ผู้คนทั่วไปนิยมใช้เพื่อบรรเทาและรักษาโรคที่เกี่ยวข้องกับตับโดยเฉพาะ

ตามข้อบ่งใช้ Silymarin (ไซลิมาริน) เป็นยาที่ใช้สำหรับผู้ป่วยที่มีปัญหาเกี่ยวกับตับ เช่น โรคตับแข็ง โรคตับอักเสบแบบเฉียบพลันและเรื้อรัง โรคไขมันสะสมในตับ โรคตับจากการดื่มแอลกอฮอล์ ภาวะตับอักเสบจากการติดเชื้อ  หรือตับถูกทำลายจากสารพิษ ยา หรือแอลกอฮอล์ นอกจากนี้ยังใช้เพื่อเสริมการทำงานของตับในคนทั่วไป

ส่วนผสมสำคัญใน Milk Thistle คือกลุ่มสารประกอบพฤกษเคมีที่เรียกรวมกันว่า ‘Silymarin‘ ซึ่งเป็นสารฟลาโวนอยด์ที่มีคุณสมบัติทางชีวภาพหลากหลาย เช่น Silybin, Silydianin, และ Silychristin โดยมี Silybin เป็นสารออกฤทธิ์หลักที่มีบทบาทสำคัญในการปกป้องเซลล์ตับจากความเสียหาย พร้อมทั้งเสริมการทำงานของตับ

กลไกการออกฤทธิ์ของ Silymarin ที่มีบทบาทสำคัญในการปกป้องและเสริมการทำงานของเซลล์ตับ เกิดจากฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระและต้านการอักเสบ โดยช่วยยับยั้งการเข้าสู่เซลล์ของสารพิษที่อาจทำลายตับ พร้อมทั้งกระตุ้นการสังเคราะห์โปรตีนในเซลล์ตับ ซึ่งมีส่วนสำคัญในการฟื้นฟูและเสริมสร้างการทำงานของตับให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

Milk Thistle คืออะไร?

Milk Thistle (มิลค์ทิสเซิล) เป็นพืชหนามที่มีดอกสีม่วงและเส้นใบสีขาววงศ์เดียวกับเดซี่ มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Silybum marianum L. และมีชื่อเรียกอื่น ๆ ว่า Mary Thistle และ Holy Thistle

Milk Thistle เป็นพืชพื้นเมืองของภูมิภาคเมดิเตอร์เรเนียนของยุโรป ปัจจุบันมีการปลูกทั่วโลก รวมถึงแอฟริกาตอนเหนือ ออสเตรเลียตอนใต้ และบางส่วนของอเมริกาเหนือและใต้ โดยส่วนใหญ่ปลูกเป็นพืชสมุนไพรแต่บางครั้งก็ใช้เป็นแหล่งอาหารด้วย

ในสหรัฐอเมริกา Silymarin จัดเป็นอาหารเสริมหรือสมุนไพรที่ใช้รักษาปัญหาเกี่ยวกับตับ ส่วนในประเทศไทย Silymarin จะอยู่ในรูปแบบของยาที่มีความแรง 40 และ 140 มิลลิกรัม

ในบางครั้งพืชชนิดนี้ก็ถูกเรียกว่า ‘Silymarin‘ ซึ่งเป็นสารประกอบหลักที่อยู่ในเมล็ดของมัน ทำให้  “Milk Thistle” และ “Silymarin” มักถูกเรียกแทนกัน แม้ว่าจะไม่ใช่สิ่งเดียวกันก็ตาม

ประโยชน์ของ Silymarin ตามงานวิจัย

ด้านล่างนี้เป็นสรุปงานวิจัยบางส่วนที่เกี่ยวกับการใช้ Silymarin หรือ Milk Thistle ในการรักษาโรคตับ รวมถึงงานวิจัยที่กล่าวถึงประโยชน์ในด้านอื่น ๆ อย่างไรก็ตาม หลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่สนับสนุนประโยชน์ในด้านอื่น ๆ ยังคงมีอยู่อย่างจำกัด ทำให้ยังไม่สามารถยืนยันประสิทธิภาพในแง่เหล่านี้ได้อย่างแน่ชัด

1. ปกป้องตับ : Milk Thistle (Silymarin) เป็นพืชที่ได้รับการวิจัยมากที่สุดในการรักษาโรคตับต่าง ๆ แพทย์มักแนะนำให้ใช้เป็นการบำบัดเสริมในผู้ที่ตับเสียหายเนื่องจากโรคต่าง ๆ เช่น โรคตับแข็ง โรคตับอักเสบแบบเฉียบพลันและเรื้อรัง โรคไขมันสะสมในตับ ภาวะตับอักเสบจากการติดเชื้อ ตับถูกทำลายจากสารพิษ ยา หรือแอลกอฮอล์ หรือแม้แต่โรคมะเร็งตับ โดยมีงานวิจัยที่เกี่ยวข้องดังนี้

  • การวิจัยพบว่า Silymarin ซึ่งเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ อาจช่วยลดการผลิตอนุมูลอิสระและช่วยในการล้างพิษที่ตับ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการปกป้องตับ และอาจมีประโยชน์ในการรักษาปัญหาตับต่าง ๆ (อ้างอิง 1)
  • การศึกษาวิจัยในปี 2014 พบว่าการรักษาด้วย Silymarin ช่วยยืดอายุขัยของผู้ที่เป็นโรคตับแข็งจากแอลกอฮอล์ได้เล็กน้อย (2)
  • การศึกษาวิจัยในปี 2016 ที่ใช้หนูเป็นสัตว์ทดลอง พบว่า Silymarin สามารถช่วยลดความเสียหายของตับที่เกิดจากอาหารบางชนิดได้ (3)
  • การศึกษาวิจัยในปี 2021 พบว่า Milk Thistle (Silymarin) สามารถช่วยปรับปรุงการทำงานของตับในผู้ที่เป็นโรคไขมันพอกตับ (NAFLD) โดยลดการอักเสบของตับและความเสียหายของตับที่เกิดจากโรคนี้ แต่ยังต้องการการวิจัยเพิ่มเติมเพื่อยืนยันประสิทธิภาพและความปลอดภัยในการใช้ในผู้ป่วย (4)
  • มีการศึกษาที่ชี้ให้เห็นถึงความสามารถในการปกป้องตับจากสารพิษรวมถึงอะมาทอกซิน (Amanitin) ซึ่งเป็นสารพิษที่พบในเห็ด Amanita phalloides หรือเห็ดพิษที่เป็นอันตรายถึงชีวิตหากรับประทานเข้าไป และการศึกษาที่แสดงให้เห็นถึงการป้องกันและฟื้นฟูการทำงานของตับในผู้ที่มีตับเสียหายจากสารพิษในอุตสาหกรรม เช่น โทลูอีน (Toluene) และไซลีน (Xylene) ซึ่งเป็นสารเคมีที่พบในหลายอุตสาหกรรม เช่น การทาสีและการผลิตสารเคมีต่าง ๆ
  • Silymarin อาจไม่มีผลต่อโรคตับอักเสบซีซึ่งเป็นโรคติดเชื้อไวรัส การศึกษาวิจัยที่สำคัญพบว่าผู้ป่วยโรคตับอักเสบซีไม่ได้รับประโยชน์ใด ๆ แม้จะรับประทาน Silymarin ในปริมาณที่สูงกว่าปกติก็ตาม นักวิจัยพบว่าไม่มีการเปลี่ยนแปลงของระดับไวรัสหรือคุณภาพชีวิตในผู้ที่รับประทานมิลค์ทิสเซิลเมื่อเทียบกับผู้ที่รับประทานยาหลอก (5)
  • อย่างไรก็ตาม ผลการศึกษายังค่อนข้างคลุมเครือ (6) และไม่ใช่ในทุกกรณีที่ Silymarin จะมีประโยชน์ต่อโรคตับ ดังนั้น จึงยังจำเป็นต้องมีการศึกษาเพิ่มเติม และแม้ว่า Silymarin มักถูกใช้เป็นการบำบัดเสริมสำหรับผู้ป่วยโรคตับ แต่แพทย์ไม่แนะนำให้ซิลิมารินเป็นทางเลือกหลักในการรักษาปัญหาของตับ

2. ช่วยเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกัน : Silymarin อาจช่วยเสริมสร้างการตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกัน ทำให้ร่างกายมีความสามารถในการต่อสู้กับการติดเชื้อ และยังช่วยลดอาการอักเสบเรื้อรังที่เกิดจากการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันอีกด้วย

  • การศึกษาวิจัยในสัตว์ทดลองในปี 2016 พบว่าสารสกัดจากพืช Silybum marianum ช่วยปรับปรุงภูมิคุ้มกัน (7) ส่วนการศึกษาวิจัยก่อนหน้านี้พบว่าสารสกัดจากนี้มีผลดีต่อการตอบสนองของภูมิคุ้มกันในมนุษย์ (8)

3. ปกป้องระบบประสาทและการเสื่อมถอยของการทำงานของสมองที่เกี่ยวข้องกับอายุ : คุณสมบัติต้านการอักเสบและต้านอนุมูลอิสระของ Silymarin อาจช่วยปกป้องระบบประสาทและป้องกันการเสื่อมถอยของการทำงานของสมองเมื่ออายุมากขึ้น ซึ่งตามข้อมูล Milk Thistle ถูกใช้เป็นยาแผนโบราณสำหรับอาการทางระบบประสาท เช่น อัลไซเมอร์และพาร์กินสันมาเป็นเวลากว่า 2,000 ปีแล้ว (9)

  • จากการศึกษาในสัตว์ทดลองที่มีอายุมากในปี 2009 (10) และ 2014 (11) พบว่า Silymarin มีศักยภาพในการ ป้องกันความเสียหายจากออกซิเดชันต่อเซลล์สมอง ซึ่งอาจช่วยป้องกันการเสื่อมถอยทางจิตและโรคที่เกี่ยวข้องกับการเสื่อมสภาพของสมอง เช่น โรคอัลไซเมอร์ นอกจากนี้ยังพบว่า Silymarin อาจช่วยลดจำนวนคราบโปรตีนอะไมลอยด์ (Amyloid plaques) ซึ่งเป็นลักษณะเด่นของสมองในผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์ คราบเหล่านี้คือกลุ่มโปรตีนที่เกาะกันเป็นก้อนเหนียว ๆ และสะสมระหว่างเซลล์ประสาท ส่งผลให้เซลล์ประสาททำงานผิดปกติและทำให้เกิดการเสื่อมสภาพของสมอง การลดการสะสมของโปรตีนอะไมลอยด์อาจเป็นอีกหนึ่งกลไกในการช่วยรักษาหรือป้องกันโรคอัลไซเมอร์ได้
  • การศึกษาในปี 2015 ที่ใช้หนอนเป็นสัตว์ทดลอง พบว่า Silymarin สามารถช่วยเพิ่มความต้านทานต่อความเครียดออกซิเดชัน ซึ่งเป็นสาเหตุที่อาจเกี่ยวข้องกับการเกิดโรคอัลไซเมอร์ (12) ด้วยกลไกนี้ Silymarin อาจช่วยปรับปรุงการรับรู้และอาจมีบทบาทในการรักษาโรคเสื่อมต่าง ๆ ที่ส่งผลต่อการทำงานของสมอง อย่างไรก็ตาม นักวิจัยยังคงจำเป็นต้องทำการศึกษาเพิ่มเติมในมนุษย์เพื่อยืนยันผลดังกล่าว
  • แม้ว่าผลการศึกษาในสัตว์ทดลองจะชี้ให้เห็นถึงศักยภาพ แต่ในปัจจุบันยังไม่มีการศึกษาในมนุษย์ที่สามารถยืนยันประสิทธิภาพในผู้ป่วยที่มีภาวะทางระบบประสาทเหล่านี้ และยังต้องการการวิจัยเพิ่มเติมเพื่อหาคำตอบเกี่ยวกับการดูดซึม, การผ่านเลือด-สมอง, และขนาดยา ที่เหมาะสมในการใช้สำหรับผู้ป่วย

4. ช่วยลดคอเลสเตอรอล : คอเลสเตอรอลสูงสามารถนำไปสู่ปัญหาสุขภาพหัวใจและเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคหลอดเลือดสมอง งานวิจัยบางชิ้นพบว่า Silymarin อาจมีผลกระทบต่อระดับคอเลสเตอรอลในเลือด อย่างไรก็ตาม ผลการศึกษาในเรื่องนี้ยังไม่สามารถสรุปได้อย่างชัดเจน และจำเป็นต้องมีการวิจัยเพิ่มเติมเพื่อยืนยันประสิทธิภาพของมันในด้านนี้

  • การศึกษาวิจัยในปี 2006 แสดงให้เห็นว่า Silymarin อาจมีบทบาทในการลดระดับคอเลสเตอรอล โดยพบว่าผู้ที่รับประทาน Silymarin เพื่อรักษาโรคเบาหวานมีระดับคอเลสเตอรอลต่ำกว่าผู้ที่รับประทานยาหลอก (13) อย่างไรก็ตาม การศึกษานี้จำกัดเฉพาะผู้ป่วยเบาหวาน ซึ่งมักมีปัญหาคอเลสเตอรอลสูง ทำให้ยังไม่สามารถสรุปได้ว่า Milk Thistle จะมีผลเช่นเดียวกันกับผู้ที่ไม่ได้เป็นโรคเบาหวานหรือไม่
  • การศึกษาวิจัยในปี 2016 นักวิจัยได้ให้อาหารที่มีคอเลสเตอรอลสูงแก่หนู และให้ Silybin แก่หนูบางตัวในปริมาณ 300 และ 600 มก./กก. ของน้ำหนักตัว ผลการศึกษาพบว่าหนูที่ได้รับ Silybin มีระดับคอเลสเตอรอลในเลือดและไตรกลีเซอไรด์รวมต่ำกว่าหนูที่ไม่ได้รับ Silybin อย่างมีนัยสำคัญ (14)
  • นอกจากนี้ Silymarin ยังสามารถรับประทานร่วมกับยาที่ใช้ลดระดับคอเลสเตอรอล เช่น สแตติน (Statins) ได้ โดยอาจช่วยป้องกันไม่ให้ระดับเอนไซม์ในตับสูงเกินไป ซึ่งเป็นผลข้างเคียงที่อาจเกิดจากการใช้ยาสแตตินในระยะยาว (15)

5. ลดระดับน้ำตาลในเลือด/ภาวะดื้อต่ออินซูลินในผู้ป่วยเบาหวาน : Silymarin อาจเป็นทางเลือกเสริมที่เป็นประโยชน์ในการช่วยจัดการโรคเบาหวานชนิดที่ 2 และภาวะดื้อต่ออินซูลิน โดยมีการศึกษาและหลักฐานที่น่าสนใจดังนี้

  • การศึกษากับหนูในปี 2016 พบว่า Silymarin ช่วยลดภาวะดื้อต่ออินซูลิน ซึ่งเป็นปัญหาสำหรับผู้ป่วยเบาหวานประเภท 2 (อ้างอิง 3)
  • การทบทวนงานวิจัยปี 2020 สรุปว่า Silymarin เป็นสารที่มีแนวโน้มดีในการรักษาภาวะดื้อต่ออินซูลิน โดยเฉพาะในผู้ป่วยที่มีภาวะอ้วนและโรคเบาหวานประเภท 2 (16)
  • มีการค้นพบว่า Silymarin อาจมีการทำงานคล้ายกับยาเบาหวานบางชนิด โดยช่วยปรับปรุงความไวต่ออินซูลินและลดระดับน้ำตาลในเลือด นอกจากนี้ การทบทวนและวิเคราะห์ระบบอย่างเป็นระบบในปี 2021 เดียวกันยังพบว่าผู้ที่ใช้ Silymarin เป็นประจำช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดขณะอดอาหารและ HbA1c ซึ่งเป็นตัววัดการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้อย่างมีนัยสำคัญ (17)
  • บางข้อมูลรายงานว่า ด้วยคุณสมบัติต้านอนุมูลอิสระและต้านการอักเสบ Silymarin อาจช่วยลดความเสี่ยงของภาวะแทรกซ้อนจากเบาหวาน เช่น โรคไตได้
  • อย่างไรก็ตาม แม้ว่าผลการวิจัยจะแสดงให้เห็นถึงศักยภาพขอในเรื่องนี้ แต่คุณภาพของการศึกษาหลายชิ้นยังคงไม่สูงมาก และจำเป็นต้องมีงานวิจัยเพิ่มเติมเพื่อยืนยันประสิทธิภาพนี้อย่างแน่ชัด

6. อาจช่วยบรรเทาอาการหอบหืดจากภูมิแพ้ : โรคหอบหืดเป็นโรคอักเสบเรื้อรังที่เกิดจากการตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกันต่อสิ่งกระตุ้นในสิ่งแวดล้อมมากเกินไป ซึ่งส่งผลให้เกิดการอักเสบในทางเดินหายใจ Silymarin อาจมีบทบาทในการบรรเทาอาการหอบหืดได้ เพราะมีคุณสมบัติลดการอักเสบและควบคุมการตอบสนองของภูมิคุ้มกัน อย่างไรก็ตาม จำเป็นต้องมีการศึกษาวิจัยเพิ่มเติมในมนุษย์ต่อไป

  • การศึกษาวิจัยในปี 2012 พบว่า Silymarin ช่วยป้องกันการอักเสบในทางเดินหายใจของหนูที่มีอาการหอบหืดจากภูมิแพ้ (18)
  • การศึกษาวิจัยในหนูในปี 2020 นักวิจัยสรุปว่า Silymarin มีฤทธิ์ช่วยควบคุมอาการหอบหืดผ่านการปรับการตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกันในหนูทดลอง (19)

7. อาจช่วยปรับปรุงการรักษามะเร็งได้ : Silymarin อาจช่วยชะลอการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็ง/เนื้องอก และช่วยลดผลข้างเคียงที่เกิดจากการรักษามะเร็งได้ แต่การศึกษาที่ดำเนินการในมนุษย์ยังมีจำกัด และยังไม่พบผลทางคลินิกที่ชัดเจนในมนุษย์ (20, 21) ซึ่งอาจเป็นเพราะคนเราไม่สามารถดูดซึมสารสกัดได้มากพอที่จะมีผลทางยา จำเป็นต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมก่อนว่า Silymarin จะถูกนำมาใช้เพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยมะเร็งได้อย่างไร

  • การศึกษาวิจัยขนาดเล็กที่ส่วนใหญ่ดำเนินการกับเซลล์ในห้องปฏิบัติการชี้ให้เห็นว่า Milk Thistle (Silymarin) อาจมีศักยภาพในการชะลอการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งและเนื้องอก รวมถึงเพิ่มประสิทธิภาพของยาเคมีบำบัดในบางกรณี ตามรายงานจากสถาบันสุขภาพแห่งชาติ (NIH) มีการค้นพบว่า Silymarin อาจมีประโยชน์ในมะเร็งหลายประเภท เช่น มะเร็งต่อมลูกหมาก มะเร็งเต้านม มะเร็งปากมดลูก มะเร็งเม็ดเลือดขาว มะเร็งผิวหนัง มะเร็งลำไส้ใหญ่ (22)
  • การศึกษาวิจัยขนาดเล็กหลายฉบับชี้ให้เห็นว่า Milk Thistle (Silymarin) อาจช่วยลดผลข้างเคียงที่เกิดจากการรักษามะเร็ง เช่น การฉายรังสี การผ่าตัด และเคมีบำบัด (23)
  • การศึกษาวิจัยในสัตว์ปี 2022 แสดงให้เห็นว่า Milk Thistle อาจมีประโยชน์ในการลดผลข้างเคียงของการรักษามะเร็ง (24)
  • การทาเจลที่มีสารสกัดจาก Milk thistle บริเวณมือและเท้าตั้งแต่วันแรกของการทำคีโมและต่อเนื่องเป็นเวลา 9 สัปดาห์ สามารถลดความรุนแรงของอาการผิวหนังอักเสบที่เกิดจากยารักษามะเร็งชื่อ Capecitabine ได้ (25)
  • การศึกษาในปี 2023 ที่รายงานว่า Silymarin มีศักยภาพในการกระตุ้นกิจกรรมต่อต้านเนื้องอก พร้อมทั้งช่วยปกป้องเซลล์ปกติจากความเสียหายที่อาจเกิดจากการรักษาด้วยเคมีบำบัด (26)
  • การศึกษาขนาดเล็กที่ดำเนินการกับผู้ป่วยมะเร็งเต้านมจำนวน 101 ราย พบว่าการใช้ครีมที่มีส่วนประกอบของ Silymarin กับผิวหนังอาจช่วยลดความเสียหายของผิวหนังที่เกิดจากการฉายรังสี (27) อย่างไรก็ตาม Silymarin อาจมีฤทธิ์คล้ายฮอร์โมนเอสโตรเจน ซึ่งอาจเพิ่มความเสี่ยงสำหรับผู้ป่วยมะเร็งเต้านมที่ไวต่อฮอร์โมน ดังนั้น การใช้งานในกลุ่มผู้ป่วยเหล่านี้ควรระมัดระวัง และยังจำเป็นต้องมีการศึกษาวิจัยเพิ่มเติมเพื่อยืนยันทั้งประโยชน์และความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น

8. อาจช่วยปกป้องกระดูก : จากการศึกษาในสัตว์ทดลองพบว่า Silymarin สามารถกระตุ้นการสร้างแคลเซียมในกระดูกและอาจช่วยป้องกันการสูญเสียมวลกระดูกได้ (28, 29) และ Silymarin อาจเป็นวิธีการรักษาที่มีประโยชน์ในการป้องกันหรือชะลอการสูญเสียมวลกระดูกในสตรีวัยหมดประจำเดือน (30) อย่างไรก็ตาม ข้อมูลจากการศึกษาในสัตว์ทดลองนั้นยังไม่สามารถยืนยันถึงประสิทธิภาพในมนุษย์ได้ และจำเป็นต้องทำการศึกษาเพิ่มเติมในมนุษย์ต่อไป

9. เพิ่มการผลิตน้ำนมแม่ : Silymarin อาจมีศักยภาพในการช่วยเพิ่มการผลิตน้ำนมแม่ โดยอาจทำงานผ่านการกระตุ้นฮอร์โมนโปรแลคติน (Prolactin) ซึ่งเป็นฮอร์โมนสำคัญในการกระตุ้นการสร้างน้ำนม มีการศึกษาแบบสุ่มควบคุมพบว่าคุณแม่ที่ให้นมบุตรที่รับประทานซิลิมารินขนาด Silymarin มิลลิกรัมต่อวัน เป็นเวลา 63 วัน มีปริมาณการผลิตน้ำนมเพิ่มขึ้น 64% เมื่อเทียบกับกลุ่มที่ได้รับยาหลอก (31) อย่างไรก็ตาม นี่เป็นเพียงการศึกษาทางคลินิกเดียวที่มีอยู่ จำเป็นต้องมีการวิจัยเพิ่มเติมเพื่อยืนยันผลลัพธ์เหล่านี้

10. ช่วยลดน้ำหนัก : การศึกษาในสัตว์ทดลองในปี 2016 พบว่า Silymarin อาจมีศักยภาพในการช่วยลดน้ำหนัก โดยทดลองในหนูที่ถูกป้อนอาหารซึ่งออกแบบมาเพื่อกระตุ้นให้น้ำหนักเพิ่มขึ้น ซึ่งการศึกษานี้รายงานว่า Silymarin ช่วยลดน้ำหนักในหนูเหล่านี้ได้ (อ้างอิง 3) อย่างไรก็ตาม ข้อมูลในมนุษย์ยังขาดแคลน จำเป็นต้องมีการวิจัยเพิ่มเติมในมนุษย์ เพื่อประเมินประสิทธิภาพในกลุ่มคนที่ต้องการควบคุมน้ำหนักหรือรักษาโรคอ้วน

11. อาจดีต่อสุขภาพผิว : นักวิจัยพบว่า Milk Thistle มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระและต่อต้านวัยต่อเซลล์ผิวหนังของมนุษย์ในหลอดทดลอง (32) และมีหลายการศึกษาที่เกี่ยวข้อง (แต่จำเป็นต้องทำการศึกษาวิจัยในมนุษย์เพิ่มเติม) เช่น

  • การศึกษาในปี 2015 นักวิจัยพบว่า Silibinin ช่วยปรับปรุงสภาพผิวหนังอักเสบได้เมื่อทาลงบนผิวหนังของหนู (33)
  • การศึกษาวิจัยในปี 2019 ที่ดำเนินการกับเซลล์ในห้องทดลอง พบว่า Silymarin อาจช่วยป้องกันผลกระทบที่เป็นอันตรายจากการสัมผัสแสงแดด รวมถึงการชะลอวัยของผิวหนัง (34)
  • ผลิตภัณฑ์จาก Milk Thistle (Silibinin) ดูเหมือนจะช่วยสมานผิวหนังจากความเสียหายที่เกิดจากรังสี UVB จากดวงอาทิตย์ และอาจมีประโยชน์ในการป้องกันมะเร็งผิวหนังชนิดที่ไม่ใช่เมลาโนมาในบางกรณี (35)

12. อาจช่วยลดความรุนแรงของสิว : เนื่องจาก Silibinin มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระและต้านการอักเสบ Silibinin อาจเป็นประโยชน์สำหรับผู้ที่เป็นสิวหรืออาจช่วยลดความรุนแรงของสิวได้ น่าสนใจที่การศึกษาในปี 2012 พบว่าผู้ที่เป็นสิวที่รับประทาน Silibinin วันละ 210 มิลลิกรัม เป็นเวลา 8 สัปดาห์ มีการลดลงของรอยโรคสิว 53% (36) อย่างไรก็ตาม เนื่องจากนี่เป็นเพียงการศึกษาเดียว จึงจำเป็นต้องมีการวิจัยคุณภาพสูงเพิ่มเติม

13. อาการอาหารไม่ย่อย (Dyspepsia) : การใช้ Milk Thistle ร่วมกับอาหารเสริมชนิดอื่น อาจช่วยบรรเทาอาการอาหารไม่ย่อยได้ (37)

14. ภาวะโลหิตจางชนิดเบต้า-ธาลัสซีเมีย (Beta-thalassemia) : งานวิจัยเบื้องต้นในเด็กที่มีภาวะนี้พบว่าการรับประทานสารสกัด Milk Thistle (Silymarin) เป็นเวลา 6-9 เดือนร่วมกับการรักษาแบบมาตรฐาน อาจช่วยลดระดับธาตุเหล็กในเลือดได้ดีกว่าการรักษาแบบมาตรฐานเพียงอย่างเดียว (25)

15. โรคไตในผู้ป่วยเบาหวาน (Diabetic nephropathy) : งานวิจัยเบื้องต้นระบุว่าการรับประทานสารสกัดจาก Milk Thistle ร่วมกับการรักษาแบบมาตรฐาน อาจช่วยบรรเทาโรคไตในผู้ป่วยเบาหวานได้ (25)

16. ไข้ละอองฟาง (Hay fever) : มีงานวิจัยบางชิ้นระบุว่า การรับประทานสารสกัดจาก Milk Thistle ร่วมกับยาแก้แพ้เซทิริซีน (Cetirizine หรือ Zyrtec) อาจช่วยลดอาการแพ้ตามฤดูกาลได้ดีกว่าการใช้ยาเซทิริซีนเพียงอย่างเดียว (25)

17. ภาวะมีบุตรยาก (Infertility) : งานวิจัยเบื้องต้นพบว่า การรับประทานสารสกัดจาก Milk Thistle ร่วมกับฮอร์โมนช่วยเจริญพันธุ์ อาจมีประโยชน์ต่อผู้ที่ทำเด็กหลอดแก้ว (IVF) เนื่องจากภาวะมีบุตรยากจากฝ่ายชาย (25)

18. อาการวัยทอง : งานวิจัยเบื้องต้นชี้ว่า Milk Thistle อาจช่วยลดอาการวัยทอง เช่น อาการร้อนวูบวาบ ได้ (25)

19. โรคลำไส้อักเสบชนิดหนึ่ง (Ulcerative colitis) : การศึกษาพบว่าการรับประทานสารสกัดจาก Milk Thistle เป็นเวลา 6 เดือนร่วมกับการรักษามาตรฐาน อาจช่วยลดอาการของโรคและช่วยให้โรคอยู่ในระยะสงบได้นานขึ้น (25)

ตัวอย่างยา Silymarin & วิธีการใช้

ตัวอย่างยาตามรูปประกอบด้านล่างนี้คือยา Silymarin ที่มีชื่อทางการค้าว่า Legalon® (ลิกาลอน) ที่มีตัวยา Silymarin ความแรง 70 และ 140 มก. ผลิตโดยบริษัท Madaus GmbH ประเทศเยอรมัน และนำเข้าโดยบริษัท เวียร์ทริศ ฟาร์มาซูติคอล (ประเทศไทย) จำกัด

Legalon® (ลิกาลอน) มีตัวยา Silymarin 140 มก.

โดยตัวยา Silymarin จะถูกบรรจุอยู่ในรูปของแคปซูลชนิดแข็งสีน้ำตาล (ขนาดเบอร์ 1) บรรจุงด้วยผงยาสีเหลือง โดยยานี้มีข้อบ่งใช้ตามเอกกำกับยาสำหรับใช้เป็นยาร่วมในการรักษาผู้ที่มีภาวะการอักเสบของตับเรื้อรังหรือภาวะตับแข็ง

สำหรับขนาดยาและวิธีการใช้ยา ตามเอกสารกำกับยาระบุถึงขนาดยาที่แนะนำสำหรับการเริ่มต้นการรักษาและกรณีที่รุนแรง ดังนี้

  • Silymarin 70 มก. ครั้งละ 2 แคปซูล วันละ 3 ครั้ง ขนาดยาต่อมาสำหรับคงการรักษา คือ ครั้งละ 1 แคปซูล วันละ 3 ครั้ง
  • Silymarin 140 มก. ครั้งละ 1 แคปซูล วันละ 3 ครั้ง ขนาดยาต่อมาสำหรับคงการรักษา คือ ครั้งละ 1 แคปซูล วันละ 2 ครั้ง

โดยให้รับประทานยาโดยการกลืนพร้อมกับน้ำ (ไม่เคี้ยว) ส่วนระยะเวลาการใช้ยานี้ แพทย์ของคุณจะเป็นผู้ตัดสินใจ

ผลข้างเคียงของ Silymarin

โดยทั่วไป Silymarin ถือว่าปลอดภัยสำหรับคนส่วนใหญ่เมื่อรับประทานทางปาก แต่บางคนอาจพบผลข้างเคียงได้ การรับประทาน Silymarin ในปริมาณที่เหมาะสมมักจะปลอดภัยและมีผลข้างเคียงน้อย แม้จะรับประทานติดต่อกันเป็นเวลานานก็ตาม โดยผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นได้นั้นมีดังนี้

  • อาการทางเดินอาหาร : คลื่นไส้, ท้องเสีย, ท้องอืด, หรือเสียดท้อง
  • อาการแพ้ : ผื่นผิวหนัง, ผิวหนังอักเสบ, อาการคัน หรือปฏิกิริยาแพ้เล็กน้อย
  • อาการอื่น ๆ : ปวดศีรษะ, ปวดข้อ

ผลข้างเคียงเหล่านี้มักจะลดลงเมื่อหยุดใช้ หากพบอาการเหล่านี้หรือผลข้างเคียงอื่น ๆ ควรปรึกษาผู้ให้บริการดูแลสุขภาพเพื่อพิจารณาแนวทางที่ดีที่สุดในการจัดการกับอาการดังกล่าว ตามข้อมูลจาก NIH (National Institutes of Health) ระบุว่า Milk Thistle โดยรวมแล้วมีผลข้างเคียงน้อยมาก แต่การใช้ในปริมาณสูงอาจทำให้เกิดอาการบางประการที่กล่าวถึงข้างต้น (23)

คนบางกลุ่มควรระมัดระวังเมื่อรับประทาน Silymarin ได้แก่ :

  • หญิงตั้งครรภ์ : เนื่องจากไม่มีข้อมูลที่ชัดเจนเกี่ยวกับความปลอดภัยในการใช้ Silymarin ในหญิงตั้งครรภ์ จึงแนะนำให้หลีกเลี่ยงการใช้ผลิตภัณฑ์เสริมนี้ในช่วงการตั้งครรภ์ หากคุณกำลังตั้งครรภ์หรือให้นมบุตร ควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้
  • ผู้ที่แพ้พืชตระกูล Asteraceae/Compositae : ผู้ที่มีอาการแพ้พืชในวงศ์นี้ เช่น เดซี่, ดาวเรือง, เบญจมาศ อาจเสี่ยงที่จะเกิดอาการแพ้จาก Milk Thistle ได้ ซึ่งในบางกรณีอาจทำให้เกิดอาการแพ้รุนแรงที่อาจเป็นอันตรายถึงชีวิต
  • ผู้ป่วยเบาหวาน : เนื่องจาก Silymarin อาจมีผลลดระดับน้ำตาลในเลือด ซึ่งอาจทำให้ผู้ป่วยเบาหวานมีความเสี่ยงต่อภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ
  • ผู้ที่มีสภาวะไวต่อฮอร์โมน : Silymarin อาจมีผลต่อการกระตุ้นเอสโตรเจนในร่างกาย ซึ่งอาจทำให้สภาวะที่ไวต่อฮอร์โมนแย่ลง เช่น มะเร็งเต้านมบางชนิด, มะเร็งมดลูก, มะเร็งรังไข่, โรคเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ 

ควรปรึกษาแพทย์หรือผู้ให้บริการดูแลสุขภาพก่อนใช้มิลค์ทิสเซิลหากคุณมีปัญหาสุขภาพหรือใช้ยาที่เกี่ยวข้องกับสภาวะเหล่านี้

การศึกษาอ้างอิง
  1. Phytother Res. “Milk thistle in liver diseases: past, present, future”. (2010)
  2. World J Hepatol. “Hepatoprotective effect of silymarin”. (2014)
  3. Pharm Biol. “Silymarin improved diet-induced liver damage and insulin resistance by decreasing inflammation in mice”. (2016)
  4. Applied Sciences. “Dietary Intake of Milk Thistle Seeds as a Source of Silymarin and Its Influence on the Lipid Parameters in Nonalcoholic Fatty Liver Disease Patients”. (2021)
  5. JAMA. “Effect of Silymarin (Milk Thistle) on Liver Disease in Patients With Chronic Hepatitis C Unsuccessfully Treated With Interferon Therapy – A Randomized Controlled Trial”. (2012)
  6. World J Gastroenterol. “Effect of silymarin on biochemical indicators in patients with liver disease: Systematic review with meta-analysis”. (2017)
  7. British Poultry Science. “Dietary but not in ovo feeding of Silybum marianum extract resulted in an improvement in performance, immunity and carcass characteristics and decreased the adverse effects of high temperatures in broilers”. (2015)
  8. Med Sci Monit. “Immunostimulatory effect of Silybum Marianum (milk thistle) extract”. (2002)
  9. Curr Drug Targets. “A Mini Review on the Chemistry and Neuroprotective Effects of Silymarin”. (2017)
  10. Food Chem Toxicol. “Effect of silymarin on biochemical parameters of oxidative stress in aged and young rat brain”. (2009)
  11. Naunyn Schmiedebergs Arch Pharmacol. “Silymarin ameliorates memory deficits and neuropathological changes in mouse model of high-fat-diet-induced experimental dementia”. (2014)
  12. CNS Neurol Disord Drug Targets. “Silymarin extends lifespan and reduces proteotoxicity in C. elegans Alzheimer’s model”. (2015)
  13. Phytother Res. “The efficacy of Silybum marianum (L.) Gaertn. (silymarin) in the treatment of type II diabetes: a randomized, double-blind, placebo-controlled, clinical trial”. (2006)
  14. J Clin Diagn Res. “Effect of Silybin on Lipid Profile in Hypercholesterolaemic Rats”. (2016)
  15. WebMD. “Milk Thistle: Benefits and Side Effects”. (2023)
  16. Annals of Hepatology. “Silymarin is an ally against insulin resistance: A review”. (2021)
  17. Obesity Medicine. “The effects of silymarin on type 2 diabetes mellitus: A systematic review and meta-analysis”. (2021)
  18. Biochem Biophys Res Commun. “Silibinin attenuates allergic airway inflammation in mice”. (2012)
  19. Allergologia et Immunopathologia. “Immunomodulatory effects of two silymarin isomers in a Balb/c mouse model of allergic asthma”. (2020)
  20. Cancer Prev Res (Phila). “A Presurgical Study of Oral Silybin-Phosphatidylcholine in Patients with Early Breast Cancer”. (2016)
  21. Chin J Cancer. “Cancer chemoprevention through dietary flavonoids: what’s limiting?”. (2017)
  22. NIH. “Milk Thistle (PDQ®)–Health Professional Version”. (2022)
  23. NIH. “Milk Thistle (PDQ®)–Patient Version”. (2022)
  24. Iran J Basic Med Sc. “A review of therapeutic potentials of milk thistle (Silybum marianum L.) and its main constituent, silymarin, on cancer, and their related patents”. (2022)
  25. WebMD. “Milk Thistle – Uses, Side Effects, and More”. (2025)
  26. Journal of Functional Foods. “Silymarin in cancer therapy: Mechanisms of action, protective roles in chemotherapy-induced toxicity, and nanoformulations”. (2023)
  27. Strahlenther Onkol. “Topical use of a silymarin-based preparation to prevent radiodermatitis : results of a prospective study in breast cancer patients”. (2011)
  28. Chemico-Biological Interactions. “Silymarin prevents iron overload induced bone loss by inhibiting oxidative stress in an ovariectomized animal model”. (2022)
  29. Biomed Res Int. “Antiosteoclastic Activity of Milk Thistle Extract after Ovariectomy to Suppress Estrogen Deficiency-Induced Osteoporosis”. (2013)
  30. Curr Drug Targets. “Milk thistle: a future potential anti-osteoporotic and fracture healing agent”. (2013)
  31. Acta Biomed. “Clinical efficacy, safety and tolerability of BIO-C (micronized Silymarin) as a galactagogue”. (2008)
  32. J Drugs Dermatol. “The active natural anti-oxidant properties of chamomile, milk thistle, and halophilic bacterial components in human skin in vitro”. (2013)
  33. Food Funct. “Potent inhibitory effect of silibinin from milk thistle on skin inflammation stimuli by 12-O-tetradecanoylphorbol-13-acetate”. (2015)
  34. Molecules. “Skin Protective Activity of Silymarin and its Flavonolignans”. (2019)
  35. Journal of Traditional and Complementary Medicine. “Silibinin and non-melanoma skin cancers”. (2020)
  36. Journal of Traditional and Complementary Medicine. “Effects of Oral Antioxidants on Lesion Counts Associated with Oxidative Stress and Inflammation in Patients with Papulopustular Acne”. (2012)
  37. Mayo Clinic. “Milk thistle”. (2025)

ตรวจสอบทางการแพทย์ล่าสุดเมื่อวันที่ 14 ก.ค. 2025

เภสัชกรประจำเว็บเมดไทย
ประวัติผู้เขียน : จบการศึกษาปริญญาตรี คณะเภสัชศาสตร์ สาขาเภสัชศาสตร์ มีประสบการณ์การทำงานร้านยามากกว่า 5 ปี เคยเป็นผู้จัดการร้านขายยา เคยเป็นผู้ฝึกอบรมผลิตภัณฑ์กลุ่มสุขภาพ เช่น วิตามิน อาหารเสริม เครื่องมือแพทย์ และยา ปัจจุบันทำงานเป็นเภสัชกรอยู่โรงพยาบาลเอกชน โดยให้คำปรึกษาแนะนำเกี่ยวกับยาและผลิตภัณฑ์สุขภาพ