โรคหัวใจสาเหตุการเสียชีวิตทั่วโลก
โรคหัวใจและหลอดเลือดเป็นหนึ่งในสาเหตุของการเสียชีวิตสูงเป็นอันดับ 1 ทั้งในไทยและต่างประเทศ และ 80% ของการเกิดโรคนี้ก่อนวัยอันควรสามารถป้องกันได้ ซึ่งปัจจัยเสี่ยงหลัก ๆ ก็มาจากการมีระดับไขมันในเลือดหรือคอเลสเตอรอลสูง โดยเฉพาะคอเลสเตอรอลชนิดไม่ดี (LDL) ที่เกิดจากการรับประทานอาหารไม่ถูกหลักโภชนาการหรือทานของทอดของมันบ่อย ๆ
คอเลสเตอรอล คือ ไขมันชนิดหนึ่งที่ไม่สามารถละลายอยู่ในกระแสเลือดได้โดยลำพัง ต้องอาศัยการรวมตัวกันกับโปรตีนที่เรียกว่า ไลโพโปรตีน (Lipoprotein) โดยคอเลสเตอรอลจะมีอยู่ 2 ชนิด คือ HDL (High Density Lipoprotien) เป็นไลโพโปรตีนที่มีความหนาแน่นสูงมีหน้าที่นำคอเลสเตอรอลส่วนเกินส่งไปทำลายที่ตับ (จึงเรียกว่าคอเลสเตอรอลชนิดดี) และ LDL (Low Density Lipoprotien) เป็นไลโพโปรตีนที่มีความหนาแน่นต่ำ ซึ่งเป็นตัวทำให้คราบไขมันเกาะพอกอยู่ในหลอดเลือด (จึงเรียกว่าคอเลสเตอรอลชนิดไม่ดี) โดยคอเลสเตอรอลสูงสามารถเกิดได้ทั้งกับคนอ้วนและคนผอม เพราะไขมันในเลือดเป็นคนละส่วนกับไขมันที่สะสมอยู่ใต้ผิวหนัง คนอ้วนจึงไม่จำเป็นต้องมีไขมันในเลือดสูงเสมอไป และคนผอมก็อาจจะมีไขมันในเลือดสูงได้ ส่วนคนกินมังสวิรัติก็มีไขมันในเลือดสูงได้เหมือนกันหากรับประทานอาหารประเภทผัด/ทอดที่ใช้น้ำมันพืชในปริมาณสูงอย่างน้ำมันปาล์มที่มีกรดไขมันอิ่มตัวเป็นประจำ
ดังนั้น การลดระดับ LDL จึงเป็นเป้าหมายสําคัญในการป้องกันและลดการเกิดโรคดังกล่าว โดยวิธีการลดระดับ LDL เบื้องต้นที่หมอจะแนะนำก็คือการให้รับประทานอาหารที่มีกรดไขมันไม่อิ่มตัว เช่น น้ำมันรำข้าว น้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันดอกทานตะวัน (เลี่ยงไขมันจากสัตว์และอาหารที่มีไขมันทราส์ เช่น เบเกอรี เค้ก เนยเทียม วิปครีม) เน้นทานผักผลไม้ แป้งไม่ขัดสี ควบคุมน้ำหนักตัว ควบคู่ไปกับการออกกำลังกาย ส่วนในรายที่เป็นมากแค่การปรับพฤติกรรมดังกล่าวอาจได้ผลไม่มากพอและจำเป็นต้องทานยาทานลดไขมันในเลือดร่วมด้วย แต่ข่าวดีก็คือ ในช่วงหลัง ๆ มาได้มีการแนะนำให้บริโภคอาหารหรือผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของสาร “Plant Stanol” ร่วมด้วย เพราะพบว่าการใช้ร่วมกับยาลดไขมันกลุ่มสแตตินจะเพิ่มประสิทธิภาพการลด LDL ได้เพิ่มอีก 10-15% ซึ่งสูงกว่าการปรับขนาดยาเป็นเท่าตัวที่จะลด LDL เพิ่มเพียง 6%[2] ส่วนในรายเป็นไม่มากอาจแนะนำให้ปรับพฤติกรรมควบคู่ไปกับการใช้ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่มีสารดังกล่าวก็ให้ผลดีเช่นเดียวกัน (การปรับวิธีการกิน (Healthy diet) จะได้ผลในการลด LDL 10% และถ้าใช้ Stanol จะลด LDL ได้อีก 10-14% รวมเป็น 20-24% ในขณะที่การใช้ยาอย่างเดียวจะลดได้ประมาณ 25%)[3]
คนไทยเสียชีวิตจากโรคหัวใจและหลอดเลือดเฉลี่ยชั่วโมงละ 2 คน คนอ้วนหรือผอม ไม่เกี่ยว กับการมีไขมันในเลือดสูง ส่วนคนที่ทานมังสวิรัติก็สามารถเกิดไขมันในเลือดสูงได้เช่นกัน และโรคนี้เกิดได้ ไม่เลือกวัย อายุมากหรือน้อยก็เสี่ยงเป็นได้เหมือนกัน ถ้าเป็นไปได้ควรเริ่มป้องกันตั้งแต่เด็กด้วยการลดไขมันในเลือด เพราะการป้องกันในช่วงแรกของชีวิตจะได้ผลดีกว่าการเริ่มป้องกันในช่วงหลังมาก
Plant Stanol คืออะไร ?
Plant Stanol (แพลนท์ สตานอล) ต่อไปนี้ขอเรียกเพียงสั้น ๆ ว่า “Stanol” เป็นสารที่พบได้ครั้งแรกที่ประเทศฟินแลนด์เมื่อปี 1972 ซึ่งก่อนหน้านั้นชาวฟินแลนด์เคยมีปัญหาคอเลสเตอรอลในเลือดสูงมาก่อนจนทำให้คนวัยทำงานเสียชีวิตจากโรคหัวใจและหลอดเลือดสูงที่สุดในโลก รัฐบาลและเอกชนจึงร่วมมือกันหามาตรการแก้ไขปัญหานี้ โดยระดมผู้เชี่ยวชาญมาคิดค้นวิจัยหาสิ่งที่ช่วยลดคอเลสเตอรอลในเลือด จนนักวิจัยชาวฟินแลนด์ได้ประสบความสำเร็จในการค้นพบสารนี้ที่มีผลในการลดคอเลสเตอรอลชนิด LDL ในเลือด ส่งผลให้ภายใน 5 ปีหลังจากนั้นอัตราการเสียชีวิตของชาวฟินแลนด์ในวัยทำงานก็ลดลงถึงร้อยละ 70[5]
Plant Stanol คือ สารสกัดจากพืชธรรมชาติที่แบ่งย่อยมาจาก Phytosterol (ไฟโตสเตอรอล) โดยจะมีลักษณะโครงสร้างทางเคมีที่คล้ายคลึงกับคอเลสเตอรอลในร่างกาย จึงมีการนำมาใช้เป็นสารที่ช่วยลดระดับคอเลสเตอรอลชนิดไม่ดี (LDL) ด้วยการผสมสารนี้ลงไปในอาหาร เช่น นม กาแฟ เครื่องดื่มสุขภาพต่าง ๆ เนย สเปรด ฯลฯ โดยองค์กร World Heart Foundation ได้กำหนดปริมาณแนะนำไว้ที่ 2 กรัมต่อวัน (สำหรับการทานเพื่อลดระดับ LDL) เพราะปกติแล้วเราจะได้รับ Stanol จากอาหารปกติจำพวกพืชน้ำมันหรือถั่วชนิดต่าง ๆ ไม่เพียงพออยู่แล้ว (โดยเฉพาะในกลุ่มคนที่มีระดับคอเลสเตอรอลในเลือดสูงหรือผู้ที่ทานอาหารไม่เลือกหรือไม่ควบคุมอาหาร) และร่างกายก็ไม่สามารถสร้างขึ้นเองได้
ด้วยเหตุนี้ Plant Stanol จึงเป็นอีกหนึ่งวิธีที่แนะนำในการลดระดับคอเลสเตอรอล (โดยเฉพาะ LDL) เพราะมีประสิทธิภาพสูงมาก เป็นวิธีที่คุ้มค่าและสามารถทำได้ต่อเนื่องในระยะยาว เพราะใช้ได้อย่างปลอดภัยและไม่เกิดผลข้างเคียงใด ๆ ในบทความนี้เราจะมาพูดถึงสารชนิดนี้กันอย่างละเอียดครับ[3]
กลไกการออกฤทธิ์ของ Plant Stanol
การออกฤทธิ์ของ Plant Stanol พบว่ามีกลไกช่วยลดการดูดซึมคอเลสเตอรอลเข้าสู่ร่างกาย เนื่องจากสารชนิดนี้มีโครงสร้างทางเคมีที่คล้ายกับคอเลสเตอรอลและเป็นสารที่ดูดซึมได้น้อย จึงสามารถเข้าไปแย่งจับหรือเข้าไปแทนที่คอเลสเตอรอลที่กำลังจะเข้าไปจับกับไมเซลล์ (Micelle) ที่ทำหน้าที่ลำเลียงไขมันในลำไส้เล็กให้เข้าสู่กระแสเลือดได้ ซึ่ง Stanol จะจับกับ Micelle ได้ดีกว่าคอเลสเตอรอลเพราะมีคุณสมบัติ Hydrophobic มากกว่า และจะดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือดแทนไขมันคอเลสเตอรอลตัวจริง มีผลทำให้คอเลสเตอรอลตัวจริงถูกดูดซึมผ่านผนังลำไส้เล็กได้น้อยลงและถูกขับออกจากร่างกายทางอุจจาระเพิ่มขึ้น ระดับคอเลสเตอรอลในเลือดจึงลดลง[1],[4] (ลำไส้เล็กสามารถดูดซึม Stanol ได้เพียง 0.02-0.3% ในขณะที่ดูดซึมคอเลสเตอรอลได้ถึง 20-80% หรือเฉลี่ยประมาณ 55%)[1]
นอกจากกลไกการแย่งคอเลสเตอรอลจับกับ Micelle แล้ว เชื่อว่า Stanol อาจลดระดับคอเลสเตอรอลชนิดไม่ดี (LDL) ผ่านการกระตุ้นเซลล์ให้ผลิตโปรตีน ATP-binding cassette (ABC) Transporter มาปรากฎที่เยื่อหุ้มเซลล์ผนังลำไส้เพิ่มขึ้น (มีผลเฉพาะ LDL แต่ไม่มีผลกับ HDL ซึ่งเป็นคอเลสเตอรอลชนิดดี)[1]
สรุปแล้ว Stanol เป็นสารที่จะเข้าไปรบกวนการดูดซึมคอเลสเตอรอลจากอาหารให้เข้าสู่กระแสเลือดได้น้อยลง จึงส่งผลต่อเนื่องในการลดความเสี่ยงของการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดได้
งานวิจัย Plant Stanol
งานวิจัยในหลาย ๆ ประเทศให้การรับรองการกลไกทำงานของ Plant Stanol ว่าเป็นสารที่สามารถช่วยลดระดับคอเลสเตอรอลในเลือดได้อย่างมีประสิทธิภาพและมีความปลอดภัยสูง (มีงานวิจัยรองรับกว่า 80 งานวิจัยทั่วโลก) หลาย ๆ องค์กรชั้นนำจึงแนะนำให้ใช้สารนี้ในการลดระดับคอเลสเตอรอล* และองค์กร World Heart Foundation ได้กำหนดปริมาณแนะนำไว้ที่วันละ 2 กรัม เพื่อลดระดับคอเลสเตอรอล[4] สำหรับตัวอย่างการศึกษาวิจัยสำคัญนั้นมีดังนี้
- การศึกษาในประเทศอังกฤษ สวีเดน และจีน พบว่า Plant Stanol จากอาหารตามธรรมชาติมีผลเพียงเล็กน้อยในการช่วยลดระดับคอเลสเตอรอลชนิด LDL (แต่ถ้าขาดจะมีระดับ LDL ในเลือดเพิ่มสูงขึ้นมาก) แต่การเพิ่ม Stanol ในอาหารวันละ 2 กรัม จะช่วยลด LDL ได้ถึง 9.3% และอาจลดเพิ่มได้ถึง 16-17% หากบริโภคเพิ่มขึ้นเป็น 4-9 กรัม จึงเป็นการดีที่จะเพิ่ม Stanol ในอาหารให้กับผู้ที่มีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด[2] ส่วนงานวิจัยสำคัญอื่น ๆ ที่ให้ผลสอดคล้องกัน ได้แก่
- หน่วยงาน EFSA ของสหภาพยุโรปที่ดูแลเกี่ยวกับความปลอดภัยของอาหาร ได้สรุปว่า การบริโภค Plant Stanol วันละ 1.5-2.4 กรัม จะสามารถช่วยลดระดับคอเลสเตอรอลได้ 7-10.5% โดยผลในการลดจะเกิดขึ้นภายใน 2-3 สัปดาห์ และถ้าเพิ่มระยะเวลาการใช้ออกไปถึง 85 สัปดาห์ ผลการลดยังคงที่อยู่ได้ จึงอาจสรุปได้ว่า สารกลุ่มนี้สามารถช่วยลดคอเลสเตอรอลในเลือดได้และส่งผลต่อการลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจด้วย[5]
- กระทรวงสาธารณสุขของแคนาดา (Health Canada) ได้ศึกษาเกี่ยวกับ Plant Stanol / ในผลิตภัณฑ์เสริมอาหารกับอาสาสมัครจำนวน 84 คน พบว่า การบริโภควันละ 2 กรัม สามารถช่วยลดคอเลสเตอรอลชนิดไม่ดี (LDL) ได้ 8.8% ผลการศึกษานี้จึงทำให้กระทรวงสุขภาพของแคนาดาอนุญาตให้แสดงข้อความ “สามารถลดคอเลสเตอรอลในเลือด” ในอาหารที่มีส่วนผสมของ Stanol ได้[5]
- มีการศึกษาการใช้ Stanol ขนาดวันละ 2 กรัม เป็นเวลา 6 เดือน และเพิ่มการใช้เป็นวันละ 3 กรัม สามารถลดคอเลสเตอรอลชนิดไม่ดี (LDL) ได้ประมาณ 13% และยังคงได้ผลเมื่อรับประทาน 1 ปี[3]
- การปรับเปลี่ยนการบริโภคอาหารร่วมกับการใช้ Stanol สามารถช่วยลดระดับคอเลสเตอรอลชนิดไม่ดี (LDL) ได้ถึง 20-30%[3]
- การบริโภคผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร Plant Stanol เป็นระยะยาว พบว่า สามารถช่วยลดอุบัติการของการเกิดโรคเกี่ยวกับหัวใจและหลอดเลือดได้ถึง 20%[1]
- การศึกษาการตอบสนองเมื่อเพิ่มปริมาณ Plant Stanol ในขนาดต่าง ๆ กับผู้ป่วยที่มีระดับไขมันปานกลางจำนวน 93 ราย เป็นเวลา 4 สัปดาห์ พบว่า ขนาดวันละ 3 กรัม ลดคอเลสเตอรอลชนิดไม่ดี (LDL) ได้ 7.5%, 6 กรัม ลดได้ 12% และ 9 กรัม ลดได้ 17.4% (แต่ในปัจจุบัน EDSA ได้กำหนดปริมาณสูงสุดของการใช้ Plant Stanol อยู่ที่วันละ 3 กรัม)[3]
- ส่วนอีกงานวิจัยพบว่าการบริโภค Plant Stanol และ Plant Sterol ขนาดวันละ 1.8-3 กรัม เป็นเวลา 3-4 สัปดาห์ จะช่วยลด LDL ได้ 12.4% และ 11.9% ตามลำดับ แต่ในกลุ่มที่ให้บริโภค Sterol นานขึ้นเป็น 6-13 สัปดาห์ กลับพบว่าประสิทธิภาพในการลด LDL ลดลงจาก 10.3% เหลือ 6% ส่วนกลุ่มการบริโภค Stanol ยังคงรักษาระดับการลด LDL ไว้ได้[1] (ในสารไฟโตสเตอรอลจะมีทั้ง Stanol และ Sterol แต่พบว่า Stanol มีประสิทธิภาพและความปลอดภัยดีกว่า)
- มีการศึกษาการเปรียบเทียบระหว่างรับประทาน Plant Stanol วันละ 1 ครั้ง กับแบ่งทานเป็นวันละ 3 ครั้ง ในปริมาณ 2.5 กรัมเท่ากัน พบว่าผลการลดระดับคอเลสเตอรอลชนิดไม่ดี (LDL) ไม่มีความแตกต่างกัน[3]
- การศึกษาในเด็กอายุ 4-5 ปี พบว่าการให้ Plant Stanol เสริม สามารถช่วยลดระดับคอเลสเตอรอลชนิด LDL ได้ในระดับเดียวกับผู้ใหญ่ Stanol / Sterol จึงอาจเป็นอีกแนวทางหนึ่งในการรักษาเด็กอายุตั้งแต่ 6 ปีขึ้นไป ที่ป่วยเป็นโรคไขมันในเลือดผิดปกติเหนือจากการปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิต[2]
- สามารถใช้ Plant Stanol วันละ 2 กรัม ในเด็กที่มีภาวะไขมันในเลือดสูงจากพันธุกรรม (Familial Hypercholesterolemia) หลังอายุ 2 ปี ได้อย่างปลอดภัย[3]
- การให้ Plant Stanol วันละ 2 กรัม ร่วมกับการใช้ยากลุ่มสแตติน (Statins) ที่เป็นยาที่ออกฤทธิ์โดยการยับยั้งการสังเคราะห์คอเลสเตอรอลที่ตับ ซึ่งต่างจาก Stanol ที่ออกฤทธิ์โดยการยับยั้งการดูดซึมคอเลสเตอรอลจากลำไส้ พบว่าการใช้ร่วมกันจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการลดระดับคอเลสเตอรอล LDL ลงอีก 10-15% ซึ่งมีประสิทธิภาพสูงกว่าการเพิ่มขนาดยา Statin อีกเท่าตัวที่จะลดเพิ่มได้เพียง 6% (ในผู้ป่วยที่ได้รับยานี้ จึงมีคำแนะนำให้เสริม Stanol วันละ 2-3 กรัมร่วมกับการใช้ยา เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพสูงสุดในการลดระดับ LDL)[2] ส่วนการศึกษาที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ ได้แก่
- การศึกษาแบบสุ่มในผู้ป่วยที่มีระดับคอเลสเตอรอลชนิดไม่ดี (LDL) มากกว่า 130 มก./ดล. จำนวน 167 ราย ที่ได้รับยากลุ่มสแตติน (Statins) ในขนาดคงที่เป็นเวลามากกว่า 90 วัน เมื่อให้ Plant Stanol ในขนาด 3 กรัม/วัน พบว่าสามารถลดระดับ LDL ได้อีก 10%[3]
- การให้ Plant Stanol วันละ 2 กรัม ร่วมกับการใช้ยา Ezetimibe (ยานี้มีฤทธิ์ยับยั้งการดูดซึมคอเลสเตอรอลจากลำไส้เหมือน Stanol แต่ออกฤทธิ์คนละตำแหน่ง) จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของยาในการลดระดับ LDL ได้อีก 8%[2]
- การให้ Plant Stanol ร่วมกับยาลดไขมันกลุ่ม Fibrate อาจช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการลดระดับ LDL ได้เล็กน้อย[2]
- การให้ Plant Stanol ร่วมกับกรดไขมันกลุ่มโอเมก้า-3 (ปกติโอเมก้า-3 จะลดระดับไตรกลีเซอร์ไรด์ได้ดี แต่ลด LDL ได้เพียงเล็กน้อย) พบว่าสามารถช่วยลดได้ดีทั้งไตรกลีเซอร์ไรด์และ LDL[2]
หมายเหตุ : สถาบันที่ได้แนะนำให้ใช้ Plant Stanol สำหรับการลดระดับคอเลสเตอรอล ได้แก่ European Society of Cardiology (ESC), American Heart Association (AHA), American College of Cardiology (ACC), National Heart, Lung, and Blood Institute (NHLBI), International Atherosclerosis Society (IAS), International Lipid Information Bureau (ILIB), National Cholesterol Education Program (NCEP), National Institutes of Health (NIH), American Academy of Pediatrics (AAP), American Diabetes Association (ADA), Joint British Societies (JBS) ฯลฯ[3]
การศึกษาวิจัย Plant Stanol ในไทย
ส่วนการศึกษาในประเทศไทย สถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ทำการศึกษาวิจัยในหัวข้อ “ผลของการลด LDL cholesterol จากเครื่องดื่มนมถั่วเหลืองรสสตรอเบอรี่ที่เสริมสเตนอล” ในคนไทยอายุ 25-60 ปี ที่มีระดับคอเลสเตอรอลในเลือดสูงเล็กน้อยถึงปานกลางที่ไม่ได้รับประทานยาใด ๆ (คอเลสเตอรอลในเลือดสูงกว่า 200 มก./ดล.) และไม่มีปัญหาสุขภาพอื่น ๆ จำนวน 118 คน โดยทำการศึกษาเป็นเวลา 2 และ 6 สัปดาห์ แบ่งกลุ่มการทดลองเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่ม Stanol 60 คน และกลุ่มควบคุม 58 คน (แบ่งด้วยวิธีการสุ่ม โดยให้มีสัดส่วนเพศหญิงและเพศชายแต่ละกลุ่มใกล้เคียงกัน) โดยกลุ่ม Stanol จะให้ดื่มนมถั่วเหลืองที่มีส่วนผสม Stanol 2 กรัม วันละ 1 ครั้ง (70 มล.) ส่วนกลุ่มควบคุมให้ดื่มนมถั่วเหลืองที่เหมือนกันทุกอย่างวันละครั้งเช่นกันแต่ไม่มีส่วนผสมของ Stanol
ผลการทดลองพบว่า กลุ่มอาสาสมัครที่ดื่มนมถั่วเหลืองที่มีส่วนผสมของ Stanol มีระดับคอเลสเตอรอลชนิด LDL ลดลงประมาณ 14% ในขณะที่กลุ่มควบคุมสามารถลดได้แค่ 4-5% ดังนั้น การดื่มนมที่มีการเสริม Stanol 2 กรัมต่อวัน สามารถลดระดับคอเลสเตอรอลชนิด LDL ได้เพิ่มขึ้น 9-10% ส่วนระดับคอเลสเตอรอลรวม (Total cholesterol) ก็ลดลงด้วยเช่นกันตามตาราง[1]
การศึกษาความปลอดภัยของ Plant Stanol
จากการศึกษาในระยะยาวพบว่า Plant Stanol มีความปลอดภัยและมีประสิทธิภาพในการลดระดับคอเลสเตอรอลชนิด LDL ไม่ว่าจะใช้ร่วมกับยาลดไขมันในเลือดประเภทต่าง ๆ หรือใช้เป็นอาหารเสริมอย่างเดียว[2] ส่วนผลการศึกษาเรื่องอื่น ๆ มีดังนี้
- การศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างความเสื่อมของผนังหลอดเลือดกับ Plant Stanolในอาหารทั้งในระยะสั้นและระยะปานกลาง พบว่าแม้จะทำให้ระดับคอเลสเตอรอล LDL ลดลง แต่ก็ไม่มีผลต่อความเสื่อมของผนังหลอดเลือดแดง ปริมาณไขมันที่สะสมในผนังหลอดเลือด ความแข็งตัวของผนังหลอดเลือด การทำงานของเยื่อบุผนังหลอดเลือด การเกาะตัวของเกร็ดเลือด และการแข็งตัวของเลือด (ยังคงต้องรอผลการศึกษาในระยะยาวเพิ่มเติม)[2]
- จากการวิเคราะห์การศึกษาจำนวน 17 การศึกษาที่ศึกษาเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างระดับ Plant Stanol ในเลือดกับการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด พบว่า Stanol ในระดับปกติต่าง ๆ ไม่มีความสัมพันธ์ต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด และกลับกันการลดลงของ LDL น่าจะลดโอกาสการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดได้มากขึ้น[2]
- การบริโภคผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร Stanol ไม่มีผลเสียต่อระดับฮอร์โมนเพศ แต่ระดับวิตามินและสารต้านอนุมูลอิสระที่ละลายในไขมันของผู้บริโภคอาจลดลงได้หากไม่บริโภคอาหารที่มีสารอาหารเหล่านี้ร่วมด้วย[1]
- การศึกษาติดตามผลในผู้ที่ได้รับ Plant Stanol เสริมเป็นเวลานาน ไม่พบว่ามีความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งเพิ่มขึ้น ทั้งยังพบว่าอาจมีความสัมพันธ์กับการเกิดมะเร็งบางอย่างลดลงเนื่องจากการลดลงของคอเลสเตอรอลในเซลล์[2]
- การประเมินความปลอดภัยจาก FDA, GRAS, EU และ FOSHU พบว่า Plant Stanol ไม่มีผลต่อระดับความดันโลหิต, ระดับน้ำตาลในเลือด, คอเลสเตอรอลชนิดดี (HDL), น้ำหนักตัว, ฮอร์โมนเพศ, ระดับวิตามินต่าง ๆ, ระบบทางเดินอาหาร, Erythrocyte osmotic fragility, Marker of oxidative stress แต่แคโรทีนอยด์ (Carotenoid) มีบางการศึกษาที่พบว่าอาจมีระดับลดลงบ้าง แต่ยังคงอยู่ในช่วงค่าปกติ (อาจทานอาหารที่มีแคโรทีนเพิ่มขึ้น เช่น แครอท)[1],[3]
ประโยชน์ของ Plant Stanol
จากการค้นคว้าข้อมูลเกี่ยวกับ Plant Stanol สามารถสรุปประโยชน์ได้ดังนี้
- ช่วยลดระดับคอเลสเตอรอลชนิดไม่ดี (LDL) และระดับไตรกลีเซอร์ไรด์ โดยไม่มีผลต่อระดับคอเลสเตอรอลชนิดดี (HDL)[2]
- ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด[2]
- อาจมีฤทธิ์เพิ่มภูมิคุ้มกันและต้านการอักเสบเล็กน้อย[2]
- อาจช่วยชะลอความเสื่อมของผนังหลอดเลือดแดงและลดการสะสมของไขมันในผนังหลอดเลือดแดง[2]
- ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของยาลดไขมันในเลือดกลุ่มสแตติน (Statins) ในการลดระดับคอเลสเตอรอล LDL อีก 10-15% และบางข้อมูลยังแสดงให้เห็นด้วยว่า Plant Stanol สามารถเพิ่มประสิทธิภาพในการลดระดับคอเลสเตอรอล LDL เมื่อให้ร่วมกับยา Ezetimibe, ยากลุ่ม Fibrate และกรดไขมันโอเมก้า-3 ด้วย[2]
- ในผู้ป่วยเด็กที่ได้รับการควบคุมอาหารแต่ยังลดระดับ LDL ได้ไม่ตามเป้า อาจใช้ประโยชน์จาก Plant Stanol เพื่อหลีกเลี่ยงการใช้ยาโดยไม่จำเป็นได้[3]
- ใช้เป็นทางเลือกในผู้ที่มีคอเลสเตอรอลสูง แต่ยังไม่ได้ทานยาลดไขมัน
- ใช้เป็นดัชนีชี้วัดการสร้างและการดูดซึมคอเลสเตรอลในร่างกายได้อย่างแม่นยำ[2]
- อาจมีฤทธิ์ยับยั้งการแบ่งเซลล์มะเร็ง เร่งให้เนื้องอกตาย ช่วยลดโอกาสการเกิดมะเร็ง[6]
อาหารปกติที่ให้ Plant Stanol
แหล่งที่มาของ Plant Stanol ส่วนใหญ่ที่พบได้ในอาหารจะมาจากข้าวสาลี (Wheat) และข้าวไรย์ (Rye) น้ำมันพืช เนยเทียม ถั่วต่าง ๆ ธัญพืชและผลิตภัณฑ์จากธัญพืชที่ไม่ขัดสี (ส่วนน้อยจะมาจากผลไม้สด เช่น กล้วย ส้ม ผลไม้ตระกูลเบอร์รี่ต่าง ๆ)[2] ซึ่งปกติเราจะได้รับ Stanol เพียงวันละประมาณ 20-50 มก. ซึ่งไม่เพียงพอที่จะส่งผลต่อการลดระดับคอเลสเตอรอล[1]
มีการศึกษาที่พบว่า การจะได้ Stanol ในปริมาณถึง 2 กรัม เราจะต้องกินอาหารต่อไปนี้อย่างใดอย่างหนึ่ง คือ ข้าวสาลี 5.1 กก., น้ำมันถั่วเหลือง 33 กก., อัลมอนด์ 100 กก., องุ่น 133 กก. หรือ ส้ม 500 กก. ดังนั้น ในผู้ป่วยที่มีระดับคอเลสเตอรอลสูงอาจจำเป็นต้องได้รับ Plant Stanol ในรูปของผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเพิ่มเติม[5]
ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร Plant Stanol
ปริมาณของ Plant Stanol ที่เราได้รับจากอาหารปกติในแต่ละวันนั้นไม่เพียงพอต่อการลดคอเลสเตอรอลในเลือด (ในผู้ที่ทานมังสวิรัติหรือระวังการอาหารที่มีไขมัน อาจเพียงพอต่อความต้องการในการควบคุมคอเลสเตอรอลในเลือด แต่สำหรับผู้ที่ทานอาหารไม่เลือกหรือมีปัญหาคอเลสเตอรอลสูงอยู่แล้ว ปริมาณ Stanol ที่ร่างกายได้รับนั้นจะต่ำเกินไป) ด้วยเหตุนี้จึงมีการสกัด Stanol จากน้ำมันพืชชนิดต่าง ๆ เช่น น้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันปาล์ม น้ำมันสูงจากต้นสน ฯลฯ แล้วนำมา Esterification ด้วยกรดไขมันเพื่อเปลี่ยนให้เป็น Stanol ที่ละลายในไขมันได้น้อยเป็น “Plant Stanol Esters” ที่ละลายในไขมันได้ดี เพื่อใช้เติมลงไปในผลิตภัณฑ์เสริมอาหารต่าง ๆ ให้มีปริมาณ Stanol ตามต้องการ[1]
สำหรับผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร Stanol ก็มีหลายชนิด โดยมีทั้งอาหารที่มีองค์ประกอบของไขมันมาก เช่น เนย เนยเทียม มายองเนส มาร์การีน หรือในอาหารที่มีไขมันน้อย เช่น นมต่าง โยเกิร์ตไขมันต่ำ น้ำผลไม้ กาแฟผงสำเร็จรูปแบบซอง เครื่องดื่มธัญพืช สเปรด รวมไปถึงในรูปของวิตามินเสริมอาหาร ซึ่งในปัจจุบันก็เริ่มสามารถหาซื้อได้บ้างแล้วและกำลังได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อย ๆ เพราะเป็นวิธีที่ทำได้ง่ายและได้ผลดีในการลดระดับคอเลสเตอรอลเหมือนการควบคุมอาหาร
ในสหรัฐอเมริกานั้น สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยายอมให้มีการอ้างว่า อาหารหรือผลิตภัณฑ์เสริมอาหารใดที่เป็นแหล่งของ จากพืชนั้นจะต้องมีสาร Stanoll Esters อย่างน้อย 1.7 กรัมต่อหน่วยบริโภค ส่วนในสหภาพยุโรปอนุญาตได้อนุญาตให้กล่าวอ้างสรรพคุณทางสุขภาพ (Health Claim) ในผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่ใช้ส่วนผสม Stanol ได้ โดยสามารถแสดงสรรพคุณได้บนฉลากบรรจุภัณฑ์ว่า “ลดคอเลสเตอรอลในเลือด” หรือ “คอเลสเตอรอลสูงเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจ” ได้ ส่วนในประเทศไทยก็ได้รับอนุญาตให้ใช้ได้ด้วยเช่นกัน
ผลิตภัณฑ์เหล่านี้เหมาะกับใคร ? ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร Plant Stanol จัดเป็นอาหารฟังก์ชันที่น่าสนใจและเหมาะกับคนทุกเพศทุกวัย ไม่ว่าจะเป็นสายรักษาสุขภาพ ผู้ที่มีความกังวลเกี่ยวกับโรคหัวใจและหลอดเลือด กังวลเรื่องระดับคอเลสเตอรอล โดยเฉพาะกับผู้ที่มีคอเลสเตอรอลสูงยังไม่ถึงขั้นกินยา เพราะการบริโภคผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่มีสารเหล่านี้จะช่วยลดระดับคอเลสเตอรอลได้ และในกลุ่มที่กินยาลดไขมันยังช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการลดคอเลสเตอรอลได้มากขึ้น
รีวิวผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร Plant Stanol
สำหรับผลิตภัณฑ์ที่เลือกมารีวิวประกอบเนื้อหาในบทความนี้จะเป็นผลิตภัณฑ์ของเบเนคอล (Benecol) โดยมีเหตุผลดังนี้
- Benecol มี Plant Stanol ในปริมาณ 2 กรัม ซึ่งเป็นปริมาณที่เหมาะสมตามงานวิจัยที่มีประสิทธิภาพในการลดระดับ LDL
- เป็นผลิตภัณฑ์ในรูปของเครื่องดื่ม จึงง่ายต่อการรับประทานและดื่มได้ในทุก ๆ วัน ซึ่งต่างจากผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ที่มักอยู่ในรูปอื่น ๆ เช่น สเปรด เนย เนยเทียม มาการ์รีน ที่ปกติเราจะไม่ค่อยได้รับประทานกันเท่าไหร่หรือทานบ้างนาน ๆ ครั้ง จึงทำให้ไม่สามารถทานได้อย่างต่อเนื่องและร่างกายอาจไม่ได้รับประโยชน์จากการลดระดับคอเลสเตอรอลเท่าที่ควร (เพราะร่างกายต้องได้รับ Stanol ติดต่อกัน 2-3 สัปดาห์ จึงจะผลในการลดคอเลสเตอรอล)
- ตลาดในประเทศไทย ณ ตอนนี้ยังไม่มีเครื่องดื่มยี่ห้อใดที่ผสมสาร Plant Stanol นอกจาก Benecol
- ในประเทศไทย Benecol เป็นผลิตภัณฑ์ที่ได้รับอนุญาตจาก อย. เพียงเจ้าเดียวที่สามารถกล่าวถึงสรรพคุณ “ช่วยลดการดูดซึมคอเลสเตอรอล” บนฉลากสินค้าได้
- เป็นเครื่องดื่มที่ทานได้ง่าย มีให้เลือกหลายรสชาติ และราคาไม่แพง (รสชาติอร่อยเหมือนนมเปรี้ยวทั่วไป) เช่น
- นมยูเอชที (รสทับทิม และสตรอว์เบอร์รี่) ขนาดกล่องละ 180 มล. ราคา 30 บาท
- นมพาสเจอไรซ์ ขวดเล็ก 70 มล. (รสส้ม, สตรอว์เบอร์รี่ และรสมิกซ์เบอร์รี่) ราคา 30 บาท
- นมอัลมอนด์ ขนาดกล่องละ 180 มล. ราคา 30 บาท
- กาแฟสำเร็จรูปแบบซอง (17 กรัม) ซองละ 30 บาท
ทั้งนี้ แนะนำให้รับประทานวันละครั้ง (เพียงวันละ 1 กล่อง) อย่างต่อเนื่อง ร่วมไปกับการควบคุมอาหาร (ทานอาหารให้หลากหลายครบ 5 หมู่ ในสัดส่วนที่เหมาะสม) และออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอเป็นประจำ เพื่อผลลัพธ์ที่ดีขึ้นในการลดระดับคอเลสเตอรอลชนิดไม่ดี (LDL) และป้องกันการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดในระยาว ส่วนข้อมูลและคำแนะนำอื่น ๆ มีดังนี้
- ด้วยการรับประทานผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร Plant Stanol วันละ 2 กรัม (1 กล่อง) จะมีประสิทธิภาพในการลดระดับคอเลสเตอรอลชนิดไม่ดี (LDL) ลงได้ประมาณ 10% และลดไตรกลีเซอร์ไรด์ลงได้ 6-20% โดยไม่มีผลต่อคอเลสเตอรอลชนิดดี (HDL) จึงสามารถทานได้ในผู้ที่มีระดับไขมันในเลือดผิดปกติทุกกลุ่มเสี่ยง และสามารถใช้ได้อย่างปลอดภัยทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ โดยจะเริ่มเห็นผลเมื่อรับประทานอย่างต่อเนื่อง 2 สัปดาห์ขึ้นไป (ส่วนการรับประทานในขนาดที่สูงกว่าหรือถึง 9 กรัมต่อวัน แม้จะสามารถลด LDL ได้มากขึ้น แต่ก็ควรรอการศึกษาเพิ่มเติมในเรื่องความปลอดภัยในระยะยาวก่อน)[2]
- การรับประทานร่วมกับยาลดไขมันกลุ่มต่าง ๆ จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการลดคอเลสเตอรอลและป้องกันโรคหัวใจและหลอดเลือดได้ดีกว่าเพิ่มขนาดยาเป็น 2 เท่า[2]
- ด้วยคุณสมบัติในการลดคอเลสเตอรอลของ Plant Stanol ที่อยู่ได้นานหลายชั่วโมง จึงไม่จำเป็นต้องทานทุกมื้อหรือทานพร้อมอาหารที่มีไขมันสูง[1]
เบเนคอล (Benecol) ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของสารแพลนท์ สตานอล (Plant Stanol) สามารถหาได้ตามร้านค้าออนไลน์ ร้านสะดวกซื้อหรือห้างสรรพสินค้าชั้นนำทั่วไป
เอกสารอ้างอิง
- สถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล. “สาระสำคัญของสเตนอลกับผลทางสุขภาพ”. (ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วันทนีย์ เกรียงสินยศ).
- “การใช้ Plant Stanol / Sterol ในการรักษาภาวะไขมันในเลือดผิดปกติและการป้องกันโรคหัวใจและหลอดเลือด / EAS Consensus : Plant stanols and plant sterols in the management of dyslipidemia and prevention of cardiovascular disease”. (น.อ.นพ.กฤษฎา ศาสตรวาหา โรงพยาบาลภูมิพลอดุลยเดช).
- การประชุมทางวิชาการ บรรยายโดย ศ.นพ.ศุภชัย ไชยธีระพันธ์ และ ผศ.นพ.สุรพันธ์ สิทธิสุข คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เรื่อง “Plant Stanol Ester, an efficient option to manage cholesterol levels by dietary means”. (เรียบเรียงโดย รศ.คลินิก.นพ.วีระศักดิ์ ศรินนภากร).
- มูลนิธิหัวใจแห่งประเทศไทยฯ. “Plant Stanol สารสกัดจากพืช ถนอมหัวใจ”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.thaiheartfound.org. [17 พ.ค. 2022].
- มูลนิธิโลกสีเขียว. “สู้โว้ย..เมื่อคอเรสเตอรอลในเลือดสูง”. (ดร.แก้ว กังสดาลอำไพ). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : greenworld.or.th. [17 พ.ค. 2022].
- Rao Av, Koratkar R 1997. “Anticarcinogenic effects of saponin and phytosterols.”. ACS Symposium Series 662:313-324
ตรวจสอบทางการแพทย์ล่าสุดเมื่อวันที่ 25 ก.ค. 2022