2 ตัวการสำคัญเบื้องหลังการมีประจำเดือนคืออะไร ??
“เอสโตรเจน” และ “โปรเจสเตอโรน” เป็นฮอร์โมนที่รู้กันดีว่า มีบทบาทสำคัญต่อร่างกายสาว ๆ เป็นอย่างมาก โดยหน้าที่หลักของ 2 ฮอร์โมนนี้คือ คอยควบคุมให้ร่างกายแสดงออกถึงความเป็นผู้หญิงอย่างเต็มที่ ทั้งทำให้เราดูมีหน้าอก สะโพกผาย เต้านมเต่งตึง รวมทั้งยังคอยอยู่เบื้องหลังการเปลี่ยนแปลงทางด้านอารมณ์ต่าง ๆ อีกด้วย ฮอร์โมนสองตัวนี้ทำอะไรกับร่างกายเราบ้าง ตามมาดูกันเถอะ…
รอบเดือนหมดใหม่ ๆ อะไรก็อ่อนแอ
หลังจากประจำเดือนหมดไปใหม่ ๆ ในช่วง 1-7 วันแรก เอสโตรเจนและโปรเจสเตอโรนจะลดลงเหลือน้อยมากจนแทบจะไม่เหลืออยู่ในร่างกาย ทำให้เรารู้สึกอ่อนแอ ผิวแพ้ง่าย หรือโดนกระตุ้นจากรอบข้างนิดหน่อยก็จะเกิดการเปลี่ยนแปลงได้แบบงง ๆ ใครที่มีอาการไมเกรนอยู่แล้ว ช่วงนี้อาจมีอาการกำเริบได้ง่าย เพราะฉะนั้นในช่วงนี้ต้องเป็นช่วงที่สาว ๆ ควรระวังตัวเองให้ดีเลยนะ
เข้าสู่วันที่ 8-14 ชีวิตช่วงนี้สวยแฮปปี้ยิ่งกว่าเคย
เมื่อรอบเดือนเราหมดไปประมาณ 2 อาทิตย์ ร่างกายจะเริ่มผลิตเอสโตรเจนมากขึ้น พร้อมกับหลั่ง “สารเอ็นโดรฟิน” สารแห่งความสุขออกมา ทำให้เมื่อเริ่มเข้าวันที่ 8-14 สาว ๆ จะรู้สึกว่าเราสวยกว่าเดิม และในช่วงแบบนี้เอง ระดับอารมณ์ทางเพศของเราจะพลุ่งพล่าน อยากมีความรัก หรือลามไปถึงขั้นอยากมีเพศสัมพันธ์ด้วยเลยก็มี
14 วันผ่านไป ช่วงพีคของรังไข่..แต่มันทำให้ร่างกายเราโทรม
หลังจากที่เปล่งปลั่งเบิกบานกันพอสมควรแล้ว เข้าสู่ 2 อาทิตย์สุดท้ายก่อนร่างกายจะกลับมามีประจำเดือนอีกครั้ง เรียกได้ว่าเป็นช่วงพีค เพราะเพราะไข่ที่กำลังจะตกในช่วงนี้ ทำให้ระดับเอสโตรเจนที่เคยสูงปรี๊ดดด กลับลดต่ำลงมาอย่างน่าใจหายอยู่ประมาณ 1-2 วัน ช่วงนี้จึงรู้สึกว่าหน้าตาเนื้อตัวบวมขึ้น คิดอะไรไม่ค่อยออก มึน ๆ เบลอ ๆ แต่ไม่ต้องตกใจไป เพราะไม่นานเอสโตรเจนก็จะค่อย ๆ เพิ่มขึ้นมาใหม่พร้อมโปรเจสเตอโรน
นับถอยหลัง 7 วันก่อนประจำเดือน Comeback !!
ในระยะเวลาก่อนประจำเดือนมา 7 วัน ระดับเอสโตรเจนและโปรเจสเตอโรนกลับมาลดต่ำลงอีกครั้ง และจะลดฮวบเมื่อถึงช่วง 1-3 วันก่อนประจำเดือน เป็นที่มาให้เรารู้สึกหิวบ่อย เจ็บหน้าอก ท้องอืด ไม่สบายตัวนั่นเอง !
รู้ทันฮอร์โมนแต่ละช่วงก่อนมีประจำเดือนกันแล้ว อย่าลืม!! เอาไปปรับใช้ให้เข้ากับชีวิตประจำวันกันด้วยนะ ^^
เอกสารอ้างอิง
- Women in Balance Institute. “About Hormone Imbalance”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : womeninbalance.org. [22 ก.ค. 2018].
- Encyclopædia Britannica. “Menstruation”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.britannica.com. [22 ก.ค. 2018].
- คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่. “การมีประจำเดือนและประจำเดือนในนักกีฬาสตรี”. (รศ.ดร.พรรณพิไล ศรีอาภรณ์). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www3.nurse.cmu.ac.th. [23 ก.ค. 2018].