Glucosamine Sulfate คืออะไร ?
กลูโคซามีนซัลเฟต (Glucosamine Sulfate) สามารถพบได้ในรูปแบบยาและอาหารเสริม มักใช้เพื่อบรรเทาอาการปวดโดยลดการอักเสบ ชะลอการเสื่อมของกระดูกอ่อน และเพิ่มการเคลื่อนไหวของข้อต่อในผู้ป่วยโรคข้อเสื่อม* กลูคาซามีนมีความปลอดภัยและสามารถใช้ระยะยาวได้ตามคำแนะนำของแพทย์ (ปริมาณที่แนะนำคือ 1500 มก. ต่อวัน)
กลูโคซามีน (Glucosamine) เป็นสารที่พบตามธรรมชาติในร่างกาย โดยเฉพาะในกระดูกอ่อนซึ่งทำหน้าที่รองรับข้อต่อ กลูโคซามีนเป็นน้ำตาลโมเลกุลเดี่ยวที่ปกติจะถูกสร้างและถูกนำไปใช้เป็นสารตั้งต้นในการสร้างสารขนาดใหญ่ เช่น โปรตีโอไกลแคน (Proteoglycan), ไกลโคโปรตีน (Glycoprotein), ไกลโคสามิโนไกลแคน (Glycosaminoglycan), กรดไฮยาลูโรนิก (Hyaluronic acid) ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการรักษาความยืดหยุ่นของกระดูกอ่อนและสามารถรองรับการเคลื่อนไหวของกระดูกข้อต่อได้ นอกจากนี้กลูโคซามีนยังมีผลยับยั้งการทำงานของสารอักเสบได้หลายชนิด จึงมีผลลดการอักเสบของข้อด้วย ด้วยคุณสมบัติเหล่านี้ จึงมีการนำกลูโคซามีนมาใช้รักษาหรือชะลอการเสื่อมของข้อในผู้ป่วยโรคข้อเสื่อม
หมายเหตุ : โรคข้อเสื่อม หรือโรคข้อกระดูกอ่อนเสื่อม (Osteoarthritis) เป็นภาวะที่ทำให้ข้อและเนื้อเยื่อของข้อเสื่อมลง โดยเริ่มจากอาการตึงของกล้ามเนื้อและปวดเมื่อใช้งานข้อต่อนั้น ต่อมาข้อจะบวมและอาจมีลักษณะผิดรูปเมื่ออาการรุนแรงขึ้น สาเหตุหลักคือการสึกกร่อนของกระดูกอ่อนเนื่องจากปริมาณโปรตีโอไกลแคน (Proteoglycans) ลดลง ทำให้ความสามารถในการรองรับการเคลื่อนไหวของข้อลดลงและเกิดอาการปวดเมื่อมีการลงน้ำหนักหรือใช้งานข้อนั้น โรคนี้มักลุกลามอย่างช้า ๆ และเกิดขึ้นบ่อยในข้อต่อที่รับน้ำหนัก เช่น เข่าและสะโพก
ประเภทของ Glucosamine Sulfate
กลูโคซามีนที่มีจำหน่ายแบ่งเป็น 2 ประเภทหลักตามการขึ้นทะเบียน ได้แก่ (1) ยาอันตราย และ (2) ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร โดยแต่ละประเภทมีขั้นตอนและเอกสารในการขอขึ้นทะเบียนที่แตกต่างกัน
กลูโคซามีนที่ขึ้นทะเบียนเป็นยาอันตรายมีจุดประสงค์เพื่อใช้รักษาโรคข้อเสื่อม ซึ่งจำเป็นต้องมีเอกสารยืนยันผลการศึกษาทางการแพทย์เพื่อแสดงประสิทธิภาพและความปลอดภัย และการใช้ต้องอยู่ภายใต้การสั่งจ่ายจากแพทย์
สำหรับกลูโคซามีนที่ขึ้นทะเบียนเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร จะมีจุดประสงค์เพื่อให้ผู้ที่มีสุขภาพแข็งแรงใช้เสริมอาหาร โดยไม่ต้องแสดงผลการศึกษาทางการแพทย์ และในหลายประเทศ Glucosamine Sulfate ถือเป็นอาหารเสริมที่สามารถหาซื้อได้โดยไม่ต้องใช้ใบสั่งแพทย์ มักใช้เพื่อส่งเสริมสุขภาพข้อต่อมากกว่าการรักษาโรค (ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารอาจมีปริมาณ Glucosamine Sulfate แตกต่างจากที่ระบุไว้จริงในผลิตภัณฑ์)
ในประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กระทรวงสาธารณสุข อนุญาตให้ Glucosamine Sulfate ขึ้นทะเบียนเป็น “ยาอันตราย” เท่านั้น ไม่ใช่อาหารเสริม ซึ่งทำให้มีปริมาณ Glucosamine Sulfate ที่แน่นอนกว่ารูปแบบอาหารเสริม และต้องใช้ภายใต้การควบคุมของแพทย์
นอกจากนี้ ทั้งยาและผลิตภัณฑ์เสริมอาหารของกลูโคซามีนมีจำหน่ายในรูปแบบของสารประกอบเกลือหลายชนิด เช่น เกลือซัลเฟต (Glucosamine Sulfate), เกลือไฮโดรคลอไรด์ (Glucosamine hydrochloride), และเกลือคลอโรไฮเดรต (Glucosamine chlorohydrate) ซึ่งมีขนาดโมเลกุลและคุณสมบัติที่แตกต่างกัน และไม่สามารถใช้แทนกันได้
กลไกการออกฤทธิ์ของ Glucosamine Sulfate
กลไกการออกฤทธิ์ของ Glucosamine Sulfate ที่มีประโยชน์ต่อโรคข้อเสื่อมนั้นเชื่อว่าทำงานผ่านหลายช่องทาง ดังนี้
1. กระตุ้นการสร้างกระดูกอ่อน : Glucosamine Sulfate เป็นส่วนประกอบสำคัญของ Proteoglycans ซึ่งเป็นองค์ประกอบหลักของกระดูกอ่อน ช่วยกระตุ้นเซลล์กระดูกอ่อน (Chondrocytes) ให้ผลิตสารที่จำเป็นสำหรับการสร้างกระดูกอ่อนใหม่ ทำให้กระดูกอ่อนหนาขึ้น แข็งแรงขึ้น และสามารถซ่อมแซมกระดูกอ่อนส่วนที่สึกหรอได้ดีขึ้น
2. ลดการเสื่อมของกระดูกอ่อน : Glucosamine Sulfate อาจช่วยลดการเสื่อมของกระดูกอ่อนโดยการยับยั้งเอนไซม์ที่ทำลายกระดูกอ่อน เช่น Collagenase และ Phospholipase จึงช่วยให้กระดูกอ่อนคงอยู่และเสื่อมสภาพช้าลง
3. เพิ่มการหล่อลื่นข้อต่อ : Glucosamine Sulfate อาจช่วยเพิ่มการผลิตของ Hyaluronic acid ซึ่งเป็นสารที่ช่วยในการหล่อลื่นข้อ ทำให้การเคลื่อนไหวของข้อเป็นไปอย่างราบรื่นและลดการเสียดสีระหว่างกระดูกในข้อ
4. ลดการอักเสบ บรรเทาอาการปวด : แม้ว่ากลไกการลดการอักเสบของ Glucosamine Sulfate จะไม่ชัดเจนเหมือนยาแก้อักเสบชนิดอื่น (มีฤทธิ์ต้านการอักเสบอย่างอ่อน ๆ) แต่การศึกษาที่แสดงให้เห็นว่า Glucosamine Sulfate สามารถลดการผลิตของ Cytokines ที่ก่อให้เกิดการอักเสบ จึงช่วยบรรเทาอาการปวดและการอักเสบในข้อได้
“Glucosamine Sulfate มีบทบาทสำคัญในการบรรเทาอาการและชะลอความเสื่อมของโรคข้อเสื่อม (Osteoarthritis) โดยเชื่อว่ามาจากกลไกกระตุ้นการสร้าง/ซ่อมแซมและชะลอการเสื่อมของกระดูกอ่อน ช่วยเพิ่มการผลิตสารหล่อลื่นในข้อต่อ นอกจากนี้ ยังช่วยลดการอักเสบ ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของอาการปวด บวม และเคลื่อนไหวข้อติดขัด ทำให้รู้สึกเจ็บปวดน้อยลงและเคลื่อนไหวได้คล่องตัวขึ้น อย่างไรก็ตาม ผลลัพธ์ที่ได้อาจแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง เช่น ระยะเวลาของโรค ความรุนแรงของอาการ และปัจจัยอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง จึงควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร”
ประสิทธิภาพของ Glucosamine Sulfate
ปัจจุบันยังไม่มีหลักฐานชัดเจนว่า Glucosamine Sulfate สามารถชะลอความรุนแรงของโรคหรือบรรเทาอาการปวดจากโรคข้อเสื่อมได้อย่างมีประสิทธิภาพ เนื่องจากผลการศึกษาต่าง ๆ ยังมีความขัดแย้งกัน แม้ในต่างประเทศ Glucosamine Sulfate จะได้รับความนิยมในฐานะอาหารเสริมสำหรับโรคข้อเสื่อมอยู่มากก็ตาม
อย่างไรก็ตาม Glucosamine Sulfate ก็นับว่าเป็นทางเลือกที่น่าลองและเหมาะกับผู้ที่ไม่สามารถใช้ยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDs) ได้ เนื่องจากยังไม่มียาที่สามารถรักษาโรคนี้ได้โดยตรง การรักษาส่วนใหญ่จะมุ่งเน้นไปที่การใช้ยาบรรเทาอาการปวดอย่างยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์หรือยาแก้ปวดชนิดอื่น ๆ ในขณะที่ Glucosamine Sulfate มักถูกใช้เป็นยาเสริมการรักษาอีกทางหนึ่ง และบางครั้งแพทย์อาจพิจารณาให้ Glucosamine Sulfate เป็นตัวเลือกแรกในการรักษาโรคข้อเสื่อมสำหรับผู้ป่วยบางราย
การศึกษาที่พบประโยชน์ของ Glucosamine Sulfate ต่อโรคข้อเสื่อม มีหลายการศึกษา เช่น
- การศึกษาเบื้องต้นโดย Towheed ในปี 2001 พบว่าการเสริม Glucosamine Sulfate วันละ 1,500 มก. เป็นเวลา 6 สัปดาห์ สามารถช่วยปรับปรุงการทำงานและลดอาการปวดในผู้ป่วยโรคข้อเสื่อมได้ แต่การศึกษา Cochrane Meta-Analysis ที่มีคุณภาพสูงกว่า ไม่สอดคล้องกันและไม่ดีเท่าการศึกษาเบื้องต้น โดยพบว่า Glucosamine Sulfate ช่วยลดอาการปวดลง 28% และปรับปรุงการทำงานได้ 21% เมื่อวัดด้วยดัชนี Lequesne แต่ผลลัพธ์จากการวัดด้วยดัชนี WOMAC ไม่พบความแตกต่างทางสถิติเมื่อเทียบกับยาหลอก (1)
- ผลการทดลองขนาดใหญ่ 2 รายการในผู้ป่วยโรคข้อเข่าเสื่อมได้รับการตีพิมพ์หลังจากการวิเคราะห์เมตาของ Cochrane ในปี 2005 (GUIDE และ GAIT) พบว่าการเสริม Glucosamine Sulfate วันละ 1,500 มก. มีประสิทธิภาพมากกว่ายาหลอกในการลดอาการปวดและปรับปรุงการทำงาน แต่ไม่มีความแตกต่างทางสถิติในการลดอาการปวดตามดัชนี WOMAC (2) (3)
- การศึกษา Meta-Analysis ในปี 2010 พบว่า Glucosamine Sulfate มีผลในการชะลอการแคบลงของช่องว่างระหว่างข้อต่อ ซึ่งเป็นสัญญาณบ่งบอกถึงการชะลอการเสื่อมของข้อเข่า เมื่อใช้เป็นระยะเวลานาน 3 ปี (4)
- การศึกษา Systematic Review และ Meta-Analysis โดย Gregori ในปี 2018 และ Ogata ในปี 2018 พบว่า Glucosamine Sulfate สามารถลดอาการปวดจากโรคข้อเข่าเสื่อมได้ และยังช่วยลดการแคบลงของช่องว่างระหว่างข้อต่อ (5) (6)
ส่วนการศึกษาที่พบว่า Glucosamine Sulfate มีประสิทธิภาพน้อยหรือไม่มี เช่น
- การศึกษา Meta-Analysis ในปี 2011 ที่รวมการทดลอง 10 ครั้งกับผู้ป่วยโรคข้อเข่าเสื่อม 3,803 รายที่ได้รับกลูโคซามีน คอนโดรอิทิน หรือทั้งสองอย่างรวมกัน กลูโคซามีนและคอนดรอยตินอาจช่วยบรรเทาอาการปวดข้อได้บ้างเล็กน้อย แต่ไม่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของข้อ (กล่าวคือ ไม่มีผลต่อการชะลอการแคบลงของช่องว่างระหว่างข้อ ซึ่งเป็นตัวบ่งชี้การเสื่อมของข้อเข่า) (7)
- การทบทวนวรรณกรรมอย่างเป็นระบบในปี 2017 สรุปได้ว่า Glucosamine Sulfate ไม่มีความแตกต่างทางสถิติในการลดอาการปวดและปรับปรุงการทำงานในผู้ป่วยโรคข้อเข่าเสื่อม เมื่อเทียบกับยาหลอก ทั้งในระยะสั้น (3 เดือน) และระยะยาว (24 เดือน) ไม่ว่าจะพิจารณาตามอาการปวดขั้นต้น ดัชนีมวลกาย เพศ ความผิดปกติของโครงสร้างของข้อ หรือการอักเสบ (8)
- การศึกษาแบบสุ่มควบคุมด้วยยาหลอกในผู้หญิงวัยกลางคนที่มีความเสี่ยงสูง (จำนวน 407 คน) พบว่า Glucosamine Sulfate ไม่สามารถลดความเสี่ยงในการเกิดโรคข้อเข่าเสื่อมได้อย่างมีนัยสำคัญ เมื่อเทียบกับยาหลอกหรือการปรับเปลี่ยนอาหารและการออกกำลังกาย (9)
- การศึกษาที่พบว่า Glucosamine Sulfate ชนิดรับประทานไม่ได้ดีกว่ายาหลอกในการลดอาการและสัญญาณของโรคข้อเสื่อมบริเวณข้อต่อขากรรไกรในการทดลองระยะสั้นเป็นเวลา 6 สัปดาห์ (10)
- การศึกษาที่ชี้ให้เห็นว่า Glucosamine Sulfate วันละ 1,500 มก. นาน 2 ปี ไม่มีความแตกต่างทางสถิติในการลดอาการปวดและชะลอการเสื่อมของข้อในผู้ป่วยโรคข้อเสื่อมบริเวณสะโพก เมื่อเทียบกับยาหลอก (11)
- การศึกษาชี้ให้เห็นว่า Glucosamine Sulfate วันละ 1,500 มก. นาน 6 เดือน ไม่มีความแตกต่างทางสถิติในการลดอาการปวดหลังเรื้อรังและโรคข้อเสื่อมบริเวณเอว เมื่อเทียบกับยาหลอก (12)
- การศึกษาที่ชี้ให้เห็นว่าการใช้ Glucosamine Sulfate ร่วมกับ Omega-3 Fatty Acids อาจมีประสิทธิภาพในการลดอาการปวดและอาการของโรคข้อเข่าเสื่อมมากกว่าการใช้ Glucosamine Sulfate เพียงอย่างเดียว (13)
“แม้ว่าผลการศึกษายังไม่ชัดเจน แต่ Glucosamine Sulfate อาจเป็นทางเลือกเสริมที่คุ้มค่าสำหรับการรักษาโรคข้อเสื่อม”
การศึกษาอื่นของยา Glucosamine Sulfate
- โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ (Rheumatoid arthritis) เป็นการศึกษาในหนูทดลองโดยใช้กลูโคซามีน (ไม่ระบุชนิดเกลือ) ร่วมกับวิตามินอีในหนูทารกที่มีโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ พบว่ามีผลช่วยลดระดับมาโลนไดอัลดีไฮด์ในพลาสมา (เป็นสารที่เกิดจากการทำลายของเซลล์ การลดลงของสารนี้แสดงถึงการช่วยป้องกันการทำลายเซลล์) และเพิ่มระดับซูเปอร์ออกไซด์ดิสมิวเตส, แคทาเลส, กลูตาไธโอนรีดิวซ์, กลูตาไธโอนเปอร์ออกซิเดส และสังกะสี (สารเหล่านี้เป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่ช่วยป้องกันการทำลายเซลล์และชะลอการเสื่อมของร่างกาย) (14)
- โรคลำไส้ใหญ่อักเสบ (Colitis) การทดลองในหนูที่เป็นโรคลำไส้ใหญ่อักเสบ พบว่าการเสริมกลูโคซามีนสามารถช่วยลดอาการของโรคและลดการอักเสบของลำไส้ใหญ่ (15)
- การบาดเจ็บของจอประสาทตา (Retinal injury) การทดลองในหลอดทดลองพบว่ากลูโคซามีน (ไม่ระบุชนิดเกลือ) มีผลในการปกป้องจอประสาทตาในแบบจำลองการทดลองจอประสาทตา ซึ่งรวมถึงผลต้านการตายของเซลล์ ต้านการอักเสบ และต้านอนุมูลอิสระ (16)
- โรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง (Atopic dermatitis) การทดลองทางคลินิกพบว่าการรักษาเสริมด้วย Glucosamine Sulfate ร่วมกับยา Cyclosporine สามารถช่วยปรับปรุงอาการของโรคผิวหนังอักเสบภูมิแพ้ได้ดีกว่าการใช้ยา Cyclosporine เพียงอย่างเดียว โดยไม่มีผลข้างเคียงหรือทำให้ระดับ Cyclosporine ในซีรั่มเพิ่มขึ้น (17)
- โรคมะเร็ง (Cancer) กลูโคซามีนแสดงให้เห็นถึงศักยภาพในการป้องกันมะเร็ง โดยเฉพาะมะเร็งปอด (18), มะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก (19) อย่างไรก็ตาม ยังจำเป็นต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมเพื่อยืนยันผลลัพธ์เหล่านี้และกลไกการทำงานที่แน่ชัด
ตัวอย่างยา Glucosamine Sulfate
ยา Glucosamine Sulfate ที่เป็นยาต้นแบบจะเป็นของยี่ห้อ Viartril-S® (ไวอาร์ตรีล-เอส) ผลิตโดยบริษัทรอตต้าฟาร์ม ประเทศไอร์แลนด์ (ROTTAPHARM LTD., Ireland) ซึ่งจะมีทั้งรูปแบบแคปซูลขนาด 500 มิลลิกรัม และรูปแบบผงละลายน้ำใช้ชงดื่มขนาด 1500 มิลลิกรัม โดยทั้งสองรูปแบบนี้มีส่วนประกอบหลักเหมือนกันคือ กลูโคซามีนซัลเฟต (Glucosamine Sulfate) แต่จะเป็นกลูโคซามีนที่ผลิตออกมาในรูปของผลึก หรือที่เรียกว่า “คริสตัลกลูโคซามีนซัลเฟต” (Crystalline Glucosamine Sulfate – CGS)
ความแตกต่างระหว่างกลูคาซามีนซัลเฟตที่อยู่ในรูปผลึก (CGS) กับกลูโคซามีนซัลเฟตแบบทั่วไป (GS) มีดังนี้
- ความเสถียร : กลูโคซามีนซัลเฟตในรูปผลึก CGS เป็นรูปแบบที่มีความเสถียรสูงกว่า โดยมีการผลิตให้อยู่ในรูปแบบของผลึกที่ช่วยให้สารมีความเสถียรและสามารถรักษาความบริสุทธิ์ของสารได้ดีกว่า (ทำให้มีลักษณะเป็นผลึกหรือเม็ดละเอียดที่มีความบริสุทธิ์สูง) จึงมีกระบวนการผลิตที่ซับซ้อนกว่า และมักใช้ในผลิตภัณฑ์ยาหรือผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่มีคุณภาพสูง ส่วนกลูโคซามีนซัลเฟตแบบทั่วไป (GS) มักมีลักษณะเป็นผงหรือของเหลว ซึ่งอาจมีความบริสุทธิ์และความเสถียรที่น้อยกว่า CGS
- การดูดซึม : ด้วยความเสถียรที่สูงกว่า CGS อาจมีการดูดซึมในร่างกายที่ดีกว่าและมีประสิทธิภาพในการรักษาที่ดีกว่า ส่วนการดูดซึมของ GS แบบทั่วไปมักขึ้นอยู่กับคุณภาพของผลิตภัณฑ์ที่อาจแตกต่างกันไปตามกระบวนการผลิตของแต่ละแบรนด์
- การศึกษาวิจัย : CGS มักถูกใช้ในงานวิจัยและการทดลองทางการแพทย์ เนื่องจากมีคุณภาพที่เสถียรและคาดการณ์ผลได้ดีกว่า สำหรับผลการศึกษาที่เกี่ยวกับคุณภาพหรือรูปแบบของกลูโคซามีนมีดังนี้
- การศึกษาที่พบว่าคุณภาพของ Glucosamine Sulfate ที่ใช้ในการศึกษาแต่ละครั้งมีความแตกต่างกัน โดยเฉพาะของบริษัทรอตต้า ซึ่งพบว่า Glucosamine Sulfate ของบริษัทนี้ (CGS) มีประสิทธิภาพในการลดอาการปวดมากกว่ายาหลอก ในขณะที่ยี่ห้ออื่น ๆ ไม่พบความแตกต่างทางสถิติ นอกจากนี้ ยังมีผลการศึกษาที่พบว่าปริมาณของ Glucosamine Sulfate ที่มีอยู่ในผลิตภัณฑ์จริงของยี่ห้ออื่นอาจแตกต่างจากที่ระบุไว้บนฉลากได้มากกว่า 100% (1) (20)
- การศึกษาที่พบว่า Glucosamine Sulfate ของบริษัทรอตต้า (CGS) ช่วยลดอาการปวดได้อย่างมีนัยสำคัญ แต่การทดลองที่ใช้ยี่ห้ออื่น ๆ กลับไม่พบการลดอาการปวดอย่างต่อเนื่อง (21)
- ประสิทธิภาพ : CGS มักจะมีประสิทธิภาพในการดูดซึมและให้ผลลัพธ์ที่ดีกว่า เนื่องจากความบริสุทธิ์ที่สูงกว่า
- ราคา : CGS มีราคาแพงกว่า GS เนื่องจากมีกระบวนการผลิตที่ซับซ้อนกว่า
- การเลือกใช้ : หากต้องการคาดหวังผลลัพธ์ด้านผลการรักษา ควรเลือกผลิตภัณฑ์กลูโคซามีนในรูปผลึก CGS เป็นหลัก แต่ถ้าต้องการใช้เพื่อเสริมสุขภาพของข้อทั่วไป อาจเลือกกลูโคซามีนแบบทั่วไป (GS) ที่มักอยู่ในรูปของผลิตภัณฑ์เสริมอาหารก็ใช้ได้เหมือนกัน
“Crystalline Glucosamine Sulfate (CGS) เป็นรูปแบบของกลูโคซามีนซัลเฟตที่มีลักษณะเป็นผลึก มีความบริสุทธิ์สูง มักใช้ในผลิตภัณฑ์ยาหรือผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่มีคุณภาพสูง และอาจมีประสิทธิภาพที่ดีกว่าเนื่องจากมีความเสถียรและการดูดซึมที่ดีกว่า”
คำแนะนำและข้อควรระวังในการใช้ยา
- โปรดทราบว่า Glucosamine Sulfate ไม่ใช่ยาที่ช่วยรักษาโรคข้อเสื่อมได้อย่างสมบูรณ์ เพียงแต่ช่วยบรรเทาอาการและชะลอการเสื่อมของข้อ
- ก่อนใช้ยา Glucosamine Sulfate คุณควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ เพื่อให้ได้รับคำแนะนำที่เหมาะสมกับปัญหาสุขภาพของคุณ เพื่อให้เกิดความถูกต้องในการใช้ยา รวมถึงข้อควรระวัง อาการไม่พึงประสงค์ต่าง ๆ และอาจมีการกำหนดให้ใช้ในปริมาณที่เหมาะสมและใช้ภายใต้การควบคุมของแพทย์
- เนื่องจากผลิตภัณฑ์กลูโคซามีนอาจสังเคราะห์มาจากสัตว์ทะเล (จากเปลือกหอย กุ้ง หรือปู) จึงมีความกังวลว่าอาจทำให้เกิดอาการแพ้รุนแรงในผู้ที่แพ้อาหารทะเลได้ ดังนั้น จึงควรระมัดระวังการใช้ในผู้มีประวัติการแพ้อาหารทะเล โดยเฉพาะกุ้งหรือปู
- หากคุณกำลังรับประทานยาอื่น ๆ ควรแจ้งให้แพทย์หรือเภสัชกรทราบก่อน เพื่อป้องกันปฏิกิริยาที่อาจเกิดขึ้น เช่น
- ไทลินอลหรือพาราเซตามอล (Acetaminophen) ที่หากรับประทานร่วมกับ Glucosamine Sulfate อาจลดประสิทธิภาพของดังกล่าวและกลูโคซามีนได้
- วาร์ฟาริน (Warfarin) หรือยาต้านการแข็งตัวของเลือด เพราะกลูโคซามีนอาจเพิ่มประสิทธิภาพของยาวาร์ฟาริน ซึ่งอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดเลือดออกได้
- ควรระมัดระวังการใช้ในผู้ที่เป็นโรคเบาหวานที่ควบคุมโรคไม่ดี (22), โรคตับที่ควบคุมโรคได้ไม่ดี (23), ผู้ที่เป็นโรคหอบหืด (กลูโคซามีนอาจทำให้โรคหอบหืดแย่ลง (24)) และในผู้ที่เป็นโรคต้อหิน (มีความกังวลว่ากลูโคซามีนอาจทำให้ความดันตาสูงขึ้น (25)) หากคุณมีโรคเหล่านี้ ควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ยา Glucosamine Sulfate
ขนาดและวิธีใช้ Glucosamine Sulfate
โดยทั่วไปผู้ที่ต้องการใช้ยา Glucosamine Sulfate เพื่อรักษาโรคข้อเสื่อม แพทย์มักแนะนำให้รับประทานในขนาดวันละ 1500 มก.* ติดต่อกันอย่างน้อย 3 เดือน (สูงสุดไม่เกิน 3 ปี) หรือตามที่แพทย์สั่ง
- แบบแคปซูลขนาด 500 มก. รับประทานพร้อมอาหาร วันละ 3 ครั้ง
- แบบผง 1500 มก. (เป็นซอง) แนะนำให้รับประทานพร้อมอาหาร วันละ 1 ซอง ครั้งเดียว
หมายเหตุ : มีการศึกษาที่สนับสนุนถึงความปลอดภัยเมื่อใช้ Glucosamine Sulfate ในขนาดวันละ 2,000 มก. และการศึกษาที่แสดงให้เห็นว่าการใช้ในขนาดสูงสุดถึงวันละ 3,200 มก. ยังพบว่าปลอดภัย แต่ไม่มีหลักฐานที่ชัดเจนว่าการเพิ่มขนาดยานี้จะเพิ่มประสิทธิภาพ
ความปลอดภัยและผลข้างเคียง
โดยทั่วไปการรับประทาน Glucosamine Sulfate ในปริมาณที่เหมาะสมถือว่ามีความปลอดภัย แม้จะใช้ในระยะยาว ในหญิงตั้งครรภ์สามารถใช้ได้ (26) และผลข้างเคียงส่วนใหญ่มักไม่รุนแรง เช่น
- ผลข้างเคียงที่พบได้บ่อย เช่น อาการคลื่นไส้ ปวดท้อง ท้องเสีย แสบท้อง (อาจบรรเทาอาการด้วยการรับประทานพร้อมอาหาร)
- ผลข้างเคียงที่พบได้น้อย เช่น มึนงง ปวดศรีษะ นอนไม่หลับ ผื่นแพ้ผิวหนัง แพ้แสง ปากคอบวม หัวใจเต้นเร็ว หรือกระตุ้นให้เกิดการจับหืดได้
“โดยสรุป Glucosamine Sulfate เป็นยาที่มีความปลอดภัยที่ใช้ในการบรรเทาอาการและชะลอความเสื่อมของโรคข้อเสื่อม โดยออกฤทธิ์โดยการกระตุ้นการสร้างและซ่อมแซมกระดูกอ่อน เพิ่มการหล่อลื่นในข้อต่อ และลดการอักเสบ อย่างไรก็ตาม ผลลัพธ์ที่ได้อาจแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง จึงควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรเพื่อประเมินความเหมาะสมในการใช้”
การศึกษาอ้างอิง
- Cochrane Database of Systematic Reviews. “Glucosamine therapy for treating osteoarthritis”. (2005)
- The New England Journal of Medicine. “Glucosamine, chondroitin sulfate, and the two in combination for painful knee osteoarthritis”. (2006)
- Arthritis & Rheumatology. “Glucosamine sulfate in the treatment of knee osteoarthritis symptoms: a randomized, double-blind, placebo-controlled study using acetaminophen as a side comparator”. (2007)
- Rheumatology International. “Effect of glucosamine or chondroitin sulfate on the osteoarthritis progression: a meta-analysis”. (2010)
- JAMA. “Association of Pharmacological Treatments With Long-term Pain Control in Patients With Knee Osteoarthritis”. (2018)
- Clinical Rheumatology. “Effects of glucosamine in patients with osteoarthritis of the knee: a systematic review and meta-analysis”. (2018)
- Database of Abstracts of Reviews of Effects. “Effects of glucosamine, chondroitin, or placebo in patients with osteoarthritis of hip or knee: network meta-analysis”. (2010)
- Annals of the Rheumatic Diseases. “Subgroup analyses of the effectiveness of oral glucosamine for knee and hip osteoarthritis: a systematic review and individual patient data meta-analysis from the OA trial bank”. (2017)
- The American Journal of Medicine. “Prevention of knee osteoarthritis in overweight females: the first preventive randomized controlled trial in osteoarthritis”. (2015)
- Oral Surgery, Oral Medicine, Oral Pathology and Oral Radiology. “No effect of glucosamine sulfate on osteoarthritis in the temporomandibular joints–a randomized, controlled, short-term study”. (2011)
- Osteoarthritis and Cartilage. “Effect of glucosamine sulphate on joint space narrowing, pain and function in patients with hip osteoarthritis; subgroup analyses of a randomized controlled trial”. (2008)
- JAMA. “Effect of glucosamine on pain-related disability in patients with chronic low back pain and degenerative lumbar osteoarthritis: a randomized controlled trial”. (2010)
- Advances in Therapy. “Effect of glucosamine sulfate with or without omega-3 fatty acids in patients with osteoarthritis”. (2009)
- Biomedicine & Pharmacotherap. “Synergistic effect of glucosamine and vitamin E against experimental rheumatoid arthritis in neonatal rats”. (2018)
- Journal of Gastroenterology and Hepatology. “Effects of dietary supplementation of glucosamine sulfate on intestinal inflammation in a mouse model of experimental colitis”. (2013)
- Investigative Ophthalmology & Visual Science. “Protective effects of glucosamine on oxidative-stress and ischemia/reperfusion-induced retinal injury”. (2015)
- Dermatologic Therapy. “Combination of glucosamine and low-dose cyclosporine for atopic dermatitis treatment: a randomized, placebo-controlled, double-blind, parallel clinical trial”. (2015)
- Cancer Causes & Control. “Use of glucosamine and chondroitin and lung cancer risk in the VITamins And Lifestyle (VITAL) cohort”. (2011)
- International Journal of Cancer. “Use of glucosamine and chondroitin supplements in relation to risk of colorectal cancer: Results from the Nurses’ Health Study and Health Professionals follow-up study”. (2016)
- Current Medical Research and Opinion. “A review of glucosamine for knee osteoarthritis: why patented crystalline glucosamine sulfate should be differentiated from other glucosamines to maximize clinical outcomes”. (2016)
- Arthritis Care Res (Hoboken). “Risk of bias and brand explain the observed inconsistency in trials on glucosamine for symptomatic relief of osteoarthritis: a meta-analysis of placebo-controlled trials”. (2014)
- The Journal of Family Practice. “Clinical inquiries: Do glucosamine and chondroitin worsen blood sugar control in diabetes?”. (2006)
- World Journal of Gastroenterology. “Hepatotoxicity associated with glucosamine and chondroitin sulfate in patients with chronic liver disease”. (2013)
- Journal of the American Board of Family Medicine. “Asthma exacerbation associated with glucosamine-chondroitin supplement”. (2002)
- Eye. “Effect of glucosamine on intraocular pressure: a randomized clinical trial”. (2017)
- Journal of women’s health (Larchmont). “Glucosamine use in pregnancy: an evaluation of pregnancy outcome”. (2007)
ตรวจสอบทางการแพทย์ล่าสุดเมื่อวันที่ 23 ส.ค. 2567