CoQ10 คืออะไร ?
Update 2024! (เพิ่มคิวเท็น 5 ยี่ห้อ, ปรับเกณฑ์การให้คะแนนใหม่ และอัพเดทราคาให้เป็นปัจจุบัน) Coenzyme Q10 (โคเอนไซม์ คิวเท็น), หรือ CoQ10 (โคคิวเท็น) เป็นสารที่มีคุณสมบัติคล้ายวิตามินที่ร่างกายสามารถผลิตเองได้ในปริมาณหนึ่ง มีฤทธิ์ช่วยในการรับส่งอิเล็กตรอนเพื่อสร้างพลังงาน (ATP) ให้กับร่างกาย และเก็บไว้ในไมโทคอนเดรีย (Mitochondria) ตามเซลล์ต่าง ๆ ของร่างกาย (ซึ่งปกติจะพบได้มากในเซลล์ที่ต้องใช้พลังงานสูง เช่น หัวใจ ไต ปอด ตับ ตับอ่อน กล้ามเนื้อ เซลล์ไข่ สเปิร์ม) อย่างไรก็ตาม เมื่ออายุมากขึ้นร่างกายจะสร้าง CoQ10 ได้น้อยลง และทำให้การทำงานของเซลล์ต่าง ๆ แย่ลงได้
ส่วนสาเหตุที่ทำให้ร่างกายขาด CoQ10 หลัก ๆ ก็มาจากการมีอายุที่มากขึ้นดังที่กล่าวไป, ภาวะเครียดออกซิเดชั่น (Oxidative stress) ที่ร่างกายมีอนุมูลอิสระมากจนสารต้านอนุมูลอิสระมีไม่เพียงพอ, ความต้องการ CoQ10 ที่มากขึ้นซึ่งเป็นผลมาจากโรคเรื้อรังต่างๆ, ผลข้างเคียงจากการใช้ยากลุ่มสตาติน (Statins) รวมถึงภาวะความเครียด การทำงานหนัก และการพักผ่อนน้อย ก็ทำให้ร่างกายผลิต CoQ10 ได้น้อยลงและเพิ่มการใช้ CoQ10 มากขึ้นจนร่างกายขาด CoQ10 ได้เช่นกัน[1],[2]
อย่างไรก็ตาม การบริโภคอาหารให้ครบ 5 หมู่ สำหรับคนปกติที่มีสุขภาพแข็งแรงมักจะได้รับ CoQ10 ที่เพียงพอในแต่ละวันอยู่แล้ว โดยอาหารที่มี CoQ10 สูง ได้แก่ หัวใจหมู, เนื้อวัว, ไก่, พอร์คชอป, ปลาซาร์ดีน, ปลาแมคเคอเรล, น้ำมันถั่วเหลือง, น้ำมันงา, น้ำมันข้าวโพด เป็นต้น (CoQ10 ถูกทำลายได้ง่ายมากจากความร้อน แสง และอากาศ และ CoQ10 ที่พบในอาหารจะมีปริมาณโดยเฉลี่ยไม่มากนัก ประกอบกับกระบวนการปรุงอาหารก็มีผลทำให้ปริมาณ CoQ10 ลดลงจากวัตถุดิบประมาณ 15-30%)[1]
ประโยชน์ของ CoQ10
โรคหรือปัญหาสุขภาพบางอย่าง เช่น โรคหัวใจ โรคเบาหวาน โรคมะเร็ง ความผิดปกติของสมอง ฯลฯ เชื่อมโยงกับการมีระดับ CoQ10 ที่ต่ำ แต่ก็ยังไม่ชัดเจนว่า CoQ10 ที่ต่ำลงเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคเหล่านี้หรือเพราะโรคเหล่านี้ทำให้ CoQ10 มีระดับต่ำ[3] โดยมีการศึกษาถึงประโยชน์ที่สำคัญของ CoQ10 ตามงานวิจัยดังนี้
- รักษาอาการการขาด CoQ10 แม้จะพบไม่บ่อย แต่หากร่างกายขาด CoQ10 ก็อาจทำให้เกิดอาการอ่อนล้า อ่อนเพลีย ชัก ฯลฯ[1]
- ต้านอนุมูลอิสระ โดยช่วยชะลอและฟื้นฟูความเสื่อมของเซลล์ต่าง ๆ ในร่างกาย เป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่ช่วยปกป้องเซลล์จากการทำลายของอนุมูลอิสระ เช่น มลพิษทางอากาศ ควันบุหรี่ แสงแดด คลื่นความร้อน รังสีแกมม่า ซึ่งเป็นสาเหตุของการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด โรคมะเร็งบางชนิด ฯลฯ[1]
- ลดภาวะเครียดออกซิเดชั่น (Oxidative stress) ซึ่งเป็นตัวการก่อโรคมากมาย โดย CoQ10 จะมีผลดีต่อการลดความเสี่ยงต่อกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรังหรือ NCDs (Non-communicable diseases) เช่น โรคมะเร็ง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคไขมันในเลือดสูง โรคอ้วนลงพุง ถุงลมโป่งพอง ฯลฯ[1]
- ปกป้องดูแลผิวและลดริ้วรอย CoQ10 เป็นสารที่หลายคนรู้จักกันดีด้วยคุณสมบัติที่ช่วยในการดูแลผิวและชะลอการเกิดริ้วรอย นอกจากใช้เป็นยาและอาหารเสริมแล้วจึงนิยมนำมาใช้เป็นส่วนผสมของผลิตภัณฑ์ดูแลผิวและเครื่องสำอางด้วย โดยจากข้อมูลพบว่า CoQ10 เป็นสารต้านอนุมูลอิสระ (ป้องกันการทำลายคอลลาเจนและอีลาสตินจากอนุมูลอิสระและรังสี UV จากแสงแดด) และเป็นสารที่ให้พลังงานแก่เซลล์ผิว ทำให้การทำงานต่าง ๆ ในผิวมีประสิทธิภาพมากขึ้น เช่น การผลัดเซลล์ การซ่อมแซมเซลล์ผิว และการสร้างเซลล์ผิวใหม่[1]
- ผลดีต่อสมอง ด้วยไมโทคอนเดรียเป็นตัวสร้างพลังงานหลักของเซลล์สมอง เมื่ออายุมากขึ้นความผิดปกติของไมโทคอนเดรียอาจทำให้เซลล์สมองตายและเกิดโรคต่าง ๆ ได้ เช่น อัลไซเมอร์ โรคพาร์กินสัน จากการศึกษาพบว่า CoQ10 สามารถช่วยปกป้องเซลล์สมองจากความเสียหายจากปฏิกิริยาออกซิเดชั่นได้ จึงอาจช่วยชะลอการเกิดหรือชะลอการลุกลามของโรคอัลไซเมอร์[4] และโรคพาร์กินสัน[5]
- ลดความถี่การเกิดไมเกรน การทำงานที่ผิดปกติของไมโทคอนเดรียส่งผลให้สมองมีพลังงานต่ำและเป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการปวดหัวไมเกรน (ผู้ที่มีอาการปวดหัวไมเกรนเรื้อรังมีแนวโน้มที่จะขาด CoQ10 มากกว่าคนปกติ) และการเสริม CoQ10 สามารถช่วยเพิ่มพลังงานให้เซลล์สมองได้ โดยจากการศึกษาพบว่า การเสริม CoQ10 วันละ 300 มิลลิกรัม (แบ่งเป็น 3 มื้อ มื้อละ 100 มิลลิกรัม) ต่อเนื่องเป็นระยะเวลา 3 เดือน สามารถช่วยลดความถี่ของการเกิดอาการปวดหัวไมเกรนได้ 47.6% เมื่อเทียบกับกลุ่มที่ได้รับยาหลอกที่ลดได้เพียง 14.4% (เช่น หากปวด 10 วัน เมื่อทานต่อเนื่องก็อาจจะลดเหลือ 5 วัน)[6]
- ดีต่อหัวใจ หลายการศึกษาระบุว่า CoQ10 ดีต่อเซลล์หัวใจที่ต้องการพลังงานสูง ช่วยให้หัวใจมีสุขภาพแข็งแรงและลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจต่าง ๆ ได้ โดยเฉพาะภาวะหัวใจล้มเหลวที่มีการศึกษาในผู้ป่วยที่มีภาวะหัวใจล้มเหลวเรื้อรัง (Chronic heart failure) จำนวน 420 คน ที่เสริมการรักษาด้วย CoQ10 เป็นเวลา 2 ปี พบว่าการรักษาด้วย CoQ10 มีความปลอดภัย ผู้ป่วยมีอาการดีขึ้น ภาวะแทรกซ้อนน้อยลง และลดการเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลเมื่อเทียบกับกลุ่มควบคุม ลดการเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลน้อยลง[7],[8] และยังดีต่อผู้ป่วยโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด (Heart attack) ที่การเริ่มใช้ CoQ10 หลังมีอาการอย่างต่อเนื่องเป็นเวลา 1 ปี อาจช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดอาการที่เกี่ยวข้องกับหัวใจ รวมทั้งอาการกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด[6]
- ปกป้องปอด ระดับ CoQ10 ที่ต่ำ และความเสียหายจากปฏิกิริยาออกซิเดชั่น อาจส่งผลให้เกิดโรคปอด เช่น โรคหอบหืด และโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง (COPD)[9] และมีการศึกษาที่แสดงให้เห็นว่า การเสริมด้วย CoQ10 อาจช่วยลดการอักเสบของหลอดลมในผู้ป่วยโรคหอบหืด รวมถึงช่วยลดการใช้ยาสเตียรอยด์[10]
- อาจช่วยป้องกันโรคมะเร็ง เป็นที่ทราบกันว่าความเครียดจากปฏิกิริยาออกซิเดชั่น (Oxidative stress) ก่อให้เกิดความเสียหายต่อโครงสร้างของเซลล์และส่งผลต่อการทำงานของเซลล์ ซึ่งอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งได้ และผู้ป่วยโรคมะเร็งมักมีระดับ CoQ10 ที่ต่ำกว่าปกติ[11] และ CoQ10 สามารถช่วยปกป้องเซลล์จากปฏิกิริยาดังกล่าวได้[12] ยิ่งไปกว่านั้น ยังมีงานวิจัยที่ชี้ว่าการเสริม CoQ10 อาจช่วยลดโอกาสที่มะเร็งจะกลับมาเป็นซ้ำได้ด้วย[13]
- ช่วยโรคเบาหวาน จากการศึกษาพบว่า CoQ10 สามารถช่วยเพิ่มความไวของอินซูลินและช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้[14] สอดคล้องกับอีกการศึกษาในผู้ป่วยเบาหวาน ที่เสริม CoQ10 เป็นเวลา 12 สัปดาห์ แล้วพบว่า ระดับน้ำตาลในเลือดและน้ำตาลสะสม (HbA1C) ลดลง[15]
- ช่วยการเจริญพันธุ์ เซลล์ไข่ของผู้หญิงเป็นเซลล์ที่ต้องการใช้พลังงาน ATP จากไมโทคอนเดรียมากกว่าเซลล์อื่น ๆ และการทำงานของไมโทคอนเดรียต้องอาศัย CoQ10 มากถึง 95% (การศึกษาที่พบว่า ในผู้หญิงอายุน้อยจะมีพลังงาน ATP ในเซลล์ไข่มากกว่าผู้หญิงที่มีอายุมากถึง 75%[16] และเมื่อพลังงาน ATP ในเซลล์ไข่น้อยลงจะส่งผลต่อการทำงานของเซลล์ไข่และอาจทำให้มีบุตรยากขึ้น[17] ดังนั้น CoQ10 จึงอาจช่วยเพิ่มคุณภาพการเจริญพันธุ์ของผู้หญิงในทุกช่วงวัย โดยเฉพาะผู้หญิงที่มีอายุมากกว่า 35 ปี และผู้หญิงที่มีปัญหาภาวะมีบุตรยาก โดยช่วยเพิ่มการทำงานของไมโทคอนเดรียในเซลล์ไข่ และเพิ่มคุณภาพให้ไข่ของผู้หญิงที่มีอายุมาก หรือมีภาวะมีบุตรยาก ทำเด็กหลอดแก้ว (IVF) หรือทำอิ๊กซี (ICSI)[17],[18]
- ดีต่อสเปิร์ม จากการศึกษาพบว่า CoQ10 อาจช่วยปรับปรุงคุณภาพ ความเข้มข้นของอสุจิ และการเคลื่อนที่ของอสุจิได้ เพราะมีคุณสมบัติปกป้องเซลล์จากอนุมูลอิสระ ช่วยให้เซลล์สเปิร์มแข็งแรง และมีลักษณะสมบูรณ์ การได้รับ CoQ10 อย่างน้อย 6 เดือน จะมีผลทำให้การเคลื่อนไหวของอสุจิดีขึ้น ความหนาแน่นของอสุจิเพิ่มมากขึ้น และอสุจิมีรูปร่างดีขึ้น ซึ่งเหล่านี้อาจช่วยเพิ่มโอกาสการมีบุตรที่มากขึ้นได้[19],[20]
- เพิ่มประสิทธิภาพการออกกำลังกาย เนื่องจากปฏิกิริยา Oxidative stress ส่งผลต่อการทำงานของกล้ามเนื้อและลดประสิทธิภาพการออกกำลังกาย[21] และการทำงานที่ผิดปกติของไมโทคอนเดรียสามารถลดพลังงานของกล้ามเนื้อ ทำให้กล้ามเนื้อหดตัว และคงการออกกำลังกายไว้ได้ยาก[22] โดยจากการศึกษาพบว่า CoQ10 สามารถช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการออกกำลังกายและกระตุ้นการทำงานของกล้ามเนื้อ[23] ช่วยเพิ่มระยะเวลาการออกกำลังกาย[24] และลดความเมื่อยล้าได้[25]
- โรคปริทันต์อักเสบ (Periodontitis) การศึกษาพบว่า การให้ CoQ10 วันละ 120 มิลลิกรัม เป็นเวลา 3 เดือนหลังการรักษาโรคปริทันต์อักเสบ กลุ่มที่ได้รับ CoQ10 มีอาการอักเสบของเหงือกลดลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับกลุ่มที่ได้รับยาหลอก[27]
- โรคกล้ามเนื้อเสื่อม (Muscular dystrophy) การรับประทาน CoQ10 อาจช่วยปรับปรุงสมรรถภาพของกล้ามเนื้อให้ดีขึ้นได้ผู้ป่วยที่เป็นโรคกล้ามเนื้อเสื่อมบางกลุ่ม[6]
- กลุ่มโรคกล้ามเนื้อผิดปกติ (Mitochondrial myopathies) การรับประทาน CoQ10 อาจช่วยลดอาการของโรค ช่วยให้ผู้ป่วยมีอาการดีขึ้น แต่อาจต้องทาน CoQ10 นานถึง 6 เดือนกว่าจะได้ผลดี[6]
- ความดันโลหิตสูง (High blood pressure) งานวิจัยบางชิ้นแสดงให้เห็นว่าการใช้ CoQ10 เพียงอย่างเดียวหรือร่วมกับยาอื่น ๆ สามารถช่วยลดความดันโลหิตได้ อย่างไรก็ตาม งานวิจัยอื่น ๆ ไม่พบว่า CoQ10 ช่วยลดความดันโลหิตแต่อย่างใด[6]
- ภาวะไขมันในเลือดสูง (Hyperlipidemia) การศึกษาบางชิ้นแสดงให้เห็นว่า CoQ10 อาจช่วยลดระดับไขมันไตรกลีเซอไรด์และไขมันคอเลสเตอรอลชนิดไม่ดี (LDL-C) ลงได้เล็กน้อย แต่อาจต้องใช้เวลาอย่างน้อย 3 เดือนจึงจะเห็นผล แต่การศึกษาอื่น ๆ ไม่พบว่า CoQ10 ช่วยในเรื่องนี้[6]
- ภาวะครรภ์เป็นพิษ (Preeclampsia) หญิงตั้งครรภ์จะมีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะครรภ์เป็นพิษน้อยลงเมื่อใช้ CoQ10 ตั้งแต่สัปดาห์ที่ 20 ของการตั้งครรภ์จนกว่าทารกจะคลอด[6]
การเลือกซื้อ CoQ10
- แม้โดยส่วนใหญ่ CoQ10 จะเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่สามารถหาซื้อได้เอง แต่ก็ควรปรึกษาแพทย์และเภสัชกรก่อนใช้เสมอ และควรใช้ตามปริมาณและระยะเวลาที่แพทย์หรือเภสัชกรกำหนด
- เลือก CoQ10 100 มิลลิกรัมขึ้นไป เพราะเป็นขนาดเริ่มต้นที่ใช้ในงานวิจัยต่าง ๆ (แต่ถ้าทานเพื่อป้องกันการขาด CoQ10 ปริมาณ 30 มิลลิกรัมก็เป็นขนาดที่เพียงพอแล้ว)
- เลือก CoQ10 ที่บรรจุในแคปซูลชนิดนิ่มที่ CoQ10 ละลายอยู่ในน้ำมัน หลีกเลี่ยงการใช้ CoQ10 ในรูปแบบเม็ดหรือแคปซูลแข็ง เพราะการศึกษาพบว่าแคปซูลนิ่มละลายน้ำมันเป็นรูปแบบที่ดูดซึมได้ดีที่สุด[26]
- CoQ10 หลัก ๆ จะมีอยู่ด้วยกัน 2 รูปแบบ คือ Ubiquinone ซึ่งเป็นรูปแบบมาตรฐานที่มักใช้ในงานวิจัย และอีกแบบคือ Ubiquinol ที่มีการศึกษาพบว่าดูดซึมได้ดีกว่าในระดับนึงประมาณ 72% แต่หลักฐานยังคงขัดแย้งกันอยู่ ถ้าถามว่าควรเลือกแบบใด คำตอบก็คงขึ้นอยู่กับราคาเป็นหลัก เพราะ Ubiquinol มักมีราคาแพงกว่าแบบ Ubiquinone ประมาณ 2-3 เท่า
- เลือกแบรนด์หรือยี่ห้อที่มีความน่าเชื่อถือ ได้รับการยอมรับ ผลิตจากโรงงานที่ผ่านการรับรองมาตรฐานและความปลอดภัย (บ่งบอกได้ถึงคุณภาพและความบริสุทธ์ของวัตถุดิบและการปราศจากสารปนเปื้อนหรือเป็นอันตราย) ได้รับรองการขึ้นทะเบียนตำรับจาก อย. (โดยเฉพาะอาหารเสริมนำเข้าหลายยี่ห้อที่มักไม่ได้ขอ อย. ซึ่งอาจเสี่ยงต่อการได้รับของปลอม ของเลียนแบบ หรือของเสื่อมคุณภาพได้) และฉลากระบุถึงส่วนประกอบสำคัญและปริมาณอย่างชัดเจนไม่สับสน
- ซื้อผลิตภัณฑ์เสริมอาหารจากร้านที่เชื่อถือได้และมีที่อยู่แน่นอน โดยเฉพาะร้านขายยาที่มีเภสัชกรประจำอยู่ เพื่อจะได้ปรึกษาสอบถามถึงรายละเอียดต่าง ๆ เกี่ยวกับตัวผลิตภัณฑ์ และเพิ่มความมั่นใจในเรื่องของคุณภาพอาหารเสริมจากการจัดเก็บที่ดี (เก็บผลิตภัณฑ์ในอุณหภูมิที่เหมาะสมและไม่ร้อนจนอาหารเสริมหรือวิตามินอาจเสื่อมสภาพ)
- ตรวจสอบวันหมดอายุเสมอ โดยเฉพาะการซื้อผ่านช่องทางออนไลน์ที่ต้องมีแจ้งวันผลิตและหมดอายุอย่างชัดเจน
- ตรวจสอบและหลีกเลี่ยงส่วนผสมที่ก่อให้เกิดอาการแพ้ของคุณ เช่น ส่วนประกอบของปลา ถั่ว ถั่วเหลือง เป็นต้น
- เปรียบเทียบถึงความคุ้มค่าและประโยชน์ที่ได้ร่างกายได้รับก่อนเสมอ โดยดูจากจำนวนและปริมาณของสารสำคัญที่ได้รับ ประสิทธิภาพการดูดซึม ราคาเฉลี่ยต่อเม็ดและราคาต่อมิลลิกรัม (ควรอ่านและทำความเข้าใจถึงประโยชน์ของสารสำคัญแต่ละชนิดตามงานวิจัย ไม่ใช่จากคำโฆษณา และควรทราบถึงปริมาณที่เหมาะสมในการออกฤทธิ์)
- โปรดจำไว้ว่ายี่ห้อที่มีราคาแพงไม่ได้หมายความว่าจะเป็นยี่ห้อที่ดีที่สุดเสมอไป เพราะราคาผลิตภัณฑ์อาหารเสริมในท้องตลาดมักตั้งจากต้นทุนในการผลิตและ “ค่าโฆษณา”
CoQ10 ยี่ห้อไหนดี ?
ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร CoQ10 ในปัจจุบันมีหลายยี่ห้อ บางยี่ห้ออาจมีส่วนผสมของสารอื่น ๆ เข้าไปด้วย เช่น วิตามิน หรือสารบางอย่าง ซึ่งในบทความนี้เราจะมาเปิดขวดรีวิว CoQ10 รวม 15 ยี่ห้อ พร้อมกับให้คะแนนและทำการจัดอันดับแบบคร่าว ๆ เพื่อช่วยให้ผู้อ่านเกิดไอเดียในการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์เสริมอาหารว่าก่อนซื้อเราต้องดูหรือสังเกตอะไรบ้าง
ส่วนการคัดเลือกผลิตภัณฑ์ที่นำมารีวิวในบทความนี้ เราจะเลือกมาเฉพาะ CoQ10 ที่อยู่ในรูปแบบมาตรฐาน (Ubiquinone) เพราะเป็นรูปแบบที่มักใช้ในการศึกษาวิจัยถึงประโยชน์ของ CoQ10 และจะเลือกมาเฉพาะยี่ห้อที่เป็นที่นิยมหรือเป็นที่คุ้นตาของหลาย ๆ คน คือหาซื้อได้ง่ายตามร้านขายยาทั่วไปหรือตามเว็บไซต์อีคอมเมิร์ซอย่าง Shopee หรือ Lazada (ยี่ห้อต่างประเทศในบทความนี้จะไม่ได้เน้นมากนัก เพราะส่วนใหญ่ยังไม่ได้มีการแจ้งขอนำเข้าอย่างถูกต้อง)
อย่างไรก็ตาม การรีวิวนี้เป็นรีวิวจากผู้เขียนเพียงผู้เดียว จึงไม่สามารถนำไปใช้อ้างอิงใด ๆ ได้ เพราะเกณฑ์การเลือกซื้อและน้ำหนักการให้คะแนนอาจแตกต่างกันได้ในแต่ละบุคคล และไม่ได้หมายความว่ายี่ห้อที่มีคะแนนน้อยกว่าจะมีคุณภาพด้อยกว่าเสมอไป ประกอบกับความจำเป็นหรือความต้องการวิตามินในร่างกายของแต่ละคนก็ไม่เหมือนกัน เพราะบางคนอาจต้องเสริม CoQ10 ในปริมาณมาก แต่อีกคนอาจแค่ต้องการเสริมวันละนิดก็พอ แต่ที่สำคัญคือ ผู้เขียนแนะนำว่าไม่ควรเลือกซื้ออาหารเสริมใด ๆ จากคำโฆษณา จากคำบอกเล่า หรือจากรีวิวนี้เพียงอย่างเดียว จนกว่าคุณจะได้ปรึกษาเภสัชกรหรือแพทย์ของคุณ เพราะความต้องการ CoQ10 ในแต่ละคนหรือแต่ละอาการนั้นไม่เท่ากัน
ส่วนเกณฑ์การให้คะแนนและจัดอันดับแบบคร่าว ๆ ในรีวิวนี้จะมีเกณฑ์ดังนี้ (คะแนนเต็ม 40 คะแนน)
- ความน่าเชื่อถือ (แบรนด์) : คะแนนรวม 10 คะแนน
- ปริมาณของสารสำคัญ : คะแนนรวม 10 คะแนน โดยมีเกณฑ์ดังนี้
- คะแนนจาก CoQ10 : 10 คะแนน
- คะแนนจากสารอื่น ๆ (ถ้ามี) : + 2 คะแนน (คะแนนพิเศษ)
- ประโยชน์/ปริมาณ CoQ10 ที่ร่างกายได้รับ : คะแนนรวม 10 คะแนน
- โดยดูจากปริมาณของ CoQ10, รูปแบบของ CoQ10 (เป็นแบบผงหรือแบบละลายในน้ำมัน) และเทคโนโลยีที่ช่วยในการดูดซึม
- ราคาต่อปริมาณ CoQ10 : คะแนนรวม 10 คะแนน
- เนื่องจากยี่ห้อที่มีราคาต่อปริมาณ CoQ10 100 มก. ถูกที่สุด คือ 12.3 บาท (NUTRAKAL Reju-Q) และแพงสุด คือ 46 บาท (BLACKMORES ซึ่งมีราคาแพงกว่า 3.7 เท่า) เราจึงให้ยี่ห้อที่มีราคาถูกสุดได้เต็ม 10 คะแนน และเมื่อนำคะแนนเต็ม 10 มาหารด้วย 3.7 เท่า ก็จะได้ 2.7 นั่นหมายความว่ายี่ห้อที่มีราคาแพงที่สุดจะได้คะแนนเพียง 2.7 คะแนน จากเต็ม 10 คะแนน
- สำหรับราคาผลิตภัณฑ์ของแต่ละยี่ห้อเป็นราคาที่ซื้อมาจากร้านขายยา และบางรายการซื้อมาจากเว็บไซต์อีคอมเมิร์ซ Shopee โดยจะเลือกซื้อจากร้าน Official ของแบรนด์เป็นหลัก (ถ้าไม่มีจะดูราคาและซื้อจากร้านที่ดูน่าเชื่อถือ มีแจ้งระบุวันหมดอายุ มีรีวิวการจัดส่งดี และมีผู้สั่งซื้อจำนวนมากแทน)
#1 ALERTEN
#1 อเลอเท็น (ALERTEN 100 BIOEMULCAP) จากเมก้าวีแคร์ (MEGA We care) บริษัทผลิตยาและอาหารเสริมที่ไว้ใจได้ในเรื่องของคุณภาพและมาตรฐานการผลิต เพราะผลิตโดยโรงงานผลิตยาแห่งแรกและแห่งเดียวในไทยที่ผ่านการรับรองมาตรฐานการผลิต (GMP) ระดับสากลถึง 2 สถาบัน คือ TGA จากประเทศออสเตรเลีย และ BfArM จากประเทศเยอรมัน เป็นที่ยอมรับในยุโรป และมีกำลังการผลิตสูง ส่งออกไปต่างประเทศกว่า 30 ประเทศทั่วโลก
โดยเป็น CoQ10 ในรูปของ Ubiquinone ขนาด 100 มิลลิกรัม ซึ่งเป็นขนาดที่ใช้ในงานวิจัยเพื่อรักษาอาการหรือป้องกันโรคต่าง ๆ และผลิตมาในรูปแบบที่เรียกว่า “VESIsorb®” ซึ่งจะทำให้สาร CoQ10 มีขนาดที่เล็กลงถึงระดับ nano-colloidal ซึ่งเป็นเทคโนโลยีลิขสิทธิ์จากประเทศสวิสเซอร์แลนด์ ที่มีผลการวิจัยทำให้ CoQ10 ในแคปซูลนิ่มละลายได้ดีในไขมัน ร่างกายจึงดูดซึมได้ดีกว่า CoQ10 ทั่วไปรูปแบบผงที่อยู่ในแคปซูลหรือเม็ดแข็ง (Tablet) และยังมีการระบุข้อบ่งใช้ที่ชัดเจนบนบรรจุภัณฑ์ว่าสามารถใช้กับการรักษาปกติในโรคหัวใจล้มเหลว, โรคปริทันต์ และใช้ป้องกันการขาด CoQ10 ในผู้ที่ใช้ยาลดระดับไขมันในเลือดกลุ่ม HMG-CoA reductase inhibitor หรือที่เรียกว่ายาลดไขมันคอเลสเตอรอลในเลือด กลุ่มยาสแตติน
จุดเด่น :
- มีความน่าเชื่อถือสูง ผลิตภายใต้มาตรฐานการผลิตยาระดับสากล ที่ผ่านการรับรองมาตรฐานถึง 2 สถาบัน คือ TGA จากประเทศออสเตรเลีย และ BfArM จากประเทศเยอรมัน
- เป็น CoQ10 ขนาด 100 มิลลิกรัม ซึ่งเป็นขนาดที่แนะนำตามงานวิจัย
- เป็น CoQ10 สูตร VESIsorb® ที่ละลายได้ในน้ำมันและน้ำ จึงช่วยให้ร่างกายดูดซึม CoQ10 ได้ดียิ่งขึ้นมากกว่าแคปซูลผง แคปซูลนิ่มละลายในน้ำมัน และแบบเม็ดแข็ง
- มีการศึกษาที่พบว่า CoQ10 ในรูปของ VESisorb® ดูดซึมได้ดีกว่า CoQ10 ในรูปของสารละลายน้ำและแบบแคปซูลนิ่มละลายในน้ำมัน เมื่อให้ผู้ทดลองทาน CoQ10 ขนาด 120 มิลลิกรัม และเจาะเลือดตรวจเป็นระยะ พบว่าหลัง 4-5 ชั่วโมงจะเป็นช่วงที่ระดับ CoQ10 ในเลือดเพิ่มขึ้นสูงสุด โดยเพิ่มเป็น 6.89 µg/mL (VESisorb®), 2.44 µg/mL (สูตรละลายในน้ำ) และ 2.24 µg/mL (สูตรละลายในน้ำมัน) จากเดิมก่อนทานที่อยู่ในระดับ 0.7-0.9 µg/mL[28]
- CoQ10 บรรจุในแผงฟอยล์แบบแยกเม็ดออกจากกัน แบ่งเป็นแผงละ 10 เม็ด รวม 3 แผง จึงง่ายต่อการพกพา ช่วยป้องกันออกซิเจนและความชื้น คงสภาพและปริมาณของสารสำคัญระหว่างรอการบริโภคได้ดี
- บรรจุภัณฑ์โดยรวมมีความสวยงามและดูสมราคา โดยแผงฟอยล์ทั้ง 3 แผงบรรจุมาถุงฟอยล์กันแสงและแพ็คมากล่องกระดาษอีกชั้น
จุดด้อย :
- ALERTEN เป็นผลิตภัณฑ์ยา ไม่ใช่ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร (เนื่องจากมีปริมาณ CoQ10 เกิน 30 มิลลิกรัม) ต้องใช้ภายใต้คำแนะนำของแพทย์
คะแนน :
- ความน่าเชื่อถือ (แบรนด์) : 10 /10 คะแนน
- ปริมาณของสารสำคัญ : 10 /10 คะแนน
- CoQ10 : 100 มิลลิกรัม
- ประโยชน์/ปริมาณ CoQ10 ที่ร่างกายได้รับ : 10 /10 คะแนน
- เป็น CoQ10 สูตร VESIsorb® ที่ดูดซึมได้ดีกว่าแบบผงและแบบละลายในน้ำมัน 2-3 เท่า
- ราคาต่อปริมาณ CoQ10 : 8.6 /10 คะแนน
- 1 กล่อง (30 แคปซูลนิ่ม แบ่งเป็น 3 แผงฟอยล์ แผงละ 10 แคปซูล) ราคา 560 บาท
- ราคาเฉลี่ยต่อเม็ด : 18.7 บาท
- ราคาต่อ CoQ10 100 มิลลิกรัม : 18.7 บาท
- คะแนนรวม : 38.6 /40 คะแนน
#2 Bio-Quinone Q10 100 mg
#2 ไบโอ-ควิโนน คิวเท็น 100 มก. (Bio-Quinone Q10 100 mg) เป็น CoQ10 สูตรต้นแบบที่ใช้ในงานวิจัยที่ในรูปแบบของ Ubiquinone เช่นกัน ผลิตโดยบริษัทยาฟาร์มา นอร์ด (Pharma Nord) จากประเทศเดนมาร์ก มีความน่าเชื่อถือสูง เป็น CoQ10 ที่ละลายในน้ำมันพืชที่ผ่านการทดสอบแล้วว่าสามารถดูดซึมได้ดี และที่สำคัญ Bio-Quinone Q10 ตัวนี้ยังถูกใช้ในการศึกษาวิจัยมากกว่า 90 งานวิจัย (ในจำนวนนี้เป็นการศึกษาวิจัยทางคลินิกในมนุษย์ 75 ฉบับ โดยที่การศึกษา 25 ฉบับดำเนินการแบบตามการวิจัยที่มีความน่าเชื่อถือระดับสูง) ดังนั้นจึงรับประกันได้ถึงคุณภาพและประโยชน์ที่ร่างกายจะได้รับ
จุดเด่น :
- มีความน่าเชื่อถือสูง ผลิตภายใต้มาตรฐานการผลิตยาประเทศเดนมาร์ก และได้รับรางวัลมากมาย
- เป็น CoQ10 ขนาด 100 มิลลิกรัม ซึ่งเป็นขนาดที่แนะนำตามงานวิจัย
- บรรจุในแคปซูลนิ่มที่ CoQ10 ละลายอยู่ในน้ำมัน (ดูดซึมได้ดีกว่า CoQ10 แบบผง)
- ในรายละเอียดสินค้าแจ้งว่าเป็น CoQ10 ที่ละลายในน้ำมันถั่วเหลือง (บรรจุในแคปซูลเจลาตินชนิดนิ่มที่ป้องกันแสงได้) และผ่านการทดสอบว่าสามารถดูดซึมได้สูง (เข้าใจว่าเปรียบเทียบกับแบบผง)
- เป็นยี่ห้อที่ใช้ในหลายงานวิจัย
- เป็น CoQ10 บรรจุในแผงฟอยล์แบบแยกเม็ดออกจากกัน แบ่งเป็นแผงละ 30 เม็ด รวม 2 แผง จึงช่วยป้องกันออกซิเจนและความชื้น คงสภาพและปริมาณของสารสำคัญระหว่างรอการบริโภคได้ดี
จุดด้อย :
- ราคาต่อเม็ดแพงที่สุด (31.6 บาท)
คะแนน :
- ความน่าเชื่อถือ (แบรนด์) : 10 /10 คะแนน
- ปริมาณของสารสำคัญ : 10 /10 คะแนน
- CoQ10 : 100 มิลลิกรัม
- ประโยชน์/ปริมาณ CoQ10 ที่ร่างกายได้รับ : 8 /10 คะแนน
- ราคาต่อปริมาณ CoQ10 : 5.8 /10 คะแนน
- 1 กล่องมี 2 แผง (60 แคปซูลนิ่ม) ราคา 1,898 บาท
- ราคาเฉลี่ยต่อเม็ด : 31.6 บาท
- ราคาต่อ CoQ10 100 มิลลิกรัม : 31.6 บาท
- คะแนนรวม : 33.8 /40 คะแนน
#3 NUTRAKAL Reju-Q
#3 นูทราแคล รีจู-คิว (NUTRAKAL Reju-Q) ผลิตภัณฑ์ CoQ10 ขนาด 100 มิลลิกรัม ผลิตโดยบริษัท เอ็ม แอนด์ เอ็ช แมนูแฟคเจอริ่ง จำกัด (โรงงานผลิตขนาดใหญ่ที่ให้การผลิตเภสัชภัณฑ์และเคมีภัณฑ์ที่ใช้รักษาโรค มูลค่าบริษัท 1,835 ล้านบาท)
จุดเด่น :
- เป็น CoQ10 ขนาด 100 มิลลิกรัม ซึ่งเป็นขนาดที่แนะนำตามงานวิจัย
- ราคาถูกที่สุดเมื่อคิดตามขนาด CoQ10 100 มิลลิกรัม
- มาในกล่องบรรจุภัณฑ์กระดาษสวยงาม
- CoQ10 บรรจุในแผงฟอยล์แบบแยกเม็ดออกจากกัน แบ่งเป็นแผงละ 5 เม็ด รวม 12 แผง จึงง่ายต่อการพกพา ช่วยป้องกันออกซิเจนและความชื้น คงสภาพและปริมาณของสารสำคัญระหว่างรอการบริโภคได้ดี
จุดด้อย :
- เป็น CoQ10 ที่อยู่ในรูปแบบผง ซึ่งดูดซึมได้ไม่ดี
คะแนน :
- ความน่าเชื่อถือ (แบรนด์) : 7.5 /10 คะแนน
- ปริมาณของสารสำคัญ : 10 /10 คะแนน
- CoQ10 : 100 มิลลิกรัม
- ประโยชน์/ปริมาณ CoQ10 ที่ร่างกายได้รับ : 5 /10 คะแนน
- ราคาต่อปริมาณ CoQ10 : 10 /10 คะแนน
- 1 ขวด (60 แคปซูลผง) ราคา 735 บาท
- ราคาเฉลี่ยต่อเม็ด : 12.3 บาท
- ราคาต่อ CoQ10 100 มิลลิกรัม : 12.3 บาท
- คะแนนรวม : 32.5 /40 คะแนน
#4 Vitamate Coenzyme Q10
#4 ไวตาเมท โคเอนไซม์ คิว10 (Vitamate Coenzyme Q10) ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารคิวเท็นที่แจ้งว่าผลิตในอเมริกา (Nbty Manufacturing LLC) และนำเข้ามาแบ่งบรรจุและขายโดยบริษัท สกินอัส แอลโอซี จำกัด (ธุรกิจขนาดกลาง มูลค่าบริษัท 151 ล้านบาท) ซึ่งเป็นบริษัทที่นำเข้าอาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ เวชสำอาง และเครื่องมือแพทย์จากต่างประเทศโดยเฉพาะ
จุดเด่น :
- บรรจุในแคปซูลนิ่มที่ CoQ10 ละลายอยู่ในน้ำมัน (ดูดซึมได้ดีกว่า CoQ10 แบบผง)
- มีส่วนผสมของน้ำมันรำข้าวและเลซิทิน
จุดด้อย :
- มีปริมาณ CoQ10 น้อย (เนื่องจากเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร)
- ไม่มีเว็บไซต์ที่ให้ข้อมูลสินค้า
- ฝาขวดเป็นแบบพลาสติกเปิด-ปิด รู้สึกปิดได้ไม่แน่นสนิทเท่าไหร่
คะแนน :
- ความน่าเชื่อถือ (แบรนด์) : 9 /10 คะแนน
- ปริมาณของสารสำคัญ : 5.5 /10 คะแนน
- CoQ10 : 30 มิลลิกรัม
- สารอื่น ๆ (2 ชนิด) : +2 คะแนน
- น้ำมันรำข้าว 223 มิลลิกรัม
- เลซิทิน 33.38 มิลลิกรัม
- ประโยชน์/ปริมาณ CoQ10 ที่ร่างกายได้รับ : 2.5 /10 คะแนน
- ราคาต่อปริมาณ CoQ10 : 6.7 /10 คะแนน
- 1 ขวด (30 แคปซูลนิ่ม) ราคา 248 บาท
- ราคาเฉลี่ยต่อเม็ด : 8.3 บาท
- ราคาต่อ CoQ10 100 มิลลิกรัม : 27.7 บาท
- คะแนนรวม : 23.7 /40 คะแนน
#5 Ova-Q10
#5 โอว่า-คิวเท็น (Ova-Q10) ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารคิวเท็นแบรนด์ไทยที่ผลิตโดยบริษัท โควิก เคทท์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (ธุรกิจขนาดกลาง มูลค่าบริษัท 61.7 ล้านบาท) และจัดจำหน่ายโดยบริษัท พีทีอี พลัส เวลเนส จำกัด (ธุรกิจขนาดเล็ก มูลค่าบริษัท 6 ล้านบาท)
จุดเด่น :
- ราคาต่อเม็ดถูกที่สุดเพียง 5.3 บาท
- บรรจุในแคปซูลนิ่มที่ CoQ10 ละลายอยู่ในน้ำมัน (ดูดซึมได้ดีกว่า CoQ10 แบบผง)
- มีส่วนผสมของน้ำมันรำข้าว (470 มิลลิกรัม) ที่ช่วยลดการดูดซึมของไขมันคอเลสเตอรอล ช่วยเพิ่มไขมันชนิดดี (HDL-C) เพิ่มการไหลเวียนเลือด เพิ่มฮอร์โมนอินซูลิน กระตุ้นการหลั่งฮอร์โมนสำหรับการเจริญเติบโต
จุดด้อย :
- มีปริมาณ CoQ10 น้อย (เนื่องจากเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร)
- ไม่มีเว็บไซต์ที่ให้ข้อมูลสินค้า
- น้ำมันปลาที่ซื้อมาเม็ดยาติดกันเป็นก้อน เขย่าแยกกันไม่ออก ต้องแกะออกทีละเม็ด
คะแนน :
- ความน่าเชื่อถือ (แบรนด์) : 7 /10 คะแนน
- ปริมาณของสารสำคัญ : 5.3 /10 คะแนน
- CoQ10 : 30 มิลลิกรัม
- สารอื่น ๆ (1 ชนิด) : +2 คะแนน
- น้ำมันรำข้าว 470 มิลลิกรัม
- ประโยชน์/ปริมาณ CoQ10 ที่ร่างกายได้รับ : 2.5 /10 คะแนน
- ราคาต่อปริมาณ CoQ10 : 8.8 /10 คะแนน
- 1 ขวด (30 แคปซูลนิ่ม) ราคา 159 บาท
- ราคาเฉลี่ยต่อเม็ด : 5.3 บาท
- ราคาต่อ CoQ10 100 มิลลิกรัม : 17.7 บาท
- คะแนนรวม : 23.6 /40 คะแนน
#6 REAL ELIXIR COENZYME Q10
#6 เรียล อิลิคเซอร์ โคเอนไซม์คิวเท็น (REAL ELIXIR COENZYME Q10 30 MG Plus) CoQ10 30 มิลลิกรัม สูตรผสมวิตามินรวม 6 ชนิด และกรดอัลฟาไลโปอิก (ALA) ซึ่งเป็นสารต้านอนุมูลอิสระเข้าไปในปริมาณอย่างละน้อย และผลิตโดยบริษัท โรงงานเภสัชอุตสาหกรรม เจเอสพี จำกัด (โรงงานผลิตขนาดใหญ่ที่ให้การผลิตเภสัชภัณฑ์และเคมีภัณฑ์ที่ใช้รักษาโรค มูลค่าบริษัท 966 ล้านบาท)
จุดเด่น :
- บรรจุในแคปซูลนิ่มที่ CoQ10 ละลายอยู่ในน้ำมัน (ดูดซึมได้ดีกว่า CoQ10 แบบผง)
- มีส่วนผสมวิตามินบี ซี อี และกรดอัลฟาไลโปอิกเพิ่มมาเล็กน้อย
จุดด้อย :
- มีปริมาณ CoQ10 น้อย (เนื่องจากเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร จึงมี CoQ10 ได้สูงสุดที่ 30 มิลลิกรัม)
คะแนน :
- ความน่าเชื่อถือ (แบรนด์) : 7.5 /10 คะแนน
- ปริมาณของสารสำคัญ : 4.8 /10 คะแนน
- CoQ10 : 30 มิลลิกรัม (3.3 /10 คะแนน)
- สารอื่น ๆ (7 ชนิด) : +1.5 คะแนน
- วิตามินบี 1 (ไทอะมีน โมโนไนเตรท) 1.85 มก.
- วิตามินบี 2 1.7 มก.
- วิตามินบี 6 2 มิลลิกรัม (จากไพริดอกซีน ไฮโดรคลอไรด์ 2.43 มิลลิกรัม)
- วิตามินบี 12 2 มคก.
- วิตามินซี 30 มิลลิกรัม
- วิตามินอี อะซิเตท 8.29 มก.
- กรดอัลฟาไลโปอิก (Alpha-Lipoic Acid) 25 มก.
- ประโยชน์/ปริมาณ CoQ10 ที่ร่างกายได้รับ : 2.5 /10 คะแนน
- ราคาต่อปริมาณ CoQ10 : 8.5 /10 คะแนน
- 1 ขวด (30 แคปซูลนิ่ม) ราคา 170 บาท
- ราคาเฉลี่ยต่อเม็ด : 5.7 บาท
- ราคาต่อ CoQ10 100 มิลลิกรัม : 19 บาท
- คะแนนรวม : 23.3 /40 คะแนน
#7 VISTRA Coenzyme Q10 30 mg
#7 วิสทร้า โคเอนไซม์ คิวเท็น 30 มก. (VISTRA Coenzyme Q10 30 mg) ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารแบรนด์ไทยที่หลายคนคุ้นเคย เป็น CoQ10 ที่ผลิตโดยบริษัทโปรโนวา แลบบอราทอรีส์ จำกัด โรงงานผลิตอาหารเสริม เครื่องสำอาง และผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพต่าง ๆ ที่ผ่านการรับรองมาตรฐาน GMP, HACCP, DMSc (มูลค่าบริษัท 265 ล้านบาท เป็นธุรกิจหรือโรงงานผลิตขนาดใหญ่)
จุดเด่น :
- บรรจุในแคปซูลนิ่มที่ CoQ10 ละลายอยู่ในน้ำมัน (ดูดซึมได้ดีกว่า CoQ10 แบบผง)
- ใช้วัตถุดิบ CoQ10 ของ KANEKA Q10™ จากญี่ปุ่น ซึ่งเป็น CoQ10 ที่ผ่านการหมักจากยีสต์ตามธรรมชาติในการผลิต
- เชื่อถือได้ในเรื่องของคุณภาพและความปลอดภัย และฉลากมีความชัดเจนของวันหมดอายุและระบุปริมาณ CoQ10 ที่ชัดเจนไม่สับสน
- ราคาต่อเม็ดค่อนข้างถูก เป็นตัวเลือกที่ดีที่สุดสำหรับผู้ที่ต้องการทาน CoQ10 เพื่อป้องกันการขาด CoQ10 (ซึ่งก็พบได้ไม่บ่อย เพราะส่วนใหญ่เราจะได้รับจากอาหารประเภทเนื้อสัตว์และน้ำมันพืชเพียงพออยู่แล้วในแต่ละวัน)
จุดด้อย :
- มีปริมาณ CoQ10 น้อย (เนื่องจากเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร)
คะแนน :
- ความน่าเชื่อถือ (แบรนด์) : 9 /10 คะแนน
- ปริมาณของสารสำคัญ : 3.3 /10 คะแนน
- CoQ10 : 30 มิลลิกรัม
- ประโยชน์/ปริมาณ CoQ10 ที่ร่างกายได้รับ : 2.5 /10 คะแนน
- ราคาต่อปริมาณ CoQ10 : 8 /10 คะแนน
- 1 ขวด (30 แคปซูลนิ่ม) ราคา 196 บาท
- ราคาเฉลี่ยต่อเม็ด : 6.5 บาท
- ราคาต่อ CoQ10 100 มิลลิกรัม : 21.7 บาท
- คะแนนรวม : 22.8 /40 คะแนน
#8 BLACKMORES CoQ10 50 mg
#8 แบลคมอร์ส โคคิวเท็น 50 มก. (BLACKMORES CoQ10 50 mg) ผลิตภัณฑ์ CoQ10 ที่นำเข้ามาทั้งขวดจากออสเตรเลีย มีความน่าเชื่อถือสูง ได้รับการยอมรับมาอย่างยาวนานในบ้านเรา โดดเด่นในเรื่องของการคัดเลือกวัตถุดิบที่มีคุณภาพสูง ผลิตตามข้อกำหนดและมาตรฐานระดับสากล (มาตรฐานการผลิต GMP และมาตรฐานการผลิต PIC/S จากประเทศออสเตรเลีย ซึ่งเป็นมาตรฐานการผลิตยาที่ใช้กันเป็นกฎหมายในทวีปยุโรป) และเป็นอาหารเสริมที่นำเข้ามาทั้งขวดไม่ได้ผลิตในบ้านเรา
จุดเด่น :
- บรรจุในแคปซูลนิ่มที่ CoQ10 ละลายอยู่ในน้ำมัน (ดูดซึมได้ดีกว่า CoQ10 แบบผง)
- มี CoQ10 พอประมาณ (ไม่น้อยจนเกินไป)
- มีความน่าเชื่อถือสูงและได้รับการยอมรับในไทย
- ผลิตภัณฑ์นำเข้าทั้งขวดจากประเทศออสเตรเลีย (ไม่ได้ผลิตในไทย)
จุดด้อย :
- ราคาต่อเม็ดค่อนข้างแพง
- ราคาต่อปริมาณ CoQ10 100 มิลลิกรัม แพงที่สุด (46 บาท)
คะแนน :
- ความน่าเชื่อถือ (แบรนด์) : 10 /10 คะแนน
- ปริมาณของสารสำคัญ : 5 /10 คะแนน
- CoQ10 : 50 มิลลิกรัม
- ประโยชน์/ปริมาณ CoQ10 ที่ร่างกายได้รับ : 4 /10 คะแนน
- ราคาต่อปริมาณ CoQ10 : 2.7 /10 คะแนน
- 1 ขวด (30 แคปซูลนิ่ม) ราคา 690 บาท
- ราคาเฉลี่ยต่อเม็ด : 23 บาท
- ราคาต่อ CoQ10 100 มิลกรัม : 46 บาท
- คะแนนรวม : 21.7 /40 คะแนน
#9 Greater Co-Q 10
#9 โคเอ็นไซม์ คิว-10 ตราเกร๊ทเตอร์ (Greater Co-Q 10) ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารคิวเท็นแบรนด์ไทยที่ผลิตโดยบริษัทยาเกร๊ทเตอร์ฟาร์ม่า (ธุรกิจขนาดกลาง มูลค่าบริษัท 105 ล้านบาท)
จุดเด่น :
- –
จุดด้อย :
- เป็น CoQ10 ที่อยู่ในรูปแบบผง ซึ่งดูดซึมได้ไม่ดี
- มีปริมาณ CoQ10 น้อย (เนื่องจากเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร)
- บรรจุภัณฑ์ด้านในขวดดูไม่มาตรฐาน (ใช้บับเบิ้ลกันกระแทกสำหรับการห่อสินค้าทั่วไป)
คะแนน :
- ความน่าเชื่อถือ (แบรนด์) : 8 /10 คะแนน
- ปริมาณของสารสำคัญ : 3.3 /10 คะแนน
- CoQ10 : 30 มิลลิกรัม
- ประโยชน์/ปริมาณ CoQ10 ที่ร่างกายได้รับ : 1.5 /10 คะแนน
- ราคาต่อปริมาณ CoQ10 : 8.3 /10 คะแนน
- 1 ขวด (30 แคปซูลผง) ราคา 180 บาท (จากโปรซื้อ 1 แถม 1 ราคา 360 บาท)
- ราคาเฉลี่ยต่อเม็ด : 6 บาท
- ราคาต่อ CoQ10 100 มิลลิกรัม : 20 บาท
- คะแนนรวม : 21.1 /40 คะแนน
#10 AMSEL Coenzyme Q10
#10 แอมเซล โคเอนไซม์ คิวเท็น พลัส วิตามินอี (AMSEL Coenzyme Q10 Plus Vitamin E) เป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหารสูตร CoQ10 30 มิลลิกรัม ที่ผสม Vitamin E เพื่อให้ทำงานร่วมกับ CoQ10 ได้ดีขึ้น ผลิตโดยบริษัท แอมเซล นิวทราซูติคัล จำกัด ธุรกิจขนาดกลาง (มูลค่าบริษัท -22 ล้านบาท) ได้รับการรับรองจากสำนักงานอาหารและยา (อย.) และได้มาตรฐานการผลิตที่ดี Good Manufacturing Practice (GMP)
จุดเด่น :
- วัตถุดิบ CoQ10 นำเข้าจากประเทศญี่ปุ่น
- ราคาต่อเม็ดถูก
จุดด้อย :
- เป็น CoQ10 ที่อยู่ในรูปแบบผง ซึ่งดูดซึมได้ไม่ดี
- มีปริมาณ CoQ10 น้อย (เนื่องจากเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร)
- ฉลากไม่ระบุปริมาณของ CoQ10 ที่ชัดเจน โดยระบุไว้ว่าเป็น CoQ10 10% ขนาด 300 มิลลิกรัม แต่ความจริงแล้วต้องคิดจาก 10% ของ 300 มิลลิกรัม ขนาด CoQ10 จึงเป็น 30 มิลลิกรัม ส่วนปริมาณ Vitamin E 50% 20 มิลลิกรัมที่แสดงในฉลากก็เช่นกัน ซึ่งความจริงแล้วจะเท่ากับ Vitamin E 10 มิลลิกรัม
คะแนน :
- ความน่าเชื่อถือ (แบรนด์) : 7 /10 คะแนน
- ปริมาณของสารสำคัญ : 3.5 /10 คะแนน
- CoQ10 : 30 มิลลิกรัม (จาก 10% ของ Coenzyme Q10 ปริมาณ 300 มิลลิกรัม)
- สารอื่น ๆ (1 ชนิด) : +0.2 คะแนน
- วิตามินอี 10 มิลลิกรัม (จาก 50% ของ Vitamin E ปริมาณ 20 มิลลิกรัม)
- ประโยชน์/ปริมาณ CoQ10 ที่ร่างกายได้รับ : 1.5 /10 คะแนน
- ราคาต่อปริมาณ CoQ10 : 8.7 /10 คะแนน
- 1 ขวด (60 แคปซูลผง) ราคา 329 บาท
- ราคาเฉลี่ยต่อเม็ด : 5.5 บาท
- ราคาต่อ CoQ10 100 มิลลิกรัม : 18.3 บาท
- คะแนนรวม : 20.7 /40 คะแนน
#11 Springmate Q10 30 mg
#11 สปริงเมท โคเอ็นไซม์คิวเท็น (Springmate Q10 30 mg) เป็น CoQ10 ที่ผลิตโดยบริษัท ซอฟท์ เจล เทคโนโลยี จำกัด จากประเทศสหรัฐอเมริกา แล้วนำเข้ามาแบ่งบรรจุโดยบริษัท เจ.เค เอนไซม์ ฟู้ด จำกัด และจัดจำหน่ายโดยบริษัท เนเจอร์เมท จำกัด
จุดเด่น :
- บรรจุในแคปซูลนิ่มที่ CoQ10 ละลายอยู่ในน้ำมัน (ดูดซึมได้ดีกว่า CoQ10 แบบผง)
- เป็น CoQ10 ที่นำเข้ามาจากประเทศอเมริกา
- บรรจุภัณฑ์ที่มาในกล่องกระดาษดูสวยงาม
จุดด้อย :
- มีปริมาณ CoQ10 น้อย (เนื่องจากเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร)
คะแนน :
- ความน่าเชื่อถือ (แบรนด์) : 9 /10 คะแนน
- ปริมาณของสารสำคัญ : 3.3 /10 คะแนน
- CoQ10 : 30 มิลลิกรัม
- ประโยชน์/ปริมาณ CoQ10 ที่ร่างกายได้รับ : 2.5 /10 คะแนน
- ราคาต่อปริมาณ CoQ10 : 5.9 /10 คะแนน
- 1 ขวด (30 แคปซูลนิ่ม) ราคา 279 บาท
- ราคาเฉลี่ยต่อเม็ด : 9.3 บาท
- ราคาต่อ CoQ10 100 มิลลิกรัม : 31 บาท
- คะแนนรวม : 20.7 /40 คะแนน
#12 morikami Coenzyme Q10
#12 โคเอนไซม์ คิวเท็น ตรา โมริคามิ ลาบอราทอรีส์ (morikami LABORATORIES Coenzyme Q10) ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารคิวเท็นแบรนด์ไทยที่ผลิตโดยบริษัท พีเคเอฟบี ฟาร์มาซูติคอล จำกัด (ธุรกิจขนาดเล็ก มูลค่าบริษัท 9.6 ล้านบาท) และจัดจำหน่ายโดยบริษัท ป่าล้านไร่ จำกัด (ธุรกิจขนาดเล็ก ทุนจดทะเบียน 4 ล้านบาท)
จุดเด่น :
- ราคาต่อเม็ดถูกที่สุดเพียง 5.3 บาท
จุดด้อย :
- เป็น CoQ10 ที่อยู่ในรูปแบบผง ซึ่งดูดซึมได้ไม่ดี
- มีปริมาณ CoQ10 น้อย (เนื่องจากเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร จึงมี CoQ10 ได้สูงสุดที่ 30 มิลลิกรัม)
- ฉลากไม่ระบุปริมาณของ CoQ10 ที่ชัดเจน
- ไม่มีเว็บไซต์ที่ให้ข้อมูลสินค้า
คะแนน :
- ความน่าเชื่อถือ (แบรนด์) : 6 /10 คะแนน
- ปริมาณของสารสำคัญ : 3.3 /10 คะแนน
- CoQ10 : 30 มิลลิกรัม (จาก 10% ของ Coenzyme Q10 ปริมาณ 300 มิลลิกรัม)
- ประโยชน์/ปริมาณ CoQ10 ที่ร่างกายได้รับ : 1.5 /10 คะแนน
- ราคาต่อปริมาณ CoQ10 : 8.8 /10 คะแนน
- 1 ขวด (30 แคปซูลผง) ราคา 159 บาท
- ราคาเฉลี่ยต่อเม็ด : 5.3 บาท
- ราคาต่อ CoQ10 100 มิลลิกรัม : 17.7 บาท
- คะแนนรวม : 19.6 /40 คะแนน
#13 THE NATURE Coenzyme Q10
จุดเด่น :
- –
จุดด้อย :
- มีปริมาณ CoQ10 น้อย (เนื่องจากเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร จึงมี CoQ10 ได้สูงสุดที่ 30 มิลลิกรัม)
- เป็น CoQ10 ที่อยู่ในรูปแบบผง ซึ่งดูดซึมได้ไม่ดี ฉลากไม่ระบุปริมาณของ CoQ10 ที่ชัดเจน
- ฉลากไม่ระบุปริมาณของ CoQ10 ที่ชัดเจน
- ไม่มีเว็บไซต์ที่ให้ข้อมูลสินค้า
คะแนน :
- ความน่าเชื่อถือ (แบรนด์) : 6 /10 คะแนน
- ปริมาณของสารสำคัญ : 3.3 /10 คะแนน
- CoQ10 : 30 มิลลิกรัม (จาก 10% ของ Coenzyme Q10 ปริมาณ 300 มิลลิกรัม)
- ประโยชน์/ปริมาณ CoQ10 ที่ร่างกายได้รับ : 1.5 /10 คะแนน
- ราคาต่อปริมาณ CoQ10 : 8.3 /10 คะแนน
- 1 ขวด (30 แคปซูลผง) ราคา 179 บาท
- ราคาเฉลี่ยต่อเม็ด : 6 บาท
- ราคาต่อ CoQ10 100 มิลลิกรัม : 20 บาท
- คะแนนรวม : 19.1 /40 คะแนน
#14 AU NATUREL Coenzyme Q10
#14 โอเนทิเรล โคเอนไซม์ คิวเท็น (AU NATUREL Coenzyme Q10) CoQ10 ที่ใช้วัตถุดิบนำเข้าจากประเทศญี่ปุ่นในการผลิต ผลิตโดยบริษัท พีเคเอฟบี ฟาร์มาซูติคอล แมนูแฟคเจอริ่ง จำกัด (ธุรกิจขนาดเล็ก มูลค่าบริษัท 9.6 ล้านบาท)
จุดเด่น :
- ใช้วัตถุดิบ CoQ10 นำเข้าจากประเทศญี่ปุ่น
จุดด้อย :
- มีปริมาณ CoQ10 น้อย (เนื่องจากเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร)
- เป็น CoQ10 ที่อยู่ในรูปแบบผง ซึ่งดูดซึมได้ไม่ดี
- ฉลากไม่ระบุปริมาณของ CoQ10 ที่ชัดเจน
- ไม่มีเว็บไซต์ที่ให้ข้อมูลสินค้า จึงไม่ทราบถึงมาตรฐานการผลิตและการรับรอง โดยเฉพาะเรื่องวัตถุดิบที่นำเข้า
คะแนน :
- ความน่าเชื่อถือ (แบรนด์) : 6 /10 คะแนน
- ปริมาณของสารสำคัญ : 3.3 /10 คะแนน
- CoQ10 : 30 มิลลิกรัม (จาก 10% ของ Co enzyme Q10 ปริมาณ 300 มิลลิกรัม)
- ประโยชน์/ปริมาณ CoQ10 ที่ร่างกายได้รับ : 1.5 /10 คะแนน
- ราคาต่อปริมาณ CoQ10 : 7.9 /10 คะแนน
- 1 ขวด (30 แคปซูลผง) ราคา 199 บาท
- ราคาเฉลี่ยต่อเม็ด : 6.6 บาท
- ราคาต่อ CoQ10 100 มิลลิกรัม : 22 บาท
- คะแนนรวม : 18.7 /40 คะแนน
#15 MaxxLife Plant Sterol Q10
#15 แม็กซ์ไลฟ์ แพลนท์ สเตอรอล คิวเทน (MaxxLife Plant Sterol Q10) เป็น CoQ10 สูตรผสมสารแพลนท์ สเตอรอล (Plant Sterol) ซึ่งเป็นสารที่ช่วยลดไขมันคอเลสเตอรอลชนิดไม่ดี (LDL-C) ในเลือด จึงช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด นอกจากนี้ยังมีส่วนผสมของน้ำมันรำข้าว (Rice Bran Oil) ที่อุดมไปด้วยสารแกมมาออริซานอล (Gamma Oryzanol), กรดโอเลอิก (Linoleic Acid) และวิตามินอี (Tocopherol) ที่โดยรวมแล้วมีสรรพคุณช่วยลดการดูดซึมของไขมันคอเลสเตอรอล เพิ่มไขมันชนิดดี (HDL-C) เพิ่มการไหลเวียนเลือด กระตุ้นการหลั่งฮอร์โมนสำหรับการเจริญเติบโต เพิ่มฮอร์โมนอินซูลินที่ช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด เป็นต้น
ผลิตโดย บริษัท 8 เศรษฐี จำกัด (ประกอบธุรกิจด้านการผลิตผลิตภัณฑ์จากพืชและสัตว์ที่ใช้รักษาโรค) มูลค่าบริษัท 37 ล้านบาท (ธุรกิจขนาดกลาง)
จุดเด่น :
- บรรจุในแคปซูลนิ่มที่ CoQ10 ละลายอยู่ในน้ำมันรำข้าว (ดูดซึมได้ดีกว่า CoQ10 แบบผง)
- CoQ10 บรรจุในแผงฟอยล์แบบแยกเม็ดออกจากกัน แบ่งเป็นแผงละ 10 เม็ด จึงง่ายต่อการพกพา ช่วยป้องกันออกซิเจนและความชื้น คงสภาพและปริมาณของสารสำคัญระหว่างรอการบริโภคได้ดี
- เป็น CoQ10 สูตรที่เน้นไปที่สารแพลนท์ สเตอรอล (Plant Sterol) ซึ่งเป็นสารที่มีลักษณะโครงสร้างทางเคมีคล้ายคลึงกับไขมันคอเลสเตอรอลในร่างกาย จึงเข้าไปรบกวนการดูดซึมไขมันคอเลสเตอรอลจากอาหารให้เข้าสู่กระแสเลือดได้น้อยลง ส่งผลต่อเนื่องในการลดความเสี่ยงของการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดได้ โดยจากการศึกษาส่วนใหญ่พบว่าการได้รับ Plant Sterol วันละ 2 กรัม จะช่วยลดไขมันคอเลสเตอรอลชนิดไม่ดี (LDL-C) ได้ประมาณ 10-14%
- มีส่วนผสมของน้ำมันรำข้าว (Rice Bran Oil) ที่ช่วยลดการดูดซึมของไขมันคอเลสเตอรอล ช่วยเพิ่มไขมันชนิดดี (HDL-C) เพิ่มการไหลเวียนเลือด เพิ่มฮอร์โมนอินซูลิน กระตุ้นการหลั่งฮอร์โมนสำหรับการเจริญเติบโต
จุดด้อย :
- ปริมาณ CoQ10 ต่อเม็ดที่มีปริมาณน้อยมากเกินไปเพียง 5 มิลลิกรัม
- ไม่มีเว็บไซต์ที่ให้ข้อมูลสินค้า จึงไม่ทราบถึงมาตรฐานการผลิตและการรับรอง
- ต้องทานวันละ 4 ครั้ง ซึ่งหมายความว่าอาจต้องทานอาหาร 4 มื้อ
- ปริมาณของ Plant Sterol ยังไม่ถึงปริมาณ 2 กรัม (2,000 มิลลิกรัม) ซึ่งเป็นปริมาณที่ออกฤทธิ์ได้ตามงานวิจัย ถึงแม้ว่าจะทานวันละ 4 ครั้งก็ตาม
- ราคาค่อนข้างแพงเมื่อเทียบกับปริมาณของสารสำคัญอย่าง CoQ10 และ Plant Sterol ที่ได้รับ
คะแนน :
- ความน่าเชื่อถือ (แบรนด์) : 6 /10 คะแนน
- ปริมาณของสารสำคัญ : 3 /10 คะแนน
- CoQ10 : 5 มิลลิกรัม (1/10 คะแนน)
- สารอื่น ๆ (4 ชนิด) : +2 คะแนน
- วิตามินอี 7 มิลลิกรัม (ในรูปโทโคฟีรอล)
- น้ำมันรำข้าว 195 มิลลิกรัม
- แพลนท์ สเตอรอล 177 มิลลิกรัม
- แกมมาออริซานอล 2.5 มิลลิกรัม
- ประโยชน์/ปริมาณ CoQ10 ที่ร่างกายได้รับ : 0.4 /10 คะแนน
- ราคาต่อปริมาณ CoQ10 : 1 /10 คะแนน
- 1 กล่อง (มี 6 แผง แผงละ 10 แคปซูลนิ่ม รวม 60 แคปซูล) ราคา 599 บาท
- ราคาเฉลี่ยต่อเม็ด : 10 บาท
- ราคาต่อ CoQ10 100 มิลลิกรัม : 200 บาท (ไม่สามารถใช้เปรียบเทียบกับยี่ห้ออื่นได้ เพราะยี่ห้อนี้ไม่ได้เน้นเรื่องปริมาณของ CoQ10 แต่เน้นไปที่สารอื่น ๆ และเน้นประโยชน์ด้านการช่วยลดไขมันคอเลสเตอรอลเป็นหลัก)
- คะแนนรวม : 10.4 /40 คะแนน
ตารางเปรียบเทียบ CoQ10
คำแนะนำในการใช้ CoQ10
- ในผู้ที่อายุน้อยหรืออายุไม่มากและมีสุขภาพร่างกายแข็งแรงดี อาจไม่จำเป็นต้องเสริม CoQ10 เพื่อป้องกันการขาด เว้นแต่ว่าคุณมีอายุมาก เช่น 50 ปีขึ้นไป หรือเป็นโรคหัวใจ หรือมีอาการปวดหัวไมเกรนบ่อย ๆ หรือเป็นโรคต่าง ๆ ดังที่กล่าวมา แต่หากต้องการเสริม CoQ10 ก็แนะนำให้ปรึกษาแพทย์ถึงประโยชน์และความจำเป็นในการใช้ก่อนเสมอ
- ผู้ที่ใช้ยา อาหารเสริม หรือสมุนไพรใด ๆ อยู่ ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนใช้ CoQ10 เสมอ และถ้าหากคุณมีอาการแพ้ยา อาหาร หรือสารใด ๆ ก็ต้องแจ้งให้แพทย์หรือเภสัชกรทราบด้วยเช่นกัน
- ผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับโรคหัวใจ หญิงตั้งครรภ์ หญิงให้นมบุตร และเด็ก ควรหลีกเลี่ยงการใช้ CoQ10 หากไม่ได้รับคำแนะนำจากแพทย์
- ผู้ป่วยโรคความดันโลหิตต่ำ ผู้ป่วยที่อยู่ในระหว่างการรักษาด้วยเคมีบำบัด และผู้สูบบุหรี่ ควรหลีกเลี่ยงการใช้ CoQ10 หรือหากจำเป็นต้องใช้ควรปรึกษาแพทย์ก่อนเสมอ
- หลีกเลี่ยงการใช้ CoQ10 ร่วมกับยาหรืออาหารเสริมอื่น ๆ เช่น ยารักษาความดันโลหิต (เพราะอาจทำให้ความดันโลหิตต่ำ), ยาต้านการแข็งตัวของเลือด (CoQ10 อาจไปลดประสิทธิภาพของยาต้านการแข็งตัวของเลือด), ยารักษาโรคมะเร็ง (CoQ10 อาจทำปฏิกิริยากับยารักษามะเร็ง) เป็นต้น หรือหากไม่แน่ใจว่ายาหรืออาหารเสริมที่ใช้อยู่จะมีผลการใช้ CoQ10 หรือไม่ ควรปรึกษาแพทย์และเภสัชกร
- มีหลายคำแนะนำเกี่ยวกับขนาดการใช้ CoQ10 ที่แตกต่างกัน ดังนั้นก่อนใช้ CoQ10 เพื่อรักษาอาการหรือโรคใด ๆ ควรปรึกษาแพทย์ถึงความจำเป็นในการใช้และขนาดยาที่เหมาะสมก่อนเสมอ สำหรับปริมาณการใช้ในผู้ใหญ่มีคำแนะนำทั่วไปดังนี้[7]
- ป้องกันการขาดหรือรักษาระดับ CoQ10 ในเลือดให้อยู่ในระดับปกติ คือ วันละ 30 มิลลิกรัม (ไม่ค่อยแนะนำ เพราะคนส่วนใหญ่ไม่ได้ขาด CoQ10 และปริมาณนี้ก็น้อยเกินกว่าที่ร่างกายจะได้ประโยชน์ตามงานวิจัย)
- เพื่อบำรุงร่างกายหรือเพื่อสุขภาพที่ดีขึ้น คือ วันละ 30-100 มิลลิกรัม
- ลดริ้วรอยและเพิ่มความชุ่มชื้นให้ผิว คือ วันละ 150 มิลลิกรัม เป็นเวลา 3 เดือน
- ป้องกันการขาด CoQ10 ในผู้ที่ใช้ยาลดไขมันคอเลสเตอรอลกลุ่มสแตติน คือ ครั้งละ 50 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง
- เพื่อการเจริญพันธุ์ (ทั้งหญิงและชาย) คือ วันละ 300-600 มิลลิกรัม
- ลดความถี่ของอาการปวดหัวไมเกรน คือ 100 มิลลิกรัม วันละ 3 ครั้ง เป็นระยะเวลา 3 เดือน
- เพื่อลดความดันโลหิตสูง คือ วันละ 120-200 มิลลิกรัม
- สำหรับผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์และผู้ป่วยโรคพาร์กินสัน คือ ครั้งละ 100 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง
- ภาวะหัวใจล้มเหลว คือ วันละ 100-300 มิลลิกรัม (แบ่งเป็นวันละ 2-3 ครั้ง) นาน 2 ปี
- โรคเหงือกและโรคเหงือกอักเสบ คือ วันละ 120 มิลลิกรัม เป็นระยะเวลา 3 เดือน
- โรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด (Heart attack) คือ วันละ 150-600 มิลลิกรัม (แบ่งรับประทานตามจำนวนครั้งที่แพทย์กำหนด)
- โรคกล้ามเนื้อเสื่อม (Muscular dystrophy) คือ วันละ 100 มิลลิกรัม ติดต่อกันเป็นเวลา 3 เดือน
- เนื่องจาก CoQ10 เป็นสารประกอบที่ละลายในไขมัน จึงควรรับประทาน CoQ10 พร้อมกับอาหาร เพื่อช่วยให้ร่างกายดูดซึมได้ดีขึ้น
- แบ่งขนาดการรับประทาน CoQ10 ออกเป็น 2-3 มื้อ (เพื่อหลีกเลี่ยงการเกิดผลข้างเคียงจากโดสสูง ๆ) และถ้าเป็นไปได้ควรแบ่งมื้อรับประทานเป็นเช้าและเที่ยง ไม่แนะนำให้ทานในมื้อเย็นหรือช่วงก่อนเข้านอน โดยเฉพาะในผู้ที่มักรับประทานอาหารเย็นตอนดึก ๆ เพราะ CoQ10 ในขนาดสูงอาจส่งผลให้มีปัญหาเรื่องนอนไม่หลับได้ (แต่ถ้าขนาดไม่สูงมากนัก เช่น 30 มิลลิกรัม ก็ไม่ใช่ปัญหา)
- การใช้ CoQ10 ในรูปแบบรับประทานอาจทำให้เกิดอาการแพ้หรือเกิดผลข้างเคียงที่ไม่พึงประสงค์เหล่านี้ได้ (แม้จะพบได้น้อยมากก็ตาม โดยมีการศึกษาที่พบว่า การรับประทาน CoQ10 ในขนาดสูงวันละ 200 มิลลิกรัม เป็นระยะเวลา 1-6 ปี พบว่าผู้บริโภคน้อยกว่า 1% มีอาการไม่สบายท้อง คลื่นไส้ ท้องร่วง) ดังนั้น หากคุณมีอาการผิดปกติใด ๆ เกิดขึ้น โดยเฉพาะหากเกิดอาการผื่นขึ้นตามผิวหนัง หายใจลำบาก ความดันโลหิตต่ำ มีอาการคล้ายจะเป็นลมหรือรู้สึกอ่อนแรงมากผิดปกติ ควรหยุดใช้ยาและรีบไปพบแพทย์ทันที
- เก็บ CoQ10 ไว้ในอุณหภูมิห้อง เก็บให้ห่างจากความร้อน แสงแดด และความชื้น (ปิดขวดยาให้สนิทเสมอ)
- นอกจากการเสริม CoQ10 แล้วควรเน้นการรับประทานอาหารให้ถูกหลักโภชนาการและครบทั้ง 5 หมู่
ข้อมูลและงานวิจัยอ้างอิง
- อาหารเพื่อสุขภาพ: ปีที่ 31 ฉบับที่ 2 เมษายน-มิถุนายน 2544. “คิวเท็น (Q10) กับสุขภาพ”. (เอกราช เกตวัลห์). สถาบันวิจัยโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล.
- NIH. “Coenzyme q10 therapy”. (2014)
- NIH. “Clinical applications of coenzyme Q10”. (2014)
- NIH. “Evaluation of coenzyme Q as an antioxidant strategy for Alzheimer’s disease”. (2018)
- NIH. “Effects of coenzyme Q10 in early Parkinson disease: evidence of slowing of the functional decline”. (2002)
- WebMD. “Coenzyme Q10 – Uses, Side Effects, and More”. (2022)
- NIH. “The effect of coenzyme Q10 on morbidity and mortality in chronic heart failure: results from Q-SYMBIO: a randomized double-blind trial”. (2014)
- NIH. “Effect of coenzyme Q10 therapy in patients with congestive heart failure: a long-term multicenter randomized study”. (1993)
- NIH. “Increased oxidative stress in patients with chronic obstructive pulmonary disease (COPD) as measured by redox status of plasma coenzyme Q10”. (2006)
- NIH. “Coenzyme Q10 supplementation reduces corticosteroids dosage in patients with bronchial asthma”. (2005)
- NIH. “Activities of vitamin Q10 in animal models and a serious deficiency in patients with cancer”. (1997)
- NIH. “Oxidative stress and antioxidants in disease and cancer: a review”. (2014)
- NIH. “Recombinant interferon alpha-2b and coenzyme Q10 as a postsurgical adjuvant therapy for melanoma: a 3-year trial with recombinant interferon-alpha and 5-year follow-up”. (2007)
- NIH. “Novel CoQ10 antidiabetic mechanisms underlie its positive effect: modulation of insulin and adiponectine receptors, Tyrosine kinase, PI3K, glucose transporters, sRAGE and visfatin in insulin resistant/diabetic rats”. (2014)
- NIH. “Effects of CoQ10 Supplementation on Lipid Profiles and Glycemic Control in Patients with Type 2 Diabetes: a randomized, double blind, placebo-controlled trial”. (2014)
- NIH. “Age-related changes in the mitochondria of human mural granulosa cells”. (2017)
- NIH. “Coenzyme Q10 restores oocyte mitochondrial function and fertility during reproductive aging”. (2015)
- NIH. “Pretreatment with coenzyme Q10 improves ovarian response and embryo quality in low-prognosis young women with decreased ovarian reserve: a randomized controlled trial”. (2018)
- NIH. “Coenzyme Q10 and male infertility: a meta-analysis”. (2013)
- NIH. “Antioxidant supplements and semen parameters: An evidence based review”. (2016)
- NIH. “Oxidative stress and antioxidants in exercise”. (2001)
- NIH. “Fatigue and exercise intolerance in mitochondrial diseases. Literature revision and experience of the Italian Network of mitochondrial diseases”. (2012)
- NIH. “The effects of coenzyme Q10 supplementation on performance during repeated bouts of supramaximal exercise in sedentary men”. (2010)
- NIH. “Effects of acute and 14-day coenzyme Q10 supplementation on exercise performance in both trained and untrained individuals”. (2008)
- NIH. “Antifatigue effects of coenzyme Q10 during physical fatigue”. (2008)
- ScienceDirect. “Bioavailability of coenzyme Q10 supplements depends on carrier lipids and solubilization”. (2019)
- NIH. “Effectiveness of CoQ10 Oral Supplements as an Adjunct to Scaling and Root Planing in Improving Periodontal Health”. (2015)
- NIH. “Relative bioavailability comparison of different coenzyme Q10 formulations with a novel delivery system”. (2009)
ตรวจสอบทางการแพทย์ล่าสุดเมื่อวันที่ 15 ม.ค. 2024