คิวเท็น (Q10) คืออะไร ?
Q10 (คิวเท็น), Coenzyme Q10 (โคเอนไซม์คิวเท็น) หรือ Ubiquinone Coenzyme Q10 ในทางการแพทย์จะเรียกสั้น ๆ ว่า CoQ10 (โคคิวเท็น) โดยเป็นหนึ่งในโคเอนไซม์คิว* ซึ่งเป็นสารที่มีคุณสมบัติคล้ายวิตามินและละลายในไขมัน ร่างกายสามารถผลิตเองได้ในปริมาณหนึ่ง หน้าที่หลักคือมีฤทธิ์ช่วยในการรับส่งอิเล็กตรอนในกระบวนการ Electron Transport Chain เพื่อสร้างพลังงาน (ATP) ให้กับร่างกายและเก็บไว้ในไมโทคอนเดรีย (Mitochondria)* ตามเซลล์ต่าง ๆ ของร่างกาย (ซึ่งปกติจะพบได้มากในเซลล์ที่ต้องใช้พลังงานสูง เช่น หัวใจ ไต ปอด ตับ ตับอ่อน กล้ามเนื้อต่าง ๆ ผิวหนัง เซลล์ไข่ สเปิร์ม)
นอกจากนี้ CoQ10 ยังมีหน้ากระตุ้นการทำงานของระบบต่าง ๆ ในร่างกาย มีคุณสมบัติเป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่ช่วยชะลอความเสื่อมของร่างกาย และอาจมีผลช่วยในการรักษาหรือบรรเทาอาการของโรคต่าง ๆ ได้อีกหลายโรค ดังจะกล่าวในหัวข้อถัดไป
อย่างไรก็ตาม เมื่ออายุมากขึ้นร่างกายจะสร้าง CoQ10 ได้น้อยลง ทำให้การทำงานของเซลล์ต่าง ๆ แย่ลง และในผู้หญิงจะมีโอกาสขาด CoQ10 ได้มากกว่าผู้ชาย
หมายเหตุ* :
- โคเอนไซม์คิว (Coenzyme Q หรือ CoQ) คือ ยูบิควิโนน (Ubiquinone) มีบทบาทสำคัญในการขนส่งอิเล็กตรอนในเซลล์ ทำให้เกิดพลังงานสำหรับใช้ในชีวิตประจำวันของสิ่งมีชีวิต ได้แก่ พืช สัตว์ มนุษย์ และจุลินทรีย์ โดยโคเอนไซม์คิวเมื่อแบ่งตามโครงสร้างจะมีอยู่ด้วยกันหลายรูปแบบ โดยมีตั้งแต่ CoQ1 ถึง CoQ11 แต่ที่พบส่วนใหญ่ในมนุษย์จะอยู่ในรูปของ CoQ10 และรองลงมาคือ CoQ9 โดยพบว่ามีมากในเนื้อเยื่อหลายชนิด ได้แก่ หัวใจ ตับ และไต ในขณะที่ CoQ ตัวอื่น ๆ จะถูกพบในยีสต์และแบคทีเรีย[1]
- ตัวเลขด้านหลังของ CoQ คือ จำนวนของหน่วย Isoprenyl ซึ่งเป็นหน่วยไฮโดรคาร์บอนที่ประกอบกันเป็นหางของโมเลกุล ด้วยจำนวนที่มีมากถึง 10 หน่วยของ CoQ10 จึงส่งผลให้สารชนิดนี้มีความสามารถในการละลายน้ำค่อนข้างน้อยและกระจายตัวในลำไส้เล็ก ทำให้ดูดซึมเข้าสู่ร่างกายได้ยาก อาหารเสริมหรือยาจึงจำเป็นต้องทำให้ CoQ10 อยู่ในรูปที่ดูดซึมได้ง่าย
- ATP หรือ Adenosine triphosphate คือ พลังงานของร่างกาย
- Mitochondria คือ ส่วนที่เกี่ยวข้องกับการสร้างพลังงาน
Coenzyme Q10 เป็นสารที่มีคุณสมบัติคล้ายวิตามินและมีความจำเป็นอย่างมากต่อร่างกาย ทำหน้าที่ในการผลิตพลังงานพื้นฐานของเซลล์ต่าง ๆ โดยเฉพาะเซลล์ที่ต้องใช้พลังงานสูง เช่น หัวใจ ตับ ไต กล้ามเนื้อ ฯลฯ นอกจากนี้ยังมีคุณสมบัติเป็นสารต้านอนุมูลอิสระและอาจมีผลช่วยในการรักษาโรคต่าง ๆ ได้หลายโรค อย่างไรก็ตาม เมื่ออายุมากขึ้น ร่างกายจะสร้าง CoQ10 ได้น้อยลงเรื่อย ๆ
ประโยชน์ของ CoQ10
โรคหรือปัญหาสุขภาพบางอย่าง เช่น โรคหัวใจ โรคเบาหวาน โรคมะเร็ง ความผิดปกติของสมอง ฯลฯ เชื่อมโยงกับการมีระดับ CoQ10 ที่ต่ำ แต่ก็ยังไม่ชัดเจนว่า CoQ10 ที่ต่ำลงเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคเหล่านี้หรือเพราะโรคเหล่านี้ทำให้ CoQ10 มีระดับต่ำ[2] แต่ที่ยืนยันได้อย่างชัดเจนคือ มีการศึกษาและงานวิจัยมากมายที่ระบุว่า CoQ10 มีประโยชน์ต่อสุขภาพ ดังนี้
- รักษาอาการการขาด CoQ10 เช่น อาการอ่อนล้า อ่อนเพลีย ชัก ฯลฯ ที่แม้จะพบได้ไม่บ่อย แต่การรับประทาน CoQ10 เสริมสามารถช่วยรักษาอาการของการขาด CoQ10[1]
- ต้านอนุมูลอิสระ ช่วยชะลอและฟื้นฟูความเสื่อมของเซลล์ต่าง ๆ ในร่างกาย โดยเป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่ช่วยปกป้องเซลล์จากการทำลายของอนุมูลอิสระ เช่น มลพิษทางอากาศ ควันบุหรี่ แสงแดด คลื่นความร้อน รังสีแกมม่า ซึ่งเป็นสาเหตุของการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด โรคมะเร็งบางชนิด ฯลฯ[1]
- CoQ10 เป็นตัวช่วยให้วิตามินอี ซึ่งเป็นสารต้านอนุมูลอิสระอีกชนิดสามารถกลับคืนสู่สภาพเดิมได้หลังจากถูกทำลายด้วยอนุมูลอิสระ[1]
- ช่วยลดภาวะเครียดออกซิเดชั่น (Oxidative stress) ซึ่งเป็นตัวการก่อโรคมากมาย โดย CoQ10 จะมีผลดีต่อการลดความเสี่ยงต่อกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรังหรือ NCDs (Non-communicable diseases) เช่น โรคมะเร็ง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคไขมันในเลือดสูง โรคอ้วนลงพุง ถุงลมโป่งพอง ฯลฯ[1]
- ปกป้องดูแลผิวและลดริ้วรอย CoQ10 เป็นสารที่หลายคนรู้จักกันดีด้วยคุณสมบัติที่ช่วยในการดูแลผิวและชะลอการเกิดริ้วรอย นอกจากใช้เป็นยาและอาหารเสริมแล้วจึงนิยมนำมาใช้เป็นส่วนผสมของผลิตภัณฑ์ดูแลผิวและเครื่องสำอางด้วย โดยจากข้อมูลพบว่า CoQ10 เป็นสารต้านอนุมูลอิสระ (ป้องกันการทำลายคอลลาเจนและอีลาสติน) และเป็นสารที่ให้พลังงานแก่เซลล์ผิว ทำให้การทำงานต่าง ๆ ในผิวมีประสิทธิภาพมากขึ้น (เมื่ออายุมากขึ้น CoQ10 จะลดลง ส่งผลให้พลังงานในเซลล์ผิวลดลงด้วย ทำให้การทำงานของผิว เช่น การผลัดเซลล์ การซ่อมแซมเซลล์ผิว การสร้างเซลล์ผิวใหม่ หรือเกราะปกป้องผิว มีประสิทธิภาพลดลงและเกิดปัญหาผิวต่าง ๆ ตามมา โดยเฉพาะริ้วรอย ความหย่อนคล้อย)
- จากการศึกษาพบว่า CoQ10 มีประสิทธิภาพในการป้องกันเซลล์ผิวหนังจากการถูกทำลายโดยอนุมูลอิสระและรังสี UV จากแสงแดด[1] และยังช่วยลดความลึกของริ้วรอย[3]
- การศึกษาในผู้หญิงวัยกลางคนที่มีสุขภาพดีจำนวน 33 คน พบว่า การรับประทาน CoQ10 ในรูปแบบละลายน้ำ 150 มิลลิกรัม (Quvital®) เป็นเวลา 3 เดือน รอยยับที่มองเห็นได้บริเวณรอบดวงตา จมูก และริมฝีปากดูลดลงเมื่อเทียบกับกลุ่มที่ได้รับยาหลอก (ส่วนรอยย่นบริเวณหน้าผากและระหว่างคิ้วไม่มีการเปลี่ยนแปลง) และผิวมีความชุ่มชื้นมากขึ้น[55]
- การใช้ครีมบำรุงที่มีส่วนผสมของ CoQ10 ทาลงผิว สามารถช่วยลดความเสียหายทั้งจากปัจจัยภายนอก (รังสี UV และสิ่งแวดล้อม) และภายใน (ความเสียหายของเซลล์และความไม่สมดุลของฮอร์โมน) ได้ โดยเพิ่มการผลิตพลังงานในเซลล์ผิว ลดอนุมูลอิสระและเพิ่มความสามารถในการต้านอนุมูลอิสระที่มาทำลายผิว[4]
- อาจดีต่อสมอง (อัลไซเมอร์ & โรคพาร์กินสิน) ด้วยไมโทคอนเดรียเป็นตัวสร้างพลังงานหลักของเซลล์สมอง เมื่ออายุมากขึ้นความผิดปกติของไมโทคอนเดรียอาจทำให้เซลล์สมองตายและเกิดโรคต่าง ๆ ได้ (เช่น อัลไซเมอร์ โรคพาร์กินสิน) จากการศึกษาพบว่า CoQ10 สามารถช่วยปกป้องเซลล์สมองจากความเสียหายจากภาวะ Oxidative stress ได้ จึงอาจช่วยชะลอการเกิดหรือชะลอการลุกลามของโรคอัลไซเมอร์[5] และโรคพาร์กินสัน[6] อย่างไรก็ตาม การรับประทาน CoQ10 ไม่ได้ช่วยให้อาการของโรคอัลไซเมอร์และโรคพาร์กินสันที่เป็นอยู่ดีขึ้นแต่อย่างใด[7]
- การศึกษาในผู้ชายและหญิง 69 คน (อายุเฉลี่ย 72 ปี) ที่มีภาวะความรู้คิดบกพร่องเล็กน้อย (Mild Cognitive Impairment) พบว่าการรับประทาน Ubiquinol (Kaneka™) วันละ 200 มิลลิกรัม ช่วยปรับปรุงการทำงานของหลอดเลือดในสมอง (เพิ่มความสามารถของหลอดเลือดในการขยายและหดตัวเพื่อให้เลือดไปเลี้ยงสมองได้ดีขึ้น) แต่ไม่ช่วยปรับปรุงด้านการรับรู้หรือการทำงานของระบบประสาทเมื่อเทียบกับกลุ่มที่ได้รับยาหลอก[53]
- ลดความถี่การเกิดไมเกรน การทำงานที่ผิดปกติของไมโทคอนเดรียส่งผลให้สมองมีพลังงานต่ำและเป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการปวดหัวไมเกรน (ผู้ที่มีอาการปวดหัวไมเกรนเรื้อรังมีแนวโน้มที่จะขาด CoQ10 มากกว่าคนปกติ) และการเสริม CoQ10 สามารถช่วยเพิ่มพลังงานให้เซลล์สมองได้ โดยจากการศึกษาพบว่า การเสริม CoQ10 วันละ 300 มิลลิกรัม (แบ่งเป็น 3 มื้อ มื้อละ 100 มิลลิกรัม) ต่อเนื่องเป็นระยะเวลา 3 เดือน สามารถช่วยลดความถี่ของการเกิดอาการปวดหัวไมเกรนได้ 47.6% เมื่อเทียบกับกลุ่มที่ได้รับยาหลอกที่ลดได้เพียง 14.4% (เช่น หากปวด 10 วัน เมื่อทานต่อเนื่องก็อาจจะลดเหลือ 5 วัน)[7]
- ดีต่อหัวใจและหลอดเลือด หลายการศึกษาระบุว่า CoQ10 ดีต่อเซลล์หัวใจที่ต้องการพลังงานสูง ช่วยให้หัวใจมีสุขภาพแข็งแรงและลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจต่าง ๆ ได้ดังนี้
- รักษาภาวะหัวใจล้มเหลว (Congestive heart failure) ด้วย CoQ10 เป็นแหล่งพลังงานที่สำคัญของเซลล์ ช่วยลดภาวะ Oxidative stress และปรับปรุงการทำงานของหัวใจ หากร่างกายขาดหรือผลิต CoQ10 ได้ไม่เพียงพอหรือผลิตได้น้อยลงเรื่อย ๆ ก็อาจส่งผลให้หัวใจทำงานผิดปกติและนำไปสู่ภาวะหัวใจล้มเหลวได้ ด้วยเหตุนี้ CoQ10 จึงสามารถใช้รักษาภาวะหัวใจล้มเหลวได้[8] โดยมีการศึกษาที่สำคัญดังนี้
- การศึกษาในผู้ป่วยที่มีภาวะหัวใจล้มเหลวเรื้อรัง (Chronic heart failure) จำนวน 420 คน ที่เสริมการรักษาด้วย CoQ10 เป็นเวลา 2 ปี พบว่าการรักษาด้วย CoQ10 มีความปลอดภัย ผู้ป่วยมีอาการดีขึ้น และลดอาการไม่พึงประสงค์ที่สำคัญของหัวใจและหลอดเลือดได้เมื่อเทียบกับกลุ่มควบคุม[9]
- การศึกษาในผู้ป่วยจำนวน 641 ราย เป็นเวลา 1 ปี ที่ผลการศึกษาพบว่า ผู้ป่วยในกลุ่มที่ใช้ CoQ10 เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลน้อยลงจากภาวะหัวใจล้มเหลวและมีภาวะแทรกซ้อนที่น้อยลงเมื่อเทียบกับกลุ่มที่ได้รับยาหลอก[10]
- โรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด (Heart attack) จากการศึกษาพบว่า เมื่อเริ่มใช้ CoQ10 หลังมีอาการและใช้ต่อเนื่องเป็นเวลา 1 ปี CoQ10 อาจช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดอาการที่เกี่ยวข้องกับหัวใจ รวมทั้งอาการกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดได้[7]
- โรคหัวใจและหลอดเลือด (Cardiovascular diseases) ในปี 1994 Langsjoin และคณะ ได้ทำการวิจัยในผู้ป่วยโรคหัวใจและหลอดเลือดจำนวน 424 คน โดยการให้ CoQ10 วันละ 75-600 มิลลิกรัม ร่วมกับยารักษาโรคหัวใจทั่วไป และทำการติดตามผลการรักษาเป็นเวลา 18 เดือน พบว่า ผู้ป่วย 87% มีสภาวะของโรคดีขึ้น โดยเขาได้แนะนำว่าปริมาณของ CoQ10 ที่ให้ผลการรักษาคือวันละ 100-200 มิลลิกรัม เพื่อให้ระดับ CoQ10 ในเลือดเพิ่มขึ้นเป็น 2-3 µg/mL (ค่าในคนปกติคือ 0.75-1 µg/mL)[1]
- โรคผนังของเส้นเลือดแดงแข็ง (Atherosclerosis) CoQ10 อาจลดการเกิดออกซิเดชั่นของ LDL ในพลาสมาได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยสามารถป้องกันโรคผนังของเส้นเลือดแดงแข็งซึ่งเป็นโรคที่นำไปสู่การเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด[1]
- รักษาภาวะหัวใจล้มเหลว (Congestive heart failure) ด้วย CoQ10 เป็นแหล่งพลังงานที่สำคัญของเซลล์ ช่วยลดภาวะ Oxidative stress และปรับปรุงการทำงานของหัวใจ หากร่างกายขาดหรือผลิต CoQ10 ได้ไม่เพียงพอหรือผลิตได้น้อยลงเรื่อย ๆ ก็อาจส่งผลให้หัวใจทำงานผิดปกติและนำไปสู่ภาวะหัวใจล้มเหลวได้ ด้วยเหตุนี้ CoQ10 จึงสามารถใช้รักษาภาวะหัวใจล้มเหลวได้[8] โดยมีการศึกษาที่สำคัญดังนี้
- ปกป้องปอด ระดับ CoQ10 ที่ต่ำ และความเสียหายจากภาวะ Oxidative stress อาจส่งผลให้เกิดโรคปอด เช่น โรคหอบหืด และโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง (COPD) ได้[11] ซึ่งผู้ป่วยที่เป็นโรคปอดมักมีระดับ CoQ10 ที่ต่ำกว่าปกติ[12] มีการศึกษาที่แสดงให้เห็นว่า การเสริม CoQ10 อาจช่วยลดการอักเสบของหลอดลมในผู้ป่วยโรคหอบหืด รวมถึงช่วยลดการใช้ยาสเตียรอยด์[13] ส่วนอีกการศึกษาพบว่า การเสริม CoQ10 สามารถช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการออกกำลังในผู้ป่วยโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังได้ โดยสังเกตได้จากอัตราการเต้นของหัวใจและการสร้างออกซิเจนในเนื้อเยื่อที่ดีขึ้น[14]
- อาจช่วยป้องกันโรคมะเร็ง เป็นที่ทราบกันว่าภาวะ Oxidative stress ก่อให้เกิดความเสียหายต่อโครงสร้างของเซลล์และส่งผลต่อการทำงานของเซลล์ ซึ่งอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งได้ และผู้ป่วยโรคมะเร็งมักมีระดับ CoQ10 ที่ต่ำกว่าปกติ[15] ซึ่ง CoQ10 สามารถช่วยปกป้องเซลล์จากปฏิกิริยาดังกล่าว[16] ซึ่งจำเป็นอย่างมากในการป้องกันโรคมะเร็ง ยิ่งไปกว่านั้น ยังมีงานวิจัยที่ชี้ว่าการเสริม CoQ10 อาจช่วยลดโอกาสที่มะเร็งจะกลับมาเป็นซ้ำได้ด้วย[17]
- ในปี 1994 Lockwood และคณะ ได้ทำการรักษาผู้ป่วยมะเร็งเต้านมจำนวน 32 คน โดยการให้ CoQ10 ปริมาณ 90 มิลลิกรัม ร่วมกับสารต้านอนุมูลอิสระอื่น ๆ กรดไขมันจำเป็น และยาที่ใช้รักษาปกติ หลังการศึกษาเป็นเวลา 18 เดือน พบว่า ผู้ป่วยทั้งหมดมีอาการดีขึ้น ไม่มีการแพร่ขยายของเซลล์มะเร็ง และมีเนื้องอกของผู้ป่วยจำนวน 6 คน ที่บางส่วนกลับคืนสู่ภาวะปกติ อย่างไรก็ตาม การศึกษานี้ยังไม่เพียงพอที่จะสรุปได้ว่า CoQ10 ช่วยในเรื่องนี้ได้จริงหรือไม่[1]
- มีการศึกษาที่ชี้ให้เห็นถึงความเป็นไปได้ว่า CoQ10 ในระดับที่เหมาะสม อาจช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งต่อมลูกหมากได้[18]
- มีการศึกษาที่พบว่า ผู้ที่ระดับ CoQ10 ต่ำ มีแนวโน้มที่จะเป็นโรคมะเร็งผิวหนังได้มากขึ้น[19]
- ช่วยโรคเบาหวาน ภาวะ Oxidative stress สามารถทำให้เกิดความเสียหายต่อเซลล์ ส่งผลให้เกิดโรคทางเมตาบอลิซึม เช่น โรคเบาหวาน และการทำงานของไมโทคอนเดรียที่ผิดปกติยังเชื่อมกับภาวะดื้อต่ออินซูลิน[20] ซึ่ง CoQ10 สามารถช่วยเพิ่มความไวของอินซูลินและช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้[21]
- การศึกษาพบว่า การเสริม CoQ10 ในผู้ป่วยเบาหวาน สามารถช่วยเพิ่มความเข้มข้นของ CoQ10 ในเลือดได้มากถึง 3 เท่า (ซึ่งปกติผู้ป่วยเบาหวานมักมีระดับ CoQ10 ที่ต่ำ)[22]
- การศึกษาในผู้ป่วยเบาหวานที่เสริม CoQ10 เป็นเวลา 12 สัปดาห์ พบว่า ระดับน้ำตาลในเลือดและน้ำตาลสะสม (HbA1C) ลดลง[23]
- CoQ10 อาจช่วยป้องกันโรคเบาหวานได้ โดยกระตุ้นการสลายไขมันและลดการสะสมของเซลล์ไขมัน[24]
- เสริมการรักษาโรคเหงือกและโรคเหงือกอักเสบ (Gum disease / Gingivitis) การใช้ CoQ10 ทั้งในรูปแบบทาและแบบรับประทาน อาจช่วยส่งเสริมการรักษาโรคเหงือกให้ดี แม้จะมีหลักฐานที่จำกัดก็ตาม[29] ส่วนอีกการศึกษาพบว่าในผู้เข้าร่วมการทดลองจำนวน 30 คนที่เป็นโรคปริทันต์อักเสบ (Periodontitis) พบว่าการให้รับประทาน CoQ10 วันละ 120 มิลลิกรัม เป็นเวลา 3 เดือนหลังการรักษาโรคปริทันต์อักเสบ กลุ่มที่ได้รับ CoQ10 มีอาการอักเสบของเหงือกลดลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับกลุ่มที่ได้รับยาหลอก[50]
- ช่วยการเจริญพันธุ์ในเพศหญิง (เพิ่มคุณภาพของเซลล์ไข่และเพิ่มโอกาสการตั้งครรภ์ โดยเฉพาะในผู้หญิงที่มีอายุมากกว่า 35 ปี) เซลล์ไข่ของผู้หญิงเป็นเซลล์ที่ใหญ่ที่สุดในร่างกายและต้องการใช้พลังงาน ATP จากไมโทคอนเดรียมากกว่าเซลล์อื่น ๆ ในร่างกายถึง 10 เท่า และการทำงานของไมโทคอนเดรียต้องอาศัย CoQ10 มากถึง 95% ดังนั้น CoQ10 จึงมีบทบาทในเรื่องการเพิ่มคุณภาพการเจริญพันธุ์ของผู้หญิงในทุกช่วงวัย โดยเฉพาะผู้หญิงที่มีอายุมากกว่า 35 ปี และผู้หญิงที่มีปัญหาภาวะมีบุตรยาก โดยช่วยเพิ่มการทำงานของไมโทคอนเดรียในเซลล์ไข่ และเพิ่มคุณภาพให้ไข่ของผู้หญิงที่มีอายุมาก หรือมีภาวะมีบุตรยาก ทำเด็กหลอดแก้ว (IVF) หรือทำอิ๊กซี (ICSI)[25],[26] ดังนั้น CoQ10 จึงเป็นหนึ่งในวิตามินจำเป็นที่ผู้หญิงที่กำลังวางแผนตั้งครรภ์ควรรับประทานให้เพียงพอ (ควบคู่ไปกับการทานกรดโฟลิกผู้หญิงเตรียมตั้งครรภ์ทุกคนต้องทานล่วงหน้าอย่างน้อย 3 เดือน)
- เซลล์ไข่ต้องใช้พลังงานที่มากพอเพื่อใช้ในการเติบโตของเซลล์ไข่ การตกไข่ การปฏิสนธิ การแบ่งตัวและการฝังตัวของตัวอ่อน ลดความเสื่อมของเซลล์ไข่ และปกป้องเซลล์ไข่จากภาวะ Oxidative stress หากพลังงานในเซลล์ไข่ไม่เพียงพอหรือไม่มีพลังงาน จะไม่สามารถปฏิสนธิ การแบ่งตัวอ่อนอาจหยุดชะงัก หรืออาจส่งผลต่อการพัฒนาของเซลล์ไข่ที่ผิดปกติหรือมีโครโมโซมผิดปกติ กลายเป็นไข่ที่ไม่มีคุณภาพได้
- เมื่ออายุมากขึ้นหรือมากกว่า 35 ปี ร่างกายจะสร้าง CoQ10 ได้น้อยลง ประกอบกับพลังงานไมโทคอนเดรียยังถูกทำลายได้จากมลภาวะต่าง ๆ ความเครียด อนุมูลอิสระ อาหารการกิน ฯลฯ เหล่านี้ทำให้เซลล์ไข่เริ่มเสื่อมสภาพและด้อยคุณภาพลง หรือที่เรียกว่า “ไข่แก่” ทำให้ตัวอ่อนไม่เจริญเติบโต แท้งง่าย หรือไม่เกิดการปฏิสนธิ ทำให้ตั้งครรภ์ยาก (ในผู้หญิงอายุน้อยอาจพบปัญหาภาวะการมีบุตรยากจากสาเหตุที่ไมโทคอนเดรียถูกทำลายได้ด้วย) แต่การเสริม CoQ10 อาจช่วยกระตุ้นการทำงานของไมโทคอนเดรียและทำให้เซลล์ไข่กลับคืนสู่สภาพที่เต่งตึง พร้อมเกิดการปฏิสนธิแลกเปลี่ยนโครโมโซม และเจริญเติบโตเป็นตัวอ่อนที่สมบูรณ์ได้[27] (การศึกษาที่พบว่า ในผู้หญิงอายุน้อยจะมีพลังงาน ATP ในเซลล์ไข่มากกว่าผู้หญิงที่มีอายุมากถึง 75%[28] และเมื่อพลังงาน ATP ในเซลล์ไข่น้อยลงจะส่งผลต่อการทำงานของเซลล์ไข่และอาจทำให้มีบุตรยากขึ้น[29]
- การศึกษาวิจัยในผู้หญิงก่อนเข้าสู่กระบวนการทำเด็กหลอดแก้ว โดยทำการทดลองกับผู้หญิงที่มีอายุน้อยกว่า 30 ปี ที่มีภาวะรังไข่เสื่อมก่อนวัย โดยให้ทาน CoQ10 ล่วงหน้าเป็นเวลา 60 วัน ก่อนเข้าสู่กระบวนการทางการแพทย์ พบว่ากลุ่มที่ได้รับ CoQ10 มีฮอร์โมนเอสโตรเจนเพิ่มสูงขึ้น ช่วยทำให้ไข่สุก และยังได้จำนวนการเก็บไข่เพิ่มมากขึ้น มีอัตราการปฏิสนธิสูงขึ้น และมีสถิติการตั้งครรภ์ที่สูงขึ้นเช่นกันจากการย้ายตัวอ่อนเข้าสู่โพรงมดลูกเมื่อเทียบกับกลุ่มควบคุม[30]
- การศึกษาในปี 2020 ที่ได้ทำการศึกษาในผู้หญิงอายุมาก (38-46 ปี) พบว่าการทาน CoQ10 ช่วยเพิ่มอัตราการเจริญเติบโตของเซลล์ไข่ รวมถึงลดอัตราการแบ่งเซลล์และโครโมโซมที่ผิดปกติของเซลล์ไข่ โดยพบอัตราไข่สุก 83% มากกว่ากลุ่มควบคุมที่ 63% ส่วนในผู้หญิงอายุน้อยกว่า 30 ปี ไม่พบการเปลี่ยนแปลงเมื่อเทียบกับกลุ่มควบคุม[31]
- บางการศึกษาระบุว่า CoQ10 ไม่สามารถลดการแท้งบุตรหรือเพิ่มโอกาสการตั้งครรภ์ในสตรีที่มีภาวะมีบุตรยากได้[7]
- ดีต่อสเปิร์ม ในผู้ชายที่มีภาวะมีบุตรยากมักมีปัญหาน้ำอสุจิน้อยและการเคลื่อนไหวต่ำ CoQ10 จึงอาจช่วยปรับปรุงคุณภาพ ความเข้มข้นของอสุจิ และการเคลื่อนที่ของอสุจิได้ เนื่องจากมันมีคุณสมบัติช่วยปกป้องเซลล์จากอนุมูลอิสระ ช่วยให้เซลล์สเปิร์มแข็งแรง และมีลักษณะสมบูรณ์ โดยมีการศึกษาที่พบว่า การได้รับ CoQ10 อย่างน้อย 6 เดือน จะมีผลทำให้การเคลื่อนไหวของอสุจิดีขึ้น ความหนาแน่นของอสุจิเพิ่มมากขึ้น และอสุจิมีรูปร่างดีขึ้น ซึ่งเหล่านี้อาจช่วยเพิ่มโอกาสการมีบุตรที่มากขึ้นได้ แม้จะยังไม่มีงานวิจัยใดยืนยันใดยืนยันได้ถึงโอกาสที่เพิ่มขึ้นดัวกล่าว[32],[33]
- อาจช่วยเรื่องอารมณ์และอาการเมื่อยล้า มีการศึกษาเล็ก ๆ ที่ทำในทหารผ่านศึกที่ป่วยเป็นโรคสงครามอ่าว (Gulf War syndrome) พบว่าการเสริม CoQ10 แบบแคปซูลที่ละลายในน้ำมัน วันละ 100 มิลลิกรัม เป็นเวลา 3-4 เดือน ช่วยให้อาการของโรคดีขึ้น เช่น ใจร้อน ปวดหัว เมื่อยล้าหรือหมดแรง ปวดกล้ามเนื้อ[51] ส่วนอีกการศึกษาที่ทำในผู้มีสุขภาพดีจำนวน 62 คน (อายุเฉลี่ย 42 ปี) ที่มีอาการเมื่อยล้าจากการใช้ชีวิตประจำวัน พบประโยชน์เพียงเล็กน้อยของการใช้ CoQ10 ในรูปของ Ubiquinol วันละ 100 หรือ 150 มิลลิกรัมหลังอาหารเช้า[52]
- เพิ่มประสิทธิภาพการออกกำลังกาย ภาวะ Oxidative stress ส่งผลต่อการทำงานของกล้ามเนื้อและลดประสิทธิภาพการออกกำลังกาย[34] และการทำงานที่ผิดปกติของไมโทคอนเดรียก็สามารถลดพลังงานของกล้ามเนื้อ ทำให้กล้ามเนื้อหดตัว และคงการออกกำลังกายไว้ได้ยาก[35] ด้วยเหตุนี้ CoQ10 จึงสามารถช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการออกกำลังกายได้โดยการลดความเครียดจากปฏิกิริยาออกเดชั่นและช่วยในการทำงานของไมโทคอนเดรีย[36],[37]
- จากการศึกษาพบว่า CoQ10 สามารถช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการออกกำลังกายและกระตุ้นการทำงานของกล้ามเนื้อ[38] ช่วยเพิ่มระยะเวลาการออกกำลังกาย[39] และลดความเมื่อยล้าได้[40]
- การศึกษาในผู้สุขภาพดีโดยกลุ่มแรกให้รับประทาน CoQ10 ในรูปของ Ubiquinol 200 มิลลิกรัม เป็นเวลา 2 สัปดาห์ และอีกกลุ่มได้รับยาหลอก หลังจากครบ 2 สัปดาห์ ให้ทั้ง 2 กลุ่มออกกำลังกายแบบหนัก แล้วเจาะเลือดตรวจสารเคมีที่บ่งชี้ถึงภาวะของเสียต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในร่างกาย ผลการศึกษาพบว่า กลุ่มที่ได้รับ Ubiquinol สามารถลดภาวะ Oxidative stress จากการออกกำลังกายแบบหนักได้ จึงมีประโยชน์โดยสามารถเพิ่มระยะเวลาการออกกำลังกายและสามารถใช้เป็นสารช่วยป้องกันกล้ามเนื้อบาดเจ็บ (Muscle-protective supplemetation) ได้[41]
- อย่างไรก็ตาม บางข้อมูลก็ระบุว่า CoQ10 อาจไม่ได้ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการออกกำลังกายแต่อย่างใด[7]
- โรคกล้ามเนื้อเสื่อม (Muscular dystrophy) กลุ่มความผิดปกติทางพันธุกรรมที่ทำให้กล้ามเนื้ออ่อนแรงและสูญเสียกล้ามเนื้อ ซึ่งการรับประทาน CoQ10 อาจช่วยปรับปรุงสมรรถภาพของกล้ามเนื้อให้ดีขึ้นได้ผู้ป่วยที่เป็นโรคกล้ามเนื้อเสื่อมบางกลุ่ม[7]
- กลุ่มโรคกล้ามเนื้อผิดปกติ (Mitochondrial myopathies) ที่มีสาเหตุมาจากความผิดปกติของ Mitochondrial DNA จากการศึกษาพบว่าการรับประทาน CoQ10 อาจช่วยลดอาการของโรคดังกล่าวกล่าว โดยช่วยให้ผู้ป่วยมีอาการดีขึ้น แต่ในบางรายอาจต้องทาน CoQ10 นานถึง 6 เดือนกว่าจะได้ผลดี[7]
- โรคไฟโบรมัยอัลเจีย (Fibromyalgia) หรือภาวะที่มีอาการปวดเรื้อรังตามกล้ามเนื้อเส้นเอ็นทั่วร่างกาย เมื่อยล้า หลับไม่สนิท จากการศึกษาพบว่าการรับประทาน CoQ10 ขนาด 100 มิลลิกรัม วันละ 3 ครั้ง เป็นเวลา 40 วัน อาจช่วยลดอาการปวด เมื่อยล้า นอนหลับไม่สนิท รวมถึงอาการวิตกกังวลและซึมเศร้าในผู้ป่วยที่เป็นโรคไฟโบรมัยอัลเจียได้[54]
- โรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง (Multiple sclerosis) การรับประทาน CoQ10 อาจช่วยลดอาการเหนื่อยล้า ซึมเศร้า วิตกกังวล ในผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้ได้[7]
- โรคเส้นประสาทจากเบาหวาน (Diabetic neuropathy) การศึกษาพบว่า CoQ10 อาจช่วยลดการทำลายและอาการปวดเส้นประสาทที่เกิดจากโรคเบาหวาน[7]
- การบาดเจ็บจากการไหลย้อนของเลือดภายหลังการขาดเลือดเฉพาะที่ (Ischaemia-Reperfusion Injury) พบว่าการให้ CoQ10 อาจช่วยลดการเกิดความผิดปกติของหัวใจที่เกิดจากภาวะ Ischemia และ Reperfusion injury ได้[7]
- โรคเพโรนีย์ (Peyronie disease) เป็นโรคที่ทำให้อวัยวะเพศชายโค้งงอ การศึกษาพบว่า CoQ10 อาจช่วยปรับปรุงการทำงานของสมรรถภาพทางเพศ และยังช่วยลดความโค้งของอวัยวะเพศในผู้ป่วย[7]
- ประโยชน์อื่น ๆ ของ CoQ10 จากงานวิจัย แต่หลักฐานไม่เพียงพอหรือหลักฐานยังขัดแย้งกันอยู่ จึงยังจำเป็นต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมต่อไป ได้แก่[7]
- ความดันโลหิตสูง (High blood pressure) งานวิจัยบางชิ้นแสดงให้เห็นว่าการใช้ CoQ10 เพียงอย่างเดียวหรือร่วมกับยาอื่น ๆ เพื่อรักษาความดันโลหิตสูง สามารถช่วยลดความดันโลหิตได้ และ CoQ10 อาจมีประโยชน์ต่อผู้ที่มีความดันโลหิตสูงที่เป็นโรคเบาหวานหรือมีระดับ CoQ10 ในเลือดต่ำก่อนการรักษา อย่างไรก็ตาม งานวิจัยอื่น ๆ ไม่พบว่า CoQ10 ช่วยลดความดันโลหิตแต่อย่างใด
- ภาวะไขมันในเลือดสูง (Hyperlipidemia) มีการศึกษาบางชิ้นแสดงให้เห็นว่า CoQ10 อาจช่วยลดระดับไตรกลีเซอไรด์และคอเลสเตอรอลชนิดไม่ดี (LDL) ลงได้เล็กน้อย แต่อาจต้องใช้เวลาอย่างน้อย 3 เดือนจึงจะเห็น อย่างไรก็ตาม การศึกษาอื่น ๆ ไม่พบว่า CoQ10 ช่วยในเรื่องนี้
- อาการเจ็บหน้าอก (Angina) งานวิจัยพบว่าการรับประทาน CoQ10 อาจช่วยลดอาการเจ็บหน้าอกและเพิ่มความสามารถในการออกกำลังกายในผู้ที่มีอาการเจ็บหน้าอกได้
- ความเสียหายของหัวใจจากการใช้ยารักษามะเร็งบางชนิด (Anthracycline cardiotoxicity) จากการวิจัยพบว่า CoQ10 อาจช่วยปกป้องหัวใจในเด็กอายุ 3-12 ปีที่ได้รับยารักษาในกลุ่ม Anthracyclines แต่ผลการศึกษาขนาดใหญ่ยังไม่สอดคล้องกัน
- การสูญเสียการได้ยิน (Hearing loss) บางงานวิจัยชี้ว่าการรับประทาน CoQ10 อาจช่วยปรับปรุงการได้ยินในผู้ป่วยบางรายที่สูญเสียการได้ยินที่เกี่ยวข้องกับอายุได้ (ไม่ได้ช่วยในผู้ที่สูญเสียการได้ยินที่เกิดจากเสียง)
- ภาวะหัวใจโต (Dilated cardiomyopathy) การวิจัยเบื้องต้นชี้ว่าการรับประทาน CoQ10 อาจช่วยเพิ่มการทำงานของหัวใจในเด็กและวัยรุ่นที่เป็นโรคนี้
- โรคกล้ามเนื้อหัวใจหนาผิดปกติ (Hypertrophic cardiomyopathy) การรับประทาน CoQ10 อาจช่วยลดความหนาของผนังหัวใจและอาการหายหอบเหนื่อย อ่อนเพลีย หรือรู้สึกหมดแรงได้
- โรคออทิซึม (Autism) บางการศึกษาระบุว่า CoQ10 ในรูปของ Ubiquinol อาจช่วยปรับปรุงให้อาการของผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้ดีขึ้น แต่ยังต้องมีการศึกษาที่มีคุณภาพสูงเพิ่มเติมเพื่อยืนยันถึงผลลัพธ์ดังกล่าว
- ภาวะอาเจียนเรื้อรัง (Cyclic vomiting syndrome) การศึกษาพบว่า CoQ10 อาจใช้ได้ผลเช่นเดียวกับยาที่ใช้รักษาภาวะดังกล่าว
- อาการปากแห้ง (Dry mouth) การศึกษาพบว่าการใช้ CoQ10 ในรูปของ Ubiquinol อาจช่วยทำให้อาการดีขึ้น
- ไตวาย (Kidney failure) งานวิจัยบางชิ้นแสดงให้เห็นว่าการรับประทาน CoQ10 สามารถช่วยเพิ่มการทำงานของไต
- โรคไขมันพอกตับ (Non-alcoholic fatty liver disease) การใช้ CoQ10 อาจช่วยลดความรุนแรงของโรคได้
- ภาวะถุงน้ำในรังไข่หลายใบ (Polycystic ovary syndrome) ซึ่งเป็นความผิดปกติของฮอร์โมน พบว่าการรับประทาน CoQ10 สามารถช่วยลดสิวและลดอาการผมร่วงในผู้หญิงที่มีภาวะนี้ได้ และยังอาจช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดและระดับคอเลสเตอรอลได้ด้วย
- ภาวะครรภ์เป็นพิษ (Preeclampsia) งานวิจัยบางชิ้นแสดงให้เห็นว่าผู้หญิงจะมีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะนี้น้อยลงเมื่อใช้ CoQ10 ตั้งแต่สัปดาห์ที่ 20 ของการตั้งครรภ์จนกว่าทารกจะคลอด
- กลุ่มอาการพราเดอร์-วิลลี่ (Prader-Willi syndrome) โรคทางพันธุกรรมที่หาได้ยากที่ทำให้เกิดโรคอ้วน ตัวเตี้ย และมีความบกพร่องทางสติปัญญา การศึกษาพบว่า CoQ10 อาจช่วยเพิ่มพัฒนาการทางร่างกายและจิตใจในเด็กที่เป็นโรคนี้ได้ แต่ยังไม่แน่ชัดว่าเป็นเพราะ CoQ10 หรือเป็นความเกี่ยวข้องกับอายุ
- ภาวะพิษเหตุติดเชื้อ (Sepsis) การวิจัยเบื้องต้นพบว่าการรับประทาน CoQ10 อาจช่วยป้องกันการเสียชีวิตในผู้ที่ติดเชื้อในเลือด ส่วนงานวิจัยอื่นไม่พบว่า CoQ10 ช่วยป้องกันการเสียชีวิตในกรณีแต่อย่างใด
- อาการปวดกล้ามเนื้อและกล้ามเนื้ออ่อนแรงที่เกิดจากการใช้ยาสตาติน (Statin-induced myalgia & statin-induced myopathy) มีหลักฐานชี้ว่า CoQ10 อาจช่วยลดอาการปวดและกล้ามเนื้ออ่อนแรงได้ แต่ไม่ใช่ว่าทุกงานวิจัยจะให้ผลแบบเดียวกัน จึงยังจำเป็นต้องมีการศึกษาต่อไป
- โรคจิตเภท (ยังไม่แน่ชัดว่า CoQ10 ช่วยให้อาการดีขึ้นหรือไม่)
- อื่น ๆ เช่น โรคหัวใจ (Heart disease), โรคหอบหืด (Asthma), โรคต้อกระจก (Cataracts), โรคจุดรับภาพเสื่อมในผู้สูงอายุ (AMD), ตาแห้ง (Dry eye), โรคสูญเสียการทรงตัว (Cerebellar ataxia), โรคอารมณ์สองขั้ว (Bipolar disorder), โรคปริทันต์อักเสบ (Periodontitis), โรคไตจากเบาหวาน (Diabetic nephropathy), กลุ่มอาการอ่อนเพลียเรื้อรัง (Chronic fatigue syndrome), ความผิดปกติของการใช้โคเคน (Cocaine use disorder), ชะลอวัย (Aging), ผิวเหี่ยวย่นจากแสงแดด (Skin wrinkles), การติดเชื้อเอชไอวี (HIV) ที่ช่วยให้แง่ทำให้ระบบภูมิคุ้มกันดีขึ้น[7]
โรคหรือปัญหาสุขภาพบางอย่างเชื่อมโยงกับระดับ Coenzyme Q10 ในร่างกายที่ต่ำ มีการศึกษาและงานวิจัยมากมายที่ระบุว่า CoQ10 อาจมีประโยชน์ต่อสุขภาพมากกว่าที่เราคิด ตั้งแต่คุณสมบัติปกป้องดูแลผิว ดีต่อสมอง ลดความถี่การปวดไมเกรน ดีต่อโรคหัวใจและหลอดเลือด เบาหวาน โรคกล้ามเนื้อเสื่อม ช่วยปกป้องปอด ช่วยการเจริญพันธุ์ เพิ่มประสิทธิภาพการออกกำลังกาย เป็นต้น
แหล่งอาหารที่พบ CoQ10
การบริโภคอาหารให้ครบ 5 หมู่ สำหรับคนปกติจะได้รับ CoQ10 ที่เพียงพอ แต่ทั้งนี้ก็ต้องคำนึงถึงอาหารที่เป็นแหล่งของ CoQ10 ด้วย เพราะ CoQ10 ที่พบในอาหารมีปริมาณโดยเฉลี่ยไม่มากนัก[1]
โดยปกติร่างกายจะได้รับ CoQ10 จาก 2 แหล่งในสัดส่วนที่ใกล้เคียงกัน คือ จากการสังเคราะห์ขึ้นเองที่ตับ และจากอาหารที่บริโภคเข้าไป* โดยเฉพาะจากเนื้อสัตว์และน้ำมันพืช สำหรับแหล่งอาหารที่มี CoQ10 สูง ได้แก่ หัวใจหมู, เนื้อวัว, ไก่, พอร์คชอป, ปลาซาร์ดีน, ปลาแมคเคอเรล, น้ำมันถั่วเหลือง, น้ำมันงา, น้ำมันข้าวโพด และพบได้น้อยในอาหารอื่น ๆ[1]
หมายเหตุ : โดยทั่วไปกระบวนการปรุงอาหารมีผลทำให้ปริมาณ CoQ10 ลดลงจากวัตถุดิบประมาณ 15-30% เพราะความร้อน แสง และอากาศ เป็นปัจจัยที่ทำให้ CoQ10 ถูกทำลาย[1]
สาเหตุของการขาด CoQ10
- อายุที่มากขึ้น เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ร่างกายสังเคราะห์ CoQ10 ได้น้อยลง (เมื่ออายุเข้าสู่วัย 21 ปีขึ้นไป ร่างกายจะผลิต CoQ10 ได้น้อยลงเรื่อย ๆ จนในที่สุดร่างกายก็ขาด CoQ10 เมื่ออายุมาก)
- ภาวะเครียดออกซิเดชั่น (Oxidative stress) ซึ่งเป็นภาวะที่มีอนุมูลอิสระมากจนสารต้านอนุมูลอิสระมีไม่เพียงพอ
- การขาดสารอาหารบางอย่าง ได้แก่ วิตามินบี 6, วิตามินอี และซีลีเนียม
- ข้อบกพร่องทางพันธุกรรมที่มีผลต่อการสังเคราะห์หรือใช้ CoQ10
- ความต้องการ CoQ10 ที่มากขึ้นซึ่งเป็นผลมาจากโรคต่าง ๆ เช่น
- โรคหัวใจและโรคมะเร็ง เพราะจากการศึกษาพบว่าผู้ป่วยที่เป็นโรคดังกล่าวจะมีระดับ CoQ10 ในเลือดต่ำมากเมื่อเทียบกับคนปกติ
- การศึกษาในปี 1997 (Folker และคณะ) ได้ทำการเปรียบเทียบระดับ CoQ10 ในเลือดของผู้ป่วยที่เป็นโรคมะเร็งชนิดต่าง ๆ จำนวน 116 คน เทียบกับกลุ่มคนปกติ พบว่าผู้ป่วยมีมะเร็งจะมีระดับ CoQ10 ในเลือดต่ำกว่า
- โรคไมโทคอนเดรีย (Mitochondrial diseases)
- ภาวะความเครียด รวมถึงการทำงานหนัก และการพักผ่อนน้อย ส่งผลเสียต่อทุกส่วนในร่างกาย โดยทำให้ร่างกายผลิต CoQ10 ได้น้อยลงและเพิ่มการใช้ CoQ10 มากขึ้นจนร่างกายขาด CoQ10
- ผลข้างเคียงจากการใช้ยากลุ่มสตาติน (Statins) หรือ HMG-CoA reductase inhibitor ซึ่งเป็นยาที่ใช้ลดไขมันในเลือดที่มีฤทธิ์ทำลาย CoQ10 ในร่างกาย ทำให้ร่างกายเสี่ยงต่อการขาด CoQ10[1],[42]
การใช้อาหารเสริม CoQ10
- แม้โดยส่วนใหญ่ CoQ10 จะเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่สามารถหาซื้อได้เอง แต่ก็ควรปรึกษาแพทย์และเภสัชกรก่อนใช้เสมอ และควรใช้ตามปริมาณและระยะเวลาที่แพทย์หรือเภสัชกรแนะนำหรือตามที่บนฉลากแจ้งไว้เท่านั้น ไม่ควรใช้โดยไม่ได้รับคำแนะนำจากแพทย์
- ในผู้ที่อายุน้อยหรืออายุไม่มากและมีสุขภาพแข็งแรงดี คุณอาจไม่จำเป็นต้องเสริม CoQ10 เว้นแต่ว่าคุณมีอายุมาก เช่น 50 ปีขึ้นไป หรือเป็นโรคหัวใจ หรือมีอาการปวดหัวไมเกรนบ่อย ๆ หรือเป็นโรคต่าง ๆ ดังที่กล่าวมา แต่หากต้องการเสริม CoQ10 ก็แนะนำให้ปรึกษาแพทย์ถึงประโยชน์และความจำเป็นในการใช้ก่อนเสมอ
- รับ CoQ10 จากอาหารปกติแทนได้หรือไม่ ? การรับประทานอาหารโดยเฉลี่ยเราจะได้รับ Q10 เพียงวันละประมาณ 3-5 มิลลิกรัม ซึ่งการจะได้รับ Q10 มากถึง 30 มิลลิกรัมเพื่อให้ร่างกายได้รับประโยชน์คุณอาจจะต้องรับประทานผักโขมมากถึง 5 ชามสลัด (ในทุก ๆ วัน) ซึ่งเป็นไปไม่ได้ และยังไม่ถึงปริมาณส่วนใหญ่ที่ทำการศึกษาวิจัย (งานวิจัยส่วนใหญ่มักเริ่มต้นที่วันละ 100 มิลลิกรัม) ส่วน CoQ10 ในรูปแบบของอาหารเสริมที่ทานเข้าไปร่างกายก็ดูดซึมได้เพียงเล็กน้อยเช่นกัน (น้อยกว่า 5% ของปริมาณที่ทานเข้าไปที่ถูกดูดซึมเข้ากระแสเลือด)[42]
- เนื่องจาก CoQ10 เป็นสารประกอบที่ละลายในไขมัน จึงทำให้ดูดซึมได้ช้าและจำกัด ดังนั้น จึงควรรับประทาน CoQ10 พร้อมอาหารที่มีไขมัน เพราะจะช่วยให้ร่างกายดูดซึมได้มากกว่าปกติถึง 3 เท่า [44]
- อาจแบ่งโดสการรับประทานออกเป็น 2-3 มื้อ (เพื่อหลีกเลี่ยงการเกิดผลข้างเคียงจากโดสสูง ๆ) และควรทานพร้อมอาหารที่มีไขมัน (เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการดูดซึม) และถ้าเป็นไปได้ควรแบ่งมื้อรับประทานเป็นเช้าและเที่ยง เพราะ CoQ10 ในขนาดสูงเกิน 100 มิลลิกรัม อาจส่งผลให้มีปัญหาเรื่องการนอนไม่หลับได้ ดังนั้นจึงไม่แนะนำให้ทานในช่วงก่อนเข้านอน โดยเฉพาะในผู้ที่มักรับประทานอาหารเย็นตอนดึก ๆ (แต่ถ้าปริมาณต่อโดสไม่สูงมากนักก็ไม่ใช่ปัญหา หรือถ้าต้องการทาน CoQ10 ในมื้อเย็นด้วยก็ควรทานข้าวในช่วงเย็น หรือลดขนาดยาลง)
- งานวิจัยระบุว่า CoQ10 ในรูปของ Ubiquinol (ยูบิควินอล) ดูดซึมได้ดีกว่า Ubiquinone (ยูบิควิโนน) ดังนั้น ถ้าคุณเลือกใช้ Ubiquinol จะต้องลดขนาดโดสที่ใช้ให้น้อยลง (เพราะขนาดที่ทำการศึกษาส่วนใหญ่จะเป็นขนาด CoQ10 ในรูปของ Ubiquinone) หรือควรปรึกษาแพทย์ถึงขนาดโดสที่แน่นอนก่อนใช้
- ไม่ว่าคุณจะใช้ CoQ10 ในรูปแบบใด แต่ถ้าใช้เพื่อการรักษาโรคใด ๆ อาจเป็นความคิดที่ดีที่จะทำการตรวจระดับ CoQ10 ในเลือด เนื่องจาก CoQ10 ในแต่ละรูปแบบแต่ละสูตรร่างกายดูดซึมได้ไม่เท่ากัน (ดูรายละะเอียดเพิ่มเติมในหัวข้อ การเลือกซื้อ CoQ10) ซึ่งจะช่วยให้ให้คุณทราบได้ว่ารูปแบบใดดูดซึมได้ดีกว่าและมั่นใจได้ว่าร่างกายจะดูดซึม CoQ10 ได้ในปริมาณที่เพียงพอต่อการรักษา
- ควรเก็บ CoQ10 ไว้ในอุณหภูมิห้อง เก็บให้ห่างจากความร้อน แสงแดด และความชื้น (ต้องปิดขวดยาให้สนิทเสมอ)
- นอกจากการเสริม CoQ10 แล้วควรเน้นการรับประทานอาหารให้ถูกหลักโภชนาการและครบทั้ง 5 หมู่
ข้อห้ามและข้อควรระวังในการใช้ CoQ10
- ผู้ที่ใช้ยา อาหารเสริม หรือสมุนไพรใด ๆ อยู่ ต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนใช้ CoQ10 เสมอ และต้องแจ้งให้แพทย์หรือเภสัชกรทราบหากคุณมีอาการแพ้ยา อาหาร หรือสารประกอบใด ๆ
- หลีกเลี่ยงการใช้ CoQ10 ร่วมกับยาหรืออาหารเสริมอื่น ๆ เช่น ยารักษาความดันโลหิต (เพราะ CoQ10 ดูเหมือนจะมีฤทธิ์ลดความดันโลหิต หากใช้ร่วมกับยารักษาโรคความดันโลหิตสูงก็อาจทำให้ความดันโลหิตต่ำได้), ยาต้านการแข็งตัวของเลือด (เพราะ CoQ10 อาจมีฤทธิ์เพิ่มการแข็งตัวของเลือด ซึ่งอาจไปลดประสิทธิภาพของยาต้านการแข็งตัวของเลือด), ยารักษาโรคมะเร็ง (มีความกังวลว่า CoQ10 อาจทำปฏิกิริยากับยารักษามะเร็งได้ แต่ก็ยังไม่มีข้อสรุปในประเด็นนี้) เป็นต้น หรือหากไม่แน่ใจว่ายาหรืออาหารเสริมที่ใช้อยู่จะมีผลการใช้ CoQ10 หรือไม่ ควรสอบถามแพทย์และเภสัชกร
- ผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับโรคหัวใจ ควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ CoQ10 เสมอ
- ผู้ป่วยโรคความดันโลหิตต่ำ ผู้ป่วยที่อยู่ในระหว่างการรักษาด้วยเคมีบำบัด และผู้สูบบุหรี่ ควรหลีกเลี่ยงการใช้ CoQ10 หรือหากจำเป็นต้องใช้ควรปรึกษาแพทย์ก่อนเสมอ
- ในระหว่างการใช้ CoQ10 ควรหมั่นตรวจความดันโลหิตอยู่เสมอ เพราะ CoQ10 อาจทำให้ความดันโลหิตต่ำได้
- สำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวาน CoQ10 อาจส่งผลต่อระดับน้ำตาลในเลือด ดังนั้น จึงควรติดตามระดับน้ำตาลในเลือดอยู่เสมอ และปรึกษาแพทย์เพื่อปรับเปลี่ยนยารักษาโรคเบาหวานหากจำเป็น
- ไม่ควรใช้ CoQ10 ในเด็ก โดยไม่ได้รับคำแนะนำจากแพทย์ เพราะยังไม่มีหลักฐานยืนยันได้ถึงความปลอดภัยในการใช้
- ในหญิงตั้งครรภ์หรืออยู่ในช่วงให้นมบุตร การใช้ CoQ10 ต้องอยู่ภายใต้คำแนะนำของแพทย์ เพราะ CoQ10 อาจเกิดการเจือปนในน้ำนมหรือทำให้ทารกในครรภ์ที่ได้รับเป็นอันตรายได้
- หากต้องเข้ารับการผ่าตัด ควรหยุดใช้ CoQ10 ก่อนการผ่าตัดอย่าง 2 สัปดาห์
- ควรหลีกเลี่ยงการใช้ CoQ10 ในรูปแบบที่ต่างกันในเวลาเดียวกัน เพราะอาจส่งผลต่อปริมาณ CoQ10 และเพิ่มความเสี่ยงต่อการได้รับยาเกินขนาดได้
ผลข้างเคียงของ CoQ10
การได้รับ CoQ10 จากอาหารปกตินั้นถือว่าปลอดภัยมาก เพราะในอาหารมักมี CoQ10 ในปริมาณที่ไม่สูงมากนัก[1] ส่วนการได้รับ CoQ10 ในรูปยาของรับประทาน มีการศึกษาที่พบว่าการรับประทาน CoQ10 ในขนาดสูงวันละ 200 มิลลิกรัม เป็นระยะเวลา 1-6 ปี พบว่าผู้บริโภคน้อยกว่า 1% มีอาการไม่สบายท้อง คลื่นไส้ ท้องร่วง[1] ส่วนอีกการศึกษาพบว่า การใช้ CoQ10 ในขนาดสูงถึงวันละ 1,200 มิลลิกรัม เป็นระยะเวลา 16 เดือน ไม่พบผลข้างเคียงใด ๆ[6] ดังนั้น โดยทั่วไป การเสริม CoQ10 จึงค่อนข้างปลอดภัย เป็นที่ยอมรับ และมีความเป็นพิษต่ำ[48]
อย่างไรก็ตาม การใช้ CoQ10 ในรูปแบบรับประทานก็อาจทำให้เกิดอาการแพ้หรือเกิดผลข้างเคียงที่ไม่พึงประสงค์เหล่านี้ได้ (แม้จะพบได้น้อยก็ตาม) ดังนั้น หากคุณมีอาการผิดปกติใด ๆ เกิดขึ้น ควรหยุดใช้ยาและรีบไปพบแพทย์ทันที
- เกิดผื่นขึ้นตามผิวหนัง
- เป็นผื่นลมพิษ รู้สึกหายใจลำบาก ใบหน้า ริมฝีปาก ลิ้น และคอบวม
- ท้องเสีย
- ปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน
- เบื่ออาหาร
- รู้สึกกระหายหรือร่างกายขาดน้ำ
- นอนไม่หลับ
- อารมณ์แปรปรวน หรือหงุดหงิดง่าย
- ความดันโลหิตต่ำ ทำให้มีอาการเวียนศีรษะ รู้สึกคล้ายจะหมดสติหรือเป็นลม คลื่นไส้ รู้สึกเหนื่อยล้าหรืออ่อนแรงมากผิดปกติ ขาดสมาธิ
ปริมาณการใช้ CoQ10
ปริมาณหรือขนาดที่แนะนำต่อวันสำหรับ CoQ10 นั้นมีความแตกต่างกันมากขึ้นอยู่กับอาการ จึงเป็นการดีกว่าถ้าเราจะกำหนดขนาดตามงานวิจัยนั้น ๆ หรือตามคำแนะนำของแพทย์ของคุณ (ก่อนใช้ CoQ10 เพื่อรักษาโรคใด ๆ ควรปรึกษาแพทย์ถึงความจำเป็นในการใช้และขนาดที่ใช้อย่างเหมาะสมก่อนเสมอ) ส่วนด้านล่างนี้คือขนาดที่แนะนำในแต่ละโรคในรูปของ Ubiquinone (เฉพาะผู้ใหญ่)[7] มีดังนี้
- ป้องกันการขาดหรือรักษาระดับ CoQ10 ในเลือดให้อยู่ในระดับปกติ คือ วันละ 30 มิลลิกรัม (ไม่ค่อยแนะนำ เพราะคนส่วนใหญ่ไม่ได้ขาด CoQ10 และปริมาณนี้ก็น้อยเกินกว่าที่ร่างกายจะได้ประโยชน์ตามงานวิจัย)
- ใช้เพื่อบำรุงร่างกายหรือเพื่อสุขภาพที่ดีขึ้นและชะลอความเสื่อมของเซลล์ คือ วันละ 30-100 มิลลิกรัม
- ลดริ้วรอยและเพิ่มความชุ่มชื้นให้ผิว คือ วันละ 150 มิลลิกรัม เป็นเวลา 3 เดือน
- ใช้รักษาภาวะการขาด CoQ10 (พบได้ไม่บ่อย) มีขนาดตั้งแต่ 150-2,400 มิลลิกรัมต่อวัน (ขึ้นอยู่กับคำแนะนำของแพทย์)
- ป้องกันการขาด CoQ10 ในผู้ที่ใช้ยาลดไขมันคอเลสเตอรอลกลุ่มสตาติน คือ ครั้งละ 50 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง (ถ้ามีเบาหวานหรือความดันโลหิตสูงร่วมด้วย ให้รับประทานครั้งละ 100 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง)
- ใช้เพื่อการเจริญพันธุ์ (ทั้งหญิงและชาย) สำหรับ CoQ10 ในรูปของ Ubiquinone วันละ 300-600 มิลลิกรัม หรือ Ubiquinol วันละ 100-200 มิลลิกรัม
- ลดความถี่ของอาการปวดหัวไมเกรน (Migraine) คือ 100 มิลลิกรัม วันละ 3 ครั้ง เป็นระยะเวลา 3 เดือน
- สำหรับผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์และผู้ป่วยโรคพาร์กินสัน คือ ครั้งละ 100 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง
- ภาวะหัวใจล้มเหลว (Congestive heart failure) คือ วันละ 100-300 มิลลิกรัม (แบ่งเป็นวันละ 2-3 ครั้ง) นาน 2 ปี (ใช้เป็นยาเสริมร่วมกับการรักษาหลัก)
- โรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด (Heart attack) คือ วันละ 150-600 มิลลิกรัม โดยแบ่งรับประทานตามจำนวนครั้งที่แพทย์กำหนด
- โรคเหงือกและโรคเหงือกอักเสบ คือ วันละ 120 มิลลิกรัม เป็นระยะเวลา 3 เดือน
- ป้องกันภาวะครรภ์เป็นพิษ คือ วันละ 200 มิลลิกรัม
- เพื่อลดความดันโลหิต คือ วันละ 120-200 มิลลิกรัม
- เอชไอวี/เอดส์ คือ วันละ 200 มิลลิกรัม
- โรคเส้นประสาทจากเบาหวาน (Diabetic neuropathy) คือ วันละ 400 มิลลิกรัม ติดต่อกันเป็นเวลา 12 สัปดาห์
- โรคไฟโบรมัยอัลเจีย (Fibromyalgia) คือ วันละ 300 มิลลิกรัม ติดต่อกันเป็นเวลา 6 เดือน หรือ 200 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง ติดต่อกันเป็นเวลา 3 เดือน
- โรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง (Multiple sclerosis) คือ 500 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง ติดต่อกันเป็นเวลา 3 เดือน
- กลุ่มโรคกล้ามเนื้อผิดปกติ (Mitochondrial myopathies) คือ วันละ 150 มิลลิกรัม และในบางกรณีอาจค่อย ๆ เพิ่มเป็นวันละ 3,000 มิลลิกรัม
- โรคกล้ามเนื้อเสื่อม (Muscular dystrophy) คือ วันละ 100 มิลลิกรัม ติดต่อกันเป็นเวลา 3 เดือน
- โรคเพโรนีย์ (Peyronie disease) คือ วันละ 300 มิลลิกรัม ติดต่อกันเป็นเวลา 6 เดือน
- ภาวะ Ischaemia-Reperfusion Injury คือ วันละ 150-300 มิลลิกรัม (แบ่งรับประทานเป็นวันละ 3 ครั้ง) ก่อนเข้ารับการผ่าตัด 1-2 สัปดาห์
การเลือกซื้อ CoQ10
- ทราบวัตถุประสงค์และขนาดที่ใช้ สิ่งสำคัญก่อนซื้อ CoQ10 มารับประทาน คุณต้องทราบวัตถุประสงค์ในการใช้ก่อนว่าทานไปเพื่อจุดสงค์ใด แล้งจึงไปดูปริมาณที่แนะนำในหัวข้อด้านบน (ปริมาณอ้างอิงตามงานวิจัย) หรือหากไม่แน่ใจคุณควรสอบถามแพทย์ถึงรูปแบบที่ควรใช้และปริมาณที่ต้องรับประทานของ CoQ10 เช่น ถ้าจะทานเพื่อบำรุงผิวช่วยเรื่องริ้วรอย ตามงานวิจัยระบุว่าควรได้รับ CoQ10 วันละ 150 มิลลิกรัม เป็นต้น
- เลือกขนาด CoQ10 ให้เหมาะสม เมื่อทราบว่าต้องทาน CoQ10 วันละเท่าไหร่แล้ว ขั้นตอนต่อมาก็คือการเลือกผลิตภัณฑ์ CoQ10 ให้เหมาะกับความต้องการ เพราะผลิตภัณฑ์นี้ในท้องตลาด มีปริมาณต่อเม็ดแตกต่างกันได้มากถึง 10 เท่า ตั้งแต่ 30-300 มิลลิกรัม โดยขนาดที่แนะนำ คือ
- CoQ10 ขนาด 100 มิลลิกรัม (Ubiquinone) ดูจะเป็นตัวเลือกที่มีความยืดหยุ่นกับผู้บริโภคมากที่สุด และงานวิจัยส่วนใหญ่ก็รองรับ เพราะมีการทดสอบถึงปริมาณที่เหมาะสมกับการรักษาอาการต่าง ๆ ที่ค่อนข้างแน่นอน เหมาะสำหรับผู้ที่ต้องได้รับ CoQ10 วันละ 100-300 มิลลิกรัม (แบ่งทานเป็น 1-3 มื้อ) ส่วนในขนาดที่น้อยกว่านี้ที่มักจะเป็นขนาด 30 มิลลิกรัม ถือว่ามีปริมาณน้อยเกินไป (แต่จะเหมาะกับผู้ที่ต้องการทานเพื่อป้องกันการขาดของ CoQ10 มากกว่า ซึ่งคนปกติก็ไม่ค่อยขาดกันเท่าไหร่) ส่วนในขนาดที่มากกว่านี้ เช่น 200 หรือ 300 มิลลิกรัมนั้นเป็นขนาดที่สูงเกินไป เหมาะสำหรับผู้ต้องได้รับ CoQ10 มากกว่าวันละ 300 มิลลิกรัม เช่น ในผู้ที่ต้องการใช้เพื่อการเจริญพันธุ์ ใช้ในโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด โรคกล้ามเนื้อผิดปกติ โรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง โรคเส้นประสาทจากเบาหวาน
- ส่วน CoQ10 ในรูปของ Ubiquinol ที่ส่วนใหญ่จะเป็นขนาด 100 มิลลิกรัม ทาง Medthai จะแนะนำสำหรับผู้ที่ต้องได้รับ CoQ10 วันละมากกว่า 200 มิลลิกรัมขึ้นไป เพราะรูปแบบนี้จะดูดซึมได้ดีกว่า Ubiquinone ประมาณ 2-3 เท่า (จะมีกล่าวถึงในข้อถัดไป) แต่โดยรวมแล้วก็ใช้ได้เกือบทุกภาวะอาการ ตั้งแต่เรื่องผิวพรรณ เพื่อการเจริญพันธุ์ ไมเกรน อัลไซเมอร์/พาร์กินสัน ภาวะหัวใจล้มเหลว โรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด ป้องกันครรภ์เป็นพิษ ลดความดันโลหิต ฯลฯ ส่วนขนาดที่น้อยกว่าหรือมากกว่านี้จะไม่ค่อยแนะนำ เพราะหาซื้อได้ยาก (มักเป็น 50 มิลลิกรัม) ประกอบกับ Ubiquinone ธรรมดา ขนาด 100 มิลลิกรัม น่าจะเป็นทางเลือกที่ดีกว่า ส่วนขนาดที่มากกว่านี้มักจะเป็น Ubiquinol 200 มิลลิกรัม ทาง Medthai คิดว่าเป็นขนาดที่สูงเกินไป (เว้นแต่ว่าคุณจะต้องได้รับ CoQ10 มากกว่าวันละ 600 มิลลิกรัมขึ้นไป)
- จากตัวอย่างก่อนหน้าถ้าต้องทานเพื่อบำรุงผิวพรรณให้ได้วันละ 150 มิลลิกรัม สามารถเลือกเป็น Ubiquinone 100 มิลลิกรัม แล้วทานวันละ 2 ครั้ง หรือจะเลือกเป็น Ubiquinol 100 มิลลิกรัมก็ได้ แล้วทานแค่วันละ 1 ครั้ง แบบนี้เป็นต้น
- เลือกรูปแบบของ CoQ10 ด้วย CoQ10 ถูกดูดซึมได้จริงเพียงเล็กน้อยเท่านั้น บริษัทยาต่าง ๆ จึงมีการพัฒนารูปแบบและสูตรออกมามากมายเพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการดูดซึม โดย CoQ10 ที่จำหน่ายจะมีอยู่ด้วยกัน 2 รูปแบบหลัก ๆ คือ Ubiquinone (สูตรธรรมดา) และแบบ Ubiquinol (เป็นรีดิวซ์ฟอร์มหรือรูปแบบที่เล็กลง) ซึ่งตามงานวิจิยแล้ว Ubiquinol ดูเหมือนว่าจะดูดซึมได้มากกว่า Ubiquinone ประมาณ 72%[45] (ดูรายละเอียดเพิ่มเติมในหัวข้อด้านล่าง)
- ด้วย Ubiquinol มักมีราคาแพงกว่า Ubiquinone ประมาณ 2-3 เท่า ดังนั้น ถ้ามองในแง่ของความคุ้มค่ากับประโยชน์ที่ร่างกายได้รับ Ubiquinol อาจไม่ใช่ตัวเลือกที่ดีกว่า Ubiquinone ก็ได้ ดังนั้น ผู้เขียนจึงเห็นว่าควรดูที่ราคาเป็นหลักว่าแบบไหนคุ้มกว่า เช่น การทานเพื่อบำรุงผิวพรรณ ถ้าเลือก Ubiquinone 100 มิลลิกรัม จะต้องทานวันละ 2 เม็ด แต่ถ้าเลือก Ubiquinol 100 มิลลิกรัม จะทานแค่วันละ 1 เม็ด ซึ่งก็ต้องนำราคาต่อเม็ดมาเปรียบเทียบกันในอัตรา 2 : 1 ว่าแบบไหนจะถูกกว่า เป็นต้น
- ในผู้ที่มีอายุมากกว่า 60 ปี ที่ร่างกายจะสร้าง CoQ10 ได้น้อย จึงควรเลือก CoQ10 ในรูปแบบ Ubiquinol เท่านั้น
- เลือกสูตร CoQ10 ที่ต้องการ นอกจากรูปแบบที่แตกต่างกันแล้ว CoQ10 ยังแบ่งออกได้เป็น 3 สูตร คือ สูตรธรรมดาที่อยู่ในของแคปซูลผงหรือแบบเม็ดยา (ไม่แนะนำ), สูตรละลายในน้ำมัน (สูตรมาตรฐานที่พบได้เป็นส่วนใหญ่ ซึ่งมักจะอยู่ในรูปของแคปซูลชนิดนิ่ม) และสูตรเพิ่มการดูดซึมที่จะราคาแพงขึ้นมาหน่อย โดยจากงานวิจัยพบว่าสูตรละลายในน้ำมันมีประสิทธิภาพในการดูดซึมที่ดีกว่าสูตรธรรมดาถึง 3 เท่า (แต่อาจจะไม่ต่างกันไม่มากถ้ารับประทานอาหารที่มีไขมันหรือน้ำมันมาก เพราะในงานวิจัยนี้ทดลองด้วยการทาน CoQ10 ร่วมกับอาหารที่มีไขมันต่ำ) ส่วนสูตรเพิ่มการดูดซึมนั้นจะมีการดูดซึมได้ดีกว่าสูตรละลายในน้ำมัน (แต่ราคาจะแพงกว่า) แต่ถ้าเราสามารถรับประทานได้พร้อมกับอาหารที่มีไขมันหรือน้ำมันพอควร สูตรพวกนี้ก็อาจไม่จะจำเป็นก็ได้ครับ (หลัก ๆ คือต้องพิจารณาเรื่องราคาเป็นหลักก่อน ถ้าราคาต่อปริมาณไม่แพงกว่ามาก สูตรเพิ่มการดูดซึมก็เป็นตัวเลือกที่น่าสนใจ) โดยสูตรเพิ่มการดูดซึมที่ทาง Medthai แนะนำ คือ Q-Gel® (สูตรละลายในน้ำ) กับ VESIsorb® (สูตรนาโน) (ดูรายละเอียดเพิ่มเติมในหัวข้อด้านล่าง)
- ควรเลือก CoQ10 ในสูตรที่ละลายในน้ำมันเป็นอย่างน้อย (มักจะอยู่จะในรูปของแคปซูลชนิดนิ่ม) หลีกเลี่ยงการใช้ CoQ10 ในรูปแบบเม็ดหรือแคปซูลแข็งที่เป็นผง เพราะการศึกษาพบว่าแบบแคปซูลที่ละลายในน้ำมันเป็นรูปแบบที่ดูดซึมได้ดีที่สุด[43]
- เลือกแบรนด์ที่มีความน่าเชื่อถือ ได้รับการยอมรับในวงกว้าง ผลิตจากโรงงานที่ผ่านการรับรองมาตรฐานและความปลอดภัย และขึ้นทะเบียนตำรับจาก อย. อย่างถูกต้อง เพราะสิ่งนี้ “อาจ” บ่งบอกได้ถึงมาตรฐานการผลิตที่ดี, เทคโนโลยีที่ใช้ในการผลิต, คุณภาพของวัตถุดิบที่ใช้, ความบริสุทธิ์ของส่วนผสม, ความปลอดภัยปลอดสารปนเปื้อนหรือเป็นอันตราย, ความถูกต้องของปริมาณสารที่ระบุไว้ในฉลาก (บางยี่ห้อเมื่อนำไปตรวจอาจพบสารสำคัญน้อยกว่าปริมาณที่แจ้งไว้ในฉลาก)
- เรื่องที่ต้องระวัง! CoQ10 บางยี่ห้อจะไม่ระบุปริมาณ CoQ10 ที่แท้จริงกำกับไว้ด้วย อย่างเช่นบางยี่ห้อจะว่ามี Coenzyme Q10 10% 300 mg แต่ความจริงแล้วมี Coenzyme Q10 เพียง 30 mg (เพราะต้องคิดจาก 10% ของ 300 mg) ซึ่งถ้าเราไม่มีความรู้เรื่องนี้ก็อาจทำให้เกิดความเข้าใจผิดหรือเข้าใจว่ามี 300 mg ได้
- ผ่านการตรวจสอบ/รับรองจากบุคคลที่สาม อาหารเสริมและยาในบ้านเราพบได้ไม่บ่อยที่จะมีการตรวจสอบจากองค์กรหรือหน่วยงานอื่นที่มีความเป็นกลาง ส่วน อย. ในบ้านเราก็ไม่ได้มีหน้าที่ตรวจสอบความปลอดภัย ประสิทธิภาพ หรือคุณภาพอย่างที่เข้าใจ นั้นหมายความว่า อาหารเสริมหรือยาใด ๆ อาจมีส่วนผสมของสารสำคัญไม่ถึงตามปริมาณที่แจ้งหรืออาจไม่มีเลยก็ได้ หรืออาจมีสารปนเปื้อนเกินปริมาณที่กำหนด เป็นต้น ดังนั้น จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ผลิตภัณฑ์ที่เราจะซื้อควรผ่านการตรวจหรือผ่านการรับรองจากองค์กรหรือหน่วยงานที่มีความเป็นกลาง อย่างเช่นในบ้านเราก็จะเป็น “นิตยสารฉลาดซื้อ” ที่ได้เคยทำการตรวจสอบปริมาณวิตามินซีในเครื่องดื่มจำนวน 47 ตัวอย่าง (ทุกตัวอย่างผ่าน อย. ทั้งหมด) แต่กลับพบว่ามีเพียง 8 ตัวอย่างที่มีปริมาณวิตามินซีตามที่กล่าวอ้างบนฉลาก และมีถึง 8 ตัวอย่างด้วยกันที่ตรวจไม่พบวิตามินซีเลย
- ส่วนการตรวจสอบผลิตภัณฑ์ CoQ10 ในบ้านเราเท่าที่สืบค้นดูก็ไม่พบข้อมูล ถ้าจะต้องเลือกซื้อยี่ห้อในไทยก็ควรเลือกจากแบรนด์ที่มีความน่าเชื่อถือเป็นหลัก ซึ่งถ้ายี่ห้อหรือแบรนด์ที่ทาง Medthai เชื่อมั่นในคุณภาพก็จะมีอยู่ด้วยกัน 3 ยี่ห้อ คือ Mega We care, BLACKMORES และ VISTRA
- แต่ถ้าเป็นแบรนด์ของต่างประเทศตรงนี้จะง่ายขึ้นมาก เพราะมีหน่วยงานและบริษัทเอกชนหลายเจ้าที่ได้ทำการตรวจวิเคราะห์ CoQ10 แต่ละยี่ห้อ (มักจะเป็นยี่ห้อดัง ๆ ) แล้วเผยแพร่ผลการทดสอบให้เห็นว่าแต่ละยี่ห้อมีปริมาณของ CoQ10 ตามที่แจ้งไว้หรือไม่ ตรวจพบสารอันตรายหรือไม่ อย่างพวกสารหนู สารตะกั่ว แคดเมียม เป็นต้น ส่วนยี่ห้อไหนที่ไม่มีข้อมูลตรวจสอบจากบุคคลที่สามก็ควรตัดออกไปก่อน
- เปรียบเทียบราคาต่อขนาด CoQ10 ข้อมูลส่วนนี้เปิดให้อ่านเฉพาะผู้สนับสนุน เนื่องจากมี CoQ10 กว่า 100 ตัวอย่างที่ทาง Medthai วิเคราะห์ ซึ่งในข้อมูลนี้จะแสดงให้เห็นว่ายี่ห้อใดบ้างที่ผ่านการตรวจสอบ/รับรองจากบุคคลที่สาม, แต่ละยี่ห้อมีจุดเด่นจุดด้อยอย่างไรหรือเป็นสูตรช่วยในการดูดซึมหรือไม่ รวมถึงข้อมูลของปริมาณ CoQ10 หรือสารอันตรายที่ตรวจพบ, ราคาต่อเม็ดและต่อปริมาณ CoQ10 100 mg, แหล่งที่ซื้อที่แนะนำหรือดีที่สุด
- ผลิตภัณฑ์ CoQ10 ที่มีราคาถูกมีแนวโน้มว่ามี CoQ10 เพียงอย่างเดียวโดยไม่มีส่วนผสมหรือเทคโนโลยีช่วยการดูดซึม ในขณะที่ CoQ10 ที่มีราคาต่อเม็ดแพงอาจมีส่วนผสมอื่น ๆ ที่สำคัญในปริมาณมากหรือเป็นสูตรเพิ่มการดูดซึมก็ได้ ดังนั้นก่อนซื้อจึงควรพิจารณาหรือดูฉลากให้ดีก่อนเสมอ
- เลือกซื้อจากแหล่งที่เชื่อถือได้ เช่น ร้านขายยาที่มีเภสัชกรประจำอยู่, ทางเว็บไซต์ของผู้ผลิตโดยตรง, ร้านค้าอย่างเป็นทางการในเว็บไซต์อีคอมเมิร์ซอย่าง Shopee หรือ Lazada (ถ้าไม่มีให้ซื้อจากร้านที่มีผู้ซื้อเยอะ ๆ และมีรีวิวสูง ๆ) ส่วนยี่ห้อต่างประเทศแนะนำให้ซื้อจาก iHerb (ถ้าไม่มีหรือค่าส่งแพงร้านค้าในเว็บ Shopee หรือ Lazada ที่มีรีวิวดี ๆ คือทางเลือกสำรอง) และควรสอบตรวจสอบวันหมดอายุก่อนสั่งซื้อเสมอ โดยเฉพาะเมื่อสั่งซื้อผ่านช่องทางออนไลน์ ที่ในเว็บไซต์ควรมีระบุวันที่ผลิตและวันหมดอายุอย่างชัดเจน
- สิ่งนี้บอกอะไร ? บอกได้ถึงคุณภาพของผลิตภัณฑ์ที่คุณซื้อและช่วยลดโอกาสที่จะได้ของเสื่อมคุณภาพหรือของปลอม เพราะร้านที่ดีและมีความน่าเชื่อถือมักจะมีระบบจัดเก็บสินค้าที่ดีและอยู่ในอุณหภูมิที่เหมาะสม
ในผู้ที่อายุน้อยและมีสุขภาพแข็งแรง อาจไม่จำเป็นต้องเสริม CoQ10 แต่อย่างใด เว้นแต่ว่าคุณจะมีอายุมาก มีโรคหรือมีปัญหาสุขภาพดังที่กล่าวมา แต่หากต้องการเสริม CoQ10 ก็ควรเลือก CoQ10 ในที่ละลายอยู่ในน้ำมัน (แคปซูลนิ่ม) เพราะเป็นรูปแบบที่ดูดซึมได้ดีที่สุด
รูปแบบและสูตรของ CoQ10
ด้วย CoQ10 ถูกดูดซึมได้จริงเพียงเล็กน้อยเท่านั้น บริษัทยาต่าง ๆ จึงมีการพัฒนารูปแบบและสูตรออกมามากมายเพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการดูดซึมของ CoQ10 โดย CoQ10 ที่จำหน่ายจะมีอยู่ด้วยกัน 2 รูปแบบหลัก ๆ คือ
- Ubiquinone (ยูบิควิโนน) หรือ Ubidecarenone (ยูบิเดคาริโนน) เป็น CoQ10 รูปแบบธรรมดาที่พบได้ทั่วไป ในผลิตภัณฑ์ใด ๆ ที่ใช้ชื่อว่า Coenzyme Q10 หรือ CoQ10 ก็มักจะหมายถึง Ubiquinone แทบทั้งสิ้น (เว้นแต่จะมีระบุว่าเป็น CoQ10 ในรูป Ubiquinol)
- Ubiquinol (ยูบิควินอล) หรือ CoQH เป็นรีดิวซ์ฟอร์มหรือโคคิวเท็นรูปแบบที่เล็กลงและสามารถดูดซึมได้มากขึ้น บางครั้งใช้ชื่อว่า “CoQH-10” หรือ “CoQH2-10” โดย Ubiquinol ที่บริษัทผลิตต่าง ๆ กว่า 200 แบรนด์ทั่วโลกนิยมนำมาใช้การผลิต CoQ10 ในรูปของ Ubiquinol มากที่สุดจะเป็นของบริษัท Kaneka โดยทำการตลาดในชื่อ “QH” หรือ “Kaneka QH™” เพราะ Kaneka เป็นผู้คิดค้น Ubiquinol รายแรก และได้รับการยอมรับและมีการวิจัยมาอย่างยาวนานกว่า 30 ปี ส่วน Ubiquinol ของบริษัทยาอื่น ๆ ที่อาจพบได้ก็จะมี “Li-Q-Nol”, “Quinogel”, “Q-Nol”, “Carni-Q-Nol” และ “Qunol” เป็นต้น (อ่านเพิ่มเติมในหัวข้อ “Ubiquinone กับ Ubiquinol” ด้านล่าง)
นอกจากนี้ ในแต่ละรูปแบบยังสามารถแบ่งออกได้เป็น 3 สูตร คือ
- สูตรธรรมดาที่อยู่ในของแคปซูลผงหรือแบบเม็ดยา (ต้องทานพร้อมอาหาร และไม่เป็นที่นิยม) โดยจะถูกดูดซึมได้ดีที่สุดเมื่อมีไขมันหรือน้ำมันอยู่ในทางเดินอาหาร ดังนั้น จึงต้องรับประทานพร้อมกับอาหารที่มีไขมันหรือน้ำมันมากเท่านั้น
- สูตรละลายในน้ำมัน (สูตรที่พบได้เป็นส่วนใหญ่) อย่างเช่น Q-SORB™ (เช่น ยี่ห้อ Puritan’s Pride Q-SORB Co Q-10, Nature’s Bounty Co Q-10 Plus Q-Sorb, Sundown Naturals Q-Sorb Co Q-10) ไม่ถือว่าเป็นสูตรช่วยเพิ่มการดูดซึม (เว้นแต่จะมีการเพิ่มสารเพิ่มการดูดซึมพิเศษเข้าไปด้วย เช่น Polysorbate 80 หรือ Cyclodextrin) เพราะโดยทั่วไปจะมีส่วนผสมของน้ำมันเหล่านี้น้อยกว่า 1 กรัม ได้แก่ น้ำมันรำข้าว, น้ำมันถั่วเหลือง, น้ำมันดอกทานตะวัน, น้ำมันปลา, น้ำมันเอ็มซีที (Medium Chain Triglycerides) หรือวิตามินอี คือจะไม่ได้มากเท่ากับการรับประทานร่วมกับอาหารที่มีไขมันหรือน้ำมัน ซึ่งสามารถให้ไขมันได้ถึง 5-40 กรัม (ปริมาณไขมันในอาหารที่มากขึ้นจะช่วยกระตุ้นการหลั่งน้ำดีเข้าสู่ลำไส้ จึงช่วยอำนวยความสะดวกในการดูดซึม CoQ10 ได้เป็นอย่างมาก ในขณะเดียวกันก็ทำใหการย่อยอาหารช้าลง และทำให้ CoQ10 มีเวลาในการดูดซึมได้มากขึ้นนาน)
- อย่างไรก็ตาม CoQ10 สูตรที่ละลายในน้ำมันก็ยังมีประสิทธิภาพในการดูดซึมที่ดีกว่าสูตรธรรมดาแบบผง ถึง 3 เท่า เพราะมีการศึกษาในกลุ่มวัยรุ่นอายุจำนวน 30 คน ที่ให้รับประทานอาหารที่มีไขมันต่ำร่วมกับ CoQ10 ขนาด 200 มิลลิกรัม (แบ่งเป็น 3 สูตร คือ แคปซูลผงแป้ง, สูตรผสมน้ำมันรำข้าว 500 มิลลิกรัม และสูตรผสมโอเมก้า-3) แล้วพบว่า CoQ10 สูตรละลายในน้ำมันรำข้าวดูดซึมได้ดีกว่าสูตรผงธรรมดา 3 เท่า และการศึกษายังแสดงให้เห็นว่า CoQ10 สูตรผสมโอเมก้า-3 ไม่ได้มีประสิทธิภาพดีกว่าสูตรละลายในน้ำมันรำข้าว และในผู้หญิงสามารถดูดซึม CoQ10 เข้าสู่ร่างกายได้มากกว่าผู้ชายทุกรณี[49]
- สูตรเพิ่มการดูดซึม (มีหลายเทคโนโลยี) ที่พบได้บ่อยมีดังนี้
- สูตรที่ละลายได้ในน้ำ เป็นสูตรที่ออกแบบมาเพื่อลดความต้องการของไขมันในการดูดซึมและทำให้ CoQ10 สามารถละลายได้ในน้ำ ตัวอย่างเช่น
- Q-Gel® เป็น CoQ10 ที่ละลายในสารสังเคราะห์ Polysorbate 80 เช่น ยี่ห้อ Q-Gel® Mega 100, Swanson Q-Gel® Mega 100, Pure Encapsulations Q-Gel® 100
- ALL-Q® สูตรเม็ดบีดในแคปซูลที่ละลายน้ำได้หรือ Beadlets ของ ALL-Q® (Coenzyme Q10) plus
- จากการศึกษาพบว่า กลุ่มที่ใช้ Q-Gel จะมีระดับ CoQ10 ในเลือดมากกว่า 2 เท่าเมื่อเทียบกับ CoQ10 สูตรละลายในน้ำมัน สูตรธรรมดาทั้งแบบแคปซูลผงและแบบเม็ดยา ส่วนอีกการศึกษาพบว่า ALL-Q มีประสิทธิภาพเกือบเท่า Q-Gel และทั้งคู่มีประสิทธิภาพเหนือกว่า CoQ10 ในรูปของ Q-SORB™[56]
- สูตรละลายได้ในน้ำในรูป Cyclodextrin Complex ที่จำหน่ายในชื่อ ChewQ® และ HydroQsorb® เป็น CoQ10 สูตรที่ละลายน้ำได้โดยไม่ต้องไม่รับประทานร่วมกับอาหารที่มีไขมัน (แต่ก็ควรรับประทานพร้อมอาหารที่มีไขมันอยู่ดี เพราะการรับประทานอาหารจะทำให้การขนส่งผ่านลำไส้เล็กช้าลง ซึ่งเป็นที่ที่ทำให้ CoQ10 จะถูกดูดซึม ทำให้เพิ่มเวลาในลำไส้นานขึ้นและส่งผลให้มีโอกาสที่ CoQ10 จะถูกดูดซึมได้มากขึ้น) นอกจากนี้ยังมีจำหน่ายในชื่อ Q10Vital® ในยี่ห้อ Quvital® CoQ10 (ของบริษัท VALENS) ที่มีการศึกษาพบว่า การใช้ Q10Vital® ในรูปของไซรัปหรือน้ำเชื่อมขนาด 5 มิลลิลิตร (ประกอบด้วยให้ CoQ10 100 มิลลิกรัม) ช่วยให้ระดับ Ubiquinol ในเลือดเพิ่มขึ้น 144% เมื่อเทียบกับ CoQ10 (Ubiquinone) แบบแคปซูลมาตรฐาน และเทียบเท่ากับ Ubiquinol ขนาด 100 มิลลิกรัมแบบแคปซูลมาตรฐาน[47]
- สูตรนาโน เป็นสูตรที่ทำให้สาร CoQ10 มีขนาดเล็กลงเพื่อให้ละลายน้ำได้ดีและช่วยเพิ่มการดูดซึม ตัวอย่างเช่น
- VESIsorb® เช่น ยี่ห้อ Doctor’s Best VESIsorb CoQ10 Plus Omega-3, Igennus VESIsorb Ubiquinol-QH 100 mg, MOLECULAR FERTILITY VESIsorb CoQ10 Ubiquinol ส่วนของไทยก็จะมียี่ห้อ ALERTEN 100 (Mega We Care) โดยเป็นสูตรที่ทำให้สาร CoQ10 มีขนาดเล็กลงถึงระดับ nano-colloidal และมีการศึกษาที่พบว่า CoQ10 ในรูปของ VESisorb® ดูดซึมได้ดีกว่า CoQ10 สูตรละลายในน้ำและสูตรละลายในน้ำมัน โดยให้ผู้ทดลองทาน CoQ10 ในขนาด 120 มิลลิกรัม และเจาะเลือดตรวจเป็นระยะ พบว่าค่าความเข้มข้นของยาที่มากที่สุด (Cmax) ในเลือด (หลังจากทานไปประมาณ 4-5 ชั่วโมง) เพิ่มเป็น 6.89 µg/mL (VESisorb®), 2.44 µg/mL (สูตรละลายในน้ำ) และ 2.24 µg/mL (สูตรละลายในน้ำมัน) จากเดิมก่อนทานที่อยู่ในระดับ 0.7-0.9 µg/mL (ส่วนค่าการดูดซึมของยากับเวลาหรือ AUC(0-10h) เท่ากับ 30.62, 6.14 และ 4.92 µg/mL*h ตามลำดับ)[59]
- NanoCell-Q™ เป็นสูตรนาโนของยี่ห้อ Metagenics ที่ทางบริษัทได้ทำการศึกษาแล้วพบว่า ช่วยเพิ่มการดูดซึมได้ดีกว่า CoQ10 มาตรฐานทั่วไป แต่ยังไม่มีการเผยแพร่การศึกษานี้
- NanoCoQ10® ของยี่ห้อ Pharmanex ที่ระบุว่าดูดซึมได้ดีกว่า CoQ10 แบบละลายในน้ำมัน โดยเป็นการใช้ Cyclodextrin polysaccharides เพื่อปรับปรุงการกระตายตัวของ CoQ10 แต่ดูเหมือนว่าสูตรนี้จะยังไม่มีงานวิจัยใดรองรับ
- QH-absorb® เป็นสูตรของยี่ห้อ Jarrow Formulas ที่ได้ทำการศึกษาในมนุษย์แล้วพบว่าช่วยเพิ่มระดับ CoQ10 จาก 0.7 เป็น 2.06 µg/mL เมื่อให้ในขนาด 100 มิลลิกรัม/วัน และเพิ่มเป็น 6.14 µg/mL เมื่อให้ในขนาด 300 มิลลิกรัม/วัน หลังจากรับประทานเป็นเวลา 14 วัน อย่างไรก็ตาม จากการสืบค้นยังไม่พบข้อมูลการศึกษาดังกล่าวที่ยืนยันได้ถึงคำกล่าวอ้าง ตัวอย่างผลิตภัณฑ์เช่น Jarrow Formulas Ubiquinol QH-Absorb 100 mg
- สูตรที่ผสมสารยับยั้งการสลายของ CoQ10 เป็นอีกสูตรที่ช่วยเพิ่มการดูดซึม ตัวอย่างเช่น
- BioPerine® หรือ Piperine เช่น ยี่ห้อ Doctor’s Best High Absorption CoQ10 with BioPerine, Source Naturals BioPerine, Lake Avenue Nutrition CoQ10 Plus BioPerine เป็นสูตร CoQ10 ที่มีส่วนผสมของสารสกัดพริกไทยดำ (Black pepper extract) โดยจากการศึกษาทดลองพบว่า การเพิ่มส่วนผสมของสารสกัดพริกไทยดำ 5 มิลลิกรัม ลงใน CoQ10 120 มิลลิกรัม (รับประทานพร้อมอาหารเช้าที่มีไขมันสูง) จะส่งผลให้ปริมาณของ CoQ10 ในเลือดเพิ่มขึ้น 30% เมื่อเทียบกับปริมาณ CoQ10 ปกติที่ไม่มีส่วนผสมดังกล่าว[57]
- สูตรที่อาจจะไม่ช่วยเพิ่มการดูดซึมของ CoQ10 (ไม่แนะนำให้ซื้อ) ได้แก่
- CF หรือ “Crystal-Free” เช่น ยี่ห้อ NOW Foods Ubiquinol CoQH-CF, CoQsol-CF®, Thorne Q-Best 100™
- Liposomal เช่น ยี่ห้อ Dr. Mercola® Liposomal CoQ10 โดยเป็นสูตรที่ประกอบด้วยฟอสโฟลิปิดจากเลซิตินในน้ำมันดอกทานตะวันหรือน้ำมันถั่วเหลืองเพื่อช่วยเพิ่มการดูดซึม แต่ยังไม่ชัดเจนว่าสูตรนี้จะมีประโยชน์ เพราะจากการศึกษาพบว่า การดูดซึมของ CoQ10 สูตรนี้ไม่ได้ดีไปกว่า CoQ10 แบบแคปซูลปกติ เมื่อรับประทานพร้อมอาหารเช้า[58]
- สูตรที่ละลายได้ในน้ำ เป็นสูตรที่ออกแบบมาเพื่อลดความต้องการของไขมันในการดูดซึมและทำให้ CoQ10 สามารถละลายได้ในน้ำ ตัวอย่างเช่น
อย่างไรก็ตาม อย่าลืมว่า การเลือก CoQ10 ในรูปแบบของ Ubiquinol ที่ดูดซึมได้ดีกว่า หรือการเลือก CoQ10 ในสูตรที่ช่วยเพิ่มการดูดซึม อาจทำให้คุณต้องพิจารณาลดขนาดที่ใช้ลงเพื่อให้เหมาะสมกับอาการหรือประโยชน์ที่ต้องการ
Ubiquinone กับ Ubiquinol
ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร CoQ10 มีทั้งที่อยู่ในรูปแบบของ Ubiquinone และ Ubiquinol ซึ่ง Ubiquinol อาจเป็นรูปแบบที่ดูดซึมได้ดีกว่าแม้งานวิจัยยังสรุปได้ไม่ชัดเจน (เพราะตามหลักการแล้วร่างกายจะต้องเปลี่ยน Ubiquinone เป็น Ubiquinol อีกที) โดยงานวิจัยที่เกี่ยวข้องมีดังนี้
- การศึกษาขนาดเล็กที่ได้รับทุนจากบริษัทยา Kaneka ที่ได้ทำการศึกษาในผู้มีสุขภาพดี (อายุ 18-50 ปี) จำนวน 12 คน ในปี 2014 โดยเปรียบเทียบการใช้ Ubiquinone กับ Ubiquinol แบบแคปซูลนิ่มเหมือนกัน (ในขนาด 200 มิลลิกรัม/วัน) ติดต่อกันเป็นเวลา 4 สัปดาห์ แล้วพบว่าระดับ CoQ10 ในเลือดของกลุ่มผู้ใช้ Ubiquinone เพิ่มขึ้นจาก 0.9 เป็น 2.5 µg/mL ในขณะที่กลุ่ม Ubiquinol เพิ่มขึ้นมากกว่าจาก 0.9 เป็น 4.3 µg/mL (กล่าวคือ Ubiquinol สามารถเพิ่มระดับ CoQ10 ในเลือดได้สูงกว่า Ubiquinone ประมาณ 72%)[45]
- การศึกษาขนาดเล็กในผู้สูงอายุปี 2018 (ได้รับทุนจากบริษัทยา Kaneka เช่นกัน) พบว่า โดยรวม Ubiquinol ช่วยเพิ่มระดับ CoQ10 ในเลือดได้ดีกว่า Ubiquinone ในผู้สูงอายุหลังจากรับประทานเป็นเวลา 2 สัปดาห์ แต่อาจจะขึ้นอยู่กับบุคคล เพราะจากผู้เข้าร่วมการทดลองจำนวน 10 คน มีจำนวน 6 คนที่ตอบสนองต่อ Ubiquinol ได้มากกว่า แต่มี 2 คนที่ตอบสนองต่อ Ubiquinone ได้มากกว่า[46]
- การศึกษาขนาดเล็กในผู้สูงอายุที่มีสุขภาพดี จำนวน 21 คน (อายุ 65-74 ปี) ในปี 2020 เพื่อตรวจสอบประสิทธิภาพการดูดซึมของ CoQ10 แบบต่าง ๆ ในขนาด 100 มิลลิกรัมเท่ากัน ได้แก่ Ubiquinone แบบไซรัป (Q10Vital®), Ubiquinone แบบแคปซูล และ Ubiquinol แบบแคปซูล แล้วทำการตรวจวัดระดับ Ubiquinone/Ubiquinol ในเลือดเป็นเวลา 48 ชั่วโมง พบว่า การดูดซึมของ Ubiquinone แบบไซรัป (Q10Vital®) สูงขึ้น 2.4 เท่า ในขณะที่การดูดซึมของ Ubiquinol แบบแคปซูลไม่ได้เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเทียบกับ Ubiquinone แบบแคปซูล นอกจากนี้ การศึกษายังพบด้วยว่า CoQ10 ในเลือดส่วนใหญ่จะกลายเป็น Ubiquinol แม้ว่าจะรับประทาน Ubiquinone ไปก็ตาม[47]
- โฆษณาอาหารเสริม CoQ10 ที่อ้างว่า Ubiquinol ดูดซึมได้ดีกว่า Ubiquinone 8 ถึง 10 เท่า หรือบางยี่ห้ออ้างว่า 16 เท่าจึงไม่ใช่ข้อมูลที่ถูกต้อง
เมื่อพิจารณาจากงานวิจัยแล้ว มีแนวโน้มว่า Ubiquinol จะดูดซึมได้ดีกว่า Ubiquinone (แต่การศึกษายังมีผลลัพธ์ที่หลากหลาย จำเป็นต้องทำการศึกษาเพิ่มเติม) แต่ CoQ10 ในรูปแบบ Ubiquinol ก็มักจะมีราคาแพงกว่า Ubiquinone ประมาณ 2-3 เท่า ดังนั้น ถ้ามองในแง่ของความคุ้มค่ากับประโยชน์ที่ร่างกายได้รับ Ubiquinol จึงอาจไม่ใช่ตัวเลือกที่ดีกว่า Ubiquinone ก็ได้
อย่างไรก็ตามยังมีเรื่องที่คุณต้องทราบเพิ่มเติมอีก ดังนี้
- การศึกษาส่วนใหญ่เป็นการศึกษาถึงประโยชน์ของ CoQ10 ในรูป Ubiquinone ดังนั้นจึงยังไม่สามารถสรุปได้ว่า Ubiquinol จะให้ประโยชน์เหมือน Ubiquinone ทั้งหมดหรือไม่ จึงจำเป็นต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมต่อไป (แต่ขนาดที่ใช้ในการรักษานั้นย่อมแตกต่างกัน) ดังนั้น ถ้าคุณเลือกใช้ Ubiquinol ก็ต้องปรึกษาแพทย์ถึงขนาดที่ใช้ให้แน่นอนก่อนเสมอ
- แม้ในภาพรวม Ubiquinol จะเป็นรูปแบบที่ดูดซึมได้ดีกว่า Ubiquinone แต่นั่นอาจไม่ใช่ความแตกต่างที่สำคัญ เพราะเราสามารถทาน CoQ10 พร้อมอาหารเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการดูดซึมได้ และในเรื่องของความคุ้มค่าด้านราคาที่ Ubiquinol อาจจะไม่ใช่ตัวเลือกที่ดีกว่า Ubiquinone
- เพราะตัวแปรที่สำคัญที่สุดคือ ระดับ CoQ10 ในเลือดหลังรับประทานกับเงินที่เราต้องจ่ายไปต่างหาก ไม่ใช่ว่าแบบไหนสูตรไหนดูดซึมได้ดีกว่ากัน เช่น สมมติว่า เราทาน CoQ10 ยี่ห้อหนึ่งในรูปของ Ubiquinone ธรรมดา ขนาด 300 มิลลิกรัม ราคาเม็ดละ 10 บาท หลังทานระดับ CoQ10 ในเลือดเพิ่มขึ้นเป็น 6 µg/mL แต่อีกยี่ห้อที่เป็น Ubiquinol ขนาด 100 มิลลิกรัม (ปริมาณน้อยกว่าแต่ดูดซึมได้มากกว่าสูตรธรรมดา 2-3 เท่า) แต่ว่ามีราคาต่อเม็ดที่แพงกว่า คือ เม็ดละ 20 บาท หลังทานระดับ CoQ10 เพิ่มขึ้นเป็น 6 µg/mL เท่ากัน คำถามคือ คุณจะเลือกอะไร ? ระหว่าง Ubiquinol ที่ดูดซึมได้ดี แต่ราคาแพงกว่า 2 เท่า กับ Ubiquinone ธรรมดาที่ราคาถูกกว่าเท่าตัว งานวิจัยส่วนใหญ่รองรับ และหลังทานระดับ CoQ10 ในเลือดเพิ่มขึ้นเท่ากัน!
- โดยธรรมชาติของ Ubiquinol จะไม่มีความคงตัวและไวต่อการเกิดปฏิกิริยา (ไวต่อความร้อน แสง อากาศ และเสื่อมสภาพได้เร็ว) เมื่อทานเข้าไปจะสามารถเปลี่ยนรูปไปเป็น Ubiquinone ได้ในกระเพาะอาหารและลำไส้เล็ก และถูกดูดซึมในรูปของ Ubiquinone และเปลี่ยนกลับมาอยู่ในรูป Ubiquinol อีกครั้งในระบบน้ำเหลืองก่อนการเข้าสู่กระแสเลือด กล่าวคือ มีหลายกระบวนการกว่าที่ร่างกายจะนำไปใช้ประโยชน์ได้ (ร่างกายสามารถเปลี่ยนรูปของ Ubiquinone และ Ubiquinol ไปมาได้ ขึ้นอยู่กับว่าต้องการใช้งานในรูปแบบไหน)
เลือกซื้อ CoQ10 ยี่ห้อไหนดี ?
จากการสืบค้นข้อมูลหลายสัปดาห์ เราพบว่ามี CoQ10 กว่า 100 ยี่ห้อ และมากกว่า 200 สูตรที่ขายในท้องตลาดผ่านช่องทางต่าง ๆ และพบว่า CoQ10 แต่ละยี่ห้อนั้นมีราคาแตกต่างกันได้มากกว่า 10 เท่า! ตั้งแต่ราคา 2.95 บาท จนถึง 30 กว่าบาท ทั้ง ๆ ที่ CoQ10 เหล่านี้ไม่ได้มีคุณภาพแตกต่างกัน และจากทั้งหมดนี้มีเพียงไม่ถึง 40 ตัวอย่างที่ผ่านเกณฑ์และมาตรฐานของเรา ผู้เขียนเชื่อว่าเนื้อหาในส่วนจะช่วยให้ประหยัดเงินและประหยัดเวลาเป็นอย่างมากในการหาซื้อ CoQ10 ที่มีคุณภาพและเหมาะสมกับตัวเอง
ข้อมูลส่วนนี้สำหรับผู้สนับสนุนเท่านั้น คุณสามารถสนับสนุนงานเขียนได้ที่ สนับสนุนเนื้อหา เพื่ออ่านข้อมูลต่อไปนี้
- ตารางเปรียบเทียบ CoQ10 ทั้งในรูป Ubiquinone และ Ubiquinol รวม 46 ตัวอย่าง (29 ยี่ห้อ) ที่ถูกคัดมาแล้วว่าผ่านมาตรฐาน
- แสดงรายชื่อยี่ห้อที่ได้รับการตรวจสอบวิเคราะห์ปริมาณสารสำคัญด้วยเครื่อง HPCL (เครื่องตรวจหาปริมาณ CoQ10 ว่ามีปริมาณตรงตามที่แจ้งไว้ในฉลากหรือไม่) และผ่านการตรวจด้วยเครื่อง ICP/MS (เพื่อหาสารอันตราย อย่างสารตะกั่ว แคดเมียม และสารหนู) เพื่อให้คุณมั่นใจว่าเป็น CoQ10 ที่มีคุณภาพและปลอดภัยเมื่อใช้ในระยาว
- จัดลำดับตามราคาเฉลี่ยต่อ 100 mg (ไม่ใช่ราคาต่อเม็ด) เพื่อความสะดวกในการเปรียบเทียบของผู้อ่าน
- แสดงร้านที่แนะนำ โดยวิเคราะห์จากร้านที่มีรีวิว/ยอดสั่งซื้อสูงที่มีราคาดีที่สุด
- ทุกตัวเลือกเป็นยี่ห้อที่คัดมาแล้วว่าดูดซึมได้ดี คือต้องเป็นสูตรละลายในน้ำมันเท่านั้น (แบบเม็ดหรือแบบแคปซูลผงที่ดูดซึมไม่ดีจะถูกคัดออกทั้งหมด)
- ทุกตัวเลือกสามารถหาซื้อได้ง่ายในไทยหรือในช่องทางออนไลน์ (ส่วนใหญ่จะเป็นยี่ห้อต่างประเทศ มีบางส่วนที่เป็นยี่ห้อในไทยแต่มีไม่มาก เพราะไม่ผ่านเกณฑ์ของเรา)
- คำแนะนำสำคัญและทริคในการสั่งซื้ออาหารเสริมผ่านช่องทางออนไลน์
- วิเคราะห์สูตรเพิ่มการดูดซึม รวมถึงรูปแบบ CoQ10 ระหว่าง Ubiquinone และ Ubiquinol จากงานวิจัยว่าคุ้มค่าแก่การเลือกซื้อหรือไม่?
- บทวิเคราะห์และคำแนะนำจากเภสัชกรเพื่อการเลือกซื้อ CoQ10 ที่ดีที่สุดสำหรับตัวคุณเอง
- สรุปยี่ห้อ CoQ10 ที่ทาง Medthai แนะนำ โดยยกให้เป็นตัวเลือกที่ดีที่สุดในแต่ละขนาด ตั้งแต่ขนาด 30, 50, 100, 200 และ 300 mg ว่าควรเลือกยี่ห้อไหน สูตรไหน และต้องสั่งซื้อในช่องทางไหนถึงจะได้ราคาดีที่สุด
กรอกรหัสผ่านเพื่ออ่านรีวิวและบทวิเคราะห์ฉบับเต็ม
ข้อมูลและงานวิจัยอ้างอิง
- อาหารเพื่อสุขภาพ: ปีที่ 31 ฉบับที่ 2 เมษายน-มิถุนายน 2544. “คิวเท็น (Q10) กับสุขภาพ”. (เอกราช เกตวัลห์). สถาบันวิจัยโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล.
- NIH. “Clinical applications of coenzyme Q10”. https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/24389208/
- NIH. “Coenzyme Q10, a cutaneous antioxidant and energizer”. https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/10416055/
- NIH. “Topical treatment with coenzyme Q10-containing formulas improves skin’s Q10 level and provides antioxidative effects”. https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/26648450/
- NIH. “Evaluation of coenzyme Q as an antioxidant strategy for Alzheimer’s disease”. https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/18560133/
- NIH. “Effects of coenzyme Q10 in early Parkinson disease: evidence of slowing of the functional decline”. https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/12374491/
- WebMD. “Coenzyme Q10 – Uses, Side Effects, and More”. https://www.webmd.com/vitamins/ai/ingredientmono-938/coenzyme-q10
- NIH. “Coenzyme Q10 for the treatment of heart failure: a review of the literature”. https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/26512330/
- NIH. “The effect of coenzyme Q10 on morbidity and mortality in chronic heart failure: results from Q-SYMBIO: a randomized double-blind trial”. https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/25282031/
- NIH. “Effect of coenzyme Q10 therapy in patients with congestive heart failure: a long-term multicenter randomized study”. https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/8241697/
- NIH. “Increased oxidative stress in patients with chronic obstructive pulmonary disease (COPD) as measured by redox status of plasma coenzyme Q10”. https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/16289557/
- NIH. “Coenzyme Q10, copper, zinc, and lipid peroxidation levels in serum of patients with chronic obstructive pulmonary disease”. https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/21080098/
- NIH. “Coenzyme Q10 supplementation reduces corticosteroids dosage in patients with bronchial asthma”. https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/16873952/
- NIH. “Effects of coenzyme Q10 administration on pulmonary function and exercise performance in patients with chronic lung diseases”. https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/8241703/
- NIH. “Activities of vitamin Q10 in animal models and a serious deficiency in patients with cancer”. https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/9177262/
- NIH. “Oxidative stress and antioxidants in disease and cancer: a review”. https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/24969860/
- NIH. “Recombinant interferon alpha-2b and coenzyme Q10 as a postsurgical adjuvant therapy for melanoma: a 3-year trial with recombinant interferon-alpha and 5-year follow-up”. https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/17505263/
- NIH. “Plasma coenzyme Q10 levels and prostate cancer risk: the multiethnic cohort study”. https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/21297042/
- NIH. “Low plasma coenzyme Q10 levels as an independent prognostic factor for melanoma progression”. https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/16443053/
- NIH. “Coenzyme Q10 Improves Lipid Metabolism and Ameliorates Obesity by Regulating CaMKII-Mediated PDE4 Inhibition”. https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/28811612/
- NIH. “Novel CoQ10 antidiabetic mechanisms underlie its positive effect: modulation of insulin and adiponectine receptors, Tyrosine kinase, PI3K, glucose transporters, sRAGE and visfatin in insulin resistant/diabetic rats”. https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/24586567/
- NIH. “The effect of coenzyme Q10 administration on metabolic control in patients with type 2 diabetes mellitus”. https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/10416046/
- NIH. “Effects of CoQ10 Supplementation on Lipid Profiles and Glycemic Control in Patients with Type 2 Diabetes: a randomized, double blind, placebo-controlled trial”. https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/26413493/
- NIH. “How effective are antioxidant supplements in obesity and diabetes?”. https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/25791371/
- NIH. “Coenzyme Q10 restores oocyte mitochondrial function and fertility during reproductive aging”. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC4568976/
- NIH. “Pretreatment with coenzyme Q10 improves ovarian response and embryo quality in low-prognosis young women with decreased ovarian reserve: a randomized controlled trial”. https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/29587861/
- NIH. “Coenzyme Q10 restores oocyte mitochondrial function and fertility during reproductive aging”. https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/26111777/
- NIH. “Age-related changes in the mitochondria of human mural granulosa cells”. https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/29045673/
- NIH. “A comparative evaluation of topical and intrasulcular application of coenzyme Q10 (Perio Q™) gel in chronic periodontitis patients: A clinical study”. https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/25210260/
- BMC. “Pretreatment with coenzyme Q10 improves ovarian response and embryo quality in low-prognosis young women with decreased ovarian reserve: a randomized controlled trial”. https://rbej.biomedcentral.com/articles/10.1186/s12958-018-0343-0
- Fertility and Sterility. “Coenzyme Q10 supplementation of human oocyte in vitro maturation reduces postmeiotic aneuploidies”. https://www.fertstert.org/article/S0015-0282(20)30328-9/fulltext
- NIH. “Coenzyme Q10 and male infertility: a meta-analysis”. https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/23912751/
- NIH. “Antioxidant supplements and semen parameters: An evidence based review”. https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/28066832/
- NIH. “Oxidative stress and antioxidants in exercise”. https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/11375753/
- NIH. “Fatigue and exercise intolerance in mitochondrial diseases. Literature revision and experience of the Italian Network of mitochondrial diseases”. https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/23182644/
- NIH. “Oxidative stress and antioxidant defense in plasma after repeated bouts of supramaximal exercise: the effect of coenzyme Q10”. https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/21681167/
- NIH. “A randomized trial of coenzyme Q10 in mitochondrial disorders”. https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/20886510/
- NIH. “The effects of coenzyme Q10 supplementation on performance during repeated bouts of supramaximal exercise in sedentary men”. https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/19644406/
- NIH. “Effects of acute and 14-day coenzyme Q10 supplementation on exercise performance in both trained and untrained individuals”. https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/18318910/
- NIH. “Antifatigue effects of coenzyme Q10 during physical fatigue”. https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/18272335/
- NIH. “Short-term ubiquinol supplementation reduces oxidative stress associated with strenuous exercise in healthy adults: A randomized trial”. https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/27193497/
- SpringerLink. “Coenzyme Q10 oral bioavailability: effect of formulation type”. https://link.springer.com/article/10.1007/s40005-013-0101-4
- ScienceDirect. “Bioavailability of coenzyme Q10 supplements depends on carrier lipids and solubilization”. https://www.sciencedirect.com/science/article/abs/pii/S089990071830488X
- NIH. “Coenzyme Q10: absorption, tissue uptake, metabolism and pharmacokinetics”. https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/16551570/
- NIH. “Comparison study of plasma coenzyme Q10 levels in healthy subjects supplemented with ubiquinol versus ubiquinone”. https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/27128225/
- NIH. “Ubiquinol is superior to ubiquinone to enhance Coenzyme Q10 status in older men”. https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/30302465/
- NIH. “Comparative Bioavailability of Different Coenzyme Q10 Formulations in Healthy Elderly Individuals)”. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC7146408/
- NIH. “Safety assessment of coenzyme Q10 (CoQ10)”. https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/19096117/
- NIH. “Women have higher levels of CoQ 10 than men when supplemented with a single dose of CoQ 10 with monoglycerides omega-3 or rice oil and followed for 48 h: a crossover randomised triple blind controlled study”. https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/35291282/
- NIH. “Effectiveness of CoQ10 Oral Supplements as an Adjunct to Scaling and Root Planing in Improving Periodontal Health”. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC4576635/
- NIH. “Coenzyme Q10 benefits symptoms in Gulf War veterans: results of a randomized double-blind study”. https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/25149705/
- MDPI. “Ubiquinol-10 Intake Is Effective in Relieving Mild Fatigue in Healthy Individuals”. https://www.mdpi.com/2072-6643/12/6/1640/htm
- NIH. “Ubiquinol Supplementation Improves Gender-Dependent Cerebral Vasoreactivity and Ameliorates Chronic Inflammation and Endothelial Dysfunction in Patients with Mild Cognitive Impairment”. https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/33498250/
- NIH. “Effect of Coenzyme Q 10 on Psychopathological Symptoms in Fibromyalgia Patients”. https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/28052569/
- NIH. “The effect of dietary intake of coenzyme Q10 on skin parameters and condition: Results of a randomised, placebo-controlled, double-blind study”. https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/27548886/
- NIH. “A new Coenzyme Q10 tablet-grade formulation (all-Q) is bioequivalent to Q-Gel and both have better bioavailability properties than Q-SorB”. https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/16176154/
- NIH. “Piperine derived from black pepper increases the plasma levels of coenzyme Q10 following oral supplementation”. https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/10715596/
- NIH. “The Plasma Bioavailability of Coenzyme Q10 Absorbed from the Gut and the Oral Mucosa”. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC6306788/
- NIH. “Relative bioavailability comparison of different coenzyme Q10 formulations with a novel delivery system”. https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/19284181/
ตรวจสอบทางการแพทย์ล่าสุดเมื่อวันที่ 19 ก.ย. 2022