โกโก้ & ช็อกโกแลต
ผงโกโก้และดาร์กช็อกโกแลตนั้นอุดมไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระที่เรียกว่า “ฟลาวานอล” (Flavanols) การศึกษาแสดงให้เห็นว่าการบริโภคผงโกโก้และดาร์กช็อกโกแลต (ไม่รวมช็อกโกแลตนมและไวท์ช็อกโกแลต) อาจมีประโยชน์ต่อสุขภาพหัวใจและหลอดเลือด ช่วยเพิ่มการไหลเวียนของเลือด ลดความดันโลหิต ลดระดับคอเลสเตอรอล ลดน้ำตาลในเลือดขณะอดอาหาร เพิ่มความไวของอินซูลิน เสริมพรีไบโอติกในลำไส้ ดีต่อสมอง อารมณ์และความเครียด ดีต่อผิวพรรณ/ป้องกันการเกิดริ้วรอย เพิ่มการมองเห็นที่ดี ช่วยลดหรือควบคุมน้ำหนักตัว เสริมสมรรถภาพทางกาย เป็นต้น
ช็อกโกแลต (Chocolate) ทำจากเมล็ดโกโก้ซึ่งเป็นผลของต้นคาเคา (Theobroma cacao L.) นำมาผ่านกระบวนการหมัก ตาก คั่ว แล้วกะเทาะเอาเปลือกหุ้มเมล็ดโกโก้ออก ได้เป็น “โกโก้นิบส์” (Cacao nibs) แล้วนำมาบดจนได้ของเหลวสีเข้มเรียกว่า “โกโก้แมส” (Cocoa mass) หรือก็คือช็อกโกแลตดิบที่ยังไม่ได้เติมส่วนผสมใด ๆ ลงไป จึงยังมี “โกโก้บัตเตอร์” (Cocoa butter) ซึ่งเป็นไขมันโกโก้อยู่* ก่อนจะนำมาแยกเอาเฉพาะโกโก้บัตเตอร์ที่มีสีเหลืองขาวและมีราคาสูง (เพราะสามารถนำไปในการทำขนม สบู่ ครีม หรือผลิตภัณฑ์เพื่อความงามได้) และอีกส่วนนำไปปั่นเป็น “ผงโกโก้” (Cocoa powder) ซึ่งบางครั้งก็เรียกว่า “เนื้อโกโก้” (Cocoa solids)
เมื่อนำช็อกโกแลตดิบหรือโกโก้แมสมาผ่านกระบวนการ ผสมน้ำตาล นมผง และเนยโกโก้ ในสัดส่วนที่แตกต่างกันไปก็ได้ออกมาเป็นช็อกโกแลตรูปแบบต่าง ๆ (ก่อนจะมาผ่านกระบวนการอบคืนตัว (Tempering) ขึ้นรูป และเติมแต่งวัตถุดิบหรือเพิ่มเทกเจอร์ต่าง ๆ เข้าไป) ได้แก่
- ดาร์กช็อกโกแลต (Dark chocolate) มีโกโก้แมส น้ำตาล แต่จะไม่มีส่วนผสมของนม จึงมีสีเข้ม รสขมเข้ม
- ช็อกโกแลตนม (Milk chocolate) มีโกโก้แมส เนยโกโก้ นม และน้ำตาล
- ไวท์ช็อกโกแลต (White chocolate) มีเพียงเนยโกโก้และน้ำตาล (แทบจะไม่มีส่วนผสมของโกโก้อยู่เลย) จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมไวท์ช็อกโกแลตถึงมีสีขาว และโดยทั่วไปจะไม่จัดว่าเป็นช็อกโกแลต
ส่วน “สารสกัดจากโกโก้” (Cocoa extract) นั้นจะหมายถึง สารสกัดที่ได้จากกระบวนการสกัดสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพที่มีในโกโก้ ได้แก่ ฟลาวานอล (Flavanols), โปรไซยานิดิน (Procyanidins) และอีพิคาเทชิน (Epicatechin) แม้ว่าสารเหล่านี้จะไม่ได้มีเฉพาะในโกโก้ แต่สารสกัดจากโกโก้จะมีอีพิคาเทชินที่สูงเป็นพิเศษเมื่อเทียบกับผลิตภัณฑ์จากพืชอื่น ๆ (สารสกัดจากโกโก้อาจรู้จักกันในชื่อ Chocolate polyphenols, Cocoa polyphenols, Cacao polyphenols, Cacao extract, Chocamine) ซึ่งสารสกัดจากโกโกนี้ก็พบได้ในรูปของผลิตภัณฑ์อาหารเสริมโกโก้ (Cocoa supplements)
หมายเหตุ :
- บางคนอาจเรียก “โกโก้” (Cocoa) ว่า “คาเคา” (Cacao) เนื่องจากเป็นคำทับศัพท์มาจาก Theobroma cacao L. ซึ่งเป็นชื่อวิทยาศาสตร์ของต้นคาเคา
- โกโก้บัตเตอร์ (Cocoa butter) มีชื่อเรียกอื่นว่า เนยโกโก้, ไขโกโก้ หรือไขมันโกโก้
ประโยชน์ของผงโกโก้ & ดาร์กช็อกโกแลต
1. ดีต่อสุขภาพหัวใจและหลอดเลือด การบริโภคโกโก้ฟลาวานอลสูง (Cocoa flavanols) สามารถช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด โรคหลอดเลือดสมอง โรคหัวใจ ภาวะหัวใจห้องบนสั่นพลิ้ว และภาวะหัวใจล้มเหลว ส่วนการศึกษาอื่น ๆ พบว่าการบริโภคโกโก้ฟลาวานอลสามารถปรับปรุงการทำงานของหลอดเลือด มีผลดีต่อระดับคอเลสเตอรอล ช่วยลดความดันโลหิตได้เล็กน้อยในผู้ที่มีความดันโลหิตสูง มีฤทธิ์ต้านเกล็ดเลือด และอาจมีประโยชน์มีประโยชน์ต่อผู้ป่วยที่เป็นโรคหลอดเลือดแดงส่วนปลายอุดตัน ดังรายละเอียดการศึกษาด้านล่างนี้
- เมื่อเดือนมกราคม 2023 ที่ผ่านมา องค์การอาหารและยาของสหรัฐอเมริกา (U.S. FDA) ได้อนุญาตให้ผงโกโก้ที่มีฟลาวานอลสูงมาก สามารถอ้างสิทธิ์ด้านสุขภาพต่อไปนี้บนผลิตภัณฑ์ได้หรือในทำนองเดียวกันว่า: “มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่จำกัดมากที่บ่งชี้ว่าการบริโภคโกโก้ฟลาวานอลในผงโกโก้ที่มีฟลาวานอลสูงอย่างน้อย 4% อาจช่วยลดความเสี่ยงของโรคหัวใจและหลอดเลือด” ที่น่าสนใจคือ องค์การอาหารและยาได้ปฏิเสธคำกล่าวอ้างที่คล้ายกันในผลิตภัณฑ์ดาร์กช็อกโกแลต เนื่องจากยังขาดหลักฐาน (อ้างอิง 1) ควรสังเกตว่าผงโกโก้ส่วนใหญ่ไม่ได้มีความเข้มข้นของฟลาวานอลถึง 4% (หรือประมาณ 200 มก. ต่อ 5 กรัม (1 ช้อนโต๊ะ)) เพราะส่วนใหญ่จะตรวจพบแค่ 10-125 มก. ต่อ 5 กรัมในผงโกโก้จากการรีวิวของ ConsumerLab หลายสิบยี่ห้อ เพื่อให้ได้ผลตามคำกล่าวอ้างนี้จะต้องบริโภคโกโก้ฟลาวานอล 200 มก. ทุกวัน ซึ่งในปริมาณนี้สามารถหาได้จากผงโกโก้ฟลาวานอลสูง 2.5 กรัม หรือดาร์กช็อกโกแลตฟลาวานอลสูง 10 กรัม (2) อย่างไรก็ตาม นักวิจัยระบุว่าปริมาณฟลาวานอลวันละ 200 มก. นี้ อาจน้อยเกินไปและควรเพิ่มปริมาณฟลาวานอลให้สูงขึ้นถึงจะได้ประโยชน์ (3)
- การทบทวนการศึกษา 9 เรื่องในคนจำนวน 157,809 คนพบว่าการบริโภคช็อกโกแลตที่มากขึ้นมีความสัมพันธ์กับความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง และการเสียชีวิตที่ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ (4)
- ผลต่อโรคหัวใจและหลอดเลือด : การศึกษาทางคลินิกที่ใหญ่ที่สุดและยาวนานที่สุดจนถึงปัจจุบัน ที่ศึกษาเกี่ยวกับอาหารเสริมโกโก้และวิตามินรวม (COSMOS) พบว่าการเสริมฟลาวานอลในโกโก้ช่วยลดความเสี่ยงของการเสียชีวิตจากโรคหัวใจและหลอดเลือดได้ โดยการศึกษานี้ได้ศึกษาในผู้ชายและผู้หญิงจำนวน 21,442 คน (อายุเฉลี่ย 72 ปี) ที่ไม่มีประวัติภาวะหัวใจวายหรือโรคหลอดเลือดสมอง พบว่าผู้ที่รับประทานสารสกัดจากโกโก้ทุกวัน (ให้ฟลาวานอล 500 มก. และอีพิคาเทชิน 80 มก.) เป็นเวลาเฉลี่ย 3 ปีครึ่ง จะมีความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตจากโรคหัวใจและหลอดเลือดในระหว่างการศึกษาต่ำกว่า 27% เมื่อเทียบกับกลุ่มที่ได้รับยาหลอก นอกจากนี้ ผู้ที่รับประทานโกโก้ยังมีอัตราการเกิดภาวะหัวใจวาย (Heart attack) โรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) และการเสียชีวิตจากสาเหตุต่าง ๆ ค่อนข้างต่ำ แต่ว่าไม่มีนัยสำคัญทางสถิติเมื่อเทียบกับกลุ่มที่ได้รับยาหลอก (5) ส่วนการศึกษาอื่น ๆ ส่วนใหญ่ที่แนะนำประโยชน์เรื่องหัวใจและหลอดเลือดมักจะใช้เวลาสั้น ๆ ไม่เกิน 4 สัปดาห์ เช่น การศึกษาในผู้ชายและผู้หญิงวัยกลางคนที่มีสุขภาพดีจำนวน 100 คน ดื่มเครื่องดื่มปรุงแต่งรสวันละ 2 ครั้ง (ให้ปริมาณโกโก้ฟลาวานอลรวม 900 มก.) เป็นเวลา 1 เดือน ส่งผลให้การทำงานของเซลล์บุผิวหลอดเลือด (Vascular endothelium) ดีขึ้นเล็กน้อยแต่มีนัยสำคัญ (ซึ่งนำไปสู่ภาวะการไหลเวียนของเลือดที่ปกติ) เมื่อเทียบกับเครื่องดื่มหลอก (ซึ่งมีคาเฟอีนและธีโอโบรมีนในปริมาณที่ใกล้เคียงกัน แต่ไม่มีฟลาวานอลจากโกโก้) นอกจากนี้ ผู้ที่ดื่มเครื่องดื่มโกโก้ฟลาวานอลยังมีความดันโลหิตช่วงบนและช่วงล่างลดลงเล็กน้อยอย่างมีนัยสำคัญ (4.4 mmHg และ 3.9 mmHg ตามลำดับ) รวมถึงระดับคอเลสเตอรอลรวม (TC) และคอเลสเตอรอลชนิดไม่ดี (LDL) (ประมาณ 8 mg/dL และ 7 mg/dL ตามลำดับ) และมีการเพิ่มขึ้นคอเลสเตอรอลชนิดดี (HDL) เล็กน้อย (ประมาณ 4 mg/dL) โดยการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้จะมีผลช่วยลดความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตจากโรคหัวใจและหลอดเลือดในช่วงระยะเวลา 10 ปีได้ประมาณ 30% เมื่อเทียบกับผู้ที่ดื่มยาหลอก (6)
- ผลต่อโรคหลอดเลือดสมอง : การศึกษาติดตามกลุ่มผู้ชายชาวสวีเดนจำนวน 37,103 คน เป็นเวลา 10.2 ปี พบความเสี่ยงที่ลดลงของโรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) เมื่อบริโภคช็อกโกแลตในระดับปานกลางโดยเฉลี่ย 62.9 กรัม/สัปดาห์ (7)
- ผลต่อภาวะหัวใจห้องบนสั่นพลิ้ว : การบริโภคช็อกโกแลตที่สูงขึ้นสัมพันธ์กับความเสี่ยงที่ลดลงต่อการเกิดภาวะหัวใจห้องบนสั่นพลิ้ว (Atrial fibrillation) ซึ่งเป็นภาวะที่พบได้บ่อยที่สุดของโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ และตัวมันเองมีความสัมพันธ์กับความเสี่ยงที่สูงขึ้นของโรคหลอดเลือดสมอง หัวใจล้มเหลว ความรู้ความเข้าใจลดลง ภาวะสมองเสื่อม และการเสียชีวิต ตัวอย่างการศึกษาเช่น การศึกษาขนาดใหญ่เป็นเวลา 13.5 ปีในเดนมาร์ก พบว่าผู้ที่บริโภคช็อกโกแลต 28 กรัม ความเสี่ยงของภาวะหัวใจห้องบนสั่นพลิ้วจะต่ำกว่า 10% เมื่อบริโภค 1-3 เสิร์ฟต่อเดือน, ต่ำกว่า 17% เมื่อบริโภค 1 เสิร์ฟต่อสัปดาห์ และต่ำกว่า 20% บริโภค 2-6 เสิร์ฟต่อสัปดาห์ เมื่อเทียบกับผู้ที่ไม่บริโภคช็อกโกแลต (8)
- ผลต่อภาวะหัวใจล้มเหลว : การทบทวนการศึกษาหลายเรื่องพบความสัมพันธ์ระหว่างการบริโภคช็อกโกแลตปานกลาง (ประมาณ 1-3 เสิร์ฟต่อเดือน) กับความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะหัวใจล้มเหลว (Heart failure) ที่ลดลง 23% เมื่อเทียบกับผู้ที่ไม่บริโภค อย่างไรก็ตาม พบว่าการบริโภคที่มากเกินไปหรือบริโภควันละ 1 เสิร์ฟต่อวันหรือมากกว่า กลับให้ผลลัพธ์ที่ตรงกันข้าม คือ ความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะหัวใจล้มเหลวจะเพิ่มขึ้น 17% (9) เช่นเดียวกับการศึกษาก่อนหน้าในปี 2010 และ 2017 พบว่าการบริโภคช็อกโกแลต 19-30 กรัม/วัน ช่วยลดความเสี่ยงได้ แต่ไม่มีผลเมื่อบริโภคในปริมาณที่มากขึ้น (10, 11)
- ผลต่อโรคหลอดเลือดแดงส่วนปลายอุดตัน : การศึกษาขนาดเล็กในอิตาลีพบว่าภายใน 2 ชั่วโมงหลังการบริโภคดาร์กช็อกโกแลตแท่ง (40 กรัม) ซึ่งมีโกโก้มากกว่า 85% ผู้ที่เป็นโรคหลอดเลือดแดงส่วนปลายอุดตัน (Peripheral artery disease : PAD) เนื่องจากภาวะหลอดเลือดแข็ง (Atherosclerosis) มีระยะเดินเพิ่มขึ้น 11% และระยะเวลาในการเดินเพิ่มขึ้น 15% ส่วนกลุ่มที่บริโภคช็อกโกแลตนม (โกโก้ 35%) ในปริมาณที่ใกล้เคียงกันไม่มีผลดังกล่าว (12) สอดคล้องกับการศึกษาในชิคาโกในผู้ป่วยที่เป็นโรคหลอดเลือดแดงส่วนปลายอุดตันจำนวน 44 คน เป็นระยะเวลา 6 เดือน พบว่าการบริโภคโกโก้ 5 กรัมในรูปแบบเครื่องดื่มที่ให้สารอีพิคาเทชิน 25 มก. 3 ครั้งต่อวัน ช่วยเพิ่มระยะทางเดินได้ 12% เมื่อเทียบกับกลุ่มที่ได้รับยาหลอก (13)
- ผลต่อการลดคอเลสเตอรอล : การศึกษาในผู้ชายและผู้หญิงที่มีสุขภาพดีที่บริโภคโกโก้ 4 กรัม (ให้ฟลาวานอล 220 มก. และอีพิคาเทชิน 92 มก.) ทุกวัน เป็นเวลา 1 เดือน มีระดับคอเลสเตอรอลรวม (TC) ในเลือดลดลงโดยเฉลี่ย -12 mg/dL, คอเลสเตอรอลชนิดไม่ดี LDL ลดลง -14.98 mg/dL, Oxidized LDL ลดลง -95.61 U/L, ไตรกลีเซอไรด์ลดลง -3.8 mg/dL และคอเลสเตอรอลชนิดดี (HDL) เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 3.37 mg/dL เมื่อเปรียบเทียบกับระดับก่อนเสริม ส่วนในกลุ่มที่บริโภคน้อยกว่า คือ 1 กรัม (ให้ฟลาวานอล 55 มก.) และ 2 กรัม (ให้ฟลาวานอล 110 มก.) ไม่พบการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญใด ๆ (14) ทำนองเดียวกับการศึกษาในเด็กผู้หญิงชาวเท็กซัสที่มักอยู่นิ่ง ๆ ไม่ค่อยเคลื่อนไหวร่างกายหรือทำกิจกรรมอะไรแต่ยังมีสุขภาพดี พบว่าการบริโภคโกโก้ธรรมชาติ 12.7 กรัม/วัน (ให้ฟลาวานอล 309.6 มก. และอีพิคาเทชิน 48 มก.) เป็นเวลา 4 สัปดาห์ ช่วยให้ระดับคอเลสเตอรอลชนิดดี (HDL) เพิ่มขึ้น 18% และช่วยลด Endothelial microparticles (EMP) ที่เกี่ยวข้องกับความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดได้ถึง 60% อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนแปลงตัวบ่งชี้ในเลือด (Blood markers) อื่น ๆ ในเชิงบวกนั้นส่วนใหญ่จะพบได้ในผู้หญิงที่เป็นโรคอ้วนหรือมีน้ำหนักตัวไม่อยู่ในเกณฑ์ปกติ ซึ่งบ่งชี้ว่าโกโก้มีผลในเชิงบวกต่อผู้หญิงที่เป็นโรคอ้วนมากกว่าผู้หญิงที่ไม่เป็นโรคอ้วน (15) อย่างไรก็ตาม ในการศึกษาอื่นพบว่าการบริโภคดาร์กช็อกโกแลตช่วยลดระดับคอเลสเตอรอลรวมและคอเลสเตอรอลชนิดไม่ดี (LDL) ได้ แต่ดูเหมือนจะไม่มีผลต่อระดับคอเลสเตอรอลชนิดดี (HDL) และระดับไตรกลีเซอไรด์ (16)
- ผลต้านเกล็ดเลือด : การบริโภคโกโก้หรือดาร์กช็อกโกแลตอาจเพิ่มผลของยาต้านเกล็ดเลือดบางชนิดในผู้ที่เป็นโรคหลอดเลือดหัวใจ (Coronary artery disease) โดยการศึกษาขนาดเล็กในประเทศตรินิแดดในกลุ่มผู้ชายและผู้หญิง 20 คน (อายุเฉลี่ย 61 ปี) ที่เป็นโรคหลอดเลือดหัวใจที่รับประทานยาแอสไพริน (81 มก. ต่อวัน) และยาต้านเกล็ดเลือดโคลพิโดเกรล (Clopidogrel 75 มก. ต่อวัน) แสดงให้เห็นว่าการบริโภคดาร์กช็อกโกแลต 30 กรัม (มีโกโก้ 65% และน้ำตาล 35% แต่ไม่ได้ระบุความเข้มข้นของฟลาวานอล) ทุกวัน เป็นเวลา 1 สัปดาห์ มีผลช่วยเพิ่มผลต้านเกล็ดเลือดของยาโคลพิโดเกรลได้เล็กน้อยประมาณ 11.9% และยังเพิ่มผลของยาแอสไพรินเล็กน้อย เมื่อเทียบกับกลุ่มที่ไม่ได้บริโภคดาร์กช็อกโกแลต (17) สอดคล้องกับการศึกษาเล็ก ๆ ในผู้ชายที่มีสุขภาพดีที่บริโภคดาร์กช็อกโกแลตที่มีฟลาวานอลสูง 50 กรัม (โกโก้ 90%) ที่พบว่าช่วยชะลอการแข็งตัวของเกล็ดเลือดได้ประมาณ 14% หลังจากกินช็อกโกแลต 4 ชั่วโมง ซึ่งนักวิจัยสรุปว่าการบริโภคดาร์กช็อกโกแลตอาจมีประโยชน์ต่อผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคลิ่มเลือดอุดตัน (Thrombosis) (18) อย่างไรก็ตาม ในการศึกษาในระยะยาวเป็นเวลา 3 เดือนเกี่ยวกับโกโก้ฟลาวานอลในปริมาณสูงกลับไม่พบผลลัพธ์ดังกล่าวต่อการทำงานของเกล็ดเลือดในผู้ชายและผู้หญิงที่มีสุขภาพแข็งแรง (19) จึงจำเป็นต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมต่อไป
2. ลดความดันโลหิต โกโก้ทั้งในรูปผงและในรูปของดาร์กช็อกโกแลตอาจช่วยลดความดันโลหิตได้เพียงเล็กน้อยประมาณ 2-3 mmHg (มม.ปรอท) โดยเฉพาะกับผู้ที่มีความดันโลหิตสูง แต่ไม่มีผลในผู้ที่มีสุขภาพดีหรือมีภาวะความดันปกติ นอกจากนี้ ผลการลดความดันโลหิตจะมากกว่าในผู้ที่อายุน้อยเมื่อเทียบกับผู้สูงอายุ
- การวิเคราะห์การศึกษาจำนวน 35 เรื่องในปี 2017 สรุปได้ว่าการบริโภคผลิตภัณฑ์โกโก้ที่มีฟลาวานอลสูง (ให้ฟลาวานอลเฉลี่ย 670 มก.) อาจมีผลเล็กน้อยแต่มีนัยสำคัญทางสถิติในการลดความดันโลหิตลง 2 mmHg โดยเฉพาะในผู้ที่มีความดันโลหิตสูง (อ้างอิง 20) สอดคล้องกับการวิเคราะห์การศึกษา 13 เรื่องก่อนหน้าในปี 2010 นี้ก็ได้ข้อสรุปคล้ายกันที่ระบุว่าผลิตภัณฑ์โกโก้มีประโยชน์ต่อผู้ที่เป็นโรคความดันโลหิตสูง แต่ไม่มีผลต่อผู้ที่มีภาวะความดันโลหิตปกติ (21) หรือการทดลองแบบสุ่มในปี 2015 ก็บ่งชี้ว่าไม่มีผลต่อความดันโลหิตในบุคคลที่มีสุขภาพดี โดยเมื่อให้บริโภคโกโก้ฟลาวานอลวันละ 1,000-2,000 มก. เป็นเวลา 6-12 สัปดาห์ พบว่าไม่ได้ช่วยทำความดันโลหิตลดลงหรือเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ (อ้างอิง 19)
- การศึกษาที่ควบคุมด้วยยาหลอกในสหรัฐอเมริกาปี 2016 ในกลุ่มผู้ที่มีความดันโลหิตสูงระยะที่ 1 (ความดันโลหิต 140-159/90-99 mmHg) ที่บริโภคผลิตภัณฑ์ที่มีโกโก้เป็นส่วนประกอบ ไม่มีผลช่วยลดความดันโลหิต ยกเว้นในกลุ่มที่รับประทานยาลดความดันโลหิต (ACE inhibitors หรือ Beta blockers) ที่ช่วยลดระดับความดันโลหิตลงได้ประมาณ 2-5 mmHg โดยขนาดฟลาวานอลจากโกโก้ที่สูงจะมีประโยชน์มากกว่าขนาดต่ำ (22) ทำนองเดียวกับการศึกษาก่อนหน้าในประเทศฟินแลนด์ในกลุ่มคนอายุ 33-64 ปีที่มีความดันโลหิตสูงเล็กน้อย พบว่าการรับประทานดาร์กช็อกโกแลต 49 กรัม/วัน (โกโก้ 70% ให้ฟลาวานอล 603 มก.) เป็นเวลา 8 สัปดาห์ ไม่มีผลต่อความดันโลหิตหรือปัจจัยเสี่ยงต่อโรคหัวใจและหลอดเลือดอื่น ๆ อย่างมีนัยสำคัญ เมื่อเทียบกับกลุ่มที่งดช็อกโกแลต 8 สัปดาห์ (23)
- การศึกษาล่าสุดในปี 2022 เป็นการศึกษาเล็ก ๆ ในกลุ่มคน 11 คนที่มีความดันโลหิตปกติ แสดงให้เห็นว่าการรับประทานสารสกัดจากโกโก้ที่มีปริมาณฟลาวานอลสูง (ให้ฟลาวานอล 862 มก. และอีพิคาเทชิน 160 มก.) ช่วยลดความดันโลหิตช่วงบนและช่วงล่างหลังทาน 12 ชั่วโมงได้เล็กน้อยเพียง 1.4 mmHg และ 0.5 mmHg ตามลำดับ เมื่อเทียบกับกลุ่มที่ได้รับยาหลอก โดยลดลงมากที่สุดสังเกตได้ภายใน 3 ชั่วโมงแรก และอีกครั้งที่ประมาณ 8 ชั่วโมง ชั่วโมงหลังเสริม อย่างไรก็ตาม การลดลงของความดันโลหิตพบได้เฉพาะในผู้ที่มีความดันสูงกว่า 115/75 mmHg เท่านั้น (24)
3. เพิ่มการไหลเวียนของเลือด โกโก้ฟลาวานอลสามารถเพิ่มการผลิตไนตริกออกไซด์ (Nitric oxide) ซึ่งเป็นก๊าซที่ช่วยให้การไหลเวียนของเลือด (Blood flow) และระบบการหมุนเวียนเลือด (Circulatory system) ดีขึ้นทั้งในบุคคลที่มีสุขภาพดีและสุขภาพไม่ดี
- การศึกษาในอาสาสมัครที่มีความดันโลหิตสูง พบว่าผู้ที่บริโภคดาร์กช็อกโกแลต 30 กรัม (โกโก้ 70%) เป็นเวลา 15 วัน มีระดับความดันโลหิตช่วงบนลดลง และช่วยเพิ่มระดับไนตริกออกไซด์ในซีรัมได้ 54% (อ้างอิง 25)
- การบริโภคดาร์กช็อกโกแลตที่อุดมด้วยฟลาโวนอยด์ (ซึ่งก็คือโกโก้ฟลาวานอล) ช่วยเพิ่มการไหลเวียนของหลอดเลือดหัวใจในผู้ใหญ่ที่มีสุขภาพแข็งแรงได้อย่างมีนัยสำคัญ โดยในการศึกษาในผู้ชายที่มีสุขภาพดีที่บริโภคดาร์กช็อกโกแลตที่อุดมด้วยฟลาโวนอยด์ทุกวัน (ให้ Cacao polyphenol 550 มก.) ช่วยเพิ่มอัตราการไหลของหลอดเลือดหัวใจ (CFVR) ได้ 26% เมื่อเทียบกลุ่มที่บริโภคไวท์ช็อกโกแลตที่มีสารฟลาโวนอยด์ (26)
- การศึกษาในผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 พบว่าการรับประทานดาร์กช็อกโกแลตทุกวัน (ให้ฟลาวานอล 963 มก. และอีพิคาเทชิน 203 มก.) ดูเหมือนจะช่วยให้การไหลเวียนของเลือดดีขึ้น (การขยายตัวของเลือดเลือดแดงหรือ Flow-mediated dilation : FMD เพิ่มขึ้น 30%) ซึ่งจะมีผลต่อความเสี่ยงต่อโรคหัวใจและหลอดเลือดที่ลดลง (27) หรือการศึกษาในผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงที่การบริโภคโกโก้ (ให้ฟลาวานอล 900 มก./วัน) เป็นเวลา 2 สัปดาห์ พบว่าความกว้างของหลอดเลือดแดงที่เกิดจากอินซูลินเพิ่มขึ้น (28) สอดคล้องกับการศึกษาอื่น ๆ เช่น การศึกษาในอาสาสมัครอายุน้อยที่มีสุขภาพดีที่การบริโภคดาร์กช็อกโกแลตที่อุดมด้วยฟลาวานอล 100 กรัม ช่วยเพิ่มการขยายตัวของหลอดเลือด (FMD เพิ่มขึ้น 1.43%) และช่วยลดการหดตัวของหลอดเลือด (ค่า Aortic Augmentation Index หรือ AIx ลดลง 7.8%) (29) เช่นเดียวกับการศึกษาในคนวัยหนุ่มสาวที่มีสุขภาพดีที่การบริโภคดาร์กช็อกโกแลต 10 กรัม (โกโก้ 75%) ทุกวัน เป็นเวลา1 เดือน ทำให้ค่า FMD เพิ่มขึ้น 9.31% เมื่อเทียบกับค่าพื้นฐาน (30) และผลลัพธ์นี้ยังคล้ายกับการศึกษาในผู้สูงอายุที่มีสุขภาพดีที่ดื่มเครื่องดื่มที่มีโกโก้ 5-26 กรัม (ให้ฟลาวานอล 65-1,095 มก.) ที่ช่วยเพิ่มการไหลเวียนของเลือดเมื่อประเมินจากค่า FMD หลังดื่ม 2 ชั่วโมง (31)
- นอกจากนี้ ในอีกหลายการศึกษายังสรุปว่าดาร์กช็อกโกแลตช่วยปรับปรุงการทำงานของหลอดเลือดในผู้ป่วยโรคเบาหวาน ผู้สูบบุหรี่ และผู้ที่มีความเสี่ยงต่อโรคหัวใจและหลอดเลือด (32, 33, 34)
4. น้ำตาลในเลือด ภาวะดื้ออินซูลิน และเบาหวาน การบริโภคโกโก้ฟลาวานอล (วันละ 200-600 มก.) อาจช่วยลดน้ำตาลในเลือดขณะอดอาหารและช่วยเพิ่มความไวของอินซูลิน แต่ในขนาดที่สูงกว่านี้ไม่มีประโยชน์ และโกโก้ฟลาวานอลไม่ได้มีประโยชน์ต่อผู้ป่วยเบาหวานที่ควบคุมโรคด้วยยาได้ดีอยู่แล้ว
- การทบทวนการศึกษาในปี 2017 พบฤทธิ์ต้านเบาหวานของฟลาโวนอยด์จากโกโก้โดยเพิ่มการหลั่งอินซูลิน เพิ่มความไวของอินซูลิน ช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด และลดการอักเสบในผู้ที่เป็นเบาหวานและไม่ได้เป็นเบาหวาน (อ้างอิง 35) และการได้รับฟลาโวนอยด์มากขึ้นอาจช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ได้ในระดับหนึ่ง (36) อย่างไรตาม แม้ผลการศึกษาข้างต้นจะออกมาดี แต่ก็มีความไม่สอดคล้องกับการศึกษาอื่น ๆ เพราะการศึกษาบางเรื่องก็พบผลที่จำกัด และบางการศึกษาก็ไม่พบประโยชน์ ตามการศึกษาด้านล่างนี้
- การทบทวนการศึกษา 8 เรื่องในกลุ่มผู้ชายและผู้หญิง (หลายคนมีภาวะต่าง ๆ เช่น คอเลสเตอรอลสูง ความดันโลหิตสูง หรือเบาหวาน) พบว่าการบริโภคโกโก้ฟลาวานอลระหว่าง 200-600 มก. ช่วยให้ระดับน้ำตาลในเลือดขณะอดอาหารลดลงอย่างมีนัยสำคัญ (ลดลง 0.26 mmol/L), ระดับอินซูลินขณะอดอาหาร (ลดลง 2.43 uIU/mL) และ HOMA-IR ซึ่งเป็นตัวชี้วัดความต้านทานต่ออินซูลิน (ลดลง 0.72 จุด) เมื่อเทียบกับกลุ่มที่ได้รับยาหลอก อย่างไรก็ตาม การบริโภคที่สูงขึ้นในแต่ละวัน (มากกว่า 600 มก.) แม้จะส่งผลให้ HOMA-IR ลดลงมากขึ้น (ลดลงเป็น 1.05 จุด) แต่มีผลลดระดับอินซูลินขณะอดอาหารที่น้อยลง (ลดลง 2.10 uIU/mL) และไม่มีผลลดระดับน้ำตาลในเลือดขณะอดอาหาร (37) เช่นเดียวกับการศึกษาที่พบว่าการบริโภคเครื่องดื่มโกโก้ที่มีฟลาวานอลสูง (ให้ฟลาวานอล 609 มก. และอีพิคาเทชิน 95 มก.) วันละ 2 ครั้ง เป็นเวลา 4 สัปดาห์ ไม่ช่วยเพิ่มความไวของอินซูลิน เมื่อเทียบกับเครื่องดื่มโกโก้ที่มีฟลาวานอลต่ำ (ให้ฟลาวานอล 13 มก. และอีพิคาเทชิน 2 มก.) หรือเมื่อเปรียบเทียบกับค่าพื้นฐาน (การศึกษานี้เป็นการศึกษาในสตรีวัยก่อนหมดประจำเดือนที่มีน้ำหนักตัวเกินหรือเป็นโรคอ้วนจำนวน 32 คน มีอายุเฉลี่ย 34 ปี และมีภาวะดื้อต่ออินซูลินในสหราชอาณาจักร) (38)
- โกโก้ฟลาวานอลไม่ได้ให้ประโยชน์เพิ่มเติมแก่ผู้ป่วยโรคเบาหวานและความดันโลหิตสูงที่ควบคุมโรคด้วยยาอยู่แล้ว ตามการศึกษาเป็นเวลา 12 สัปดาห์ที่ควบคุมด้วยยาหลอกโดยใช้ผงโกโก้ที่อุดมด้วยฟลาวานอล 2.5 กรัม/วันที่มีฟลาวานอลรวม 207.5 มก. (39)
- การศึกษาขนาดใหญ่เป็นเวลา 13 ปีในผู้หญิงวัยหมดประจำเดือนพบว่าการบริโภคช็อกโกแลตพอประมาณ (28 กรัม/เดือน และไม่เกิน 3 ครั้ง/สัปดาห์) มีความสัมพันธ์กับความเสี่ยงต่อการเกิดโรคเบาหวานที่ลดลงประมาณ 10% เมื่อเทียบกับผู้ที่บริโภคน้อยกว่าเดือนละครั้ง อย่างไรก็ตาม การศึกษานี้ไม่ได้ระบุชนิดของช็อกโกแลต และผลการลดลงนี้มีนัยสำคัญทางสถิติเฉพาะในผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 65 ปีหรือมีการเคลื่อนไหวร่างกายน้อยเท่านั้น และยังพบว่าความเสี่ยงต่อการเกิดโรคเบาหวานไม่ได้ลดลงเลยในผู้ที่บริโภคช็อกโกแลตมาก (มากกว่า 3 ครั้งต่อสัปดาห์) (40)
5. ตัวช่วยลดน้ำหนัก ผลิตภัณฑ์โกโก้ โดยเฉพาะผงโกโก้และดาร์กช็อกโกแลต 70% ขึ้นไป อาจมีประโยชน์ต่อผู้ที่ต้องการควบคุมน้ำหนัก เพราะโกโก้อาจช่วยควบคุมการใช้พลังงาน ลดความอยากอาหาร/ช่วยให้รู้สึกอิ่ม และอาจเกี่ยวข้องกับน้ำหนักตัวและไขมันที่ลดลง แต่ยังจำเป็นต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมถึงปริมาณที่เหมาะสม
- การศึกษาขนาดเล็กในผู้หญิงวัยหมดประจำเดือนที่มีสุขภาพดีจำนวน 14 คน พบว่าพวกเธอมีการบริโภคแคลอรีน้อยลง 100 แคลอรีภายใน 90 นาทีหลังจากรับประทานดาร์กช็อกโกแลต 80% ขนาด 85 กรัม (ประมาณ 2 เสิร์ฟปกติ) เมื่อเทียบกับผู้ที่รับประทานไวท์ช็อกโกแลตหรือช็อกโกแลตนมในปริมาณเดียวกัน และระดับน้ำตาลในเลือดและความเข้มข้นของอินซูลินยังสูงขึ้นในกลุ่มหลัง ซึ่งแสดงให้เห็นว่า การเลือกทานดาร์กช็อกโกแลตอาจช่วยควบคุมปริมาณพลังงานโดยรวมได้ดีกว่าการทานไวท์ช็อกโกแลตหรือช็อกโกแลตนม (อ้างอิง 41)
- การศึกษาการลดน้ำหนักในปี 2015 พบว่ากลุ่มที่ได้รับช็อกโกแลต 42 กรัม (โกโก้ 81%) ต่อวัน สามารถลดน้ำหนักได้ง่ายและเร็วกว่ากลุ่มที่รับประทานอาหารปกติที่มีคาร์โบไฮเดรตต่ำประมาณ 10% หลังจากผ่านไป 3 สัปดาห์ (42)
- การศึกษาในผู้หญิงวัยหมดประจำเดือนจำนวน 67 คนในสเปนที่รับประทานช็อกโกแลต 10 กรัม (โกโก้ 99% ให้ฟลาวานอล 65.4 มก.) วันละ 1 ครั้ง เป็นเวลา 6 เดือน พบว่าไขมันในร่างกาย (Body fat) ลดลงประมาณ 1 ปอนด์ ในขณะที่ผู้หญิงอีกกลุ่มที่ไม่ได้รับช็อกโกแลตมีไขมันในร่างกายเพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ยเกือบ ½ ปอนด์ แม้ว่าจะไม่มีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทั้ง 2 กลุ่มในแง่ของการเปลี่ยนแปลงของน้ำหนักตัวโดยรวมหรือค่าดัชนีมวลกาย และอินซูลินในเลือด (43) สอดคล้องกับการศึกษาอื่น ๆ เช่น การศึกษาที่พบว่าการบริโภคช็อกโกแลตบ่อยขึ้นนั้นสัมพันธ์กับค่าดัชนีมวลกาย (BMI) ที่ลดลง เมื่อเปรียบเทียบกับผู้ที่บริโภคช็อกโกแลตน้อย (44), การศึกษาที่พบว่าการบริโภคดาร์กช็อกโกแลตมากกว่า 30 กรัม/วัน เป็นเวลา 4-8 สัปดาห์ มีผลช่วยลดน้ำหนักตัวและค่าดัชนีมวลกาย (BMI) (45) หรือการศึกษาที่พบว่าการบริโภคฟลาโวนอยด์ที่สูงขึ้นจากผลิตภัณฑ์โกโก้มีความสัมพันธ์กับไขมันที่ลดลงและโอกาสเกิดโรคอ้วนที่น้อยลง (46)
6. เพิ่มความจำและความสามารถทางสติปัญญา การศึกษาให้ผลลัพธ์ปะปนกันไป อย่างการศึกษาขนาดเล็กหลายเรื่องพบประโยชน์ของโกโก้ฟลาวานอลต่อกระบวนการทำงานของสมอง การรู้คิด ความจำ ความเร็วในการประมวลผลของสมอง สภาวะทางอารมณ์ในเชิงบวก ลดความเหนื่อยล้าของสมอง และทำให้เลือดไหลเวียนไปเลี้ยงสมองได้ดีขึ้น (การทดลองส่วนใหญ่โกโก้ฟลาวานอลในปริมาณสูงประมาณ 500-900 มก./วัน) อย่างไรก็ตาม ตามการทดลองขนาดใหญ่และยาวนานที่สุดจนถึงปัจจุบันกลับไม่พบผลลัพธ์ในเรื่องดังกล่าว
- การทดลองที่ใหญ่ที่สุดและยาวนานที่สุดจนถึงปัจจุบัน ซึ่งวิเคราะห์ผู้ชายและผู้หญิงสูงอายุที่มีสุขภาพแข็งแรงจำนวน 1,773 คน (อายุเฉลี่ย 73 ปี) ที่รับประทานสารสกัดจากโกโก้ (ให้ฟลาวานอล 500 มก. และอีพิคาเทชิน 80 มก.) ทุกวันเป็นเวลา 3 ปี (เป็นส่วนหนึ่งของ การทดลองที่ใหญ่กว่าของ COSMOS) พบว่าไม่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพด้านการรู้คิด (Cognition) เมื่อเทียบกับกลุ่มที่ได้รับยาหลอก (อ้างอิง 47) นอกจากนี้ การวิเคราะห์ข้อมูลในภายหลังจากการศึกษานี้แสดงให้เห็นว่าการรับประทานสารสกัดจากโกโก้ไม่ได้ลดอัตราการเกิดภาวะถดถอยทางสมอง (Mild cognitive impairment : MCI) หรือภาวะสมองเสื่อม (Dementia) และไม่ได้ช่วยชะลอการเกิดภาวะเหล่านี้ เมื่อเทียบกับกลุ่มที่ได้รับยาหลอก (48) ในทำนองเดียวกัน การศึกษาในสหราชอาณาจักรและออสเตรเลียในกลุ่มผู้ชายและผู้หญิงอายุ 55 ปีขึ้นไป (อายุเฉลี่ย 65 ปี) จำนวน 197 คนที่มีภาวะ MCI หรือภาวะ SCI (Subjective cognitive impairment เป็นภาวะที่ความจำและความคิดลดลงแต่ยังไม่ถึงขั้น MCI) ที่ประมาณหนึ่งในสามมียีน APOE4 (ยีนที่เกี่ยวข้องกับความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นของโรคอัลไซเมอร์) พบว่าการบริโภคช็อกโกแลตชิป 33 กรัม (ประมาณ 42.5 กรัม ที่ให้ฟลาวานอล 508 มก. และอีพิคาเทชิน 80 มก.) ร่วมกับน้ำมันปลา 3,000 มก. วันละ 1 ครั้งพร้อมมื้ออาหาร เป็นเวลา 1 ปี ไม่ได้ช่วยเพิ่มความจำโดยรวมหรือคะแนนด้านการรู้คิด เมื่อเทียบกับกลุ่มที่ได้รับยาหลอก หรือมีผลช่วยชะลอการลดลงของปริมาณสมองและการลดลงของปริมาณของสมองส่วนฮิปโปแคมปัส ซึ่งเป็นพื้นที่ของสมองที่มีบทบาทสำคัญในการเรียนรู้และความจำ (49)
- ผลเพิ่มประสิทธิภาพด้านการรู้คิด/ความจำ : การศึกษาขนาดเล็กก่อนหน้าพบประโยชน์ของโกโก้ฟลาวานอลต่อกระบวนการทำงานของสมอง (Cognitive function) เช่น การทบทวนการศึกษาทางคลินิกขนาดเล็ก 14 เรื่องที่ทดสอบผลของโกโก้ฟลาวานอลต่อประสิทธิภาพด้านการรู้คิด (ความสนใจ ความเร็วในการประมวล และความจำ) แม้ว่าการศึกษาทั้งหมดจะไม่พบผลเชิงบวก แต่ผู้เขียนสรุปว่าการเสริมโกโก้ฟลาวานอลมีประสิทธิภาพที่ดีในในด้านนี้ โดยประโยชน์สูงสุดพบได้ในผู้สูงอายุและผู้มีภาวะ MCI และต้องบริโภคโกโก้ฟลาวานอลอย่างน้อยวันละ 500 มก. เป็นเวลา 5 วัน ถึง 3 เดือน (50) สอดคล้องกับการศึกษาอื่น เช่น การศึกษาหลายเรื่องที่รวมอยู่ในการทบทวนการศึกษาข้างต้นที่ใช้โกโก้ฟลาวานอลที่มีความเข้มข้นสูง เช่น การศึกษาในผู้ที่มีสุขภาพดีอายุ 50-69 ปี พบว่าการดื่มเครื่องดื่มโกโก้ร้อนที่มีฟลาวานอลสูงวันละ 2 ครั้ง (ให้ฟลาวานอล 900 มก. และอีพิคาเทชิน 138 มก.) เป็นเวลา 3 เดือน ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพด้านการรู้คิดให้ดีขึ้น เมื่อเปรียบเทียบกับผู้ที่ได้รับเครื่องดื่มที่มีฟลาวานอลต่ำ (ฟลาวานอล 10 มก. และอีพิคาเทชินน้อยกว่า 2 มก.) โดยผู้ที่ได้รับเครื่องดื่มฟลาวานอลสูงจะมีความเร็วในการจำที่ดีขึ้น เทียบได้กับผู้ที่อายุน้อยกว่า 30 ปี (51), การศึกษา 2 เดือน ในผู้ที่มีสุขภาพแข็งแรงอายุ 60-85 ปีได้รับเครื่องดื่มที่มีโกโก้ฟลาวานอลในปริมาณต่อไปนี้: กลุ่ม 1 (ให้ฟลาวานอล 993 มก. และอีพิคาเทชิน 185 มก.) กลุ่ม 2 (ให้ฟลาวานอล 520 มก. และอีพิคาเทชิน 95 มก.) และกลุ่ม 3 (ให้ฟลาวานอล 48 มก. และอีพิคาเทชิน 5 มก.) พบว่ากลุ่มที่ได้รับเครื่องดื่มที่มีฟลาวานอลสูงกว่ามีประโยชน์ต่อการเพิ่มประสิทธิภาพด้านการรู้คิดบางเรื่องในระดับปานกลาง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องความเร็วในการประมวลผล นอกจากนี้ ยังมีผลลดความดันโลหิต คอเลสเตอรอลชนิดไม่ดี (LDL) และระดับกลูโคสและอินซูลิน (52), การศึกษาในผู้สูงอายุที่มีความบกพร่องทางสติปัญญาเล็กน้อยพบว่าโกโก้ฟลาวานอลช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของสมองได้ทั้งในขนาดวันละ 520 มก. และ 990 มก. (แต่ไม่ใช่กับขนาด 45 มก.) จากการประเมินด้วยการทำแบบทดสอบ (53) หรือการศึกษาในหนูทดลองที่เสริมอีพิคาเทชิน (125 มก./กก. หรือขนาดมากกว่านี้ 3 เท่า) เป็นเวลา 2 สัปดาห์ ส่งผลให้ความจำดีขึ้น แต่ไม่พบผลใด ๆ เมื่อเสริมในขนาดที่สูงเกินไปหรือในขนาด 6 เท่า (750 มก./กก.) (54)
- ในการศึกษาอื่นให้ผลลัพธ์ปะปนกันไป เช่น การศึกษาในสเปนในผู้หญิงวัยหมดประจำเดือน (อายุเฉลี่ย 57 ปี) พบว่าการบริโภคช็อกโกแลต 10 กรัม (โกโก้ 99% ที่ให้ฟลาวานอล 65.4 มก.) วันละ 1 ครั้ง เป็นเวลา 6 เดือน ช่วยเพิ่มความยืดหยุ่นในด้านการรู้คิดและความเร็วในการประมวลได้ผลเล็กน้อย เมื่อเทียบกับกลุ่มควบคุมที่ไม่บริโภคช็อกโกแลต อย่างไรก็ตาม ไม่พบประโยชน์ในด้านความจำทางวาจาและความจำในการทำงาน (Verbal & Working memory) รวมถึงในด้านความสนใจ (Attention) และความจำ (Verbal & Working memory) (55), การศึกษาเล็ก ๆ ในหมู่ชายหนุ่มที่มีสุขภาพดี (อายุเฉลี่ย 24 ปี) พบว่าการบริโภคเครื่องดื่มโกโก้ที่มีฟลาวานอลสูง ไม่เติมด่าง (Non-alkalized) และมีเนยโกโก้ต่ำ (ให้ฟลาวานอลทั้งหมด 681.4 มก.) สองชั่วโมงก่อนการทดสอบด้านการรู้คิด พบว่ามีผลช่วยเพิ่มประสิทธิภาพด้านการรู้คิดที่ต้องใช้ความคิดสูง แต่ไม่มีผลต่อเพิ่มประสิทธิภาพด้านการรู้คิดที่ต้องใช้ความคิดน้อย เมื่อเทียบกับการบริโภคเครื่องดื่มโกโก้ที่มีฟลาวานอลต่ำ (ให้ฟลาวานอล 4.1 มก.) ซึ่งผลดังกล่าวอาจเกิดจากความสามารถของโกโก้ฟลาวานอลในการเพิ่มการไหลเวียนของเลือดไปยังสมองเมื่อระดับคาร์บอนไดออกไซด์สูงขึ้น (56), การศึกษาในกลุ่มผู้ชายและผู้หญิงที่มีสุขภาพดีที่มีการศึกษาสูงจำนวน 100 คน (อายุ 65-75 ปี) และมีการรู้คิดปกติในฟินแลนด์ พบว่าการบริโภคดาร์กช็อกโกแลตที่มีฟลาวานอลสูงวันละ 50 กรัม (ให้ฟลาวานอล 410 มก. และอีพิคาเทชิน 85 มก.) ทุกวัน เป็นเวลา 2 เดือน ไม่พบความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญในด้านการรู้คิดเมื่อเทียบกับกลุ่มที่ได้รับดาร์กช็อกโกแลตที่มีฟลาวานอลต่ำ (ฟลาวานอล 86 มก. และอีพิคาเทชิน 26 มก.) นั่นหมายความว่า การศึกษานี้ไม่พบประโยชน์จากโกโก้ฟลาวานอลขนาดสูงในผู้ที่ไม่ได้มีภาวะการทำงานของสมองถดถอยหรือสมองเสื่อม (57) เป็นต้น
- ผลลดความเหนื่อยล้าของสมอง : การศึกษาที่ควบคุมด้วยยาหลอกในผู้ใหญ่ที่มีสุขภาพดีในออสเตรเลีย อายุระหว่าง 18-40 ปี พบว่าการได้รับโกโก้ฟลาวานอลวันละ 250 มก. ช่วยให้ความเหนื่อยล้าของสมอง (Cognitive fatigue) ดีขึ้นในขณะที่ทำแบบทดสอบทางคณิตศาสตร์ แต่ไม่มีผลต่อประสิทธิภาพด้านการรู้คิด อารมณ์ หรือการทำงานของหัวใจและหลอดเลือด แต่ที่น่าสนใจคือ หลังจากผ่านไปหนึ่งเดือน ผู้เข้าร่วมที่ได้รับยาหลอกมีงานว่ารู้สึกเครียดน้อยกว่าผู้ที่ได้รับโกโก้ฟลาวานอลอย่างมีนัยสำคัญ (58)
- ผลเพิ่มการไหลเวียนของเลือดและเพิ่มออกซิเจนไปสมอง : โกโก้ฟลาวานอลช่วยเพิ่มการไหลเวียนของเลือดไปยังสมองควบคู่ไปกับการเพิ่มขึ้นของออกซิเจนในสมองในผู้ที่มีสุขภาพดีที่เสริมโกโก้ฟลาโวนอล 172 มก. เป็นเวลา 5 วัน (59) สอดคล้องกับการศึกษาเล็ก ๆ ในผู้สูงอายุที่มีสุขภาพดี (อายุ 50-65 ปี) พบว่าการดื่มเครื่องดื่มโกโก้ที่มีฟลาวานอลสูง (ฟลาวานอล 494 มก. และอีพิคาเทชิน 89 มก.) ช่วยเพิ่มการไหลเวียนของเลือดไปยังสมองอย่างมีนัยสำคัญหลังจากดื่มไปแล้ว 2 ชั่วโมง ในขณะที่ไม่พบผลดังกล่าวในผู้ที่ดื่มเครื่องดื่มที่มีฟลาวานอลต่ำ (ฟลาวานอล 29 มก. และอีพิคาเทชิน 3 มก.) (60) และการศึกษาในผู้สูงอายุ 34 คนที่ได้รับการเสริมโกโก้ฟลาวานอลสูง พบการไหลเวียนของเลือดไปยังสมองเพิ่มขึ้น 8% หลังจากเสริม 1 สัปดาห์ และ 10% หลังจากเสริม 2 สัปดาห์ (61)
7. ดีต่ออารมณ์และความเครียด การศึกษาพบว่าการบริโภคดาร์กช็อกโกแลตช่วยลดความเครียด ลดอารมณ์ด้านลบต่าง ๆ และอาจเพิ่มอารมณ์ด้านบวก นอกจากนี้ยังสัมพันธ์กับอาการซึมเศร้าที่ลดลงเมื่อเทียบกับผู้ที่ไม่บริโภค
- การศึกษาที่ควบคุมด้วยยาหลอกในผู้ใหญ่ที่มีสุขภาพดีในสหราชอาณาจักรที่ได้รับดาร์กช็อกโกแลตวันละ 25 กรัม (ให้ฟลาโวนอยด์ 500 มก.) เป็นเวลา 4 สัปดาห์ พบว่าระดับคอร์ติซอล (Cortisol คือ ฮอร์โมนความเครียดตัวหลักของร่างกาย) ในน้ำลายลดลงอย่างมีนัยสำคัญ (29%) เมื่อเทียบกับกลุ่มที่ได้รับช็อกโกแลตที่มีฟลาโวนอยด์ต่ำ นอกจากนี้ ในกลุ่มที่มีฟลาโวนอยด์สูงยังมีรายงานว่าอารมณ์ดีขึ้น (การลดลง 5 จุด ในช่วง 40 จุด) มากกว่ากลุ่มฟลาโวนอยด์ต่ำ (การลดลง 1.5 จุด) แม้จะไม่มีความแตกต่างระหว่างกลุ่มอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (อ้างอิง 62)
- การศึกษาขนาดเล็กในเกาหลีในกลุ่มผู้ชายและผู้หญิงสุขภาพดีจำนวน 48 คนอายุระหว่าง 20-30 ปีที่ไม่มีภาวะซึมเศร้าพบว่าการบริโภคดาร์กช็อกโกแลต 10 กรัม (โกโก้ 85% ให้โพลีฟีนอล 132 มก.) วันละ 3 ครั้ง เป็นเวลา 3 สัปดาห์อย่างพอประมาณ พบว่ามีผลช่วยลดตัวบ่งชี้ทางอารมณ์ด้านลบ (เช่น ความรู้สึกหงุดหงิด พฤติกรรมก้าวร้าวไม่ไว้ใจหรือหวาดระแวง ความรู้สึกผิด ฯลฯ) แม้ว่าจะไม่เพิ่มอารมณ์ด้านบวก (เช่น ความรู้สึกมีแรงบันดาลใจ ความกระตือรือร้น ความตื่นเต้น ฯลฯ) เมื่อเทียบกับกลุ่มที่ได้รับยาหลอก นอกจากนี้ ยังนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงและความหลากหลายของจุลินทรีย์ในลำไส้ที่ดีขึ้นซึ่งสัมพันธ์กับอารมณ์ด้านลบที่ลดลง อย่างไรก็ตาม การบริโภคดาร์กช็อกโกแลตในปริมาณที่เท่ากัน แต่เป็นโกโก้ 70% (ให้โพลีฟีนอล 82.1 มก.) พบว่าไม่มีผลต่อด้านอารมณ์ (63)
- การศึกษาในผู้ใหญ่วัยกลางคนที่มีสุขภาพดีที่ได้รับเครื่องดื่มดาร์กช็อกโกแลตที่มีโพลีฟีนอล 500 มก., 250 มก. หรือ 0 มก. (ยาหลอก) เป็นเวลา 30 วัน แม้จะไม่พบว่ามีประโยชน์ด้านการรับรู้และความจำ แต่มีผลต่อเพิ่มอารมณ์ด้านบวก เช่น เพิ่มความสงบและความพึงพอใจในตนเองได้อย่างมีนัยสำคัญ เมื่อเทียบกับกลุ่มที่ได้รับยาหลอก (64)
- การศึกษาในผู้ชายสูงอายุที่ชอบรับประทานช็อกโกแลต พบความเชื่อมโยงกับสุขภาพโดยรวมดีที่ขึ้น การมองโลกในแง่ดี และการมีสุขภาพจิตที่ดีขึ้น (65)
- การศึกษาประชากรในสหรัฐอเมริกากว่า 13,000 คน พบว่าผู้ที่บริโภคดาร์กช็อกโกแลตจะมีอัตรารายงานของอาการซึมเศร้าต่ำกว่าผู้ที่ไม่รับประทานดาร์กช็อกโกแลตถึง 70% ในขณะที่ไม่พบความเกี่ยวข้องนี้ในผู้ที่บริโภคช็อกโกแลตอย่างอื่นที่ไม่ใช่ดาร์กช็อกโกแลต (66)
8. การมองเห็นที่ดี การบริโภคดาร์กช็อกโกแลตอาจช่วยให้การมองเห็นดีขึ้นจากการศึกษาหนึ่ง แต่ในการศึกษาที่เข้มงวดกว่าไม่พบประโยชน์ดังกล่าว จึงยังจำเป็นต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมต่อไป
- การศึกษาเล็ก ๆ ในปี 2018 พบว่าผู้ใหญ่อายุ 20 ปี (ที่ไม่มีโรคตา) ที่มีผู้เข้าร่วม 30 คน พบการมองเห็นที่ดีขึ้นในกลุ่มที่บริโภคดาร์กช็อกโกแลต โดยการทดสอบการมองเห็นนั้นทำหลังจากที่บริโภค 2 ชั่วโมง ซึ่งในกลุ่มแรกจะได้รับประทานดาร์กช็อกโกแลต 1 แท่ง (โกโก้ 72% ที่ให้ฟลาวานอล 316.3 มก.) ส่วนอีกกลุ่มได้รับประทานโกแลตนม 1 แท่ง (ให้ฟลาวานอล 40 มก.) และผลการทดสอบพบว่าในกลุ่มที่บริโภคดาร์กช็อกโกแลตจะมีความไวในการจับตัวหนังสือขนาดใหญ่ที่มีความคมชัดต่ำ (Small-letter contrast sensitivity) ที่ดีกว่ามาก และมีความไวในการจับตัวหนังสือขนาดใหญ่ที่มีความคมชัดต่ำ (Large-letter contrast sensitivity) ดีกว่าเล็กน้อยแต่ไม่มีนัยสำคัญ เมื่อเทียบกับกลุ่มที่บริโภคช็อกโกแลตนม นอกจากนี้ ความคมชัดทางการมองเห็น (Visual acuity) ก็ดีขึ้นเล็กน้อยอย่างมีนัยสำคัญในกลุ่มที่บริโภคดาร์กช็อกโกแลต ซึ่งเหล่านี้อาจเป็นผลมาจากการไหลเวียนของเลือดไปยังเรตินาหรือสมองที่เพิ่มขึ้น (อ้างอิง 67)
- อย่างไรก็ตาม ผลลัพธ์ข้างต้นนี้ขัดแย้งกับการศึกษาที่เข้มงวดกว่าในปี 2019 ถัดมา เนื่องจากพบว่าการมองเห็นหรือการไหลเวียนของเลือดในดวงตาไม่ดีขึ้นหลังการบริโภคดาร์กช็อกโกแลต 20 กรัม 2 ชั่วโมง (ให้ฟลาวานอล 400 มก.) เมื่อเทียบกับกลุ่มที่ได้รับช็อกโกแลตนม 7.5 กรัม (ให้ฟลาวานอล 5 มก.) (68)
9. ดีต่อสุขภาพลำไส้ โกโก้มีผลช่วยเพิ่มพรีไบโอติกในลำไส้ ซึ่งดีต่อระบบลำไส้ ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายที่แข็งแรง ช่วยเรื่องการเผาผลาญ และอาจมีประสิทธิภาพในด้านการต้านโรคบางชนิด
- การศึกษา 27 วันที่ควบคุมด้วยยาหลอกซึ่งป้อนผงโกโก้ฟลาวานอลสูงให้กับหมูเพศเมียทุกวัน (ซึ่งมีระบบลำไส้คล้ายกับของมนุษย์) พบการเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญของจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์อย่าง Lactobacillus casei และ Bifidobacterium lactis เมื่อให้โกโก้ฟลาวานอลในขนาด 205-410 มก./วัน (อ้างอิง 69)
- ผลลัพธ์คล้ายนี้กับการศึกษาในผู้ที่มีสุขภาพดีเป็นเวลา 4 สัปดาห์ ซึ่งการบริโภคโกโก้ฟลาวานอล 494 มก. ทุกวันจากเครื่องดื่ม ช่วยเพิ่มระดับจุลินทรีย์ในลำไส้ที่มีประโยชน์ (Bifidobacterium และ Lactobacillus) อย่างมีนัยสำคัญ และยับยั้งแบคทีเรีย Clostridium ที่ทำให้เกิดโรค (70)
10. ปกป้องผิวพรรณ โกโก้ฟลาวานอลอาจมีประโยชน์เล็กน้อยต่อการช่วยต่อต้านริ้วรอยบนใบหน้า เพิ่มความยืดหยุ่นของผิว เพิ่มความชุ่มชื้นให้ผิวหนัง และอาจช่วยปกป้องผิวจากรังสียูวี
- การศึกษาที่มีการควบคุมเป็นอย่างดีในปี 2016 กับผู้หญิงชาวเกาหลีจำนวน 64 คน (อายุเฉลี่ย 67 ปี) ที่ถูกแสงแดดทำร้ายผิวในระดับปานกลางและมีริ้วรอยที่มองเห็นได้ พบว่ากลุ่มที่ดื่มเครื่องดื่มโกโก้ไขมันต่ำที่มีผงโกโก้แปรรูป 4 กรัม (ให้ฟลาวานอล 320 มก./วัน) เป็นเวลา 24 สัปดาห์ เมื่อเทียบกับกลุ่มที่ดื่มเครื่องดื่มหลอก ในกลุ่มหลังนี้ความลึกของรอยย่น (รอยตีนกา) เพิ่มขึ้น 8% แต่แทบไม่มีการเปลี่ยนแปลงของรอยย่นในกลุ่มที่ได้รับเครื่องดื่มโกโก้ฟลาวานอล ส่วนความยืดหยุ่นของผิวในกลุ่มนี้ก็ดีขึ้นประมาณ 9% ในขณะที่กลุ่มที่ได้รับเครื่องดื่มหลอกไม่มีการเปลี่ยนแปลง โดยในระหว่างที่ศึกษา ผู้หญิงไม่ได้รับอนุญาตให้รับประทานอาหารอื่น ๆ ที่มีสารต้านอนุมูลอิสระสูง นอกจากนี้ ในบรรดากลุ่มย่อยที่ได้สัมผัสรังสียูวีเทียมในตอนท้ายของการศึกษา ยังพบว่าผู้ที่ดื่มเครื่องดื่มโกโก้ต้องใช้ปริมาณรังสีที่สูงกว่าเพื่อกระตุ้นให้ผิวหนังถูกทำลาย ซึ่งบ่งชี้ว่าโกโก้อาจมีผลในการป้องกันผิวจากรังสียูวี (อ้างอิง 71)
- การศึกษาในปี 2014 ในผู้หญิงที่มีสุขภาพดี พบว่าการบริโภคช็อกโกแลต 10 กรัมที่มีปริมาณฟลาวานอล 200 มก. วันละ 3 ครั้ง เป็นเวลา 12 สัปดาห์ไม่ได้ช่วยเพิ่มการป้องกันแสงยูวีเมื่อประเมินด้วยการทดสอบ MED (เป็นการทดสอบปริมาณของรังสียูวีต่ำสุดที่ทำให้เกิดอาการแดงของผิว) เมื่อเทียบกับช็อกโกแลตที่มีปริมาณฟลาวานอลต่ำ แต่พบว่าผิวหนังเฉพาะที่บริเวณขมับมีความยืดหยุ่นเพิ่มขึ้นเล็กน้อย แต่ไม่พบที่แขน และไม่พบความเปลี่ยนแปลงของระดับความชุ่มชื้นของผิวในทั้งสองกลุ่ม (72)
- การศึกษาก่อนหน้าในปี 2006 ในอาสาสมัครหญิงจำนวน 24 คน พบว่ากลุ่มที่ได้รับเครื่องดื่มโกโก้ฟลาวานอลสูง (ให้ฟลาวานอล 326 มก./วัน) มีความเสียหายของผิวหนังที่เกิดจากรังสียูวีลดลง 15% และ 25% หลังจากได้รับ 6 สัปดาห์และ 12 สัปดาห์ตามลำดับ เมื่อเทียบกับกลุ่มที่ได้รับเครื่องดื่มฟลาวานอลต่ำ (ให้ฟลาวานอล 27 มก./วัน) นอกจากนี้ ในกลุ่มที่ได้รับเครื่องดื่มโกโก้ฟลาวานอลสูงยังมีการไหลเวียนของเลือดไปที่ผิวหนังและเนื้อเยื่อใต้ผิวหนังที่มากขึ้น และความชุ่มชื้นของผิวหนังก็เพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน (73)
11. อาจลดความเสี่ยงมะเร็ง การศึกษาในหลอดทดลองพบว่าสารฟลาโวนอยด์ในโกโก้มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ ต้านการอักเสบ ช่วยปกป้องเซลล์จากความเสียหาย ช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์ กระตุ้นการตายของเซลล์มะเร็ง และป้องกันการแพร่กระจายของเซลล์มะเร็ง (อ้างอิง 74, 75) อย่างไรก็ตาม การศึกษาในมนุษย์นั้นมีหลักฐานยังขัดแย้ง โดยบางการศึกษาพบประโยชน์ในการลดความเสี่ยงมะเร็ง บางการศึกษาก็ไม่พบประโยชน์ และบางการศึกษายังพบว่าการบริโภคช็อกโกแลตบ่อยเกินไปอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งลำไส้ จึงยังจำเป็นมีการศึกษาเพิ่มเติมในอนาคต
- การศึกษาในสัตว์ทดลองที่ได้รับโกโก้หรือสารสกัดจากโกโก้ได้แสดงให้เห็นผลเชิงบวกในการลดความเสี่ยงการเกิดมะเร็งเต้านม มะเร็งตับอ่อน มะเร็งต่อมลูกหมาก มะเร็งตับและลำไส้ใหญ่ และมะเร็งเม็ดเลือดขาว (76)
- การทบทวนการศึกษาในมนุษย์เกี่ยวกับโกโก้และมะเร็งเรื่องหนึ่ง ระบุว่าโกโก้มีสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพที่มีคุณสมบัติต้านอนุมูลอิสระและอาจมีบทบาทในการป้องกันมะเร็ง แต่ยังจำเป็นต้องมีการศึกษาเพิ่มเติม (77)
- การทบทวนศึกษาในผู้ชายจำนวน 27,111 คน พบว่าการบริโภคช็อกโกแลตมีความสัมพันธ์กับอัตราการเสียชีวิตที่ลดลงจากโรคหัวใจและหลอดเลือด, โรคหัวใจ รวมถึงโรคมะเร็ง (78)
- การศึกษาในผู้สูงอายุที่มีสุขภาพดีและไม่มีประวัติมะเร็ง พบว่าการรับประทานอาหารเสริมจากสารสกัดโกโก้ (Cocoa extract) ทุกวัน (ให้ฟลาวานอล 500 มก.) เป็นเวลา 3 ปี ไม่ได้ช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็ง เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มที่ได้รับยาหลอก (79)
- การศึกษาเชิงสังเกตขนาดใหญ่ (Women’s Health Initiative Study) ซึ่งรวบรวมข้อมูลการบริโภคช็อกโกแลตในผู้หญิงจำนวน 114,281 คน (อายุเฉลี่ย 64 ปี) พบว่าการบริโภคช็อกโกแลต (ไม่ระบุชนิดของช็อกโกแลต) ไม่มีความเกี่ยวข้องกับความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งระยะลุกลาม (Invasive total cancer) หรือมะเร็งเต้านมระยะลุกลาม (Invasive breast cancer) แต่กลับพบว่ามีความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้น 18% ต่อการเกิดมะเร็งลำไส้ระยะลุกลาม (Invasive colorectal cancer) ในผู้หญิงที่บริโภคช็อกโกแลต 1 ออนซ์ (28.4 กรัม) อย่างน้อย 1.5 ครั้งต่อสัปดาห์ เมื่อเทียบกับผู้หญิงที่บริโภคช็อกโกแลต 1 ออนซ์ น้อยกว่า 1 ครั้งต่อเดือน ซึ่งอาจเป็นเพราะการบริโภคที่บ่อยครั้งเกินไปส่งผลต่อภาวะอ้วน (น้ำหนักเกิน/โรคอ้วน) ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่และมะเร็งบางชนิด และไม่มีหลักฐานที่ชัดเจนที่สนับสนุนประโยชน์ของช็อกโกแลตในการป้องกันมะเร็ง การเพิ่มการบริโภคช็อกโกแลตเพื่อลดมะเร็งจึงดูไม่เป็นประโยชน์ (80)
12. อาจมีประโยชน์ต่อผู้ป่วยโรคหอบหืด (Asthma) เชื่อว่าโกโก้อาจมีประโยชน์สำหรับผู้ที่เป็นโรคหอบหืด เนื่องจากโกโก้มีสารต่อต้านโรคหืด เช่น ธีโอโบรมีน (มีฤทธิ์บรรเทาอาการไอเรื้อรัง (อ้างอิง 81)) และธีโอฟิลลีน (ออกฤทธิ์ลดการอักเสบในทางเดินหายใจและคลายกล้ามเนื้อหลอดลม จึงช่วยให้หายใจได้สะดวกยิ่งขึ้น (82)) โดยการศึกษาในสัตว์ทดลองแสดงให้เห็นว่าสารสกัดจากโกโก้สามารถช่วยลดการตีบแคบของหลอดลมและความหนาของเนื้อเยื่อหลอดลมได้ (83, 84) อย่างไรก็ตาม การค้นพบนี้ยังไม่ได้รับการทดลองในมนุษย์ และยังเร็วเกินไปที่สรุปได้ว่าโกโก้มีประโยชน์ ดังนั้น จึงจำเป็นต้องมีการทดลองในมนุษย์ก่อนจะแนะนำให้ใช้เป็นการรักษา
13. เพิ่มสมรรถภาพทางกายและการออกกำลังกาย โกโก้ฟลาวานอลอาจช่วยเพิ่มสมรรถภาพทางกาย (Physical performance) ได้ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่
- การศึกษาเล็ก ๆ ในผู้ชายที่เข้ารับการฝึกฝน (ปั่นจักรยาน) เมื่อให้ดาร์กช็อกโกแลต 40 กรัม เป็นเวลา 14 วัน พบว่าดาร์กช็อกโกแลตมีผลเพิ่มระยะทางในการปั่นจักรยานอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ และช่วยการใช้ออกซิเจนในการออกกำลังกายลงได้ โดยผู้วิจัยระบุว่า “ดาร์กช็อกโกแลตอาจเป็นตัวช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการกีฬา (Ergogenic aids) สำหรับการออกกำลังกายแบบเข้มข้นปานกลางในระยะเวลาสั้น ๆ” (อ้างอิง 85)
- การบริโภคผงโกโก้ในปริมาณมากอาจช่วยปรับปรุงสมรรถภาพทางกายในกิจกรรมประจำวัน เช่น การเดิน การลุก และการหยิบจับสิ่งของ โดยผลลัพธ์นี้แสดงให้เห็นในการศึกษาในผู้ชายและผู้หญิงสูงอายุในเม็กซิโก (อายุเฉลี่ย 76 ปี) เป็นเวลา 2 เดือน พบว่ากลุ่มที่บริโภคผงโกโก้ 5 กรัมผสมน้ำ (ให้ฟลาวานอล 895 มก.) มีสมรรถภาพทางกายในการทำกิจกรรมประจำวันต่าง ๆ ได้ดีกว่ากลุ่มที่ได้รับเครื่องดื่มโกโก้ที่ไม่มีฟลาวานอล (86)
- การศึกษาอื่นในผู้ใหญ่วัยกลางคน (อายุ 42 ปี) ที่การเสริมอีพิคาเทชิน 1 มก./กก. วันละ 2 ครั้ง ช่วยเพิ่มแรงยึดจับของมือ 7% เมื่อเทียบกับระดับพื้นฐาน แม้ว่าการศึกษานี้จะไม่มีการเปรียบเทียบกับกลุ่มควบคุมที่ได้รับยาหลอก (87) สอดคล้องกับการศึกษาในหนูทดลองอายุ 1 ปี เป็นเวลา 15 วัน ที่การเสริมอีพิคาเทชิน 1 มก./กก. วันละ 2 ครั้ง ควบคู่ไปกับการออกกำลังกาย ช่วยเพิ่มระยะเวลาและระยะทางได้มากกว่าเมื่อเทียบกับหนูที่ออกกำลังกายเพียงอย่างเดียว ในขณะที่การเสริมอีพิคาเทชินเพียงอย่างเดียวแต่ไม่ได้ออกกำลังกายไม่มีผลใด ๆ เมื่อเทียบกับกลุ่มควบคุม (88)
14. มีคาเฟอีนและธีโอโบรมีน สารคาเฟอีน (Caffeine) และธีโอโบรมีน (Theobromine) เป็นสารที่มีอยู่ในโกโก้ทั้งคู่ ซึ่งทั้งสองต่างก็มีฤทธิ์ช่วยในเรื่องของการตื่นตัว จึงช่วยลดความรู้สึกง่วง อ่อนเพลีย (โดยการไปบล็อกบล็อกสารอะดีโนซิน (Adenosine) ซึ่งเป็นสารที่ทำให้รู้สึกง่วง อ่อนเพลีย และไม่อยากทำอะไรนั่นเอง) (อ้างอิง 89) นอกจากนี้ ธีโอโบรมีนยังมีฤทธิ์ทำให้หลอดเลือดคลายตัวและมีฤทธิ์ขับปัสสาวะ ในอดีตเคยถูกใช้เป็นยารักษาโรคหัวใจและขยายหลอดลม (เพื่อช่วยให้ทางเดินหายใจโล่งขึ้น) และธีโอโบรมีนยังมีฤทธิ์ช่วยลดระดับคอเลสเตอรอลชนิดไม่ดี (LDL) ลงได้ 5.6% ในการศึกษาหนึ่งที่ใช้ธีโอโบรมีนวันละ 500 มก. เป็นเวลา 4 สัปดาห์ ในผู้ชายและผู้หญิงที่มีน้ำหนักตัวเกินที่มีสุขภาพแข็งแรง (90)
15. เป็นแหล่งของธาตุเหล็กและทองแดง ธาตุเหล็กในผงโกโก้หรือช็อกโกแลตแต่ละชนิดจะมีปริมาณแตกต่างกันไป แต่คาดว่าจะมีประมาณ 1-2 มก. ในผงโกโก้ 5 กรัม และประมาณ 3 มก. ในดาร์กช็อกโกแลต 40 กรัม ในขณะที่ความต้องการของธาตุเหล็กต่อวันจะอยู่ที่ 7-18 มก. ขึ้นอยู่กับอายุและเพศ (91) ส่วนธาตุทองแดง (จำเป็นต่อการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันและระบบประสาทที่เหมาะสม ตลอดจนสุขภาพหัวใจและหลอดเลือด) พบว่าปริมาณขึ้นอยู่กับรูปแบบของโกโก้หรือช็อกโกแลต โดยในผู้ใหญ่อาจได้รับทองแดงจากแหล่งนี้ตั้งแต่ 20% ไปจนถึงมากกว่า 100% ของปริมาณทองแดงที่แนะนำต่อวันซึ่งอยู่ที่ 900 ไมโคกรัม อย่างดาร์กช็อกโกแลตจะมีทองแดงมากกว่าช็อกโกแลตนมมาก โดยดาร์กช็อกโกแลต 50 กรัม (โกโก้ 70-85%) จะให้ทองแดง 895 ไมโครกรัม ในขณะที่ช็อกโกแลตนมขนาดเท่ากันจะให้ทองแดง 246 ไมโครกรัม (92)
เรื่องที่เกี่ยวข้อง : สรุปประโยชน์ของธาตุเหล็ก (Iron) จากงานวิจัย !
16. ประโยชน์ของโกโก้ในด้านอื่น ๆ ที่อาจเป็นไปได้ แต่ยังต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมในอนาคต
- อาจช่วยให้อายุยืนยาวและยืดอายุขัย การศึกษาในสัตว์ทดลองกับหนูอายุมากที่ได้รับอีพิคาเทชิน 1 มก./กก. ดูเหมือนจะช่วยยืดอายุหรือชะลอการชราภาพลงได้เมื่อเทียบกับกลุ่มควบคุม (อ้างอิง 93)
- โรคหืดจากภูมิแพ้ (Allergic asthma) ในการศึกษาที่ออกแบบมาเพื่อประเมินผลของผงโกโก้ (ไม่หวาน) ต่อโรคหืดจากภูมิแพ้ พบว่าในหนูตะเภาที่ได้รับโกโก้ แสดงให้เห็นถึงฤทธิ์ต้านโรคหืดที่ขึ้นอยู่กับปริมาณเมื่อเทียบกับกลุ่มควบคุม (94)
- เอชไอวี (HIV) การศึกษาในหลอดทดลองแสดงให้เห็นว่าอีพิคาเทชินที่พบในช็อกโกแลตมีศักยภาพในการจำกัดความผิดปกติในการทำงานของเซลล์ประสาท (Neuronal dysfunction) ที่เกี่ยวข้องกับการติดเชื้อเอชไอวี แต่จำเป็นต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมเพื่อพิจารณาว่าสิ่งนี้สามารถนำมาใช้เพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยเอชไอวีได้หรือไม่ (95)
- อาจเป็นประโยชน์ต่อสภาวะที่เกี่ยวข้องกับการสูญเสียกล้ามเนื้อ เช่น ภาวะมวลกล้ามเนื้อน้อย (Sarcopenia) และกล้ามเนื้ออ่อนแรง (Muscle weakness) จากการศึกษาหนึ่ง (อ้างอิง 87)
ข้อควรรู้และคำแนะนำ
- ผลิตภัณฑ์ที่มีโกโก้ต่ำ เช่น ช็อกโกแลตนมและไวท์ช็อกโกแลต ไม่มีประโยชน์และไม่สามารถใช้ทดแทนผงโกโก้ (ไม่หวานและไม่ผ่านกระบวนการดัตซ์), ดาร์กช็อกโกแลต (โกโก้อย่างน้อย 70% แต่ที่แนะนำคือ 85% ขึ้นไป) และสารสกัดจากโกโก้ในรูปแบบผลิตภัณฑ์อาหารเสริมได้
- โปรดทราบว่า “% cocoa” หรือ “% cacao” ในช็อกโกแลตหมายถึงปริมาณผงโกโก้ทั้งหมดรวมกับเนยโกโก้ (Cocoa butter) เมื่อเทียบกับส่วนผสมอื่น ๆ ทั้งหมด อย่างไรก็ตาม ผู้ผลิตมักไม่เปิดเผยอัตราส่วนของผงโกโก้ต่อเนยโกโก้ในช็อกโกแลต ดังนั้น “% cocoa” จึงเป็นเพียงตัวเลขคร่าว ๆ ของปริมาณผงโกโก้ในผลิตภัณฑ์และช็อกโกแลตว่าอาจมีปริมาณสารฟลาวานอลมากน้อยเพียงใด
- ยังไม่มีการกำหนดปริมาณฟลาวานอลที่มีประสิทธิภาพเพื่อวัตถุประสงค์เฉพาะใด ๆ แม้การศึกษาหลายเรื่องจะพบผลลัพธ์เชิงบวกเมื่อใช้ในปริมาณตั้งแต่ 50-200 มก. หรือมากกว่านี้ทุกวัน
- ผลิตภัณฑ์โกโก้ในยุโรปที่มีสารฟลาวานอลอย่างน้อย 200 มก./วัน ได้รับอนุญาตให้กล่าวอ้างสรรพคุณได้ว่า “อาจมีผลช่วยส่งเสริมการไหลเวียนของเลือดให้เป็นปกติ”
- ในการได้รับฟลาวานอล 200 มก. จากผงโกโก้ธรรมชาติที่ไม่หวานและไม่ผ่านกระบวนการดัตซ์ ต้องใช้ผงโกโก้ประมาณ 1 ช้อนโต๊ะ (5 กรัม) ในขณะที่การบริโภคผงโกโก้แบบชงดื่มเอง 1 แก้ว โดยทั่วไปแล้วจะใช้ผงโกโก้ประมาณ 1-2.5 ช้อนโต๊ะ (5-15 กรัม) อย่างไรก็ตาม ผลิตภัณฑ์โกโก้บางยี่ห้อก็ผลิตเพื่อให้มีฟลาวานอลที่มีความเข้มข้นสูงโดยเฉพาะจะมีปริมาณฟลาวานอลที่มากกว่านี้
- ปริมาณฟลาวานอลในโกโก้และผลิตภัณฑ์โกโก้อาจแตกต่างกันได้มาก และผลิตภัณฑ์ส่วนใหญ่มักไม่ได้ระบุปริมาณของสารฟลาวานอลเอาไว้
- ผลิตภัณฑ์จากผงโกโก้ที่ผ่านกระบวนการดัตช์หรือดัตช์โพรเซส (Dutched / Dutch-Process) เพื่อลดความขมและทำให้สีของโกโก้เข้มขึ้น พบว่าจะทำให้ปริมาณสารฟลาวานอลลดลงอย่างมากตามความหนักเบาของกระบวนการ โดยหากผ่านกระบวน Dutching ระดับเบา (Light dutching) จะทำให้มีปริมาณฟลาวานอลหายไป 60%, Dutching ระดับปานกลาง (Medium dutching) หายไป 75% และ Dutching ระดับหนัก (Heavy dutching) หายไปถึง 90% ตามการศึกษาหนึ่ง (อ้างอิง 96) และน่าเสียดายที่ผู้ผลิตส่วนใหญ่มักไม่ได้ระบุว่าใช้กระบวนการ Dutching ในระดับใดในการผลิต เพื่อได้รับประโยชน์จากโกโก้อย่างเต็มที่จึงควรหลีกเลี่ยงการบริโภคที่ผ่านกระบวนการดัตซ์
- แคลอรี (Calorie) แคลอรีในผลิตภัณฑ์โกโก้และดาร์กช็อกโกแลตส่วนใหญ่จะมาจากเนยโกโก้ (9 แคลอรี/กรัม) และน้ำตาล (4 แคลอรี/ต่อกรัม) โดยในผงโกโก้ที่ไม่หวาน (ไม่มีน้ำตาล) โดยทั่วไปจะมีเนยโกโก้เพียงเล็กน้อย ซึ่ง 1 ช้อนโต๊ะ (ประมาณ 5 กรัม) มักจะให้พลังงานเพียง 10-20 แคลอรี, ในขณะที่ดาร์กช็อกโกแลตที่จะประกอบไปด้วยเนยโกโก้และน้ำตาล ซึ่งในขนาด 40 กรัมจะให้พลังงานประมาณ 250 แคลอรี (หรือประมาณ 200 แคลอรีถ้าไม่ใส่น้ำตาล) ส่วนผลิตภัณฑ์อาหารเสริมโกโก้หรือสารสกัดจากโกโก้มักจะมีน้ำตาลน้อยหรือไม่มีเลยและมีเนยโกโก้น้อยที่สุด จึงให้แคลอรีน้อย
- คาเฟอีน (Caffeine) ผลิตภัณฑ์จากโกโก้จะมีคาเฟอีนผสมอยู่ด้วย แม้ว่าโดยทั่วไปแล้วจะน้อยกว่าในกาแฟหนึ่งแก้ว (ประมาณ 100 มก.) แต่ดาร์กช็อกโกแลต 40 กรัม โดยทั่วไปก็มีคาเฟอีนประมาณ 25-85 มก. หรือในผงโกโก้ 1 ช้อนโต๊ะ (5 กรัม) จะมีคาเฟอีนประมาณ 10-20 มก. ส่วนอาหารเสริมโกโก้นั้นจะมีคาเฟอีนประมาณ 1-30 มก. และโกโก้นิบส์ (Cocoa nibs) 30 กรัม อาจมีคาเฟอีน 45-85 มก.
- ธีโอโบรมีน (Theobromine) สารที่มีรสขมและอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงก็พบได้ในผลิตภัณฑ์จากโกโก้เช่นกัน โดยในดาร์กช็อกโกแลตแท่งพบว่ามีปริมาณตั้งแต่ 51.4 มก. ถึงมากกว่า 600 มก. ต่อหนึ่งหน่วยบริโภค, ในอาหารเสริมจะมีปริมาณตั้งแต่ประมาณ 15-155 มก., ในผงโกโก้ 1 ช้อนโต๊ะ (5 กรัม) จะมีธีโอโบรมีนประมาณ 100-120 มก. (แต่อาจน้อยกว่านี้มากหากผ่านกระบวนการดัตช์) และโกโก้นิบส์ (Cocoa nibs) 3 ช้อนโต๊ะจะมีธีโอโบรมีนประมาณ 300 มก.
ข้อกังวลและข้อควรระวัง
- ความปลอดภัย : ผลิตภัณฑ์โกโก้และช็อกโกแลตโดยทั่วไปมีความปลอดภัยสูง โดยจากการศึกษาเป็น 3 เดือนในผู้ชายและผู้หญิงที่มีสุขภาพแข็งแรง พบว่าการได้รับโกโก้ฟลาวานอลสูงถึง 1,000-2,000 มก. พบว่ามีความปลอดภัย ความดันโลหิตไม่เปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ รวมถึงการทำงานของเกล็ดเลือด คอเลสเตอรอล หรืออัตราการเต้นของหัวใจ (อ้างอิง 19)
- โปรดจำไว้ว่าผลิตภัณฑ์จากโกโก้บางชนิด โดยเฉพาะช็อกโกแลตจะมีน้ำตาลและไขมันในปริมาณสูงและให้แคลอรีจำนวนมาก ดังนั้นจึงควรรับประทานในปริมาณที่พอเหมาะ เนื่องจากน้ำตาล ไขมัน และแคลอรีมากเกินไปอาจลบล้างประโยชน์เชิงบวกของสารฟลาวานอลในโกโก้ได้
- ฤทธิ์ต้านเกล็ดเลือด : อาจทำให้เลือดแข็งตัวช้าในผู้ที่มีสุขภาพดีและอาจเพิ่มผลกระทบของยาต้านเกล็ดเลือดบางชนิด เพราะการศึกษาพบว่าการบริโภคดาร์กช็อกโกแลต 30 กรัม (โกโก้ 65%) ทุกวัน เป็นเวลา 1 สัปดาห์ มีผลเพิ่มฤทธิ์ของยาต้านเกล็ดเลือดโคลพิโดเกรล (Clopidogrel) หรือ Plavix® อย่างมีนัยสำคัญ และยังมีผลเพิ่มฤทธิ์ต้านเกล็ดเลือดของยาแอสไพรินด้วยเล็กน้อย (อ้างอิง 17)
- อาจกระตุ้นไมเกรน : มีรายงานการบริโภคโกโก้และ/หรือช็อกโกแลตแล้วกระตุ้นให้เกิดไมเกรนได้ในบางคน อย่างไรก็ตาม หลักฐานในเรื่องนี้มีปะปนกันไปและยังไม่มีความชัดเจนว่าโกโก้กระตุ้นให้เกิดไมเกรนได้อย่างไร แต่จากการศึกษา เราพบว่าโกโก้มีเอมีน Phenylethylamine และ Tyramine (ประมาณ 0.1-2.8 ไมโครกรัม/กรัม และ 3.6-8.3 ไมโครกรัม/กรัม ตามลำดับ) ซึ่งพบได้ในอาหาร เช่น ไวน์และชีส ซึ่งผู้ที่เป็นไมเกรนมักได้รับคำแนะนำว่าให้หลีกเลี่ยง และโกโก้ยังมีผลเพิ่มการไหลเวียนของเลือดไปยังสมอง ซึ่งในทางทฤษฎีแล้วอาจกระตุ้นให้เกิดไมเกรนได้ในบางคน (อ้างอิง 60) อย่างไรก็ตาม การศึกษาทางคลินิกในผู้ที่เป็นไมเกรนก็มีผลลัพธ์ที่หลากหลาย โดยบางรายงานพบว่ามีอุบัติการณ์การเกิดไมเกรนเพิ่มขึ้น แต่บางรายงานบางรายก็พบว่าไม่มี (อ้างอิง 97, 98, 99) หรืออย่างในการศึกษาทดลองทางคลินิกที่ควบคุมด้วยยาหลอก ก็พบว่าการบริโภคช็อกโกแลต 44-62 กรัม ไม่ได้เพิ่มความเสี่ยงของไมเกรนในผู้ที่มีประวัติเป็นไมเกรน เมื่อเทียบกับกลุ่มที่ได้รับยาหลอก (100)
- อาจกระตุ้นสิว : แม้ว่าการศึกษาบางส่วนที่บริโภคช็อกโกแลตแท่งไม่พบว่าทำให้สิวแย่ลงหรือกระตุ้นการเกิดสิว แต่การศึกษาขนาดเล็กที่ควบคุมด้วยยาหลอกที่ให้ผงโกโก้ 100% ในผู้ชายอายุ 18-35 ปี พบความสัมพันธ์ในระดับปานกลางของจำนวนสิวที่เพิ่มขึ้นในกลุ่มที่ได้รับโกโก้ เมื่อเทียบกับกลุ่มที่ได้รับยาหลอก โดยผู้วิจัยสรุปว่าในผู้ชายที่เป็นสิวง่าย การบริโภคช็อกโกแลตมีความสัมพันธ์กับการกำเริบของสิวที่มากขึ้น (101)
- ออกซาเลตกับความเสี่ยงนิ่วในไต : มูลนิธิโรคไต (The National Kidney Foundation) แนะนำให้ผู้ที่มีแนวโน้มที่จะเกิดนิ่วในไตจากแคลเซียมออกซาเลต (นิ่วในไตชนิดที่พบได้บ่อยที่สุด) ให้หลีกเลี่ยงการบริโภคโกโก้และช็อกโกแลต เนื่องจากในโกโก้และช็อกโกแลตมีปริมาณของออกซาเลตในระดับปานกลางถึงสูง ซึ่งอาจทำให้เกิดปัญหาสุขภาพได้ในบางคน โดยในการศึกษาเล็ก ๆ ในกลุ่มผู้หญิงที่บริโภคดาร์กช็อกโกแลต 68 กรัม (โกโก้ 72%) มีผลเพิ่มปริมาณออกซาเลตในปัสสาวะโดยเฉลี่ย 69% ในช่วงเวลา 6 ชั่วโมง เมื่อเทียบกับตอนที่ไม่ได้บริโภค (102) โดยปริมาณออกซาเลตในผงโกโก้ 1 ช้อนโต๊ะจะมีประมาณ 36 มก. ในขณะที่ดาร์กช็อกโกแลต 50 กรัมอาจมีออกซาเลตถึง 100 มก. ซึ่งเหล่านี้คือว่าใกล้เคียงหรือเกินจากปริมาณที่ควรได้รับต่อวัน (โดยปกติแล้วควรจำกัดปริมาณออกซาเลตจากอาหารอยู่ที่ 50-80 มก./วัน)
- คาเฟอีนและธีโอโบรมีน (Caffeine & Theobromine) : ปริมาณของสารทั้งสองนี้ที่พบในโกโก้และช็อกโกแลตอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงได้ในบางคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อรับประทานในขณะที่ท้องว่าง เช่น แสบร้อนกลางอก โรคกระเพาะ นอนไม่หลับ วิตกกังวล และหัวใจเต้นผิดจังหวะในบางคน นอกจากนี้ การบริโภคโกโก้วันละ 50-100 กรัมต่อวัน (ให้ธีโอโบรมีน 800-1,500 มก.) อาจทำให้เกิดอาการตัวสั่น เหงื่อออก ปวดศีรษะอย่างรุนแรง (103) อาจทำให้เกิดอาการคลื่นไส้และอาเจียนในบางคน (104) หรืออาจเป็นปัญหาสำหรับผู้ที่ต้องการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด (มีผลเพิ่มระดับน้ำตาลในเลือดเมื่อได้รับในขนาดวันละ 500 มก. เป็นเวลา 4 สัปดาห์) ในผู้ที่ควบคุมระดับน้ำตาลไม่ได้จึงควรจำกัดการบริโภคดาร์กช็อกโกแลตไม่ให้เกิน 2 มื้อ/สัปดาห์ ส่วนในสัตว์เลี้ยง คาเฟอีนและธีโอโบรมีนยังเป็นพิษต่อสุนัขและแมว (โดยเฉพาะดาร์กช็อกโกแลต) ทำให้สุนัขและแมวเกิดอาการกระหายน้ำมาก อาเจียน ท้องเสีย ท้องอืด และกระวนกระวาย ซึ่งอาจนำไปสู่อาการชัก โคม่า และตายได้ จึงห้ามให้นำมาให้สัตว์เลี้ยงกิน
- แคดเมียม (Cadmium) : สหภาพยุโรปได้กำหนดขีดจำกัดของแคดเมียมไว้ที่ 0.6 ไมโครกรัม/ผงโกโก้หนึ่งกรัม (แคดเมียมในช็อกโกแลตที่มีโกโก้ 30-50% คือ 0.3 ไมโครกรัม/กรัม ส่วนช็อกโกแลตที่มีโกโก้มากกว่า 50% อย่างดาร์กช็อกโกแลต คือ 0.8 ไมโครกรัม/กรัม ส่วนในช็อกโกแลตนมจะอยู่ที่ 0.1 ไมโครกรัม/กรัม เนื่องจากมีความกังวลเป็นพิเศษในเด็กที่มักกินช็อกโกแลตนมมากกว่าดาร์กช็อกโกแลต)
- การศึกษาที่ตีพิมพ์ในปี 2018 โดยนักวิจัยจากองค์การอาหารและยาของสหรัฐอเมริกาได้ตรวจผลิตภัณฑ์โกโก้และช็อกโกแลตจำนวน 144 รายการ (ไม่ระบุยี่ห้อ) ที่จำหน่ายในสหรัฐอเมริกา แล้วพบว่าความเข้มข้นของแคดเมียมสูงสุดในผงโกโก้เฉลี่ยอยู่ที่ 0.7 ไมโครกรัม/กรัม), โกโก้นิบส์เฉลี่ย 0.62 ไมโครกรัม/กรัม, ดาร์กช็อกโกแลตเฉลี่ย 0.27 ไมโครกรัม/กรัม และช็อกโกแลตนมในระดับต่ำมาก คือ เฉลี่ย 0.06 ไมโครกรัม/กรัม (105)
- แคดเมียมเป็นหนึ่งในสารก่อมะเร็งที่อาจเป็นพิษต่อไต สามารถทำให้กระดูกอ่อนลง ทำให้เกิดอาการปวดกระดูก และอาจส่งผลต่อพัฒนาการของทารกในครรภ์ ในผู้ใหญ่ที่มีน้ำหนัก 150 ปอนด์สามารถทนต่อการสัมผัสแคดเมียมอย่างต่อเนื่องทุกวัน (นั่นคือ จากแหล่งรับสัมผัสทั้งหมด เช่น อาหาร เครื่องดื่ม อากาศ) ได้ถึง 25 ไมโครกรัม ในขณะที่เด็กที่มีน้ำหนักเพียงครึ่งหนึ่งสามารถทนได้ ประมาณ 12 ไมโครกรัม (106)
- ผลิตภัณฑ์ “ออร์แกนิก” โดยทั่วไปมักมีการปนเปื้อนแคดเมียมมากกว่าผลิตภัณฑ์ที่ไม่ใช่ออร์แกนิก เพราะปริมาณแคดเมียมในเมล็ดโกโก้จะเพิ่มขึ้นตามปริมาณแคดเมียมในดินที่ปลูกและเมื่อดินมีความเป็นกรดเพิ่มขึ้น (107)
- นิกเกิล (Nickel) : ผงโกโก้และช็อกโกแลตมักมีนิกเกิลค่อนข้างสูงและอาจก่อให้เกิดผื่นแพ้สัมผัส (Allergic contact dermatitis) ในบุคคลที่ไวต่อนิกเกิล ซึ่งมักจะเกิดขึ้นเมื่อรับประทานเข้าไปในปริมาณมากหรือร่วมกับอาหารอื่น ๆ ที่มีนิกเกิลสูง เช่น ถั่วและถั่วต่างๆ อาหารกระป๋อง หอย ข้าวโอ๊ต (รวมถึงกราโนลา) ถั่วลิสง เฮเซลนัท วอลนัท และเมล็ดทานตะวัน (108)
- สารตะกั่วและสารหนู (Lead & Arsenic) : อาจมีพบบ้างเล็กน้อยในโกโก้และช็อกโกแลต (เกี่ยวข้องกับการเก็บเกี่ยวและกระบวนการผลิต) แต่ทุกยี่ห้อจากหลายการทดสอบมักมีปริมาณไม่เกินค่ามาตรฐาน
- อะคริลาไมด์ (Acrylamide) : เป็นสารที่เป็นพิษต่อระบบประสาทและน่าจะเป็นสารก่อมะเร็งที่เกิดขึ้นเมื่อเมล็ดโกโก้ถูกคั่ว (เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการผลิตทั่วไป) การทดสอบขององค์การอาหารและยาในปี 2002 พบปริมาณอะคริลาไมด์ในผงโกโก้และช็อกโกแลตแท่งต่าง ๆ มีตั้งแต่ 0.29-4.5 ไมโครกรัมต่อหนึ่งหน่วยบริโภค อะคริลาไมด์ในปริมาณเพียงเล็กน้อยก็อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดเนื้องอกได้ ทำให้รัฐแคลิฟอร์เนียต้องมีฉลากเตือนบนอาหารที่มีอะคริลาไมด์มากกว่า 0.2 ไมโครกรัมต่อหนึ่งหน่วยบริโภคต่อวัน แม้ว่าจะมีความเสี่ยงเพียงเล็กน้อยต่อระบบประสาทหากได้รับน้อยกว่าวันละ 140 ไมโครกรัมก็ตาม (109)
- โอคราทอกซิน เอ (Ochratoxin A) : เมล็ดโกโก้สามารถปนเปื้อนเชื้อราซึ่งผลิตสารพิษได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกระบวนการอบแห้งและการเก็บรักษา โดย Ochratoxin A นี้เป็นสารก่อมะเร็งและเป็นพิษต่อไต เป็นหนึ่งในสารพิษจากเชื้อราที่พบได้บ่อยที่สุดในเมล็ดโกโก้ อย่างไรก็ตาม สารพิษนี้ส่วนใหญ่จะพบในเปลือกของเมล็ดถั่ว ซึ่งจะถูกคัดออกระหว่างการผลิต โดยจากการวิเคราะห์ผลิตภัณฑ์โกโก้และช็อกโกแลตรวม 85 รายการที่ขายในแคนาดาในระหว่างปี 2011-2012 พบว่ามีผงโกโก้เพียง 2 รายการที่มีปริมาณสาร Ochratoxin A เกินขีดจำกัดของยุโรป (110)
- ส่วนผสมของนมในดาร์กช็อกโกแลต (ควรระวังในผู้ที่แพ้นม) : ในผู้ที่แพ้นมควรระวังว่าดาร์กช็อกโกแลตแท่งที่อาจมีนมเป็นส่วนผสมอยู่ เนื่องจากผลการทดสอบที่เผยแพร่ในปี 2020 โดย FDA กับดาร์กช็อกโกแลตแท่งและช็อกโกแลตชิปจำนวน 119 รายการที่ในฉลากระบุว่า “ปราศจากนม” พบว่าในจำนวนเหล่านี้มีประมาณถึง 10% ที่มีนมผสมอยู่ด้วย (111)
สรุปเรื่องผงโกโก้ & ดาร์กช็อกโกแลต
- โกโก้อาจมีประโยชน์ต่อสุขภาพหัวใจและหลอดเลือด ช่วยเพิ่มการไหลเวียนของเลือด ลดความดันโลหิต ลดระดับคอเลสเตอรอล ลดน้ำตาลในเลือดขณะอดอาหาร เพิ่มความไวของอินซูลิน เสริมพรีไบโอติกในลำไส้ ดีต่อสมอง อารมณ์และความเครียด ดีต่อผิวพรรณ/ป้องกันการเกิดริ้วรอย เพิ่มการมองเห็นที่ดี ช่วยลดหรือควบคุมน้ำหนักตัว เสริมสมรรถภาพทางกาย เป็นต้น
- ผลิตภัณฑ์โกโก้ที่ให้ประโยชน์ตามงานวิจัย ได้แก่ ผงโกโก้ (ไม่หวานและไม่ผ่านกระบวนการดัตซ์), ดาร์กช็อกโกแลต (โกโก้อย่างน้อย 70%) และสารสกัดจากโกโก้ในรูปแบบผลิตภัณฑ์อาหารเสริม
- หลีกเลี่ยงผงโกโก้ที่ผ่านกระบวนการดัตซ์ (Dutched) เพราะจะมีทำให้สารสำคัญอย่างฟลาวานอลลดลงอย่างมากจนไม่ได้ประโยชน์ต่อสุขภาพ
งานวิจัยอ้างอิง
- U.S. FDA. “Petition for a Qualified Health Claim – for Cocoa Flavanols and Reduced Risk of Cardiovascular Disease”. (2023)
- EFSA. “Scientific Opinion on the substantiation of a health claim related to cocoa flavanols and maintenance of normal endothelium-dependent vasodilation pursuant to Article 13(5) of Regulation (EC) No 1924/2006”. (2012)
- Phytotherapy Research . “The Impact of Cocoa Flavanols on Cardiovascular Health”. (2016)
- Heart. “Habitual chocolate consumption and risk of cardiovascular disease among healthy men and women”. (2015)
- The American Journal of Clinical Nutrition. “Effect of cocoa flavanol supplementation for the prevention of cardiovascular disease events: the COcoa Supplement and Multivitamin Outcomes Study (COSMOS) randomized clinical trial”. (2022)
- Cambridge University Press. “Cocoa flavanol intake improves endothelial function and Framingham Risk Score in healthy men and women: a randomised, controlled, double-masked trial: the Flaviola Health Study”. (2015)
- Neurology. “Chocolate consumption and risk of stroke: a prospective cohort of men and meta-analysis”. (2012)
- Heart.. “Chocolate intake and risk of clinically apparent atrial fibrillation: the Danish Diet, Cancer, and Health Study”. (2017)
- European Heart Journal. “Chocolate consumption and risk of heart failure: a meta-analysis of prospective cohort studies”. (2018)
- Circulation: Heart Failure. “Chocolate intake and incidence of heart failure: a population-based prospective study of middle-aged and elderly women”. (2010)
- American Heart Journal. “Chocolate intake and incidence of heart failure: Findings from the Cohort of Swedish Men”. (2017)
- Journal of the American Heart Association. “Dark Chocolate Acutely Improves Walking Autonomy in Patients With Peripheral Artery Disease”. (2014)
- Circulation Research. “Cocoa to Improve Walking Performance in Older People With Peripheral Artery Disease”. (2020)
- The Journal of Nutritional Biochemistry. “Short-term supplementation with flavanol-rich cocoa improves lipid profile, antioxidant status and positively influences the AA/EPA ratio in healthy subjects”. (2018)
- The Journal of Nutritional Biochemistry. “Natural cocoa consumption: Potential to reduce atherogenic factors?”. (2015)
- European Journal of Clinical Nutrition. “Effects of cocoa products/dark chocolate on serum lipids: a meta-analysis”. (2011)
- Open Heart. “Effect of cocoa (Theobroma cacao L.) on platelet function testing profiles in patients with coronary artery disease: ECLAIR pilot study”. (2022)
- Medicine. “Dark chocolate modulates platelet function with a mechanism mediated by flavan-3-ol metabolites”. (2018)
- The American Journal of Clinical Nutrition. “Safety and efficacy of cocoa flavanol intake in healthy adults: a randomized, controlled, double-masked trial”. (2015)
- Cochrane Database of Systematic Reviews. “Effect of cocoa on blood pressure”. (2017)
- BMC Medicine. “Does chocolate reduce blood pressure? A meta-analysis”. (2010)
- Clinical Trials and Regulatory Science in Cardiology. “Dose and response to cocoa (DARC): A randomized double-blind controlled trial”. (2016)
- Nutrition Journal. “Dark chocolate and reduced snack consumption in mildly hypertensive adults: an intervention study”. (2015)
- Nutrition and Metabolism. “Assessing Variability in Vascular Response to Cocoa With Personal Devices: A Series of Double-Blind Randomized Crossover n-of-1 Trials”. (2022)
- Acta Medica Indonesiana. “Effect of dark chocolate on nitric oxide serum levels and blood pressure in prehypertension subjects ”. (2011)
- International Journal of Cardiology. “Acute effect of oral flavonoid-rich dark chocolate intake on coronary circulation, as compared with non-flavonoid white chocolate, by transthoracic Doppler echocardiography in healthy adults”. (2009)
- Journal of the American College of Cardiology. “Sustained benefits in vascular function through flavanol-containing cocoa in medicated diabetic patients a double-masked, randomized, controlled trial”. (2008)
- The American Journal of Clinical Nutrition. “Cocoa consumption for 2 wk enhances insulin-mediated vasodilatation without improving blood pressure or insulin resistance in essential hypertension”. (2008)
- American Journal of Hypertension. “Effect of dark chocolate on arterial function in healthy individuals”. (2005)
- Cardiology Research and Practice. “Central arterial hemodynamic effects of dark chocolate ingestion in young healthy people: a randomized and controlled trial”. (2014)
- Journal of Applied Physiology. “Dose-dependent increases in flow-mediated dilation following acute cocoa ingestion in healthy older adults”. (2011)
- Heart. “Dark chocolate improves endothelial and platelet function”. (2006)
- The American Journal of Clinical Nutrition. “Acute dark chocolate and cocoa ingestion and endothelial function: a randomized controlled crossover trial”. (2008)
- International Journal of Hypertension. “Characterisation of hypertensive patients with improved endothelial function after dark chocolate consumption”. (2013)
- Antioxidants (Basel). “Effects of Cocoa Antioxidants in Type 2 Diabetes Mellitus”. (2017)
- Current Diabetes Reviews. “Flavonoids in the Treatment of Diabetes: Clinical Outcomes and Mechanism to Ameliorate Blood Glucose Levels”. (2021)
- The Journal of Nutrition. “Cocoa Flavanol Intake and Biomarkers for Cardiometabolic Health: A Systematic Review and Meta-Analysis of Randomized Controlled Trials”. (2016)
- Nutrients. “Cocoa Flavanol Supplementation and the Effect on Insulin Resistance in Females Who Are Overweight or Obese: A Randomized, Placebo-Controlled Trial”. (2023)
- Nutrients. “Regular Intake of a Usual Serving Size of Flavanol-Rich Cocoa Powder Does Not Affect Cardiometabolic Parameters in Stably Treated Patients with Type 2 Diabetes and Hypertension—A Double-Blinded, Randomized, Placebo-Controlled Trial”. (2018)
- European Journal of Clinical Nutrition. “Chocolate intake and diabetes risk in postmenopausal American women”. (2017)
- Appetite. “Consumption of dark chocolate attenuates subsequent food intake compared with milk and white chocolate in postmenopausal women”. (2017)
- International Archives of Medicine. “Chocolate with high Cocoa content as a weight-loss accelerator”. (2015)
- British Journal of Nutrition. “Cocoa-rich chocolate and body composition in postmenopausal women: a randomised clinical trial”. (2021)
- Archives of Internal Medicine. “Association Between More Frequent Chocolate Consumption and Lower Body Mass Index”. (2015)
- Critical Reviews in Food Science and Nutrition. “Does cocoa/dark chocolate supplementation have favorable effect on body weight, body mass index and waist circumference? A systematic review, meta-analysis and dose-response of randomized clinical trials”. (2019)
- Frontiers in Nutrition. “Flavonoid Intake From Cocoa-Based Products and Adiposity Parameters in Adolescents in Spain”. (2022)
- Alzheimer’s & Dementia Journal. “Effectsofcocoaextractandamultivitaminoncognitivefunction:Arandomizedclinicaltrial”. (2022)
- Alzheimer’s & Dementia Journal. “Impact of multivitamin-mineral and cocoa extract on incidence of mild cognitive impairment and dementia: Results from the COcoa Supplement and Multivitamin Outcomes Study for the Mind (COSMOS-Mind)”. (2023)
- The American Journal of Clinical Nutrition. “A combined DHA-rich fish oil and cocoa flavanols intervention does not improve cognition or brain structure in older adults with memory complaints: results from the CANN randomized, controlled parallel-design study”. (2023)
- Nutritional Immunology. “Enhancing Human Cognition with Cocoa Flavonoids”. (2017)
- Nature Neuroscience. “Enhancing dentate gyrus function with dietary flavanols improves cognition in older adults”. (2014)
- The American Journal of Clinical Nutrition. “Cocoa flavanol consumption improves cognitive function, blood pressure control, and metabolic profile in elderly subjects: the Cocoa, Cognition, and Aging (CoCoA) Study–a randomized controlled trial”. (2015)
- Hypertension. “Benefits in cognitive function, blood pressure, and insulin resistance through cocoa flavanol consumption in elderly subjects with mild cognitive impairment: the Cocoa, Cognition, and Aging (CoCoA) study”. (2012)
- Journal of Neuroscience. “Plant-derived flavanol (-)epicatechin enhances angiogenesis and retention of spatial memory in mice”. (2007)
- Nutritional Neuroscience. “Effects of cocoa-rich chocolate on cognitive performance in postmenopausal women. A randomised clinical trial”. (2022)
- Scientific Reports. “Dietary flavanols improve cerebral cortical oxygenation and cognition in healthy adults”. (2020)
- Experimental Gerontology. “The short-term effect of dark chocolate flavanols on cognition in older adults: A randomized controlled trial (FlaSeCo)”. (2020)
- Frontiers in Pharmacology. “The acute and sub-chronic effects of cocoa flavanols on mood, cognitive and cardiovascular health in young healthy adults: a randomized, controlled trial”. (2015)
- Journal of Cardiovascular Pharmacology. “The effect of flavanol-rich cocoa on the fMRI response to a cognitive task in healthy young people”. (2006)
- Psychopharmacology (Berl). “The effect of flavanol-rich cocoa on cerebral perfusion in healthy older adults during conscious resting state: a placebo controlled, crossover, acute trial”. (2015)
- Neuropsychiatric Disease and Treatment. “Cerebral blood flow response to flavanol-rich cocoa in healthy elderly humans”. (2008)
- Antioxidants. “Effect of Polyphenol-Rich Dark Chocolate on Salivary Cortisol and Mood in Adults”. (2019)
- The Journal of Nutritional Biochemistry. “Consumption of 85% cocoa dark chocolate improves mood in association with gut microbial changes in healthy adults: a randomized controlled trial”. (2022)
- Journal of Psychopharmacology. “Cocoa polyphenols enhance positive mood states but not cognitive performance: a randomized, placebo-controlled trial”. (2013)
- European Journal of Clinical Nutrition. “Chocolate, well-being and health among elderly men”. (2008)
- Depression and Anxiety. “Is there a relationship between chocolate consumption and symptoms of depression? A cross-sectional survey of 13,626 US adults”. (2019)
- JAMA Ophthalmology. “Effects of Milk vs Dark Chocolate Consumption on Visual Acuity and Contrast Sensitivity Within 2 Hours A Randomized Clinical Trial”. (2018)
- JAMA Ophthalmology. “Effects of Flavanol-Rich Dark Chocolate on Visual Function and Retinal Perfusion Measured With Optical Coherence Tomography Angiography A Randomized Clinical Trial”. (2019)
- The Journal of Nutrition. “Flavanol-Enriched Cocoa Powder Alters the Intestinal Microbiota, Tissue and Fluid Metabolite Profiles, and Intestinal Gene Expression in Pigs”. (2016)
- The American Journal of Clinical Nutrition. “Prebiotic evaluation of cocoa-derived flavanols in healthy humans by using a randomized, controlled, double-blind, crossover intervention study”. (2011)
- The Journal of Nutrition. “Cocoa Flavanol Supplementation Influences Skin Conditions of Photo-Aged Women: A 24-Week Double-Blind, Randomized, Controlled Trial”. (2016)
- Nutrition Journal. “Chocolate flavanols and skin photoprotection: a parallel, double-blind, randomized clinical trial”. (2014)
- The Journal of Nutrition. “Long-term ingestion of high flavanol cocoa provides photoprotection against UV-induced erythema and improves skin condition in women”. (2006)
- Food and Chemical Toxicology. “Potential for preventive effects of cocoa and cocoa polyphenols in cancer”. (2013)
- Diseases. “Preventive Effects of Cocoa and Cocoa Antioxidants in Colon Cancer”. (2016)
- Food and Chemical Toxicology. “Potential for preventive effects of cocoa and cocoa polyphenols in cancer”. (2013)
- Nutrition and Cancer. “Cancer protective properties of cocoa: a review of the epidemiologic evidence”. (2009)
- European Journal of Epidemiology. “Relationship between chocolate consumption and overall and cause-specific mortality, systematic review and updated meta-analysis”. (2022)
- The American Journal of Clinical Nutrition. “Multivitamins in the prevention of cancer and cardiovascular disease: the COcoa Supplement and Multivitamin Outcomes Study (COSMOS) randomized clinical trial”. (2022)
- Journal of the Academy of Nutrition and Dietetics. “Chocolate Candy and Incident Invasive Cancer Risk in the Women’s Health Initiative: An Observational Prospective Analysis”. (2021)
- Journal of Thoracic Disease. “Theobromine for the treatment of persistent cough: a randomised, multicentre, double-blind, placebo-controlled clinical trial”. (2017)
- Respiratory Medicine. “The potential of methylxanthine-based therapies in pediatric respiratory tract diseases”. (2016)
- Nutrients. “Influence of Consumption of Two Peruvian Cocoa Populations on Mucosal and Systemic Immune Response in an Allergic Asthma Rat Model”. (2022)
- Nutrients. “Attenuating Effect of Peruvian Cocoa Populations on the Acute Asthmatic Response in Brown Norway Rats”. (2020)
- Journal of the International Society of Sports Nutrition. “Dark chocolate supplementation reduces the oxygen cost of moderate intensity cycling”. (2015)
- Journals of Gerontology – Series A Biological Sciences and Medical Sciences. “High Flavonoid Cocoa Supplement Ameliorates Plasma Oxidative Stress and Inflammation Levels While Improving Mobility and Quality of Life in Older Subjects: A Double-Blind Randomized Clinical Trial”. (2019)
- The Journal of Nutritional Biochemistry. “Effects of (-)-epicatechin on molecular modulators of skeletal muscle growth and differentiation”. (2014)
- The Journal of Physiology. “(-)-Epicatechin enhances fatigue resistance and oxidative capacity in mouse muscle”. (2011)
- Frontiers in Pharmacology. “The relevance of theobromine for the beneficial effects of cocoa consumption”. (2015)
- Clinical Nutrition. “Theobromine does not affect postprandial lipid metabolism and duodenal gene expression, but has unfavorable effects on postprandial glucose and insulin responses in humans”. (2018)
- British Journal of Nutrition. “Iron bioavailability of cocoa powder as determined by the Hb regeneration efficiency method”. (2009)
- U.S. DEPARTMENT OF AGRICULTURE. “FoodData Central”. (2023)
- Journals of Gerontology – Series A Biological Sciences and Medical Sciences. “Recovery of Indicators of Mitochondrial Biogenesis, Oxidative Stress, and Aging With (-)-Epicatechin in Senile Mice”. (2015)
- International Journal of Immunopathology and Pharmacology. “Unsweetened natural cocoa has anti-asthmatic potential”. (2014)
- Journal of NeuroVirology. “Catechins protect neurons against mitochondrial toxins and HIV proteins via activation of the BDNF pathway”. (2012)
- Journal of Agricultural and Food Chemistry. “Impact of alkalization on the antioxidant and flavanol content of commercial cocoa powders”. (2008)
- The BMJ. “Preliminary report on tyramine headache.”. (1967)
- Journal of Neurology, Neurosurgery and Psychiatry. “Effect of tyramine in migraine: a double-blind study”. (1972)
- Nature. “A phenylethylamine oxidising defect in migraine”. (1974)
- Acta Biomedica Atenei Parmensis. “Chocolate and migraine: the history of an ambiguous association”. (2014)
- The Journal of Clinical and Aesthetic Dermatology. “Double-blind, Placebo-controlled Study Assessing the Effect of Chocolate Consumption in Subjects with a History of Acne Vulgaris”. (2014)
- Journal of Food Composition and Analysis. “Oxalate content in commercially produced cocoa and dark chocolate”. (2011)
- IARC Monographs. “THEOBROMINE”. (1991)
- Psychopharmacology (Berl). “Psychopharmacology of theobromine in healthy volunteers”. (2013)
- Food Additives & Contaminants. “Cadmium and lead in cocoa powder and chocolate products in the US Market”. (2018)
- European Food Safety Authority. “Statement on tolerable weekly intake for cadmium”. (2011)
- PLOS ONE. “Drivers of cadmium accumulation in Theobroma cacao L. beans: A quantitative synthesis of soil-plant relationships across the Cacao Belt”. (2022)
- European Annals of Allergy and Clinical Immunology. “Systemic nickel hypersensitivity and diet: myth or reality?”. (2011)
- U.S. Environmental Protection Agency. “Acrylamide”. (2010)
- Mycotoxin Research. “Analysis of cocoa products for ochratoxin A and aflatoxins”. (2013)
- U.S. FDA. “FY18/19 Sample Collection and Analysis of Domestically Manufactured, Dairy-Free Dark Chocolate Products for Milk Allergen”. (2023)
ตรวจสอบทางการแพทย์ล่าสุดเมื่อวันที่ 19 ส.ค. 2023