อัพเดทล่าสุดปี 2023 ! : อัพเดทราคาผลิตภัณฑ์ทั้ง 10 ยี่ห้อให้เป็นราคาปัจจุบัน / ปรับแก้เกฑณ์คะแนนเรื่องราคาใหม่ให้เหมาะสมยิ่งขึ้น / ลงคะแนนและจัดอันดับใหม่ (อันดับมีการเปลี่ยนแปลง 5 ยี่ห้อ ตั้งแต่อันดับ 2-6) / แก้ไขข้อมูลอ้างอิงเรื่องชื่อสำนักพิมพ์ใหม่
ปัญหาผมร่วง/ผมบาง
ปัจจัยที่ทำให้ผมร่วงมีอยู่ด้วยกันหลายปัจจัย ตั้งแต่เรื่องกรรมพันธุ์ อายุที่มากขึ้น การเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมนเพศ ความเครียด สุขภาพโดยรวมหรือการมีโรคบางอย่าง การใช้สารเคมีที่รุนแรงกับเส้นผมมากเกินไป การใช้ยารักษาโรคบางชนิดเป็นเวลานาน รวมถึงการขาดวิตามินหรือสารอาหารบางชนิดก็ทำให้ผมร่วงได้เช่นกัน เช่น ไบโอติน, วิตามินบี 3, วิตามินบี 6, วิตามินเอ, ธาตุเหล็ก, ธาตุสังกะสี ฯลฯ ที่เกี่ยวข้องกับการหลุดร่วงของเส้นผม[1] ดังนั้น ถ้าเป็นไปได้ก่อนเลือกซื้อผลิตภัณฑ์หรืออาหารเสริมใด ๆ ที่ใช้รักษาอาการผมร่วง คุณควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคผิวหนังเพื่อประเมินก่อนว่าภาวะผมร่วงนั้นเกิดจากสาเหตุใด และจำเป็นต้องรับประทานอาหารเสริมหรือไม่
การรับประทานอาหารที่อุดมไปด้วยไบโอติน, บี3, บี6, สังกะสี, ธาตุเหล็ก, ซิลิกา ฯลฯ อาจช่วยป้องกันการหลุดร่วงของเส้นผมได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าคุณมีปัญหาผมร่วงจากการมีโภชนาการที่ไม่ดีหรือจากการขาดวิตามินและแร่ธาตุที่จำเป็นสำหรับเส้นผม
อย่างไรก็ตาม แม้เราจะไม่สามารถเปลี่ยนแปลงปัจจัยบางอย่างได้ เช่น อายุหรือกรรมพันธุ์ แต่ปัจจัยสำคัญที่เราสามารถควบคุมให้ดีขึ้นและทำให้ผมมีสขภาพแข็งแรงลดการหลุดร่วงได้ก็คือการเลือกรับประทานอาหารที่อุดมไปด้วยวิตามินและแร่ธาตุที่มีประโยชน์ต่อเส้นผม หรือเลือกรับประทานอาหารเสริมที่มีวิตามินแร่ธาตุหรือสารสำคัญดังที่จะกล่าวถึงในบทความนี้ก็ได้เช่นกัน
คำแนะนำ : บทความนี้มีเนื้อหาค่อนข้างยาว เพราะประกอบไปด้วยงานวิจัยและบทวิเคราะห์จุดเด่น-จุดด้อยของผลิตภัณฑ์แต่ละยี่ห้อ จึงแนะนำให้คุณเลือกอ่านเฉพาะหัวข้อที่สนใจจากสารบัญด้านบน
วิตามินบำรุงผม/แก้ผมร่วง
มีวิตามิน แร่ธาตุ และสารอื่น ๆ หลายชนิดที่จำเป็นสำหรับการบำรุงเส้นผมและลดการหลุดร่วงได้ แต่ในบทความนี้จะขอกล่าวถึงเฉพาะวิตามิน แร่ธาตุ หรือสารอาหารที่มีการพูดถึงกันบ่อยแวดวงวิชาการกับสารที่พบได้บ่อย ๆ ในผลิตภัณฑ์อาหารเสริมบำรุงเส้นผมหรือแก้ผมร่วง ผมบาง ส่วนประโยชน์นั้นจะพูดถึงเฉพาะประโยชน์ต่อเส้นผมที่มีงานวิจัยรองรับอย่างชัดเจนเป็นหลัก (มีหลายประโยชน์ที่มีการกล่าวอ้าง แต่มีหลักฐานน้อย ก็ขอเลือกที่จะไม่กล่าวถึงครับ ดังนั้น จึงไม่ต้องแปลกใจว่าทำไมบทความทั่วไปหรือในโฆษณาอาหารเสริมมีการกล่าวถึง แต่ในบทความนี้ไม่มี)
- ไบโอติน หรือ วิตามินบี 7 (Biotin / Vitamin B7) เป็นวิตามินที่จำเป็นสำหรับการผลิตโปรตีนของเส้นผมที่เรียกว่า “เคราติน” ซึ่งเป็นส่วนประกอบหลักของเส้นผม งานวิจัยส่วนใหญ่แสดงให้เห็นว่าการบริโภคไบโอตินเพิ่มขึ้นสามารถช่วยในการเจริญเติบของเส้นผมในผู้ที่มีภาวะขาดไบโอตินได้ บางการศึกษาพบว่า ภายหลังการรักษาด้วยการรับประทานผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่มีไบโอติน ธาตุเหล็ก และสังกะสี เป็นระยะเวลา 6 เดือน หลังจบการรักษา ปริมาณและความหนาแน่นของเส้นผมเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ในขณะที่ไม่พบการเปลี่ยนแปลงใด ๆ ในกลุ่มควบคุม อย่างไรก็ตาม การศึกษายังมีขนาดเล็กและทำในผู้เข้าร่วมที่ขาดสารอาหาร[2] ส่วนงานวิจัยอื่น ๆ ที่สำคัญเกี่ยวกับไบโอตินพบว่า การขาดไบโอตินอาจทำให้เกิดปัญหาผมร่วง[1], ผมบางลง[3], และผมหงอกก่อนวัยได้[4] (โดยเฉพาะในหญิงตั้งครรภ์ หญิงให้นมบุตร และผู้ที่รับประทานยาปฏิชีวนะที่ร่างกายมักขาดไบโอติน) โดยมีการศึกษาในปี 2559 ในผู้หญิงจำนวน 541 คนที่พบว่า ผู้ที่มีปัญหาผมร่วงถึง 38% ร่างกายมีการขาดไบโอติน[5] ด้วยเหตุนี้ อาหารเสริมที่เกี่ยวกับเส้นผมส่วนใหญ่จึงมักมีส่วนผสมของวิตามินชนิดนี้รวมอยู่ด้วย และมักได้รับการโฆษณาเพื่อช่วยในการเจริญเติบโตของเส้นผม ทำให้ผมมีสุขภาพดีและแข็งแรง หรือทำให้ผมหนาขึ้นมีวอลลุ่มมากขึ้น[6] อย่างไรก็ตาม งานวิจัยส่วนใหญ่ยังเป็นการศึกษาในผู้ที่ขาดสารอาหาร และยังไม่มีการศึกษามากนักในผู้ที่มีสุขภาพดีว่าจะได้รับประโยชน์จากการบริโภคไบโอตินที่มากขึ้นหรือไม่[7]
โดยทั่วไปไบโอตินเป็นอาหารเสริมที่มีความปลอดภัยสูงมาก เพราะเป็นวิตามินที่ละลายในน้ำ ปริมาณที่เกินจากที่ร่างกายรับได้จะถูกขับออกได้เองทางปัสสาวะ โดยจากการศึกษาพบว่า ไบโอตินไม่ก่อให้เกิดผลข้างเคียงร้ายแรงในมนุษย์เมื่อรับประทานในขนาด 10,000-50,000 mcg ต่อวัน อย่างไรก็ตาม ก็มีรายงานว่าพบผลข้างเคียงเล็กน้อยจากการได้รับไบโอตินที่สูงมาก ๆ ในบางราย (อาหารเสริมไบโอตินบางยี่ห้ออาจมีปริมาณไบโอตินมากถึง 10,000 mcg หรือมากกว่านั้น ในขณะที่อาหารเสริมไบโอตินที่ขายในไทยนั้นส่วนใหญ่จะมีปริมาณไบโอตินเพียง 150 mcg) ด้วยเหตุนี้ จึงเป็นการดีที่สุดที่จะไม่รับประทานไบโอตินที่มีปริมาณต่อเม็ดมากเกินไป เพราะยังไม่มีงานวิจัยรับรองถึงประสิทธิภาพดังกล่าว ว่าการทานครั้งละมาก ๆ จะให้ผลแตกต่างจากการทานในปริมาณที่พอดีหรือตามที่ผู้เชี่ยวชาญส่วนใหญ่แนะนำหรือไม่
แล้วปริมาณแค่ไหนที่ผู้เชี่ยวชาญแนะนำ ? คำตอบก็คือ ถ้าทานเพื่อป้องกันการขาดไบโอติน อาหารเสริมไบโอตินส่วนใหญ่ในไทยมักจะมีปริมาณไบโอตินเริ่มต้นที่ 150 mcg อยู่แล้ว ซึ่งถือว่าเป็นปริมาณที่เพียงพอที่ควรได้รับในแต่ละวัน (เพราะปริมาณขั้นต่ำที่ควรได้รับต่อวันสำหรับผู้ใหญ่คือวันละ 30-100 mcg และคนส่วนใหญ่ก็ไม่ได้ขาดวิตามินชนิดแต่อย่างใด) แต่ถ้าจะทานเพื่อหวังผลเร่งการเจริญเติบโตของเส้นผม ช่วยให้รากผมแข็งแรง และลดการหลุดร่วงของเส้นผม (แม้ยังไม่มีหลักฐานยืนยันชัดเจนถึงประโยชน์ดังกล่าว) ปริมาณที่แนะนำจากการศึกษาของมหาวิทลัยฮาร์วาร์ดคือไบโอตินวันละ 1,000 mcg[8] แต่บางงานวิจัยก็แนะนำในขนาดถึงวันละ 5,000 mcg[9] ส่วนปริมาณที่แนะนำโดยนักโภชนากรต่างประเทศส่วนใหญ่จะแนะนำไว้ที่ปริมาณ 1,000-2,500 mcg แต่โดยส่วนตัวแล้วผู้เขียนแนะนำว่า ไบโอตินวันละ 1,000 mcg คือปริมาณที่เหมาะสม เพราะเป็นปริมาณที่ไม่มากเกินไป (ที่ยังออกฤทธิ์ได้ดี) และไม่น้อยเกินไปจนสงสัยได้ว่ามันจะออกฤทธิ์จริงหรือไม่ อีกทั้งหากต้องการเพิ่มปริมาณไบโอตินให้มากขึ้นก็สามารถเพิ่มโดสการรับประทานเป็นวันละ 2 มื้อเช้าและเย็นได้อย่างปลอดภัย ซึ่งร่างกายน่าจะได้ประโยชน์มากกว่าการรับประทานไบโอตินปริมาณมาก ๆ ในคราวเดียว- บทบาทสำคัญต่อเส้นผม : ช่วยในการเจริญเติบโตของเส้นผม สุขภาพผมแข็งแรง ช่วยให้ผมหนาขึ้นดูมีวอลลุ่มมากขึ้น การขาดไบโอตินมักเป็นสาเหตุสำคัญทำให้ผมร่วง ผมบาง และผมหงอกก่อนวัย
- อาหารที่พบได้มาก : ตับวัว, ตับหมู, ไข่ไก่, นมผง, ถั่วลิสงคั่ว, ถั่วเหลือง, ดอกกะหล่ำ
- ปริมาณที่ควรได้รับสำหรับคนไทย (ผู้ใหญ่) : 30 ไมโครกรัมต่อวัน (ยังไม่มีการกำหนดปริมาณสูงสุดที่รับได้ในแต่ละวัน และการได้รับไบโอตินในรูปของเม็ดยาถึง 300 เท่าของปริมาณที่ได้รับจากอาหารปกติไม่พบอาการเป็นพิษ และการให้ไบโอตินวันละ 200 มิลลิกรัมในรูปยาเม็ดและฉีดเข้าเส้นเลือด 20 มิลลิกรัมในเด็กที่มีปัญหาการดูดซึมไบโอตินก็ไม่พบภาวะเป็นพิษ)[10]
- วิตามินบี 3 หรือไนอาซิน (Vitamin B3 / Niacin) เป็นวิตามินที่ช่วยเพิ่มการไหลเวียนของเลือดไปยังหนังศีรษะ ลดการอักเสบของหนังศีรษะ ช่วยในการสังเคราะห์เคราติน และซ่อมแซม DNA ที่เสียหาย โดยรวมแล้วจึงช่วยส่งเสริมการเจริญเติบโตของเส้นผม และการขาดวิตามินชนิดนี้จะทำให้การไหลเวียนเลือดไม่ดีและอาจเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ผมหลุดร่วงและรากผมอ่อนแอได้[11],[12],[13]
- บทบาทสำคัญต่อเส้นผม : ส่งเสริมการเจริญเติบโตของเส้นผม การขาดอาจเป็นปัจจัยที่ทำให้ผมร่วง
- อาหารที่พบได้มาก : ปลาทูน่า, เนื้อไม่ติดมัน, อะโวคาโด, มันฝรั่ง, ถั่วเหลือง, ถั่วลิสง
- ปริมาณที่ควรได้รับสำหรับคนไทย (ผู้ใหญ่) : 14-16 มิลลิกรัมต่อวัน (ส่วนปริมาณสูงสุดที่สามารถรับได้ในแต่ละวันโดยไม่เป็นอันตรายต่อร่างกาย คือ 35 มิลลิกรัม)[10]
- วิตามินบี 5 หรือกรดแพนโทเทนิก (Vitamin B5 / Pantothenic Acid) เป็นวิตามินที่ช่วยให้ร่างกายผลิตพลังงานจากอาหารและช่วยสร้างเซลล์เม็ดเลือดแดง ผลิตภัณฑ์ปลูกผมหลายยี่ห้อมักมีส่วนผสมของวิตามินบี 5 เพราะวิตามินชนิดนี้สามารถช่วยเพิ่มเจริญเติบโตของเส้นผม ให้ความชุ่มชื้นแก่เส้นผม ความคุมการทำงานของต่อมไขมัน ป้องกันผมหงอกก่อนวัย เร่งการสร้างเมลานิน และช่วยฟื้นคืนสภาพสีผมเดิม[14] (มีการศึกษาในหนูทดลองแล้วพบว่า การขาดวิตามินบี 5 และอิโนซิทอล (Inositol) จะทำให้หนูไม่มีขน[15])
- บทบาทสำคัญต่อเส้นผม : เพิ่มการเจริญเติบโตของเส้นผม ให้ความชุ่มชื้นแก่เส้นผม ป้องกันผมหงอกก่อนวัย ช่วยฟื้นคืนสภาพสีผมเดิม และเร่งการสร้างเมลานิน
- อาหารที่พบได้มาก : ไข่, ไก่, ปลา, เนื้อวัว, ตับไก่, มันฝรั่ง, โยเกิร์ต, ผลิตภัณฑ์จากนม, ถั่วลิสง
- ปริมาณที่ควรได้รับสำหรับคนไทย (ผู้ใหญ่) : 5 มิลลิกรัมต่อวัน (ส่วนปริมาณสูงสุดที่สามารถรับได้ในแต่ละวันโดยไม่เป็นอันตรายต่อร่างกาย คือ 10-20 มิลลิกรัม ยกเว้นในบางรายที่อาจมีอาการท้องเสียเล็กน้อย)[10]
- วิตามินบี 6 (Vitamin B6) เป็นวิตามินที่มีส่วนสำคัญต่อสุขภาพเส้นผมและการเจริญเติบโตของเส้นผม จำเป็นต่อการสร้างฮีโมโกลบินที่มีหน้าที่นำออกซิเจนส่งไปยังเซลล์ต่าง ๆ ในร่างกาย รวมทั้งเส้นผม และยังมีบทบาทในการเผาผลาญโปรตีน ซึ่งเส้นผมเป็นผลพลอยได้จากการสังเคราะห์โปรตีน[15] หากร่างกายขาดวิตามินบี 6 อาจทำให้มีอาการต่าง ๆ ตามมาได้ เช่น ผมแห้ง ปากแตก เหนื่อยล้า[4] และทำให้ผมร่วง[17]
- บทบาทสำคัญต่อเส้นผม : ช่วยในการเจริญเติบโตของเส้นผม และช่วยให้เส้นผมมีสุขภาพดี เส้นผมไม่แห้ง การขาดอาจเป็นสาเหตุทำให้ผมร่วง
- อาหารที่พบได้มาก : เนื้อไม่ติดมัน, อกไก่, ไข่, ข้าวขาว, ถั่วงอก, บรอกโคลี, ผักโขม, มันฝรั่ง, ซีเรียลโฮลเกรน, ผลไม้ต่าง ๆ ที่ไม่ใช่ส้ม
- ปริมาณที่ควรได้รับสำหรับคนไทย (ผู้ใหญ่) : 1.3-1.7 มิลลิกรัมต่อวัน (ส่วนปริมาณสูงสุดที่สามารถรับได้ในแต่ละวันโดยไม่เป็นอันตรายต่อร่างกาย คือ 100 มิลลิกรัม)[10]
- วิตามินเอ (Vitamin A) จากการศึกษาพบว่าวิตามินเอมีความสำคัญต่อการเจริญเติบโตของเส้นผม ช่วยให้เส้นผมมีสุขภาพแข็งแรง และการขาดวิตามินเออาจทำให้ผมร่วง[18] ผมแห้งได้ โดยวิตามินเอจะช่วยให้ต่อมไขมันในชั้นผิวหนังหลั่งซีบัม (Sebum) เพื่อให้ความชุ่มชื้นแก่หนังศีรษะและทำให้ผมแข็งแรง การขาดวิตามินเออาจนำไปสู่ปัญหาหลายประการ รวมทั้งผมร่วง และในผู้ที่เป็นโรคผมร่วงเป็นหย่อม (Alopecia Areata) มักมีระดับวิตามินเอในเลือดต่ำ[15] แต่การเสริมวิตามินเอมากเกินไปก็อาจทำให้ผมร่วงได้เช่นกัน[1]
- บทบาทสำคัญต่อเส้นผม : ช่วยในการเจริญเติบโตของเส้นผม ทำให้ผมมีสุขภาพแข็งแรง การขาดอาจเป็นสาเหตุทำให้ผมร่วงและผมแห้ง
- อาหารที่พบได้มาก : แครอท, มันเทศเหลือง, ฟักทอง, ตำลึง, ผักบุ้ง, มะละกอสุก น้ำมันตับปลา, ตับสัตว์, เนื้อสัตว์, ไข่, ผลิตภัณฑ์จากนม
- ปริมาณขั้นต่ำที่ควรได้รับสำหรับคนไทย (ผู้ใหญ่) : 600-700 ไมโครกรัมของ retinol ต่อวัน (ส่วนปริมาณสูงสุดที่สามารถรับได้ในแต่ละวันโดยไม่เกิดผลข้างเคียง คือ 3,000 ไมโครกรัม/วัน)[10]
- วิตามินซี (Vitamin C) มีคุณสมบัติต้านอนุมูลอิสระ ช่วยปกป้องรูขุมขนจากความเสียหายจากอนุมูลอิสระที่มีอยู่ตามชาติในร่างกายและสิ่งแวดล้อม[19] ร่างกายจำเป็นต้องใช้วิตามินซีเพื่อผลิตคอลลาเจน[20] ซึ่งเป็นโปรตีนที่ช่วยเสริมสร้างความแข็งแรงของเส้นผม ป้องกันไม่ให้เส้นผมเปราะบาง[21] และวิตามินซียังช่วยให้ร่างกายดูดซึมธาตุเหล็กจากอาหาร ซึ่งเป็นแร่ธาตุที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโตของเส้นผม[1] นอกจากนี้ยังมีการศึกษาที่พบว่าการขาดวิตามินซีอาจทำให้เกิดอาการเส้นผมบิดเป็นเกลียว (Corkscrew hairs)[22], ทำให้ผมแห้ง แตก และหยาบกร้านได้[15]
- บทบาทสำคัญต่อเส้นผม : ช่วยเพิ่มความแข็งแรงของเส้นผม การขาดวิตามินซีอาจทำให้เปราะบาง ผมบิดเป็นเกลียว ผมแห้ง แตก และหยาบกร้าน
- อาหารที่พบได้มาก : ฝรั่ง, สาลี่, มะขามป้อม, มะขามเทศ, เงาะ, ลูกพลับ, สตรอว์เบอร์รี, ส้มโอ, พุทรา, แอปเปิ้ล, พริกหวานแดง, พริกหวานเขียว, ผักคะน้า, บรอกโคลี, ผักโขม
- ปริมาณที่ควรได้รับสำหรับคนไทย (ผู้ใหญ่) : 95-110 มิลลิกรัมต่อวัน (ส่วนปริมาณสูงสุดที่สามารถรับได้ในแต่ละวันโดยไม่เกิดผลข้างเคียง คือ 2,000 มิลลิกรัม)[10]
- วิตามินอี (Vitamin E) เป็นวิตามินที่ช่วยสนับสนุนการเจริญเติบโตของเส้นผม โดยช่วยเพิ่มการไหลเวียนในหนังศีรษะและปกป้องผิวหนังจากความเสียหายจากอนุมูลอิสระต่าง ๆ ที่อาจส่งผลให้เส้นผมมีสุขภาพไม่ดีและรูขุมขนน้อยลงได้[15],[23] โดยมีหลายงานวิจัยที่สำคัญ เช่น การศึกษาที่พบว่า การใช้ผลิตภัณฑ์อาหารเสริมวิตามินอี (Tocotrienol) สามารถช่วยปรับปรุงสุขภาพผมของผู้ที่มีปัญหาผมร่วงและช่วยป้องกันผมร่วงได้[23], การศึกษาในผู้ที่มีปัญหาผมร่วงที่เสริมวิตามินอีเป็นเวลา 8 เดือน พบว่ามีผมงอกเพิ่มข้น 34.5% เมื่อเทียบกับกลุ่มที่ได้รับยาหลอกที่ผมงอกเพิ่มขึ้นเพียง 0.1%[24], การศึกษาในผู้ที่เป็นโรคผมร่วงเป็นหย่อม (Alopecia Areata) มักมีความเข้มข้นของวิตามินอีในเลือดต่ำกว่าปกติ[25] และการศึกษาที่พบว่าการขาดวิตามินอีอาจทำให้ผมร่วงได้ แต่หลักฐานยังขัดแย้งกันอยู่[26] ส่วนในบางคนเลือกที่จะใช้น้ำมันวิตามินอีทาลงบนหนังศีรษะโดยตรง โดยเชื่อว่าจะช่วยเร่งการสร้างเซลล์ผมใหม่ แต่ก็ยังไม่มีหลักฐานสนับสนุนในเรื่องนี้[27]
- บทบาทสำคัญต่อเส้นผม : เพิ่มการเจริญเติบโตของเส้นผม และป้องกันผมร่วง
- อาหารที่พบได้มาก : น้ำมันจมูกข้าวสาลี, น้ำมันดอกทานตะวัน, น้ำมันดอกคำฝอย, น้ำมันข้าวโพด, เมล็ดแฟลกซ์, ผักโขม, อัลมอนด์
- ปริมาณที่ควรได้รับสำหรับคนไทย (ผู้ใหญ่) : 11-13 กรัมต่อวัน (ส่วนปริมาณสูงสุดที่สามารถรับได้ในแต่ละวันโดยไม่ก่อให้เกิดโทษต่อสุขภาพ คือ 300 มิลลิกรัม)[10]
- ธาตุเหล็ก (Iron) เป็นแร่ธาตุที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโตของเส้นผม โดยเป็นแร่ธาตุที่ช่วยสร้างฮีโมโกลบินในเซลล์เม็ดเลือดแดง มีหน้าที่นำออกซิเจนส่งไปยังเซลล์ต่าง ๆ ในร่างกาย การขาดธาตุเหล็กนอกจากจะเป็นสาเหตุหลักของโรคโลหิตจางแล้วยังทำให้เกิดอาการต่าง ๆ ตามมาได้ด้วย เช่น เหนื่อยล้า เบื่ออาหาร เล็บเปราะ ฯลฯ รวมถึงอาการผมร่วง ผมเปราะ และผมหงอกก่อนวัย (โดยเฉพาะในผู้ที่รับประทานมังสวิรัติหรือวีแก้น ผู้หญิงที่มีประจำเดือนมาก และผู้ที่เป็นโรคเรื้อรัง)[4],[15],[28]
- บทบาทสำคัญต่อเส้นผม : ช่วยในการเจริญเติบโตของเส้นผม การขาดอาจธาตุเหล็กอาจทำให้ผมร่ว ผมเปราะ และผมหงอกก่อนวัย
- อาหารที่พบได้มาก : เนื้อแดง, อาหารทะเล, ปลาแซลมอน, ผักใบเขียวเข้ม, พืชตระกูลถั่ว, ผลไม้แห้ง
- ปริมาณที่ควรได้รับสำหรับคนไทย (ผู้ใหญ่) : 10-11.5 มิลลิกรัมต่อวันในผู้ชายและหญิงวัยหมดประจำเดือน และ 20 มิลลิกรัมต่อวันในผู้หญิง (ส่วนปริมาณสูงสุดที่สามารถรับได้ในแต่ละวันโดยไม่เกิดผลข้างเคียง คือ 45 มิลลิกรัม)[10]
- ธาตุทองแดง (Copper) แร่ธาตุที่จำเป็นสำหรับการเผาผลาญและดูดซึมธาตุเหล็ก ซึ่งทั้งสองอย่างนี้ทำงานร่วมกันเพื่อช่วยให้ร่างกายสร้างเซล์เม็ดเลือดแดง หากร่างกายขาดแร่ธาตุชนิดนี้จะทำให้การสร้างเซลล์เม็ดเลือดแดงเป็นไปอย่างไม่เหมาะสมและเซลล์ผมได้รับสารอาหารที่จำเป็นไปเลี้ยงน้อยลงได้ ทำให้มีผลไปชะลอการเจริญเติบโตของเส้นผม[15] นอกจากนี้ ธาตุทองแดงยังจำเป็นต่อการผลิตเมลานินอีกด้วย ซึ่งเป็นสารที่ทำให้หน้าที่ให้สีผิว ดวงตา และสีผม ดังนั้น การขาดแร่ธาตุชนิดนี้อาจเป็นสาเหตุทำให้ผมหงอกก่อนวัย[4] และมีหลักฐานเพียงเล็กน้อยจากการวิจัยในหลอดทดลองระบุว่าทองแดงอาจช่วยลดการหลุดร่วงของเส้นผม[29]
- บทบาทสำคัญต่อเส้นผม : ช่วยการเจริญเติบโตของเส้นผม การขาดธาตุทองแดงอาจทำให้ผมหงอกก่อนวัย
- อาหารที่พบได้มาก : เนื้อสัตว์ต่าง ๆ, อาหารทะเล เช่น หอยนางรม, ถั่วเมล็ดแห้ง, โกโก้, เชอร์รี, เห็ด, ธัญพืช
- ปริมาณที่ควรได้รับสำหรับคนไทย (ผู้ใหญ่) : 1.6 มิลลิกรัม/วันในผู้ชาย และ 1.3 มิลลิกรัม/วันในผู้หญิง (ส่วนปริมาณสูงสุดที่สามารถรับได้ในแต่ละวันโดยไม่เกิดผลข้างเคียง คือ 5 มิลลิกรัม)[10]
- ธาตุสังกะสีหรือซิงค์ (Zinc) เป็นแร่ธาตุที่ร่างกายไม่สามารถสร้างเองได้และจำเป็นต้องได้รับจากอาหารหรืออาหารเสริม โดยปกติร่างกายจะได้รับจากการอาหารที่รับประทานในแต่ละวันอยู่แล้ว แต่ก็อาจพบภาวะการขาดธาตุสังกะสีได้ในผู้ที่มีปัญหาการดูดซึม ซึ่งภาวะการขาดสังกะสีก็เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ผมร่วง บาง และส่งผลต่อการเจริญเติบโตของเส้นผมได้[30] และการเสริมแร่ธาตุชนิดนี้อาจช่วยลดอาการผมร่วงในผู้ที่มีภาวะผมร่วงเป็นหย่อมที่มีระดับสังกะสีในเลือดต่ำได้[31] นอกจากนี้ ยังมีบางรายงานระบุด้วยว่า การขาดธาตุสังกะสีอาจทำให้ผมหยาบ แห้ง และแตกปลายได้ด้วย
- บทบาทสำคัญต่อเส้นผม : ช่วยลดอาการผมร่วงในผู้ที่ขาดธาตุสังกะสี การขาดอาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ผมร่วง ผมบาง และส่งผลต่อการเจริญเติบโตของเส้นผม
- อาหารที่พบได้มาก : หอยนางรม, เนื้อแดง, เครื่องในสัตว์, สัตว์ปีก, ปลา
- ปริมาณที่ควรได้รับสำหรับคนไทย (ผู้ใหญ่) : 9-11.6 มิลลิกรัมต่อวัน (ส่วนปริมาณสูงสุดที่สามารถรับได้ในแต่ละวันโดยไม่มีความเสี่ยงต่อผลเสียทางสุขภาพ คือ 40 มิลลิกรัม)[10]
- ซีลีเนียม (Selenium) เป็นแร่ธาตุที่มีคุณสมบัติต้านอนุมูลอิสระ จึงช่วยป้องกันความเสียหายต่อเซลล์และเนื้อเยื่อที่เกิดจากอนุมูลอิสระต่าง ๆ ได้ การได้รับซีลีเนียมร่วมกับธาตุสังกะสีจะช่วยในการเจริญเติบโตของเส้นผม ทำให้เส้นผมมีสุขภาพดี อย่างไรก็ตาม ร่างกายของคนเราต้องการแร่ธาตุชนิดนี้เพียงเล็กน้อย เนื่องจากการได้รับมากเกินไปอาจทำให้ผมร่วง แตกปลาย เล็บเปราะ อ่อนล้า และมีอาการหงุดหงิดได้[15]
- บทบาทสำคัญต่อเส้นผม : ช่วยในการเจริญเติบโตของเส้นผม ทำให้เส้นผมมีสุขภาพแข็งแรง
- อาหารที่พบได้มาก : ปลาทูสด, ไข่แดง, ไข่ทั้งฟอง, ปลาจาระเม็ด, ปลาดุก, เนื้อปู, หอยแครง, หอยแมลงภู่, หอยนางรม, กุ้งกุลา
- ปริมาณที่ควรได้รับสำหรับคนไทย (ผู้ใหญ่) : 55 ไมโครกรัม/วัน (ส่วนปริมาณสูงสุดที่สามารถรับได้ในแต่ละวันโดยไม่เกิดผลข้างเคียง คือ 400 ไมโครกรัม/วัน)[10]
- ซิลิกา (Silica) เป็นอีกหนึ่งแร่ธาตุที่มีความสำคัญเส้นผม พบได้มากในหญ้าหางม้า (Horsetail หรือในชื่อวิทยาศาสตร์ : Equisetum avense) จัดเป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่เชื่อว่ามีประโยชน์ต่อเส้นผม ผิวหนัง เล็บ และกระดูก โดยจะช่วยลดการเสื่อมสภาพของเส้นผมที่เกิดจากอนุมูลอิสระต่าง ๆ และพบว่าปริมาณซิลิกาที่สูงขึ้นในเส้นผมจะส่งผลให้ผมมีสุขภาพแข็งแรง อัตราการหลุดร่วงของเส้นผมลดน้อยลง เพิ่มความยืดหยุ่น ลดการแตกหักของเส้นผม เส้นผมหนาขึ้น รวมถึงเพิ่มความเงางามหรือความเปล่งประกายของเส้นผม[32],[33],[34] นอกจากนี้ยังมีงานวิจัยที่พบว่า ในผู้หญิงที่ผมร่วงกลุ่มที่รับประทานอาหารเสริมจากหญ้าหางม้าจะมีการเจริญเติบโตของเส้นผมและความแข็งแรงของเส้นผมที่เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับกลุ่มควบคุม[35] ส่วนการศึกษาอื่น ๆ ก็พบผลลัพธ์ที่คล้ายคลึงกัน[36]
- บทบาทสำคัญต่อเส้นผม : ช่วยให้เส้นผมมีสุขภาพแข็งแรง ลดอัตราการหลุดร่วงของเส้นผม เพิ่มความยืดหยุ่น ลดการแตกหักของเส้นผม ทำให้ผมหนาขึ้น และเพิ่มความเงางามให้เส้นผม
- อาหารที่พบได้มาก : ถั่วเขียว, กล้วย, ผักใบเขียว, ข้าวกล้อง, ซีเรียล รวมถึงในสมุนไพรหญ้าหางม้า
- แอล-เมไทโอนีน (L-Methionine) เป็นกรดอะมิโนที่ร่างกายไม่สามารถสังเคราะห์ขึ้นเองได้และจำเป็นต้องได้รับจากอาหาร การขาดแอล-เมไทโอนีนอาจทำให้เกิดความผิดปกติในการสังเคราะห์โปรตีนและส่งผลต่อการผลิตเคราตินซึ่งเป็นองค์ประกอบหลักของเส้นผม และแอล-เมไทโอนีนยังมีบทบาทในการสังเคราะห์คอลลาเจน มีคุณสมบัติต้านอนุมูลอิสระ และยับยั้งกระบวนการสร้างเม็ดสีเมลานิน โดยรวมแล้วกรดอะมิโนชนิดนี้จึงช่วยให้การเจริญเติบโตของเส้นผมเป็นไปอย่างปกติ ช่วยเสริมความแข็งแรงของรากผมและเส้นผม ชะลอการเกิดผมหงอกก่อนวัย และหลายแหล่งข้อมูลยังระบุด้วยว่าช่วยให้ผมเรียบลื่นและเงางาม[37]
- อาหารที่พบได้มาก : เนื้อสัตว์, ปลา, ไข่, ผลิตภัณฑ์จากนม, ธัญพืช, เมล็ดงา
- บทบาทสำคัญต่อเส้นผม : เสริมความแข็งแรงของรากผมและเส้นผม ชะลอผมหงอกก่อนวัย และช่วยให้ผมเรียบลื่นและเงางาม
- แอล-ซิสเทอีน (L-Cysteine) เป็นกรดอะมิโนไม่จำเป็นที่ร่างกายสังเคราะห์มาจาก L-Methionine กรดอะมิโนชนิดนี้เป็นหนึ่งในองค์ประกอบสำคัญในกระบวนการสังเคราะห์โปรตีน มีหน้าที่ช่วยเสริมสร้างเคราตินซึ่งเป็นองค์ประกอบหลักของเส้นผม ช่วยให้เส้นผมแข็งแรงและลดการหลุดร่วงของเส้นผม และบางข้อมูลยังระบุว่า แอล-ซิสเทอีนสามารถช่วยกักเก็บความชุ่มชื้น (ป้องกันผมแห้ง) และรักษาความหนาของเส้นผม และการได้รับแอล-ซีสเทอินร่วมกับวิตามินบีรวม อาจช่วยกระตุ้นการเจริญเติบโตของเส้นผมได้[38]
- อาหารที่พบได้มาก : หมู, เนื้อวัว, ไก่, ปลา, ไข่, โยเกิร์ตไขมันต่ำ, เมล็ดทานตะวัน, ชีส
- บทบาทสำคัญต่อเส้นผม : ช่วยให้เส้นผมแข็งแรง ลดการหลุดร่วงของเส้นผม รักษาความหนาของเส้นผมและเพิ่มความชุ่มชื้นให้แก่เส้นผม
- วิตามินหรือสารอื่น ๆ อีก 11 ชนิด ได้แก่
- กรดไขมันโอเมก้า 3 หรือน้ำมันปลา (Omega-3 / Fish Oil) สารอาหารที่มีบทบาทสำคัญต่อเส้นผมต่อเส้นผม เล็บ และผิวหนัง โดยมีการศึกษาในผู้หญิงจำนวน 120 คนที่รับประทานอาหารเสริมที่มีกรดไขมันโอก้า 3 และ 6 รวมทั้งสารต้านอนุมูลอิสระเป็นเวลา 6 เดือน แล้วพบว่าช่วยลดการหลุดร่วงของเส้นผมและเพิ่มความหนาแน่นของเส้นผม[39] อย่างไรก็ตาม ยังมีการศึกษาเรื่องกรดไขมันโอเมก้า 3 และการเจริญเติบโตของเส้นผมเพียงเล็กน้อยเท่านั้น และจำเป็นต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมต่อไป
- โปรตีน (Protein) องค์ประกอบหลักของเส้นผมคือโปรตีนเคราติน การได้รับโปรตีนในปริมาณที่เพียงพอเป็นอีกปัจจัยที่มีความสำคัญต่อสุขภาพและการหลุดร่วงของเส้นผม เพราะการศึกษาในสัตว์ทดลองแสดงที่ให้เห็นว่า การขาดโปรตีนอาจลดการเจริญเติบโตของเส้นผมและทำให้ผมร่วงได้[40]
- วิตามินบี 2 (Vitamin B2 / Riboflavin) หากขาดอาจเป็นสาเหตุทำให้ผมหงอก ผมร่วง ผมมัน[41]
- วิตามินบี 9 หรือกรดโฟลิก (Folic Acid) เป็นวิตามินที่มีส่วนสำคัญต่อสุขภาพเส้นผม ช่วยให้ผิว เล็บ และผมมีสุขภาพดี การขาดวิตามินชนิดนี้สามารถทำให้เกิดภาวะโลหิตจาง ทำให้การขนส่งออกซิเจนและสารอาหารไปยังเซลล์ต่าง ๆ ของร่างกายรวมทั้งเส้นผมบกพร่อง[15] และอาจทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของเม็ดสีหรือเกิดผมหงอกก่อนวัยได้[4]
- วิตามินบี 12 (Vitamin B12) อาจมีบทบาทต่อสุขภาพเส้นผม โดยมีการศึกษาที่พบว่า ในผู้ที่ผมร่วงมักมีระดับวิตามินบี 12 ในร่างกายต่ำกว่าปกติ อย่างไรก็ตาม ก็มีหลายการศึกษาเช่นกันที่ไม่พบความเชื่อมโยงกันระหว่างกับการหลุดร่วงของเส้นผมกับระดับการเปลี่ยนแปลงของวิตามินบี 12 แต่อย่างใด[1] นอกจากนี้ การขาดวิตามินบี 12 มักเป็นหนึ่งในสาเหตุที่พบได้บ่อยที่สุดที่ทำให้ผมหงอกก่อนวัย โดยนักวิจัยได้ตั้งข้อสังเกตว่า ในผู้ที่เริ่มมีอาการผมหงอก มักขาดบี12 มักเกิดขึ้นพร้อมกับการขาดไบโอตินและกรดโฟลิก[4]
- พาบา (PABA / Para-Aminobenzoic Acid) ช่วยกระตุ้นการเจริญเติบโตของเส้นผมและลดอาการผมหงอกที่เกิดจากการขาดสารอาหารและความเครียด[8]
- โคลีนและอิโนซิทอล (Choline and Inositol) ช่วยเสริมความแข็งแรงของรูขุมขนให้มีสุขภาพดี[8]
- วิตามินดี (Vitamin D) เป็นวิตามินที่มีความสำคัญต่อกระดูก อาจไม่ได้มีความเกี่ยวข้องโดยตรงกับการเจริญเติบโตของเส้นผม แต่การขาดวิตามินดีอาจส่งผลต่อสุขภาพของเส้นผม ทำให้ผมร่วง[28] เกิดโรคผมร่วงเป็นหย่อม (Alopecia Areata)[27] และผมหงอกก่อนวัยได้ (งานวิจัยพบว่า ผู้ที่มีผมหงอกก่อนวัยมักมีภาวะขาดวิตามินดี และการค้นพบนี้ก็ชี้ให้เห็นด้วยว่าสารอาหารส่งผลต่อการผลิตเมลานินในรูขุมขนด้วย)[4] อย่างไรก็ตาม ในบ้านเราคนส่วนใหญ่ก็มักไม่ได้ขาดวิตามินชนิดนี้กันอยู่แล้ว จึงไม่ต้องเป็นกังวลครับ
- แมงกานีส (Manganese) มีข้อมูลไม่มากเกี่ยวกับแร่ธาตุชนิดนี้ที่มีบทบาทต่อเส้นผม แต่อย่างที่เราทราบกันว่าแมงกานีสมีบทบาทสำคัญในการสร้างคอลลาเจน ซึ่งคอลลาเจนเป็นโปรตีนที่ช่วยบำรุงเส้นผมให้แข็งแรง
- แมกนีเซียม (Magesium) เป็นแร่ธาตุที่มีหน้าที่ช่วยกระตุ้นหรือเร่งการทำงานของเอนไซม์ต่าง ๆ ในเมตาบอลิซึม รวมถึงช่วยในการเจริญเติบโตของเส้นผม ระดับแมกนีเซียมในร่างกายที่ต่ำอาจทำให้ผมร่วง โดยเฉพาะในผู้หญิงวัยหมดประจำเดือนที่มักขาดแร่ธาตุแมกนีเซียม[15]
- ธาตุไอโอดีน (Iodine) การขาดธาตุไอโอดีนอาจนำไปสู่การเจริญเติบโตของเส้นผมที่ผิดปกติ[8]
- เมทิลซัลโฟนินมีเทน (Methylsulfonylmethane / MSM) เป็นแหล่งของซัลเฟอร์ (กำมะถัน) ที่จำเป็นสำหรับการสร้างเคราตินในเส้นผม ช่วยให้เส้นผมแข็งแรง[8]
การเลือกซื้ออาหารเสริมบำรุง/แก้ผมร่วง
- เลือกแบรนด์หรือยี่ห้อที่มีความน่าเชื่อถือ ได้รับการยอมรับ ผลิตจากโรงงานที่ผ่านการรับรองมาตรฐานและความปลอดภัย ฉลากระบุถึงส่วนประกอบสำคัญและปริมาณอย่างชัดเจนไม่สับสน และต้องได้รับรองการขึ้นทะเบียนตำรับจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา โดยเฉพาะอาหารเสริมนำเข้าทั้งหลายที่บางส่วนยังไม่ได้ขอ อย.
- สิ่งนี้บอกอะไร ? ยี่ห้อที่มีความน่าเชื่อถือมักบ่งบอกได้ถึงการมีมาตรฐานการผลิตที่ดี, มีความถูกต้องของปริมาณสารที่ระบุไว้ในฉลาก, วัตถุดิบที่ใช้มีคุณภาพและมีความบริสุทธิ์หรือปราศจากสารปนเปื้อนหรือเป็นอันตราย รวมถึงมีความโปร่งใสของฉลากในการระบุรายละเอียดจำเป็นต่าง ๆ ที่ผู้บริโภคควรรู้และไม่ทำสับสน
- ยี่ห้อที่มีราคาแพงไม่ได้หมายความว่าจะเป็นยี่ห้อที่ดีที่สุดเสมอไป ในขณะที่ยี่ห้อที่ถูกกว่าอาจมีคุณภาพที่ดีกว่าก็เป็นได้ เพราะราคาผลิตภัณฑ์อาหารเสริมในท้องตลาดมักตั้งจากต้นทุนในการผลิตและค่าโฆษณา ดังนั้น สิ่งสำคัญที่สุดจึงควรเลือกจากยี่ห้อที่น่าเชื่อถือก่อนเป็นอันดับแรก ไม่ใช่ซื้อจากการรีวิวหรือจากการโฆษณา
- ตรวจสอบวันหมดอายุเสมอ โดยเฉพาะเมื่อซื้อจากช่องทางออนไลน์ รวมถึงส่วนผสมที่อาจก่อให้เกิดอาการแพ้ของคุณ (ถ้ามี) เพื่อหลีกเลี่ยงอาหารเสริมที่ส่วนผสมดังกล่าว
- ซื้อผลิตภัณฑ์เสริมอาหารจากร้านที่เชื่อถือได้และมีหลักแหล่งหรือที่อยู่แน่นอน โดยเฉพาะร้านขายยาที่มีเภสัชกรประจำอยู่ เพื่อจะได้ปรึกษาสอบถามถึงรายละเอียดต่าง ๆ เกี่ยวกับตัวผลิตภัณฑ์ ขนาดหรือสูตรที่เหมาะสม ความจำเป็นในการใช้ รวมถึงเพิ่มความมั่นใจในเรื่องของคุณภาพอาหารเสริมจากการจัดเก็บที่ดี (เก็บผลิตภัณฑ์ในอุณหภูมิที่เหมาะสมและไม่ร้อนจนอาหารเสริมหรือวิตามินอาจเสื่อมสภาพ)
- ไม่แนะนำให้ผู้ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่มีปริมาณไบโอตินสูงมากเกินไปหรือสูงเกินกว่า 5,000 ไมโครกรัม เนื่องจากไม่จำเป็น เพราะอาจให้ผลไม่ต่างกัน และเพื่อหลีกเลี่ยงผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นได้ (ที่ปกติก็ไม่ค่อยพบและถึงพบก็ไม่ได้ร้ายแรงอะไร แม้ว่าจะมีรายงานถึงมีความปลอดภัยเมื่อใช้ในปริมาณที่สูงมาก ๆ เป็นหมื่นถึงแสนไมโครกรัมต่อวันก็ตาม)
- มองหาผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่มีไบโอติน 1,000 ไมโครกรัมขึ้นไป และไม่เกิน 5,000 ไมโครกรัม เพราะเป็นขนาดที่มีงานวิจัยรองรับและผู้เชี่ยวชาญส่วนใหญ่แนะนำ (ในสูตรของต่างประเทศมักมีไบโอตินเริ่มต้นที่ 1,000 ไมโครกรัม ไปจนถึง 10,000 ไมโครกรัมหรือมากกว่านั้น แต่ปริมาณที่พบบ่อยในอาหารเสริมไบโอติน คือ 2,500-5,000 มิลลิกรัม ทั้งนี้เป็นเพราะปริมาณดังกล่าวไม่ได้ทำให้เกิดผลข้างเคียงต่อร่างกาย แต่ก็ยังไม่ข้อมูลหรืองานวิจัยใดที่ยืนยันได้ว่า การรับประทานในขนาด 1,000 กับ 5,000 ไมโครกรัม หรือปริมาณมากกว่านี้จะให้ผลต่อการบำรุงเส้นผมต่างกันหรือไม่ อย่างไร จึงเป็นเหตุผลให้หลายยี่ห้อเลือกที่จะใส่ไบโอตินเข้าไปจำนวนมากแทน ๆ แต่โดยส่วนตัวแล้วผู้เขียนมองว่าไม่จำเป็น ขอแค่รับเป็นประจำทุกวัน หรืออย่างมากก็เพิ่มมื้อรับเป็นประทานเป็นวันละ 2 ครั้งพร้อมอาหารก็เพียงพอแล้ว)
- สำหรับการใช้อาหารเสริมไบโอตินเพื่อป้องกันและรักษาการขาดไบโอติน แค่ปริมาณไบโอติน 150 ไมโครกรัมก็เพียงพอแล้ว ซึ่งเป็นปริมาณที่พบได้เป็นส่วนใหญ่ในอาหารเสริมไบโอตินของไทย เพราะร่างกายต้องการไบโอตินแค่เพียงวันละ 30 ไมโครกรัม และคำแนะนำตาม Thai RDI (ปริมาณสารอาหารที่แนะนำให้คนไทยบริโภคต่อวัน) คือ ไบโอตินวันละ 150 ไมโครกรัม
- มองหาผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่มีส่วนผสมของสารสำคัญที่หลากหลายนอกเหนือจากไบโอติน แม้ไบโอตินจะเป็นวิตามินที่โดดเด่นในด้านนี้ แต่ก็ยังมีวิตามิน แร่ธาตุ และสารอื่น ๆ ที่ช่วยให้ผมมีสุขภาพดีได้เช่นกัน ดังนั้น จึงเป็นการดีกว่าที่จะมีวิตามินและสารสำคัญอย่างอื่นที่ช่วยในการบำรุงผมด้วย เพราะสุขภาพผมน่าจะได้รับการบำรุงที่มากกว่าและครอบคลุมกว่า อีกทั้ง ปัญหาสุขภาพผม ปัญหาผมร่วง ผมบางก็ไม่ได้เกิดจากการขาดไบโอตินเพียงอย่างเดียว แต่ยังเกิดได้จากการขาดวิตามินและแร่ธาตุอย่างอื่นด้วย ตั้งแต่วิตามินบี3, บี6, บี12, วิตามินเอ, วิตามินอี, วิตามินดี, ธาตุเหล็ก, สังกะสี, ทองแดง, แมกนีเซียม และซิลิกา
- พิจารณาจากรูปแบบของวิตามินที่เหมาะสม เพราะผลิตภัณฑ์เสริมอาหารด้านนี้จะมีรูปแบบให้เลือกทานอย่างหลากหลาย ตั้งแต่แบบเม็ด ซอฟเจล แคปซูล และกัมมี่ รวมถึงขนาดที่แตกต่างตั้งแต่เม็ดเล็กเม็ดใหญ่ คุณจึงไม่จำเป็นต้องลำบากในการทานอาหารเสริมในรูปแบบที่ไม่เหมาะกับตัวเอง เช่น ไม่ชอบทานแคปซูล เพราะมีปัญหาการกลืนก็อาจเลือกทานแบบซอฟเจล หรือถ้าไม่ชอบทานแบบเป็นเม็ดก็เลือกเป็นแบบกัมมี่ได้ แต่ต้องระวังปริมาณน้ำตาลที่ได้รับ เพราะบางยี่ห้ออาจต้องกินหลายเม็ด เป็นต้น และไม่ว่าจะแบบใดต่างก็ดูดซึมได้ดีเท่า ๆ กัน
- เลือกแบรนด์หรือยี่ห้อที่ผ่านการทดสอบโดยบุคคลที่สามที่น่าเชื่อถือ เพื่อให้แน่ใจว่าผลิตภัณฑ์ดังกล่าวมีประสิทธิภาพ คุณภาพดี และมีความบริสุทธิ์ (ถ้ามี)
- เปรียบเทียบความคุ้มค่าเพิ่มเติมโดยดูจากราคาเฉลี่ยต่อเม็ด จำนวนและปริมาณของสารสำคัญที่ได้รับ (ควรอ่านและทำความเข้าใจถึงประโยชน์ของสารสำคัญแต่ละชนิดตามงานวิจัย ไม่ใช่จากคำโฆษณา และควรรู้ถึงปริมาณที่เหมาะสมในการออกฤทธิ์ หรือดูว่าสารดังกล่าวมีปริมาณน้อยกว่าหรือมากกว่าปริมาณที่แนะนำต่อวันหรือไม่อย่างไร)
อาหารเสริมบำรุงผม/แก้ผมร่วงยี่ห้อไหนดี ?
ผลิตภัณฑ์อาหารเสริมบำรุงผม/แก้ผมร่วงในปัจจุบันมีให้เลือกซื้อหลากหลายยี่ห้อ แต่ละยี่ห้อมักมีส่วนผสมและปริมาณที่แตกต่างกันไป ซึ่งในบทความนี้เราจะมาเปิดขวดและรีวิวรวมทั้งหมด 10 ตัว! พร้อมกับให้คะแนนและจัดอันดับแบบคร่าว ๆ โดยการคัดเลือกผลิตภัณฑ์ที่นำมารีวิวนี้ เราจะเน้นเลือกเฉพาะยี่ห้อที่เป็นที่นิยมในไทยและหาซื้อได้สะดวกในร้านขายยาหรือตามเว็บไซต์ไซต์อีคอมเมิร์ซเป็นหลัก
อย่างไรก็ตาม การรีวิวนี้เป็นรีวิวจากผู้เขียนเพียงผู้เดียว จึงอาจไม่สามารถนำไปใช้อ้างอิงใด ๆ ได้ เพราะเกณฑ์การเลือกซื้อและน้ำหนักการให้คะแนนอาจแตกต่างกันได้ในแต่ละบุคคล เช่น บางคนเน้นดูที่ยี่ห้อเป็นหลัก บางคนดูแต่ส่วนผสมและปริมาณ หรือบางคนก็ดูราคาจากราคาและความคุ้มค่าเพียงอย่างเดียว ดังนั้น จึงไม่ได้หมายความว่ายี่ห้อที่มีคะแนนน้อยกว่าจะมีคุณภาพด้อยกว่าเสมอไป ประกอบกับความจำเป็นหรือความต้องการวิตามินในร่างกายของแต่ละคนก็ไม่เหมือนกัน แต่ที่สำคัญคือ ผู้เขียนแนะนำว่าไม่ควรเลือกซื้ออาหารเสริมใด ๆ จากคำโฆษณา จากคำบอกเล่า หรือจากรีวิวนี้เพียงอย่างเดียว จนกว่าคุณจะได้ปรึกษาเภสัชกรหรือแพทย์ของคุณ
ส่วนเกณฑ์การให้คะแนนและจัดอันดับแบบคร่าว ๆ ในรีวิวนี้จะมีเกณฑ์ดังนี้ครับ (คะแนนเต็ม 30 คะแนน)
1. ความน่าเชื่อถือ (แบรนด์) : คะแนนรวม 10 คะแนน (อาหารเสริมนำเข้าที่ไม่มี อย. -0.5 คะแนน)
- เราให้ความสำคัญเป็นอันดับแรกในการเลือกซื้ออาหารเสริม เพราะสิ่งนี้บ่งบอกข้อมูลได้หลายอย่าง เช่น มาตรฐานการผลิตที่มี, ความถูกต้องของปริมาณสารที่ระบุไว้ในฉลาก, คุณภาพของวัตถุดิบที่ใช้, ความบริสุทธิ์ของส่วนผสม, ความปลอดภัยปราศจากสารปนเปื้อนหรือเป็นอันตราย, ความโปร่งใสของฉลากในการระบุรายละเอียดจำเป็นต่าง ๆ (ที่ผู้บริโภคควรรู้และไม่ทำสับสน) เป็นต้น โดยการให้คะแนนในส่วนนี้หลัก ๆ จะดูจากมูลค่าและทุนจดทะเบียนบริษัท การมีข้อมูลสินค้าที่แสดงบนเว็บไซต์ชัดเจนและระบุมาตรฐานการผลิต ลักษณะของโรงงานที่ผลิต ความจำเพาะในการดำเนินธุรกิจ (หากดำเนินการธุรกิจหลายอย่าง หรือเป็นโรงงานที่ผลิตหลายอย่าง นอกเหนือจากการผลิตอาหารเสริม เภสัชภัณฑ์ และเคมีภัณฑ์ที่ใช้รักษาโรค คะแนนก็จะน้อยลงตามสัดส่วน)
2. จำนวนและปริมาณของสารสำคัญ : คะแนนรวม 10 คะแนน โดยแบ่งเป็น
- คะแนนจากไบโอติน : 5 คะแนน (สาเหตุที่ให้คะแนนส่วนนี้มากที่สุด เพราะไบโอตินป็นวิตามินหลักที่มีการพูดถึงมากที่สุดและอาหารเสริมทุกยี่ห้อเกี่ยวกับการบำรุงเส้นผมและลดผมหลุดร่วงต่างก็มีวิตามินชนิดนี้ อีกทั้งมีประโยชน์ในการดูแลสุขภาพผมก็ค่อนข้างจะครอบคลุมมากกว่าวิตามินหรือสารอื่น ๆ แม้ว่าจะยังมีหลักฐานไม่ชัดเจนก็ตาม ส่วนเกณฑ์การให้คะแนนตามปริมาณของไบโอตินนั้นจะพิจารณาจากงานวิจัย ความเห็นของผู้เชี่ยวชาญ และนักโภชนาการส่วนใหญ่เป็นหลัก)
- ไบโอติน 150 ไมโครกรัม = 2 คะแนน
- ไบโอติน 500 ไมโครกรัม = 3 คะแนน
- ไบโอติน 600 ไมโครกรัม = 3.5 คะแนน
- ไบโอติน 1,000 ไมโครกรัม = 4.5 คะแนน
- ไบโอตินมากกว่า 1,000 ไมโครกรัม = 5 คะแนน
- คะแนนจากวิตามินและแร่ธาตุ : 2 คะแนน (สาเหตุที่ให้คะแนนส่วนนี้น้อยกว่าส่วนอื่นเป็นเพราะการเพิ่มปริมาณของวิตามินและแร่ธาตุส่วนใหญ่ไม่ได้ช่วยลดอาการผมร่วงครับ แต่การขาดอาจเป็นปัจจัยที่ทำให้ผมร่วงได้ ซึ่งก็พบได้ไม่บ่อยครับ) โดยส่วนนี้จะเป็นการให้คะแนนโดยดูจากจำนวนและปริมาณของวิตามินและแร่ธาตุเป็นหลัก แล้วจำลองการอันดับเฉพาะส่วนนี้ว่ายี่ห้อใดมีภาษีดีกว่าแล้วทำการให้คะแนนแบบคร่าว ๆ
- คะแนนจากสำคัญอื่น ๆ และสารสกัดจากหญ้าหางม้า : 3 คะแนน (สาเหตุที่ให้คะแนนส่วนนี้มากกว่าวิตามินและแร่ธาตุ เพราะมีสารหลายตัวที่มีงานวิจัยรองรับชัดเจนว่าช่วยลดอาการผมได้จากเพิ่มปริมาณการรับประทานให้มากขึ้น) โดยส่วนนี้จะเป็นการกะเกณฑ์แล้วให้คะแนนแบบคร่าว ๆ เพราะไม่สามารถสร้างเกณฑ์ที่ชัดเจนในการให้คะแนนได้ เนื่องจากแต่ละยี่ห้อจะมีความแตกต่างกันทั้งชนิดของสารและปริมาณ รวมถึงประโยชน์ของสารแต่ละชนิดที่ต่างกันด้วย
3. ราคาเฉลี่ยต่อเม็ด : คะแนนรวม 10 คะแนน
- เนื่องจากยี่ห้อที่มีราคาต่อเม็ดถูกที่สุด คือ 3.056 บาท (BIOTIN ZINC คณะเภสัชศาสตร์ จุฬา) และแพงสุด คือ 29.667 บาท (LYO ซึ่งมีราคาแพงกว่า 3.163 เท่า) เราจึงให้ยี่ห้อที่มีราคาถูกสุดได้เต็ม 10 คะแนน และเมื่อนำคะแนนเต็ม 10 มาหารด้วย 3.163 เท่า ก็จะได้ 3.162 นั่นหมายความว่ายี่ห้อที่มีราคาต่อเม็ดแพงที่สุดจะได้คะแนนเพียง 3.162 คะแนน จากเต็ม 10 คะแนน
#1 REGENEZ
รีจีเนซ (REGENEZ) จากเมก้าวีแคร์ (MEGA We care) แบรนด์อาหารเสริมที่ไว้ใจได้ในเรื่องของคุณภาพและมาตรฐานการผลิต เพราะผลิตโดยโรงงานผลิตยาแห่งแรกและแห่งเดียวในไทยที่ผ่านการรับมาตรฐานการผลิต (GMP) ระดับสากลถึง 2 สถาบัน คือ TGA จากประเทศออสเตรเลีย และ BfArM จากประเทศเยอรมัน ที่เป็นที่ยอมรับในยุโรป และมีกำลังการผลิตสูงส่งออกไปต่างประเทศกว่า 30 ประเทศทั่วโลก
จุดเด่น : ผลิตจากบริษัทที่มีความน่าเชื่อถือสูง และเป็นสูตรรวมสารอาหารที่สำคัญสำหรับเส้นผมอย่างครบถ้วน โดยมีปริมาณไบโอตินปริมาณสูงตามคำแนะนำของผู้เชี่ยวชาญ คือ 1,000 ไมโครกรัม (ช่วยในการเจริญเติบโตของเส้นผม ทำให้ผมหนาขึ้นดูมีวอลลุ่ม ช่วยลดผมร่วง ผมบาง และผมหงอกก่อนวัย), มีวิตามินบี 5 สูงที่สุดเมื่อเทียบกับยี่ห้ออื่น (ให้ความชุ่มชื้นแก่เส้นผม), มีซิลิกา 15 มิลลิกรัม (จากสารสกัดหญ้าหางม้าสูง 215 มิลลิกรัม ตัวช่วยให้ผมมีสุขภาพแข็งแรง ลดการหลุดร่วง เพิ่มความยืดหยุ่น ลดการแตกหักของเส้นผม และเพิ่มความเงางามให้กับเส้นผม) อีกทั้งยังมีธาตุเหล็กและทองแดงที่ช่วยในการเจริญเติบโตของเส้นได้ดี ฯลฯ นอกจากนี้ตัวบรรจุภัณฑ์ยังมารูปของแผงฟอยล์ที่ง่ายต่อการพกพาและแยกวิตามินแต่ละเม็ดออกจากกัน (ป้องกันออกซิเจนและความชื้น คงสภาพและปริมาณของสารสำคัญระหว่างรอการบริโภค)
จุดด้อย : ราคาเฉลี่ยต่อเม็ดค่อนข้างแพง ซึ่งอาจเป็นเพราะต้นทุนจากบรรจุภัณฑ์
คะแนน :
- ความน่าเชื่อถือ (แบรนด์) : 10 /10 คะแนน
- จำนวนและปริมาณของสารสำคัญ : 8.5 /10 คะแนน
- ไบโอติน : 4.5/5 คะแนน
- ไบโอติน : 1,000 ไมโครกรัม
- วิตามินและแร่ธาตุ (7 ชนิด) : 2/2 คะแนน
- วิตามินซี : 100 มิลลิกรัม
- วิตามินบี 3 : 15 มิลลิกรัม
- วิตามินบี 5 : 25 มิลลิกรัม
- วิตามินบี 6 : 2 มิลลิกรัม
- ธาตุสังกะสี : 15 มิลลิกรัม
- ธาตุเหล็ก : 1 มิลลิกรัม
- ธาตุทองแดง : 1 มิลลิกรัม
- สารสำคัญอื่น ๆ (1 ชนิด) : 2/3 คะแนน
- สารสกัดจากหญ้าหางม้า : ประมาณ 215 มิลลิกรัม (ให้ซิลิกา 15 มิลลิกรัม)
- ไบโอติน : 4.5/5 คะแนน
- ราคา : 8.044 /10 คะแนน
- 1 กล่อง (30 เม็ด แบ่งเป็น 3 แผงฟอยล์ แผงละ 10 ซอฟเจล) ราคา 320 บาท
- ราคาเฉลี่ยต่อเม็ด : 10.667 บาท
- คะแนนรวม : 26.544 /30 คะแนน
#2 BLACKMORES BIOTIN H+
แบลคมอร์ส ไบโอติน เอช+ (BLACKMORES BIOTIN H+) ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารจากออสเตรเลีย มีความน่าเชื่อถือสูง ได้รับการยอมรับมาอย่างยาวนานในบ้านเรา เพราะเป็นยี่ห้อแรก ๆ ที่เข้ามาเปิดตลาดอาหารเสริมในไทย โดดเด่นในเรื่องของการคัดเลือกวัตถุดิบที่มีคุณภาพสูง ผลิตตามข้อกำหนดและมาตรฐานระดับสากล (มาตรฐานการผลิต GMP และมาตรฐานการผลิต PIC/S จากประเทศออสเตรเลีย ซึ่งเป็นมาตรฐานการผลิตยาที่ใช้กันเป็นกฎหมายในทวีปยุโรป) และเป็นอาหารเสริมที่นำเข้ามาทั้งขวดไม่ได้ผลิตในบ้านเรา
จุดเด่น : เป็นอาหารเสริมนำเข้าที่มีความน่าเชื่อถือและได้รับการยอมรับมากในไทย เป็นยี่ห้อที่มีจำนวนของสารที่มีประโยชน์ต่อเส้นผมมาก โดยเฉพาะสารสำคัญอื่นที่นอกจากจะมีสารสกัดจากหญ้าหางม้าที่ให้ซิลิกาแล้วยังประกอบไปด้วย
- สารสกัดจากเมล็ดข้าวฟ่าง (มิลเลท) เป็นสารสกัดที่ช่วยลดการหลุดร่วงของเส้นผม เพิ่มความเงางาม และอาจช่วยในการเจริญเติบโตของเส้นผม[42]
- สารสกัดจากสาหร่ายเคลป์ ช่วยเสริมสร้างความแข็งแรงของเส้นผม เพราะอุดมไปด้วยวิตามินและแร่ธาตุจำเป็นหลายชนิด เช่น วิตามินเอ, บี1, บี2, วิตามินซี, วิตามินดี, วิตามินอี, สังกะสี, ไอโอดีน, แมกนีเซียม, เหล็ก, ทองแดง, โพแทสเซียม, แคลเซียม[43]
- สารสกัดจากชาขาว ช่วยเพิ่มการเจริญเติบโตของเส้นผมและป้องกันผมร่วงก่อนวัยอันควร[44]
- สารสกัดจากพริก (แคปชิคุม) ช่วยเพิ่มการไหลเวียดของเลือดไปเลี้ยงศีรษะ จึงช่วยในการเจริญเติบโตของเส้นผม[16]
จุดด้อย : มีไบโอตินน้อย และในสูตรจะไม่ได้เน้นไปที่วิตามินและแร่ธาตุที่มีประโยชน์ต่อเส้นผมมากนัก แต่จะเน้นไปที่สารสำคัญอย่างอื่นแทน และแม้จะมีสารสำคัญหลากหลาย แต่โดยรวมก็ไม่ได้มีปริมาณมากนัก และราคาเฉลี่ยต่อเม็ดก็ค่อนข้างแพง (เนื่องนำเข้าจากออสเตรเลียมาทั้งขวดและไม่ได้ผลิตในไทย) และอีกเล็กน้อยที่ฉลากอาจสร้างความสับสนและทำให้เข้าใจผิดได้ เพราะตอนแรกผู้เขียนเข้าใจยี่ห้อนี้มีสารสกัดจากหญ้าหางม้าถึง 500 มิลลิกรัม แต่พอเปิดเอกสารดูด้านในก็ไม่ใช่อย่างที่เข้าใจ เพราะความจริงแล้วมีสารสกัดจากหญ้าหางม้าเพียง 40 มิลลิกรัม (ซึ่งมาจากหญ้าหางม้าแห้งปริมาณ 500 มิลลิกรัม) ส่วนสารสกัดอื่น ๆ ก็เช่นกัน เช่น สารสกัดจากเมล็ดข้าวฟ่าง 40 มิลลิกรัม ไม่ใช่ 400 มิลลิกรัมตามหน้าฉลาก
คะแนน :
- ความน่าเชื่อถือ (แบรนด์) : 10 /10 คะแนน
- จำนวนและปริมาณของสารสำคัญ : 6.2 /10 คะแนน
- ไบโอติน : 2/5 คะแนน
- ไบโอติน : 150 ไมโครกรัม
- วิตามินและแร่ธาตุ (4 ชนิด) : 1.2/2 คะแนน
- วิตามินซี : 60 มิลลิกรัม
- วิตามินอี : 2.25 หน่วยสากล
- ธาตุสังกะสี : 15 มิลลิกรัม
- ซีลีเนียม : 70 ไมโครกรัม
- สารสำคัญอื่น ๆ (5 ชนิด) : 3/3 คะแนน
- สารสกัดจากหญ้าหางม้า : 40 มิลลิกรัม (จากหญ้าหางม้าแห้ง 500 มิลลิกรัม)
- สารสกัดจากเมล็ดข้าวฟ่าง (มิลเลท) : 40 มิลลิกรัม (จากเมล็ดข้าวฟ่างแห้ง 400 มิลลิกรัม)
- สารสกัดจากสาหร่ายเคลป์ : 50 มิลลิกรัม (จากสาหร่ายเคลป์สด 500 มิลลิกรัม)
- สารสกัดจากชาขาว : 50 มิลลิกรัม (จากชาขาวแห้ง 300 มิลลิกรัม)
- สารสกัดจากพริก (แคปชิคุม) : 1.3 มิลลิกรัม (จากพริกแคปชิคุมแห้ง 26 มิลลิกรัม)
- ไบโอติน : 2/5 คะแนน
- ราคา : 8.096 /10 คะแนน
- 1 ขวด (60 เม็ด) ราคา 628 บาท
- ราคาเฉลี่ยต่อเม็ด : 10.467 บาท
- คะแนนรวม : 24.296 /30 คะแนน
#3 NATURE’S BOUNTY HAIR SKIN & NAILS GUMMIES
เนเจอร์ส บาวน์ตี้ แฮร์ สกิน แอนด์ เนลส์ กัมมี่ (NATURE’S BOUNTY HAIR SKIN & NAILS GUMMIES) เป็นอาหารเสริมนำเข้าและผลิตจากประเทศอเมริกา ผลิตโดยบริษัทที่เชี่ยวชาญด้านอาหารเสริม The Bountiful Company ซึ่งแบรนด์อาหารเสริมอื่นจากต่างประเทศที่บริษัทนี้ผลิตคุณอาจคุ้นเคย เช่น Puritan’s Prid, SOLGAR, SUNDOWN และ Ester-C
จุดเด่น : รูปแบบรับประทานมาในรูปแบบของกัมมี่ ทำให้ทานได้ง่ายมาก ส่วนรสชาติก็อร่อยหมือนกัมมี่ทั่วไปที่คนไทยคุ้นเคย เรื่องกลิ่นก็ใช้ได้ค่อนข้างหอม ตัวสินค้านำเข้าจากอเมริกา และมีปริมาณไบโอตินสูงถึง 2,500 ไมโครกรัม
จุดด้อย : ไม่ได้ขออนุญาตนำเข้าอย่างถูกต้อง (ไม่มี อย. จึงทำให้ไม่มีร้านตัวแทนจำหน่ายอย่างเป็นทางการ ซึ่งอาจทำให้เสี่ยงต่อการได้รับของไม่มีคุณภาพหรือเป็นของปลอมได้ครับ), ขาดความหลากหลายของสารสำคัญที่จำเป็นสำหรับเส้นผม, ฝาขวดเปิดยากมาก (ต้องออกแรงกดและหมุนมากเป็นพิเศษ ), มีเมือกเล็กน้อยที่ก้นขวด, เมื่อเปิดขวดทานบ่อย ๆ ตัวกัมมี่จะเหนียวติดกันเป็นก้อน และเริ่มมีกลิ่นไม่ค่อยน่ารับประทาน (อาจเป็นเพราะจากสภาพอากาศบ้านเราที่ค่อนข้างร้อนก็ได้ครับ)
เมื่อเทียบกับกระปุกเดิมที่เคยทานอยู่ กระปุกที่ได้มาใหม่ไม่แน่ใจว่าเป็นของปลอมหรือเปล่านะครับ เพราะมีข้อแตกต่างอยู่ 4 จุด (ก่อนซื้อยี่ห้อนี้แนะนำให้ระวังให้มากเป็นพิเศษเลยครับ)
- สีฝาขวดสีไม่เหมือนกัน (กระปุกเดิมสีเข้มกว่า)
- ฟอนต์ฝาขวด (กระปุกเดิมฟอนต์หนากว่า)
- ก้นขวด (กระปุกเดิมก้นมน ส่วนกระปุกใหม่ก้นเหลี่ยม และรหัสตัวเลขไม่เหมือนกัน)
- เศษก้อน (กระปุกเดิมไม่มี ส่วนกระปุกใหม่มีเศษแบบนี้ประมาณ 4-5 ก้อน ไม่รู้ว่าคืออะไร ซึ่งมันไม่ควรมี)
คะแนน :
- ความน่าเชื่อถือ (แบรนด์) : 9.5 /10 คะแนน (ไม่มี อย. -0.5 คะแนน)
- จำนวนและปริมาณของสารสำคัญ : 5.5 /10 คะแนน
- ไบโอติน : 5/5 คะแนน
- ไบโอติน : 2,500 ไมโครกรัม
- วิตามินและแร่ธาตุ (2 ชนิด) : 0.5/2 คะแนน
- วิตามินซี : 15 มิลลิกรัม
- วิตามินอี : 6.7 มิลลิกรัม (เทียบเท่า 6.7 หน่วยสากล)
- สารสำคัญอื่น ๆ (0 ชนิด) : 0/3 คะแนน
- ไบโอติน : 5/5 คะแนน
- ราคา : 9.152 /10 คะแนน
- 1 กระปุก (140 เม็ด) ราคา 890 บาท
- ราคาเฉลี่ยต่อเม็ด : 6.357 บาท
- คะแนนรวม : 24.152 /30 คะแนน
#4 VISTRA REGOW
วิสทร้า รีโกว์ (VISTRA REGOW) ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารแบรนด์ที่คนไทยคุ้ยเคยกันดี จ้างผลิตโดยบริษัทโปรโนวา แลบบอราทอรีส์ จำกัด ซึ่งเป็นโรงงานที่ผลิตอาหารเสริม เครื่องสำอาง และผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพต่าง ๆ (ผ่านการรับรองมาตรฐาน GMP, HACCP, DMSc)
จุดเด่น : เชื่อถือได้ในเรื่องของคุณภาพและความปลอดภัย เป็นสูตรที่เน้นไปที่สารอื่น ๆ มากกว่าวิตามินและแร่ธาตุ แม้จะมีไบโอตินน้อย แต่ใส่สารอาหารค่อนข้างหลากหลาย เพราะในสูตรจะเสริมมาด้วยวิตามินเอ (ช่วยให้ผมแข็งแรง), หญ้าหางม้า (ลดผมร่วง เพิ่มความยืดหยุ่น ลดการแตกหัก และเพิ่มความเงางามให้แก่เส้นผม), L-Methionine (ชะลอผมหงอกก่อนวัย ช่วยให้ผมเรียบลื่นและเงางาม) และสารสกัดจากเมล็ดแฟลกซ์มาให้อีกพอประมาณ
จุดด้อย : มีปริมาณไบโอตินน้อย เป็นสูตรที่ไม่ได้เน้นวิตามินและแร่ธาตุที่มีประโยชน์ต่อเส้นผมมากนัก ส่วนสารสำคัญอื่น ๆ ที่เสริมเข้ามา แม้จะหลากหลาย แต่ก็ไม่ได้มีปริมาณมากนัก
คะแนน :
- ความน่าเชื่อถือ (แบรนด์) : 9 /10 คะแนน
- จำนวนและปริมาณของสารสำคัญ : 6.7 /10 คะแนน
- ไบโอติน : 2/5 คะแนน
- ไบโอติน : 150 ไมโครกรัม
- วิตามินและแร่ธาตุ (6 ชนิด) : 1.7/2 คะแนน
- วิตามินเอ : 2,000 หน่วยสากล
- วิตามินอี : 10 หน่วยสากล
- วิตามินบี 9 : 0.2 มิลลิกรัม
- ซีลีเนียม : 35 ไมโครกรัม
- ธาตุทองแดง : 1 มิลลิกรัม
- แมงกานีส : 1.7 มิลลิกรัม
- สารสำคัญอื่น ๆ (3 ชนิด) : 3/3 คะแนน
- สารสกัดจากสนหางม้า : 100 มิลลิกรัม
- แอล-เมไทโอนีน : 100 มิลลิกรัม
- สารสกัดจากเมล็ดแฟลกซ์ : 150 มิลลิกรัม
- ไบโอติน : 2/5 คะแนน
- ราคา : 8.027 /10 คะแนน
- 1 ขวด (30 เม็ด) ราคา 322 บาท
- ราคาเฉลี่ยต่อเม็ด : 10.733 บาท
- คะแนนรวม : 23.727 /30 คะแนน
#5 VISTRA L-Cysteine PLUS Biotin
วิสตร้า แอล-ซิสเทอีน พลัส ไบโอติน (VISTRA L-Cysteine PLUS Biotin) ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารแบรนด์ไทยอีกยี่ห้อที่ได้รับความนิยมสูงในไทย (จัดได้เป็นแบรนด์ Top 3 ของผลิตภัณฑ์เสริมอาหารในไทย)
จุดเด่น : เป็นสูตรที่คัดมาเฉพาะสารสำคัญที่มีประโยชน์ต่อเส้นผมมากที่สุดเท่านั้น คือ ไบโอติน, วิตามินบี 3, วิตามินบี 5, ธาตุสังกะสี และธาตุเหล็ก แต่พระเอกของสูตรนี้จริง ๆ จะเป็นตัวแอล-ซิสเทอีน (L-Cysteine) ที่ให้มาในปริมาณมาก โดยตัวนี้จะเป็นกรดอะมิโนที่ช่วยให้เส้นผมมีสุขภาพแข็งแรงและช่วยลดการหลุดร่วงของเส้นผม (บางข้อมูลยังระบุว่า แอล-ซิสเทอีนสามารถช่วยกักเก็บความชุ่มชื้น (ป้องกันผมแห้ง) และรักษาความหนาของเส้นผม และการได้รับแอล-ซีสเทอินร่วมกับวิตามินบีรวม อาจช่วยกระตุ้นการเจริญเติบโตของเส้นผมได้)
จุดด้อย : ราคาเฉลี่ยต่อเม็ดที่แพง (แพงเป็นอันดับ 2 รองจากยี่ห้อ LYO) มีปริมาณของไบโอตินน้อย
คะแนน :
- ความน่าเชื่อถือ (แบรนด์) : 9 /10 คะแนน
- จำนวนและปริมาณของสารสำคัญ : 6.2 /10 คะแนน
- ไบโอติน : 2/5 คะแนน
- ไบโอติน : 150 ไมโครกรัม
- วิตามินและแร่ธาตุ (4 ชนิด) : 1.2/2 คะแนน
- วิตามินบี 3 : 20 มิลลิกรัม
- วิตามินบี 5 : 6 มิลลิกรัม
- ธาตุสังกะสี : 7.5 มิลลิกรัม
- ธาตุเหล็ก : 10 มิลลิกรัม
- สารสำคัญอื่น ๆ (1 ชนิด) : 3/3 คะแนน
- แอล-ซิสเทอีน : 500 มิลลิกรัม
- ไบโอติน : 2/5 คะแนน
- ราคา : 8.267 /10 คะแนน
- 1 ขวด (30 เม็ด) ราคา 294 บาท
- ราคาเฉลี่ยต่อเม็ด : 9.8 บาท
- คะแนนรวม : 23.467 /30 คะแนน
#6 NATURE’S BOUNTY Biotin 1000 mcg
เนเจอร์ส บาวน์ตี้ ไบโอติน 1000 ไมโครกรัม (NATURE’S BOUNTY Biotin 1000 mcg) แบรนด์เดียวกับตัวกัมมี่
จุดเด่น : มีปริมาณไบโอตินต่อเม็ดสูงตามงานวิจัย เป็นอาหารเสริมนำเข้าที่ผลิตจากประเทศอเมริกา และมีราคาเฉลี่ยต่อเม็ดไม่แพง
จุดด้อย : ไม่ได้ขออนุญาตนำเข้าอย่างถูกต้อง (ไม่มี อย.) มีไบโอตินเพียงอย่างเดียว ทำให้ขาดความหลากหลายของสารที่จำเป็นต่อสุขภาพเส้นผม ซึ่งอย่างที่บอกไปครับว่าสาเหตุผมหลุดร่วงสุขภาพจากการขาดสารอาหาร ไม่ได้เกิดจากไบโอตินได้เพียงอย่างเดียว แต่ยังเกิดจากการวิตามินและแร่ธาตุอื่น ๆ ได้ด้วย
คะแนน :
- ความน่าเชื่อถือ (แบรนด์) : 9.5 /10 คะแนน (ไม่มี อย. -0.5 คะแนน)
- จำนวนและปริมาณของสารสำคัญ : 4.5 /10 คะแนน
- ไบโอติน : 4.5/5 คะแนน
- ไบโอติน : 1,000 ไมโครกรัม
- วิตามินและแร่ธาตุ (0 ชนิด) : 0/2 คะแนน
- สารสำคัญอื่น ๆ (0 ชนิด) : 0/3 คะแนน
- ไบโอติน : 4.5/5 คะแนน
- ราคา : 9.251 /10 คะแนน
- 1 กระปุก (100 เม็ด) ราคา 597 บาท
- ราคาเฉลี่ยต่อเม็ด : 5.97 บาท
- คะแนนรวม : 23.251 /30 คะแนน
#7 DHC Biotin
ดีเอชซี ไบโอติน (DHC Biotin) ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารจากญี่ปุ่น และ DHC ค่อนข้างมีชื่อเสียงในประเทศญี่ปุ่น
จุดเด่น : เป็นวิตามินแบบ Time-Release คือละลายช้าให้ร่างกายค่อย ๆ ดูดซึม, เป็นยี่ห้อที่มีปริมาณไบโอตินพอประมาณ (500 ไมโครกรัม) คือ ไม่มากหรือน้อยจนเกินไป, ราคาต่อเม็ดไม่แพง และค่อนข้างไว้ใจได้ในเรื่องของคุณภาพ
จุดด้อย : ไม่มี อย. มีไบโอตินเพียงอย่างเดียว ทำให้ขาดความหลากหลายของวิตามินหรือสารที่มีประโยชน์ต่อเส้นผม นอกจากนี้ ยังไม่มีงานวิจัยรองรับว่า วิตามินแบบ Time-Release จะได้ผลดีกว่าแบบธรรมดาหรือไม่ (มีงานวิจัยอื่น ๆ ที่แม้จะไม่ได้เกี่ยวกับไบโอตินโดยตรง แต่เป็นงานวิจัยเกี่ยวกับวิตามินซีที่พบว่าวิตามินซีสูตรละลายช้าเมื่อทานอย่างสม่ำเสมอเป็นเวลานานประมาณ 2 เดือน พบว่าร่างกายมีระดับวิตามินซีไม่แตกต่างจากแบบปกติ ดังนั้น ประเด็นของรูปแบบยาจึงไม่มีผลต่อการออกฤทธิ์ในร่างกายในกรณีที่รับประทานเป็นเวลานาน และบางรายงานยังพบว่าประสิทธิภาพการดูดซึมของวิตามินละลายช้าน้อยลงด้วยเมื่อเทียบกับแบบปกติ) อีกทั้งปริมาณของไบโอตินที่ให้มาก็ไม่ได้สูงมากถึงขนาดที่ต้องปล่อยให้ละลายช้า ๆ
คะแนน :
- ความน่าเชื่อถือ (แบรนด์) : 9 /10 คะแนน (ไม่มี อย. -0.5 คะแนน)
- จำนวนและปริมาณของสารสำคัญ : 3.5 /10 คะแนน
- ไบโอติน : 3 + 0.5 (จากสูตรละลายช้า) = 3.5 /5 คะแนน
- ไบโอติน : 500 ไมโครกรัม (สูตรละลายช้า)
- วิตามินและแร่ธาตุ (0 ชนิด) : 0/2 คะแนน
- สารสำคัญอื่น ๆ (0 ชนิด) : 0/3 คะแนน
- ไบโอติน : 3 + 0.5 (จากสูตรละลายช้า) = 3.5 /5 คะแนน
- ราคา : 9.543 /10 คะแนน
- 1 ซอง (30 เม็ด) ราคา 145 บาท
- ราคาเฉลี่ยต่อเม็ด : 4.833 บาท
- คะแนนรวม : 22.043 /30 คะแนน
#8 BIOTIN ZINC คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ไบโอติน ซิงค์ (BIOTIN ZINC) โดยร้านยาโอสถศาลาของคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นอาหารเสริมที่ผลิตโดยสถานปฏิบัติการเภสัชกรรมชุมชน โอสถศาลา คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จึงมั่นใจได้ในเรื่องของคุณภาพและความปลอดภัย
จุดเด่น : มั่นใจได้ในเรื่องของคุณภาพและความปลอดภัย และเป็นยี่ห้อที่มีราคาเฉลี่ยต่อเม็ดถูกสุด (3.9 บาท/เม็ด) จึงเหมาะอย่างมากสำหรับใช้ป้องกันและรักษาการขาดไบโอติน
จุดด้อย : มีปริมาณไบโอตินน้อย และขาดความหลากหลายของสารที่มีประโยชน์ต่อเส้นผม (ในยี่ห้ออื่นแม้จะมีปริมาณไบโอตินน้อยแต่ก็ยังเสริมมาด้วยสารสำคัญอื่น ๆ) ซึ่งน่าจะเหมาะสำหรับคนที่ขาดไบโอตินมากกว่าผู้ที่ต้องการเสริมไบโอตินเพื่อหวังผลให้ผมมีสุขภาพดีขึ้น กล่าวคือหากร่างกายของคุณไม่ได้ขาดไบโอติน การรับประทานไบโอตินสูตรนี้อาจไม่ได้ช่วยลดการหลุดร่วงของเส้นผม
คะแนน :
- ความน่าเชื่อถือ (แบรนด์) : 9.5 /10 คะแนน
- จำนวนและปริมาณของสารสำคัญ : 2.3 /10 คะแนน
- ไบโอติน : 2/5 คะแนน
- ไบโอติน : 200 ไมโครกรัม
- วิตามินและแร่ธาตุ (1 ชนิด) : 0.3/2 คะแนน
- ธาตุสังกะสี : 15 มิลลิกรัม
- สารสำคัญอื่น ๆ (0 ชนิด) : 0/3 คะแนน
- ไบโอติน : 2/5 คะแนน
- ราคา : 10 /10 คะแนน
- 1 ขวด (90 เม็ด) ราคา 275 บาท
- ราคาเฉลี่ยต่อเม็ด : 3.056 บาท
- คะแนนรวม : 21.8 /30 คะแนน
#9 NATURE BALANCE BIOTIN
เนเจอร์ บาลานซ์ ไบโอติน (NATURE BALANCE BIOTIN) แม้โรงงานผลิตจะเป็นบริษัทขนาดเล็ก แต่โรงงานผลิตก็มีความเฉพาะทาง เพราะประกอบธุรกิจประเภทการผลิตเกี่ยวกับเภสัชภัณฑ์และเคมีภัณฑ์ที่ใช้รักษาโรค จึงมั่นใจได้ในเรื่องของคุณภาพและความปลอดภัย
จุดเด่น : มีปริมาณไบโอตินพอประมาณ (ไม่น้อยจนเกินไป) ราคาต่อเม็ดถูกเป็นอันดับ 2 (รองจาก Biotin Zinc คณะเภสัชศาสตร์ จุฬา) และมั่นใจได้ในเรื่องของคุณภาพและความปลอดภัย
จุดด้อย : มีไบโอตินเพียงอย่างเดียว จึงขาดความหลากหลายของสารที่มีประโยชน์ต่อเส้นผม ตัวผลิตภัณฑ์หรือแพคเกจจิ้งดูธรรมดามากเมื่อเทียบกับยี่ห้ออื่น และเว็บไซต์ไม่มีข้อมูลการติดต่อชัดเจน กล่าวคือข้อมูลเกี่ยวกับบริษัทที่จัดจำหน่ายและผลิตในฉลากกับในเว็บไซต์มีข้อมูลไม่ตรงกัน
คะแนน :
- ความน่าเชื่อถือ (แบรนด์) : 7 /10 คะแนน
- จำนวนและปริมาณของสารสำคัญ : 3.5 /10 คะแนน
- ไบโอติน : 3.5/5 คะแนน
- ไบโอติน : 600 ไมโครกรัม
- วิตามินและแร่ธาตุ (0 ชนิด) : 0/2 คะแนน
- สารสำคัญอื่น ๆ (0 ชนิด) : 0/3 คะแนน
- ไบโอติน : 3.5/5 คะแนน
- ราคา : 9.543 /10 คะแนน
- 1 กระปุก (60 แคปซูล) ราคา 290 บาท
- ราคาเฉลี่ยต่อเม็ด : 4.833 บาท
- คะแนนรวม : 20.043 /30 คะแนน
#10 LYO BIOTIN PLUS HORSETAIL
ไลโอ ไบโอติน พลัส ฮอร์สเทล (LYO BIOTIN PLUS HORSETAIL) ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่แจ้งว่าผลิตและนำเข้าจากประเทศอเมริกา
จุดเด่น : ผลิตและนำเข้าจากอเมริกา เป็นวิตามินเป็นสูตรที่ให้วิตามินช่วยเรื่องเส้นผมหลายชนิด แม้ยี่ห้อนี้จะมีไบโอตินน้อย แต่ก็เสริมมาด้วยสารสกัดจากหญ้าหางม้าพอประมาณ (ช่วยให้ผมมีสุขภาพแข็งแรง ลดการหลุดร่วง เพิ่มความยืดหยุ่น ลดการแตกหักของเส้นผม และเพิ่มความเงางามให้กับเส้นผม) ให้วิตามินที่จำเป็นเส้นผม และมี L-Methionine (ชะลอผมหงอกก่อนวัย ช่วยให้ผมเรียบลื่นและเงางาม)
จุดด้อย : ราคาเฉลี่ยต่อเม็ดที่สูงมาก (29.667 บาท) ซึ่งเป็นสาเหตุทำให้คะแนนรวมไม่ดี* (แต่ถ้าไม่ได้วัดเรื่องราคา ยี่ห้อนี้ก็ถือว่าอยู่ในอันดับกลาง ๆ มีคะแนนเป็นรองแค่ยี่ห้อ Nature’s Bounty และ VISTRA) และยังมีปัญหาเรื่องของฉลากที่สร้างความสับสนเล็กน้อย คือ
- หน้ากล่องระบุว่าเป็นไบโอติน 4,500 ไมโครกรัม ถ้าไม่ได้ดูฉลากดี ๆ ก็อาจทำให้เข้าใจผิดได้เลยว่าคือปริมาณต่อเม็ด เพราะเมื่อพลิกดูที่ฉลากหลังกล่องก็จะพบว่าปริมาณไบโอตินต่อเม็ดจริง ๆ คือ 150 ไมโครกรัม (ซึ่งผู้เขียนเข้าใจว่า 4,500 คงมาจากจำนวนเม็ดในกระปุกที่คูณด้วย 150 ไมโครกรัม รวมเป็น 4,500 ไมโครกรัม ซึ่งก็แปลกดีเหมือนกัน)
- ปริมาณของซีลีเนียมที่ระบุไว้ 7 มิลลิกรัม ถ้าคิดจาก 1% ของ Selenium Amino Acid Chelate จะเท่ากับ 70 ไมโครกรัม
- ปริมาณของธาตุสังกะสีหรือซิงค์ที่ระบุไว้ 75 มิลลิกรัม ถ้าคิดจาก 20% ของ Zinc Amino Acid Chelate จะเท่ากับ 15 มิลลิกรัม
คะแนน :
- ความน่าเชื่อถือ (แบรนด์) : 8 /10 คะแนน
- จำนวนและปริมาณของสารสำคัญ : 5.7 /10 คะแนน
- ไบโอติน : 2/5 คะแนน
- ไบโอติน : 150 ไมโครกรัม
- วิตามินและแร่ธาตุ (3 ชนิด) : 1.7/2 คะแนน
- วิตามินบี 5 : 6 มิลลิกรัม
- ธาตุสังกะสี : 15 มิลลิกรัม (จาก 20% ของ Zinc Amino Acid Chelate)
- ซีลีเนียม : 70 ไมโครกรัม (จาก 1% ของ Selenium Amino Acid Chelate)
- สารสำคัญอื่น ๆ (2 ชนิด) : 2/3 คะแนน
- หญ้าหางม้า : 125 มิลลิกรัม
- แอล-เมไทโอนีน : 75 มิลลิกรัม
- ไบโอติน : 2/5 คะแนน
- ราคา : 3.162 /10 คะแนน
- 1 กระปุก (30 เม็ด) ราคา 890 บาท
- ราคาเฉลี่ยต่อเม็ด : 29.667 บาท
- คะแนนรวม : 16.862 /30 คะแนน
อย่างไรก็ตาม ถ้าคุณไม่ได้กังวลเรื่องราคายี่ห้อนี้ก็ไม่ได้ด้อยกว่ายี่ห้ออื่นแต่อย่างใด เพราะถ้าตัดคะแนนเรื่องราคาออกไป ยี่ห้อ LYO จะอยู่อันดับ 7 รองจากยี่ห้อ Nature’s Bounty และ VISTRA
หมายเหตุ : สำหรับการจัดอันดับโดยไม่อิงคะแนนเรื่องราคา โดยวัดเฉพาะความน่าเชื่อถือกับจำนวนและปริมาณสารสำคัญ จะมีการเปลี่ยนแปลงของอันดับดังนี้ (เต็ม 20 คะแนน)
- REGENEZ : 18.5 คะแนน
- BLACKMORES BIOTIN H+ : 16.2 คะแนน
- VISTRA REGOW : 15.7 คะแนน
- VISTRA L-Cysteine PLUS Biotin : 15.2 คะแนน
- NATURE’S BOUNTY HAIR SKIN & NAILS GUMMIES : 15 คะแนน
- NATURE’S BOUNTY Biotin 1000 mcg : 14 คะแนน
- LYO BIOTIN PLUS HORSETAIL : 13.7 คะแนน
- DHC Biotin : 12.5 คะแนน
- BIOTIN ZINC คณะเภสัชศาสตร์ จุฬา : 11.8 คะแนน
- NATURE BALANCE BIOTIN : 10.5 คะแนน
ตารางเปรียบเทียบอาหารเสริมบำรุงผม/แก้ผมร่วง
คำแนะนำอื่น ๆ
- หากคุณมีอาการผมร่วงมากเกินไป เบื้องต้นคุณควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านผิวหนังก่อนเสมอ เพื่อให้แน่ใจถึงความจำเป็นในการใช้อาหารเสริม หรือเพื่อให้ทราบถึงสาเหตุของอาการหรือปัญหาสุขภาพว่าไม่ได้เกิดจากโรคใด ๆ เช่น โรคผิวหนัง โรคมะเร็งผิวหนัง กรรมพันธุ์ ฮอร์โมน นิสัยการดึงผม การใช้ยาบางชนิดเป็นเวลานาน ฯลฯ เพราะปัจจัยเหล่านี้ไม่น่าจะแก้ไขได้ด้วยการรับประทานอาหารเสริมเพียงอย่างเดียว แต่ต้องเป็นการแก้ที่ต้นเหตุก่อน
- โดยปกติคนทั่วไปสามารถได้รับวิตามินต่าง ๆ จากการเลือกรับประทานอาหารที่เหมาะสมและเพียงพอ ไม่จำเป็นต้องรับประทานอาหารเสริม เว้นแต่ร่างกายจะขาดสารอาหารบางอย่างมาก เช่น ไบโอติน คุณอาจพิจารณารับประทานไบโอตินเสริมในรูปของอาหารเสริมก็ได้ แต่ให้พิจารณาถึงปริมาณที่เหมาะสมกับความต้องการและคุณภาพที่น่าเชื่อถือด้วย
- สุขภาพผมที่ดีขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายประการ นอกจากไบโอตินที่เด่นในเรื่องนี้แล้ว ยังมีวิตามิน แร่ธาตุ และสารอื่น ๆ อีกหลายชนิดดังที่กล่าวไปที่ช่วยให้ผมมีสุขภาพดีและแข็งแรงได้ ดังนั้น การรับประทานอาหารให้ครบหมู่อย่างสมดุลก็นับเป็นการเริ่มต้นของการมีผมสุขภาพดีและลดการหลุดร่วงของเส้นผมได้เป็นอย่างดี
- สำหรับขนาดการรับประทานอาหารเสริมไบโอตินหรืออาหารเสริมบำรุงผม โดยทั่วไปฉลากจะแนะนำให้รับประทานพร้อมอาหารวันละ 1 เม็ด อย่างไรก็ตาม คุณสามารถเพิ่มปริมาณเป็นวันละ 2-3 มื้อได้หากต้องการ (แต่รวมแล้วไม่ควรเกิน 5,000 ไมโครกรัม/วัน) เพราะยังเป็นปริมาณที่มีความปลอดภัยสูงมาก ส่วนปริมาณที่แนะนำตามความเห็นของผู้เขียน คือ
- ป้องกันการขาดไอติน 150-500 ไมโครกรัม/วัน
- บำรุงเส้นผมให้แข็งแรง 1,000 ไมโครกรัม/วัน
- รักษาหรือลดอาการผมร่วง เพิ่มการเจริญเติบโตของเส้นผม 2,000-3,000 ไมโครกรัม/วัน
- สำหรับคำแนะนำอื่น ๆ ที่จำเป็น เช่น การดื่มน้ำวันละ 6-8 แก้ว, ลดความเครียด (โดยเฉพาะการออกกำลังกายเป็นประจำ การฝึกทำสมาธิ), เลิกสูบบุหรี่ (สาเหตุของผมหงอก โดยเฉพาะในผู้ที่อายุน้อยกว่า 30 ปี), ลดหรือเลิกการใช้เจลแต่งผมหรือสารเคมีต่าง ๆ, พยายามเป่าผมให้แห้งและหวีผมเมื่อผมเปียก, ประทานอาหารที่มีประโยชน์ โดยเฉพาะอาหารจากแหล่งธรรมชาติที่มีประโยชน์ต่อเส้นผม เช่น
- ไข่ เพราะเป็นแหล่งของโปรตีนและไบโอติน ซึ่งสารทั้งสองชนิดนี้จำเป็นต่อการเจริญเติบโตของเส้นผม
- เนื้อสัตว์ เพราะเป็นแหล่งโปรตีนและธาตุเหล็ก
- ปลาแซลมอน ปลาเฮอริ่ง และปลาแมคเคอเรล เพราะอุมไปด้วยกรดไขมันโอเมก้า 3
- มันเทศ / ผักโขม เพราะอุดมไปด้วยวิตามินเอที่มีความสำคัญต่อการเจริญเติบโตของเส้นผม
- ผลไม้ตระกูลเบอร์รี่ เพราะอุดมไปด้วยวิตามินซีที่มีคุณสมบัติต้านอนุมูลอิสระ
- อะโวคาโด เพราะอุดมไปด้วยวิตามินอี
- ถั่วอัลมอนด์ เพราะอุดมไปด้วยวิตามินอี วิตามินบี สังกะสี และกรดไขมันที่จำเป็นหลายชนิด ซึ่งการขาดสารอาหารเหล่านี้เป็นสาเหตุที่ทำให้ผมหลุดร่วงได้ง่าย
- ถั่วต่าง ๆ เพราะเป็นแหล่งของโปรตีน ธาตุเหล็ก สังกะสี และไบโอติน
- เมล็ดทานตะวัน เมล็ดแฟลกซ์ และเมล็ดเจีย ที่อุดมไปด้วยวิตามินอี และกรดไขมันโอเมก้า 3
- พริกหวาน เพราะอุดมไปด้วยวิตามินเอและซี
- หอยนางรม เพราะอุดมไปด้วยธาตุสังกะสี
ข้อมูลและงานวิจัยอ้างอิง
- Dermatology and Therapy. “The Role of Vitamins and Minerals in Hair Loss: A Review”. (2019)
- Journal of Clinical and Aesthetic Dermatolog. “A Double-blind, Placebo-controlled Study Evaluating the Efficacy of an Oral Supplement in Women with Self-perceived Thinning Hair”. (2012)
- NIH. “Biotin”. (2022)
- healthline. “Can Vitamins, Supplements, and Other Remedies Reverse Gray Hair?”. (2019)
- International Journal of Tricholog. “Serum Biotin Levels in Women Complaining of Hair Loss”. (2016)
- healthline. “Biotin for Hair Growth: Does It Work?”. (2022)
- Skin Appendage Disorders. “A Review of the Use of Biotin for Hair Loss”. (2017)
- Huntington College of Health Sciences. “Have a Good Hair Day”. (2009)
- Scientific Research. “Comprehensive Overview and Treatment Update on Hair Loss”. (2013)
- สำนักโภชนาการ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข. “ปริมาณสารอาหารอ้างอิงที่ควรได้รับประจำวันสำหรับคนไทย พ.ศ.2563”. (2020)
- hairguard. “Niacin For Hair Growth: Does it Help With Hair Loss?”. (2021)
- HENRY TIANUS. “The 3 Best Vitamins for Topical Hair Loss Treatment”. (2022)
- NUTRAFOL. “Hair Growth Vitamins: Niacin and Strong Hair”. (2016)
- Przegla̜d Menopauzalny. “Nutrition of women with hair loss problem during the period of menopause”. (2016)
- DrFormulas. “11 Vitamins and Minerals Deficiencies that Cause Hair Loss”. (2020)
- Growth Hormone & IGF Research. “Administration of capsaicin and isoflavone promotes hair growth by increasing insulin-like growth factor-I production in mice and in humans with alopecia”. (2007)
- Wiadomości Lekarskie. “[Evaluation of vitamin B6 and calcium pantothenate effectiveness on hair growth from clinical and trichographic aspects for treatment of diffuse alopecia in women]”. (2001)
- Frontiers in Cell and Developmental Biology. “Dietary Vitamin A Impacts Refractory Telogen”. (2021)
- Journal of Investigative Dermatology. “Oxidative Damage Control in a Human (Mini-) Organ: Nrf2 Activation Protects against Oxidative Stress-Induced Hair Growth Inhibition”. (2017)
- Nutrients. “The Roles of Vitamin C in Skin Health”. (2017)
- Journal of Cosmetic Dermatolog. “Myths and media in oral collagen supplementation for the skin, nails, and hair: A review”. (2022)
- NIH. “Vitamin C”. (2022)
- International Journal of Cosmetic Science. “Oxidative stress and its impact on skin, scalp and hair”. (2021)
- Tropical Life Sciences Research. “Effects of tocotrienol supplementation on hair growth in human volunteers”. (2010)
- Skin Pharmacology and Physiology. “The antioxidant role of paraoxonase 1 and vitamin E in three autoimmune diseases”. (2013)
- American Journal of Clinical Dermatology. “The role of micronutrients in alopecia areata: A Review”. (2018)
- MedicalNewsToday. “Can I use vitamins to promote hair growth?”. (2020)
- WebMD. “The 5 Best Vitamins for Hair Loss Prevention, Based on Research”. (2020)
- Archives of Pharmacal Research. “The effect of tripeptide-copper complex on human hair growth in vitro”. (2007)
- Yakugaku Zasshi. “Zinc deficiency and clinical practice–validity of zinc preparations”. (2008)
- Annals of Dermatology. “The therapeutic effect and the changed serum zinc level after zinc supplementation in alopecia areata patients who had a low serum zinc level”. (2009)
- Anais Brasileiros de Dermatologia. “Use of silicon for skin and hair care: an approach of chemical forms available and efficacy”. (2016)
- Archives of Dermatological Researc. “Effect of oral intake of choline-stabilized orthosilicic acid on hair tensile strength and morphology in women with fine hair”. (2007)
- healthline. “Horsetail: Benefits, Uses, and Side Effects”. (2022)
- Dermatology Research and Practice. “A 3-Month, Randomized, Double-Blind, Placebo-Controlled Study Evaluating the Ability of an Extra-Strength Marine Protein Supplement to Promote Hair Growth and Decrease Shedding in Women with Self-Perceived Thinning Hair”. (2015)
- Journal of Clinical and Aesthetic Dermatology. “A Randomized, Double-blind, Placebo-controlled, Multi-center, Extension Trial Evaluating the Efficacy of a New Oral Supplement in Women with Self-perceived Thinning Hair”. (2015)
- ScandinavianBiolabs. “Nutrients For Hair Growth: L-Methionine, L-Cysteine, Apple Extract And Horsetail”. (2022)
- NUTRAFOL. “L-cysteine Benefits For Healthy, Beautiful Hair”. (2017)
- Journal of Cosmetic Dermatology. “Effect of a nutritional supplement on hair loss in women”. (2015)
- Journal of Animal Physiology and Animal Nutrition. “Effects of different dietary protein levels and DL-methionine supplementation on hair growth and pelt quality in mink (Neovision vision)”. (2013)
- PurpleCarrot. “Riboflavin”. (2022)
- prose. “How Millet Seed Extract Can Help Grow Your Hair to New Lengths”. (2021)
- theradome GB. “Sea Kelp for Hair Loss: Does it Really Prevent and Treat it?”. (2022)
- Phytomedicine. “Human hair growth enhancement in vitro by green tea epigallocatechin-3-gallate (EGCG)”. (2007)
ตรวจสอบทางการแพทย์ล่าสุดเมื่อวันที่ 25 เม.ย. 2023