ไอบูโพรเฟน (Ibuprofen) สรรพคุณ วิธีใช้ ผลข้างเคียง ฯลฯ

ไอบูโพรเฟน

ไอบูโพรเฟน หรือ ไอบูโปรเฟน (Ibuprofen) หรือยาที่คนทั่วไปรู้จักในชื่อทางการค้าว่า บรูเฟน (Brufen), บูเฟล็กซ์ (Buflex), โคโปรเฟน (Coprofen), ดูแรน (Duran), โกเฟน 400 (Gofen 400), ไอบูเฟน (Ibufen), อัยบูแกน (Ibugan), ไอบูแมน (Ibuman), ไอโปรเฟน (Iprofen), จูนิเฟน (Junifen), นูโรเฟน (Nurofen) หรือรูโปรเฟน (Ruprofen) เป็นยาในกลุ่มยาแก้ปวดจำพวกเอ็นเสด (NSAIDs) ซึ่งเป็นยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ มีสรรพคุณเป็นยาแก้ปวดที่มีอาการเล็กน้อยถึงปานกลาง สามารถใช้บรรเทาอาการปวดประจำเดือน ปวดไมเกรน อาการปวดจากข้ออักเสบ* และใช้เป็นยาลดไข้ได้

หมายเหตุ : ยานี้ไม่ได้ใช้รักษาข้ออักเสบ เพียงแต่ช่วยบรรเทาอาการให้ดีขึ้นเท่านั้น

ตัวอย่างยาไอบูโพรเฟน

ยาไอบูโพรเฟน (ชื่อสามัญ) มีชื่อทางการค้า เช่น แอดวิล (Advil), แอมบูเฟน (Ambufen), แอนไบเฟน (Anbifen), อะนูเฟน (Anufen), อะโพรเฟน (Aprofen), แอทบูเฟน (Atbufen), แอกต์-3 (Act-3), บาโทเฟน (Batofen), เบฟิน (Befin), เบโมเฟน (Bemofen), เบทาริล (Betaril), ไบเฟน (Bifen), โบเฟน (Bofen), โบราเฟน (Borafen), โบราคิด (Borakid), โบรเฟน (Brofen), บรูฟานอล (Brufanol), บรูเฟน (Brufen), บรูเฟนิน (Brufenin), บรูจิน (Brugin), บรูเมด (Brumed), บรูเมน (Brumen), บรูพริน (Bruprin), บรูซิล (Brusil), บรูซอน (Bruzon), บูเฟล็กซ์ (Buflex), บูเจซิก (Bugesic), บูมาเฟน (Bumafen), บูเมด (Bumed), บูโนคอน (Bunocon), บูโพรเฟน (Buprofen), เบอร์เฟน (Burfen), บูโรเฟน (Burofen), บูสตาร์ (Bustar), บูเฟียน (Bufien), บูโนเฟน (Bunofen), บูโปร (Bupro), คานูเฟน (Canufen), ซีเฟน (Cefen), ซีเฟน จูเนียร์ (Cefen Junior), เซนบูเฟน (Cenbufen), โคโปรเฟน (Coprofen), ค็อกซ์เฟน (Cox-fen), ดาเฟน (Dafen), ดีเฟลม (Deflem), ดูแรน (Duran), ไดโพรเฟน (Dyprofen), ยูเฟน (Eufen), ฟาเฟน (Fafen), จี-เฟน (G-fen), เจสิก้า (Gesica), โกเฟน (Gofen 400), เกรทโทเฟน (Greatofen), ไฮดิ (Heidi), ไอเฟนเอฟ (I fen f), ไอ-โปรเฟน (I-profen), ไอบู (Ibu), ไอโบร (I bro), ไอบูซิน ฟอร์ท (Ibucin forte), ไอบูฟา (Ibufa), ไอบูแฟค (Ibufac), ไอบูเฟน (Ibufen), ไอบูฟิม (Ibufim), อัยบูแกน (Ibugan), ไอบูเจซิก (Ibugesic), ไอบูคิดส์ (Ibukids), ไอบูเฟ็กซ์ (Ibufex), ไอบูแลน (Ibulan), ไอบูเลียม (Ibulium), ไอบูแมน (Ibuman), ไอบูแมกซ์ (Ibumax), ไอบูแพค (Ibupac), ไอบูโปร (Ibupro), ไอบูเรน (Iburen), ไอบูสตาร์ (Ibustar), ไอบูสตาร์ ฟอร์ต (Ibustar forte), ไอบูเทม (Ibutem), ไอบูเซน (Ibuzen), ไอโบรเฟน (Ibrofen), ไอเฟน (Ifen), ไอลิน (Ilin), อินบูเฟน (Inbufen), ไอโปร (Ipro), ไอโปรเฟน (Iprofen), ไอรูเฟน (Irufen), จูเลีย (Julie), จูนิเฟน (Junifen), จูนิมอล (Junimol), ลินโพรเฟน (Linprofen), โลเพน (Lopane), ลองบูเฟน (Longbufen), มาเฟน (Mafen), มาโน-บรูโซน (Mano-bruzone), เมดโพรเฟน (Medprofen), โมเฟน (Mofen), โมเมด (Momed), โมตริน (Motrin), เอ็น.ไอ. โพรเฟน (N.l. profen), นูโปรเฟน (Nooprofen), นูเพน (Nupen), นูปริน (Nuprin), นูโรเฟน (Nurofen), นีโอโพรเฟน (Neoprofen), ออร์โพรเฟน (Orprofen), พี-เฟน (P-fen), พิพเพ่น (Pippen), พี-โทเฟน (P-tofen), พิลีน (Pauline), พีโรเฟน (Perofen), ฟาร์มาเฟน (Pharmafen), โพรบูเฟน (Probufen), โพรเฟน (Profen), โพรฟีนา (Profena), โพรเฟนเจซิก (Profengesic), โพรฟีโน (Profeno), โพรฟีนอล (Profenol), โพรเจซิก (Progesic), โพรซอน (Prozon), โพรโซน (Prozone), ราบูเฟน (Rabufen), รูมาน็อกซ์ (Rheumanox), โรทาโพรเฟน (Rotaprofen), รูโปรเฟน (Ruprofen), รูแพน (Rupan), ซาโบรเฟน (Sabrofen), ชูเฟน (Schufen), ซีโพรเฟน (Seaprofen), เซโทรา (Setora), ไซเฟน (Sifen), ซินโพรเฟน (Sinprofen), สเคแลน ไอบี (Skelan IB), โซดีเฟน (Sodefen), สเปดิเฟน (Spedifen), ซูเฟ็น (Suphen), โทบูเฟน เอฟ.ซี. (Tobufen f.c.), โทเฟน (Tofen), โทรเฟน (Trofen), ยูมาเฟน (Umafen), วีโนเฟน (Venofen), ไวโพรเฟน (Viprofen) ฯลฯ

บรูเฟน
IMAGE SOURCE : www.medicinep.com

โกเฟน400
IMAGE SOURCE : www.ioffer.com

นูโรเฟน
IMAGE SOURCE : www.bbc.com

รูปแบบยาไอบูโพรเฟน

  • ยาเม็ด/ยาแคปซูล ขนาด 200, 300, 400, 600 และ 800 มิลลิกรัม
  • ยาเม็ดชนิดเคี้ยว ขนาด 100 มิลลิกรัม
  • ยาน้ำแขวนตะกอน ขนาด 50 มิลลิกรัม/1.25 มิลลิลิตร สำหรับเด็กอายุ 6 เดือน ถึงอายุไม่เกิน 2 ปี
  • ยาน้ำแขวนตะกอน ขนาด 100 มิลลิกรัม/5 มิลลิลิตร (1 ช้อนชา) สำหรับเด็กอายุ 6 เดือน ถึง 11 ปี
  • ยาน้ำเชื่อม ขนาด 100 มิลลิกรัม/5 มิลลิลิตร (1 ช้อนชา)
  • ยาเจล (สำหรับทา) 5% ขนาด 100 กรัม/5 กรัม
  • ยาฉีด (Caldolor®) ขนาด 100 มิลลิกรัม/1 มิลลิลิตร (ในขวดยา 4 และ 8 มิลลิลิตร)
  • ยาฉีด Ibuprofen Lysine Injection (NeoProfen®) ขนาด 10 มิลลิกรัม/ 1 มิลลิลิตร (ในขวดยา 2 มิลลิลิตร)

ไอบูโพรเฟน
IMAGE SOURCE : en.wikipedia.org (by Derrick Coetzee), www.ebay.com, www.hmedixpharmacy.com, www.mims.com, www.229877.com, www.suprememed.com

นูโรเฟนเจล
IMAGE SOURCE : www.mims.com

สรรพคุณของยาไอบูโพรเฟน

  • ใช้เป็นยาแก้อาการข้ออักเสบ โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ (Rheumatoid arthritis), โรคข้อเสื่อมชนิดรุนแรง (Osteoarthritis), โรคข้อสันหลังอักเสบเรื้อรัง (Ankylosing spondylitis), การอักเสบของถุงเล็ก ๆ ที่บรรจุน้ำไขข้อ (Bursitis), โรคเกาต์ระยะเฉียบพลัน (Gout)
  • ใช้เป็นยาลดการอักเสบของกล้ามเนื้อและเส้นเอ็น เช่น เส้นเอ็นอักเสบ (Tendinitis), ข้อเคล็ดข้อแพลง (Sprain) เป็นต้น
  • ใช้บรรเทาอาการปวดประจำเดือน (Dysmenorrhea) ปวดศีรษะไมเกรน (Migraine)
  • ใช้เป็นยาแก้ปวดที่มีอาการเล็กน้อยถึงปานกลาง (Pain) เช่น ปวดศีรษะ ปวดฟัน ปวดกล้ามเนื้อ ปวดหลัง ปวดข้อ เป็นต้น
  • ใช้เป็นยาลดไข้ (Fever)
  • อาจใช้เป็นยาระงับอาการ “ดักตัสอาร์เทอริโอซัส ยังคงอยู่” (Patent ductus arteriosus – PDA) ในทารกคลอดก่อนกำหนด (32 สัปดาห์ หรือน้อยกว่า) หรือทารกที่มีน้ำหนักตัวระหว่าง 500-1,500 กรัม

กลไกการออกฤทธิ์ของยาไอบูโพรเฟน

ยาไอบูโพรเฟนมีฤทธิ์ยับยั้งการสร้างสารโพรสตาแกลนดิน (Prostaglandin) ในร่างกาย ซึ่งเป็นตัวชักนำให้เกิดการอักเสบ โดยจะเข้าไปขัดขวางการทำงานของเอนไซม์ไซโคลออกซีจีเนส (Cyclooxygenase) ทั้งชนิด 1 (Cox-1) และชนิด 2 (Cox-2) ซึ่งเป็นส่วนสำคัญของกระบวนการสังเคราะห์สารโพรสตาแกลนดิน ยานี้จึงมีสรรพคุณในการต้านการอักเสบของเนื้อเยื่อต่าง ๆ ช่วยแก้อาการปวด ป้องกันและบรรเทาอาการปวดประจำเดือน แต่ในขณะเดียวกันตัวยาก็ไปยับยั้งกลไกการสร้างเมือกปกคลุมเยื่อบุผิวในกระเพาะอาหาร จึงทำให้เยื่อบุผิวกระเพาะอาหารเกิดการระคายเคืองจากน้ำย่อยกลายเป็นโรคแผลในกระเพาะอาหาร (Peptic ulcer) และกระเพาะอาหารอักเสบ (Gastritis) ได้ง่าย

ก่อนใช้ยาไอบูโพรเฟน

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมถึงยาไอบูโพรเฟน สิ่งที่ควรแจ้งให้แพทย์หรือเภสัชกรทราบมีดังนี้

  • ประวัติการแพ้ยาไอบูโพรเฟน (Ibuprofen) ยาแอสไพริน (Aspirin) ยากลุ่มต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDs) และยาอื่น ๆ ทุกชนิด รวมทั้งการแพ้สารอื่น ๆ เช่น อาหาร สารกันเสีย หรือสี และอาการจากการแพ้ยาหรือสารดังกล่าว เช่น รับประทานยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่น หายใจติดขัด/หายใจลำบาก เป็นต้น
  • ยาที่แพทย์สั่งจ่ายและยาที่ใช้เอง รวมถึงอาหารเสริม วิตามิน และยาสมุนไพรต่าง ๆ ที่กำลังใช้อยู่หรือกำลังจะใช้ เพราะยาไอบูโพรเฟนอาจส่งผลให้อาการของโรคที่เป็นอยู่รุนแรงขึ้น หรือเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่น ๆ และ/หรืออาหารเสริมอื่น ๆ ที่รับประทานอยู่ก่อนได้ (ในบางกรณีจะไม่สามารถใช้ยาที่มีปฏิกิริยาต่อกันระหว่างยาร่วมกันได้เลย แต่บางกรณีก็อาจจำเป็นต้องใช้ยา 2 ชนิดนั้นร่วมกัน ถึงแม้ว่าจะมีปฏิกิริยาต่อกันระหว่างยาเกิดขึ้นได้ก็ตาม ซึ่งในกรณีนี้แพทย์จะปรับเปลี่ยนขนาดยาหรือเพิ่มความระมัดระวังในการใช้ให้มากขึ้น) เช่น
    • การรับประทานยาไอบูโพรเฟนร่วมกับยาลดกรดยูริกโพรเบเนซิด (Probenecid) จะทำให้ระดับของยาไอบูโพรเฟนสูงขึ้นและมีโอกาสเกิดผลข้างเคียงเพิ่มขึ้น
    • การรับประทานยาไอบูโพรเฟนร่วมกับยาเฟนิโทอิน (Phenytoin) อาจทำให้ระดับของยาทั้ง 2 ตัวในเลือดเพิ่มสูงขึ้น
    • การรับประทานยาไอบูโพรเฟนร่วมกับยาต้านการแข็งตัวของเลือด (Anticoagulants) เช่น แอบซิไซแมบ (Abciximab), เฮพาริน (Heparin), วาร์ฟาริน (Warfarin) ตัวยาจะเสริมฤทธิ์กันและก่อให้เกิดภาวะเลือดออกในกระเพาะอาหารได้ง่าย
    • การรับประทานยาไอบูโพรเฟนร่วมกับยาลดความดันโลหิต เช่น อะทีโนลอล (Atenolol), แคนดีซาร์แทน (Candesartan), ลอซาร์แทน (Losartan), เมโทโพรลอล (Metoprolol), โพรพราโนลอล (Propranolol) จะทำให้ประสิทธิภาพในการลดความดันโลหิตของยาเหล่านี้ลดลง และทำให้ไตทำงานบกพร่อง
    • การรับประทานยาไอบูโพรเฟนร่วมกับยารักษาโรคหัวใจบางชนิด เช่น ไดจอกซิน (Digoxin) จะทำให้การออกฤทธิ์ของยารักษาโรคหัวใจเพิ่มมากขึ้นจนอาจเป็นพิษต่อร่างกาย อาจส่งผลให้หัวใจเต้นผิดจังหวะ คลื่นไส้ อาเจียน มองเห็นภาพไม่ชัดเจน
    • การรับประทานยาไอบูโพรเฟนร่วมกับการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ จะเพิ่มความเสี่ยงต่อการมีเลือดออกในกระเพาะอาหารและลำไส้มากขึ้น
    • ยาอื่น ๆ ที่อาจมีปฏิกิริยาต่อกันระหว่างยา ได้แก่ ยาต้านมะเร็งเมโธเทรกเซท (Methotrexate), ยาต้านการชักลิเทียม (Lithium), ยารักษาอาการชักกรดวาลโปรอิก (Valproic acid), ยากดภูมิต้านทานไซโคลสปอริน (Cyclosporin), ยาปฏิชีวนะหรือยาฆ่าเชื้อแบคทีเรีย เช่น อะมิคาซิน (Amikacin), เซฟาโลสปอริน (Cephalospolin), อีน็อกซาซิน (Enoxacin), เจนตามัยซิน (Gentamicin), คีโตโคนาโซล (Ketoconazole), ลีโวฟล็อกซาซิน (Levofloxacin), นอร์ฟล็อกซาซิน (Norfloxacin), สเตรปโตมัยซิน (Streptomycin) เป็นต้น
  • การมีอาการหรือเป็นโรคเหล่านี้ ได้แก่ การติดเชื้อไวรัส (เช่น โรคไข้หวัดใหญ่ อีสุกอีใส), มีภาวะเลือดออกง่าย (โรคเลือด), โรคโลหิตจาง, เกล็ดเลือดต่ำ, จำนวนเม็ดเลือดขาวต่ำ, โรคหอบหืด, โรคเบาหวาน, โรคความดันโลหิตสูง, โรคหัวใจ, โรคลมบ้าหมู, โรคตับ, โรคไต (หรือเคยเป็น), นิ่วในไต (หรือเคยมี), มีปัญหาเกี่ยวกับกระเพาะอาหารหรือลำไส้ (เช่น มีภาวะเลือดออก), มีแผลในกระเพาะอาหารหรือลำไส้ หรือกระเพาะอาหารทะลุ, ลำไส้ใหญ่หรือลำไส้เล็กอักเสบ, ถุงที่ผนังอวัยวะอักเสบ, โรคโครห์น (Crohn’s disease), ไดเวอร์ติคูลัมอักเสบ (Diverticulitis), ระคายเคืองทวารหนักหรือมีเลือดออกจากทวารหนัก, โรคริดสีดวงทวาร, มีการคั่งของของเหลวในร่างกาย (เช่น มีอาการบวมที่เท้าหรือน่อง), โรคเอสแอลอี (SLE), โรคลมชัก, โรคพอร์ไฟเรีย (Porphyria), โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์หลายข้อ, มีปัญหาทางจิต, โรคพาร์กินสัน, โรคหลอดเลือดขมับอักเสบ (Temporal arteritis), มีแผลหรือฝ้าขาวในปาก (อาจบอกถึงอาการข้างเคียงจากการใช้ยาที่รุนแรง)
  • การสูบบุหรี่หรือเคยสูบบุหรี่มาก่อน เพราะจะเป็นการเพิ่มโอกาสต่อการเกิดผลข้างเคียงของยา
  • การติดแอลกอฮอล์หรือดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์มาก (ดื่มมากกว่าวันละ 3 แก้ว) เพราะจะเป็นการเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดแผลในกระเพาะอาหารได้
  • หากได้รับคำแนะนำให้รับประทานอาหารที่มีโซเดียมต่ำหรือน้ำตาลต่ำ เพราะยาบางประเภทอาจมีส่วนประกอบของโซเดียมและน้ำตาล
  • หากเป็นสุภาพสตรี ควรแจ้งว่ามีการตั้งครรภ์ หรือกำลังวางแผนในการตั้งครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายชนิดสามารถผ่านทางรกหรือน้ำนมและเข้าสู่ทารกจนอาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงต่อทารกได้
  • หากต้องเข้ารับการผ่าตัด (รวมทั้งการผ่าตัดในช่องปาก) ควรแจ้งให้แพทย์หรือทันตแพทย์ทราบว่ากำลังใช้ยานี้อยู่ เพราะยาอาจทำให้เลือดแข็งตัวช้าลง และมีโอกาสเกิดเลือดออกในระหว่างและหลังการผ่าตัดเพิ่มขึ้น

ข้อห้าม/ข้อควรระวังในการใช้ยาไอบูโพรเฟน

  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ที่เคยมีประวัติการแพ้ยาไอบูโพรเฟน (Ibuprofen) ยาแอสไพริน (Aspirin) หรือกลุ่มยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDs) หรือผู้ที่มีอาการหอบหืด ลมพิษ หรือโพรงจมูกอักเสบแบบเฉียบพลันจากการแพ้ยาแอสไพรินหรือกลุ่มยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (การใช้ยาเหล่านี้ร่วมกันอาจทำให้เกิดอาการแพ้ยาที่รุนแรงได้ เช่น การหายใจผิดปกติมีเสียงหวีด หัวใจเต้นเร็วผิดปกติ เป็นลม ผิวหน้าเปลี่ยนสี บวม ตาบวม ผิวหนังมีตุ่ม หากมีอาการเหล่านี้เกิดขึ้นควรให้ผู้อื่นนำส่งโรงพยาบาลทันที ผู้ป่วยไม่ควรขับรถมาเอง และควรทำให้ร่างกายอบอุ่น ยกเท้าสูงกว่าศีรษะ)
  • ห้ามใช้ยาที่หมดอายุ
  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ที่เป็นโรคหอบหืด, ลมพิษ, หวัดภูมิแพ้, ผู้ป่วยที่มีเลือดออกหรือมีแผลในกระเพาะอาหารหรือลำไส้ หรือมีแผลทะลุ ผู้ป่วยโรคตับ, โรคไต, ผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกหรือสงสัยว่าเป็นโรคไข้เลือดออก
  • ห้ามใช้ยานี้กับหญิงตั้งครรภ์ในระยะไตรมาสที่ 3 นอกจากแพทย์สั่ง (หญิงตั้งครรภ์ที่ได้รับยานี้เป็นประจำในช่วง 2-3 เดือนสุดท้ายของการตั้งครรภ์ อาจทำให้ตัวอ่อนในครรภ์หรือทารกที่คลอดออกมามีความผิดปกติของหัวใจหรือระบบการไหลเวียนของโลหิตได้ และจากการศึกษาในสัตว์ทดลองยังพบด้วยว่า การใช้ยานี้ในช่วงท้ายของการตั้งครรภ์อาจทำให้มีอายุครรภ์นานขึ้นและระยะเวลาของการคลอดนานขึ้นด้วย ซึ่งอาจทำให้เกิดปัญหาในระหว่างการคลอดได้ อย่างไรก็ตาม แพทย์อาจใช้ยานี้ หากพิจารณาแล้วว่าประโยชน์จากการใช้ยามีมากกว่าความเสี่ยงต่อทารกในครรภ์ แต่ถ้าจำเป็นต้องใช้ยาแก้ปวดลดไข้จริง ๆ แนะนำว่าควรเลือกใช้ยาพาราเซตามอลก่อนเป็นอันดับแรก)
  • สำหรับหญิงให้นมบุตร ยังไม่ทราบแน่ชัดว่า ยานี้สามารถผ่านออกมาทางน้ำนมได้หรือไม่ จึงไม่แนะนำให้ใช้ยานี้กับหญิงให้นมบุตร
  • ควรระมัดระวังการใช้ยานี้ในผู้สูงอายุ เนื่องจากผู้สูงอายุจะมีโอกาสเกิดอาการข้างเคียงจากยาและความรุนแรงที่เกิดขึ้นมักมากกว่าคนวัยหนุ่มสาว โดยอาการข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นในผู้สูงอายุ คือ สับสน มีอาการบวมที่หน้า เท้าหรือน่อง เป็นโรคกระเพาะอาหาร ปริมาณปัสสาวะลดลงอย่างฉับพลัน เป็นต้น
  • ควรระมัดระวังการใช้ยานี้ในผู้ป่วยที่มีภาวะเลือดออกง่าย (โรคเลือด), ผู้ป่วยที่ใช้ยาต้านการแข็งตัวของเลือด, ผู้ป่วยที่เป็นโรคกระเพาะ, ผู้ที่มีประวัติหอบหืด, ผู้ป่วยที่เป็นโรคหัวใจ, ผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง, ผู้ป่วยโรคตับหรือไต เป็นต้น
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยานี้ร่วมกับยาแอสไพริน, ยาแก้ปวด, ยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์, ยาสเตียรอยด์, ยาคีโตโรแลค (Ketorolac) และแอลกอฮอล์ เนื่องจากอาจทำให้มีโอกาสเกิดผลข้างเคียงมากขึ้น เช่น ทำให้เสี่ยงต่อการเกิดแผลในกระเพาะอาหาร (ความเสี่ยงจะขึ้นอยู่กับจำนวนยาที่รับประทานในแต่ละวันและขึ้นอยู่กับระยะเวลาที่รับประทานยาร่วมกัน)
  • ยานี้อาจทำให้เกิดอาการง่วง ซึม สับสน เวียนศีรษะ หรือเป็นลม และอาจทำให้การมองเห็นพร่าเลือนหรือผิดปกติ ดังนั้น ในขณะที่ใช้ยานี้อยู่ไม่ควรขับขี่ยานพาหนะ หรือทำงานเกี่ยวกับเครื่องจักรกล หรือกระทำการต่าง ๆ ที่อาจเป็นอันตรายได้

วิธีใช้ยาไอบูโพรเฟน

  • สำหรับใช้เป็นยาแก้อาการอักเสบของข้อ โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ โรคข้อเสื่อมชนิดรุนแรง โรคข้อสันหลังอักเสบเรื้อรัง และใช้ลดการอักเสบของกล้ามเนื้อและเส้นเอ็น (เส้นเอ็นอักเสบ, ข้อเคล็ดข้อแพลง)
    • ในผู้ใหญ่ ให้รับประทานยาครั้งละ 400-800 มิลลิกรัม วันละ 3-4 ครั้ง (สูงสุดไม่เกินวันละ 3,200 มิลลิกรัม)
    • ในเด็ก ให้รับประทานยาวันละ 30-50 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม โดยแบ่งให้ทุก 6 ชั่วโมง (สูงสุดไม่เกินวันละ 2,400 มิลลิกรัม)[2]
      • ส่วนอีกข้อมูลระบุว่าการใช้รักษาโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ในเด็ก (Juvenile rheumatoid arthritis) เฉพาะในเด็กอายุ 6 เดือนขึ้น ให้รับประทานยาวันละ 30-40 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม (ถ้ามีอาการน้อยให้รับประทานยาวันละ 20 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม) โดยแบ่งให้วันละ 3-4 ครั้ง หรือทุก ๆ 6 ชั่วโมง (สูงสุดไม่เกินวันละ 40 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม หรือวันละ 2,400 มิลลิกรัม)[1]
    • สำหรับยาเจล ให้ใช้เพื่อบรรเทาอาการปวดบวม อักเสบ เคล็ดขัดยอกของกล้ามเนื้อ ข้อ และเส้นเอ็น ที่เกิดจากการเล่นกีฬา อุบัติเหตุ และในผู้ป่วยโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ โดยให้บีบเจลขนาดความยาว 4-10 เซนติเมตร ลงบนผิวหนังบริเวณที่ปวดอักเสบ แล้วนวดทาเบา ๆ จนกระทั่งเจลซึมเข้าสู่ผิวหนังจนหมด โดยให้ทาวันละ 2-3 ครั้ง หรือตามแพทย์สั่ง
  • สำหรับโรคเกาต์ (Gout) มักใช้ในกรณีที่ไม่มียาลดข้ออักเสบ เช่น โคลชิซิน (Colchicine) หรือในระยะที่มีข้ออักเสบเฉียบพลัน โดยในผู้ใหญ่ ให้รับประทานยาครั้งละ 800 มิลลิกรัม ทุก ๆ 8 ชั่วโมงจนกว่าอาการจะทุเลา
  • สำหรับใช้เป็นยาแก้ปวดที่มีอาการเล็กน้อยถึงปานกลาง (Pain) เช่น ปวดศีรษะ ปวดฟัน ปวดกล้ามเนื้อ ปวดหลัง ปวดข้อ เป็นต้น (การใช้ยานี้เพื่อบรรเทาอาการปวดในผู้ใหญ่ไม่ควรใช้เกิน 10 วัน และในเด็กไม่ควรใช้เกิน 3 วัน นอกจากแพทย์สั่ง)
    • ในผู้ใหญ่ สำหรับยาฉีด (Caldolor®) ครั้งแรกให้ฉีดเข้าหลอดเลือดดำในขนาด 400-800 มิลลิกรัม ทุก 6 ชั่วโมง เมื่อมีอาการปวด (สูงสุดไม่เกินวันละ 3,200 มิลลิกรัม)
      • สำหรับยาเม็ด ให้รับประทานยาครั้งละ 200-400 มิลลิกรัม ซ้ำได้ทุก 4-6 ชั่วโมง เมื่อมีอาการปวด (สูงสุดไม่เกิน 1,200 มิลลิกรัม/วัน)
    • ในเด็ก สำหรับยาฉีด (Caldolor®) ในเด็กอายุ 6 เดือน ถึงอายุไม่เกิน 12 ปี ให้ฉีดเข้าหลอดเลือดดำครั้งละ 10 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ทุก 4-6 ชั่วโมง เมื่อมีอาการปวด (สูงสุดไม่เกินครั้งละ 400 มิลลิกรัม หรือไม่เกินวันละ 40 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว หรือวันละ 2,400 มิลลิกรัม แล้วแต่ว่าจำนวนใดน้อยกว่า) และในเด็กอายุ 12-17 ปี ให้ฉีดครั้งละ 400 มิลลิกรัม ทุก 4-6 ชั่วโมง เมื่อมีอาการ (สูงสุดไม่เกินวันละ 2,400 มิลลิกรัม)
      • สำหรับยาน้ำแขวนตะกอน (50 มิลลิกรัม/1.25 มิลลิลิตร) ในเด็กอายุ 6-11 เดือน ให้รับประทานยาครั้งละ 50 มิลลิกรัม ทุก 6-8 ชั่วโมง เมื่อมีอาการปวด ส่วนในเด็กอายุ 12-23 เดือน ให้รับประทานยาครั้งละ 75 มิลลิกรัม ทุก 6-8 ชั่วโมง เมื่อมีอาการปวด (สูงสุดไม่เกินวันละ 4 ครั้ง)
      • สำหรับยาน้ำแขวนตะกอน (100 มิลลิกรัม/5 มิลลิลิตร) ในเด็กอายุ 6 เดือน ถึง 2 ปี ให้รับประทานยาครั้งละ 10 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ทุก 6-8 ชั่วโมง ส่วนในเด็กอายุ 2-11 ปี ให้รับประทานยาครั้งละ 5-10 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ทุก 6-8 ชั่วโมง (ทั้งหมดนี้สูงสุดไม่เกินวันละ 40 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม หรือไม่เกินวันละ 4 ครั้ง)
      • สำหรับยาเม็ดชนิดเคี้ยว ในเด็กอายุ 2-11 ปี ให้รับประทานยาครั้งละ 5-10 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ทุก 6-8 ชั่วโมง เมื่อมีอาการปวด (สูงสุดไม่เกินวันละ 40 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม หรือไม่เกินวันละ 4 ครั้ง)
      • สำหรับยาเม็ดหรือยาแคปซูล ให้ใช้เฉพาะในเด็กอายุ 12 ปีขึ้นไป โดยให้รับประทานยาเริ่มต้นด้วยขนาดครั้งละ 200 มิลลิกรัม ทุก 4-6 ชั่วโมง เมื่อมีอาการปวด และอาจเพิ่มขนาดขึ้นเป็นครั้งละ 400 มิลลิกรัม ถ้ามีอาการมากขึ้น (สูงสุดไม่เกินวันละ 1,200 มิลลิกรัม)
  • สำหรับใช้บรรเทาอาการปวดประจำเดือน (Dysmenorrhea) และอาการปวดศีรษะไมเกรน (Migraine) ในผู้ใหญ่และเด็กอายุ 12 ปีขึ้นไปให้รับประทานยาครั้งละ 200-400 มิลลิกรัม ทุก 4-6 ชั่วโมง เมื่อมีอาการปวด (สูงสุดไม่เกินวันละ 1,200 มิลลิกรัม)
  • สำหรับใช้เป็นยาลดไข้ (Fever)
    • ในผู้ใหญ่ สำหรับยาฉีด (Caldolor®) ครั้งแรกให้ฉีดเข้าหลอดเลือดดำในขนาด 400 มิลลิกรัม และครั้งต่อไปให้ฉีดในขนาด 100, 200 หรือ 400 มิลลิกรัม ทุก 4-6 ชั่วโมง เมื่อมีอาการ (สูงสุดไม่เกินวันละ 3,200 มิลลิกรัม)
      • สำหรับยาเม็ด ให้รับประทานยาเริ่มต้นด้วยขนาดครั้งละ 200 มิลลิกรัม ทุก 4-6 ชั่วโมง และอาจเพิ่มขนาดขึ้นเป็นครั้งละ 400 มิลลิกรัม ถ้ามีอาการมากขึ้น (สูงสุดไม่เกินวันละ 1,200 มิลลิกรัม)
    • ในเด็ก สำหรับยาฉีด (Caldolor®) ในเด็กอายุ 6 เดือน ถึงอายุไม่เกิน 12 ปี ให้ฉีดเข้าหลอดเลือดดำครั้งละ 10 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ทุก 4-6 ชั่วโมง เมื่อมีอาการ (สูงสุดไม่เกินครั้งละ 400 มิลลิกรัม หรือไม่เกินวันละ 40 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว หรือวันละ 2,400 มิลลิกรัม แล้วแต่ว่าจำนวนใดน้อยกว่า) และในเด็กอายุ 12-17 ปี ให้ฉีดครั้งละ 400 มิลลิกรัม ทุก 4-6 ชั่วโมง เมื่อมีอาการ (สูงสุดไม่เกินวันละ 2,400 มิลลิกรัม)
      • สำหรับยาน้ำแขวนตะกอน (50 มิลลิกรัม/1.25 มิลลิลิตร) ในเด็กอายุ 6-11 เดือน ให้รับประทานยาครั้งละ 50 มิลลิกรัม ทุก 6-8 ชั่วโมง เมื่อมีอาการ ส่วนในเด็กอายุ 12-23 เดือน ให้รับประทานยาครั้งละ 75 มิลลิกรัม ทุก 6-8 ชั่วโมง เมื่อมีอาการ (สูงสุดไม่เกินวันละ 4 ครั้ง)
      • สำหรับยาน้ำแขวนตะกอน (100 มิลลิกรัม/5 มิลลิลิตร) ในเด็กอายุ 6 เดือน ถึง 2 ปี ถ้าอุณหภูมิน้อยกว่า 39.2 องศาเซลเซียส ให้รับประทานยาครั้งละ 5 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ทุก 6-8 ชั่วโมง แต่ถ้าอุณหภูมิเท่ากับหรือมากกว่า 39.2 องศาเซลเซียส ให้รับประทานยาครั้งละ 10 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ทุก 6-8 ชั่วโมง ส่วนในเด็กอายุ 2-11 ปี ให้รับประทานยาครั้งละ 5-10 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ทุก 6-8 ชั่วโมง เมื่อมีอาการ (ทั้งหมดนี้สูงสุดไม่เกินวันละ 40 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม หรือไม่เกินวันละ 4 ครั้ง)
      • สำหรับยาเม็ดชนิดเคี้ยว ในเด็กอายุ 2-11 ปี ให้รับประทานยาครั้งละ 5-10 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ทุก 6-8 ชั่วโมง เมื่อมีอาการ (สูงสุดไม่เกินวันละ 40 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม หรือไม่เกินวันละ 4 ครั้ง)
      • สำหรับยาเม็ดหรือยาแคปซูล ให้ใช้เฉพาะในเด็กอายุ 12 ปีขึ้นไป โดยให้รับประทานยาเริ่มต้นด้วยขนาดครั้งละ 200 มิลลิกรัม ทุก 4-6 ชั่วโมง เมื่อมีอาการ และอาจเพิ่มขนาดขึ้นเป็นครั้งละ 400 มิลลิกรัม ถ้ามีอาการมากขึ้น (สูงสุดไม่เกินวันละ 1,200 มิลลิกรัม)
  • สำหรับระงับอาการดักตัสอาร์เทอริโอซัสยังคงอยู่ (Patent ductus arteriosus) ในทารกคลอดก่อนกำหนด ให้ใช้ยาฉีดชนิด Ibuprofen Lysine Injection (NeoProfen®) ซึ่งมีขนาดยา 10 มิลลิกรัม/1 มิลลิตร ฉีดเข้าหลอดเลือดดำครั้งแรกในขนาด 10 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 มิลลิกรัม และให้ฉีดยาอีก 2 ครั้งในขนาด 5 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม หลังจากนั้นในอีก 24 และ 48 ชั่วโมง

คำแนะนำในการใช้ยาไอบูโพรเฟน

  • สำหรับยาเม็ด ให้รับประทานโดยการกลืนยาเม็ดพร้อมกับน้ำ 1 แก้ว (ห้ามบด เคี้ยว หรือหักแบ่ง) โดยควรรับประทานยาพร้อมกับอาหารหรือหลังอาหารทันที และดื่มน้ำตามมาก ๆ เพื่อลดการระคายเคืองในกระเพาะอาหาร หลังจากรับประทานยาแล้ว ไม่ควรอยู่ในท่านอนราบประมาณ 15-30 นาที เนื่องจากยาอาจก่อให้เกิดอาการระคายเคืองในหลอดอาหารได้ (อาจรับประทานยานี้พร้อมกับยาลดกรดก็ได้ โดยควรเลือกยาลดกรดที่ประกอบไปด้วยแมกนีเซียมและอะลูมิเนียมไฮดรอกไซด์ ไม่ควรผสมยาไอบูโพรเฟนในรูปแบบของเหลวเข้ากับยาลดกรด เพราะจะทำให้ยาเสื่อมคุณภาพ แต่หากยาที่รับประทานเป็นรูปแบบปลดปล่อยตัวยาในลำไส้เล็กก็ไม่จำเป็นต้องรับประทานยาร่วมกับอาหารหรือยาลดกรด)
  • สำหรับยาแคปซูล ห้ามแกะแคปซูลก่อนการรับประทานยา
  • สำหรับยาเม็ดชนิดเคี้ยว ควรเคี้ยวให้ละเอียดก่อนกลืนยาพร้อมกับดื่มน้ำตาม 1 แก้ว
  • สำหรับยาน้ำให้เขย่าขวดก่อนรินยาทุกครั้ง แล้วรินยาลงในช้อนตวงที่ได้มาตรฐานที่มาพร้อมกับขวด แล้วรับประทานยาโดยการกลืนและดื่มน้ำตาม ถ้าหากไม่มีช้อนตวงยาให้ขอจากเภสัชกรผู้จ่าย ไม่แนะนำให้ใช้ช้อนโต๊ะหรือช้อนชาสำหรับรับประทานอาหารตามปกติ เพราะอาจทำให้ปริมาณยาผิดพลาดได้
  • ยาไอบูโพรเฟนจัดเป็นยาอันตรายและมีผลข้างเคียงมาก ผู้ป่วยไม่ควรซื้อยานี้มารับประทานเอง อีกทั้งขนาดที่ใช้ในเด็กและผู้ใหญ่ในแต่ละอาการก็มีขนาดแตกต่างกันไป ดังนั้นจึงควรได้รับคำแนะนำในการใช้ยานี้จากแพทย์หรือเภสัชกรเท่านั้น
  • เพื่อความปลอดภัยและมีประสิทธิภาพในการใช้ยา ห้ามรับประทานยานี้เกินขนาด ห้ามรับประทานยานี้บ่อยจนเกินไป และห้ามรับประทานยานี้ติดต่อกันเป็นระยะเวลานานเกินกว่าที่แพทย์สั่ง เพราะการได้รับยามากเกินไปอาจทำให้มีโอกาสเกิดผลข้างเคียงมากขึ้น โดยเฉพาะในผู้สูงอายุ
  • ไม่ควรซื้อยานี้มารักษาตนเองเป็นเวลานานเกินกว่า 1 สัปดาห์ หากจำเป็นต้องใช้ยานี้ติดกันเป็นเวลานานควรปรึกษาแพทย์
  • สำหรับผู้ป่วยที่ใช้ยานี้โดยไม่มีใบสั่งแพทย์ ควรอ่านรายละเอียดการใช้ยาจากเอกสารกำกับยาที่แนบมาด้วยอย่างถี่ถ้วน หากมีข้อสงสัยควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร
  • การใช้ยานี้เพื่อลดไข้ ในผู้ใหญ่และเด็กไม่ควรใช้ยานี้เกิน 3 วัน นอกจากแพทย์สั่ง และโดยเฉพาะในเด็กหากใช้ยาแล้วไข้ไม่ลดลงหรือมีไข้สูงขึ้นภายใน 24 ชั่วโมง ควรปรึกษาแพทย์
  • การใช้ยานี้เป็นยาบรรเทาอาการปวดทั่วไปในผู้ใหญ่ ไม่ควรใช้เกิน 10 วัน และในเด็กไม่ควรใช้เกิน 3 วัน นอกจากแพทย์สั่ง
  • การรับประทานยานี้เพื่อบรรเทาอาการข้ออักเสบรุนแรงหรือเป็นมานาน จำเป็นต้องรับประทานยาตามที่แพทย์สั่ง โดยยานี้จะทำให้อาการดีขึ้นเมื่อใช้ยาไปประมาณ 1 สัปดาห์ แต่ในบางรายอาจต้องใช้เวลาถึง 2 สัปดาห์หรือนานกว่านั้น ดังนั้น ผู้ป่วยกลุ่มนี้จึงจำเป็นต้องใช้ยาเป็นเวลาหลายสัปดาห์จึงจะมีอาการดีขึ้น
  • ผู้ป่วยที่ใช้ยาเป็นเวลานานสำหรับบรรเทาอาการข้ออักเสบ ควรพบแพทย์ตามนัดเพื่อติดตามผลอันไม่พึงประสงค์ที่อาจเกิดขึ้นจากการใช้ยาด้วย เพราะการตรวจบางอย่างนั้นมีความจำเป็นอย่างมากเนื่องจากอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงรุนแรงรวมถึงแผลในกระเพาะอาหาร การมีเลือดออกในกระเพาะอาหาร หรือมีปัญหาเกี่ยวกับเลือด
  • ในกรณีที่จำเป็นต้องรับประทานยานี้ติดต่อกันนาน ๆ ควรรับประทานยาชนิดใดชนิดหนึ่งเพื่อป้องกันการเกิดแผลในกระเพาะอาหาร เช่น
    • รานิทิดีน (Ranitidine) ให้รับประทานครั้งละ 300 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง
    • โอเมพราโซล (Omeprazole) ให้รับประทานครั้งละ 20 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง
    • ไมโซพรอสทอล (Misoprostol) ซึ่งเป็นยาโพรสตาแกลนดินสังเคราะห์ ให้รับประทานครั้งละ 100-200 ไมโครกรัม วันละ 4 ครั้ง
    • ยาลดกรด (Antacids) ให้รับประทานครั้งละ 30 มิลลิลิตร วันละ 7 ครั้ง

การเก็บรักษายาไอบูโพรเฟน

  • ควรเก็บยานี้ในภาชนะบรรจุเดิมที่บรรจุมา ปิดให้สนิท และเก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยงเสมอ
  • ควรเก็บยานี้ที่อุณหภูมิห้อง เก็บยาให้พ้นแสงแดดและความร้อน ไม่ให้อยู่ในที่มีอุณหภูมิร้อนมากกว่า 30 องศาเซลเซียส และไม่เก็บยาในบริเวณที่เปียกหรือชื้น (ความร้อนหรือความชื้นอาจเป็นสาเหตุทำให้ยาเสื่อมคุณภาพได้)
  • สำหรับยาน้ำห้ามเก็บในตู้เย็น หลังเปิดขวดใช้แล้ว สามารถใช้ต่อไปได้ไม่เกิน 3 เดือน หากยาไม่มีการเปลี่ยนสี/กลิ่น หรือมีสิ่งผิดปกติอื่น ๆ
  • ให้ทิ้งยาที่เสื่อมสภาพหรือหมดอายุแล้ว

เมื่อลืมรับประทานยาไอบูโพรเฟน

หากลืมรับประทานยาไอบูโพรเฟน ให้รับประทานยาในทันทีที่นึกขึ้นได้ แต่ถ้าเป็นเวลาที่ใกล้เคียงกับมื้อต่อไป ให้ข้ามไปรับประทานยามื้อต่อไปได้เลย โดยไม่ต้องเพิ่มขนาดยาเป็น 2 เท่า

ผลข้างเคียงของยาไอบูโพรเฟน

  • ผลข้างเคียงสำคัญของยานี้ คือ ก่อให้เกิดการระคายเคืองต่อกระเพาะอาหารและลำไส้ อาจทำให้เกิดโรคแผลในกระเพาะอาหารและกระเพาะอาหารอักเสบ โดยเฉพาะในผู้สูงอายุ ซึ่งอาจทำให้มีเลือดออก (อาเจียนเป็นเลือดหรือถ่ายอุจจาระมีสีดำ) หรือกระเพาะอาหารทะลุได้
  • อาจทำให้มีอาการปวดศีรษะ เวียนศีรษะ สับสน มึนงง เสียงดังในหู ตามัว การมองเห็นผิดปกติ คลื่นไส้ อาเจียน ง่วง ซึม อ่อนเพลีย เฉื่อยชา เป็นลม แสบร้อนกลางอก ไม่สบายท้อง ปวดท้อง ท้องผูกหรือท้องเดิน ฯลฯ
  • อาจเกิดอาการแพ้ยา เป็นลมพิษ ผื่นคัน หอบหืด กลุ่มอาการสตีเวนส์จอห์นสัน (Stevens-Johnson syndrome) ภาวะช็อกจากการแพ้ (Anaphylactic shock)
  • อาจทำให้เกิดโรคภูมิแพ้ชนิดรุนแรง (Anaphylaxis) แม้ว่าจะพบได้น้อยมากแต่ก็อาจเกิดขึ้นได้ในผู้ป่วยที่เคยมีประวัติแพ้ยาแอสไพริน (Aspirin) หรือยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDs) ซึ่งจะทำให้ผู้ป่วยมีอาการหายใจเร็วมากและผิดปกติ อ้าปากหายใจหอบ หายใจเข้ามีเสียงหวีด หรือเป็นลม อาการเตือนอื่น ๆ เช่น สีผิวของใบหน้าเปลี่ยนแปลง ชีพจรเต้นเร็วและผิดปกติ ผิวหนังบวมมีลักษณะคล้ายรังผึ้ง และหนังตาหรือรอบ ๆ ตาบวมหรือพอง ถ้ามีอาการเหล่านี้เกิดขึ้น ต้องรีบได้รับการรักษาอย่างเร่งด่วน
  • อาจทำให้โรคภูมิแพ้กำเริบหรือมีอาการแย่ลง เช่น หวัดภูมิแพ้ หืด
  • อาจทำให้เม็ดเลือดขาวต่ำ เกล็ดเลือดต่ำ โลหิตจางจากไขกระดูกฝ่อ
  • อาจทำให้ตับอักเสบหรือเอนไซม์ตับ (AST, ALT) สูง
  • อาจทำให้ร่างกายคั่งน้ำ (Fluid retention) ทำให้มือเท้าบวม ความดันโลหิตสูงได้ และอาจทำให้ผู้ที่มีภาวะหัวใจวายเกิดอาการกำเริบได้
  • อาจทำให้ระบบการทำงานของกล้ามเนื้อหัวใจผิดปกติ จึงไม่แนะนำให้ใช้ในผู้ป่วยที่มีโรคระบบหัวใจและ/หรือโรคเกี่ยวกับกระเพาะอาหารและลำไส้
  • อาจเกิดภาวะช็อกจากปฏิกิริยาอะนาไฟแล็กทอยด์ (Anaphylactoid) ในผู้ที่ใช้ยานี้เป็นครั้งแรก
  • ผู้ป่วยบางรายที่ใช้ยานี้อาจไวต่อแสงมากกว่าปกติ ซึ่งการสัมผัสแสงแดดเพียงไม่นานก็อาจเป็นสาเหตุทำให้เกิดผิวหนังไหม้เกรียมผิดปกติ ปวดแสบปวดร้อน เกิดถุงน้ำใต้ผิวหนัง เกิดผื่น แดง คัน หรือสีซีดจางลงได้ (ควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสแสงแดดโดยตรง สวมเสื้อผ้าปกปิดผิวหนัง และหมั่นทาครีมกันแดดเป็นประจำ)
  • ยาไอบูโพรเฟนอาจยับยั้งการจับตัวของเกล็ดเลือดและทำให้เลือดออกได้ หากใช้ในปริมาณมาก
  • อาจทำให้เกิดภาวะไตวายเรื้อรังได้ หากใช้ยานี้ติดต่อกันเป็นเวลานาน
  • อาจเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดหัวใจวาย ไตวาย และตับวาย หากใช้ยานี้ในปริมาณมากและติดต่อกันเป็นเวลานาน
  • อาการข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นได้โดยไม่จำเป็นต้องได้รับการรักษา เนื่องจากร่างกายจะปรับตัวเข้ากับยาได้เอง แต่หากมีอาการดังกล่าวติดต่อกันเป็นเวลานานควรปรึกษาแพทย์
    • อาการที่พบบ่อย ได้แก่ ง่วงนอนหรือเซื่องซึม, วิงเวียนศีรษะ, รู้สึกหวิว ๆ, ปวดศีรษะเล็กน้อยถึงปานกลาง, คลื่นไส้อาเจียน, แสบยอดอก จุกเสียด อาหารไม่ย่อย รู้สึกไม่สบายในท้องหรือกระเพาะอาหารในระดับเล็กน้อยถึงปานกลาง เป็นต้น
    • อาการข้างเคียงที่พบได้น้อย ได้แก่ มีปัญหาเรื่องการนอนหลับ, การรับรสเปลี่ยนไปหรือรู้สึกขมปาก, ไม่อยากอาหาร, มีลมหรือแก๊สในกระเพาะอาหาร, ท้องผูก, ท้องร่วง, หัวใจเต้นเร็วหรือแรง, หน้าแดง, รู้สึกเหมือนไม่สบาย, ตาทนแสงไม่ได้, ผิวหนังไวต่อแสง, ปากแห้ง ระคายเคืองหรือเจ็บ, เหงื่อออกมากขึ้น, กระวนกระวาย, ควบคุมตัวเองไม่ได้, สั่น, กระตุก, ระคายเคืองทวารหนัก เป็นต้น
  • อาการข้างเคียงที่ควรไปพบแพทย์ทันที อาการที่พบได้บ่อย คือ มีผื่นขึ้นที่ผิวหนัง ส่วนอาการที่พบได้น้อยมีหลากหลายอาการ ได้แก่
    • สับสน หลงลืม ซึมเศร้าหรืออารมณ์เปลี่ยนไป ประสาทหลอน ปวดศีรษะรุนแรง ปวดหัวตุบ ๆ คอหรือหลังแข็ง
    • ตาพร่ามัวหรือมีปัญหาเกี่ยวกับการมองเห็น ปวดตา ตาระคายเคือง แห้ง แดงและบวม
    • การได้ยินลดลงหรือมีความผิดปกติในการได้ยินอื่น ๆ เช่น ได้ยินเสียงกริ่งหรือเสียงหึ่ง ๆ ในหู
    • รู้สึกเหมือนร้อนไหม้ภายในลำคอ หน้าอก และกระเพาะอาหาร กลืนลำบาก มีอาการไอ
    • ความดันโลหิตสูง ระคายเคืองลิ้น อุจจาระมีสีซีดลง
    • ปวดกระเพาะปัสสาวะ ปัสสาวะมีเลือดปนหรือขุ่น หรือมีปัญหาเกี่ยวกับการปัสสาวะ เช่น ปัสสาวะลำบาก ปวดแสบเวลาปัสสาวะ ปริมาณปัสสาวะมากขึ้นหรือน้อยลงอย่างผิดปกติ กลั้นปัสสาวะไม่อยู่ เป็นต้น
    • เลือดไหลจากการถูกมีดบาดหรือจากรอยถลอกที่นานเกินผิดปกติ มีเลือดไหลหรือเจ็บฝีปาก
    • มีเลือดไหลจากช่องคลอดมากผิดปกติโดยไม่ทราบสาเหตุ
    • ผิวหนังมีอาการคันหรือบวมคล้ายรังผึ้ง รวมทั้งความผิดปกติต่าง ๆ เกี่ยวกับผิวหนัง เช่น ปวดแสบปวดร้อน มีถุงน้ำ แดง สีเปลี่ยนแปลงไป ตึง ซีด หนาตัวหรือมีรอยแผลเป็น
    • มีอาการอ่อนเพลีย เมื่อยล้ามากผิดปกติ ตัวเหลืองตาเหลือง
    • สีเล็บซีดลงหรือเล็บแยก, ปวดเกร็งกล้ามเนื้อ กล้ามเนื้ออ่อนแรง, ปวดหลังด้านล่างหรือด้านข้างรุนแรง, มือและเท้าไม่มีความรู้สึก รู้สึกเหมือนเข็มจิ้ม ปวดหรืออ่อนแรง, ลิ้นและปากบวม, ต่อมบวมและเจ็บ โดยเฉพาะต่อมที่คอ, กระหายน้ำอย่างต่อเนื่อง, พูดลำบาก, น้ำมูกไหลหรือจามโดยไม่มีสาเหตุ
  • อาการข้างเคียงที่ควรหยุดใช้ยาและไปพบแพทย์ทันที
    • อาการพบได้น้อย ได้แก่ มีไข้ (อาจมีหรือไม่มีอาการหนาวสั่น), มีอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ (เช่น มีไข้ หนาวสั่น ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ) ร่วมกับการเกิดผื่น, ความดันโลหิตสูงขึ้น, มีเลือดไหลออกจากจมูกโดยไม่ทราบสาเหตุ, มีเลือดออกหรือเกิดจ้ำเลือดที่ผิดปกติ, คลื่นไส้ แสบยอดอก หรือมีอาการอาหารไม่ย่อยอย่างรุนแรงและต่อเนื่อง, ปวดท้อง ปวดเกร็งท้อง ปวดแสบร้อนในท้องอย่างรุนแรง, อาเจียนเป็นเลือดหรือมีสีคล้ายกาแฟ, อุจจาระมีเลือดปนหรือมีสีดำ, มีแผลเปื่อย แสบ หรือจุดขาวบนริมฝีปากหรือในปาก, มีจุดสีแดงคล้ายหัวเข็มหมุดตามผิวหนัง เป็นต้น
    • อาการที่พบได้น้อยมาก ได้แก่ หายใจเร็วหรือผิดปกติ, หัวใจเต้นเร็วหรือเต้นผิดปกติ, มีปัญหาเกี่ยวกับการหายใจ หายใจสั้น หายใจลำบาก หรือหายใจมีเสียงหวีด, แน่นหน้าอก, มีอาการบวมคล้ายเป็นลมพิษที่บริเวณหน้า เปลือกตา ปาก ริมฝีปาก หรือลิ้น, เป็นลม, ชัก เป็นต้น

ยาไอบูโพรเฟนกับยาพาราเซตามอลต่างกันอย่างไร

ไอบูโพรเฟนเป็นยาที่มีฤทธิ์ลดไข้แก้ปวดแบบพาราเซตามอล แต่มีข้อดีกว่าคือ สามารถใช้ลดการอักเสบได้ (นิยมใช้บรรเทาอาการอักเสบของข้อ กล้ามเนื้อและเนื้อเยื่อต่าง ๆ) ซึ่งยาพาราเซตามอลจะทำไม่ได้ แต่ยาไอบูโพรเฟนก็มีข้อควรระวังในการใช้และผลข้างเคียงมากกว่าพาราเซตามอล

โดยทั่วไปถ้าต้องการใช้ลดไข้แก้ปวด การใช้พาราเซตามอลจะเหมาะสมและมีความปลอดภัยมากกว่า ยกเว้นในรายที่มีไข้สูงจัดหรือมีอาการปวดรุนแรง แพทย์อาจพิจารณาให้ใช้ไอบูโพรเฟนแทน แต่ก็ต้องมั่นใจด้วยว่าผู้ป่วยไม่มีข้อห้ามในการใช้ยาดังที่กล่าวมา (เช่น มีประวัติการแพ้ยาแอสไพรินหรือยาในกลุ่มต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ เป็นโรคแผลในกระเพาะอาหาร หรือสงสัยว่าเป็นไข้เลือดออก เป็นต้น) และควรใช้เป็นช่วงสั้น ๆ ไม่ควรใช้ติดต่อกันเป็นเวลานาน ดังนั้น จึงไม่แนะนำให้ซื้อยานี้มารับประทานด้วยตัวเอง ควรให้แพทย์เป็นผู้พิจารณาสั่งจ่ายเมื่อเห็นว่าจำเป็นจริง ๆ

ไอบูโพรเฟนกับผู้ป่วยโรคไข้เลือดออก

ไข้เลือดออกเป็นโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัส ซึ่งไม่มียารักษาเฉพาะ แต่ผู้ป่วยส่วนใหญ่ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ประมาณ 70% จะหายจากโรคนี้ได้เอง การรักษาโรคนี้จึงเป็นการรักษาเพื่อประคับประคองไปตามอาการให้ร่างกายฟื้นตัวและพ้นระยะอันตรายในช่วงสัปดาห์แรก ดังนั้น เมื่อมีไข้สูงต่อเนื่องกัน 2 วัน รับประทานยาหรือเช็ดตัวแล้วไข้ไม่ลดลง ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัย

สำหรับการดูแลผู้ป่วยไข้เลือดออกอย่างถูกต้องในระยะ 1-2 วันแรกที่มีไข้สูง แนะนำว่า ให้เช็ดตัวด้วยน้ำธรรมดาและรับประทานยาพาราเซตามอลเฉพาะเวลาที่มีไข้สูง เพื่อไม่ให้มีผลกระทบต่อตับ ส่วนยาที่ห้ามรับประทานโดยเด็ดขาดคือ ไอบูโพรเฟน และแอสไพริน เพราะตัวยาจะไปกัดกระเพาะอาหาร ทำให้เลือดออกง่ายขึ้น เป็นแผลในกระเพาะอาหาร ส่งผลให้อาการของผู้ป่วยแย่ลงกว่าเดิม

เอกสารอ้างอิง
  1. Drugs.com.  “Ibuprofen”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.drugs.com.  [03 ต.ค. 2016].
  2. หนังสือตำราการตรวจรักษาโรคทั่วไป 1.  “ไอบูโพรเฟน (Ibuprofen)”.  (นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ).  หน้า 231.
  3. ยากับคุณ (Ya & You), มูลนิธิเพื่อการวิจัยและพัฒนาระบบยา (วพย.).  “IBUPROFEN”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.yaandyou.net.  [03 ต.ค. 2016].
  4. หาหมอดอทคอม.  “ไอบูโพรเฟน (Ibuprofen)”.  (ภก.อภัย ราษฎรวิจิตร).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : haamor.com.  [03 ต.ค. 2016].
  5. วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี.  “ไอบิวพรอเฟน”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : th.wikipedia.org.  [04 ต.ค. 2016].
  6. มูลนิธิหมอชาวบ้าน.  “ยาไอบูโพรเฟนต่างจากยาพาราเซตามอลอย่างไร”.  (นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.doctor.or.th.  [04 ต.ค. 2016].
  7. เครือข่ายความร่วมมือบริการเภสัชสนเทศ.  “IBROFEN,ไอโบรเฟน”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : drug.pharmacy.psu.ac.th.  [04 ต.ค. 2016].
  8. สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.).  “แอสไพริน-ไอบูโปรเฟน ผู้ป่วยไข้เลือดออกเสี่ยงเลือดออกในกระเพาะ”.  (นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.thaihealth.or.th.  [04 ต.ค. 2016].
  9. เด็กสาสุขออนไลน์.  “ไอบูโปรเฟน (Ibuprofen)”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : deksasukh.blogspot.com.  [04 ต.ค. 2016].

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด