ไส้ติ่งอักเสบ
ไส้ติ่งอักเสบ (Appendicitis) เป็นโรคที่พบได้บ่อยที่สุดในผู้ป่วยที่มีอาการปวดท้องรุนแรงที่ต้องรักษาด้วยวิธีการผ่าตัดอย่างเร่งด่วน หากพบมีอาการเจ็บตรงท้องน้อยข้างขวา ควรนึกถึงโรคนี้ไว้ก่อนเสมอและรีบไปพบแพทย์ เพราะหากปล่อยทิ้งไว้นานไส้ติ่งที่อักเสบมักจะแตกทะลุ เป็นเหตุทำให้ผู้ป่วยติดเชื้อในกระแสเลือดและเสียชีวิตได้
โรคนี้เป็นโรคที่พบได้บ่อยในคนทุกวัยตั้งแต่เด็กอายุ 2 ขวบไปจนถึงผู้สูงอายุ หรือแม้กระทั่งหญิงตั้งครรภ์ แต่จะพบได้มากในช่วงอายุ 10-30 ปี (พบได้น้อยในผู้สูงอายุ เนื่องจากไส้ติ่งตีบแฟบมีเนื้อเยื่อหลงเหลือน้อย และในเด็กอายุต่ำกว่า 3 ปี เนื่องจากโคนไส้ติ่งยังค่อนข้างกว้าง) ในผู้หญิงและผู้ชายมีโอกาสเป็นโรคนี้ได้เท่า ๆ กัน (แต่ในช่วงอายุ 20-30 ปี จะพบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง) และมีการคาดประมาณว่าในชั่วชีวิตของคนเราจะมีโอกาสเป็นโรคนี้ประมาณ 7% หรือในปี ๆ หนึ่งจะมีผู้ป่วยเป็นโรคนี้ประมาณ 1 ใน 1,000 คน (ในแต่ละปีมีชาวอเมริกันเสียชีวิตจากโรคนี้ประมาณ 300-400 คน)
หมายเหตุ : ไส้ติ่ง (Vermiform appendix) เป็นส่วนขยายของลำไส้ที่ยื่นออกมาจากกระพุ้งไส้ใหญ่ (Cecum) อยู่ตรงบริเวณท้องน้อยข้างขวา โดยมีลักษณะเป็นถุงแคบและยาว มีขนาดกว้างเพียง 5-8 มิลลิเมตร และมีความยาวหรือก้นถุงลึกโดยเฉลี่ย 8-10 เซนติเมตร (ในผู้ใหญ่) ภายในมีรูติดต่อกับลำไส้ใหญ่ส่วนต้น ไส้ติ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของลำไส้ใหญ่ที่ฝ่อตัวลงและไม่ได้ทำหน้าที่ในการย่อยและดูดซึมอาหาร เนื่องจากเป็นท่อขนาดเล็กปลายตัน เมื่อเกิดการอักเสบจึงทำให้เนื้อผนังไส้ติ่งเน่าตายและเป็นรูทะลุในเวลาอันรวดเร็วได้
สาเหตุของไส้ติ่งอักเสบ
สาเหตุสำคัญคือ เกิดจากภาวะอุดตันในรู (ทางเข้า-ออก) ของไส้ติ่ง ที่พบได้บ่อยที่สุดคือจากการมีเศษอุจจาระแข็ง ๆ ชิ้นเล็ก ๆ ที่เรียกว่า “นิ่วอุจจาระ” (Fecalith) ตกลงไปในรูไส้ติ่ง และที่พบได้รองลงมาคือ เกิดจากเนื้อเยื่อต่อมน้ำเหลือง (Lymphoid tissue) ที่ผนังไส้ติ่งที่หนาตัวขึ้นตามการอักเสบต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในร่างกาย นอกจากนี้อาจเกิดจากสิ่งแปลกปลอม (เช่น เมล็ดผลไม้), หนอนพยาธิ (ที่สำคัญคือ พยาธิไส้เดือน พยาธิเส้นด้าย พยาธิตืดหมู) หรือก้อนเนื้องอก
ซึ่งเมื่อเกิดการอุดตันขึ้น สิ่งคัดหลั่งที่ไส้ติ่งหลั่งอยู่เป็นปกติก็จะเกิดการคั่งอยู่ในรูไส้ติ่ง ทำให้ไส้ติ่งบวมเป่งและมีแรงดันภายในไส้ติ่งสูงขึ้น ประกอบกับการบีบขับของไส้ติ่ง จึงทำให้เกิดอาการปวดท้องรอบ ๆ สะดือ และในขณะเดียวกันเชื้อแบคทีเรียที่มีอยู่เป็นปกติวิสัย (ในจำนวนน้อย) ในรูไส้ติ่งก็จะเกิดการแบ่งตัวอย่างรวดเร็วและรุกล้ำเข้าไปในเนื้อเยื่อของไส้ติ่ง ทำให้เกิดการอักเสบรุนแรงตาม ผู้ป่วยจะมีอาการปวดเจ็บตรงท้องน้อยข้างขวา และในที่สุดไส้ติ่งก็จะเกิดการเน่าตายและแตกทะลุได้
ผู้ป่วยบางรายอาจเป็นไส้ติ่งอักเสบจากเชื้อไวรัสไซโตเมกะโล (Cytomegalovirus) ได้ ซึ่งมักจะพบได้ในผู้ป่วยเอดส์ และบางรายอาจเป็นไส้ติ่งอักเสบโดยที่แพทย์ไม่ทราบสาเหตุเลยก็ได้
ไส้ติ่งอักเสบเป็นโรคที่เกิดขึ้นเฉพาะกับผู้ป่วยแต่ละคน ไม่ได้เป็นโรคติดต่อที่แพร่ไปให้คนรอบข้างแต่อย่างใด
อาการของไส้ติ่งอักเสบ
ลักษณะอาการที่โดดเด่นของไส้ติ่งอักเสบ คือ มีอาการปวดที่มีลักษณะต่อเนื่องและปวดแรงขึ้นนานเกิน 6 ชั่วโมงขึ้นไป ถ้าผู้ป่วยไม่ได้รับการรักษาก็มักจะมีอาการปวดอยู่หลายวัน จนผู้ป่วยทนไม่ไหวและต้องไปโรงพยาบาล
ในระยะแรกเริ่มผู้ป่วยอาจมีอาการปวดแน่นตรงลิ้นปี่คล้ายโรคกระเพาะ หรือบางรายอาจมีอาการปวดบิดเป็นพัก ๆ รอบ ๆ สะดือคล้ายอาการปวดแบบท้องเสีย อาจเข้าส้วมบ่อย แต่ถ่ายไม่ออก (แต่บางรายอาจมีอาการถ่ายเป็นน้ำหรือถ่ายเหลวร่วมด้วย) และต่อมามักจะมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหารร่วมด้วย และอาการปวดมักจะเป็นอย่างต่อเนื่องและไม่ทุเลาลง (แม้จะกินยาแก้ปวดอะไรก็ตาม อาการปวดก็ไม่ทุเลาลง)
- ผู้ป่วยประมาณ 74-78% มักมีอาการเบื่ออาหาร กินข้าวไม่ลงร่วมด้วยเสมอ ถ้าผู้ป่วยไม่มีอาการเบื่ออาหารเลย อาจต้องคิดถึงสาเหตุอื่น
- ผู้ป่วยประมาณ 50% มักมีอาการอาเจียนตามหลังอาการปวดท้อง (ผู้ป่วยประมาณ 61-92% อาจมีอาการคลื่นไส้ก่อนปวดท้องได้) ซึ่งมักจะเป็นเพียง 1-2 ครั้ง ถ้าผู้ป่วยมีอาการอาเจียนก่อนปวดท้อง อาจไม่ใช่ไส้ติ่งอักเสบ
ต่อมาอีกประมาณ 4-6 ชั่วโมง (หรืออาจนานกว่านี้) อาการปวดจะย้ายมาที่ท้องน้อยข้างขวาต่ำกว่าสะดือ มีลักษณะปวดเสียวตลอดเวลา และจะเจ็บมากขึ้นเมื่อผู้ป่วยมีการขยับเขยื้อนตัว เดิน ไอหรือจาม จึงทำให้ไม่สามารถเคลื่อนไหวไปไหนมาไหนได้ และบางรายอาจต้องนอนนิ่ง ๆ อยู่กับที่จากอาการปวดที่ลุกลามทรมานมากขึ้นเรื่อย ๆ (อาการปวดจะทุเลาลงได้ด้วยการนอนงอขาและตะแคงไปข้างหนึ่ง หรือเดินตัวงอ ซึ่งจะทำให้รู้สึกสบายขึ้น) และบางรายอาจรู้สึกครั่นเนื้อครั่นตัวหรือมีไข้ต่ำ ๆ ได้
- อาการไส้ติ่งอักเสบ แบ่งออกได้เป็น 2 แบบ คือ ไส้ติ่งอักเสบเฉียบพลัน (Acute appendicitis) ที่พบได้เป็นส่วนใหญ่ดังที่กล่าวมา และไส้ติ่งอักเสบเรื้อรัง (Chronic appendicitis) ที่พบได้น้อยกว่ามาก ซึ่งผู้ป่วยจะมีอาการปวดที่ไม่จำเพาะ เป็นไม่มาก แต่เรื้อรัง และมักไม่มีไข้ การวินิจฉัยทำได้ยาก ส่วนใหญ่ผู้ป่วยจะได้รับการรักษาโรคอื่นที่มีอาการปวดท้องในลักษณะเดียวกันมาก่อน ยังไม่มีการตรวจทั่วไปใด ๆ ที่จะใช้วินิจฉัยไส้ติ่งอักเสบเรื้อรังได้ การวินิจฉัยจะต้องตัดออกทีละโรค หรือเมื่อบังเอิญเกิดไส้ติ่งอักเสบเฉียบพลันขึ้นบนภาวะที่เป็นเรื้อรังเท่านั้น
- สำหรับอาการของไส้ติ่งอักเสบเฉียบพลัน (Acute appendicitis) นั้น ยังอาจแบ่งออกได้เป็น 2 แบบย่อย คือ แบบตรงไปตรงมา และแบบไม่ตรงไปตรงมา โดยประมาณครึ่งหนึ่งของผู้ป่วยไส้ติ่งอักเสบจะไม่มีอาการปวดแบบตรงไปตรงมาตามแบบฉบับดังกล่าว แต่อาจมีอาการปวดเริ่มที่ท้องน้อยข้างขวาตั้งแต่ต้น (โดยไม่มีอาการอื่นนำมาก่อนเลยก็ได้) มีท้องเสีย และมีการดำเนินโรคที่ยาวนานกว่า อาจมีอาการปัสสาวะบ่อย (ถ้าไส้ติ่งที่อักเสบสัมผัสกับกระเพาะปัสสาวะ) อาจมีอาการคลื่นไส้รุนแรงได้ (ถ้าไส้ติ่งที่อักเสบอยู่ด้านหลังลำไส้เล็กตอนปลาย) บางรายอาจรู้สึกปวดเบ่ง ซึ่งเหล่านี้ถือเป็นอาการปวดแบบไม่ตรงไปตรงมา
- ในผู้สูงอายุและหญิงตั้งครรภ์ อาการปวดท้องอาจเป็นไม่รุนแรงและอาจมีอาการไม่ชัดเจน จึงทำให้ผู้ป่วยกลุ่มนี้ได้รับการรักษาที่ล่าช้าจนอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนได้
- ในเด็ก ลักษณะของอาการอาจไม่แน่นอนหรือชัดเจนแบบในผู้ใหญ่ เช่น อาจกดเจ็บทั่วท้อง (ไม่จำกัดอยู่ตรงเฉพาะท้องน้อยข้างขวา) อาจมีไข้และปวดท้องโดยไม่มีอาการกดเจ็บชัดเจน เป็นต้น
ภาวะแทรกซ้อนของไส้ติ่งอักเสบ
หากไม่ได้รับการรักษาโดยการผ่าตัดภายใน 24-36 ชั่วโมงหลังมีการอักเสบ (มักจะไม่เกินระยะเวลา 3 วัน) ไส้ติ่งจะขาดเลือดกลายเป็นเนื้อเน่าและตาย สุดท้ายผนังของไส้ติ่งที่เปื่อยยุ่ยจะแตกทะลุ หนองและสิ่งสกปรกภายในลำไส้จะไหลออกมาในช่องท้อง ทำให้กลายเป็นเยื่อบุช่องท้องอักเสบ (Peritonitis) และหากเชื้อแบคทีเรียลุกลามเข้าสู่กระแสเลือดก็จะเกิดการติดเชื้อในกระแสเลือด เป็นอันตรายจนถึงขั้นเสียชีวิตได้ (แต่บางรายก็อาจกลายเป็นก้อนฝีรอบ ๆ ไส้ติ่งแทรกซ้อนแทน ซึ่งเกิดจากร่างกายสร้างเนื้อเยื่อมาห่อหุ้มไส้ติ่งที่แตกนั้นไว้ ทำให้คลำได้มีก้อนเจ็บที่ท้องน้อย และมีไข้) ซึ่งภาวะแทรกซ้อนเหล่านี้มักพบได้บ่อยในเด็กเล็ก ผู้สูงอายุ ผู้ที่มีโรคประจำตัว และผู้ป่วยเบาหวาน (เนื่องจากมีภูมิต้านทานต่ำ) ซึ่งในผู้สูงอายุที่เป็นไส้ติ่งอักเสบจะมีอัตราการเสียชีวิตสูงถึง 15%
ถ้าผู้ป่วยได้รับการผ่าตัดภายใน 24-36 ชั่วโมง โอกาสเสียชีวิตก็นับว่ามีน้อยมากและมักไม่มีภาวะแทรกซ้อนเกิดขึ้น แต่ถ้าปล่อยทิ้งไว้เนิ่นนาน นอกจากอาจจะเกิดภาวะแทรกซ้อนดังกล่าวแล้ว หลังการผ่าตัดยังอาจเกิดการติดเชื้อของแผลผ่าตัดแทรกซ้อนอีกด้วย ซึ่งจะทำให้เกิดความยุ่งยากในการรักษามากขึ้น
การวินิจฉัยไส้ติ่งอักเสบ
แพทย์มักจะวินิจฉัยโรคไส้ติ่งอักเสบได้จากการซักประวัติอาการและการตรวจร่างกายเป็นหลัก ส่วนการตรวจทางทวารหนัก (ผู้ตรวจจะสวมถุงมือแล้วใช้นิ้วชี้สอดเข้าทวารหนักของผู้ป่วย หากปลายนิ้วแหย่ถูกปลายไส้ติ่งผู้ป่วยจะมีอาการเจ็บมาก) จะช่วยเพิ่มน้ำหนักในการวินิจฉัยว่าเป็นโรคนี้ได้ แต่จะไม่นิยมทำในเด็กเล็ก
ในรายที่แพทย์สงสัยว่าเกิดจากสาเหตุอื่น ๆ หรือต้องการยืนยันการวินิจฉัยให้แน่ชัดว่าเป็นไส้ติ่งอักเสบ แพทย์อาจต้องทำการตรวจอื่น ๆ เพิ่มเติม (ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ ซึ่งจะแตกต่างกันไปในผู้ป่วยแต่ละราย) เช่น การตรวจดูผลเลือดซีบีซี (ในผู้ป่วยที่เป็นโรคไส้ติ่งอักเสบจะพบว่ามีจำนวนเม็ดเลือดขาวสูงกว่าปกติ), การตรวจปัสสาวะ (หากตัวไส้ติ่งอยู่ใกล้ท่อไตหรือกระเพาะปัสสาวะอาจพบเม็ดเลือดแดงและเม็ดเลือดขาวมากกว่าปกติ), การตรวจอัลตราซาวนด์ (อาจพบไส้ติ่งที่อักเสบบวม หรือพบก้อนฝีรอบ ๆ ไส้ติ่ง), การตรวจเอกซเรย์ช่องท้องหรือตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ช่องท้อง (เพื่อแยกจากโรคอื่น ๆ เช่น นิ่วในท่อไต ปีกมดลูกอักเสบ การตั้งครรภ์นอกมดลูก ฯลฯ), การตรวจภายในสำหรับผู้หญิง (เพื่อแยกจากโรคอื่น ๆ) เป็นต้น
สำหรับการตรวจร่างกายมักพบว่า ผู้ป่วยมีไข้ต่ำ ๆ ประมาณ 37.5-38 องศาเซลเซียส แต่มักไม่เกิน 38.5 องศาเซลเซียส (แต่บางรายอาจไม่มีไข้เลยก็ได้ หรือในรายที่มีไข้สูงอาจเกิดจากไส้ติ่งแตก หรืออาจเกิดจากสาเหตุอื่น ๆ เช่น กรวยไตอักเสบเฉียบพลัน ปีกมดลูกอักเสบ ไทฟอยด์ เป็นต้น) และที่สำคัญ คือ การตรวจพบอาการกดเจ็บตรงท้องน้อยข้างขวา โดยเฉพาะตรงตำแหน่งของไส้ติ่งหรือจุดแมคเบอร์เนย์ (McBurney’s point) ถ้าใช้มือค่อย ๆ กดตรงบริเวณนั้นลงไปลึก ๆ แล้วปล่อยมือให้ผนังหน้าท้องกระเด้งกลับขึ้นมาทันที ผู้ป่วยจะรู้สึกเจ็บปวดมาก ซึ่งเรียกว่า “อาการกดปล่อยแล้วเจ็บ” (Rebound tenderness) ซึ่งแสดงว่าผู้ป่วยเริ่มมีการอักเสบของเยื่อบุช่องท้องในบริเวณนั้น ๆ นอกจากนี้อาจพบว่าผู้ป่วยจะรู้สึกเจ็บปวดที่ท้องน้อยข้างขวาเมื่อผู้ตรวจใช้มือกดตรงท้องน้อยข้างซ้าย ซึ่งเรียกอาการนี้ว่า “Rovsing’s sign” ส่วนในรายที่ไส้ติ่งแตก ผู้ป่วยจะมีไข้สูงลอย 40 องศาเซลเซียส มีอาการปวดเจ็บทั่วบริเวณท้องน้อยทั้งซ้ายและขวา ท้องจะแข็งเกร็งไปหมด จนผู้ป่วยเดินไม่ไหว และอาจคลำได้ก้อน
- วิธีการตรวจดูอาการไส้ติ่งอักเสบอย่างง่าย ๆ ด้วยตัวเอง (เมื่อถึงขั้นที่มีอาการอักเสบของไส้ติ่งชัดเจน) คือ ให้ผู้ป่วยนอนหงายแล้วใช้นิ้วมือกดลงลึก ๆ เบา ๆ หรือใช้กำปั้นทุบเบา ๆ ตรงบริเวณไส้ติ่ง (ท้องน้อยข้างขวา) ถ้าพบว่ามีอาการเจ็บปวดตรงบริเวณนั้นมาก ก็ให้สงสัยไว้ก่อนว่าเป็นไส้ติ่งอักเสบ
- ผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้อาจมีอาการต่าง ๆ กันไปได้หลายแบบ โดยมากกว่าครึ่งหนึ่งที่อาจไม่มีอาการปวดท้องน้อยรอบ ๆ สะดือนำมาก่อน บางรายอาการปวดเจ็บท้องอาจอยู่นอกตำแหน่งท้องน้อยข้างขวา (เนื่องจากไส้ติ่งอยู่ในตำแหน่งที่ผิดไปจากปกติ) หรือบางรายอาจมีอาการปวดท้องร่วมกับท้องผูกหรือท้องเสียก็ได้
- ถ้ารู้สึกปวดท้องอยากถ่ายบ่อย ๆ แต่ถ่ายไม่ออก อย่านึกว่าเป็นอาการท้องผูกธรรมดา และห้ามทำการสวนอุจจาระหรือกินยาถ่ายหรือยาระบาย เพราะอาจจะทำให้ไส้ติ่งแตกได้
- ในระยะแรกผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการปวดใต้ลิ้นปี่หรือรอบ ๆ สะดือคล้ายอาการของโรคกระเพาะ จึงควรเฝ้าสังเกตอาการอย่างใกล้ชิด ถ้ากินยาแก้โรคกระเพาะแล้วอาการยังไม่ทุเลา กลับมีอาการปวดรุนแรงขึ้นหรือย้ายมาปวดตรงท้องน้อยข้างขวาก็ควรนึกถึงไส้ติ่งอักเสบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้ามีอาการปวดท้องน้อยต่อเนื่องกันนานเกิน 6 ชั่วโมง
- อาการปวดท้องน้อยข้างขวา นอกจากไส้ติ่งอักเสบแล้ว ยังอาจเกิดได้จากสาเหตุอื่น ๆ เช่น นิ่วในท่อไต ปวดประจำเดือน ปีกมดลูกอักเสบเฉียบพลัน กรวยไตอักเสบเฉียบพลัน การตั้งครรภ์นอกมดลูก เป็นต้น ซึ่งผู้ป่วยจะมีลักษณะอาการที่แตกต่างกันออกไป
การแยกโรค
ในระยะแรกเริ่มที่ผู้ป่วยมีอาการปวดแน่นตรงลิ้นปี่ (คล้ายโรคกระเพาะ) หรือปวดบิดเป็นพัก ๆ รอบ ๆ สะดือ (คล้ายอาการท้องเสีย) อาจต้องแยกออกจากสาเหตุอื่น ๆ เช่น
- โรคกระเพาะ ผู้ป่วยจะมีอาการจุกแน่นหรือปวดแสบตรงลิ้นปี่ แต่จะไม่มีอาการกดเจ็บตรงท้องน้อยข้างขวา โดยมักจะมีอาการตอนก่อนหรือหลังรับประทานอาหาร และมักจะเป็นอยู่นานประมาณ 30-60 นาที แล้วอาการจะทุเลาลงไป แต่อาการจะกลับมากำเริบขึ้นอีกเมื่อถึงเวลาอาหารมื้อต่อไป และอาการจะทุเลาลงได้ด้วยการกินยาลดกรด
- ท้องเสีย ผู้ป่วยจะมีอาการปวดบิดเกร็งเป็นพัก ๆ รอบ ๆ สะดือ ร่วมกับมีอาการถ่ายเหลวหรือถ่ายเป็นน้ำอยู่บ่อยครั้ง และอาจมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน หรือมีไข้ร่วมด้วย แต่จะไม่มีอาการกดเจ็บตรงท้องน้อยข้างขวา
- นิ่วในถุงน้ำดี ผู้ป่วยจะมีอาการปวดบิดเกร็งเป็นพัก ๆ ตรงลิ้นปี่และใต้ชายโครงข้างขวานานเป็นชั่วโมง ๆ และอาจมีปวดร้าวมาที่ไหล่ขวาหรือบริเวณหลังตรงใต้สะบักขวา (จะไม่มีอาการกดเจ็บตรงท้องน้อยข้างขวา) ร่วมกับมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน โดยอาการอาจทุเลาไปได้เอง แต่อาจกำเริบใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังการรับประทานอาหารมัน ๆ
- กระเพาะลำไส้อุดกั้น ผู้ป่วยจะมีอาการปวดบิดเกร็งเป็นพัก ๆ ทั่วท้อง อาเจียนบ่อย นานเป็นวัน ๆ มักรับประทานอาหารไม่ลง (เพราะจะอาเจียนทุกครั้ง) และถ่ายไม่ออก (ท้องผูก) ซึ่งผู้ป่วยอาจมีประวัติการผ่าตัดในช่องท้องมาก่อน หากสงสัยควรรีบไปพบแพทย์
- กระเพาะเป็นแผลทะลุ ผู้ป่วยจะมีอาการปวดรุนแรงตรงบริเวณลิ้นปี่ติดต่อกันเกิน 6 ชั่วโมง ใจหวิว ใจสั่น บริเวณที่ปวดจะกดเจ็บและแข็งตึง
ส่วนในรายที่มีอาการปวดตรงท้องน้อยข้างขวา อาจต้องแยกออกจากสาเหตุอื่น ๆ อีก เช่น
- นิ่วในท่อไต ผู้ป่วยจะมีอาการปวดเกร็งเป็นพัก ๆ ตรงท้องน้อย และปวดร้าวลงมาที่อัณฑะหรือช่องคลอดข้างเดียวกัน ร่วมกับมีปัสสาวะเป็นเลือดหรือเป็นสีน้ำล้างเนื้อ แต่จะไม่มีอาการกดเจ็บ
- ปวดประจำเดือน ผู้ป่วยจะมีอาการปวดบิดเกร็งเป็นพัก ๆ ตรงท้องน้อยตอนมีประจำเดือนอยู่ประมาณ 3-4 วัน แล้วจะหายไปเอง จะไม่มีอาการกดเจ็บตรงท้องน้อยข้างขวาและไม่มีไข้
- กรวยไตอักเสบเฉียบพลัน ผู้ป่วยจะมีไข้สูง หนาวสั่น ปวด และเคาะเจ็บตรงสีข้าง ปัสสาวะขุ่น และอาจมีอาการขัดเบาร่วมด้วย
- ปีกมดลูกอักเสบเฉียบพลัน ผู้ป่วยจะมีไข้สูง ปวด และกดเจ็บตรงท้องน้อย ซึ่งอาการจะไม่สัมพันธ์กับอาหาร อาจมีอาการขัดเบาร่วม และมักมีเลือดหรือตกขาวผิดปกติทางช่องคลอดร่วมด้วย
- การตั้งครรภ์นอกมดลูก ผู้ป่วยจะมีอาการปวดเสียดท้องน้อย หน้ามืด เป็นลม ใจสั่น หน้าตาซีดเซียว และมีประวัติการขาดประจำเดือน หรือมีอาการแพ้ท้องมาก่อนหน้านี้ ซึ่งถือเป็นภาวะฉุกเฉินที่ผู้ป่วยต้องรีบไปโรงพยาบาล
จะสังเกตได้ว่าอาการปวดท้องในระยะแรกเริ่ม ไม่ว่าจะเป็นไส้ติ่งหรือโรคอื่น ๆ ก็ตามจะแยกออกจากกันได้ยาก ซึ่งบางครั้งก็อาจทำให้มีปัญหาเกี่ยวกับการวินิจฉัยเกิดขึ้นและทำให้แพทย์ถูกต่อว่าได้ เช่น ผู้ป่วยได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นไส้ติ่งอักเสบ แต่เมื่อผ่าตัดแล้วพบว่าไส้ติ่งไม่อักเสบ, ผู้ป่วยได้รับการวินิจฉัยผิดว่าเป็นโรคอื่นจนกระทั่งไส้ติ่งแตก, เด็กอายุน้อยกว่า 2 ขวบเกือบทุกรายแพทย์มักจะวินิจฉัยโรคได้หลังไส้ติ่งแตกแล้ว, ในเด็กเล็กและผู้สูงอายุที่อาการอาจไม่ชัดเจนและอาจเกิดปัญหารุนแรงได้ถ้าได้รับการวินิจฉัยและรักษาที่ล่าช้าเนื่องจากมีภูมิต้านทานต่ำ, ในเพศหญิงอาจวินิจฉัยโรคได้ยากขึ้นเพราะมีรังไข่และท่อรังไข่ข้างขวาอยู่ในตำแหน่งที่ใกล้เคียงกับไส้ติ่ง เป็นต้น ดังนั้น จึงขอแนะนำว่าในกรณีที่เริ่มมีอาการปวดท้องที่ยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดว่าเกิดจากอะไร อย่าเพิ่งกินยาแก้ปวด ควรไปพบแพทย์เพื่อทำการตรวจก่อน เพราะการกินยาแก้ปวดจะทำให้แพทย์วินิจฉัยแยกจากโรคได้ลำบากเนื่องจากยาจะบดบังอาการปวด
ข้อสังเกต : อาจสังเกตได้ว่าถ้าเป็นอาการปวดท้องทั่วไปจากโรคอื่น ๆ โดยทั่วไปมักจะปวดเป็นพัก ๆ ไม่ปวดตลอดเวลาเหมือนไส้ติ่งอักเสบ
วิธีรักษาไส้ติ่งอักเสบ
หากมีอาการที่สงสัยว่าเป็นไส้ติ่งอักเสบ ควรรีบไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลที่ใกล้บ้านทันที โดยให้ยึดหลักว่า “หากมีอาการปวดท้องติดต่อกันนานเกิน 6 ชั่วโมง หรือขยับเขยื้อนตัวหรือเอามือกดแล้วรู้สึกเจ็บตรงบริเวณท้องน้อยข้างขวา ไม่ว่าผู้ป่วยจะมีไข้หรือไม่ก็ตาม ให้สงสัยว่าเป็นไส้ติ่งอักเสบหรือภาวะร้ายแรงอื่น ๆ ที่ต้องรีบไปพบแพทย์ทันที และอย่าคิดว่าเป็นเพียงอาการปวดท้องธรรมดา เช่น การปวดประจำเดือนที่อาจเคยเป็นอยู่ประจำ”
- ในรายที่มีอาการไส้ติ่งอักเสบชัดเจน (แม้แพทย์อาจจะไม่มั่นใจ 100% ก็ตาม) และไม่มีอาการไส้ติ่งแตกทะลุ แพทย์จะรีบให้การรักษาด้วยการผ่าตัดไส้ติ่งออกทันที เพื่อป้องกันไส้ติ่งแตกทะลุและเกิดการติดเชื้อรุนแรงตามมา (ในกรณีนี้ยังไม่จำเป็นต้องให้ยาปฏิชีวนะทั้งก่อนและหลังการผ่าตัด แต่แพทย์อาจพิจารณาให้ยาปฏิชีวนะก่อนการผ่าตัดได้ เมื่อผ่าตัดแล้วพบว่าไส้ติ่งอักเสบไม่แตกทะลุก็ไม่จำเป็นต้องให้ยาปฏิชีวนะต่อ) โดยการผ่าตัดไส้ติ่งส่วนใหญ่จะใช้เวลาประมาณ 30-60 นาที การทำไม่ยุ่งยาก และแพทย์จะให้ผู้ป่วยอยู่พักรักษาตัวในโรงพยาบาลประมาณ 2-3 วัน (ในรายที่ไส้ติ่งแตกแล้วมักจะใช้เวลาที่นานกว่า และอาจเกิดแผลผ่าตัดติดเชื้อภายหลังได้) แล้วจึงอนุญาตให้กลับไปพักฟื้นที่บ้านได้ และจะนัดมาตัดไหมหลังการผ่าตัด 1 สัปดาห์ ซึ่งภายหลังการรักษาผู้ป่วยมักจะหายดีโดยไม่มีภาวะแทรกซ้อนแต่อย่างใด
- ในรายที่แพทย์สงสัยว่าไส้ติ่งแตกทะลุ โดยเฉพาะในรายที่ลักษณะทางคลินิกไม่สามารถแยกได้ว่าไส้ติ่งแตกทะลุชัดเจน แพทย์จะนิยมให้ยาปฏิชีวนะไว้ก่อนตั้งแต่ก่อนการผ่าตัด (เพื่อป้องกันการติดเชื้อหลังการผ่าตัด) แต่ถ้าผ่าตัดไปแล้วพบว่าไส้ติ่งไม่ได้แตกทะลุก็ไม่จำเป็นต้องให้ยาปฏิชีวนะต่อไปอีกหลังการผ่าตัด แต่ถ้าพบว่าไส้ติ่งแตกทะลุก็ให้ยาปฏิชีวนะกับผู้ป่วยต่อไป
- ในรายที่มีอาการไส้ติ่งแตกและมีอาการเยื่อบุช่องท้องอักเสบ (Peritonitis) เนื่องจากปล่อยให้เป็นอยู่นานกว่าจะมาพบแพทย์ การรักษาแพทย์จะให้ยาปฏิชีวนะร่วมด้วย (ก่อนนำผู้ป่วยไปผ่าตัด แพทย์จะใช้วิธีรักษาแบบประคับประคองให้ผู้ป่วยอยู่ในสภาพที่เหมาะสมต่อการให้ยาสลบและการผ่าตัดก่อน เช่น ให้น้ำเกลือ ให้ยาปฏิชีวนะที่เหมาะสม ให้ยาลดไข้หรือเช็ดตัวให้อุณหภูมิร่างกายลดลง ถ้าผู้ป่วยมีไข้สูง เป็นต้น) และภายหลังการผ่าตัดอาจต้องมีวิธีการดูแลรักษาแผลผ่าตัดเป็นพิเศษ แตกต่างจากไส้ติ่งอักเสบที่ยังไม่แตก และต้องให้ผู้ป่วยอยู่พักรักษาตัวในโรงพยาบาลนานกว่าปกติ
- ในรายที่ไส้ติ่งอักเสบมาแล้วหลายวันและกลายเป็นก้อนฝีรอบ ๆ ไส้ติ่ง แพทย์จะให้ยาปฏิชีวนะที่ออกฤทธิ์ครอบคลุมกว้างขวางไปก่อน (เพราะก้อนฝีอาจยังเละ ยุ่ย ไม่รวมตัวกันดี และการผ่าตัดเข้าไปรื้อค้นอาจทำให้ก้อนฝีฉีกขาดกระจัดกระจายได้) ถ้าผู้ป่วยตอบสนองดีต่อการรักษา เช่น อาการปวดท้องของผู้ป่วยดีขึ้น ก้อนฝีเล็กลง แพทย์จะให้การรักษาต่อโดยวิธีประคับประคอง และค่อยนัดผู้ป่วยมาผ่าตัดแบบไม่ฉุกเฉินในอีก 6-12 สัปดาห์ต่อมา แต่ถ้าการรักษาด้วยยาปฏิชีวนะไม่ได้รับการตอบสนองที่ดีอาจจำเป็นต้องทำการผ่าตัดเลย (ถ้าพยาธิสภาพรุนแรงมาก อาจทำเพียงระบายหนอง แต่ถ้าพยาธิสภาพไม่รุนแรงและสามารถตัดไส้ติ่งออกได้ แพทย์ก็จะทำการผ่าตัดให้)
- ในรายที่มีอาการไม่ชัดเจนว่าเป็นไส้ติ่งอักเสบ อาการปวดหรือตรวจร่างกายยังไม่ชัดเจน แต่มีสิ่งที่ทำให้สงสัยได้ว่าเป็นโรคนี้ แพทย์จะรับตัวไว้ในโรงพยาบาลเพื่อเฝ้าสังเกตอาการอย่างใกล้ชิด โดยให้งดน้ำและอาหารและไม่ให้ยาปฏิชีวนะ ถ้าต่อมาผู้ป่วยมีอาการชัดเจนว่าเป็นไส้ติ่งอักเสบ แพทย์จะรีบทำการผ่าตัดไส้ติ่งทันที
การผ่าตัดไส้ติ่ง
- วิธีการผ่าตัดเอาไส้ติ่งออก (Appendectomy) การผ่าตัดไส้ติ่งถือเป็นการรักษาตามมาตรฐาน ซึ่งการผ่าตัดไส้ติ่งที่ยังไม่แตกสามารถทำได้ทั้งการผ่าตัดทางหน้าท้องและด้วยวิธีการส่องกล้องผ่าตัด (ถ้ามีเครื่องมือพร้อมและแพทย์มีความชำนาญ) แต่ถ้าไส้ติ่งแตกแล้ว เป็นฝี หรืออยู่ในตำแหน่งที่ไม่ปกติ แพทย์จะผ่าตัดทางหน้าท้องเท่านั้น (ในประเทศไทยยังนิยมใช้การผ่าตัดทางหน้าท้องอยู่ โดยการผ่าตัดจะเป็นการเปิดช่องท้องบริเวณ McBurney’s point ตรงตำแหน่งที่เป็นไส้ติ่ง วิธีการกรีดแผลที่เป็นที่นิยมที่สุดคือ การผ่าโดยใช้แนวเฉียงหรือแนวนอน)
- เป็นไส้ติ่งอักเสบต้องผ่าตัดออกสถานเดียว การรักษาไส้ติ่งอักเสบโดยไม่ต้องผ่าตัด เพื่อหวังว่าอาการจะดีขึ้นหรือการอุดตันที่ไส้ติ่งจะหลุดหรือคลายออกไปได้เองนั้นพบได้น้อยมาก และมีความเสี่ยงสูงที่ไส้ติ่งจะแตกทะลุได้ ดังนั้น แพทย์จึงแนะนำให้ทำการผ่าตัดไส้ติ่งอักเสบออกทุกราย
- ไส้ติ่งอักเสบรักษาไม่ได้ด้วยยา ไส้ติ่งอักเสบเป็นภาวะร้ายแรงที่ต้องได้รับการรักษาด้วยการผ่าตัดฉุกเฉิน ส่วนการรักษาทางยาไม่ว่าจะเป็นยาฉีดหรือยากิน อาจช่วยระงับอาการได้เพียงชั่วคราว และถ้าปล่อยไว้ไม่รีบรักษาจนไส้ติ่งแตกก็จะทำให้เกิดความยุ่งยากในการรักษามากขึ้น โดยอาจทำให้เกิดการติดเชื้อของแผลหลังการผ่าตัด เสียทั้งเงินและเวลาอยู่ในโรงพยาบาล และมีความเสี่ยงต่ออันตรายมากขึ้น (ผู้ป่วยจะมีอัตราการเสียชีวิตประมาณ 3% แต่ในขณะไส้ติ่งอักเสบที่ยังไม่มีภาวะแทรกซ้อนจะมีอัตราการเสียชีวิตต่ำกว่า 0.1%)
- ต้องผ่าตัดก่อนไส้ติ่งแตก การรักษาผ่าตัดไส้ติ่งอักเสบก่อนที่จะแตกนอกจากจะช่วยลดการเกิดภาวะแทรกซ้อนได้แล้วยังช่วยให้ประหยัดค่าใช้จ่ายในการรักษาได้เป็นอย่างมากอีกด้วย
- ผ่าตัดไส้ติ่งออกแล้วจะมีผลอะไรหรือไม่ ? ต้องขออธิบายก่อนว่า ไส้ติ่งมีหน้าที่สร้างและปกป้องเชื้อจุลินทรีย์ในช่องท้อง (จุลินทรีย์ที่ว่านี้จะช่วยในการย่อยอาหาร) และยังมีหน้าที่กระตุ้นระบบย่อยอาหารให้ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพในกรณีที่ถูกเชื้อโรคอหิวาต์หรือเชื้อโรคบิดเล่นงาน (ไส้ติ่งจึงเปรียบเสมือนที่หลบภัยและโรงงานผลิตแบคทีเรียที่มีประโยชน์) อย่างไรก็ตาม ประโยชน์ของไส้ติ่งจะลดน้อยลงอย่างมากในประเทศที่พัฒนาแล้ว เนื่องจากมีโอกาสเกิดโรคอหิวาต์หรือโรคบิดน้อยมาก แต่ในประเทศด้อยพัฒนายังมีประโยชน์กับประชากรเหล่านั้นอยู่ (เพราะมีรายงานว่าประเทศด้อยพัฒนานั้นมีอัตราการเกิดโรคไส้ติ่งอักเสบน้อยมากเมื่อเทียบกับสหรัฐฯ) และแม้จะมีประโยชน์ก็ตาม แต่เมื่อไส้ติ่งอักเสบก็จำเป็นต้องผ่าตัดออก ซึ่งการผ่าตัดไส้ติ่งออกนั้นก็ไม่ได้ส่งผลเสียต่อร่างกายในระยะยาวแต่อย่างใดครับ
- การปฏิบัติตัวก่อนการผ่าตัดไส้ติ่ง ผู้ป่วยควรปฏิบัติดังนี้
- เมื่อมีอาการของไส้ติ่งอักเสบ ก่อนไปพบแพทย์ผู้ป่วยจะต้องงดอาหารและน้ำดื่มไว้ด้วยเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการผ่าตัดฉุกเฉิน (เพราะหากรับประทานอาหารมาก็จะต้องมารอให้กระเพาะว่างอีก 6 ชั่วโมงเพื่อความปลอดภัยของการดมยาสลบ ซึ่งการรอนานขนาดนั้นอาจจะทำให้ไส้ติ่งแตกไปแล้วก็ได้)
- ในกรณีที่มีอาการปวดท้องแต่ผู้ป่วยยังไม่ทราบสาเหตุ อย่าเพิ่งรีบกินยาแก้ปวด แต่ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยก่อนเสมอ เพราะยาแก้ปวดจะไปบดบังอาการปวดทำให้แพทย์แยกโรคได้ลำบาก และที่สำคัญห้ามทำการสวนอุจจาระหรือกินยาถ่ายยาระบาย เพราะอาจจะทำให้ไส้ติ่งแตกได้เร็วขึ้น
- งดการใช้ครีมและเครื่องสำอางทุกชนิด และทำร่างกายให้สะอาด อาบน้ำ สระผม ตัดเล็บ เพื่อให้แพทย์สังเกตอาการผิดปกติจากการขาดออกซิเจนได้
- ถอดของมีค่าหรือสิ่งแปลกปลอมจากธรรมชาติ (เช่น ถอดฟันปลอมออก เพื่อป้องกันการหลุดของฟันปลอมเข้าไปอุดที่หลอดลม)
- การปฏิบัติตัวก่อนการผ่าตัดไส้ติ่ง หลังการผ่าตัดไส้ติ่ง 24 ชั่วโมง ผู้ป่วยจะต้องทำการลุกจากเตียง เพื่อให้ลำไส้มีการเคลื่อนไหวเร็วขึ้น งดอาหารและน้ำหลังผ่าตัดวันแรก ส่วนการดูแลแผลผ่าตัด ห้ามให้ผ้าปิดแผลเปียกน้ำ ห้ามให้แผลโดนน้ำ ห้ามเกา และเวลาไอหรือจามให้ใช้มือประคองแผลไว้ด้วยเพื่อป้องกันแผลที่เย็บแยกออก ถ้าแผลยังไม่แห้งดีอย่าเพิ่งอาบน้ำ แต่ให้ใช้วิธีการเช็ดตัวแทน นอกจากนั้นคือการรับประทานยาตามที่แพทย์สั่งอย่างสม่ำเสมอ เน้นการรับประทานอาหารที่มีโปรตีนสูง เพราะจะช่วยให้แผลติดเร็วมากขึ้น นอกจากนั้นคือ การขับถ่ายอย่างสม่ำเสมอ และพักผ่อนให้เพียงพอ
- อาหารและโภชนาการสำหรับผู้ป่วยหลังการผ่าตัดไส้ติ่ง เป็นปกติที่หลังการผ่าตัดผู้ป่วยจะมีอาการอ่อนเพลียจากการเสียเลือด ซึ่งอาหารที่แพทย์จะจัดให้แก่ผู้ป่วยหลังผ่าตัดจะเป็นอาหารน้ำใสที่สามารถกลืนง่าย ไม่ต้องเคี้ยว เช่น น้ำซุปใส ๆ น้ำต้มผัก น้ำผลไม้ที่กรองเอาเนื้อออก เพื่อต้องการให้อวัยวะในระบบขับถ่ายทำงานน้อยที่สุด จะได้ไม่มีผลกระทบต่อแผลผ่าตัด แพทย์จะให้อาหารน้ำใส 2-3 มื้อแล้วจึงเปลี่ยนเป็นอาหารน้ำข้น 2-3 มื้อ เพื่อเป็นการทดสอบการทำงานของอวัยวะว่ายังทำงานได้เป็นปกติดีหรือไม่ หลังจากนั้นแพทย์จะให้อาหารอ่อนที่มีกากน้อย ย่อยง่าย รสชาติอุ่น ๆ เช่น ข้าวต้มปลา ข้าวต้มหมู โจ๊ก (เนื้อสัตว์ทุกชนิดจะต้องทำให้นุ่มและเปื่อยเท่านั้น) ผักที่ไม่แข็ง ผลไม้ที่นิ่ม ๆ ไม่มีเปลือกแข็งหรือมีใยมาก (เช่น กล้วยสุก มะละกอสุก มะม่วงสุก) ส่วนของหวานที่รับประทานได้แต่ไม่ควรเป็นขนมที่มีรสหวานจัด (เช่น สังขยา ไอศกรีม คัสตาร์ด เยลลี่ สาคูเปียก เป็นต้น) ส่วนอาหารที่ควรงดเว้น คือ แอลกอฮอล์ ชา กาแฟ และเครื่องดื่มที่มีสารกาเฟอีนทุกชนิด (การดูแลการให้อาหารแพทย์จะคำนึงถึงตัวผู้ป่วยเสมอ เพราะว่าอาหารเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องดูแล ถ้าผู้ป่วยรับประทานอาหารอ่อนได้แล้วไม่มีปัญหาเรื่องการย่อย แพทย์จะเปลี่ยนไปให้อาหารธรรมดา แต่ก็ยังคงกำหนดมิให้มีรสจัดมากหรือย่อยยาก เช่น เมูอาหารรสจัดที่มีเนื้อสัตว์เยอะ ๆ)
วิธีป้องกันไส้ติ่งอักเสบ
เนื่องจากยังบอกไม่ได้ชัดเจนว่ามีปัจจัยอะไรบ้างที่ทำให้เกิดโรคนี้ จึงไม่อาจแนะนำวิธีป้องกันโรคไส้ติ่งอักเสบได้อย่าง 100% แต่มีการศึกษาที่พบว่า ภาวะท้องผูกมีส่วนสัมพันธ์กับการเกิดไส้ติ่งอักเสบ โดยพบว่าผู้ป่วยไส้ติ่งอักเสบจะมีจำนวนครั้งในการถ่ายอุจจาระต่อสัปดาห์น้อยกว่ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญ และยังพบว่า ผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ใหญ่และมะเร็งไส้ตรงมักจะเป็นโรคไส้ติ่งอักเสบนำมาก่อน นอกจากนี้ยังมีผลการศึกษาหลายงานที่พบว่า การรับประทานอาหารที่มีกากใยต่ำจะมีส่วนในการทำให้เกิดโรคไส้ติ่งอักเสบ ซึ่งตรงกับข้อมูลที่ว่าการรับประทานอาหารที่มีกากใยต่ำจะทำให้มีช่วงเวลาในการบีบไล่อุจจาระนาน (พบว่าประชากรที่นิยมรับประทานอาหารพวกผักผลไม้มาก ๆ เช่น ชาวแอฟริกา จะมีอัตราการเป็นไส้ติ่งอักเสบน้อยกว่าประชากรในกลุ่มที่รับประทานผักผลไม้น้อย เช่น ชาวตะวันตก)
ดังนั้น วิธีที่อาจช่วยป้องกันโรคไส้ติ่งอักเสบได้คือ การพยายามรับประทานอาหารที่มีกากใยอย่างผักผลไม้ให้มาก ๆ ทุกวันเพื่อช่วยในการขับถ่าย (ป้องกันภาวะท้องผูก) และฝึกนิสัยให้มีเวลานั่งขับถ่ายเป็นประจำทุกวัน
เอกสารอ้างอิง
- หนังสือตำราการตรวจรักษาโรคทั่วไป 2. “ไส้ติ่งอักเสบ (Appendicitis)”. (นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ). หน้า 525-527.
- มูลนิธิหมอชาวบ้าน. นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่มที่ 301 คอลัมน์ : สารานุกรมทันโรค. “อาหารเป็นพิษ”. (นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.doctor.or.th. [26 ก.พ. 2017].
- หาหมอดอทคอม. “ไส้ติ่งอักเสบ (Appendicitis)”. (นพ.โอกาส ชาญเชาวน์กุล). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : haamor.com. [26 ก.พ. 2017].
- Siamhealth. “ไส้ติ่งอักเสบ (APPENDICITIS)”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.siamhealth.net. [26 ก.พ. 2017].
- MutualSelfcare. “โรคไส้ติ่งอักเสบ (Appendicitis)”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : mutualselfcare.org. [26 ก.พ. 2017].
- โรงพยาบาลพญาไท. “ไส้ติ่ง “ติ่ง” อวัยวะ เจ็บเล็ก ๆ ที่อาจส่ออันตรายถึงชีวิต”. (พญ.นรสรา วิทยาพิพัฒน์). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.phyathai.com. [27 ก.พ. 2017].
- วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี. “ไส้ติ่งอักเสบ”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : th.wikipedia.org. [27 ก.พ. 2017].
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)