ไลซีน
- ไลซีน (Lysine) คือหนึ่งในกรดอะมิโนชนิดหนึ่ง ซึ่งจัดเป็นกรดอะมิโนจำเป็นที่ร่างกายไม่สามารถสร้างเองได้ จำเป็นต้องได้รับจากสารอาหารอื่น ๆ โดยกรดอะมิโนชนิดนี้มีความสำคัญอย่างมากในการช่วยสร้างโปรตีนที่สำคัญต่อร่างกาย ร่างกายจึงต้องการกรดอะมิโนนี้เพื่อช่วยในการเจริญเติบโต เสริมสร้างภูมิต้านทาน ฮอร์โมน เอนไซม์ต่าง ๆ รวมไปถึงการซ่อมแซมเนื้อเยื่อด้วย
- ไลซีน พบได้ใน เนื้อสัตว์ ปลา นม ไข่ ชีส ยีสต์ ถั่วลิมา ผลิตภัณฑ์จากถั่วเหลือง รวมไปถึงอาหารที่มีโปรตีนสูงทุกชนิด
- คนส่วนใหญ่ได้รับกรดอะมิโนชนิดนี้ที่เพียงพออยู่แล้วในอาหารที่มีโปรตีนสูง แต่สำหรับผู้เป็นมังสวิรัติอาจมีความเสี่ยงที่ร่างกายจะขาดไลซีนได้ หากร่างกายได้รับโปรตีนชนิดนี้ไม่เพียงพอ เราสามารถรับรู้ถึงสัญญาณบางอย่างของการขาดไลซีน อย่างเช่น การเป็นโรคโลหิตจาง อาการเมื่อยล้า เบื่ออาหาร คลื่นไส้ และอาจทำให้เกิดโรคนิ่วในไต
ประโยชน์ของไลซีน
- ช่วยในการเจริญเติบโตของร่างกาย
- มีส่วนในการช่วยซ่อมแซมเนื้อเยื่อต่าง ๆ ของร่างกาย
- ช่วยเสริมสร้างภูมิต้านทาน ฮอร์โมน และเอนไซม์ต่าง ๆ ในร่างกาย
- ช่วยให้ร่างกายนำกรดไขมันไปเผาผลาญเป็นพลังงาน
- ช่วยเสริมสร้างสมาธิให้ดียิ่งขึ้น
- มีส่วนช่วยในการดูดซึมแคลเซียม
- ช่วยปรับสมดุลของระดับไนโตรเจน ช่วยให้หลอดเลือดแข็งแรง
- ช่วยป้องกันและรักษาโรคกระพรุน
- ช่วยรักษาและบรรเทาปัญหาด้านการสืบพันธุ์บางประการ
- ช่วยลดความถี่และป้องกันการเกิดโรคเริมหรือตุ่มใสที่ริมฝีปาก
- มีส่วนช่วยรักษาโรคงูสวัด
- ช่วยรักษาเด็กส่าไข้
- ช่วยรักษาอาการจากหัวใจขาดเลือด
คำแนะนำเกี่ยวกับไลซีน
- ผู้สูงอายุโดยเฉพาะอย่างยิ่งเพศชาย ร่างกายจะต้องการไลซีนมากกว่าผู้ที่อายุน้อย
- สำหรับผู้ที่รู้สึกเหนื่อย มีอาการเบื่อ ไม่มีสมาธิ มีอาการตาแดงเพราะเส้นเลือดฝอยแตก หรือมีอาการคลื่นไส้ วิงเวียน หรือผมร่วง หรืออยู่ในภาวะโลหิตจาง มีความเป็นไปได้ว่าร่างกายของคุณอาจขาดไลซีน
- แอลไลซีน (L-Lysine) เป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่มีวางจำหน่ายทั้งแบบเป็นเม็ดและแคปซูลในขนาดประมาณ 500 มิลลิกรัม
- ขนาดที่แนะนำให้รับประทานกันโดยทั่วไปคือประมาณ 1,000-2,000 มิลลิกรัมต่อวัน โดยรับประทานก่อนมื้ออาหารครึ่งชั่วโมง
- สำหรับผู้ที่เป็นโรคเริมควรรับประทานอาหารเสริมไลซีนในขนาดประมาณ 3,000-6,000 มิลลิกรัมต่อวันร่วมกับอาหารที่มีไลซีนสูงด้วย และในกรณีที่มีตุ่มน้ำใสหรือมีแผลพุพองที่ปากควรรับประทาน 500-1,000 มิลลิกรัมต่อวันในระหว่างมื้ออาหาร ซึ่งจะช่วยป้องกันอาการกำเริบของโรคได้ดีมาก
- เด็กอายุต่ำกว่า 10 ขวบไม่ควรรับประทานไลซีนเสริมอาหาร นอกจากจะได้รับคำแนะนำจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพราะอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงอันไม่พึงประสงค์ได้
- หญิงตั้งครรภ์หรือหญิงให้นมบุตร ควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญก่อนที่จะรับประทานไลซีนเสริมอาหาร
- สำหรับผู้ที่ใช้ยาปฏิชีวนะไม่ควรรับประทานไลซีนเสริมอาหาร
- ผู้ที่มีปัญหาเรื่องตับหรือไตไม่ควรรับประทานไลซีนเสริมอาหาร
แหล่งอ้างอิง : หนังสือวิตามินไบเบิล (ดร.เอิร์ล มินเดลล์)
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)