โรคไฟลามทุ่ง
ไฟลามทุ่ง หรือ เนื้อเยื่อใต้ผิวหนังชั้นตื้นอักเสบ (Erysipelas, St. Anthony’s fire) เป็นโรคติดเชื้อที่ผิวหนังซึ่งมีลักษณะเป็นผื่นแดงสด ลุกลามเร็วคล้ายไฟลามทุ่ง โดยเป็นการอักเสบของผิวหนังชั้นหนังแท้ (Dermis) และเนื้อเยื่อใต้ผิวหนังชั้นตื้น ๆ (Upper subcutaneous tissue) รวมทั้งท่อน้ำเหลืองที่อยู่ใกล้เคียง ซึ่งสาเหตุมาจากการติดเชื้อแบคทีเรียสเตรปโตคอคคัสกลุ่มเอ (Streptococcus) และสเตรปโตคอคคัสกลุ่มอื่น ๆ
โรคนี้มักพบได้ในผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ เช่น ในเด็กเล็ก ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยเบาหวาน ฯลฯ ส่วนความรุนแรงของอาการก็มีหลายระดับ ตั้งแต่เป็นไม่มากที่รักษาให้หายด้วยการกินยาปฏิชีวนะและดูแลตัวเอง ไปจนถึงอาการที่เป็นลุกลามจนมีไข้สูงและมีการติดเชื้อในกระแสเลือด
สาเหตุของไฟลามทุ่ง
ส่วนใหญ่เกิดจากเชื้อแบคทีเรียที่มีชื่อว่า “เบตาเฮโมโลติกสเตรปโตคอคคัสกลุ่มเอ” (group A beta-hemolytic streptococcus – GABHS) หรือที่มีอีกชื่อเรียกหนึ่งว่า “สเตรปโตคอคคัส ไพโอจีนัส” (Streptococcus pyogenes) และส่วนน้อยอาจเกิดจากเชื้อสเตรปโตคอคคัสกลุ่มอื่น หรือเชื้อแบคทีเรียชนิดอื่น โดยเชื้ออาจเข้าสู่ผิวหนังผ่านทางรอยถลอกหรือบาดแผล (เช่น แผลถลอก แผลจากการถูกของมีคมบาด รอยแกะเกา รอยแมลงกัด แผลผ่าตัด), รอยแยกของผิวหนังที่เกิดจากการบาดเจ็บหรือเป็นแผลที่บางครั้งเราอาจไม่ได้สังเกตเห็น, รอยแยกของผิวหนังที่เกิดจากการติดเชื้อรา, บริเวณที่มีเนื้อตายอยู่เดิม (เช่น แผลที่เท้าในผู้ป่วยเบาหวาน), บริเวณที่บวมเรื้อรัง (เช่น มือ เท้า แขน ขา ที่บวม) ฯลฯ ซึ่งเมื่อโรคเข้าสู่ผิวหนังชั้นหนังแท้แล้วก็จะทำให้เกิดการติดเชื้อลุกลามตามมา แต่ก็มีบางครั้งที่รอยแตกของผิวหนังเหล่านี้ได้หายไปแล้วเมื่อเกิดไฟลามทุ่งขึ้น
ผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงเกิดโรคไฟลามทุ่ง
- ผู้ที่มีภาวะภูมิคุ้มกันต้านทานโรคต่ำ เช่น ทารก, เด็กเล็ก, ผู้สูงอายุ, ผู้ที่ใช้ยาบางชนิด (โดยเฉพาะยากดภูมิคุ้มกันต้านทานโรค ยาสเตียรอยด์), ผู้ป่วยพิษสุราเรื้อรัง, ผู้ป่วยโรคมะเร็ง, ผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว (เช่น ผู้ป่วยเบาหวาน) เป็นต้น
- ผู้ป่วยที่มีภาวะอุดตันของหลอดเลือดดำ หรือท่อน้ำเหลืองอุดตัน (เช่น แขนบวมจากการฉายรังสีรักษา และ/หรือจากการผ่าตัดรักษาโรคมะเร็งเต้านม) หรือมีอาการบวมเรื้อรังหรือมีเนื้อตาย
- ผู้ที่เคยผ่าตัดหลอดเลือดดำที่ขา (เช่น โรคหลอดเลือดดำขอด) เคยผ่าตัดในอุ้งเชิงกราน (เช่น ผ่าตัดรักษามะเร็งปากมดลูก) หรือเคยผ่าตัดต่อมน้ำเหลืองขาหนีบ (เช่น ในผู้ป่วยโรคมะเร็งผิวหนังของขา)
อาการของไฟลามทุ่ง
อาการมักเกิดขึ้นอย่างเฉียบพลัน ผิวหนังที่เกิดรอยโรคจะมีลักษณะเป็นผื่นใหญ่แดงสด ปวด บวม และร้อน ถ้าใช้หลังมือคลำดูจะออกร้อนกว่าผิวหนังปกติ ต่อมาผื่นจะลุกลามขยายตัวออกไปโดยรอบอย่างรวดเร็วคล้ายไฟลามทุ่ง ผิวหนังในบริเวณนั้นจะนูนเป็นขอบแยกจากผิวหนังปกติอย่างชัดเจน (ผิวหนังจะบวมแข็งตึง) และมีลักษณะเป็นมันคล้ายเปลือกส้มหรือหนังหมู (Peau d’ orange) ถ้ากดตรงบริเวณนั้นสีจะจางลงและมีรอยบุ๋มเล็กน้อย ในระยะท้ายผื่นจะยุบตัวลงและค่อย ๆ จางหายไป ผิวหนังอาจลอกเป็นขุย และจะใช้เวลาประมาณ 2-3 สัปดาห์กว่าผื่นจะหายสนิท โดยไม่ทำให้เกิดแผลเป็น (ผื่นแดงที่แผ่เป็นแผ่นกว้างอย่างรวดเร็วนี้ เกิดจากพิษของเชื้อโรค ไม่ใช่เกิดจากตัวเชื้อโรคโดยตรง แม้ว่าเชื้อโรคจะถูกกำจัดจากการใช้ยารักษา แต่พิษที่ตกค้างอยู่ยังคงทำให้ผื่นลุกลามต่อไปได้อีก จึงเป็นที่มาของชื่อ “ไฟลามทุ่ง“)
นอกจากนั้น ยังมีอาการที่มักพบเกิดร่วมด้วยคือ อาการไข้ที่มักเกิดขึ้นอย่างเฉียบพลัน และในรายที่รุนแรงมักมีไข้สูง หนาวสั่น ปวดศีรษะ เบื่ออาหาร และอ่อนเพลียร่วมด้วย ซึ่งมักจะเกิดขึ้นภายใน 48 ชั่วโมงหลังการติดเชื้อ (มีบาดแผล)
ในบางรายอาจพบรอยโรคเป็นเส้นสีแดงเนื่องจากท่อน้ำเหลืองอักเสบ ก่อนที่จะพบรอยผื่นแดงที่แพร่กระจาย และอาจพบต่อมน้ำเหลืองที่บริเวณใกล้เคียงบวมโตและเจ็บด้วย ส่วนในรายที่เป็นรุนแรงอาจมีตุ่มน้ำพอง (Blister) ร่วมด้วย โดยจะมีน้ำเหลืองเยิ้ม แต่มักจะไม่เป็นหนองข้น (ถ้าเป็นหนองมักเกิดจากเนื้อเยื่อใต้ผิวหนังชั้นลึกอักเสบ)
ทั้งนี้ประมาณ 90% ของผู้ป่วยไฟลามทุ่ง มักพบผื่นจากการติดเชื้อที่บริเวณขาและเท้า ส่วนที่เหลืออีกประมาณ 2.5-10% อาจพบขึ้นที่บริเวณใบหน้า (อาจเป็นที่แก้มข้างเดียวหรือทั้งสองข้างก็ได้) รอบตา รอบหู แขน นิ้วมือ หรือนิ้วเท้า
อย่างไรก็ตาม ในผู้ป่วยที่มีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคต่ำ มีโรคประจำตัวที่มีอาการบวมร่วมด้วย (เช่น ขาบวมเรื้อรัง) หรือมีความผิดปกติของท่อน้ำเหลือง มักพบการกลับมาเป็นซ้ำได้อีกในตำแหน่งเดิมประมาณ 16-30% ถ้าเป็นโรคนี้บ่อย ๆ อาจทำให้ท่อน้ำเหลืองเกิดการพองตัวอย่างถาวรและเกิดอาการบวมของแขนและขาได้ ถ้าเป็นที่ขาหรือเท้าจะทำให้ผิวหนังในบริเวณนั้นมีลักษณะขรุขระ
ภาวะแทรกซ้อนของไฟลามทุ่ง
- ถ้าปล่อยทิ้งไว้หรือได้รับการรักษาช้าเกินไป เชื้ออาจลุกลามเข้ากระแสเลือดจนเกิดภาวะโลหิตเป็นพิษ ซึ่งหากพบในเด็กเล็ก ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยเบาหวาน หรือในผู้ที่มีภาวะภูมิคุ้มกันต้านทานโรคต่ำ อาจเป็นอันตรายจนถึงขั้นเสียชีวิตได้
- ในบางรายเชื้ออาจลุกลามแพร่กระจายไปที่หัวใจกลายเป็นเยื่อบุหัวใจอักเสบ, ลุกลามไปที่ข้อกลายเป็นข้ออักเสบชนิดเป็นหนอง, ลุกลามเข้าไปตามระบบน้ำเหลืองสู่ต่อมน้ำเหลือง เช่น ต่อมน้ำเหลืองบริเวณขาหนีบ จนทำให้ต่อมน้ำเหลืองเหล่านั้นเกิดอาการอักเสบบวมเจ็บได้
- การติดเชื้อที่ผิวหนัง ถ้าลุกลามอย่างรุนแรง อาจทำให้เกิดเป็นแผลหนองและหลอดเลือดอักเสบ
- ในเด็กอายุต่ำกว่า 10 ปี อาจกลายเป็นหน่วยไตอักเสบเฉียบพลัน (Acute glomerulonephritis) ทำให้มีอาการไข้สูง บวมทั้งตัว ปัสสาวะมีสีแดงคล้ายสีน้ำล้างเนื้อ
การวินิจฉัยโรคไฟลามทุ่ง
ในกรณีที่มีอาการไม่รุนแรง แพทย์สามารถวินิจฉัยโรคไฟลามทุ่งได้โดยดูจากอาการ การตรวจร่างกาย การตรวจลักษณะของผื่น และจากประวัติทางการแพทย์ต่าง ๆ ซึ่งผู้ป่วยมักมีประวัติเกิดบาดแผลที่ผิวหนังบริเวณที่จะเกิดไฟลามทุ่งมาก่อน แต่ในบางคนอาจไม่มีประวัติดังกล่าวชัดเจนก็ได้ โดยรอยโรคที่พบจะมีลักษณะเป็นผื่นแดงร้อน ปวด บวม ลุกลามเร็ว มีขอบชัดเจน ส่วนในกรณีที่ยังไม่แน่ใจหรือผู้ป่วยมีอาการรุนแรงอาจต้องทำการเพาะเชื้อแบคทีเรียจากแผลและเลือด เพื่อใช้ในการระบุชนิดของเชื้อแบคทีเรีย นอกจากนั้นยังอาจมีการตรวจเลือดซีบีซี (CBC) พบภาวะเม็ดเลือดขาวสูง (Leukocytosis) ซึ่งจะช่วยบอกได้ว่ามีการติดเชื้อแบคทีเรียในร่างกาย
ผิวหนังอักเสบเป็นรอยผื่นแดง ปวด ร้อน อาจเกิดจากสาเหตุอื่น ๆ (ที่ไม่ใช่ไฟลามทุ่ง) ที่พบบ่อย ได้แก่
- เนื้อเยื่อใต้ผิวหนังชั้นลึกอักเสบ (Cellulitis) ที่มีสาเหตุและลักษณะอาการแบบเดียวกับไฟลามทุ่ง แต่จะกินลึกถึงเนื้อเยื่อใต้ผิวหนังชั้นที่อยู่ลึกกว่า แต่ผื่นจะมีขอบไม่ชัดเจนเหมือนไฟลามทุ่ง และอาจพบเป็นหนองหรือผิวหนังกลายเป็นเนื้อตายร่วมด้วย
- ลมพิษ (Urticaria) ผื่นจะมีลักษณะนูนแดงและคัน แต่ไม่ปวด และจะขึ้นพร้อมกันทั่วร่างกาย โดยจะเกิดขึ้นแบบฉับพลันหลังมีอาการแพ้ และผู้ป่วยมักจะไม่มีอาการไข้เกิดขึ้นเหมือนไฟลามทุ่ง
- งูสวัด (Herpes zoster) ผู้ป่วยจะมีอาการเป็นผื่นแดง ปวดแสบปวดร้อน และมีตุ่มน้ำพุขึ้นเรียงเป็นแนวยาวตามแนวเส้นประสาท ซึ่งมักเกิดขึ้นเพียงข้างใดข้างหนึ่งของใบหน้า ชายโครง ต้นแขน หรือขา ต่อมาตุ่มจะแห้งตกสะเก็ด และอาการจะทุเลาลงภายใน 2-3 ชั่วโมง
- เกาต์ (Gout) ผู้ป่วยจะมีอาการปวดข้อ ข้อบวมแดงร้อน มักเป็นที่ข้อหัวแม่เท้าหรือข้อเท้าเพียงข้อใดข้อหนึ่ง ผู้ป่วยอาจมีไข้ร่วมด้วย อาการของโรคนี้มักจะเกิดขึ้นหลังจากกินเลี้ยง ดื่มแอลกอฮอล์ หรือรับประทานอาหารที่มีกรดยูริกสูง
วิธีรักษาโรคไฟลามทุ่ง
- ผู้ป่วยควรปฏิบัติตัวตามคำแนะนำของแพทย์ โดยเฉพาะในเรื่องการดูแลแผลหรือผื่น รวมไปถึงการรักษาสุขอนามัยพื้นฐานเพื่อช่วยให้ร่างกายแข็งแรงและลดความรุนแรงของโรค และไปพบแพทย์ตามนัดอยู่เสมอ
- แพทย์จะแนะนำให้ผู้ป่วยพักผ่อนให้มาก ๆ พยายามอย่าเคลื่อนไหวส่วนที่อักเสบ เดินให้น้อยลง ควรยกแขนหรือขาส่วนที่อักเสบให้สูงขึ้นกว่าระดับหัวใจเพื่อลดอาการปวดบวม หากมีอาการบวมหรือปวดมากให้ใช้วิธีประคบเย็นวันละ 4 ครั้ง เป็นเวลา 48 ชั่วโมง เพื่อช่วยให้การบวมของผื่นยุบตัวเร็วขึ้น และในบางรายอาจต้องใช้ผ้ายืดพันด้วย (Elastic bandage) ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับคำแนะนำของแพทย์ แต่ถ้ามีอาการปวดหรือมีไข้ ให้กินยาแก้ปวดลดไข้อย่างยาพาราเซตามอล หรือถ้ารับประทานอาหารหรือดื่มน้ำได้น้อยอาจจำเป็นต้องให้สารน้ำทางหลอดเลือด (ผู้ป่วยสามารถรับประทานอาหารได้ตามปกติ เพราะไม่มีอาหารแสลงสำหรับโรคนี้ แต่ควรเน้นการรับประทานอาหารจำพวกโปรตีน เช่น เนื้อ นม ไข่ ให้มาก ๆ)
- ในผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรง สามารถรักษาโดยการกินยาปฏิชีวนะเพื่อฆ่าเชื้อแบคทีเรียและรักษาแบบผู้ป่วยนอกได้ โดยแพทย์จะให้กินยาปฏิชีวนะ เช่น เพนิซิลลินวี (Penicillin V), อิริโทรมัยซิน (Erythromycin), โคอะม็อกซิคลาฟ (Co-amoxiclav) ฯลฯ ทั้งนี้ระยะเวลาในการให้ยาปฏิชีวนะโดยทั่วไปจะอยู่ที่ประมาณ 2 สัปดาห์ ผู้ป่วยต้องกินยาปฏิชีวนะตามที่แพทย์สั่งให้ครบถ้วน ถูกต้อง ไม่หยุดยาเองเมื่ออาการดีขึ้นหรือหันไปใช้วิธีการรักษาอื่น ๆ (เช่น การใช้สมุนไพร) และต้องกินยาให้หมดตามที่แพทย์สั่ง โดยทั่วไปแล้วหากได้รับการรักษาอย่างถูกต้องตั้งแต่แรก อาการมักจะทุเลาลงภายใน 24-72 ชั่วโมง คือ ไข้ลด อาการปวดหรือร้อนของผื่นลดลง ส่วนผื่นอาจจะยังลุกลามต่อไป แต่จะค่อย ๆ ยุบตัวลงหรือหายไปเองภายใน 2-3 สัปดาห์หลังจากได้รับยาปฏิชีวนะ แต่ผิวหนังส่วนที่เป็นรอยโรคอาจลอกเป็นขุย ๆ โดยที่ไม่ทำให้เกิดแผลเป็นแต่อย่างใด ส่วนในรายที่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้องช้าเกินไปหรือเป็นผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคต่ำ ก็อาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรงจนเป็นอันตรายได้
- ในรายที่อาการยังไม่ดีขึ้นภายใน 3-5 วัน หรือมีอาการรุนแรง ผื่นยังลามหรือยังคงมีไข้ หรือพบในผู้ที่เป็นเบาหวานหรือผู้ที่มีภาวะภูมิคุ้มกันต้านทานโรคต่ำ หรือสงสัยว่ามีภาวะโลหิตเป็นพิษแทรกซ้อน ควรรีบไปพบแพทย์ก่อนนัดเพื่อประเมินอาการ ถ้าเป็นมากแพทย์จะรับตัวไว้รักษาในโรงพยาบาลและฉีดยาปฏิชีวนะอย่างยาเพนิซิลลินวี (Penicillin V) ในขนาด 1-2 ล้านยูนิต เข้าทางหลอดเลือดดำทุก ๆ 4-6 ชั่วโมง จนกว่าอาการจะทุเลาแล้วจึงค่อยเปลี่ยนไปใช้ยาปฏิชีวนะแบบกิน
- สมุนไพรรักษาโรคไฟลามทุ่ง มีอยู่ด้วยกันหลายชนิด แต่ไม่แนะนำให้ใช้วิธีนี้จนกว่าจะได้รับการวินิจฉัยโรคและคำแนะนำจากแพทย์ (ข้อจากฐานข้อมูลสมุนไพรในเว็บไซต์) ได้แก่
- เสลดพังพอนตัวผู้ (Barleria lupulina Lindl.) หรือ เสลดพังพอนตัวเมีย (Clinacanthus nutans (Burm.f.) Lindau) ใช้ใบสดประมาณ 5-10 ใบ นำมาขยี้หรือตำแล้วทาบริเวณที่เป็น
- กรดน้ำ (Scoparia dulcis Linn.) ทั้งต้นมีสรรพคุณเป็นยาแก้ไฟลามทุ่งหรือเชื้อไวรัสตามผิวหนัง (ไม่ระบุวิธีใช้)
- กฤษณา (Aquilaria crassna Pierre ex Lecomte) ในพระคัมภีร์มุจฉาปักขันทิกา กล่าวถึงสมุนไพรกฤษณาว่ามีสรรพคุณช่วยบำรุงโลหิต แก้โลหิตพิหาร ช่วยรักษาโรคฟัน ไฟลามทุ่ง (ไม่ระบุส่วนที่ใช้และวิธีใช้)
- ก้างปลาเครือ (Phyllanthus reticulatus Poir.) ใช้รากฝนทาบริเวณที่เป็น
- เขยตาย (Glycosmis pentaphylla (Retz.) DC.) ใช้ใบสดนำมาขยี้หรือบดผสมกับเหล้าขาวหรือแอลกอฮอล์หรือน้ำมะนาว ใช้เป็นยาทารักษาไฟลามทุ่ง
- ชิงช้าชาลี (Tinospora baenzigeri Forman) ใช้ใบอ่อนผสมกับน้ำนมทาแก้ไฟลามทุ่ง
- เจตมูลเพลิงขาว (Plumbago zeylanica L.) ใช้ใบสดนำมาตำแล้วเอาผ้าก๊อซห่อ ใช้พอกบริเวณที่เป็นจนกระทั่งหาย
- ผักคราดหัวแหวน (Acmella oleracea (L.) R.K.Jansen) ใช้ใบและลำต้นนำมาตำให้ละเอียดแล้วนำไปผสมกับเหล้าโรง ใช้รับประทานวันละ 1 ครั้ง ส่วนกากที่เกลือใช้พอกบริเวณที่เป็นได้ตลอดวัน
- ผักชี (Coriandrum sativum L.) ใช้ต้นสดนำมาหั่นเป็นฝอย ๆ ใส่ลงไปในเหล้าแล้วต้มให้เดือด นำมาใช้ทาบริเวณที่เป็น
- ผักเบี้ยใหญ่ (Portulaca oleracea L.) ใช้ใบสดตำพอกบริเวณที่เป็น
- บัวบก (Centella asiatica (L.) Urb.) ใช้ตำพอกรักษาความร้อนบวมของโรคไฟลามทุ่ง
- พญาท้าวเอว (Oxyceros bispinosus (Griff.) Tirveng.) ใช้ลำต้นนำมาฝนกับน้ำปูนใสกินเป็นยาไฟลามทุ่ง
- หลิว (Salix babylonica L.) ใช้กิ่งแห้งนำมาเผาไฟให้เป็นเถ้า แล้วเอาน้ำผสมใช้เป็นยาทารักษาบริเวณที่เป็น
- หญ้างวงช้าง (Heliotropium indicum L.) สมุนไพรชนิดนี้ในประเทศอินเดียนอกจากจะใช้เป็นยารักษาโรคผิวหนังแล้ว ยังใช้เป็นยาแก้แมลงสัตว์กัดต่อย แก้กลากเกลื้อน และไฟลามทุ่งด้วย (ไม่ระบุส่วนที่ใช้)
- ว่านมหากาฬ (Gynura pseudochina (L.) DC.) ใช้ทั้งต้น ใช้เป็นยาแก้โรคไฟลามทุ่ง (ไม่ระบุวิธีใช้)
- โมกหลวง (Holarrhena pubescens Wall. ex G.Don) ใช้เมล็ดเป็นยาแก้ไฟลามทุ่ง (ไม่ระบุวิธีใช้)
- น้ำเต้า (Lagenaria siceraria (Molina) Standl.) ใช้ใบเป็นยาแก้ไฟลามทุ่ง (ไม่ระบุวิธีใช้)
วิธีป้องกันโรคไฟลามทุ่ง
- ควรสังเกตและระวังอย่าให้เกิดบาดแผลที่ผิวหนังซึ่งเป็นทางของเชื้อแบคทีเรีย โดยเฉพาะในผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงที่อาจเกิดการติดเชื้อแบคทีเรียที่นำไปสู่โรคไฟลามทุ่งได้ง่าย
- ถ้ามีแผลเกิดขึ้นให้รีบรักษาความสะอาดด้วยการล้างแผลด้วยน้ำสบู่และทาด้วยขี้ผึ้งที่เข้ายาปฏิชีวนะ ถ้าแผลยังไม่ดีขึ้นภายใน 2-3 วันหลังการดูแลตัวเองควรรีบไปพบแพทย์
- หากพบผิวหนังอักเสบ เป็นผื่นแดงร้อน ปวดบวม มีขอบขึ้นชัดเจน หรือมีลักษณะเป็นเส้นสีแดง และ/หรือมีไข้ร่วมด้วย ให้สงสัยไว้ก่อนว่าเป็นอาการของโรคไฟลามทุ่ง โดยเฉพาะบริเวณขาและเท้าที่พบได้บ่อย ๆ ผู้ป่วยควรรีบไปพบแพทย์เพื่อทำการวินิจฉัยและได้รับการรักษาตั้งแต่เนิ่น ๆ เพราะถ้าปล่อยทิ้งไว้หรือเป็นผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคต่ำ เช่น เด็กเล็ก ผู้สูงอายุ ผู้ที่กินยากดภูมิคุ้มกัน ผู้ที่มีโรคประจำตัว ฯลฯ อาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรงถึงเป็นอันตรายได้
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
- โรคงูสวัด (Shingles) 12 วิธีรักษางูสวัด & 46 สมุนไพรรักษางูสวัด !
- ลมพิษ อาการ สาเหตุ และการรักษาโรคลมพิษ 11 วิธี !!
เอกสารอ้างอิง
- หนังสือตำราการตรวจรักษาโรคทั่วไป 2. “ไฟลามทุ่ง (Erysipelas)”. (นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ). หน้า 991-992.
- หาหมอดอทคอม. “ไฟลามทุ่ง (Erysipelas)”. (พญ.ชลธิรศน์ ศรีเกษตรสรากุล). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : haamor.com. [26 เม.ย. 2016].
ภาพประกอบ : www.gponline.com, diseasespictures.com, healthh.com, www.dermaamin.com, commons.wikimedia.org (by Evanherk)
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)