ไทรอยด์เป็นพิษ (ไฮเปอร์ไทรอยด์) อาการ, สาเหตุ, การรักษา ฯลฯ

ไทรอยด์เป็นพิษ (ไฮเปอร์ไทรอยด์) อาการ, สาเหตุ, การรักษา ฯลฯ

ไฮเปอร์ไทรอยด์

โรคไฮเปอร์ไทรอยด์ หรือ ภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานเกิน (ภาษาอังกฤษ : Hyperthyroidism หรือ Overactive Thyroid) คือ ภาวะที่ต่อมไทรอยด์* มีการหลั่งฮอร์โมนไทรอยด์ออกมามากเกินไป กระตุ้นให้อวัยวะทั่วร่างกายมีการเผาผลาญสูงกว่าปกติ เป็นสาเหตุทำให้เกิดอาการเจ็บป่วย ๆ ต่างขึ้นตามมา เช่น เหนื่อยง่าย ใจสั่น ขี้ร้อนง่าย เหงื่อออกมาก หงุดหงิด นอนไม่หลับ น้ำหนักตัวลดลงอย่างรวดเร็วแบบผิดปกติ เป็นต้น

หมายเหตุ : ต่อมไทรอยด์ (Thyroid gland) เป็นต่อมไร้ท่อที่อยู่ด้านหน้าของลำคอ โดยอยู่ด้านข้างและใต้ต่อกระดูกอ่อนไทรอยด์ (Thyroid cartilage) มีรูปร่างคล้ายผีเสื้อ ประกอบไปด้วย 2 กลีบใหญ่ คือ กลีบด้านซ้ายและด้านขวาที่แผ่ออกทางด้านข้างและคลุมพื้นที่บริเวณด้านหน้าและด้านข้างของหลอดลม

โดยต่อมไทรอยด์จะทำหน้าที่สร้างฮอร์โมนสำคัญ 3 ชนิด คือ ไทรอกซีน หรือ ที4 (Thyroxine – T4), ไตรไอโอโดไทโรนีน หรือ ที3 (Triiodothyronine – T3) และแคลซิโทนิน (Calcitonin) ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่มีความสำคัญน้อยกว่าฮอร์โมนไทรอกซีนและฮอร์โมนไตรไอโอโดไทโรนีนอย่างมาก ดังนั้น โดยทั่วไปเมื่อกล่าวถึงฮอร์โมนไทรอยด์จึงมักหมายถึงเฉพาะฮอร์โมน 2 ชนิดนี้ เพราะฮอร์โมนทั้ง 2 ชนิดนี้จะมีหน้าที่สำคัญมาก คือ ควบคุมดูแลการเผาผลาญหรือใช้พลังงานทั้งหมดจากอาหารและจากออกซิเจน หรือที่เรียกว่าเมตาบอลิซึม (Metabolism) ของเซลล์ต่าง ๆ เพื่อการเจริญเติบโต เพื่อการทำงาน เพื่อซ่อมแซมส่วนที่บาดเจ็บสึกหรอ และช่วยควบคุมอุณหภูมิของร่างกาย (ส่วนฮอร์โมนแคลซิโทนินนั้นจะมีหน้าที่แค่ช่วยควบคุมระดับแคลเซียมและฟอสฟอรัสในระบบไหลเวียนของเลือดให้สมดุล) ซึ่งถ้าหากเกิดความผิดปกติจนทำให้ต่อมไทรอยด์ทำงานมากเกินไป T4 และ T3 ก็จะถูกผลิตออกมามากจนกลายเป็นพิษ

ต่อมไทรอยด์เป็นต่อมที่ทำงานโดยอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของต่อมใต้สมอง (Pituitary gland) และของสมองส่วนไฮโปทาลามัส (Hypothalamus) ซึ่งทั้งต่อมใต้สมองและสมองไฮโปทาลามัสยังควบคุมการทำงานของอวัยวะอื่น ๆ ด้วย เช่น ต่อมหมวกไต อัณฑะ และรังไข่ และยังมีความสัมพันธ์กับอารมณ์และจิตใจ ดังนั้น การทำงานของต่อมไทรอยด์ รวมทั้งภาวะผิดปกติต่าง ๆ ของต่อมไทรอยด์จึงมีความสัมพันธ์กับการทำงานและโรคต่าง ๆ ของอวัยวะเหล่านั้น รวมถึงสัมพันธ์กับอารมณ์และจิตใจด้วย

ไทรอยด์เป็นพิษ

โรคไทรอยด์เป็นพิษ, ต่อมไทรอยด์เป็นพิษ หรือ ภาวะพิษจากไทรอยด์ (ภาษาอังกฤษ : Thyrotoxicosis) หมายถึง อาการเจ็บป่วยอันเนื่องมาจากภาวะมีฮอร์โมนไทรอยด์มากเกินดังกล่าว ซึ่งอาจเกิดจากภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานเกิน (ไฮเปอร์ไทรอยด์) หรือเกิดจากภาวะอื่น ๆ ก็ได้ และเป็นความผิดปกติที่พบได้บ่อย โดยพบได้ในผู้หญิงมากกว่าผู้ชายประมาณ 5-10 เท่า

คอพอกเป็นพิษ

โรคคอพอกเป็นพิษ (ภาษาอังกฤษ : Toxic goiter) หมายถึง ผู้ที่มีอาการคอพอก (ต่อมไทรอยด์โต) ซึ่งมีการหลั่งฮอร์โมนไทรอยด์มากเกิน และเกิดภาวะพิษจากไทรอยด์

สาเหตุของไทรอยด์เป็นพิษ

สาเหตุของไทรอยด์เป็นพิษเกิดจากการที่ต่อมไทรอยด์ทำงานมากผิดปกติ จนทำให้ร่างกายมีปริมาณของของฮอร์โมนไทรอยด์มากเกินความต้องการของร่างกายและมีสภาวะเป็นพิษจนส่งผลต่อร่างกายในด้านต่าง ๆ โดยสาเหตุการเกิดนั้นมีได้หลากหลายสาเหตุ ดังนี้

  • โรคเกรฟส์ หรือ โรคคอพอกตาโปน (Graves’ disease) เป็นสาเหตุที่พบได้บ่อยที่สุดประมาณ 60-80% ของผู้ป่วยไทรอยด์เป็นพิษทั้งหมด เป็นโรคที่พบได้มากในวัยรุ่นและวัยกลางคน (คนที่อายุประมาณ 20-40 ปี) พบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชายประมาณ 5-10 เท่า สาเหตุของการเกิดโรคยังไม่ทราบแน่ชัดว่าเกิดจากอะไร แต่พบว่ามีความสัมพันธ์กับเพศ (เพราะพบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย) และกรรมพันธุ์ (เพราะพบว่าผู้ป่วยบางรายมีประวัติพ่อแม่พี่น้องเป็นโรคนี้ด้วย) การสูบบุหรี่จะยิ่งเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นโรคนี้มากขึ้น นอกจากนี้ยังพบด้วยว่า ความเครียดก็มีส่วนกระตุ้นให้โรคกำเริบได้ ผู้ป่วยมักมีต่อมไทรอยด์โตลักษณะแบบกระจายและมักมีอาการตาโปนร่วมด้วย โรคนี้จัดเป็นโรคภูมิต้านตนเอง (Autoimmune disease) ชนิดหนึ่ง ซึ่งพบว่ามีการสร้างสารภูมิต้านทานต่อไทรอยด์ (Thyroid antibody) ซึ่งมีอยู่หลายชนิด ที่สำคัญได้แก่ Thyroid-stimulating immunoglobulin (TSI) ซึ่งจะไปจับกับตัวรับฮอร์โมนกระตุ้นไทรอยด์หรือทีเอสเอช (Thyroid-stimulating hormone : TSH) ที่ต่อมไทรอยด์ กระตุ้นให้ต่อมไทรอยด์หลั่งฮอร์โมนออกมาโดยอยู่นอกเหนือการควบคุมของต่อมใต้สมอง* ทำให้มีฮอร์โมนไทรอยด์มากเกินจนเกิดภาวะไทรอยด์เป็นพิษ โรคนี้มักเป็นเรื้อรัง ผู้ป่วยบางรายอาจมีระยะสงบ (หายจากอาการเจ็บป่วย) แต่ก็อาจกำเริบได้ใหม่
    • ผู้ป่วยที่เป็นโรคเกรฟส์จะมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคภูมิต้านตนเองอื่น ๆ เช่น เบาหวานชนิดที่ 1 (Type 1 Diabetes mellitus), โรคแอดดิสัน (Addison’s disease), ไมแอสทีเนียเกรวิส (Mysathenia gravis), ภาวะอัมพาตครั้งคราวจากโพแทสเซียมในเลือดต่ำ (Hypokalemia), ผมร่วงเป็นหย่อม เป็นต้น
  • คอพอกเป็นพิษชนิดหลายปุ่ม (Toxic multinodular goiter) ซึ่งมีชื่อเรียกว่า “โรคพลัมเมอร์” (Plummer’s disease) เป็นโรคที่มักพบในคนอายุมากกว่า 40 ปี ผู้ป่วยจะมีอาการคอพอกในลักษณะโตเป็นปุ่มหลายปุ่ม มีการหลั่งฮอร์โมนไทรอยด์โดยอยู่นอกเหนือการควบคุมของต่อมใต้สมอง
  • เนื้องอกไทรอยด์ชนิดเป็นพิษ (Toxic thyroid adenoma) เป็นภาวะที่พบได้น้อยกว่า 2 ชนิดแรก ต่อมไทรอยด์จะมีลักษณะโตเป็นก้อนเนื้องอกเดี่ยวขนาดมากกว่า 2.5 เซนติเมตร ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดการหลั่งฮอร์โมนไทรอยด์มากขึ้นโดยอยู่นอกเหนือการควบคุมของต่อมใต้สมองเช่นกัน
  • การอักเสบของต่อมไทรอยด์ (Thyroiditis) ในระยะแรกเนื้อเยื่อที่อักเสบจะมีการปล่อยฮอร์โมนไทรอยด์ที่สะสมอยู่ในต่อมไทรอยด์ (ในปริมาณที่สร้างตามปกติ) ออกมาในกระแสเลือดมากกว่าปกติ ทำให้เกิดภาวะไทรอยด์เป็นพิษขึ้นมา ส่วนใหญ่มักจะเป็นอยู่ชั่วระยะเวลาหนึ่ง หลังจากนั้นอาจมีภาวะขาดไทรอยด์ (Hypothyroidism) อย่างถาวรตามมา
  • สาเหตุอื่น ๆ ที่พบได้น้อย เช่น
    1. การได้รับสารไอโอดีนมากเกินไป เนื่องจากสารไอโอดีนเป็นส่วนประกอบสำคัญในการผลิตฮอร์โมนไทรอยด์ ซึ่งสารไอโอดีนที่ว่านี้อาจอยู่ในอาหารหรือยาที่บริโภคก็ได้ เมื่อได้รับเข้าไปมากเกินไปก็จะไปกระตุ้นให้ต่อมไทรอยด์ทำงานเกินได้
    2. ผลข้างเคียงจากยาบางชนิด ยาที่มีส่วนประกอบของไอโอดีนบางชนิด เช่น ยาอะมิโอดาโรน (Amiodarone) ซึ่งเป็นยารักษาโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ หากใช้ยานี้ในขนาดสูงอาจไปกระตุ้นให้ต่อมไทรอยด์ทำงานมากขึ้นและอาจทำให้ต่อมไทรอยด์อักเสบจนส่งผลให้เกิดภาวะไทรอยด์เป็นพิษได้ ซึ่งในกรณีนี้จะพบได้ประมาณ 2.5% ของผู้ที่ใช้ยานี้
    3. การใช้ยาฮอร์โมนไทรอยด์ คือ ยาเลโวไทรอกซีน (Levothyroxine) หรือที่นิยมเรียกกันสั้น ๆ ว่า “ไทรอกซีน” (Thyroxine) หรือชื่อทางการค้าที่รู้จักกันดี คือ “เอลทรอกซิน” (Eltroxin™) ซึ่งเป็นการใช้ยานี้ในขนาดสูงเพื่อการบำบัดโรค เช่น การใช้รักษาภาวะขาดไทรอยด์ ปุ่มไทรอยด์ เป็นต้น
    4. เนื้องอกต่อมใต้สมอง ที่ทำให้มีการหลั่งฮอร์โมนกระตุ้นไทรอยด์มากเกิน
    5. เนื้องอกรังไข่ชนิด Dermoid cyst ซึ่งบางรายอาจมีเนื้อเยื่อไทรอยด์ที่สามารถหลั่งฮอร์โมนไทรอยด์ออกมาในกระแสเลือดจนทำให้เกิดภาวะไทรอยด์เป็นพิษได้
    6. ครรภ์ไข่ปลาอุก (Molar pregnancy) ที่มีการหลั่งฮอร์โมนเอชซีจี (HCG) ออกมาจำนวนมาก ซึ่งสามารถไปกระตุ้นให้ต่อมไทรอยด์ทำงานเกินได้

หมายเหตุ : โดยปกติแล้วต่อมไทรอยด์จะสร้างฮอร์โมนภายใต้การควบคุมของต่อมใต้สมอง กล่าวคือ ถ้าต่อมไทรอยด์มีการหลั่งฮอร์โมนไทรอยด์มากเกินไป ฮอร์โมนไทรอยด์จะไปยับยั้งต่อมใต้สมองให้ลดการหลั่งฮอร์โมนกระตุ้นต่อมไทรอยด์ ทำให้ต่อมไทรอยด์หลั่งฮอร์โมนลดลงสู่ระดับปกติ แต่ถ้าต่อมไทรอยด์ทำงานได้น้อย ต่อมใต้สมองจะหลั่งฮอร์โมนกระตุ้นต่อมไทรอยด์ (TSH) ออกมากระตุ้นให้ต่อมไทรอยด์ทำงานมากขึ้น

อาการของไทรอยด์เป็นพิษ

อาการไทรอยด์เป็นพิษค่อนข้างคลุมเครือ* และคล้ายกับอาการเจ็บป่วยอื่น ๆ ทั้งนี้หากผู้ป่วยมีภาวะไทรอยด์เป็นพิษที่ไม่รุนแรงนักก็อาจไม่มีอาการแสดงใด ๆ ก็ได้ โดยเฉพาะในผู้สูงอายุที่อาการมักไม่ค่อยแสดงออกอย่างชัดเจนมากนัก

โดยอาการที่พบได้มากที่สุดในคนที่มีอาการไทรอยด์เป็นพิษคือ อาการคอพอก ซึ่งเป็นอาการที่ต่อมไทรอยด์โตขึ้น ผู้ป่วยจะรู้สึกหรือเห็นก้อนขนาดใหญ่ที่บริเวณคอ นอกจากนี้ยังมีอาการอื่น ๆ ที่เกิดขึ้นจากโรคไทรอยด์เป็นพิษได้ เช่น

  • อาการเหนื่อยง่าย อ่อนเพลีย นอนไม่หลับ ใจหวิว ใจสั่น มือสั่น (โดยเฉพาะอย่างยิ่งเวลาทำงานที่ต้องใช้ความละเอียด เช่น งานฝีมือ เขียนหนังสือ) อาจมีอาการเจ็บหน้าอก
  • มักจะขี้ร้อน คือ ชอบอากาศเย็นมากกว่าอากาศร้อน เหงื่อออกง่าย ฝ่ามือมีเหงื่อชุ่มตลอดเวลา
  • ผู้ป่วยมักจะมีลักษณะอยู่ไม่สุข ชอบทำโน่นทำนี่ บางทีดูเป็นขี้ตื่น หรือมีท่าทางหลุกหลิก หรืออาจมีอารมณ์แปรปรวน หงุดหงิด ฉุนเฉียว โมโหง่าย นอนไม่หลับ วิตกกังวล หรือมีอารมณ์ซึมเศร้า
  • น้ำหนักตัวของผู้ป่วยจะลดลงอย่างรวดเร็ว โดยที่ผู้ป่วยยังกินได้ตามปกติหรืออาจกินจุมากขึ้นกว่าเดิมด้วยซ้ำ ทั้งนี้เป็นเพราะร่างกายมีการเผาผลาญอาหารมาก (แต่ผู้ป่วยบางรายอาจกินมากขึ้นจนน้ำหนักตัวไม่ลดลงหรือมีน้ำหนักตัวมากขึ้นก็ได้)
  • ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการถ่ายเหลวบ่อยคล้ายท้องเสีย หรือคลื่นไส้อาเจียน
  • บางรายอาจมีอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรง แขนขาไม่มีแรง (โดยเฉพาะบริเวณต้นขาและต้นแขน) กลืนลำบาก หรือมีภาวะอัมพาตเป็นครั้งคราวจากโพแทสเซียมในเลือดต่ำ (Hypokalemia)
  • ผู้ป่วยหญิงบางรายอาจมีประจำเดือนผิดปกติ ประจำเดือนมีสีจาง มีประจำเดือนน้อย หรือประจำเดือนมาไม่สม่ำเสมอ หรือประจำเดือนขาด
  • อาการอื่น ๆ เช่น สุขภาพผมเปลี่ยนไป (ผมเปราะบางขาดง่าย และมีอาการผมร่วง), เล็บยาวผิดปกติ, ผิวหนังบาง, มีอาการคัน เป็นต้น

ไฮเปอร์ไทรอยด์อาการ

ทั้งนี้หากเริ่มมีอาการเหล่านี้เกิดขึ้น ควรรีบไปพบแพทย์ เพราะอาการเหล่านี้อาจเป็นสัญญาณของปัญหาสุขภาพอื่น ๆ หรือเกิดจากเนื้องอกที่บริเวณต่อมหมวกไตได้ หากปล่อยไว้จะยิ่งทำให้รักษาได้ยากมากขึ้น

หมายเหตุ : โรคนี้มีอาการแสดงได้หลายอย่าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบางครั้งอาจมีอาการคล้ายโรควิตกกังวล (Anxiety disorder) หรือโรคแพนิค (Panic disorder) ดังนั้น หากพบว่ามีอาการอ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย น้ำหนักตัวลดลง ใจสั่น มือสั่น หงุดหงิด นอนไม่หลับ ก็ควรตรวจดูให้แน่ใจเสียก่อนว่ามีสาเหตุมาจากโรคเหล่านี้หรือไม่

สิ่งที่ตรวจพบในผู้ป่วยไทรอยด์เป็นพิษ

  • ผู้ป่วยมักมีอาการคอพอก ซึ่งเป็นอาการที่ต่อมไทรอยด์โตขึ้น ส่วนในรายที่เป็นโรคเกรฟส์ ต่อมไทรอยด์จะมีลักษณะบวมโตแบบกระจาย (ไม่เป็นปุ่ม) คลำดูมีลักษณะหยุ่น ๆ (ถ้าใช้เครื่องฟังตรวจที่ต่อมไทรอยด์อาจได้ยินเสียงฟู่ (Bruit)) แต่บางรายอาจไม่เห็นอาการคอโตอย่างชัดเจนก็ได้ ส่วนในผู้ป่วยที่เป็นโรคพลัมเมอร์ คอพอกที่พบจะมีลักษณะเป็นปุ่มปลายปุ่ม และผู้ป่วยที่เนื้องอกไทรอยด์จำคลำได้ก้อนเนื้องอกที่มีขนาดมากกว่า 2.5 เซนติเมตร
  • ความดันช่วงบนมักสูงกว่าปกติ ชีพจรมักเต้นเร็วประมาณ 100-130 ครั้ง/นาที (โดยเฉพาะในผู้สูงอายุ) และอาจเต้นไม่สม่ำเสมอหรือไม่เป็นจังหวะ
  • มักพบอาการมือสั่น (สามารถตรวจได้โดยการเหยียดแขนออกไปข้างหน้าให้ขนานกับพื้นและกางนิ้วมือออก ถ้าเห็นไม่ชัดให้ใช้แผ่นกระดาษบาง ๆ วางไว้บนมือแล้วดูว่ากระดาษสั่นหรือไม่) และอาจมีอาการลิ้นสั่น
  • ผิวหนังของผู้ป่วยมักมีลักษณะเรียบนุ่มและมีเหงื่อชุ่ม เส้นผมมักมีลักษณะละเอียด
  • ในผู้ป่วยบางรายอาจพบอาการฝ่ามือแดง จุดแดงรูปแมงมุม นิ้วปุ้ม รีเฟล็กซ์ของข้อไว้กว่าปกติ
  • ในผู้ป่วยโรคเกรฟส์ อาจพบหนังตาบวม หนังตาบนหดรั้งขึ้นไป ถ้าให้เห็นตาขาวด้านบนชัด ๆ จะดูคล้ายผู้ป่วยทำตาดุหรือจ้องดูอะไรอยู่ อาจมีอาการตาโปนเนื่องจากมีการสะสมของสารมิวโคโพลีแซ็กคาไรด์ (Mucopolysaccharide) และเนื้อเยื่อน้ำเหลือง บางรายอาจมีอาการเห็นภาพซ้อนเนื่องจากกล้ามเนื้อกลอกลูกตาเคลื่อนไหวลำบากและไม่ประสานกัน นอกจากนี้ยังอาจพบผิวหนังเป็นปื้นหนาออกแดง ๆ และคัน เนื่องจากมีการสะสมของสารและเนื้อเยื่อน้ำเหลืองเช่นเดียวกับที่ตา ซึ่งมักจะพบที่บริเวณหน้าแข้งเรียกว่า “Pretibial myxedema” (PTM)

อาการไฮเปอร์ไทรอยด์
IMAGE SOURCE : www.medindia.net

ภาวะแทรกซ้อนของไทรอยด์เป็นพิษ

โดยส่วนใหญ่แล้ว ถ้าได้รับการรักษาอย่างถูกต้องและทันท่วงที โอกาสที่จะเกิดภาวะแทรกซ้อนก็มีน้อย แต่ถ้าหากปล่อยไว้ไม่ได้รับการรักษาอย่างจริงจังก็อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนที่อันตรายต่าง ๆ ได้ เช่น

  • ปัญหาสายตา พบในผู้ป่วยโรคเกรฟส์ที่มีปัญหาต่อมไทรอยด์เป็นพิษเท่านั้น โดยภาวะแทรกซ้อนทางสายตา ได้แกา ตาแห้ง ตาไวต่อแสง ตาแฉะ เห็นภาพซ้อน ตาแดง หรือบวม ตาโปนออกมามากกว่าปกติ หนังตาบวมแดง หนังตาปลิ้นออกมาผิดปกติ (ในรายที่ตาโปนมาก ๆ อาจทำให้กระจกตาดำเป็นแผลและสายตาพิการได้) โดยส่วนใหญ่แล้วเมื่อได้รับการรักษาอาการทางสายตาจะดีขึ้น แต่ก็มีบางส่วนที่ต้องสูญเสียการมองเห็น ดังนั้นในการรักษาไทรอยด์เป็นพิษผู้ป่วยอาจต้องพบจักษุแพทย์เพื่อรักษาควบคู่ไปด้วยกัน
  • ปัญหาเกี่ยวกับระบบหัวใจ ถ้าไม่ได้รับการรักษาอาจทำให้เกิดโรคหัวใจขาดเลือด (Ischemic heart disease) ภาวะหัวใจห้องบนสั่นพลิ้ว (Atrial fibrillation) หรือแม้แต่ภาวะหัวใจวาย (Congestive Heart failure) ซึ่งเกิดจากการที่หัวใจไม่สามารถสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงร่างกายได้อย่างเพียงพอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้สูงอายุที่เป็นโรคความดันโลหิตสูงหรือมีภาวะหลอดเลือดแดงแข็งอยู่ก่อน
  • บางรายอาจมีอาการของอัมพาตชั่วคราว
  • ในรายที่เป็นเรื้อรังอาจเกิดภาวะแคลเซียมในเลือดสูง (Hypercalcaemia) ทำให้กระดูกอ่อนแอหรือกลายเป็นโรคกระดูกพรุน (Osteoporosis) เนื่องจากร่างกายมีฮอร์โมนไทรอยด์มากไปจนส่งผลต่อความสามารถในการดูดซึมแคลเซียมของกระดูก
  • ในผู้ชายอาจมีอาการเต้านมโต (Gynecomastia) จำนวนอสุจิและความรู้สึกทางเพศลดลง
  • ในหญิงตั้งครรภ์ ไทรอยด์เป็นพิษอาจส่งผลกระทบต่อการตั้งครรภ์ได้ เช่น ครรภ์เป็นพิษ การคลอดก่อนกำหนด การแท้งบุตร เด็กทารกมีน้ำหนักแรกเกิดน้อยกว่าปกติ เป็นต้น ดังนั้น ผู้ป่วยที่ยังไม่ตั้งครรภ์และวางว่าจะตั้งครรภ์ ควรปรึกษาแพทย์ เพื่อที่แพทย์จะได้วางแผนในการควบคุมอาการไม่ให้รุนแรงในขณะตั้งครรภ์ รวมถึงพิจารณาเปลี่ยนวิธีการรักษาให้เหมาะสมกับผู้ป่วยต่อไป
  • ภาวะขาดไทรอยด์ (Hypothyroidism) หลายครั้งการรักษาไทรอยด์เป็นพิษก็อาจทำให้เกิดภาวะขาดไทรอยด์จนก่อให้เกิดอาการผิดปกติต่าง ๆ ได้ เช่น เฉื่อยชา ทำงานเชื่องช้า คิดช้า ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ กล้ามเนื้อเป็นตะคริว ขี้หนาว ท้องผูก มีรูปร่างอ้วนขึ้น ทั้ง ๆ ที่กินไม่มาก เป็นต้น แต่อาการจะเกิดขึ้นเพียงชั่วคราวและมีผู้ป่วยบางรายเท่านั้นที่จะเกิดอาการอย่างถาวรและต้องกินยาฮอร์โมนไทรอยด์ไปตลอดชีวิต
  • ภาวะไทรอยด์เป็นพิษขั้นวิกฤติ (Thyroid crisis) หากควบคุมระดับไทรอยด์ได้ไม่ดี อาจทำให้มีอาการรุนแรงขึ้นหรือเป็นอันตรายต่อชีวิตได้ ซึ่งสัญญาณาที่บ่งบอกว่าเกิดภาวะเกิดภาวะไทรอยด์เป็นพิษขั้นวิกฤติ คือ หัวใจเต้นเร็วมากผิดปกติ มีอาการไข้สูงเกิน 38 องศาเซลเซียส อาเจียน ท้องเสีย ตัวเหลือง ตาเหลือง สับสนมึนงงอย่างรุนแรง มีภาวะขาดน้ำ และอาจเกิดภาวะช็อก หากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีก็จะเสียชีวิตได้ โดยสาเหตุที่อาจทำให้อาการเข้าสู่ภาวะวิกฤติ คือ กินยาไม่สม่ำเสมอ เป็นโรคติดเชื้อ มีภาวะเครียด ขณะอายุครรภ์ที่มาก ขณะคลอด ขณะผ่าตัด และความเสียหายของต่อมไทรอยด์

การวินิจฉัยโรคไทรอยด์เป็นพิษ

การวินิจฉัยแพทย์สามารถทำได้หลายวิธี ซึ่งในขั้นตอนแรกแพทย์จะทำการซักประวัติเกี่ยวกับปัญหาสุขภาพหรือประวัติการรักษา รวมถึงตรวจร่างกายภายนอกเพื่อหาสัญญาณของโรคไทรอยด์เป็นพิษดังกล่าว (ในหัวข้อ สิ่งที่ตรวจพบในผู้ป่วยไทรอยด์เป็นพิษ) เช่น ต่อมไทรอยด์โต ตาโปน ความดันโลหิตสูง ชีพจรเต้นเร็ว น้ำหนักตัวลดลง เป็นต้น

อาการโรคไทรอยด์เป็นพิษ

หากพบว่ามีอาการเหล่านี้ แพทย์จะทำการตรวจเพิ่มเติมดังนี้

  • การตรวจเลือด เป็นการเจาะเลือดเพื่อตรวจการทำงานของต่อมไทรอยด์และการเผาผลาญ เช่น
    • การตรวจวัดปริมาณฮอร์โมนไทรอยด์ ปริมาณของฮอร์โมนไทรอยด์ T3 และ T4 ในเลือด สามารถระบุได้อย่างชัดเจนถึงการทำงานของต่อมไทรอยด์ว่าผิดปกติหรือไม่ หากไม่ปกติ (T3 และ T4 สูงกว่าปกติ) ก็แปลว่ามีอาการของไทรอยด์เป็นพิษ
    • การตรวจทีเอสเอช (Thyroid-stimulating hormone : TSH) เป็นการตรวจวัดระดับฮอร์โมนต่อมใต้สมองที่มีหน้าที่ควบคุมการทำงานของต่อมไทรอยด์ ซึ่งในผู้ป่วยไทรอยด์เป็นพิษมักจะมีค่า TSH ที่ต่ำกว่าปกติ
    • การตรวจวัดระดับปริมาณแอนติบอดีของต่อมไทรอยด์ (Thyroidglobulin) เป็นการตรวจที่ช่วยวินิจฉัยโรคเกรฟส์ซึ่งเป็นสาเหตุที่พบได้บ่อยที่สุดของภาวะไทรอยด์เป็นพิษได้
  • การตรวจเอกซเรย์ เป็นการตรวจที่สามารถช่วยให้แพทย์เห็นการทำงานและความผิดปกติของฮอร์โมนไทรอยด์ได้ชัดขึ้น โดยใช้วิธีดังนี้
    • การตรวจอัลตราซาวนด์ เป็นการตรวจที่ช่วยวัดขนาดของต่อมไทรอยด์และความผิดปกติของต่อมไทรอยด์ ซึ่งจะช่วยให้แพทย์มองเห็นความผิดปกติที่เกิดขึ้นได้
    • การตรวจสแกนต่อมไทรอยด์ (Thyroid scan) เป็นการตรวจโดยใช้รังสีเพื่อให้เห็นการทำงานของต่อมไทรอยด์ว่าต่อมไทรอยด์มีการงานที่มากผิดปกติหรือไม่
    • การตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ ไม่ว่าจะเป็นการตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์แบบซีทีสแกน (CT scan) หรือคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า/เอ็มอาร์ไอ (MRI) แพทย์มักใช้ในกรณีที่สงสัยว่าความผิดปกติของต่อมไทรอยด์อาจมีเนื้องอกหรือมะเร็ง และการเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สมองจะใช้ในกรณีที่แพทย์สงสัยว่าสาเหตุของไทรอยด์เป็นพิษอาจเกิดจากต่อมใต้สมองหลั่งฮอร์โมนผิดปกติ

ทั้งนี้ หากการตรวจเอกซเรย์พบว่าเป็นเนื้องอก แพทย์จะทำการเก็บตัวอย่างเพื่อส่งตรวจต่อไปว่าเป็นเนื้องอกจากโรคมะเร็งหรือไม่ เมื่อทราบสาเหตุของไทรอยด์เป็นพิษแล้วจึงจะให้การรักษาต่อไป

การรักษาโรคไทรอยด์เป็นพิษ

โดยทั่วไปแพทย์มักจะให้การรักษาด้วยยาต้านไทรอยด์เป็นหลัก นอกจากการรักษาด้วยยาแล้ว แพทย์อาจพิจารณาให้การรักษาด้วยการผ่าตัดต่อมไทรอยด์ (Thyroidectomy) หรือให้กินน้ำแร่รังสีไอโอดีน/สารไอโอดีนกัมมันตรังสี (Radioactive iodine) โดยเฉพาะอย่างยิ่งในรายที่ไม่ตอบสนองต่อยาต้านไทรอยด์ มีอาการกำเริบซ้ำบ่อย มีความไม่สะดวกในการกินยาอย่างต่อเนื่องหรือมีอาการแพ้ยา รวมทั้งในรายที่มีอาการรุนแรงมาก ทั้งนี้แพทย์จะเลือกวิธีการรักษาให้เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละรายโดยพิจารณาจากปัจจัยต่าง ๆ ของผู้ป่วย เช่น อายุ สุขภาพของผู้ป่วย ขนาดของต่อมไทรอยด์ที่โตขึ้น และความรุนแรงของอาการ ส่วนในรายที่ทำได้หลายวิธี ก็จะเป็นการตัดสินใจร่วมกันของแพทย์และผู้ป่วยครับ

  1. ยาต้านไทรอยด์ (Antithyroid drug) ผู้ป่วยที่มีอายุน้อย อาการยังไม่รุนแรงมาก และต่อมไทรอยด์ไม่โตมาก แพทย์มักจะแนะนำให้รักษาด้วยการกินยาต้านไทรอยด์ก่อน โดบยานี้จะไปกดการทำงานของต่อมไทรอยด์ จึงช่วยลดการสร้างฮอร์โมนไทรอยด์ไม่ให้สร้างฮอร์โมนไทรอยด์ออกมามากจนเกินไปภายใน 2-8 สัปดาห์ ซึ่งแพทย์จะเป็นผู้ปรับขนาดการใช้ยาให้ทุก ๆ 1-2 เดือน โดยพิจารณาจากผลการตรวจระดับฮอร์โมนไทรอยด์เป็นหลัก
    • ยาต้านไทรอยด์ที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในประเทศไทย คือ เมไทมาโซล (Methimazole : MMI) ขนาดเม็ดละ 5 มิลลิกรัม หรือ โพรพิลไทโอยูราซิล (Propylthiouracil : PTU) ขนาดเม็ดละ 50 มิลลิกรัม โดยยาทั้ง 2 ตัวนี้จะข้อดีและข้อเสียไม่ต่างกันมากนักและมีวิธีใช้เหมือนกัน โดยเริ่มต้นแพทย์อาจให้ผู้ป่วยกินยาวันละ 6 เม็ด (แบ่งกินหลังอาหารครั้งละ 2 เม็ด) จนกว่าอาการจะดีขึ้น (เหนื่อยน้อยลง หัวใจเต้นช้าลง น้ำหนักตัวกลับขึ้นมาเป็นปกติ) แล้วจึงค่อย ๆ ลดขนาดยาลงทีละ 1-2 เม็ดจนกว่าจะเหลือวันละ 1-3 เม็ด แล้วให้กินยาในขนาดนี้ไปเรื่อย ๆ นานประมาณ 12-24 เดือน หรือตามที่แพทย์แนะนำ

      ยารักษาไทรอยด์เป็นพิษ
      IMAGE SOURCE : pharmnews.blogspot.com

    • ผู้ป่วยจะต้องกินยาเป็นประจำอย่างสม่ำเสมอต่อเนื่องตามที่แพทย์สั่ง ซึ่งโดยทั่วไปแพทย์จะแนะนำให้กินยาประมาณ 1-2 ปี (การรักษาด้วยยาต้านไทรอยด์จะต้องใช้เวลาอย่างน้อย 1 ปี หรือมากกว่านั้น ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับระดับฮอร์โมนไทรอยด์ในร่างกายของผู้ป่วยแต่ละราย) และในระหว่างการรักษาแพทย์จะนัดมาตรวจติดตามดูอาการและเจาะเลือดตรวจวัดระดับฮอร์โมนไทรอยด์อยู่เป็นระยะ ๆ เช่น ทุก 1-2 เดือน เพื่อปรับขนาดยาให้เหมาะสมไม่น้อยหรือมากเกินไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระยะ 6 เดือนแรกของการรักษา
    • ในหญิงตั้งครรภ์ห้ามใช้ยาเมไทมาโซล แต่ให้ใช้ยาโพรพิลไทโอยูราซิลแทน เพราะยาชนิดหลังนี้จะผ่านรกได้น้อยกว่า จึงมีผลต่อทารกในครรภ์น้อยกว่ายาชนิดแรก และไม่มีข้อห้ามในการใช้ยาสำหรับมารดาที่ให้นมบุตร แต่ควรทำการทดสอบการทำงานของต่อมไทรอยด์ของทารกเป็นระยะ ๆ
    • ข้อเสียของการรักษาด้วยยา คือ ผู้ป่วยจะต้องกินยานี้นานเป็นแรมปี อาจเกิดผลข้างเคียงได้ (เช่น การแพ้ยา) และโอกาสหายขาดจากโรคยังไม่ 100% เมื่อไม่หายผู้ป่วยก็อาจต้องกินยาวันละเม็ดไปเรื่อย ๆ เพื่อควบคุมอาการ หรือต้องเปลี่ยนไปรักษาด้วยวิธีอื่น เช่น การกินน้ำรังสีไอโอดีน เพื่อให้หายขาด
    • ผลข้างเคียงของยาต้านไทรอยด์ มีดังนี้
      • เกิดอาการแพ้ยา มีผื่นคันขึ้นตามผิวหนัง ซึ่งอาจต้องแก้ไขด้วยการกินยาแก้แพ้ร่วมด้วย หรืออาจต้องเปลี่ยนไปใช้ยาตัวใหม่แทน
      • กดการสร้างเม็ดเลือดขาว ทำให้เกิดภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำ (Agranulocytosis) แล้วส่งผลให้ร่างกายเป็นโรคติดเชื้อได้ง่าย (มีไข้ เจ็บคอ หรือปากเปื่อยบ่อย ๆ) และอาจติดเชื้อรุนแรงจนเป็นอันตรายได้ แต่ก็เป็นภาวะที่พบได้น้อยประมาณ 0.5% ของผู้ที่กินยานี้ (มักพบในการใช้ยาโพรพิลไทโอยูราซิลมากกว่ายาเมไทมาโซล) และมักจะเกิดขึ้นในระยะ 2 เดือนแรกหลังจากเริ่มกินยา ทำให้การใช้ยานี้แพทย์อาจต้องมีการเจาะเลือดเพื่อตรวจระดับเม็ดเลือดขาวสัปดาห์ละครั้งเป็นเวลาประมาณ 2 เดือนควบคู่ไปกับการรักษาในกรณีที่สงสัยว่าผู้ป่วยมีภาวะนี้ด้วย ถ้าพบว่าผู้ป่วยมีภาวะดังแพทย์จะให้หยุดกินยาในทันที แล้วเม็ดเลือดขาวจะเพิ่มจำนวนขึ้นเป็นปกติได้เอง
      • อาจเกิดผลข้างเคียงอื่น ๆ เช่น ตับอักเสบ เกล็ดเลือดต่ำ หลอดเลือดอักเสบ โลหิตจางจากไขกระดูกฝ่อ เป็นต้น
      • เกิดภาวะขาดไทรอยด์ (Hypothyroidism) ในกรณีที่กินยามากเกินไป อาจทำให้ต่อมไทรอยด์สร้างฮอร์โมนได้น้อยเกินความต้องการของร่างกายจนเกิดภาวะขาดไทรอยด์ได้ ซึ่งก็ต้องแก้ไขด้วยการลดขนาดยาลงหรือให้ยาฮอร์โมนไทรอยด์ เช่น เอลทรอกซิน (Eltroxin™) กินร่วมด้วย
  2. ยาบรรเทาอาการอื่น ๆ นอกจากยาต้านไทรอยด์แล้วแพทย์อาจให้ยาไดอะซีแพม (Diazepam) เพื่อบรรเทาอาการหงุดหงิด นอนไม่หลับ และยาต้านเบต้าหรือเบต้าบล็อกเกอร์ (Beta-blocker) เช่น โพรพราโนลอล (Propranolol) วันละ 40-120 มิลลิกรัม แบ่งให้วันละ 2-4 ครั้ง เพื่อช่วยลดอัตราการเต้นของหัวใจให้ช้าลง บรรเทาอาการใจสั่น มือสั่น และอาการวิตกกังวล (มักใช้กับผู้ป่วยที่มีความดันโลหิตสูง แต่ยาดังกล่าวก็มีผลข้างเคียง เช่น ทำให้รู้สึกอ่อนเพลีย วิงเวียนศีรษะ ปวดหัว ท้องไส้ปั่นป่วน ท้องเสีย หรือท้องผูก) แต่เมื่อระดับของฮอร์โมนไทรอยด์อยู่ระดับปกติแล้วก็ไม่จำเป็นกินยานี้เพื่อลดอาการใจสั่นอีก กินแต่ยาต้านไทรอยด์เพียงอย่างเดียวก็พอ
  3. การผ่าตัดต่อมไทรอยด์ (Thyroidectomy) มักใช้รักษาในผู้ป่วยที่มีอายุน้อยกว่า 40 ปี หรือมีต่อมไทรอยด์โตมาก หรือต่อมไทรอยด์ไปกดเบียดอวัยวะข้างเคียง (ทำให้มีอาการหายใจลำบากหรือกลืนลำบาก เพราะต่อมไทรอยด์ที่โตขึ้นไปกดเบียดทับหลอดลมและ/หรือหลอดอาหาร ซึ่งเป็นอวัยวะที่อยู่ติดกับต่อมไทรอยด์) ซึ่งแพทย์จะแนะนำให้รักษาด้วยการผ่าตัดต่อมไทรอยด์ออกบางส่วนเพื่อให้ต่อมไทรอยด์มีขนาดเล็กลงหรืออยู่ในระดับใกล้เคียงกับคนปกติ จะได้สร้างฮอร์โมนได้น้อยลงและช่วยให้อาการหายใจลำบากหรือกลืนลำบากดีขึ้น ส่วนในกรณีที่ผู้ป่วยอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือมีโรคร่วมอื่น ๆ (เช่น โรคหัวใจ) หรือไม่สามารถใช้ยาต้านไทรอยด์หรือกินน้ำแร่รังสีไอโอดีนในการรักษาได้ หรือเป็นเนื้องอกไทรอยด์หรือต่อมไทรอยด์เป็นก้อนเดี่ยว ซึ่งแพทย์สงสัยว่าอาจเป็นก้อนมะเร็ง แพทย์ก็จะแนะนำให้ทำการผ่าตัดเช่นกัน
    • ทั้งนี้ หลังการผ่าตัด ผู้ป่วยจะหายจากอาการของไทรอยด์เป็นพิษทันที แต่มีข้อเสียที่ต้องวางยาสลบ และอาจเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนจากการผ่าตัดได้ (พบได้ไม่บ่อย รวมแล้วไม่ถึง 5% แต่บางภาวะอาจมีผลต่อกิจวัตรตลอดชีวิต ดังนั้น ผู้ป่วยจึงมักจะมีความลังเลในการตัดสินใจผ่าตัด จึงทำให้การผ่าตัดไม่เป็นที่นิยมมากนัก) เช่น ภาวะเลือดออก (ซึ่งอาจทำให้อุดกั้นทางเดินหาย), ภาวะขาดพาราไทรอยด์ (Hypoparathyroidism) เนื่องจากตัดถูกต่อมพาราไทรอยด์ซึ่งอยู่ติดกับต่อมไทรอยด์ ซึ่งผู้ป่วยจะต้องกินยาแคลเซียมคาร์บอเนตและวิตามินดีเพื่อควบคุมระดับแคลเซียมด้วย, การตัดถูกเส้นประสาทกล่องเสียง (Recurrent laryngeal nerve) ซึ่งอยู่ติดกับต่อมไทรอยด์ ทำให้สายเสียงเป็นอัมพาต มีอาการเสียงแหบอย่างถาวร และผลข้างเคียงที่พบได้บ่อยก็คือ ภาวะขาดไทรอยด์ (Hypothyroidism) อย่างถาวร เนื่องจากผ่าตัดเนื้อเยื่อไทรอยด์ออกไปมากเกิน ซึ่งในกรณีนี้จำเป็นต้องแก้ไขด้วยการกินยาฮอร์โมนไทรอยด์ (ยาเลโวไทรอกซีน) วันละ 1-2 เม็ด เพื่อทดแทนไปตลอดชีวิต ส่วนในรายที่ผ่าตัดเนื้อเยื่อไทรอยด์ออกน้อยเกินไปก็อาจทำให้มีอาการต่อมไทรอยด์ทำงานเกินกำเริบซ้ำได้อีก
  4. การกินน้ำแร่รังสีไอโอดีน/สารไอโอดีนกัมมันตรังสี (Radioactive iodine) เป็นการกินน้ำที่ประกอบด้วยสารไอโอดีนกัมมันตรังสีที่ได้รับการคำนวณขนาดไว้ให้พอดีกับแต่ละบุคคล โดยน้ำแร่รังสีไอโอดีนนี้จะเป็นสารไอโอดีนประเภทหนึ่ง (Iodine-131) ที่ให้รังสีแกมมา (Gamma ray) และรังสีบีตา (Beta ray) ซึ่งเป็นรังสีที่ใช้ในการตรวจและรักษาโรค และสามารถปล่อยรังสีนั้น ๆ ออกมาทำลายเนื้อเยื่อของต่อมไทรอยด์ได้ โดยการรักษาด้วยวิธีนี้จะมีจุดประสงค์เพื่อทำลายเนื้อเยื่อไทรอยด์บางส่วน เพื่อให้ลดปริมาณการสร้างฮอร์โมนไทรอยด์ลง เมื่อผู้ป่วยกินน้ำแร่รังสีไอโอดีนเข้าไป สารชนิดนี้จะถูกดูดซึมโดยต่อมไทรอยด์ และทำลายเนื้อเยื่อของต่อมไทรอยด์ ทำให้ต่อมไทรอยด์ค่อย ๆ หดตัวลง ต่อมไทรอยด์จึงมีขนาดเล็กลงและสร้างฮอร์โมนได้น้อยลง อาการจากภาวะไทรอยด์เป็นพิษของผู้ป่วยจึงค่อย ๆ ดีขึ้น ซึ่งมักจะใช้ระยะเวลาในการรักษาประมาณ 3-6 เดือน (อาการไทรอยด์เป็นพิษจะยังไม่หายไปในทันที และก่อนจะให้กินน้ำแร่รังสีไอโอดีนดังกล่าว ผู้ป่วยอาจต้องกินยาต้านไทรอยด์จนระดับฮอร์โมนไทรอยด์กลับสู่ปกติเสียก่อน)
    • การรักษาด้วยน้ำแร่รังสีไอโอดีนมีข้อดีคือ สามารถรักษาภาวะไทรอยด์เป็นพิษให้หายขาดได้สูง สะดวก ง่าย และเป็นสารที่มีความปลอดภัย (ปัจจุบันมียาเป็นแคปซูล แต่ยังมีข้อจำกัดในการนำมาใช้มาก จึงยังไม่เป็นที่นิยมนัก และไม่สามารถหาซื้อได้ทั่วไป จะต้องได้รับการรักษาเฉพาะโรงพยาบาลบางแห่งที่ให้การรักษาด้านนี้เท่านั้น) เหมาะสำหรับผู้ป่วยที่มีอายุ 20 ปีขึ้นไปและต่อมไทรอยด์ไม่โตมาก หรือเป็นผู้ป่วยที่รักษาด้วยยามาเป็นเวลานานกว่า 1-2 ปีแล้วแต่ยังไม่หายหรือหายแล้วกลับมาเป็นใหม่อีก หรือเป็นผู้ป่วยที่รักษาด้วยการผ่าตัดแล้วยังมีอาการจากภาวะไทรอยด์เป็นพิษอยู่ รวมถึงผู้ป่วยที่มีอายุมากกว่า 40-60 ปี ที่ปฏิเสธการผ่าตัดหรือมีข้อห้ามในการผ่าตัด (เช่น เป็นโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ)
    • การรักษาด้วยวิธีนี้ไม่สามารถใช้ได้กับผู้ป่วยที่มีอาการตาโปนรุนแรง ต่อมไทรอยด์มีขนาดโตมากหรือสงสัยว่าเป็นมะเร็งไทรอยด์ หญิงตั้งครรภ์ (เพราะรังสีมีผลต่อทารกในครรภ์ อาจก่อให้เกิดความพิการหรือแทงบุตรได้) และหญิงให้นมบุตร (เพราะน้ำแร่รังสีไอโอดีนจะปนออกมากับน้ำนมส่งผลต่อต่อมไทรอยด์ของทารกได้ทั้งในระยะเฉียบพลับ (การอักเสบ) และในระยะยาว (มะเร็งต่อมไทรอยด์))
    • ผลข้างเคียงที่พบได้บ่อยจากการรักษา คือ ภาวะขาดไทรอยด์เนื่องจากเนื้อเยื่อไทรอยด์ถูกทำลายมากเกิน ซึ่งผู้ป่วยจำเป็นต้องกินยาฮอร์โมนทดแทนไปตลอดชีวิตเช่นเดียวกับการรักษาด้วยวิธีการผ่าตัด
  5. การปรับพฤติกรรมการรับประทานอาหาร ในระหว่างการรักษาผู้ป่วยจะต้องเน้นการรับประทานอาหารที่มีแคลเซียมและโซเดียมให้มากขึ้น (แต่ต้องควบคุมให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม) ดื่มน้ำให้เพียงพอเพื่อช่วยลดภาวะขาดน้ำ นอกจากนี้ไทรอยด์เป็นพิษยังทำให้กระดูกบางลง ผู้ป่วยจึงควรรับประทานอาหารเสริมที่มีแคลเซียมและวิตามินดีควบคู่กันไปด้วยเพื่อบำรุงกระดูกให้แข็งแรงขึ้นทั้งในระหว่างการรักษาและหลังจากหายแล้ว ซึ่งแพทย์จะเป็นผู้แนะนำถึงปริมาณของอาหารเสริมและอาจช่วยวางแผนในการรับประทานอาหารรวมทั้งการออกกำลังให้แก่ผู้ป่วย

คำแนะนำสำหรับผู้ป่วยไทรอยด์เป็นพิษ

  • เมื่อมีอาการผิดปกติดังกลาวเกิดขึ้นหรือสังเกตเห็นมีก้อนเนื้อผิดปกติในบริเวณต่อมไทรอยด์และ/หรือลำคอ ควรไปรีบพบแพทย์ภายใน 1 สัปดาห์ เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยและรักษาตั้งแต่เนิ่น ๆ ซึ่งจะช่วยให้การรักษาได้ผลดีกว่า ใช้เวลาการรักษาไม่มาก และเสียค่าใช้จ่ายน้อยกว่าการรักษาในระยะที่เป็นโรคเรื้อรังหรือเป็นโรคมะเร็งในระยะลุกลามแล้ว
  • ผู้ป่วยที่แพทย์ให้การวินิจฉัยว่าเป็นไทรอยด์เป็นพิษ ควรปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ป่วยที่รักษาด้วยยา จะต้องกินยาอย่างสม่ำเสมอ เพราะการลืมกินยาบ่อย ๆ กินยาไม่สม่ำเสมอหรือกินยาไม่ได้ตามจำนวนครั้งต่อวันตามที่แพทย์สั่งนั้นเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้การรักษาด้วยยาไม่ได้ผล นอกจากนั้นผู้ป่วยต้องไปพบแพทย์สม่ำเสมอตามนัด เพื่อให้มั่นใจว่าฮอร์โมนไทรอยด์ยังอยู่ในระดับที่ปกติ
  • ผู้ป่วยไม่ควรหยุดยาเองหรือหยุดยาในทันที เพราะโรคยังเป็นอยู่ แต่ถูกกดไม่ให้มีอาการด้วยยาที่กิน ซึ่งแพทย์จะเป็นผู้ตรวจเลือดเพื่อดูว่าอาการของโรคนั้นดีขึ้นมากน้อยเพียงใด เมื่ออาการดีขึ้น แพทย์จะปรับลดขนาดยาลงจนผู้ป่วยสามารถหยุดยาได้ในที่สุด ดังนั้น หากผู้ป่วยหยุดยาเอง อาการก็จะกลับมาเป็นซ้ำ ซึ่งการปฏิบัติที่ถูกต้องสำหรับคนที่เป็นโรคนี้ คือ ไม่หยุดยาเอง กินยาอย่างสม่ำเสมอ ไปตรวจตามที่แพทย์นัด หากลืมยาหรือทำยาหาย ควรไปพบแพทย์เพื่อซื้อยาใหม่ ไม่ควรหยุดยา เพราะจะทำให้มีอาการกำเริบและการควบคุมโรคทำได้ยากขึ้น
  • ผู้ป่วยที่กินยาต้านไทรอยย์อาจเกิดการแพ้ยาได้ ซึ่งมักจะมีอาการไข้ ปวดตามข้อ บางรายอาจมีอาการตัวเหลืองตาเหลือง (โรคดีซ่าน) จากภาวะตับอักเสบ หรือเจ็บคอ เป็นไข้สูง กินยาปฏิชีวนะ (ยาแก้อักเสบ) ฆ่าเชื้อแบคทีเรียแล้วยังไม่ดีขึ้น ซึ่งอาจเกิดจากภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำ (ทำให้อ่อนเพลียและติดเชื้อโรคได้ง่าย) ดังนั้น หากอาการที่สงสัยว่าอาจจะแพ้ยาดังกล่าวควรรีบไปพบแพทย์ก่อนนัดเสมอ
  • ไทรอยด์เป็นพิษสามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่การจะหายช้าหรือเร็วก็ขึ้นอยู่กับวิธีที่ใช้ในการรักษาด้วย ถ้ารักษาด้วยยาก็มักจะหายช้า และแม้จะหยุดยาได้ แต่หลังจากหยุดยาก็พบว่าประมาณครึ่งหนึ่งจะกลับมาเป็นโรคใหม่ได้อีก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วง 2 ปีแรกหลังการหยุดยา แต่ถ้ารักษาด้วยการผ่าตัดต่อมไทรอยด์ออกบางส่วนหรือการกินน้ำแร่รังสีไอโอดีนเพื่อทำลายเนื้อเยื่อไทรอยด์ก็จะมีโอกาสหายขาดได้สูง
  • ในรายที่กินยาต้านไทรอยด์แล้วคอกลับโตขึ้น อาจมีสาเหตุได้ 2 กลุ่ม คือ ยาไม่พอ จึงทำให้โรคยังกำเริบอยู่ คอจึงโตขึ้น ซึ่งในผู้ป่วยกลุ่มนี้จะมีอาการคล้ายตอนเริ่มต้น แต่ในผู้ป่วยอีกกลุ่มจะเกิดจากการกินยามากเกินขนาด คือ โรคเริ่มดีขึ้นแล้วแต่ยังกินยาเท่าเดิมอยู่ จึงทำให้เกิดคอพอกชนิดไม่เป็นพิษร่วมด้วย คอก็โตขึ้นได้เช่นกัน จึงมีคำแนะนำว่า หากกินยาแล้วคอกลับโตขึ้น ควรปรึกษาแพทย์ให้ผู้การรักษา ไม่ควรเปลี่ยนแพทย์บ่อย ๆ เพราะการรักษาจะไม่ต่อเนื่อง และหากกินยาแล้วอาการไม่ดีขึ้น หรือในระหว่างที่กินยาแล้วลดขนาดยาลงไม่ได้หรือมีอาการมากขึ้น ก็อาจต้องรักษาด้วยการผ่าตัดหรือกินน้ำแร่รังสีไอโอดีน
  • ผู้ที่ได้รับการรักษายาต้านไทรอยด์ การกินน้ำแร่รังสีไอโอดีน หรือการกินน้ำแร่รังสีไอโอดีน ควรเฝ้าสังเกตอาการของเกิดภาวะขาดไทรอยด์ (Hypothyroidism) เช่น เฉื่อยชา ทำงานเชื่องช้า คิดช้า ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ กล้ามเนื้อเป็นตะคริว ขี้หนาว ท้องผูก มีรูปร่างอ้วนขึ้น ทั้ง ๆ ที่กินไม่มาก เป็นต้น และตรวจดูระดับฮอร์โมนไทรอยด์อยู่เป็นระยะ หากพบภาวะดังกล่าวควรได้รับการรักษาอย่างถูกต้องต่อไป
  • ผู้ที่รักษาไทรอยด์เป็นพิษจนหายขาดแล้ว แพทย์จะนัดมาตรวจติดตามผลการรักษาอาจทุก 6 เดือนหรือ 1 ปี เพื่อตรวจดูอาการและเจาะเลือดตรวจวัดระดับฮอร์โมนไทรอยด์ว่ายังอยู่ในระดับปกติหรือไม่ ถ้าพบว่าฮอร์โมนไทรอยด์มีระดับต่ำกว่าปกติ แพทย์จะให้ผู้ป่วยกินยาฮอร์โมนไทรอยด์เพื่อเพิ่มระดับฮอร์โมนไทรอยด์ให้ขึ้นมาเป็นปกติ ซึ่งในกรณีนี้ผู้ป่วยมักจำเป็นต้องกินยาฮอร์โมนไทรอยด์นี้ไปตลอดชีวิต แต่ถ้ายังอยู่ในระดับปกติ ผู้ป่วยก็ไม่ต้องกินยาใด ๆ

ไทรอยด์เป็นพิษเป็นโรคที่รักษาให้หายขาดได้ หากได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอ แต่ผู้ป่วยอาจต้องกินยาอย่างต่อเนื่องเป็นเวลา 12-24 เดือน ผู้ป่วยจึงควรติดต่อรักษากับแพทย์อย่าได้ขาด

การป้องกันโรคไทรอยด์เป็นพิษ

เนื่องจากสาเหตุหลักของภาวะไทรอยด์เป็นพิษเกิดจากภูมิคุ้มกันต้านทานโรคของร่างกายที่ผิดปกติที่ไม่สามารถป้องกันได้ ดังนั้น จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่เราต้องคอยหมั่นสังเกตความผิดปกติของร่างกาย ถ้าพบว่ามีอาการที่สงสัยว่าเป็นไทรอยด์เป็นพิษ ควรไปรีบพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยและรับการรักษาตั้งแต่เนิ่น ๆ เพราะถ้าเป็นไทรอยด์เป็นพิษจริงแล้วไม่ได้รับการรักษาก็อาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรงและเป็นเหตุทำให้เสียชีวิตได้

นอกจากนี้ในกรณีที่เคยป่วยเป็นโรคนี้และรักษาหายแล้ว การติดตามผลการรักษาในระยะยาวก็เป็นสิ่งจำเป็น เพื่อป้องกันไม่ให้กลับมาเป็นซ้ำได้อีก และหากสูบบุหรี่อยู่ก็ควรงดหรือหลีกเลี่ยง เพราะการสูบบุหรี่จะทำให้เสี่ยงต่อการเป็นไทรอยด์เป็นพิษมากขึ้น

บทความที่เกี่ยวข้อง
เอกสารอ้างอิง
  1. หนังสือตำราการตรวจรักษาโรคทั่วไป 2.  “ภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานเกิน (Hyperthyroidism)/พิษจากไทรอยด์/คอพอกเป็นพิษ (Thyrotoxicosis/Toxic goiter)”.  (นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ).  หน้า 806-810.
  2. หาหมอดอทคอม.  “ต่อมไทรอยด์เป็นพิษ (Thyrotoxicosis)”.  (รศ.นพ.จรูญศักดิ์ สมบูรณ์พร).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : haamor.com.  [16 ก.ค. 2017].
  3. พบแพทย์.  “ไทรอยด์เป็นพิษ”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.pobpad.com.  [18 ก.ค. 2017].
  4. ภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล.  “การรักษาไทรอยด์เป็นพิษ”.  (รศ.นพ.อดุลย์ รัตนวิจิตราศิลป์).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.si.mahidol.ac.th.  [20 เม.ย. 2017].

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด