ไข้ (อาการตัวร้อน) สาเหตุและวิธีลดไข้/แก้ไข้ตัวร้อน 10 วิธี !!

ไข้

ไข้ หรือ อาการตัวร้อน (Fever หรือ Pyrexia) เป็นอาการไม่ใช่โรค โดยเป็นอาการที่อุณหภูมิของร่างกายสูงขึ้นกว่าปกติ ทั้งนี้เพื่อตอบสนองเมื่อมีการติดเชื้อโรคหรือมีการเจ็บป่วยจากสาเหตุบางอย่าง โดยไข้จะเกิดอยู่เพียงชั่วคราวเฉพาะในช่วงที่เกิดโรค หรือมีการเจ็บป่วย เวลาที่มีไข้ไม่จำเป็นว่าทุกส่วนของร่างกายจะต้องร้อนเท่ากันหมด อาจจะร้อนที่ศีรษะ ลำตัว และแขนขา แต่ฝ่ามือฝ่าเท้าเย็นก็ได้ (แต่เดิมเคยเชื่อกันว่า การที่ศีรษะร้อน แต่ฝ่ามือฝ่าเท้าเย็น หมายความว่าผู้ป่วยมีอาการหนัก จึงเป็นความเชื่อที่ผิด) ส่วนสาเหตุของการเกิดไข้นั้นก็มีมากมาย และระยะเวลาที่เป็นไข้ก็แตกต่างกันไปในแต่ละโรคที่เป็นสาเหตุ เพราะไข้หรืออาการตัวร้อนนั้นเป็นเพียงอาการหนึ่งของโรคบางโรคเท่านั้น

อุณหภูมิปกติของร่างกาย คือ 37 องศาเซลเซียส (98.6 องศาฟาเรนไฮต์) และสามารถแปรเปลี่ยนได้เสมอเป็นปกติประมาณ 0.5-1 องศาเซลเซียส ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับหลาย ๆ ปัจจัย เช่น ช่วงเวลาของวัน (อุณหภูมิร่างกายจะต่ำสุดในช่วงประมาณ 6 โมงเช้าและจะสูงสุดในช่วงประมาณ 4 โมงเย็น), อุณหภูมิของสิ่งแวดล้อม (ถ้ามีอากาศร้อนอุณหภูมิของร่างกายจะสูงขึ้น และเมื่ออากาศเย็นอุณหภูมิของร่างกายจะต่ำลง), การออกกำลังกาย (เนื่องจากจะทำให้มีการเผาผลาญสารอาหารในร่างกาย ทำให้มีการไหลเวียนโลหิตเพิ่มมากขึ้น อุณหภูมิร่างกายจึงสูงขึ้น), การใส่เสื้อผ้าหนา ๆ โดยเฉพาะในเด็กอ่อน (อุณหภูมิร่างกายจะสูงขึ้น), ในผู้หญิงช่วงตกไข่ (อุณหภูมิร่างกายจะสูงขึ้น), ความเครียด (ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์และการเปลี่ยนแปลงทางสรีรวิทยาของร่างกายทั้งระบบหัวใจและหลอดเลือด ระบบทางเดินหายใจ และระบบฮอร์โมน จึงมีผลทำให้ร่างกายมีการผลิตความร้อนออกมา ทำให้อุณหภูมิร่างกายสูงขึ้น), ขึ้นอยู่กับตำแหน่งในการวัดอุณหภูมิ (เมื่อวัดผ่านทางทวารหนักอุณหภูมิจะสูงสุด รองลงมาคือวัดทางปากและทางรักแร้ ตามลำดับ) เป็นต้น

ระดับความรุนแรงของไข้ (Grades of Fever) สามารถแบ่งออกได้เป็น

  1. อุณหภูมิปกติของร่างกาย (Normal temperature) มีอุณหภูมิระหว่าง 36.6 – 37.2 องศาเซลเซียส
  2. ไข้ต่ำ (Low grade fever) เมื่อวัดทางปาก (อมปรอท) จะมีอุณหภูมิระหว่าง 37.2 – 38.2 องศาเซลเซียส
  3. ไข้ปานกลาง (Medium grade fever) เมื่อวัดทางปาก (อมปรอท) จะมีอุณหภูมิระหว่าง 38.2 – 39.2 องศาเซลเซียส
  4. ไข้สูง (High grade fever) เมื่อวัดทางปาก (อมปรอท) จะมีอุณหภูมิระหว่าง 39.2 – 40.3 องศาเซลเซียส
  5. ไข้สูงมาก / ไข้สูงเกิน (Hyperpyrexia) เมื่อวัดทางปาก (อมปรอท) จะมีอุณหภูมิมากกว่า 40.3 องศาเซลเซียส ซึ่งจัดว่าอันตรายที่สุด มักเกิดจากการติดเชื้อโรคชนิดที่มีความรุนแรงสูงมากในกระแสเลือด แต่ที่พบได้บ่อยคือเกิดจากภาวะมีเลือดออกในสมอง

มีไข้อุณหภูมิเท่าไหร่

ระยะเวลาในการวัดอุณหภูมิ

  • ทางรักแร้ ประมาณ 10 นาที ถือว่ามีไข้เมื่ออุณหภูมิสูงกว่า 36.7 องศาเซลเซียส
  • ทางปาก ประมาณ 3-5 นาที ถือว่ามีไข้เมื่ออุณหภูมิสูงกว่า 37.1 องศาเซลเซียส
  • ทางทวารหนัก ประมาณ 2-3 นาที ถือว่ามีไข้เมื่ออุณหภูมิสูงกว่า 37.9 องศาเซลเซียส

ชนิดของไข้ (Fever Pattern) สามารถแบ่งออกได้เป็น

  1. ไข้คงที่ / ไข้สูงลอย (Constant, Continuous, Sustained Fever) อุณหภูมิร่างกายสูงกว่าระดับปกติตลอดเวลา อุณหภูมิคงที่หรือเปลี่ยนแปลงน้อยมาก ห่างกันไม่เกิน 2 องศาเซลเซียส
  2. ไข้เป็น ๆ หาย ๆ (Remittent Fever) อุณหภูมิของร่างกายจะสูงขึ้นเสมอ ๆ ภายใน 24 ชั่วโมง แต่อุณหภูมิที่ลงจะอยู่เหนือกว่าระดับปกติ อุณหภูมิเปลี่ยนแปลงมากกว่า 2 องศาเซลเซียส
  3. ไข้เว้นระยะ (Intermittent Fever) อุณหภูมิของร่างกายจะสูงกว่าปกติแล้วลงต่ำถึงระดับปกติแล้วขึ้นไปใหม่ อุณหภูมิขึ้น ๆ ลง ๆ ภายใน 24 ชั่วโมง เป็นตอนบ่าย ๆ หรือตอนเย็น
  4. ไข้กลับ (Relapsing Fever) อุณหภูมิของร่างกายจะสูงอยู่หลายวัน และอาจมีอุณหภูมิลดลงอยู่ในระดับปกติอีกหลายวัน แล้วกลับมามีไข้ใหม่

ในการวินิจฉัยว่า เป็นไข้หรือไม่นั้น คือ การวัดอุณหภูมิของร่ายกายด้วยเครื่องวัดอุณหภูมิร่างกาย ซึ่งโดยทั่วไปเราจะนิยมใช้ปรอทวัดไข้ (สารปรอทที่บรรจุอยู่ในหลอดแก้วจะเป็นตัวบอกค่าอุณหภูมิ) ส่วนวิธีการวัดที่นิยมใช้กันมากที่สุดคือ การวัดทางปากหรือวัดที่ใต้ลิ้น (อมปรอท) แต่วิธีนี้จะไม่สามารถใช้กับคนที่ไม่สามารถอมปรอทวัดไข้ได้ เช่น เด็กอ่อน เด็กเล็ก หรือในผู้ป่วยที่ไม่รู้สึกตัว ซึ่งคนไข้ในกลุ่มนี้มักใช้วัดทางรักแร้ โดยใช้ปรอทหนีบไว้ใต้รักแร้ หรืออีกวิธีคือการสอดปรอทวัดไข้ทางทวารหนัก นอกจากนี้ในปัจจุบันยังมีเครื่องวัดอุณหภูมิของร่างกายชนิดใหม่ ๆ ที่สะดวกกว่าการใช้ปรอทวัดไข้แบบเดิม แต่จะมีราคาแพงกว่า เช่น เครื่องวัดอุณหภูมิร่างกายผ่านทางรูหู เครื่องวัดอุณหภูมิผ่านทางผิวหนัง และเครื่องวัดอุณหภูมิร่างกายสำหรับคนหมู่มากเมื่อเกิดการระบาดของโรคบางโรคตามสถานที่สำคัญต่างๆ เป็นต้น

เป็นไข้

อนึ่ง อุณหภูมิของร่างกายจัดเป็นหนึ่งในสัญญาณชีพ (Vital sign) ซึ่งแสดงถึงการมีชีวิตและเป็นตัวบ่งบอกถึงการเจ็บป่วย ซึ่งเมื่อเราไปพบแพทย์ การตรวจพื้นฐานตั้งแต่แรกสำหรับผู้ป่วยทุกคนคือ การตรวจวัดสัญญาณชีพ ซึ่งได้แก่ อุณหภูมิร่างกาย (Temperature – T), ชีพจร (Pulse – P), ความดันโลหิต (Blood pressure – BP/บีพี) และอัตราการหายใจ (Respiratory rate – R หรือ RR/อาร์อาร์)

สาเหตุการเกิดไข้

อุณหภูมิปกติของร่างกายเกิดจากการทำงานของอวัยวะต่าง ๆ โดยเฉพาะกล้ามเนื้อและตับ โดยอยู่ภายใต้การควบคุมของสมองส่วนที่เรียกว่า ไฮโปทาลามัส (Hypothalamus) ทั้งนี้การควบคุมอุณหภูมิของร่างกายจะเกิดขึ้นโดยการกำจัดความร้อนที่เกิดในร่างกายออกทางผิวหนัง (จากเหงื่อ) และทางปอด (จากการหายใจ) เมื่อร่างกายเกิดการติดเชื้อโรคหรือเกิดจากบางสาเหตุ จะส่งผลกระตุ้นให้สมองส่วนไฮโปทาลามัสตอบสนองด้วยการปรับอุณหภูมิของร่างกายให้สูงขึ้น เนื้อเยื่อที่จะทำหน้าที่เพิ่มอุณหภูมิของร่างกายตามคำสั่งของสมอง คือ หลอดเลือดและกล้ามเนื้อ โดยหลอดเลือดจะหดตัวเพื่อป้องกันไม่ให้ความร้อนแพร่กระจายออกทางผิวหนังและทางปอด จึงทำให้อุณหภูมิของร่างกายสูงขึ้นและทำให้ผู้ป่วยรู้สึกหนาวจากการลดปริมาณของเลือดที่ไปหล่อเลี้ยง ส่วนกล้ามเนื้อต่าง ๆ ก็จะหดเกร็ง ทำให้เกิดอาการหนาวสั่น ซึ่งทั้งหมดคือ “อาการไข้ขึ้น แต่เมื่อการกระตุ้นสมองส่วนไฮโปทาลามัสลดลง สมองส่วนไฮโปทาลามัสจะตอบสนองด้วยการปรับลดอุณหภูมิร่างกายลง หลอดเลือดก็จะกลับมาขยาย เนื้อเยื่อต่าง ๆ ก็จะได้รับเลือดเพิ่มขึ้น อุณหภูมิในเนื้อเยื่อเหล่านี้จึงเพิ่มขึ้น ร่างกายจึงขับความร้อนออกทางเหงื่อและการหายใจได้เป็นปกติ จึงทำให้เกิดอาการเหงื่อออกเมื่อไข้ลดลง

อาการไข้เป็นภาวะที่ร่างกายกำลังต่อสู้กับการติดเชื้อ โดยการทำให้สภาวะแวดล้อมไม่เหมาะกับการเจริญของเชื้อไวรัสและแบคทีเรีย สารเคมีที่ถูกหลั่งออกมาในกระแสเลือดขณะที่เกิดการติดเชื้อจะส่งสัญญาณไปยัง “ศูนย์ควบคุมอุณหภูมิ” (ไฮโปทาลามัส) ในสมอง ทำให้เกิดความร้อนขึ้น ซึ่งเป็นกระบวนการรักษาตัวเองของร่างกายตามธรรมชาติ

สาเหตุสำคัญที่พบได้บ่อยของการเกิดอาการไข้ คือ การติดเชื้อโรคชนิดต่าง ๆ ที่พบบ่อยคือ จากเชื้อไวรัส (เช่น โรคหวัด โรคไข้หวัดใหญ่ โรคไข้เลือดออก โรคหัด ไข้หวัดนก อีสุกอีใส โรคมือเท้าปาก งูสวัด เริม เป็นต้น) และจากเชื้อแบคทีเรีย (เช่น ไข้ไทฟอยด์ โรคไข้จับสั่น โรคฉี่หนู โรคไอกรน โรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ โรคไส้ติ่งอักเสบ เป็นต้น) ส่วนอาการไข้ที่เกิดจากสาเหตุอื่น ๆ ที่พบได้บ้าง คือ เป็นโรคภูมิต้านตนเอง โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ โรคมะเร็ง เกิดการได้รับบาดเจ็บหรือมีบาดแผล การผ่าตัด การที่ร่างกายขาดน้ำ (เช่น อุจจาระร่วง อุณหภูมิภายนอกร่างกายสูงมากๆ โดยเฉพาะในเด็กเล็ก) การแพ้ยา การที่ร่างกายทำปฏิกิริยากับสิ่งแปลกปลอม (เช่น หลังการฉีดวัคซีน) หรือเป็นปฏิกิริยาจากการใช้ยาบางชนิด เป็นต้น และมีน้อยครั้งที่ผู้ป่วยอาจมีไข้โดยที่แพทย์ตรวจไม่พบสาเหตุ เรียกว่า เอฟยูโอ (Fever of unknown origin – FUO) หรือ พียูโอ (Pyrexia of unknown origin – PUO)

  • โรคหวัด (ไข้หวัดธรรมดา) ผู้ป่วยจะมีอาการไอ จาม คัดจมูก น้ำมูกไหล และอาจมีไข้ อาการไข้จะเป็นอยู่ประมาณ 3-4 วัน ก็หายไปหากไม่มีโรคแทรกซ้อน
  • โรคไข้หวัดใหญ่ ผู้ป่วยจะมีไข้สูง 38-41 องศาเซลเซียส หนาว ๆ ร้อน ๆ ปวดเมื่อยตามกล้ามเนื้อมาก (โดยเฉพาะที่กระเบนเหน็บ ต้นแขน และต้นขา) ปวดศีรษะมาก ปวดกระบอกตาเวลาตาเคลื่อนไหว มีน้ำตาไหลเมื่อมีแสงสว่าง อ่อนเพลียมาก เบื่ออาหาร ขมในคอ อาจมีอาการเจ็บในคอ คัดจมูก น้ำมูกใส ไอแห้ง ๆ จุกแน่นท้อง คลื่นไส้อาเจียน ท้องเสีย โดยอาการไข้จะเป็นอยู่ประมาณ 1-7 วัน (ที่พบบ่อยคือ 3-5 วัน)
  • โรคไข้เลือดออก ผู้ป่วยจะมีไข้สูงเกิดขึ้นอย่างฉับพลัน 39-41 องศาเซลเซียส มีลักษณะเป็นไข้สูงลอยตลอดเวลาประมาณ 2-7 วัน (รับประทานยาลดไข้ก็มักจะไม่ลด) ใบหน้าแดง ตาแดง ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามตัว กระหายน้ำ ซึม มักมีอาการเบื่ออาหารและอาเจียนร่วมด้วยเสมอ
  • ไข้หวัดนก ผู้ป่วยจะมีไข้สูงมากกว่า 38 องศาเซลเซียส หนาวสั่น ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ อ่อนเพลีย หายใจหอบ ตาแดง น้ำมูกไหล ไอ เจ็บคอ ซึ่งจะหายเองได้ภายใน 2-7 วัน
  • อีสุกอีใส ในเด็กจะมีไข้ต่ำ ๆ มีอาการอ่อนเพลีย และเบื่ออาหารเล็กน้อย ส่วนในผู้ใหญ่มักจะมีไข้สูงและปวดเมื่อยตามร่างกายคล้ายไข้หวัดใหญ่นำก่อน จากนั้นผู้ป่วยจะเริ่มมีผื่นขึ้น ซึ่งจะขึ้นพร้อม ๆ กันกับวันที่เริ่มมีไข้ หรือขึ้นหลังจากมีไข้ประมาณ 1-2 วัน
  • โรคมือเท้าปาก เริ่มแรกผู้ป่วยจะมีอาการไข้ และอาจมีอาการอ่อนเพลีย เบื่ออาหารร่วมด้วย หลังจากนั้น 1-2 วัน ผู้ป่วยจะมีน้ำมูก เจ็บปาก เจ็บคอ เด็กไม่ยอมดูดนม ไม่อยากรับประทานอาหาร และจะมีแผลในปากและมีผื่นขึ้นตามมาที่มือและเท้า อาการไข้มักจะเป็นอยู่ประมาณ 3-4 วันก็จะทุเลาลงไปเอง แผลในปากมักจะหายได้เองภายใน 7 วัน ส่วนตุ่มที่มือและเท้าจะหายได้เองภายใน 7-10 วัน
  • งูสวัด นอกจากผื่นแล้ว ในผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการไข้ หนาวสั่น หรืออาจมีอาการปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตัว คลื่นไส้ อ่อนเพลีย ปวดท้อง ท้องเดินร่วมด้วย
  • เริม ผู้ป่วยมักมีอาการทั่วไปร่วมด้วย เช่น เป็นไข้ อ่อนเพลีย ปวดเมื่อย
  • ไข้ไทฟอยด์ หลังจากได้รับเชื้อประมาณ 1-2 สัปดาห์ ผู้ป่วยจะเริ่มมีอาการเบื่ออาหาร ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย ปวดตามตัว มีไข้สูง (ไข้จะสูงขึ้นเรื่อย ๆ และสูงได้ถึง 40.5 องศาเซลเซียส) มีอาการท้องร่วง บางรายอาจมีอาการแน่นท้อง หากไม่ได้รับการรักษาไข้จะปรากฏอยู่นานถึง 3 สัปดาห์
  • ปอดบวม/ปอดอักเสบ ผู้ป่วยมักมีอาการไข้หวัดนำมาก่อนประมาณ 2-3 วัน ต่อมาจะมีอาการไข้สูงขึ้น ไอมากขึ้น และหายใจเร็ว หายใจหอบ เบื่ออาหาร รับประทานอาหารไม่ได้ โดยปกติผู้ป่วยจำเป็นต้องอยู่รักษาตัวในโรงพยาบาลเพื่อให้น้ำเกลือทางหลอดเลือด และอาจต้องให้ออกซิเจนเพื่อแก้ไขภาวะเลือดขาดออกซิเจน

จากตัวอย่างที่กล่าวมาจะเห็นว่า ไข้หรืออาการตัวร้อนเป็นเพียงอาการของโรคอย่างหนึ่งเท่านั้น เมื่อเข้าใจดังนี้แล้ว ถ้าลูกตัวร้อนเป็นไข้จะได้ไม่ต้องมาวิตกกังวลเรื่องไข้ แต่ควรวิตกว่าโรคอะไรที่เป็นสาเหตุทำให้เกิดไข้มากกว่า หากมีสาเหตุมาจากโรคหวัดหรือไข้หวัดธรรมดาก็ไม่ต้องวิตก เพราะปกติโรคนี้มักจะไม่มีโรคแทรกซ้อนใด ๆ และไข้จะหายไปได้เองภายใน 3-4 วัน แต่หากเกิดจากไข้ไทฟอยด์ก็ควรจะวิตกเพราะถ้ารักษาไม่ถูกต้อง อาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนตามมาและเสียชีวิตได้

อาการของไข้

  • ในระยะเริ่มต้นของการมีไข้ (ระยะหนาวสั่น) ผู้ป่วยจะมีอาการหนาวสั่น ระยะเวลาในการสั่นอาจแค่ 2-3 นาที หรือนานเป็นชั่วโมงขึ้นอยู่กับสาเหตุ เมื่ออุณหภูมิถึงระดับที่กำหนดแล้วจะไม่เกิดความรู้สึกร้อนหรือหนาวทั้ง ๆ ที่อุณหภูมิสูงขึ้น เมื่ออุณหภูมิของร่างกายเพิ่มสูงขึ้น (ในระยะไข้) ผิวหนังของผู้ป่วยจะเริ่มอุ่น ใบหน้าแดง รู้สึกร้อน การเผาผลาญมากขึ้น ทำให้หัวใจเต้นเร็ว หายใจเร็ว ร่างกายขาดน้ำ พบปัสสาวะน้อยลง เนื่องจากเสียน้ำมากจากกระบวนการระบายความร้อนออกจากร่างกาย การเคลื่อนไหวของลำไส้ลดลง การดูดซึมอาหารไม่ดี เสียน้ำทางเหงื่อและทางการหายใจมากขึ้น จึงอาจทำให้มีอาการท้องผูก หากเกิดเป็นเวลานานเนื้อเยื่อร่างกายถูกทำลาย ผู้ป่วยจะรู้สึกอ่อนเพลีย ปวดเมื่อยตัว กล้ามเนื้อไม่มีแรง เบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน อาจมีอาการซึม กระสับกระส่าย และปวดศีรษะ เมื่อสาเหตุของไข้ถูกกำจัดไปแล้ว อุณหภูมิของร่างกายจะลดลง รวมถึงลดการสร้างความร้อนภายในร่างกาย เลือดไปเลี้ยงผิวหนังได้มากขึ้น จึงมีการหลั่งเหงื่อออกมามากขึ้น
  • เมื่อมีไข้สูงหรือไข้สูงเกิน อาจส่งผลต่ออาการทำงานของสมองได้ ผู้ป่วยจึงอาจมีอาการสับสน กระสับกระส่าย เห็นภาพหลอน และ/หรือมีอาการชัก (มักพบได้ในเด็กมากกว่าผู้ใหญ่)
  • อนึ่ง นอกจากอาการดังกล่าวแล้ว อาการไข้ยังมักเกิดร่วมกับอาการอื่น ๆ ซึ่งจะแตกต่างกันไปตามสาเหตุของการเกิดไข้ เช่น มีผื่นขึ้นตามตัวเมื่อไข้เกิดจากโรคหัด, มีอาการปวดท้องด้านขวาตอนล่างร้าวมาถึงสะดือหรือจากสะดือร้าวลงมาช่องท้องด้านขวาตอนล่างเมื่อไข้เกิดจากไส้ติ่งอักเสบ เป็นต้น

โดยทั่วไปไข้เป็นอาการที่ไม่รุนแรงและมักหายได้เองเสมอ (ไข้ลดลง) ภายใน 2-3 วันถ้าได้รับการรักษาที่สาเหตุ แต่ถ้ามีไข้สูงเกินอาจส่งผลต่ออาการทำงานของสมองได้ หรือถ้ามีไข้สูงในเด็กเล็กก็มักก่อให้เกิดอาการชักจากไข้ได้

การวินิจฉัยอาการไข้

แพทย์สามารถวินิจฉัยได้จากประวัติอาการ การตรวจร่างกาย และการตรวจวัดอุณหภูมิของร่างกาย (โดยทั่วไปจะใช้ปรอทวัดไข้ทางปาก) หลังจากนั้นจะเป็นการตรวจต่าง ๆ เพื่อวินิจฉัยถึงสาเหตุของอาการไข้ ซึ่งถ้าสาเหตุเกิดจากโรคทั่วไปที่พบได้บ่อย แพทย์มักจะวินิจฉัยได้เพียงการดูจากประวัติอาการและการตรวจร่างกาย และให้การรักษาได้เลย แต่ในรายที่ไม่แน่ใจในสาเหตุ อาจจำเป็นต้องมีการตรวจอื่น ๆ เพิ่มเติมตามดุลยพินิจของแพทย์ เช่น การตรวจปัสสาวะ เอกซเรย์ปอด การตรวจเลือดทางห้องปฏิบัติการ โดยเฉพาะการตรวจซีบีซี (CBC) เป็นต้น

วิธีแก้ไข้

  • รับประทานยาลดไข้พาราเซตามอล (Paracetamol) และเช็ดตัวร่วมด้วยเมื่อมีไข้สูง แต่ในบางครั้งเมื่อมีไข้ต่ำ ๆ อาจไม่จำเป็นต้องรับประทานยาลดไข้เลยก็ได้ เพียงแต่เช็ดตัวบ่อย ๆ ก็เพียงพอแล้ว เพราะยาลดไข้เป็นเพียงยาที่ช่วยระงับหรือบรรเทาอาการไข้ได้ชั่วขณะหนึ่งเท่านั้น และเมื่อรักษาที่สาเหตุแล้วไข้ก็จะลดกลับมาเป็นปกติเอง (ยาลดไข้ที่ดีที่สุดคือยาพาราเซตามอล เพราะมีผลข้างเคียงน้อยและไม่ระเคืองต่อกระเพาะอาหาร)
    • การใช้ยาพาราเซตามอล (Paracetamol) ในผู้ใหญ่ ให้รับประทานครั้งละ 1-2 เม็ด (ชนิดเม็ด 500 มิลลิกรัม) ส่วนในเด็กที่มีอายุน้อยกว่า 12 ปี ให้ใช้ในขนาด 10-15 มิลลิกรัม/กิโลกรัม/ครั้ง สามารถรับประทานซ้ำได้ทุก 4-6 ชั่วโมง โดยควรรับประทานยาเฉพาะเมื่อมีไข้สูงเท่านั้น (ตั้งแต่ 38.5 องศาเซลเซียสขึ้นไป) ถ้าไม่หายให้ซ้ำได้ทุก 4-6 ชั่วโมง สำหรับผู้ใหญ่ไม่ควรเกิน 8 เม็ดหรือ 4 กรัมต่อวัน ส่วนในเด็กไม่ควรเกิน 5 ครั้งต่อวัน และไม่ควรใช้ติดต่อกันเป็นเวลา 5 วัน เนื่องจากมีโอกาสเกิดพิษต่อตับ
    • ยาลดไข้เป็นเพียงแค่ยาบรรเทาอาการ ไม่ใช่ยารักษาสาเหตุที่ทำให้เกิดไข้ กล่าวคือ เมื่อรับประทานยา 1 ครั้ง ยาจะออกฤทธิ์ลดไข้หลังการรับประทานประมาณ 30 นาที และจะออกฤทธิ์สูงสุดประมาณ 1 ชั่วโมง คงสภาพอยู่ได้ 4-6 ชั่วโมง หากสาเหตุที่ทำให้เกิดไข้ยังไม่หาย เมื่อยาหมดฤทธิ์แล้วไข้ก็จะปรากฏขึ้นมาใหม่ และต้องรับประทานยาใหม่ ดังนั้น หากมีไข้สูงระหว่างมื้อยา ให้ใช้วิธีเช็ดตัวลดไข้ หากมีอาการหนาวสั่นควรให้ความอบอุ่นก่อนแล้วจึงค่อยเช็ดตัว
    • ไม่ควรใช้ยาแอสไพริน (Aspirin) เพราะยานี้มีข้อห้ามในการใช้มาก (เช่น ห้ามใช้ในผู้ที่อายุต่ำกว่า 19 ปี, สตรีตั้งครรภ์ในช่วง 1-2 สัปดาห์ก่อนคลอด, ผู้ป่วยที่เป็นโรคกระเพาะหรือมีแผลในกระเพาะอาหาร, ผู้ป่วยที่มีภาวะเลือดออกง่ายอย่างโรคไข้เลือดออก, ผู้ป่วยโรคหืด ลมพิษ หวัด ภูมิแพ้ ที่เคยมีอาการกำเริบจากการใช้ยาชนิดนี้ เป็นต้น) และอาจทำให้เกิดอาการแพ้ยาจนเป็นอันตรายได้ หรือหากรับประทานมากเกินขนาด อาจทำให้มีไข้สูง ซึม ชัก และเสียชีวิตได้
  • รักษาที่ต้นเหตุ คือ การรักษาสาเหตุที่ทำให้เกิดไข้ซึ่งขึ้นอยู่กับแต่ละสาเหตุ เช่น รับประทานยาปฏิชีวนะเมื่อไข้เกิดโรคติดเชื้อแบคทีเรีย (เช่น โรคฉี่หนู โรคไอกรน), ผ่าตัดเมื่อไข้เกิดจากโรคไส้ติ่งอักเสบ, รักษาโรคมะเร็งเมื่อสาเหตุเกิดจากโรคมะเร็ง เป็นต้น
  • รักษาแบบประคับประคองไปตามอาการ เช่น รักษาอาการปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ ปวดเมื่อยตัว ด้วยการรับประทานยาลดไข้พาราเซตามอล หรือให้น้ำเกลือทางหลอดเลือดเมื่อผู้ป่วยมีอาการอ่อนเพลียมากหรือขาดน้ำ เป็นต้น
  • การดูแลตนเองเมื่อมีไข้ที่สำคัญ คือ
    1. ตรวจวัดอุณหภูมิอยู่เสมอ เพราะการรู้อุณหภูมิของร่างกายจะเป็นตัวบ่งบอกความรุนแรงของโรคที่เป็นอยู่ได้ ดังนั้นจึงควรวัดอุณหภูมิร่างกายอยู่เสมออย่างน้อยทุก 6-8 ชั่วโมง หรือตรวจเมื่อสงสัยว่าไข้ขึ้นหรือไข้สูง เช่น ปวดศีรษะมากขึ้น ซึมลง หรือกระสับกระส่ายมาก
    2. เช็ดตัวบ่อย ๆ เมื่อมีไข้สูงกว่า 37.5 องศาเซลเซียส โดยเฉพาะบริเวณที่เป็นตำแหน่งของหลอดเลือดแดงขนาดใหญ่ เช่น หน้าผาก ซอกคอ รักแร้ ขาหนีบ และตามข้อพับต่าง ๆ ส่วนขั้นตอนในการเช็ดตัวลดไข้นั้น ให้ใช้ผ้าเช็ดตัวผืนเล็ก 3 ผืนชุบน้ำอุ่นที่มีอุณหภูมิอุ่นกว่าอุณหภูมิห้องแต่เย็นกว่าร่างกายผู้ป่วยแล้วบิดหมาด ๆ ไม่ควรใช้น้ำเย็นจัด เพราะจะทำให้หลอดเลือดตีบและระบายความร้อนออกจากร่างกายได้ยาก นอกจากนี้ยังอาจทำให้เกิดอาการหนาวสั่นได้ด้วย
      • ผืนที่ 1 ใช้เช็ดบริเวณหน้าและพักผ้าไว้บริเวณซอกคอและหลังหู
      • ผืนที่ 2 ให้เช็ดบริเวณแขนโดยเริ่มจากปลายแขนเช็ดเข้าหาลำตัวและพักไว้บริเวณรักแร้
      • ผืนที่ 3 ให้เช็ดแขนอีกข้างและพักผ้าไว้บริเวณรักแร้
      • ให้เปลี่ยนผ้าบริเวณซอกคอ (ผืนที่ 1) ชุบน้ำบิดหมาด ๆ เช็ดบริเวณหน้าผากและศีรษะ แล้วพักผ้าไว้บริเวณหน้าผาก
      • ให้เปลี่ยนผ้าบริเวณรักแร้ (ผืนที่ 2-3) ชุบน้ำบิดหมาด ๆ เช็ดบริเวณลำตัว พักผ้าไว้บริเวณหัวใจและขาหนีบ
      • ต่อมาให้เปลี่ยนผ้าบริเวณหน้าผากและขาหนีบ (ผืนที่ 1 2 และ 3 รอบที่สอง) ชุบน้ำบิดหมาด ๆ เช็ดขาโดยเริ่มจากปลายเท้าและพักไว้บริเวณข้อเข่าและขาหนีบทั้งสองข้าง
      • หลังจากนั้นให้พลิกตะแคงตัวแล้วใช้ผ้าชุบน้ำบิดหมาด ๆ เช็ดด้านหลังตั้งแต่คอลงมาจนถึงก้นกบ โดยให้เช็ดหลาย ๆ ครั้ง หากน้ำในอ่างเย็นลงก็ให้เปลี่ยนน้ำอุ่นใหม่ แล้วเช็ดเหมือนเดิมจนครบ 15-20 นาที จนรู้สึกว่าร่างกายเย็นลง เสร็จแล้วให้เช็ดตัวให้แห้งและสวมใส่เสื้อผ้าที่ระบายความร้อนได้ดี แล้วไข้จะลดลงเร็ว หลังเช็ดตัวเสร็จ 30 นาที เมื่อไข้กลับขึ้นสูงก็ให้เช็ดซ้ำอีก นอกจากนี้ควรรับประทานยาลดไข้พาราเซตามอลร่วมด้วย เมื่อมีไข้สูงตั้งแต่ 38.5 องศาเซลเซียสขึ้นไป
    3. หยุดเรียนหรือหยุดงาน แล้วพักผ่อนให้มาก ๆ ไม่ตรากตรำทำงานหนักหรือออกกำลังกาย จนกว่าไข้จะลดลงแล้วอย่างน้อย 1-2 วัน
    4. รับประทานอาหารอ่อน รสจืด หรืออาหารเหลว (อาหารทางการแพทย์) โดยรับประทานครั้งละน้อย ๆ แต่บ่อยขึ้น เช่น น้ำข้าว ข้าวต้ม โจ๊ก ซุป เป็นต้น
    5. ควรจิบหรือดื่มน้ำมากขึ้นอย่างน้อยให้ได้วันละ 8-10 แก้ว โดยให้ดื่มครั้งละน้อย ๆ ตลอดทั้งวัน หรือดื่มมากพอจนมีปัสสาวะออกมากและใส เพื่อช่วยลดไข้และทดแทนน้ำที่สูญเสียไปเนื่องจากไข้สูง โดยอาจเป็นน้ำเปล่า น้ำหวาน น้ำผลไม้ หรือเครื่องดื่มร้อน ๆ ก็ได้ แต่ไม่ควรดื่มน้ำเย็น
    6. ถ้ามีอาการเจ็บคอ ให้ใช้น้ำ 1 แก้วผสมเกลือ 1 ช้อน กลั้วคอบ่อย ๆ
    7. ถ้าไอมาก ให้งดน้ำเย็น ให้จิบน้ำอุ่นบ่อย ๆ และให้รับประทานยาแก้ไอภายใต้คำแนะนำของแพทย์หรือเภสัชกร
    8. ถ้ามีอาการคัดจมูก ให้ล้างจมูกด้วยน้ำเกลือ 0.9% หรือ NSS หรือให้ใช้วิธีสูดดมไอน้ำร้อน โดยใส่น้ำร้อนลงในกะละมังเล็ก ๆ แล้วเอาผ้าคลุมศีรษะเหนือกะละมัง เพื่อสูดดมไอน้ำ อาจจะใส่เกล็ด Menthol หรือน้ำมัน Eucalyptus ลงไปในน้ำเล็กน้อยเพื่อช่วยให้จมูกโล่งขึ้น
    9. ควรทำความสะอาดช่องปากและฟันหรือจิบน้ำบ่อย ๆ เพื่อให้เยื่อบุชุ่มชื้น ระงับกลิ่นปาก ป้องกันแผลและการติดเชื้อในปาก
    10. สวมใส่เสื้อผ้าหลวม ๆ โปร่งสบาย ที่ระบายความร้อนได้ดี เช่น ผ้าฝ้าย ไม่ควรใส่เสื้อผ้ายืดเพราะจะไม่ระบายความร้อน และไม่ควรใส่เสื้อผ้าหนาหรือห่มผ้าหนา ๆ
    11. อยู่ในห้องที่มีอากาศถ่ายเทได้สะดวก
    12. รักษาสุขอนามัยพื้นฐาน (สุขบัญญัติแห่งชาติ) เพื่อให้ร่างกายมีสุขภาพแข็งแรง และลดโอกาสแพร่กระจายเชื้อไปสู่ผู้อื่นเมื่อไข้เกิดจากการติดเชื้อ
    13. ในเด็กหากให้ยาลดไข้แล้วไข้ยังไม่ลด ควรให้เด็กดื่มน้ำมาก ๆ ร่วมกับการเช็ดตัวด้วยน้ำอุณหภูมิปกติจนกว่าไข้จะลด ไม่จำเป็นต้องพาเด็กไปพบแพทย์ทันทีเมื่อมีไข้ หากเด็กยังเล่นได้ ดูทีวีได้ ก็เพียงแต่ให้ยาลดไข้เป็นครั้งเป็นคราว แต่ถ้าหากใน 2-3 วัน อาการไข้ยังไม่ทุเลาลงจึงค่อยพาไปพบแพทย์ เพราะไข้จะหายได้เองเมื่อถึงกำหนดระยะของโรค ซึ่งแม้จะไปพบแพทย์เร็วก็ไม่ได้ช่วยให้ไข้หายได้เร็วขึ้น (ในสังคมไทยมีความเชื่อที่ว่า หากเด็กไม่ถ่ายอุจจาระจะทำให้ไข้ยิ่งสูงขึ้น ซึ่งเป็นความเชื่อที่ผิด ผู้ปกครองไม่ควรใช้วิธีการใด ๆ มาทำให้เด็กถ่าย เพราะการไม่ถ่ายนั้นเกิดจากการที่เด็กรับประทานอาหารได้น้อยลงในช่วงที่เป็นไข้ การรับประทานยาระบายหรือการเหน็บยาอาจมีอันตรายได้หากสาเหตุของการเกิดไข้มาจากไข้ไทฟอยด์หรือไส้ติ่งอักเสบ เพราะจะทำให้ลำไส้แตกทะลุได้)
    14. ให้รับประทานยาปฏิชีวนะ (ภายใต้คำแนะนำของแพทย์) เมื่อมีภาวะแทรกซ้อนจากเชื้อแบคทีเรีย เช่น มีน้ำมูกหรือเสมหะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองหรือเขียว
    15. ควรรีบไปพบแพทย์เสมอเมื่อมีไข้สูง ไข้ไม่ลดลงภายใน 2-3 วัน (โดยเฉพาะมีไข้สูงขึ้นทั้ง ๆ ที่ดูแลตนเองแล้ว แต่ในผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคต่ำ เช่น เด็กอ่อน เด็กเล็ก ผู้สูงอายุ สตรีตั้งครรภ์ ผู้ป่วยที่เป็นโรคเรื้อรังต่าง ๆ อย่างเบาหวาน โรคติดเชื้อเอชไอวี ฯลฯ ควรไปพบแพทย์ภายใน 2 วัน หรือถ้ามีอาการมากก็ควรไปพบแพทย์ภายใน 24 ชั่วโมง), มีไข้ต่อเนื่องหรือไข้ขึ้น ๆ ลง ๆ นานเกิน 3-4 วัน, มีไข้ลดลงแล้ว 2-3 วันแล้วย้อนกลับมามีไข้อีก หรือเมื่อมีความกังวลในอาการที่เป็นอยู่
    16. ควรรีบไปพบแพทย์ภายใน 24 ชั่วโมง ถ้ามีอาการรุนแรงอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น ปวดศีรษะมาก คลื่นไส้อาเจียนมาก มีผื่นขึ้นตามตัว กระสับกระส่าย ไอรุนแรง ตากลัวแสง มีไข้สูงเกิน 40.5 องศาเซลเซียส และ/หรือมีอาการทางปัสสาวะร่วมด้วย เช่น ปวดเบ่ง ปวดแสบเมื่อปัสสาวะสุด เป็นต้น
    17. ควรไปพบแพทย์เป็นการฉุกเฉินเมื่อมีไข้ร่วมกับอาการปวดศีรษะอย่างรุนแรง (อาจร่วมกับคลื่นไส้อาเจียน), ไอเป็นเลือด, อาเจียนรุนแรงตลอดเวลา, หายใจลำบาก เจ็บหน้าอก ตัวเขียว มือเท้าเขียวคล้ำ, คอบวมมาก หายใจไม่ออก แน่นอึดอัด, คอแข็งร่วมกับปวดศีรษะมาก และ/หรือแขนขาอ่อนแรง, กระสับกระส่ายมาก, มีอาการขาดน้ำ (กระหายน้ำมาก ปัสสาวะน้อยหรือสีเข้มมาก เวียนศีรษะ ปากแห้งมาก ความยืดหยุ่นของผิวหนังลดลง), ปวดท้องมาก โดยเฉพาะปวดบริเวณสะดือ หรือช่องท้องด้านขวาตอนล่าง, ชัก หรือมีอาการอื่น ๆ ที่รุนแรง
  • สมุนไพรลดไข้ สมุนไพรลดไข้ส่วนใหญ่จะมีฤทธิ์ลดไข้อย่างเดียว ไม่ได้มีฤทธิ์แก้ปวดเหมือนยาลดไข้แผนปัจจุบันและมักจะมีรสขม วิธีการเตรียมยาส่วนใหญ่จะใช้การต้ม อาจนำมาใช้กับอาการไข้ปานกลางหรือต่ำ เป็นไม่นานเกิน 7 วัน และไม่มีอาการรุนแรงอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น หนาวสั่นมาก ปวดศีรษะรุนแรง เจ็บหน้าอก หรือปวดท้องรุนแรง
    1. คนทา (Harrisonia perforata (Blanco) Merr.) ใช้เปลือกต้นหรือรากต้มกินเป็นยาแก้ไข้
    2. บอระเพ็ด (Tinospora crispa (L.) Hook. f. & Thomson) ใช้เถาสดขนาดยาว 2 คืบครึ่ง (30-40 กรัม) นำมาตำคั้นเอาน้ำดื่ม หรือใช้วิธีต้มเคี่ยวกับน้ำ 3 ส่วนจนเหลือ 1 ส่วน แบ่งครั้งละ 2-3 ช้อนโต๊ะ ก่อนอาหารวันละ 2-3 ครั้งเมื่อตอนมีไข้
    3. บัวบก (Centella asiatica (L.) Urb.) ใช้น้ำต้มจากใบสดดื่มเป็นยาลดไข้
    4. ปลาไหลเผือก (Eurycoma longifolia Jack) ใช้รากต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้ไข้ทุกชนิด ตามตำรับยาจะใช้รากแห้งหนักประมาณ 8-15 กรัม หรือครั้งละ 1 กำมือ นำมาต้มกับน้ำดื่มก่อนอาหาร วันละ 2 ครั้ง เช้าและเย็น
    5. ฟ้าทะลายโจร (Andrographis paniculata (Burm.f.) Nees) ใช้เฉพาะส่วนที่อยู่บนดิน (ใบและทั้งต้น) ซึ่งเก็บก่อนที่ดอกจะบาน เป็นยาแก้ไข้ ขนาดที่ใช้คือพืชสด 1-3 กำมือ ต้มน้ำดื่มก่อนอาหารวันละ 3 ครั้ง หรือใช้พืชแห้งนำมาบดเป็นผงละเอียดปั้นเป็นยาลูกกลอน ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 0.8 ซม. ใช้กินครั้งละ 3-6 เม็ด วันละ 3-4 ครั้ง ก่อนอาหารและก่อนนอน ส่วนผงฟ้าทะลายที่บรรจุแคปซูล ๆ ละ 500 มิลลิกรัม ให้กินครั้งละ 2 เม็ด วันละ 2 ครั้ง ก่อนอาหารเช้าและเย็น
    6. ไม้เท้ายายม่อม (Clerodendrum petasites (Lour.) S.Moore) รากสดมีรสขม นำมาต้มกับน้ำกินเป็นยาแก้ไข้
    7. รางจืด (Thunbergia laurifolia Lindl.) ใบสดนำมาคั้นเอาน้ำ ใช้เป็นยาแก้ไข้ ถอนพิษต่างๆ ในร่างกาย
    8. ว่านธรณีสาร (Phyllanthus pulcher Wall. ex Müll.Arg.) ใช้รากเป็นยาแก้ไข้ตัวร้อน หรือใช้ใบแห้งนำมาบดให้เป็นผง ใช้แทรกพิมเสนกวาดคอเด็กเพื่อลดไข้ รักษาอาการตัวร้อน
    9. สะเดา (Azadirachta indica A.Juss.) ใช้ยอดอ่อนหรือดอกลวกจิ้มกินกับน้ำพริก อาการจะบรรเทาภายใน 24 ชั่วโมง หรือถ้าหากไปตากแดดตากฝน จนมีอาการอ่อนเพลียเบื่ออาหาร ครั่นเนื้อครั่นตัว คล้ายจะเป็นไข้ ให้ใช้ยอดอ่อนและดอกลวกกินกับข้าว หรือจะใช้ใบทั้งก้านและดอกนำมาตากแดดจนแห้ง ต้มกับน้ำ 3 แก้วจนเหลือ 1 แก้ว ใช้กินก่อนอาหารขณะอุ่น ๆ ไม่เกิน 3 วัน ไข้จะหาย หรืออีกสูตรให้ใช้ก้านสะเดา 33 ก้าน ต้มกับน้ำ 3 แก้วจนเหลือ 1 แก้ว แล้วดื่มให้หมด แล้วเอายาใหม่มาต้มกินอีกวันละ 3-4 ครั้ง หรือจะใช้รากสะเดาประมาณ 1 กำมือ ยาวหนึ่งฝ่ามือ ต้มกับน้ำจนเดือดนาน 10-15 นาที ใช้กินก่อนหรือหลังอาหารครั้งละครึ่งแก้ว ทุก ๆ 4 ชั่วโมง จะทำให้ความร้อนลดลง อาการไข้จะหาย หรือถ้าหากเป็นไข้ตัวร้อน กระหายน้ำด้วย ก็ใช้ก้านและใบประมาณ 2-3 กำมือ ใส่น้ำพอท่วมยา ต้มจนเดือดประมาณ 5-10 นาที ใช้ดื่มต่างน้ำอาการจะดีขึ้น
    10. สมุนไพรอื่น ๆ ที่มีฤทธิ์เป็นยาแก้ไข้ เช่น ลำต้นและเปลือกต้นกระแจะ (Hesperethusa crenulata (Roxb.) M. Roem.), รากและเมล็ดกระทงลาย (Celastrus paniculatus Willd.), โกฐจุฬาลัมพา (Artemisia vulgaris L.), แก่นที่ลาลงของจันผา (Dracaena cochinchinensis (Lour.) S.C.Chen.), แก่นจันทน์ชะมด (Aglaia pyramidata Hance), รากประทัดใหญ่ (Quassia amara L.), เปลือกต้น ใบ และดอกพญาสัตบรรณ (Alstonia scholaris (L.) R. Br.), ดอกพะยอม (Shorea roxburghii G.Don), ใบและกิ่งฟ้าทะลายโจร (Andrographis paniculata (Burm.f.) Nees), รากมะปราง (Bouea macrophylla Griff.), เปลือกต้นมะฮอกกานีใบใหญ่ (Swietenia macrophylla King), รากระย่อมน้อย (Rauvolfia serpentina (L.) Benth. ex Kurz) เป็นต้น

สมุนไพรแก้ไข้

วิธีป้องกันไข้

การป้องกันไข้คือ การป้องกันที่สาเหตุ ซึ่งสาเหตุของการเกิดไข้ที่พบได้บ่อยที่สุดคือเกิดจากการติดเชื้อโรค ดังนั้นการป้องกันที่ทำได้คือการรักษาสุขภาพร่างกายให้แข็งแรงและป้องกันการติดเชื้อ คือ

  • หลีกเลี่ยงการสัมผัสคลุกคลีกับผู้ป่วยโดยไม่จำเป็น
  • หลีกเลี่ยงการไปในสถานที่แออัดในช่วงที่มีการระบาดของโรค
  • หมั่นล้างมือให้สะอาดอยู่เสมอ และรู้จักใช้หน้ากากอนามัย
  • รักษาสุขอนามัยพื้นฐาน (สุขบัญญัติแห่งชาติ) เพื่อให้ร่างกายมีสุขภาพแข็งแรง
  • ฉีดวัคซีนป้องกันโรคต่าง ๆ ตั้งแต่แรกเกิดและฉีดเป็นระยะ ๆ ตามคำแนะนำของแพทย์
เอกสารอ้างอิง
  1. ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล.  “ไข้หรือตัวร้อน”.  (ศ.นพ.เกรียงศักดิ์ จีระแพทย์).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.si.mahidol.ac.th.  [23 ก.ค. 2016].
  2. งานการพยาบาลผู้ป่วยกุมารเวชศาสตร์ โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.  “การจัดการไข้ในผู้ป่วยเด็ก”.  (ดร.ศรีวัฒนา ทรงจิตสมบูรณ์).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.med.cmu.ac.th/hospital/nped/2011/.  [24 ก.ค. 2016].
  3. หาหมอดอทคอม.  “ไข้ อาการไข้ตัวร้อน (Fever)”.  (ศ.เกียรติคุณ พญ.พวงทอง ไกรพิบูลย์).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : haamor.com.  [24 ก.ค. 2016].
  4. สถานปฏิบัติการเภสัชชุมชน มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ.  “ชนิดของไข้ (Fever Pattern)”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : drug.pharmhcu.com.  [25 ก.ค. 2016].

ภาพประกอบ : www.health.harvard.edu, www.texasmedclinic.com

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด