ใบต่อก้าน
ใบต่อก้าน ชื่อวิทยาศาสตร์ Evolvulus alsinoides (L.) L. จัดอยู่ในวงศ์ผักบุ้ง (CONVOLVULACEAE)[1]
ลักษณะของใบต่อก้าน
- ต้นใบต่อก้าน จัดเป็นพรรณไม้ล้มลุก ลำต้นทอดยาวไปตามพื้นดิน หรือโค้งแล้วตั้งตรง สูงได้ประมาณ 0.5-1 เมตร มีขนนุ่ม ๆ ขึ้นปกคลุมทั่วไปตามลำต้นและตามกิ่งก้านที่โคน ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด มีเขตการกระจายพันธุ์ในแอฟริกาตะวันออก ปากีสถาน เนปาล อินเดีย บังกลาเทศ ศรีลังกา จีน กัมพูชา พม่า ลาว เวียดนาม มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ หมู่เกาะแปซิฟิก และมาดากัสการ์ ส่วนในประเทศไทยพบขึ้นกระจายแบบห่าง ๆ แทบทุกภาคของประเทศ ยกเว้นทางภาคตะวันออกเฉียงใต้ โดยมักขึ้นตามพื้นที่เป็นหิน เขาหินปูน หรือพื้นที่ปนทรายที่แห้งแล้ง ตามที่โล่ง ทุ่งหญ้า ป่าเบญจพรรณ และป่าเต็งรัง จนถึงระดับความสูง 900 เมตร[1],[2]
ใบใบต่อก้าน ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับ ลักษณะของใบเป็นรูปหอก รูปแถบ รูปขอบขนาน หรือรูปช้อน ปลายใบมนหรือมีหยักเว้าตื้น ๆ โคนใบกลมหรือเป็นรูปลิ่ม ส่วนขอบใบเรียบ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 3-8 มิลลิเมตร และยาวประมาณ 5-20 มิลลิเมตร แผ่นใบมีขนยาวค่อนข้างทึบทั้งสองด้าน หรือด้านบนเกลี้ยง ก้านใบสั้นมากหรือไม่มีก้านใบ ถ้ามีจะมีขนาดยาวประมาณ 1-2 มิลลิเมตร[1],[2]
- ดอกใบต่อก้าน ออกดอกเป็นช่อกระจุกตามซอกใบ จะมีประมาณ 1 ดอก หรือ 2-3 ดอก ก้านดอกย่อยมีขนาดเล็กเรียว ยาวได้ประมาณ 3-10 มิลลิเมตร ส่วนก้านช่อดอกจะยาวประมาณ 1-5 เซนติเมตร มีใบประดับ 2 ใบ ออกตรงข้าม ลักษณะเป็นรูปสามเหลี่ยม กว้างประมาณ 0.3-0.5 มิลลิเมตร และยาวประมาณ 1-2 มิลลิเมตร ผิวด้านนอกมีขน กลีบเลี้ยงเชื่อมติดกันเป็นถ้วยที่ฐาน กว้างประมาณ 1.5-2 มิลลิเมตร และยาวประมาณ 1-2.4 มิลลิเมตร ปลายแหลม ผิวด้านนอกมีขนขึ้นอยู่ห่าง ๆ ส่วนกลีบดอกเป็นสีม่วง สีขาว หรือสีเหลืองอ่อน เป็นรูประฆังยาวประมาณ 4-5 มิลลิเมตร ปลายแยกจากกันเล็กน้อย ผิวด้านนอกมีขน ดอกมีเกสรเพศผู้ 5 อัน ติดอยู่ที่ฐานของหลอดกลีบดอก อับเรณูเป็นรูปสามเหลี่ยม ยาวประมาณ 0.5-0.8 มิลลิเมตร ติดกับก้านชูเกสรที่ฐาน ก้านชูเกสรมีลักษณะเป็นแท่งยาวประมาณ 1-1.5 มิลลิเมตร เกสรเพศเมีย รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ ลักษณะเป็นรูปค่อนข้างกลมยาวประมาณ 0.5-1 มิลลิเมตร มีฐานดอกรองรับ ก้านชูเกสรเพศเมียจะมี 2 ก้าน แต่ละก้านมีความยาวประมาณ 0.3-0.5 มิลลิเมตร และแต่ละก้านจะมียอดเกสรเพศเมียแยกเป็น 2 ก้าน แต่ละก้านยาวประมาณ 1.5-2 มิลลิเมตร ส่วนปลายสุดเป็นก้อนกลม ออกดอกในช่วงประมาณเดือนเมษายน สิงหาคม และธันวาคม[1],[2]
- ผลใบต่อก้าน ผลเป็นผลแห้ง มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1.5-2.5 มิลลิเมตร มีกลีบเลี้ยงหุ้มทั้งผล เมื่อผลแก่จัดจะแตกออกเป็น 4 เสี่ยง ภายในผลมีเมล็ดสีดำ 2 เมล็ด ลักษณะของเมล็ดเป็นรูปไต ยาวประมาณ 1-1.5 มิลลิเมตร ผิวเมล็ดเรียบ ติดผลในช่วงประมาณเดือนพฤษภาคม สิงหาคม และกันยายน[1],[2]
สรรพคุณของใบต่อก้าน
- ทั้งต้นใช้เป็นยาขมช่วยเจริญอาหาร เป็นยาบำรุง (ทั้งต้น)[1]
- ช่วยรักษาอาการเงื่องหงอยเฉื่อยชา (ทั้งต้น)[1]
- ใช้เป็นยารักษาอาการไข้ (ทั้งต้น)[1]
- ใบนำมาใช้มวนเป็นบุหรี่สูบรักษาโรคหลอดลมอักเสบ และโรคหืด (ใบ)[1]
- ช่วยรักษาโรคบิด (ทั้งต้น)[1]
- ทั้งต้นใช้เป็นยาขับพยาธิ (ทั้งต้น)[1]
- ใช้เป็นยาขับน้ำเหลืองเสีย (ทั้งต้น)[1]
- ช่วยรักษาอาการอักเสบบวมร้อน (ทั้งต้น)[1]
ประโยชน์ของใบต่อก้าน
- ทั้งต้นใช้ผสมกับน้ำมันใช้ปลูกผมได้[1]
เอกสารอ้างอิง
- หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5. (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม). “ใบต่อก้าน”. หน้า 440-441.
- ฐานข้อมูลพรรณไม้ องค์การสวนพฤกษศาสตร์, กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม. “ใบต่อก้าน”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.qsbg.org. [29 พ.ย. 2014].
ภาพประกอบ : www.centralafricanplants.senckenberg.de
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)