โรคแพนิค (Panic disorder) อาการ สาเหตุ การรักษาโรคแพนิค 9 วิธี !

โรคแพนิค

โรคแพนิค/แพนิก หรือ โรคตื่นตระหนก (Panic disorder)* หรือบ้างก็เรียกว่า “โรคหัวใจอ่อน” หรือ “โรคประสาทลงหัวใจ” คือ ภาวะวิตกกังวลหรือมีความรู้สึกกลัวอย่างรุนแรงที่เกิดขึ้นอย่างฉับพลันทันทีโดยไม่คาดคิดมาก่อน คือ อยู่ ๆ ก็เกิดขึ้นมาเองโดยไม่ทราบสาเหตุ ซึ่งอาการแต่ละครั้งจะเป็นอยู่เพียงไม่นานก็จะหายไป และอาการจะมีลักษณะกำเริบซ้ำ ๆ ได้อีกเป็นครั้งคราว จนทำให้ผู้ป่วยบางรายกลัวว่าตัวเองจะเป็นโรคหัวใจหรือกลัวว่าจะเสียชีวิต ซึ่งความจริงแล้วโรคนี้ไม่ได้มีอันตราย และหากผู้ป่วยได้รับการรักษาอย่างจริงจังและต่อเนื่องก็จะสามารถดำเนินชีวิตได้อย่างเป็นปกติสุข

โรคแพนิคเป็นโรคที่พบได้ประมาณ 2-5% ของประชากรทั่วไป และพบได้ในผู้หญิงมากกว่าผู้ชายประมาณ 2-3 เท่า

หมายเหตุ : Panic แปลว่า ความหวาดกลัว

สาเหตุของโรคแพนิค

ในปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด แต่สันนิษฐานว่า โรคนี้อาจเกี่ยวข้องกับความผิดปกติทางพันธุกรรม เพราะพบว่าผู้ที่มีพ่อแม่พี่น้องเป็นโรคนี้จะมีโอกาสเป็นโรคนี้มากกว่าคนทั่วไป นอกจากนี้ยังอาจเกี่ยวข้องกับปัจจัยทางด้านจิตใจและด้านชีวภาพ

  • ปัจจัยทางด้านจิตใจ โดยเชื่อว่าความวิตกกังวลที่เกิดขึ้นนั้นเป็นการเลียนแบบมาจากพ่อแม่ที่มีอาการในลักษณะเดียวกับผู้ป่วย หรือเกิดจากการที่ผู้ป่วยเคยมีอาการแพนิคในขณะที่มีสิ่งกระตุ้นหรืออยู่ในสถานที่บางลักษณะ และเมื่อเจอสิ่งกระตุ้นหรือสถานที่ลักษณะนั้นก็ทำให้อาการกำเริบขึ้นมา
  • ปัจจัยทางด้านชีวภาพ เพราะพบว่าระบบประสาทอัตโนมัติส่วนซิมพาเทติกของผู้ป่วยมีความไวต่อสิ่งกระตุ้นต่าง ๆ หรือมีการตอบสนองอย่างผิดปกติต่อสารสื่อประสาท (Neurotransmitters) ได้แก่ นอร์เอพิเนฟริน (Norepinephrine), เซโรโทนิน (Serotonin), กรดแกมมาอะมิโนบิวทีริก (Gamma-aminobutyric acid – GABA) หรืออาจเกิดจากสารเหนี่ยวนำต่าง ๆ เช่น คาร์บอนไดออกไซด์เข้มข้น 5-35%, โซเดียมแล็กเทต (Sodium lactate), โซเดียมไบคาร์บอเนต (Sodium bicarbonate), โยฮิมบิน (Yohimbin), เฟนฟลูรามีน (Fenfluramine), กาเฟอีน (Caffeine) เป็นต้น

โดยปกติแล้วเวลาที่คนเราตกใจร่างกายจะมีการตอบสนองต่อเหตุการณ์ที่ทำให้ตกใจนั้นผ่านระบบของร่างกาย ที่สำคัญก็คือระบบประสาทอัตโนมัติ (Automatic nervous system; เป็นระบบที่ทำหน้าที่รักษาสมดุลให้ร่างกาย ซึ่งเราสั่งให้มันทำงานไม่ได้ เช่น เราจะสั่งให้หัวใจของเราเต้นเร็วขึ้นไม่ได้ จะสั่งให้เหงื่อออกเองไม่ได้ เป็นต้น แต่มันจะทำงานเองโดยอัตโนมัติเมื่อสิ่งแวดล้อมภายนอกเปลี่ยนแปลงไป) ซึ่งจะส่งผลทำให้หัวใจเต้นแรง หายใจเร็ว เหงื่อออก ทั้งนี้ก็เพื่อเป็นการเตรียมร่างกายให้พร้อมที่สุดเพื่อที่จะรับมือกับสถานการณ์ที่ทำให้ตกใจต่าง ๆ (ทั้งสถานการณ์ที่ดีและไม่ดี) เพียงแต่ระบบที่ว่านี้จะทำงานเฉพาะเมื่อมีสิ่งที่มากระตุ้นเท่านั้น แต่ถ้าระบบนี้ทำงานขึ้นมาเองโดยที่ไม่มีสิ่งใดมากระตุ้นเลยนั่นคืออาการของโรคแพนิคครับ คือระบบประสาทอัตโนมัติไวเกินไปนั่นเอง (เปรียบเหมือนกับสัญญาณกันขโมยของรถยนต์ที่ไวเกิน แค่สุนัขปัสสาวะใส่ล้อ มีลมพัด หรือใบไม้หล่นใส่ สัญญาณก็ดังแล้ว ทั้ง ๆ ที่ยังไม่มีการขโมยหรือถูกงัดแงะแต่อย่างใด ซึ่งระบบประสาทอัตโนมัติไวเกินก็เช่นกันครับ คือ ยังไม่มีเหตุการณ์อะไรผิดปกติเกิดขึ้นเลย แต่ระบบก็ส่งสัญญาณไปยังส่วนต่าง ๆ ของร่างกายให้ทำงานแล้ว เช่น สั่งให้หัวใจเต้นเร็ว หายใจเร็ว เหงื่อออก เป็นต้น)

ระบบประสาทอัตโนมัติจะทำงานได้จะต้องส่งผ่านเส้นประสาทจากสมองไปยังอวัยวะต่าง ๆ เช่น หัวใจ ต่อมเหงื่อ โดยอาศัยสารสื่อประสาทเล็ก ๆ เป็นตัวส่งสัญญาณ ถ้าสารสื่อประสาทดังกล่าวอยู่ภาวะปกติ สมดุลดี ก็จะทำให้สัญญาณที่ส่งไปนั้นมีความถูกต้อง ไม่ผิดพลาด ไม่ไวเกิน และไม่ช้าเกินไป แต่ในทางตรงกันข้ามถ้าสารสื่อประสาทดังกล่าวเกิดเสียสมดุลก็จะนำไปสู่การสั่งงานที่ผิดพลาด (หลายคนอาจจะเคยได้ยินแพทย์อธิบายสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคแพนิคนั้นเป็นเพราะสารสื่อประสาทหรือสารเคมีในสมองไม่สมดุลนั่นเอง) โดยสาเหตุที่ทำให้สารสื่อประสาทในสมองเสียสมดุลมีได้หลายสาเหตุ เช่น

  • พันธุกรรม การมีพ่อแม่พี่น้องหรือญาติสายตรงเป็นโรคแพนิค โอกาสที่ลูกหลานจะเป็นโรคนี้ก็มีมากกว่าคนทั่วไป
  • การใช้ยาบางชนิดหรือสารเสพติด ซึ่งจะไปทำให้สารสื่อประสาทในสมองเสียสมดุลไป
  • ประสบการณ์ในชีวิต เพราะมีการศึกษาวิจัยพบว่า คนที่เคยผ่านเหตุการณ์เลวร้ายในชีวิตมาก่อน (โดยเฉพาะในวัยเด็ก) จะมีโอกาสเป็นโรคแพนิคได้มากกว่าคนที่ไม่เคยผ่านเหตุการณ์เลวร้าย เช่น การสูญเสียพ่อแม่ตั้งแต่วัยเด็ก การถูกทอดทิ้งในวัยเด็ก การถูกทำร้ายร่างกายหรือถูกล่วงละเมิดทางเพศ เป็นต้น ซึ่งเหตุการณ์เลวร้ายต่าง ๆ เหล่านี้อาจทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงหรือการเสียสมดุลของสารสื่อประสาทในสมองได้ แต่ก็ต้องมีการศึกษาวิจัยต่อไป

อาการของโรคพานิค

ผู้ป่วยมักมีอาการเกิดขึ้นครั้งแรกในช่วงอายุประมาณ 17-30 ปี (โดยเฉลี่ยคือ 25 ปี) โดยจะมีอาการวิตกกังวลหรือรู้สึกกลัวอย่างรุนแรงเกิดขึ้นมาอย่างฉับพลันทันทีทันใดโดยไม่คาดคิดมาก่อนและไม่สามารถคาดเดาได้ว่าจะเกิดเมื่อไหร่ (ชนิดที่ว่าอยู่ดี ๆ ก็เป็นขึ้นมาเอาดื้อ ๆ โดยที่ไม่มีสิ่งใดมากระตุ้น) และผู้ป่วยจะมีอาการแบบนี้กำเริบซ้ำได้อีกบ่อย ๆ บางรายอาจเป็น 2-3 ครั้งต่อสัปดาห์ หรือบางรายที่เป็นมากก็อาจจะเป็นวันละหลาย ๆ ครั้ง จนอาจไม่สามารถนอนหลับได้ในตอนกลางคืน ซึ่งผลจากการที่มีอาการแบบนี้บ่อย ๆ จึงทำให้ผู้ป่วยหลายรายเกิดความวิตกกังวลตามมา เช่น กลัวว่าจะมีอาการขึ้นมาอีก หรือกลัวว่าตัวเองจะเป็นโรคอะไรบางอย่าง เป็นต้น ซึ่งในแต่ละครั้งที่มีอาการผู้ป่วยจะมีอาการดังต่อไปนี้ตั้งแต่ 4 ข้อขึ้นไป

  • ใจสั่น หัวใจเต้นแรงหรือเต้นเร็วเหมือนตีกลอง
  • มือสั่น หรือตัวสั่น
  • เหงื่อแตก
  • หายใจติดขัด หายใจไม่อิ่ม หรือแน่นในหน้าอก
  • เจ็บบริเวณหน้าอกหรือไม่สบายบริเวณหน้าอก
  • คลื่นไส้ ไม่สบายท้องหรือปั่นป่วนในท้อง
  • รู้สึกมึนงง วิงเวียนศีรษะ โคลงเคลง หรือรู้สึกว่าตัวเองแปลกไป
  • รู้สึกมึนชาหรือปวดเสียวตามตัว
  • รู้สึกหนาวสั่น หรือร้อนวูบวาบไปทั้งตัว
  • กลัวว่าจะควบคุมตัวเองไม่ได้ หรือกลัวว่าตัวเองจะเป็นบ้า
  • กลัวว่าจะเสียชีวิต

ทั้งนี้ อาการที่เกิดขึ้นจะไม่สัมพันธ์กับเหตุการณ์หรือสถานการณ์ใด ๆ และไม่เกี่ยวข้องกับโรคทางกายหรือการใช้ยาหรือสารใด ๆ โดยอาจจะเกิดขึ้นในขณะที่อยู่ในบ้าน หรืออยู่นอกบ้านตามลำพังหรืออยู่กับผู้อื่นก็ได้

อาการแพนิคนั้นจะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและเพิ่มความแรงถึงระดับสูงสุดภายใน 10 นาที ซึ่งในแต่ละครั้งผู้ป่วยมักจะมีอาการเกิดขึ้นประมาณ 15-20 นาทีแล้วหายไป (ส่วนมากจะมีอาการแต่ละครั้งไม่เกิน 30 นาที และมีน้อยรายมากที่จะมีอาการเกิดขึ้นนานเกิน 1 ชั่วโมง)

โรคแพนิก
IMAGE SOURCE : treatmenttoday.com

ผู้ป่วยมักมีพฤติกรรมเปลี่ยนไปจากเดิมซึ่งเป็นผลมาจากอาการดังกล่าวจนทำให้มีผลต่อการดำเนินชีวิตประจำวันได้ เช่น ไม่กล้าออกจากบ้าน ไม่กล้าอยู่คนเดียวหรือไปไหนมาไหนเพียงคนเดียว หรือไม่กล้าทำกิจกรรมบางอย่างหรือไปในสถานที่ที่เคยเกิดอาการ (ผู้ป่วยอาจจะเชื่อมโยงอาการกับสถานที่หรือกิจกรรมบางอย่าง) ยกตัวอย่างเช่น บางคนไม่กล้าที่จะออกไปไหนเพียงคนเดียว อาจเป็นเพราะเคยมีอาการกำเริบตอนออกไปนอกบ้านแล้วไม่มีใครช่วย จึงกลัวว่าหากอาการกำเริบขึ้นมาอีกจะไม่มีใครช่วยเหลือ หรือบางคนไม่กล้าที่จะนั่งรถหรือขับรถ เพราะครั้งแรกที่มีอาการแพนิคเป็นตอนที่นั่งรถหรือขับรถอยู่พอดี เป็นต้น

ในขณะที่ผู้ป่วยมีอาการกำเริบ อาจตรวจพบชีพจรเต้นเร็ว ความดันโลหิตสูง หายใจเร็วเล็กน้อย มือสั่น หรือมีกลุ่มอาการระบายลมหายใจเกิน (Hyperventilation syndrome – HVS)

เป็นโรคแพนิคแล้วจะมีโอกาสเป็นบ้าหรือไม่ ?

ยังไม่ค่อยพบว่าคนที่เป็นโรคแพนิคแล้วจะกลายเป็นโรคจิตเภทในภายหลัง แต่อาจจะพบภาวะอื่น ๆ ตามมาได้ เช่น

  • ภาวะอะโกราโฟเบีย (Agoraphobia) หรืออาการกลัวที่จะต้องอยู่ในที่ที่ไม่สามารถได้รับความช่วยเหลือได้เมื่อมีอาการกำเริบ จึงทำให้ผู้ป่วยไม่กล้าอยู่คนเดียว ไม่กล้าที่จะไปไหนมาไหนเพียงคนเดียว เพราะถ้าจู่ ๆ เกิดมีอาการกำเริบขึ้นมาจะไม่มีใครช่วย
  • ภาวะซึมเศร้า หลังจากที่ผู้ป่วยมีอาการและไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้อง หรือตรวจมาหลายที่แล้วก็ยังไม่พบสาเหตุ (ผู้ป่วยคิดว่าตัวเองผิดปกติแน่แต่ตรวจไม่พบ) จึงอาจทำให้ผู้ป่วยเริ่มรู้สึกท้อแท้ เบื่อหน่าย ยิ่งบางรายที่เป็นหัวหน้าครอบครัวด้วยแล้วก็จะยิ่งวิตกกังวลว่าจะไม่มีคนช่วยดูแลครอบครัว จึงทำให้มีอาการหนักมากขึ้นไปอีก บางรายอาจถึงขั้นคิดอยากฆ่าตัวตาย รวมทั้งจะพาครอบครัวตายไปด้วยกันทั้งหมดก็มี

อาการแพนิค

ผู้ที่มี “อาการแพนิค” (Panic attacks) ไม่ได้แปลว่าจะต้องเป็นโรคแพนิค (Panic disorder) เสมอไป หากมีอาการแพนิคเพียงครั้งเดียวแล้วไม่ได้เกิดผลอะไรตามมาก็ไม่นับว่าเป็นโรคแพนิค (เช่น เครื่องบินสั่นมากตอนเจอสภาพอากาศที่ไม่ดี แล้วเกิดอาการขึ้นมา) เพราะในโรคแพนิคนั้น ผู้ป่วยจะมีอาการกำเริบซ้ำหลายครั้ง จนเกิดความกังวลว่าจะมีอาการนี้ขึ้นมาอีก กลัวว่าจะเป็นโรคหัวใจ กลัวว่าจะเสียชีวิต กลัวว่าจะควบคุมตัวเองไม่ได้ หรือกลัวว่าจะเป็นบ้า และอาจส่งผลทำให้ต้องเลี่ยงสถานการณ์บางอย่าง เช่น ไม่กล้าออกจากบ้าน ไม่กล้าขับรถ เป็นต้น กล่าวโดยสรุปก็คือ ผู้ป่วยจะมีอาการกำเริบซ้ำ ๆ ประกอบกับมีความกลัวต่อเนื่องซึ่งส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน จึงจะถือว่าเป็นโรคแพนิค (Panic disorder)

อาการแพนิคสามารถพบได้ในโรคอื่น ๆ เช่น โรคกลัวการเข้าสังคม (Social phobia) ที่เมื่อผู้ป่วยต้องพูดกับคนแปลกหน้า อาจจะกลัวจนมีอาการแพนิคเกิดขึ้นได้ แต่ผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้จะไม่ได้กลัวว่าจะมีอาการแพนิคเกิดขึ้นอีกหรือกลัวว่าจะเป็นโรคหัวใจ ฯลฯ ซึ่งนี่เป็นข้อแตกต่าง

อาการแพนิค
IMAGE SOURCE : girltalkhq.com

ภาวะแทรกซ้อนของโรคแพนิค

  • ในรายที่มีอาการกำเริบบ่อย อาจมีผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน เช่น ทำให้ความสามารถในการประกอบอาชีพลดลง ผู้ป่วยอาจคิดว่าตนเองจะเป็นอะไรไปจึงทำให้ต้องไปพบแพทย์บ่อย ๆ ความสัมพันธ์กับบุคคลใกล้ชิดอาจเกิดความตึงเครียด ท้ายสุดผู้ป่วยก็จะแยกตัวเองออกจากผู้อื่นและไม่กล้าออกจากบ้าน หรืออย่างบางรายถ้าเป็นหนักมากก็อาจส่งผลต่อหน้าที่การงาน ทำให้ไม่สามารถทำงานได้ตามที่ควรจะเป็น และอาจต้องหยุดงานบ่อย ๆ หรือหยุดงานทีเป็นเดือน ๆ เนื่องจากมีอาการกำเริบทุกวัน และถ้าเป็นในเด็กอาจมีผลต่อพัฒนาการ การเรียนหนังสือ และการเข้าสังคมได้ เป็นต้น
  • เนื่องจากอาการที่กำเริบมักเกิดขึ้นโดยไม่คาดคิดมาก่อนและไม่สามารถคาดเดาได้ว่าจะเกิดเมื่อไหร่ จึงอาจทำให้เป็นอันตรายทางอ้อมได้หากเกิดขึ้นในขณะที่กำลังขับรถหรือทำงานเกี่ยวกับเครื่องจักรอยู่
  • ผู้ป่วยที่เป็นโรคแพนิคจะมีโอกาสเสี่ยงต่อการเป็นโรคซึมเศร้า (Major depressive disorder – MDD) การฆ่าตัวตาย การติดแอลกอฮอล์ การติดยาหรือเสพติด
  • ผู้ป่วยบางรายอาจมีโรคย้ำคิดย้ำทำร่วมด้วย

การวินิจฉัยโรคแพนิค

แพทย์สามารถวินิจฉัยโรคนี้ได้จากอาการที่แสดงเป็นหลัก ส่วนในรายที่แพทย์ไม่แน่ใจ อาจต้องส่งตรวจพิเศษเพิ่มเติมเพื่อแยกจากโรคทางกายต่าง ๆ เช่น การตรวจเลือด ตรวจเอกซเรย์ ตรวจคลื่นหัวใจ เป็นต้น

เนื่องจากอาการที่เด่นชัดของโรคแพนิคนี้มีอยู่ด้วยกันหลายอย่างประกอบกัน ในครั้งแรก ๆ ที่เป็น ผู้ป่วยจึงมักถูกพาไปห้องฉุกเฉินเพราะรู้สึกว่าตัวเองกำลังจะตาย แต่พอไปถึงโรงพยาบาลกลับพบว่าอาการดังกล่าวได้หายไปแล้ว เมื่อแพทย์ตรวจร่างกายและตรวจทางห้องปฏิบัติการเพิ่มเติมที่จำเป็นทุกอย่างก็ไม่พบว่ามีความผิดปกติอะไร หัวใจยังเต้นเป็นปกติดี ซึ่งเหตุการณ์แบบนี้ก็เกิดขึ้นบ่อยและสร้างความสงสัยให้แก่ผู้ป่วยเป็นอย่างมากว่าอาการหนักเกือบตายขนาดนี้ ทำไมแพทย์ตรวจไม่เจออะไร และพอกลับบ้านมาได้ไม่กี่วันก็มีอาการแบบเดิมเกิดขึ้นอีก ซึ่งในครั้งที่ 2-3 ที่เกิดอาการ แพทย์ก็ยังตรวจไม่เจอความผิดปกติอีก คราวนี้ผู้ป่วยก็มักจะเริ่มสับสนและกลัวมากขึ้นว่าตัวเองเป็นโรคอะไรกันแน่ เพราะมาตรวจหลายครั้งก็ปกติทุกครั้ง แล้วอาจได้รับวิตามินและ/หรือยากล่อมประสาทมารับประทาน แต่หากแพทย์ทราบว่านี่คือโรคแพนิคก็จะแนะนำให้ผู้ป่วยไปพบจิตแพทย์ซึ่งเป็นหมอที่เชี่ยวชาญในการรักษาโรคนี้ครับ

โรคแพนิครักษาที่ไหน
IMAGE SOURCE : apahealthyminds.blogspot.com

การแยกโรค

อาการแสดงออกทางกายที่เป็นผลมาจากความรู้สึกวิตกกังวลหรือกลัวอย่างรุนแรง อาจคล้ายกับโรคทางกายได้หลายแบบที่สำคัญ (ซึ่งถ้าตรวจไม่พบว่าเป็นโรคเหล่านี้ก็แสดงว่าอาจเป็นโรคแพนิคครับ) เช่น

  • โรคหัวใจ ผู้ป่วยมักมีอาการปวดแน่นตรงลิ้นปี่ ร้าวขึ้นคอ ไหล่ ขากรรไกร นานเพียงไม่กี่นาที ผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้มักมีอายุมากหรือมีโรคประจำตัว (เช่น โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง โรคอ้วน เป็นต้น) หรือมีประวัติการสูบบุหรี่มานาน ในรายที่เป็นรุนแรงมักจะมีอาการเจ็บแน่นหน้าอกอย่างต่อเนื่องนานเป็นชั่วโมงหรือนานเป็นวัน ๆ ร่วมกับมีอาการใจสั่น เหนื่อยหอบ เป็นลม นอกจากนี้ ผู้ป่วยที่เป็นโรคหัวใจบางชนิดก็อาจมีอาการเท้าบวม เวลานอนราบจะรู้สึกเหนื่อยหอบ
  • คอพอกเป็นพิษ ผู้ป่วยมักมีอาการใจสั่น เหนื่อยง่ายตลอดเวลาเป็นสัปดาห์หรือเป็นแรมเดือน มีน้ำหนักตัวลดลง ทั้ง ๆ ที่ยังรับประทานอาหารได้เป็นปกติหรือมากกว่าเดิม มีอาการสั่น เหงื่อออกชุ่ม บางรายมีอาการคอโต ตาปูดโปนร่วมด้วย
  • โรคหืด ผู้ป่วยมักมีอาการหายใจหอบ หายใจลำบาก มีเสียงดังวี้ดนานเป็นชั่วโมงหรือนานเป็นวัน ๆ แต่เมื่อใช้ยาขยายหลอดลมพ่นหรือกิน อาการก็จะทุเลาลงได้ แต่ถ้าขาดยาอาการก็มักจะกำเริบขึ้นอีก ซึ่งผู้ป่วยอาจมีประวัติว่ามีญาติสายตรงเป็นโรคนี้หรือเป็นโรคภูมิแพ้ต่าง ๆ ร่วมด้วย
  • โรคหลอดเลือดสมองตีบ ผู้ป่วยมักมีอาการวิงเวียน บ้านหมุน เดินเซ มองเห็นภาพซ้อน แขนขาซีกหนึ่งชาหรืออ่อนแรง ซึ่งผู้ป่วยมักมีอายุมากหรือมีโรคประจำตัวหรือสูบบุหรี่เช่นเดียวกับโรคหัวใจ
  • โรคอื่น ๆ เช่น โรคไมเกรน โรคต่อมไทรอยด์ทำงานมากผิดปกติ โรคลมชักบางประเภท
  • ฤทธิ์จากยาหรือสารบางชนิด เช่น ยาแก้หืด ยาแก้หวัดคัดจมูก ยาแก้ปวดท้องบางชนิด รวมถึงชา กาแฟ น้ำอัดลม หรือเครื่องดื่มชูกำลังที่มีสารกาเฟอีน เพราะสารเหล่านี้จะกระตุ้นให้เกิดอาการใจสั่นหวิว อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย และมักเป็นอยู่นานเป็นชั่วโมง ๆ จนกว่าสารจะหมดฤทธิ์ อาการก็จะทุเลาไปเอง
  • การหยุดยาบางชนิด เช่น ยานอนหลับ ยากล่อมประสาท ยาจำพวกฝิ่น รวมถึงการหยุดดื่มเหล้า ที่เคยรับประทานหรือดื่มติดต่อกันมานาน ก็อาจทำให้เกิดอาการใจสั่น มือสั่น หรือตื่นเต้นได้

เกณฑ์การวินิจฉัยโรคแพนิค

  1. อาการที่เป็นนั้นไม่ได้เกิดจากการเจ็บป่วยทางร่างกาย (เช่น คอพอกเป็นพิษ) หรือเกิดจากการใช้สารกระตุ้น (เช่น ยาหรือสารเสพติด)
  2. มีทั้งข้อ ก. และข้อ ข.
    • ก. มีอาการกำเริบซ้ำโดยคาดไม่ได้ว่าจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่
    • ข. อย่างน้อยในอาการกำเริบ 1 ครั้ง จะมีอาการข้อใดข้อหนึ่งตามมาอย่างน้อย 1 เดือน คือ
      1. มีความกังวลอยู่ตลอดเวลาว่าจะมีอาการกำเริบขึ้นอีก
      2. มีความกังวลว่าอาการที่เกิดขึ้นนั้นมีสาเหตุมาจากโรคร้ายแรง (เช่น โรคหัวใจ) หรือกลัวว่าจะเป็นอะไรไป (เช่น กลัวว่าจะเป็นบ้า กลัวว่าจะหัวใจวาย)
      3. อาการที่เป็นส่งผลให้มีพฤติกรรมเปลี่ยนไปอย่างชัดเจน (เช่น เก็บตัว ไม่กล้าออกจากบ้าน)

วิธีรักษาโรคแพนิค

1. ถ้าผู้ป่วยมีอาการเข้าได้กับเกณฑ์การวินิจฉัยโรคนี้ และแพทย์มั่นใจว่าผู้ป่วยไม่มีโรคทางกายอย่างอื่น (เช่น โรคหัวใจ คอพอกเป็นพิษ) แพทย์จะให้การรักษาดังนี้

  • การให้ยาแก้ซึมเศร้า (Antidepressant drugs) ในกลุ่ม Selective serotonin reuptake inhibitors (SSRIs) ซึ่งเป็นยาหลักที่ใช้ในการรักษาโรคนี้ เพราะช่วยปรับสมดุลการทำงานของสารสื่อประสาทในสมองได้ แต่ต้องใช้อย่างต่อเนื่องตามระยะเวลาที่แพทย์กำหนด ได้แก่ ยาฟลูออกซิทีน (Fluoxetine) ที่มีชื่อทางการค้า เช่น โปรแซก (Prozac) ซึ่งแพทย์จะเริ่มต้นให้ผู้ป่วยรับประทานยานี้ในขนาดวันละ 10 มิลลิกรัมก่อน แล้วจึงค่อย ๆ เพิ่มขนาดของยาขึ้นทุกสัปดาห์จนถึงขนาดวันละ 20-40 มิลลิกรัม โดยให้ผู้ป่วยรับประทานยานี้หลังอาหารเช้าวันละ 1 ครั้ง
    • ยาในกลุ่ม SRRIs นี้ นอกจากยาที่แพทย์นิยมใช้อย่างฟลูออกซิทีน (Fluoxetine) แล้ว ยังมียาเซอร์ทราลีน (Sertraline) ที่มีชื่อทางการค้า เช่น โซลอฟท์ (Zoloft) และยาพาร็อกซีทีน (Paroxetine) ที่มีชื่อทางการค้า เช่น พาซิล (Paxil) อีกด้วยครับ
    • เนื่องจากยากลุ่มนี้เป็นยาที่ออกฤทธิ์ช้า ผู้ป่วยจึงต้องรับประทานยาอย่างต่อเนื่องเป็นเวลาอย่างน้อย 2-3 สัปดาห์จึงจะเริ่มเห็นผล ซึ่งผลที่ได้คือการเกิดอาการแพนิคจะห่างลงเรื่อย ๆ และอาการที่เกิดจะเบาลงเรื่อย ๆ รวมทั้งช่วยป้องกันการกลับมาเป็นซ้ำ จึงทำให้ผู้ป่วยมีความจำเป็นที่จะต้องรับประทานยากล่อมประสาทน้อยลงเรื่อย ๆ และค่อย ๆ หยุดยากล่อมประสาทได้ในที่สุด
    • ในช่วงอาทิตย์แรก ๆ จะยังไม่เห็นผลชัดเจนมากนัก แพทย์จึงมักให้รับประทานยากล่อมประสาทเพื่อลดอาการไปด้วย
  • การให้ยากล่อมประสาท/ยาคลายเครียด (Transquilizer drugs) ในกลุ่มเบนโซไดอะซีปีน (Benzodizepine) เช่น อัลปราโซแลม (Alprazolam), ลอราซีแพม (Lorazepam), ไดอะซีแพม (Diazepam), คลอราซีเพท (Clorazepate), คลอนาซีแพม (Clonazepam) เป็นต้น โดยยาที่แพทย์นิยมใช้ คือ ยาอัลปราโซแลม (Alprazolam) โดยจะให้ผู้ป่วยรับประทานยานี้ในขนาดวันละ 2-4 มิลลิกรัม แบ่งให้วันละ 3 ครั้ง
    • ยากลุ่มนี้เป็นยาที่ช่วยบรรเทาอาการที่ออกฤทธิ์เร็วและสามารถระงับอาการแพนิคที่เกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็ว (แต่เมื่อยาหมดฤทธิ์ผู้ป่วยอาจเกิดอาการแพนิคขึ้นมาได้อีก)
    • โดยมากแพทย์มักจะให้รับประทานยากล่อมประสาทในช่วงระยะแรก ๆ ที่ผู้ป่วยมารับการรักษา เนื่องจากยาแก้ซึมเศร้า (ที่ออกฤทธิ์ช้า) ยังออกฤทธิ์ได้ไม่เต็มที่ และใช้รับประทานเวลาที่มีอาการแพนิค (ใจสั่น แน่นหน้าอก หายใจขัด และอื่น ๆ) ซึ่งเมื่อรับประทานแล้วจะช่วยบรรเทาอาการเหล่านี้ลงได้และทำให้อาการหายไป (พูดง่าย ๆ ก็คือยากลุ่มนี้จะเน้นใช้เฉพาะเมื่อมีอาการ ถ้าไม่มีอาการก็ไม่จำเป็นต้องใช้)

แพทย์จะให้ผู้ป่วยรับประทานยาทั้ง 2 กลุ่มนี้ร่วมกันตั้งแต่แรก ถ้าผู้ป่วยมีอาการดีขึ้นให้รับประทานติดต่อกันนาน 4-6 สัปดาห์ แล้วจึงค่อย ๆ ลดยากล่อมประสาทลงจนเหลือแต่ยาแก้ซึมเศร้าเพียงอย่างเดียว (ปัญหาที่สำคัญของยากล่อมประสาทคือสามารถทำให้เกิดการเสพติดได้ถ้าใช้ติดต่อกันเป็นเวลานาน ๆ นี่จึงเป็นสาเหตุที่ควรใช้ยานี้ในช่วงระยะเวลาสั้น ๆ ตามระยะเวลาที่แพทย์แนะนำเท่านั้น) และเมื่อควบคุมอาการได้ดีแล้ว ให้คงยาแก้ซึมเศร้าต่อเนื่องไปอีกอย่างน้อย 12 เดือน แล้วจึงค่อย ๆ ลดขนาดยาลงจนหยุดยาได้ ซึ่งจะใช้เวลาประมาณ 2-6 เดือน ทั้งนี้เพื่อป้องกันอาการแพนิคกำเริบ (เพราะจากการศึกษาพบว่า ผู้ป่วยที่หยุดยาเร็วก่อนครบกำหนด มักจะมีอาการกลับมาเป็นซ้ำได้บ่อย)

ยารักษาโรคแพนิค
IMAGE SOURCE : howtocurepe.com, pillspharma.net

2. ในรายที่รับประทานยาดังกล่าวไปประมาณ 2-4 สัปดาห์แล้วอาการยังไม่ดีขึ้น หรือผู้ป่วยรู้สึกกลัวหรือกังวลมาก หรือมีอาการที่สงสัยว่ามีสาเหตุมาจากโรคทางกาย ควรปรึกษาจิตแพทย์

  • ในรายที่สงสัยว่าเป็นโรคทางกายอย่างอื่น แพทย์อาจทำการตรวจพิเศษเพิ่มเติม เช่น การตรวจเลือด เอกซเรย์ ตรวจคลื่นหัวใจ เป็นต้น
  • หากแพทย์วินิจฉัยว่าเป็นโรคแพนิค แพทย์ก็จะให้การรักษาด้วยยาแก้ซึมเศร้าและยากล่อมประสาทตามแนวทางข้างต้น ซึ่งยาทั้ง 2 กลุ่มนี้ก็จะมีอยู่ด้วยกันหลายชนิดตามที่กล่าวไป แพทย์จะพิจารณาเลือกใช้ให้เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละราย
  • นอกจากนี้ แพทย์อาจให้การรักษาแบบอื่นร่วมด้วย เช่น การฝึกการผ่อนคลาย (Relaxation training) การใช้เทคนิคจิตบำบัดและพฤติกรรมบำบัดต่าง ๆ เป็นต้น
  • การเข้ารับการบำบัดกับจิตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้วยการใช้วิธี “ความคิดและพฤติกรรมบำบัด” (Cognitive behavioral therapy – CBT) ซึ่งจะเป็นการท้าทายกับความกลัว โดยให้ผู้ป่วยเรียนรู้วิธีการแทนความกลัวจอมปลอมแบบไร้สาเหตุด้วยความคิดความเชื่อที่เป็นเหตุเป็นผล ซึ่งผู้ป่วยจะเกิดความกล้าจากภายในเพื่อใช้สำหรับรับมืออาการแพนิค พอมีอาการแพนิคเกิดขึ้นเมื่อไหร่ก็ให้บอกกับตัวเองว่า “ไม่เห็นเป็นอะไรเลย

3. การดูแลและจัดการตัวเองเมื่อมีอาการแพนิค สิ่งสำคัญเมื่อมีอาการแพนิคเกิดขึ้น คือ ให้พยายามตั้งสติ อย่าตกใจ และอย่าคิดว่าจะป่วยหนักหรือจะหัวใจวายหรือเสียชีวิต เพราะจะยิ่งทำให้เกิดความเครียดและเป็นมากขึ้น โดยสิ่งแรกที่ควรทำ คือ การนั่งพัก จากนั้นให้หายใจเข้าออกช้า ๆ ลึก ๆ ยาว ๆ เหมือนเวลานั่งสมาธิ (เพราะหากยิ่งหายใจเร็วหรือหายใจสั้นถี่ก็จะยิ่งทำให้อาการที่เป็นอยู่รุนแรงมากขึ้น) แล้วรอให้อาการสงบไปเอง (ในระหว่างที่มีอาการเกิดขึ้นให้บอกกับตัวเองด้วยว่า “เราไม่ได้เป็นอะไรนะ ไม่ได้เป็นโรคหัวใจ และไม่ได้กำลังจะตาย เราแค่มีอาการแพนิคกำเริบ สักพักอาการเหล่านี้ก็จะหายไปเองเหมือนครั้งก่อน ๆ ที่ผ่านมา” โดยให้ท่องความจริงข้อนี้ซ้ำไปซ้ำมาหลาย ๆ นาที พร้อมกับเปิดตามองดูว่าเราไม่ได้มีอันตรายตรงไหนเกิดขึ้นกับเราจริง ๆ เลย) ซึ่งโดยทั่วไปถ้าสามารถควบคุมการหายใจได้อาการก็จะดีขึ้นภายใน 15-20 นาที หรือจะรับประทานยาที่แพทย์ให้ไว้สำหรับเวลามีอาการร่วมด้วย (ยากล่อมประสาทนั่นแหละครับ) แล้วพักสักครู่เพื่อรอให้ยาออกฤทธิ์ก็ได้ครับ

  • มีอีกวิธีที่ได้ผลเป็นอย่างดีก็คือการคลายเครียดด้วยการเกร็งและคลายกล้ามเนื้อ โดยให้คุณเกร็งแล้วคลายกล้ามเนื้อในส่วนต่าง ๆ ตั้งแต่หัวจรดเท้า โดยในขณะที่เกร็งกล้ามเนื้อแต่ละส่วนให้หายใจเข้าและค้างไว้หลายวินาทีหน่อย จากนั้นค่อยคลายกล้ามเนื้อพร้อมกับหายใจออก

รักษาแพนิคด้วยตัวเอง
IMAGE SOURCE : recoveryhelpnow.com

4. การดูแลตัวเองของผู้ป่วยที่เป็นโรคแพนิค ผู้ป่วยควรปฏิบัติตามคำแนะนำต่อไปนี้

  • ถ้ามีอาการเป็นครั้งแรก หรือไม่แน่ใจว่าเป็นโรคทางกาย ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยโรคให้แน่ชัดและรับการรักษาอย่างถูกต้องต่อไป
  • ติดตามการรักษากับแพทย์และรับประทานยาตามที่แพทย์สั่งอย่างต่อเนื่อง ห้ามหยุดยาหรือลดขนาดยาเองโดยไม่ปรึกษาแพทย์ เพราะอาจทำให้เกิดอาการของการหยุดยาหรือมีอาการแพนิคกำเริบขึ้นมาได้
  • ผู้ป่วยสามารถดำเนินชีวิตประจำวันรวมทั้งออกกำลังกายได้เป็นปกติเหมือนคนทั่วไป
  • ควรออกกำลังกายตามควรแก่สุขภาพอย่างสม่ำเสมอ ผู้ป่วยบางรายอาจคิดว่าการออกกำลังกายจะยิ่งทำให้ใจสั่นเวลาเหนื่อย ทำให้ไม่กล้าทำ ซึ่งความจริงแล้วไม่ใช่เลย เพราะการออกกำลังกายจะช่วยทำให้ระบบหัวใจและปอดทำงานได้อย่างสมดุลยิ่งขึ้น (งานวิจัยล่าสุดพบว่า ผู้ป่วยที่ออกกำลังกายอย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 ครั้ง จะเกิดอาการแพนิคและอาการอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องน้อยลง โดยจะเป็นอะไรก็ได้ที่ทำให้คุณได้ขยับเขยื้อนร่างกาย เช่น การเดินเล่นบ่อย ๆ การวิ่งจ็อกกิ้ง ขี่จักรยาน ว่ายน้ำ หรือเล่นกีฬาชนิดอื่น ๆ)
  • พักผ่อนให้เพียงพอและมีสุขลักษณะการนอนที่ดี เพราะการอดหลับอดนอนจะทำให้อาการกำเริบได้ง่าย
  • หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์ เครื่องดื่มที่มีสารกาเฟอีน (เช่น ชา กาแฟ เครื่องดื่มชูกำลัง น้ำอัดลม) บุหรี่ สารเสพติดต่าง ๆ และกลุ่มยาที่มีฤทธิ์กระตุ้นให้เกิดอาการใจสั่นหวิว เพราะสิ่งเหล่านี้อาจมีฤทธิ์กระตุ้นให้เกิดอาการแพนิคได้
  • ฝึกผ่อนคลายความเครียดด้วยวิธีเหล่านี้อย่างสม่ำเสมอและใช้เวลาในการฝึกอย่างน้อยครั้งละ 15-30 นาที เช่น
    1. การฝึกหายใจเข้าออกช้า ๆ ลึก ๆ ยาว ๆ หรือหายใจในถุงกระดาษหากมีอาการระบายลมหายใจเกิน (Hyperventilation syndrome) เป็นอาการเด่น
    2. การฝึกทำสมาธิหรือเดินจงกรม
    3. การฝึกจินตนาการเพื่อการผ่อนคลาย โดยอาจใช้การฟังเพลงช่วยร่วมด้วย
    4. การฝึกสติหรือการเจริญสติ (Mindfulness meditation) เป็นการตื่นรู้และยอมรับสถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้น โดยจะหยิบยกอารมณ์ที่เกิดขึ้นและไม่อาจเปลี่ยนแปลงได้มาพิจารณาหลาย ๆ ด้าน หลาย ๆ มุม เพราะคนที่มีอาการแพนิคมักจะมีความรู้สึกที่หลากหลายทั้งความวิตกกังวล ความกลัว ความสงสัย จนสุดท้ายก็อยากหลีกหนีหน้าไป ซึ่งการเจริญสตินั้นจะทำให้คุณรู้ว่า “คุณไม่มีทางที่จะปิดสวิตช์เพื่อหนีความรู้สึกเหล่านี้ไปได้ การพยายามควบคุมความรู้สึกเหล่านี้รังแต่จะเพิ่มความทุกข์ให้มากขึ้น” สรุปก็คือ การเจริญสติจะสอนให้เรารู้จักอยู่ร่วมกับอารมณ์เหล่านี้และทำใจยอมรับมันให้ได้ว่าเมื่อเกิดอาการแล้วเดี๋ยวมันก็หายไปเอง
    5. การฝึกเล่นโยคะ ไทเก๊ก หรือการออกกำลังที่ต้องประสานร่างกายและจิตใจ
    6. ปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ยาหรืออาหารเสริมใด ๆ และควรแจ้งให้แพทย์ทราบเมื่อมีอาการแพนิคหรืออาการใด ๆ เกิดขึ้นหลังการใช้
    7. การศึกษาธรรมะ
    8. การทำงานอดิเรกต่าง ๆ ที่ผ่อนคลายและมีความสุข รวมถึงการพยายามหาความสุขใส่ตัวสักหน่อย เช่น การดูหนัง ฟังเพลง หรือทำสิ่งที่ชอบ
    9. การได้ปรึกษาหรือระบายปัญหาต่าง ๆ กับคนที่ไว้ใจหรือศรัทธา หรือจากผู้เชี่ยวชาญทางด้านสุขภาพจิตก็เป็นอีกวิธีที่ช่วยได้มาก
  • ในช่วงแรกคุณอาจเลือกที่จะหลีกเลี่ยงสถานการณ์ที่เคยทำให้เกิดความหวาดกลัวออกไปก่อนก็ได้ ซึ่งวิธีนี้ก็เป็นวิธีที่ทำได้ง่ายครับ แต่ก็ไม่ค่อยดีเท่าไรครับ เพราะยิ่งคุณหนี คุณก็จะยิ่งกลัวสิ่งนั้นมากขึ้นกว่าเดิม ซึ่งทางออกที่ดีที่สุดก็คือ เมื่ออาการต่าง ๆ ดีขึ้นแล้ว คุณควรออกไปเผชิญหน้ากับมันครับ หรือที่เรียกว่า “Exposure therapy” (การบำบัดรักษาด้วยการเผชิญหน้ากับความกลัว) ไม่ว่าจะเป็นสถานการณ์ สถานที่ หรือกิจกรรมที่เคยหวาดกลัว หรือจะเป็นการจำลองเหตุการณ์โดยสร้างบรรยากาศให้คุณจินตนาการแล้วลองรับมือกับความกลัวก็ได้ครับ พอสมองเริ่มคุ้นเคยแล้วว่าถ้าตกอยู่ในสถานการณ์แบบนั้นแล้วจะรู้สึกยังไง คุณก็จะรู้ว่ามันไม่ได้น่ากลัวหรือเป็นอันตรายอย่างที่คิด ซึ่งจะทำให้ไม่เกิดอาการแพนิคขึ้นมา โดยอาจเริ่มทำทีละน้อยแต่สม่ำเสมอ และท้ายสุดคุณก็จะหายกลัวไปเองครับ
  • ทัศนคติของคนรอบข้างต่อผู้ป่วยเป็นอีกเรื่องที่สำคัญมาก เพราะผู้ที่เป็นโรคแพนิคนั้นต้องการความเข้าใจจากคนรอบข้างเป็นอย่างมาก เพราะคนที่ไม่เป็นอย่างเขาจะไม่มีทางรู้เลยครับว่ามันทรมานเพียงใด ซ้ำร้ายบางคนยังกลับคิดว่าเป็นการแกล้งทำหรือคิดว่าเขาเป็นบ้าหรือเป็นโรคจิตต่าง ๆ ซึ่งนี่จะยิ่งเป็นการทำร้ายจิตใจผู้ป่วยมากขึ้นไปอีก เพราะความจริงแล้วผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้เขายังมีสภาพจิตใจและการทำงานของสมองที่เป็นปกติครับ คือ มีสติสัมปชัญญะและความคิดความอ่านที่สมบูรณ์ครบถ้วน แต่ปัญหาอยู่ที่ภาวะตื่นตระหนกที่เกิดขึ้นแบบฉับพลันนั้นทำให้เกิดภาวะที่ไม่สามารถควบคุมอารมณ์หวาดกลัวของตัวเองได้ นอกจากความเข้าใจแล้ว สิ่งสำคัญที่สุดอีกอย่างก็คือ “กำลังใจจากคนรอบข้าง” ครับ เพราะเมื่อใดก็ตามที่ผู้ป่วยได้รับความรู้สึกดี ๆ ได้รับความเข้าอกเข้าใจ ก็จะช่วยเป็นแรงผลักดันให้อาการเหล่านี้ลดน้อยลง ทำให้ผู้ป่วยสามารถเผชิญหน้ากับมันได้อย่างไม่รู้สึกหวาดกลัว และท้ายที่สุดมันก็จะหายไปเองครับ

โรคแพนิครักษาอย่างไร
IMAGE SOURCE : selmamariudottir.com

คำแนะนำเกี่ยวกับโรคแพนิค

  • ผู้ป่วยโรคแพนิคจะมีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะซึมเศร้าได้ถึง 60% และผู้ป่วยอีกกว่า 30% จะไม่ทราบว่าตัวเองป่วยเป็นโรคอะไร ทำให้การรักษาเป็นไปอย่างไม่ตรงจุด และการปฏิเสธที่จะไปปรึกษาจิตแพทย์ก็เป็นอีกหนึ่งปัญหาที่ทำให้ผู้ป่วยมีอาการกำเริบซ้ำได้บ่อย ๆ
  • อาการต่าง ๆ ของโรคแพนิค มักทำให้ผู้ป่วยที่ยังไม่ได้รับการรักษากับจิตแพทย์ กลัวว่าตนจะเป็นอีกหรือกลัวว่าจะเป็นอะไรไป ซึ่งการคิดไปล่วงหน้านี้เองจะเป็นตัวกระตุ้นให้อาการแพนิคกำเริบซ้ำได้อีกบ่อย ๆ
  • ผู้ป่วยมักมีความกลัวว่าจะเป็นโรคหัวใจหรือกลัวว่าจะเสียชีวิต บางคนกลัวจนไม่กล้าที่จะออกจากบ้าน หรือบางคนที่ยังไม่ทราบว่าตัวเองเป็นโรคนี้เมื่อมีอาการแพนิคกำเริบเป็นครั้งแรกก็จะรีบมาตรวจที่ห้องฉุกเฉินของโรงพยาบาล แต่พอไปถึงโรงพยาบาลอาการก็หายไปแล้ว และแพทย์ตรวจดูก็ไม่พบความผิดปกติอะไร หัวใจยังเต้นเป็นปกติดี แต่พอกลับบ้านมาไม่กี่วันก็มีอาการแบบเดิมเกิดขึ้นอีก ซึ่งตรงนี้ก็ขอให้มั่นใจได้เลยครับว่าโรคแพนิคไม่ใช่โรคหัวใจ ไม่มีภาวะฉุกเฉินทางร่างกายแต่อย่างใด และไม่ทำให้เสียชีวิตได้ ผู้ป่วยจึงสามารถดำเนินชีวิตและออกกำลังกายได้เหมือนคนปกติทั่วไป
  • โรคนี้มักเกิดขึ้นโดยไม่ทราบสาเหตุที่ชัดเจน และมักไม่เกี่ยวข้องกับการมีเรื่องคิดมากหรือวิตกกังวล และมีแนวโน้มว่าจะกำเริบซ้ำได้บ่อย ๆ แต่หากผู้ป่วยเข้ารับการรักษาโรคนี้อย่างจริงจังและต่อเนื่อง การรักษาก็มักจะได้ผลดีและช่วยทำให้โรคหายหรือสามารถดำเนินชีวิตได้อย่างเป็นปกติ แต่ถ้าขาดการรักษาผู้ป่วยมักจะมีอาการเกิดขึ้นเรื้อรังและอาจมีภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ ตามมาได้ ดังนั้น ผู้ป่วยจึงต้องติดตามการรักษากับแพทย์ต่อเนื่อง
  • โรคแพนิคเป็นโรคเรื้อรัง เมื่อหยุดยาไปได้สักระยะหนึ่งแล้วผู้ป่วยอาจมีอาการกำเริบซ้ำได้อีก ซึ่งก็ต้องได้รับยารักษาใหม่อีกครั้ง และจะมีผู้ป่วยจำหนึ่งที่เลิกรับประทานยาไม่ได้และต้องรับประทานยาป้องกันในขนาดน้อย ๆ ต่อไปเรื่อย ๆ ซึ่งก็ไม่มีอันตรายแต่อย่างใด
  • ยังไม่เคยมีใครเสียชีวิตจากโรคแพนิคแม้แต่รายเดียว (เอาแค่ว่าเป็นลมหมอก็ยังไม่เคยเห็นใครเป็นลมไปจริง ๆ เพราะโรคแพนิคกันสักราย) มีแต่คนที่มีอาการดีขึ้นจนหายเป็นปกติกับคนที่เป็นแล้วคิดมากจนไม่หายและมีอาการกำเริบซ้ำบ่อย ๆ ซึ่งคุณเลือกได้ว่าจะเป็นแบบไหน

วิธีป้องกันโรคแพนิค

โรคนี้ส่วนใหญ่จะมีสาเหตุมาจากความผิดปกติทางพันธุกรรมและความบกพร่องเกี่ยวกับสารสื่อประสาทในสมอง ผู้ป่วยจึงต้องอาศัยยารักษาเพื่อช่วยปรับสมดุลการทำงานของสมองให้เป็นปกติ ซึ่งจะช่วยป้องกันไม่ให้เกิดอาการกำเริบขึ้นมาได้ (อาการก็จะดีขึ้นมากจนหายสนิทได้ 7 หรือ 9 ราย ใน 10 ราย โดยอาการจะดีขึ้นอย่างชัดเจนภายหลังเริ่มการรักษาได้ประมาณ 6-8 สัปดาห์)

สรุป โรคแพนิค (Panic disorder) เป็นโรคที่คนส่วนใหญ่ไม่ค่อยรู้จัก แต่จริง ๆ แล้วพบได้บ่อยมาก หลายคนอาจจะยังไม่รู้ตัวว่าเป็นโรคนี้ ถ้าพบว่ามีอาการดังกล่าวก็ควรเข้ารับคำปรึกษาจากจิตแพทย์เพื่อค้นหาสาเหตุของโรค ซึ่งอาจจะเป็นได้ทั้งโรคแพนิคหรือโรคอื่น ๆ ที่มีอาการคล้ายกัน ถ้าพบว่าเป็นโรคแพนิคก็ไม่ต้องกลัวหรือเป็นกังวลไปครับ เพราะโรคนี้รักษาได้ไม่ยาก เพียงแต่ผู้ป่วยจะต้องเข้าใจเกี่ยวกับธรรมชาติของโรค วิธีการรับมือ แนวทางการรักษาที่ถูกต้อง และติดตามการรักษากับแพทย์อย่างต่อเนื่อง และโปรดจำเอาไว้เสมอว่า “โรคนี้ไม่เคยทำให้ใครตาย และไม่มีอันตรายอะไร” นอกจากอาจมีผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตเท่านั้น และหากรักษาจนอาการหายดีแล้ว คุณก็จะกลับมามีชีวิตที่เป็นปกติและมีความสุขได้เหมือนคนทั่วไปครับ 🙂

เอกสารอ้างอิง
  1. หนังสือตำราการตรวจรักษาโรคทั่วไป 2.  “โรคแพนิก (Panic disorder)”.  (นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ).  หน้า 663-665.
  2. มูลนิธิหมอชาวบ้าน. นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่มที่ 327 คอลัมน์ : สารานุกรมทันโรค.  “โรคแพนิกโรคตื่นตระหนก”.  (นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.doctor.or.th.  [21 ม.ค. 2017].
  3. โรงพยาบาลพระรามเก้า.  “โรคแพนิค”.  (นพ.วิทยา วันเพ็ญ).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.praram9.com.  [22 ม.ค. 2017].
  4. ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี  มหาวิทยาลัยมหิดล.  “โรคแพนิค (panic disorder)”.  (พญ.นิดา ลิ้มสุวรรณ).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : med.mahidol.ac.th/ramamental/.  [22 ม.ค. 2017].
  5. สมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย.  “โรคแพนิค (Panic disorder) ตอนที่ 1-2”.  (หมอคลองหลวง).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : fb.com/ThaiPsychiatricAssociation/.  [23 ม.ค. 2017].
  6. wikiHow.  “รับมือเมื่อโรคแพนิคกำเริบ”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : th.wikihow.com.  [23 ม.ค. 2017].

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด