โรคสะเก็ดเงิน
โรคสะเก็ดเงิน โรคเกล็ดเงิน โรคเรื้อนกวาง หรือโซริอาซิส (Psoriasis) เป็นโรคผิวหนังเรื้อรังชนิดหนึ่งที่ไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อและไม่ใช่โรคติดต่อ รอยโรคมีลักษณะขึ้นเป็นผื่นหรือปื้นและมีเกล็ดสีเงินปกคลุม สามารถพบเกิดกับผิวหนังได้ทุกส่วน แต่ที่พบได้บ่อยคือ ผิวหนังส่วนข้อศอกและเข่าด้านนอก ผิวหนังส่วนด้านหลัง หลังมือ หลังเท้า หนังศีรษะ และใบหน้า ผู้ป่วยมักมีอาการแบบเป็น ๆ หาย ๆ นานแรมปีหรือตลอดชีวิต ทำให้ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย
โรคสะเก็ดเงินจัดเป็นโรคผิวหนังที่พบได้เรื่อย ๆ แต่ไม่ถึงกับบ่อยมาก (ประมาณ 1-3% ของคนทั่วไป) สามารถพบได้ในคนทุกวัยทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ ส่วนใหญ่พบได้มากในผู้ใหญ่ เพราะปัจจัยกระตุ้นให้เกิดโรคในเด็กยังมีไม่มาก เช่น ความเครียด การเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมน โอกาสที่พบในผู้หญิงและในผู้ชายมีใกล้เคียงกัน ผู้ป่วยมักจะเริ่มมีอาการครั้งแรกในช่วงอายุ 10-40 ปี ผู้ป่วยประมาณ 1 ใน 3 พบว่ามีประวัติโรคนี้ในครอบครัว และอาการมักจะกำเริบเมื่อมีปัจจัยมากระตุ้น (ที่พบบ่อยคือ ความเครียด)
ผู้ที่เป็นโรคสะเก็ดเงินเพราะมีความผิดปกติทางพันธุกรรมเป็นพื้นฐานแล้วมีสิ่งแวดล้อมเป็นปัจจัยกระตุ้นให้เกิดอาการและอาการแสดงทางผิวหนัง เล็บ และข้อร่วมด้วย แต่ความผิดปกติทางพันธุกรรมไม่จำเป็นที่บิดา มารดา หรือญาติพี่น้องจะต้องเป็นโรคนี้กันทุกคน เพียงแต่ว่าผู้ป่วยโรคนี้จะมีแนวโน้มทางพันธุกรรมที่จะเป็นโรคนี้อยู่
สาเหตุของโรคสะเก็ดเงิน
โรคนี้ยังไม่ทราบสาเหตุในการเกิดที่แน่ชัด แต่จากการศึกษาเชื่อว่า เกิดจากหลายปัจจัยร่วมกัน (ไม่ได้เกิดจากสาเหตุใดสาเหตุหนึ่งเพียงสาเหตุเดียว) เช่น พันธุกรรม ความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกัน และปัจจัยกระตุ้นจากภายนอก ส่งผลให้เซลล์ผิวหนังส่วนนั้นแบ่งตัวเร็วกว่าปกติร่วมกับเกิดการอักเสบจึงเกิดเป็นปื้น (Plaque) หรือเป็นแผ่นหนา แดง คันและตกสะเก็ด
ในคนปกตินั้น เซลล์ผิวหนังในชั้นหนังกำพร้าจะมีการงอกใหม่จากชั้นใต้ผิวหนังขึ้นมาทดแทนเซลล์ผิวหนังบนชั้นนอกสุดที่แก่ตัวตายและหลุดออกไปเป็นวัฏจักร โดยเซลล์ผิวหนังที่งอกใหม่จะใช้เวลาเคลื่อนตัวจากชั้นใต้ผิวหนังขึ้นมาทดแทนเซลล์ผิวหนังชั้นนอกสุดประมาณ 26 วัน แต่สำหรับผู้ที่เป็นโรคสะเก็ดเงินนี้ บริเวณรอยโรคจะมีการแบ่งตัวหรือการงอกของเซลล์ผิวหนังใหม่เร็วกว่าปกติ และใช้เวลาเคลื่อนตัวจากชั้นใต้ผิวหนังขึ้นมาชั้นนอกสุดของผิวหนังเพียงประมาณแค่ 4 วัน ทำให้เซลล์ผิวหนังที่แก่ตัวหลุดออกในอัตราความเร็วที่ไม่ทันกับการงอกของเซลล์ใหม่ จึงทำให้เกิดการหนาตัวของผิวหนังกลายเป็นตุ่มหรือปื้น และมีเกล็ดสีเงินปกคลุมซึ่งหลุดลอกออกง่าย
มีการสันนิษฐานว่าความผิดปกติดังกล่าวมีความเกี่ยวข้องกับความแปรปรวนของระบบภูมิคุ้มกัน กล่าวคือ ลิมโฟไซต์ ชนิด T cells (ปกติจะทำหน้าที่ในการต่อสู้กับเชื้อโรค) ถูกกระตุ้นให้ทำงานมากเกินไป เมื่อเคลื่อนตัวมาที่ชั้นใต้ผิวหนัง ก็จะทำงานร่วมกับสารอื่น ๆ กระตุ้นให้เซลล์หนังกำพร้าเกิดการแบ่งตัวและเคลื่อนตัวอย่างรวดเร็วผิดปกติ และก่อให้เกิดการอักเสบของผิวหนังทั้งในชั้นหนังกำพร้าและชั้นหนังแท้
โรคสะเก็ดเงินเป็นโรคทางพันธุกรรมชนิดหนึ่งที่มีแบบแผนการถ่ายทอดทางพันธุกรรมไม่ชัดเจน โดยพบว่าถ้าบิดาและมารดาเป็นโรคนี้ บุตรที่เกิดมาจะมีโอกาสเป็นโรคนี้ได้สูงถึง 65-83% ถ้าบิดาหรือมารดาคนใดคนหนึ่งเป็นโรค บุตรที่เกิดมาจะมีโอกาสเป็นโรคนี้ลดลงเหลือ 28-50% หรือถ้ามีพี่น้องในครอบครัวเป็นโรคนี้โดยที่บิดาและมารดาไม่ได้เป็นโรค บุตรคนถัดไปที่เกิดมาก็มีโอกาสเป็นโรคนี้ได้สูงถึง 24% แต่ถ้าทั้งบิดาและมารดาไม่เป็นโรคนี้เลย บุตรที่เกิดมาจะมีโอกาสเป็นโรคนี้น้อยลงไปเหลือเพียง 4% โดยลักษณะทางพันธุกรรมนี้เป็นเพียงปัจจัยพื้นฐานของการเกิดโรค และการเกิดอาการของโรคก็ไม่ได้ขึ้นอยู่กับปัจจัยทางพันธุกรรมเพียงอย่างเดียว แม้ผู้ป่วยจะมีลักษณะทางพันธุกรรมของโรคสะเก็ดเงินอยู่ก็ตาม แต่ถ้าไม่มีปัจจัยอื่น ๆ มากระตุ้นหรือส่งเสริมมากระทบ ผู้ป่วยก็จะไม่เกิดอาการของโรค ดังนั้นผู้ป่วยแต่ละรายจึงควรสังเกตและพยายามหาให้ได้ว่ามีปัจจัยแวดล้อมอะไรบ้างที่ทำให้โรคกำเริบ แล้วพยายามหลีกเลี่ยงปัจจัยต่าง ๆ ที่ทำให้โรคกำเริบ เพราะปัจจัยที่ทำให้โรคกำเริบในผู้ป่วยแต่ละรายนั้นไม่จำเป็นต้องเหมือนกันแต่อย่างใด
ปัจจุบันพบว่ามียีนผิดปกติของโรคนี้อยู่มากกว่า 8 ชนิด ซึ่งผู้ป่วยแต่ละรายจะมียีนผิดปกติที่ไม่เหมือนกัน จึงทำให้มีอาการแสดงได้หลากหลายรูปแบบ นอกจากนี้ยังพบด้วยว่าผู้ที่มียีนของโรคนี้แฝงอยู่ในร่างกายมีจำนวนถึง 1 ใน 3 ที่ไม่มีอาการ ซึ่งแสดงว่าน่าจะมีปัจจัยอื่น ๆ ที่เป็นสาเหตุกระตุ้นให้เกิดอาการ
ปัจจัยกระตุ้นหรือส่งเสริมให้เกิดโรคสะเก็ดเงิน
- ปัจจัยภายนอกร่างกาย ได้แก่
- การติดเชื้อ ได้แก่ โรคคออักเสบจากไวรัสหรือเชื้อแบคทีเรียสเตรปโตค็อกคัส การติดเชื้อเอชไอวี (HIV) ส่วนโรคติดเชื้ออื่น ๆ ก็สามารถกระตุ้นให้โรคกำเริบได้เช่นเดียวกัน แต่ความสัมพันธ์อาจไม่ชัดเจนเหมือน 2 โรคดังกล่าว
- การบาดเจ็บที่ผิวหนัง การแกะเกา ขูด กดเสียดที่ผิวหนัง สามารถทำให้ผื่นของโรคสะเก็ดเงินกำเริบและลุกลามออกไปได้ เราจึงมักพบผื่นของรอยโรคบริเวณศอก เข่า ก้นกบ เพราะเป็นตำแหน่งที่มีการแกะเกาเสียดสีมากที่สุด
- การใช้ยาบางชนิด เช่น ยารักษาโรคจิตประสาทกลุ่มลิเทียม, ยารักษาโรคมาลาเรีย, ยารักษาโรคหัวใจกลุ่ม Beta adrenergic blocking agent, ยาสเตียรอยด์ชนิดรับประทานและชนิดฉีด ดังนั้น ผู้ป่วยจึงควรหลีกเลี่ยงการซื้อยามารับประทานเอง โดยเฉพาะยาจีน ยาหม้อ ยาสมุนไพร ยาไทยบางชนิดที่ผสมสเตียรอยด์เข้าไปในส่วนผสมของยา แม้ยาสเตียรอยด์จะช่วยให้อาการของโรคสะเก็ดเงินสงบลงได้ในระยะแรก ๆ ที่ได้รับยา แต่เมื่อใช้ไปในระยะยาวจะมีผลข้างเคียงสูง เช่น กระดูกผุ ความดันโลหิตสูง ทำให้เกิดโรคแผลในกระเพาะอาหาร ทำให้โรคเบาหวานกำเริบ กล้ามเนื้อลีบและอ่อนแรง เป็นต้น
- ปัจจัยภายในร่างกาย รวมถึงการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นภายในร่างกาย เช่น การเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมน การเกิดโรคของอวัยวะภายในต่าง ๆ (เช่น โรคตับ โรคไต เป็นต้น) จะส่งผลกระทบโดยตรงหรือโดยอ้อมต่อผิวหนังด้วยเสมอ ดังนั้น ผู้ป่วยโรคสะเก็ดเงินจะมีอาการกำเริบได้เมื่อเกิดโรคกับอวัยวะภายในอื่น ๆ
- ปัจจัยทางด้านจิตใจ โดยเฉพาะความเครียดทั้งทางร่างกายและจิตใจ สภาพทางจิตใจของผู้ป่วยมีอิทธิพลต่ออาการของโรคสะเก็ดเงิน โดยพบว่าผู้ป่วยที่มีความเครียด หงุดหงิด โกรธง่าย นอนไม่หลับ ผื่นจะกำเริบแดงขึ้น คันมากขึ้น ทำให้ผู้ป่วยต้องแกะเกา จนส่งผลให้โรคกำเริบขึ้นมา
อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยจำนวนมากอาจไม่พบว่ามีสาเหตุอะไรเป็นตัวกระตุ้นก็ได้
ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้โรคสะเก็ดเงินกำเริบหรือรุนแรงมากขึ้น
- ความเครียดทั้งทางร่างกายและจิตใจ เช่น ความวิตกกังวล ความโกรธ ความกลัว หงุดหงิด เร่าร้อน อารมณ์ฉุนเฉียว เพราะความเครียดส่งผลให้ร่างกายมีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคต่ำหรือผิดปกติได้
- การกระทบกระแทก การแกะ เกา กด ขูด ข่วน ถู ดึง ลอก หยิกที่ผิวหนัง ผิวหนังมีบาดแผล และแมลงสัตว์กัดต่อย
- การแพ้แดดหรือถูกแดดมากเกินไป
- อากาศที่หนาวเย็น
- ความอ้วนหรือโรคอ้วน ซึ่งยังไม่ทราบสาเหตุว่าทำไม
- การใช้ยาบางชนิด เช่น ยารักษาโรคจิตประสาทกลุ่มลิเทียม, ยาลดความดันโลหิตบางชนิด, ยารักษาโรคหัวใจกลุ่ม Beta adrenergic blocking agent, ยาต้านมาลาเรีย (Anti-malarial), ยาแก้ปวดอินโดเมธาซิน (Indomethacin), ยาต้านเอซ, ยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์, ยาไอโอไดด์, ยาเม็ดคุมกำเนิด, ยาสเตียรอยด์ชนิดรับประทานและชนิดฉีด รวมไปถึงยาจีน ยาหม้อ ยาไทย ยาสมุนไพรต่าง ๆ ที่ใช้ทาหรือรับประทาน เป็นต้น
- การหยุดยากินสเตียรอยด์ สเตียรอยด์ที่เคยใช้ได้ผลอยู่ก่อนก็อาจทำให้อาการของโรคกำเริบขึ้นมาได้
- การติดเชื้อต่าง ๆ โรคติดเชื้อที่คอ หลอดลมอักเสบ ปอดอักเสบ โรคติดเชื้อที่ผิวหนัง โรคติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ รวมทั้งการติดเชื้อเอชไอวี
- การระคายเคืองจากดีเทอร์เจน ผงซักฟอก สบู่ ครีมที่มีกรดเป็นส่วนผสม เช่น ครีมลอกหน้า ครีมขัดผิว
- การเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมนในร่างกาย เช่น ในระยะมีประจำเดือน/หมดประจำเดือน ระยะการตั้งครรภ์หรือช่วงหลังคลอด
- พฤติกรรมเสี่ยงอื่น ๆ เช่น การสูบบุหรี่ การดื่มแอลกอฮอล์จัด การเล่นการพนัน การเล่นกีฬาอย่างหักโหม
โรคสะเก็ดเงินเป็นโรคทางพันธุกรรมที่มีปัจจัยทั้งภายในและภายนอกร่างกาย รวมทั้งปัจจัยทางด้านจิตใจ เป็นปัจจัยกระตุ้นให้เกิดโรคหรือส่งเสริมให้โรคที่สงบอยู่กำเริบ เป็นมากขึ้น หรือโรคยังคงเป็นอยู่และดำเนินต่อไป
อาการของโรคสะเก็ดเงิน
อาการของโรคนี้มีหลายรูปแบบ ที่พบได้บ่อยคือ การเกิดผื่นเป็นปื้นผิดปกติบนผิวหนัง อาจเกิดเพียงจุดเดียวหรือหลายจุดพร้อม ๆ กันทั่วตัวก็ได้ โดยทั่วไปรอยโรคจะมีลักษณะเป็นปื้นหนา แห้ง แดง คัน และตกสะเก็ดเป็นสีเงิน เมื่อเกิดที่แขนหรือขาก็มักจะเกิดพร้อมกันทั้งข้างซ้ายและข้างขวา ซึ่งถ้าเป็นมากผู้ป่วยอาจมีเลือดออกในปื้นนี้ได้ และ/หรือลุกลามเข้าไปในเล็บ หรือมีการอักเสบของข้อต่าง ๆ ร่วมด้วย
อาการแสดงของโรคนี้มีหลายชนิด ซึ่งผู้ป่วยอาจเป็นเพียงชนิดใดชนิดหนึ่งหรือหลายชนิดร่วมกันก็ได้ ดังนี้
- โรคสะเก็ดเงินชนิดปื้นหนา (Plaque psoriasis) เป็นชนิดที่พบได้บ่อยที่สุด อาการตอนเริ่มกำเริบใหม่ ๆ รอยโรคจะขึ้นเป็นตุ่มแดง มีขอบเขตชัดเจน และมีขุยสีขาว (สีเงิน) อยู่ที่ผิว ต่อมารอยโรคจะค่อย ๆ ขยายออกจนกลายเป็นปื้นใหญ่และหนา และขุยสีขาวที่ผิวจะหนาตัวขึ้นจนเห็นเป็นเกล็ดสีเงิน ด้วยเหตุนี้ชาวบ้านจึงเรียกโรคนี้ว่า “โรคเกล็ดเงิน” หรือ “สะเก็ดเงิน” ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะมีรอยโรคลักษณะดังกล่าวเป็นปื้นหนา ๆ ขึ้น ๆ ยุบ ๆ อยู่ตลอดเวลา ไม่หายขาด ถ้าขูดเอาเกล็ดออกจะมีรอยเลือดออกซิบ ๆ และเกล็ดที่ว่านี้มักจะร่วงอยู่ตามเก้าอี้หรือที่นอน หรือร่วงเวลาถอดเสื้อหรือเดินไปไหนมาไหน ความผิดปกติดังกล่าวอาจเกิดขึ้นที่ผิวหนังส่วนใดก็ได้ แต่มักจะพบที่หนังศีรษะและผิวหนังส่วนที่เป็นปุ่มนูนของกระดูก ที่พบได้บ่อย ๆ คือ ข้อศอก ข้อเข่า และอาจพบขึ้นที่บริเวณก้นกบ หน้าแข้ง ซึ่งรอยโรคจะมีขนาดต่างกันไป อาจขึ้นเพียงไม่กี่ที่หรือขึ้นกระจายทั่วไปก็ได้ นอกจากนี้รอยโรคลักษณะดังกล่าวยังชอบขึ้นตามผิวหนังที่เคยได้รับบาดเจ็บหรือชอกช้ำอีกได้ เช่น รอยบาดแผล รอยขีดข่วน เป็นต้น ในบางรายอาจมีรอยโรคภายในเยื่อบุช่องปากหรือบริเวณอวัยวะเพศก็ได้ นอกจากนี้รอยโรคดังกล่าวยังอาจก่อให้เกิดอาการคันหรือเจ็บ และอาจดูคล้ายอาการของโรคกลาก ผิวหนังอักเสบจากภูมิแพ้
- โรคสะเก็ดเงินชนิดตุ่มเล็ก (Guttate psoriasis) รอยโรคจะมีลักษณะเป็นตุ่มหรือผื่นแดงขนาดเล็ก ๆ ที่มีรูปร่างคล้ายหยดน้ำ ขนาดไม่เกิน 1 เซนติเมตร และมีขุยหรือเกล็ดเงินเล็ก ๆ ปกคลุม มักขึ้นตามลำตัว แขน ขา หนังศีรษะ (รอยโรคอาจดูคล้ายผื่นกุหลาบ ซิฟิลิส ผื่นแพ้ยา) โรคสะเก็ดเงินชนิดนี้มักพบในคนอายุต่ำกว่า 30 ปี และมักเกิดอาการขึ้นครั้งแรกหลังจากเป็นคออักเสบจากเชื้อสเตรปโตค็อกคัส ผู้ป่วยอาจเกิดอาการเพียงครั้งเดียวแล้วหายขาดไปเลย หรืออาจกำเริบซ้ำ ๆ โดยเฉพาะเวลามีการติดเชื้อของทางเดินหายใจ
- โรคสะเก็ดเงินชนิดตุ่มหนอง (Pustular psoriasis) เป็นชนิดที่พบได้น้อย รอยโรคมีลักษณะเป็นตุ่มน้ำขุ่นแบบตุ่มหนอง โดยไม่มีการติดเชื้อ (Sterile pustule) อาจเกิดขึ้นเฉพาะที่ เช่น ฝ่ามือฝ่าเท้า ปลายนิ้วมือนิ้วเท้า หรืออาจขึ้นกระจายไปทั่วตัว (รอยโรคอาจดูคล้ายผิวหนังอักเสบที่มีการติดเชื้อแทรกซ้อนพุพอง) ในระยะแรกเริ่มรอยโรคจะขึ้นเป็นผื่นแดงเจ็บก่อน หลังจากนั้นในอีกไม่กี่ชั่วโมงก็จะพุขึ้นเป็นหนอง แล้วหายไปเองภายใน 1-2 วัน แต่อาการอาจกำเริบซ้ำเป็นวงจร (ผื่นแดง > ตุ่มหนอง > ตกสะเก็ด) ได้ทุก ๆ 2-3 วัน หรือ 2-3 สัปดาห์ และผู้ป่วยอาจมีอาการคันมาก มีไข้ หนาวสั่น อ่อนเพลีย น้ำหนักลดร่วมด้วย
- โรคสะเก็ดเงินชนิดแดงและเป็นเกล็ดทั่วตัว (Erythrodermic psoriasis) เป็นชนิดที่พบได้น้อยที่สุด ผู้ป่วยอาจเป็นโรคสะเก็ดเงินชนิดปื้นหนามาก่อน แต่ควบคุมอาการได้ไม่ดี โดยรอยโรคจะมีลักษณะเป็นผื่นแดงและมีเกล็ด คัน ปวดแสบปวดร้อน ขึ้นกระจายทั่วตัว อาการมักกำเริบเวลามีความเครียด เกิดบาดแผลไฟไหม้น้ำร้อนลวก ติดเชื้อ หรือแพ้ยา หรือหยุดกินยาสเตียรอยด์ที่เคยกินอยู่เป็นประจำ ผู้ป่วยอาจมีภาวะแทรกซ้อนแบบบาดแผลไฟไหม้น้ำร้อนลวก เช่น ภาวะขาดน้ำ การติดเชื้อ เป็นอันตรายถึงเสียชีวิตได้
- โรคสะเก็ดเงินชนิดรอยพับ (Flexural psoriasis หรือ Inverse Psoriasis) รอยโรคจะมีลักษณะเป็นรอยแดง ผิวราบเรียบ มีขอบเขตชัดเจน และไม่มีเกล็ดเงิน มักพบขึ้นบริเวณรักแร้ ขาหนีบ ใต้นม ข้อพับต่าง ๆ และรอบ ๆ อวัยวะเพศ (รอยโรคอาจดูคล้ายโรคสังคัง โรคเชื้อราแคนดิดา) โรคสะเก็ดเงินชนิดนี้มักพบในผู้ที่มีน้ำหนักเกินหรืออ้วน อาการจะกำเริบมากขึ้นเมื่อมีเหงื่อออกหรือมีการเสียดสี
- โรคสะเก็ดเงินบริเวณมือเท้า (Palmoplantar psoriasis) เป็นโรคสะเก็ดเงินที่ขึ้นบริเวณฝ่ามือ ฝ่าเท้า และผื่นอาจพบลามขึ้นมาบริเวณหลังมือหรือหลังเท้าได้
- โรคสะเก็ดเงินชนิดเกิดที่หนังศีรษะ (Scalp psoriasis) เป็นกรณีที่พบได้ประมาณ 50% ของผู้ป่วยที่เป็นโรคสะเก็ดเงิน โดยอาจมีอาการเกิดขึ้นก่อนมีผื่นตามตัว ซึ่งรอยโรคจะมีลักษณะเป็นผื่นแดงหนา มีขอบเขตชัดเจน มีเกล็ดเงินขึ้นตามแนวไรผม และบางครั้งอาจลามมาที่หน้าผาก ผู้ป่วยมักไม่มีอาการผมร่วง แต่อาจจะมีอาการคัน เวลาเกาหนังศีรษะอาจมีเกล็ดหนังร่วงเกาะตามผมและไหล่ ลักษณะคล้ายกับรังแค โรคกลากที่ศีรษะ
- โรคสะเก็ดเงินชนิดเกิดที่เล็บ (Nail psoriasis) สามารถเกิดขึ้นได้ทั้งที่เล็บมือและเล็บเท้า ความผิดปกติที่เล็บมือพบได้ถึง 50% เล็บเท้าพบได้ประมาณ 35% มีอาการแสดงได้หลายลักษณะ เช่น มีจุดสีน้ำตาลใต้เล็บ เล็บขรุขระ เล็บเป็นหลุม เล็บแยกตัวออกจากเนื้อใต้เล็บ (Onycholysis) ผิวใต้เล็บหนา (Subungual keratosis) มักเกิดร่วมกับเนื้อเยื่อของเล็บอักเสบ (Paronychia) ในรายที่เป็นรุนแรงเนื้อเล็บจะเปื่อยยุ่ย ถูกทำลาย และบางครั้งผู้ป่วยอาจมีการติดเชื้อแบคทีเรียหรือเชื้อราร่วมด้วย จึงอาจทำให้เข้าใจว่าเป็นโรคกลากที่เล็บ หรือโรคเชื้อราแคนดิดาที่เล็บ
- ข้ออักเสบจากโรคสะเก็ดเงิน (Psoriatic arthritis) เป็นกรณีที่พบได้ประมาณ 5-15% ของผู้ป่วยที่เป็นโรคสะเก็ดเงิน ส่วนมากจะพบร่วมกับรอยโรคที่ผิวหนังเรื้อรัง ส่วนน้อยอาจมีอาการข้ออักเสบนำมาก่อนอาการที่ผิวหนัง โดยมักพบที่ข้อนิ้วมือนิ้วเท้ามีลักษณะปวด บวม และข้อแข็ง คล้ายโรคปวดข้อรูมาตอยด์ หากเป็นเรื้อรังจะทำให้เกิดการผิดรูปได้ ผู้ป่วยบางรายอาจมีการอักเสบของข้อเข่า สะโพก และข้อกระดูกสันหลัง ซึ่งอาจเป็นเพียงข้อเดียวหรือหลายข้อพร้อมกันก็ได้ และอาการข้ออักเสบอาจค่อย ๆ รุนแรงมากขึ้นจนข้อพิการในที่สุดก็เป็นได้
ภาวะแทรกซ้อนของโรคสะเก็ดเงิน
- ส่วนใหญ่โรคนี้มักไม่มีภาวะแทรกซ้อนรุนแรง แต่เนื่องจากรอยโรคที่เป็นแบบเรื้อรังและดูน่าเกลียด จึงอาจทำให้ผู้ป่วยเกิดความเครียด วิตกกังวล เกิดอาการซึมเศร้า สูญเสียความเชื่อมั่นในตนเอง และกระทบต่อการดำเนินชีวิตประจำวันและการออกสังคมได้
- ในรายที่มีอาการคันมาก อาจเกาจนมีการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน
- ในรายที่เป็นรุนแรง เช่น เป็นโรคสะเก็ดเงินชนิดตุ่มหนองที่ขึ้นกระจายไปทั่วตัว หรือสะเก็ดเงินชนิดแดงและเป็นเกล็ดทั่วตัว อาจทำให้เกิดภาวะสูญเสียน้ำและเกลือแร่ และเกิดการติดเชื้อรุนแรงได้
- ในรายที่เป็นที่เล็บ อาจทำให้เล็บพิการ
- ในรายที่เป็นข้ออักเสบ อาจทำให้ข้อพิการ
- อาจเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง และโรคมะเร็งผิวหนังชนิดไม่ใช่เมลาโนมา (Non melanoma skin cancer)
การวินิจฉัยโรคสะเก็ดเงิน
แพทย์สามารถวินิจฉัยโรคนี้ได้จากประวัติอาการ ประวัติการเจ็บป่วย และการใช้ยาทั้งในอดีตและปัจจุบัน ประวัติในครอบครัว การตรวจร่างกาย ตรวจความผิดปกติของผิวหนัง ส่วนในรายที่มีอาการไม่ชัดเจน อาจต้องทำการตรวจชิ้นเนื้อ (Biopsy) โดยการตัดเนื้อเยื่อผิวหนังส่งพิสูจน์ และอาจมีการตรวจอื่น ๆ เพิ่มเติม ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์
วิธีรักษาโรคสะเก็ดเงิน
หากสงสัยว่าเป็นโรคสะเก็ดเงินควรปรึกษาแพทย์ โดยแพทย์จะให้การรักษาไปตามชนิดและความรุนแรงของโรคสะเก็ดเงิน ตามแนวทางดังต่อไปนี้
- เมื่อเกิดผื่น ทั้งผื่นคันหรือผื่นไม่คัน ที่อาการไม่ดีขึ้นหรืออาการเลวร้ายลงภายหลังจากดูแลตนเองภายใน 1 สัปดาห์ หรือมีสิ่งผิดปกติต่าง ๆ เช่น แผลเรื้อรังเป็น ๆ หาย ๆ เกิดซ้ำในที่เดียวกันตลอด หรือผิวหนังมีก้อนเนื้อ ควรรีบไปพบแพทย์ภายใน 1 สัปดาห์หลังพบความผิดปกติ เพื่อวินิจฉัยแยกโรคว่าไม่ใช่เกิดจากโรคมะเร็ง
- สำหรับรอยโรคที่ผิวหนัง ในรายที่เป็นน้อย (มีผื่นน้อยกว่า 10% ของพื้นที่ผิวทั่วร่างกาย โดยผื่นขนาดประมาณ 1 ฝ่ามือจะเท่ากับพื้นที่ประมาณ 1%) มีรอยโรคเพียงไม่กี่แห่ง แพทย์จะให้ทาครีมสเตียรอยด์ เช่น ครีมไตรแอมซิโนโลนอะเซโทไนด์ (Triamcinolone acetonide) หรือขี้ผึ้งน้ำมันดินหรือโคลทาร์ (Coal tar) ชนิด 1-5% หรืออาจใช้ทั้ง 2 สลับกัน เพื่อป้องกันการดื้อยา
- ในรายที่เป็นมากขึ้น อาจหลีกเลี่ยงการใช้ครีมสเตียรอยด์ หรือใช้ทาเฉพาะบริเวณที่เป็นปื้นหนา และบางครั้งแพทย์อาจแนะนำให้ผู้ป่วยอาบแดดในช่วงเวลา 10.00-14.00 น. โดยให้เริ่มอาบด้านละ 5-10 นาทีก่อน แล้วจึงค่อย ๆ เพิ่มระยะเวลานานขึ้น จนถึงขั้นทำให้เกิดรอยแดงเรื่อ ๆ ที่ผิวหนังภายใน 24 ชั่วโมงหลังอาบแดด ซึ่งส่วนใหญ่จะอาบแดดนานประมาณ 15-20 นาที โดยให้ทำประมาณสัปดาห์ละ 3 ครั้ง จะช่วยให้ผื่นยุบไปได้ภายในไม่กี่สัปดาห์ (แสงแดดหรือแสงอัลตราไวโอเลตจะมีฤทธิ์ทำให้ลิมโฟไซต์ชนิด T cells ตาย ส่งผลให้การแบ่งตัวของเซลล์ผิวหนังชะลอลง จึงช่วยลดการเกิดเกล็ดเงินและการอักเสบของผิวหนังได้) แต่มีข้อควรระวัง คือ อย่าอาบแดดนานเกินไป และควรใช้ผ้าคลุมหน้าเพื่อป้องกันมิให้ผิวหน้าถูกแดดมากเกินไป และบางรายอาจแพ้แดดทำให้อาการของโรคกำเริบขึ้นมาได้
- ผู้ป่วยบางรายโดยเฉพาะอย่างยิ่งในรายที่เป็นโรคสะเก็ดเงินชนิดปื้นหนา แพทย์อาจให้ผู้ป่วยทาขี้ผึ้งแอนทราลิน (Anthralin ointment) พร้อมกับการอาบแดด (สำหรับในโรงพยาบาลขนาดใหญ่อาจใช้วิธีฉายแสงอัลตราไวโอเลตบี (UVB) แทนการอาบแดดก็ได้) ซึ่งถ้าได้ผลผื่นจะยุบไปภายใน 3-4 สัปดาห์ แต่มีข้อควรระวังคือ ยาทาชนิดนี้อาจก่อให้เกิดการระคายเคืองได้ ถ้าพบอาการระคายเคืองควรหยุดใช้ยา และห้ามใช้ยานี้ทาบนใบหน้า ข้อพับ และอวัยวะเพศ ในบางกรณีแพทย์อาจเลือกใช้ยาทาชนิดอื่น ๆ เช่น แคลซิโปทรีน (Calcipotriene) ซึ่งเป็นอนุพันธ์ของวิตามินดี, ทาซาโรทีน (Tazarotene) ซึ่งเป็นอนุพันธ์ของวิตามินเอหรือเรตินอยด์ (ห้ามใช้ในหญิงตั้งครรภ์) เป็นต้น โดยอาจใช้เดี่ยว ๆ หรือใช้ร่วมกับยาอื่น หรือร่วมกับการฉายแสงอัลตราไวโอเลต
- นอกจากนี้แพทย์จะให้การรักษาไปตามอาการ เช่น ถ้ามีอาการคัน แพทย์จะให้ยาแก้แพ้, ถ้าผิวหนังแห้งจะให้ทาด้วย Petroleum liquid paraffin เพื่อช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นให้กับผิวหนัง, ถ้าเกล็ดหนามากแพทย์จะให้ยาละลายขุย เช่น ครีมยูเรียหรือกรดซาลิไซลิก, ถ้ามีอาการปวดหรือมีไข้ จะให้ยาแก้ปวดลดไข้ เป็นต้น
- สำหรับรอยโรคที่หนังศีรษะ แพทย์จะแนะนำให้ผู้ป่วยสระผมด้วยแชมพูที่มีส่วนผสมของน้ำมันดิน เช่น ทาร์แชมพู สัปดาห์ละ 2-3 ครั้ง ส่วนในรายที่มีขุยที่หนังศีรษะมาก แพทย์อาจให้โลชั่นที่เข้าสเตียรอยด์ (Steroid scalp lotion) ไปทาวันละ 1-2 ครั้ง
- สำหรับอาการข้ออักเสบ แพทย์จะให้ยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDs) เพื่อบรรเทาอาการอักเสบ
- ในรายที่เป็นรุนแรง หรือดื้อต่อการรักษา แพทย์อาจต้องใช้ยาชนิดกิน เช่น การให้กินยาโซลาเรน (Psoralen) ร่วมกับการฉายแสงอัลตราไวโอเลตเอ การให้กินยากลุ่มเรตินอยด์ เมโทเทรกเซท (Methotrexate) หรือไซโคลสปอริน (Cyclosporin) ที่เป็นยากดภูมิคุ้มกันต้านทานโรคของร่างกาย ซึ่งวิธีการรักษาเหล่านี้ควรให้แพทย์โรคผิวหนังเป็นผู้ดูแลในการรักษาอย่างใกล้ชิด เนื่องจากมีผลข้างเคียงและข้อควรระวังของยาแต่ละชนิดแตกต่างกันไป
- ในปัจจุบันนี้มียาใหม่ที่มีผลข้างเคียงน้อย แต่มีราคาแพง เช่น อีทาเนอร์เซ็บท์ (Etanercept), อินฟลิกซิแม็บ (Infliximab) เป็นต้น ซึ่งเป็นสารชีวภาพที่ออกฤทธิ์ต้านการอักเสบโดยยับยั้งการทำงานของลิมโฟไซต์ได้ แพทย์อาจเลือกใช้ยากลุ่มนี้ในผู้ป่วยที่ใช้ยาอื่นไม่ได้ผลหรือมีความเสี่ยงต่อผลข้างเคียงที่ร้ายแรงของยาอื่น
- การดูแลตนเองเมื่อเป็นโรคสะเก็ดเงิน ผู้ป่วยควรปฏิบัติตัวตามคำแนะนำต่อไปนี้
- ปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์
- หลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้โรคสะเก็ดเงินกำเริบหรือรุนแรงมากขึ้น โดยเฉพาะความเครียด การสูบบุหรี่ และการดื่มแอลกอฮอล์
- อาบน้ำโดยใช้สบู่เด็กอ่อน หรืออาจใช้สบู่สำหรับผิวแห้งมาก (สบู่ผสมน้ำมัน) ในบริเวณผิวหนังส่วนที่มีรอยโรค
- อาบแดดอ่อน ๆ ทุกวันตามคำแนะนำของแพทย์
- รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ให้ครบ 5 หมู่ทุกวัน นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ เพื่อให้ร่างกายแข็งแรง ช่วยลดโอกาสการติดเชื้อ
ควรรักษาสุขอนามัยพื้นฐาน (สุขบัญญัติแห่งชาติ) เพื่อให้ร่างกายแข็งแรงและมีสุขภาพจิตที่ดี - ควรไปพบแพทย์ตามนัดเสมอ และรีบไปพบแพทย์ก่อนนัดเมื่ออาการต่าง ๆ ที่เป็นอยู่เลวร้ายลง หรือมีอาการผิดปกติไปจากเดิม หรือเมื่อมีความกังวลในอาการ
- เพื่อป้องกันไม่ให้โรคกำเริบซ้ำ ผู้ป่วยควรปฏิบัติดังนี้
- หลีกเลี่ยงการซื้อยาชุด ยาสมุนไพร และยาลูกกลอนกินเอง เพราะอาจเกิดอาการแพ้ยาทำให้โรคกำเริบได้ หรือหากได้รับยาสเตียรอยด์ที่ผสมอยู่ในยาชุดหรือยาลูกกลอน ซึ่งแม้ว่าจะทำให้โรคทุเลาลงได้ แต่ถ้าหยุดใช้ยาก็อาจทำให้โรคกำเริบรุนแรงได้ โดยทั่วไปแพทย์จะหลีกเลี่ยงการให้ยาสเตียรอยด์ชนิดกินแก่ผู้ป่วย แต่จะให้ใช้สเตียรอยด์ชนิดทาหรือฉีดเฉพาะที่แทน เพื่อป้องกันไม่ให้โรคกำเริบหลังจากหยุดยา
- หลีกเลี่ยงการบาดเจ็บหรือถูกขีดข่วนที่ผิวหนัง
- งดการสูบบุหรี่และการดื่มแอลกอฮอล์
- ควรนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ อย่าอดหลับอดนอน หรือตรากตรำทำงานหนักจนเกินไป
- พยายามอย่าให้เกิดภาวะเครียดทั้งทางร่างกายและจิตใจ โดยการหันมาออกกำลังกายเป็นประจำ ทำสมาธิ ฝึกโยคะ ชี่กง รำมวยจีน หางานอดิเรกทำ เป็นต้น
- ควรอาบแดดหรือให้ผิวหนังได้ถูกแสงแดดบ้าง แต่ไม่ควรให้ถูกแสงแดดนานเกินไป ยกเว้นในรายที่แพ้แดด ควรหลีกเลี่ยงการถูกแดด
เนื่องจากโรคสะเก็ดเงินเป็นโรคที่ยังไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ในปัจจุบัน และยังไม่มีการรักษาใดที่ให้ประสิทธิภาพสูงสุด หลักการรักษาโดยรวมจึงเป็นการรักษาแบบผสมผสานกันไป (Combination therapy) เพื่อให้ผลการรักษาดีขึ้น สามารถลดขนาดของยาและผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นจากการรักษาได้ นอกจากนี้ การรักษาก็ไม่ควรใช้วิธีใดวิธีหนึ่งเป็นเวลานาน ๆ แต่ควรใช้วิธีหมุนเวียนการรักษา (Rotation therapy) เพื่อลดขนาดยาโดยรวม ลดโอกาสเกิดผลข้างเคียงของการรักษา และเพื่อให้โรคสงบได้นานขึ้น
ยารักษาโรคสะเก็ดเงิน
การรักษาด้วยการใช้ยาทา (Topical therapy) ได้แก่
- คอติโคสเตียรอยด์ (Topical corticosteroids) ส่วนใหญ่เป็นที่นิยมใช้ เนื่องจากเป็นครีมขาวใช้ง่ายและตอบสนองต่อการรักษาดี เหมาะสำหรับโรคสะเก็ดเงินชนิดปื้นหนาที่บริเวณศีรษะ เล็บ และโรคสะเก็ดเงินชนิดรอยพับ แต่ยานี้ต้องใช้ด้วยความระมัดระวัง คือ ไม่ใช้ยาที่มีความแรงมากเกินไปและไม่ใช้เป็นบริเวณกว้าง เพราะอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงของยาและอาจทำให้เกิดการเห่อของโรคอย่างรุนแรงหลังหยุดใช้ยาได้
- ขี้ผึ้งน้ำมันดินหรือโคลทาร์ (Coal tar) มีฤทธิ์ยับยั้งการแบ่งตัวของเซลล์ผิวหนังที่ผิดปกติ มีประสิทธิภาพดี สามารถใช้ได้ตั้งแต่ 1-5% ในการรักษา เป็นยาที่สามารถใช้ได้อย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลานานโดยไม่เกิดผลข้างเคียง แต่ยานี้มีสีน้ำตาล กลิ่นเหม็น เวลาทาอาจทำให้เปรอะเปื้อนเสื้อผ้า และอาจพบผลข้างเคียงคือ เกิดรูขุมขนอักเสบ หรือระคายเคืองผิวหนังบริเวณที่ทายาได้
- ยูเรียครีม 10% ใช้เพื่อป้องกันผิวแห้ง เพิ่มความชุ่มชื้นกับผิวหนัง รักษาอาการผื่นคันของผิวหนัง รักษาอาการผิวหนังหนาและหยาบกระด้าง และช่วยให้มีระยะสงบของโรคที่ยาวนานยิ่งขึ้น
- แอนทราลิน (Anthralin) เป็นยาที่มีฤทธิ์ยับยั้งการแบ่งตัวของเซลล์ผิวหนังที่ผิดปกติและลดการอักเสบ เหมาะสำหรับโรคสะเก็ดเงินชนิดปื้นหนาและชนิดตุ่มเล็ก โดยให้เริ่มใช้ที่ความเข้มข้นต่ำประมาณ 0.05-0.1% ก่อน แล้วจึงค่อย ๆ เพิ่มความเข้มข้นถึง 5% และควรผสมกรดซาลิไซลิก 1-2% เพื่อป้องกันการเกิด auto-oxidation ควรทาวันละ 1 ครั้ง หรือทาแบบ short contact treatment คือทาทิ้งไว้ 20 นาทีแล้วล้างออก สำหรับผลข้างเคียงที่สำคัญของยาชนิดนี้คือ อาจทำให้ระคายเคืองผิวหนัง และผิวหนังบริเวณที่ทาอาจมีสีคล้ำขึ้นได้
- ทาซาโรทีน (Tazarotene) เป็นอนุพันธ์ของวิตามินเอ (เรตินอยด์) ได้ผลในการรักษาโรคไม่ค่อยดี จึงไม่ค่อยนิยมใช้ อย่างไรก็ดี อาจใช้ยานี้ร่วมกับการฉายแสงอัลตราไวโอเลตบี (UVB) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษาก็ได้
- แคลซิโปทรีน (Calcipotriene) ซึ่งเป็นอนุพันธ์ของวิตามินดี มีฤทธิ์ในการยับยั้งการแบ่งตัวของเซลล์ผิวหนัง ส่งเสริมให้เกิดการเติบโตของเซลล์อย่างปกติ และลดการอักเสบ เป็นยาที่ปลอดภัยสามารถใช้กับผู้ป่วยเด็กได้ เหมาะสำหรับโรคสะเก็ดเงินชนิดปื้นหนา ใช้ทาวันละ 1-2 ครั้ง ไม่ควรใช้ร่วมกับกรดซาลิไซลิก และหากใช้ร่วมกับการฉายแสง ควรให้ผู้ป่วยทาหลังจากการฉายด้วย มีผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นได้คือ ระคายเคือง และเกิดการเปลี่ยนแปลงของเมตาบอลิซึมของแคลเซียมและฟอสเฟตซึ่งพบได้น้อยมาก
- ทาโครลิมัส (Tacrolimus) มีฤทธิ์ลดการอักเสบ โดยไปยับยั้ง Calcineurin ในเซลล์ T lymphocyte, Langerhans cell, Mast cell และ Keratinocyte ยาผลิตมาในรูปของ Ointment มีความเข้มข้นอยู่ระหว่าง 0.03%-0.1% จัดเป็นยาที่มีความปลอดภัยสูง สามารถใช้ได้ทั้งผู้ป่วยเด็กและผู้ใหญ่ มีผลข้างเคียงคือ อาจรู้สึกแสบร้อนเวลาทา Flushing เวลาผู้ป่วยดื่มแอลกอฮอล์ และอาการทางจิตประสาท ความดันโลหิตสูง Impaired kidney function และเพิ่มระดับไขมันในเลือดได้ แต่ไม่เกิดผลข้างเคียงต่อผิวหนังหรือระบบอื่น ๆ
- พิเมโครลิมัส (Pimecrolimus) มีฤทธิ์ลดการอักเสบ โดยไปยับยั้ง Calcineurin ในเซลล์ยับยั้งการหลั่ง Cytokines และ Mediators ของ Mast cell และ Basophil ยาผลิตมาในรูปของครีม มีความเข้มข้น 1% ใช้ทาวันละ 2 ครั้ง เป็นยาที่มีราคาแพงมาก และอาจพบผลข้างเคียงเล็กน้อย เช่น แสบร้อน
การรักษาด้วยการฉายแสง (Phototherapy) เป็นอีกวิธีหนึ่งที่ได้ผลดีในการรักษาสะเก็ดเงิน ซึ่งในปัจจุบันมีอยู่ด้วยกัน 2 ชนิด คือ รังสีอัลตราไวโอเลตเอและบี ซึ่งผู้ป่วยต้องมารับการรักษา 2-3 ครั้งต่อสัปดาห์ เป็นระยะเวลาอย่างน้อย 3 เดือนติดต่อกัน โดยจะให้ผลการรักษาดีประมาณ 70-80% ขึ้นไป ผลข้างเคียงโดยรวมพบได้น้อย การกลับมาเป็นซ้ำของโรคจะน้อยกว่ายาทาหรือยากิน
- การกินยาโซลาเรนร่วมกับการฉายแสงอัลตราไวโอเลตเอ (Photochemotherapy – PUVA) เป็นการกินยาโซลาเรน (Psoralen) ร่วมกับการฉายแสงอัลตราไวโอเลตเอ โดยโซลาเรนจะจับกับ DNA เมื่อฉายแสงจะก่อให้เกิด Photoproduct ซึ่งไปยับยั้งการสร้าง DNA และการแบ่งเซลล์ มีผลข้างเคียงของการรักษาคือ คลื่นไส้อาเจียน วิงเวียนศีรษะจากการกินยาโซลาเรน, อาการคันและผิวหนังเกิดความเสื่อมสภาพที่เกิดจากการฉายแสงในระยะยาว เช่น กระ สีผิวผิดปกติ สำหรับผลข้างเคียงสำคัญคือ อาจก่อให้เกิดมะเร็งผิวหนังได้
- การฉายแสงอัลตราไวโอเลตบี (Selective UVB therapy) เป็นการฉายแสงอัลตราไวโอเลตบีเพียงอย่างเดียว หรือใช้ร่วมกับการใช้ยาทาภายนอก เช่น ครีมสเตียรอยด์ แอนทราลิน ทาซาโรทีน แคลซิโปทรีน ซึ่งจะได้ผลดีกับโรคสะเก็ดเงินชนิดปื้นหนาและชนิดตุ่มเล็ก
การรักษาด้วยการใช้ยาแบบ Systemic therapy
- อะซิเตรติน (Acitretin) เป็นยารับประทานกลุ่มวิตามินเอ มีฤทธิ์ควบคุม Gene transcription และลดการอักเสบ เหมาะสำหรับโรคสะเก็ดเงินชนิดตุ่มหนอง สามารถใช้ร่วมกับ Photochemotherapy (PUVA) ได้ เพื่อให้ได้ผลในการรักษาที่ดีขึ้นในผู้ป่วยบางราย โดยเฉพาะข้ออักเสบจากโรคสะเก็ดเงิน ขนาดของยาสำหรับโรคสะเก็ดเงินชนิดปื้นหนาและโรคสะเก็ดเงินชนิดแดงและเป็นเกล็ดทั่วตัว คือ เริ่มด้วย 0.3-0.5 มิลลิกรัม/กิโลกรัม/วัน และค่อย ๆ เพิ่มขึ้นจนสูงสุดที่ 0.75 มิลลิกรัม/กิโลกรัม/วัน ทุก ๆ 3-4 สัปดาห์ สำหรับโรคสะเก็ดเงินชนิดตุ่มหนอง ให้เริ่มด้วยขนาด 1 มิลลิกรัม/กิโลกรัม/วัน และค่อย ๆ ลดลงจนเหลือขนาด 0.5 มิลลิกรัม/กิโลกรัม/วัน โดยให้ใช้นาน 3-4 เดือน ส่วนผลข้างเคียงที่อาจพบได้คือ อ่อนเพลีย มีขนตามร่างกายเพิ่มขึ้น Gingival hyperplasia และ Tremor สำหรับผลข้างเคียงที่สำคัญได้แก่ ผิวแห้ง คัน, ฝ่ามือฝ่าเท้าลอก, ผมร่วง, ปวดกล้ามเนื้อ, ระดับไขมันในเลือดสูงขึ้น, Cheilitis, Sicca syndrome สำหรับในหญิงวัยเจริญพันธุ์จำเป็นต้องคุมกำเนิดในช่วงที่ได้ยาและหลังหยุดยานาน 2 ปี เพราะยาอาจมี Teratogenic effect
- เมโทเทรกเซท (Methotrexate) มีฤทธิ์ยับยั้งการสร้าง DNA และลดการอักเสบ เป็นยาที่ได้ผลดีกับสะเก็ดเงินเกือบทุกชนิด โดยเฉพาะโรคสะเก็ดเงินชนิดตุ่มหนองและชนิดข้ออักเสบจากโรคสะเก็ดเงิน ขนาดของยาที่เหมาะสมคือ 10-25 มิลลิกรัมต่อสัปดาห์ ผลข้างเคียงที่พบได้บ่อยคือ ปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน อ่อนเพลีย ผมร่วง สำหรับผลข้างเคียงที่สำคัญคือ Bone marrow dysfunction, Hepatotoxicity และ Acute interstitial pneumonitis จึงไม่ควรใช้ยานี้ในผู้ป่วยที่มีการทำงานของไตผิดปกติ
- ไซโคลสปอริน (Cyclosporin) มีฤทธิ์ลดการอักเสบ โดยไปยับยั้ง Calcineurin มีประสิทธิภาพในการรักษาดี ใช้ในกรณีของโรคสะเก็ดเงินที่มีความรุนแรงปานกลางถึงรุนแรงมาก เหมาะสำหรับโรคสะเก็ดเงินชนิดปื้นหนา, ชนิดแดงและเป็นเกล็ดทั่วตัว, ชนิดตุ่มหนอง และชนิดเกิดที่เล็บ ขนาดยาที่เหมาะสมคือ เริ่มด้วย 2.5-3 มิลลิกรัม/กิโลกรัม/วัน และค่อย ๆ เพิ่มจนสูงสุดที่ 5 มิลลิกรัม/กิโลกรัม/วัน ผลข้างเคียงที่อาจพบได้คือ อ่อนเพลีย มีขนตามร่างกายเพิ่มขึ้น Gingival hyperplasia และ Tremor สำหรับผลข้างเคียงที่สำคัญ ได้แก่ ความดันโลหิตสูง ระดับไขมันในเลือดสูงขึ้น Impairment of kidney function และเพิ่มโอกาสเกิดมะเร็งที่ผิวหนังโดยเฉพาะเมื่อใช้ร่วมกับ Photochemotherapy (PUVA)
การรักษาด้วยยาชีวบำบัด (Biological therapy) ได้แก่
- อะเลฟาเซ็บท์ (Alefacept) เป็น Fusion protein ของ LFA-3 กับ Fc portion ของ human IgG มีฤทธิ์ในการยับยั้งการกระตุ้น T cell และยังก่อให้เกิด apoptosis ของ T cell ขนาดของยาที่เหมาะสมคือ 0.075 มิลลิกรัม/กิโลกรัม/สัปดาห์ ใช้ฉีดเข้าหลอดเลือด หรือขนาด 0.15 มิลลิกรัม/กิโลกรัม/สัปดาห์ ใช้ฉีดเข้ากล้าม ให้นาน 12 สัปดาห์ ยานี้ไม่พบผลข้างเคียงรุนแรง
- อีทาเนอร์เซ็บท์ (Etanercept) เป็น Fusion protein ของ TNF-receptor กับ Fc portion ของ human IgG มีฤทธิ์ในการแย่งจับ TNF กับ receptor บนผิวเซลล์ จึงยับยั้งผลของ TNF-α ใช้สำหรับฉีดเข้าชั้นใต้ผิวหนัง 2 ครั้งต่อสัปดาห์ มีผลข้างเคียงที่อาจพบได้คือ บริเวณที่ฉีดเกิดอาการปวด บวม แดง
- อีฟาลิซูแม็บ (Efalizumab) เป็น Humanized monoclonal antibody ต่อ CD11a ซึ่งเป็นส่วนประกอบของ LFA-1 ยาจึงมีฤทธิ์ในการยับยั้งการกระตุ้น T cell และยับยั้ง T cell ไม่ให้เดินทางมาที่ผิวหนัง มีผลข้างเคียงที่อาจพบได้คือ ไข้ หนาวสั่น ปวดศีรษะ
- อินฟลิกซิแม็บ (Infliximab) เป็น Humanized monoclonal antibody ต่อ TNF-receptor มีฤทธิ์ในการแย่ง TNF กับ receptor บนผิวเซลล์จึงยับยั้งผลของ TNF-α ใช้สำหรับฉีดเข้าหลอดเลือดดำทุก ๆ 4-8 สัปดาห์ มีผลข้างเคียงที่อาจพบได้คือ flushing ปวดศีรษะ แพ้ยา
คำแนะนำเกี่ยวกับโรคสะเก็ดเงิน
- ผู้ป่วยโรคสะเก็ดเงินแต่ละรายอาจมีอาการและความรุนแรงของโรคแตกต่างกันไป โดยอาจมีอาการเพียงชนิดใดชนิดหนึ่งหรือมากกว่า 1 ชนิดขึ้นไป หรือเปลี่ยนชนิดกันไปมาก็ได้ บางรายอาจมีผื่นขึ้นเฉพาะที่ ไม่ลุกลามออกไป แต่บางรายผื่นอาจทวีความรุนแรงไปเรื่อย ๆ โดยทั่วไปแล้วถ้าเริ่มมีอาการครั้งแรกตอนอายุน้อย ก็จะมีโอกาสเกิดความรุนแรงได้มากขึ้น อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยส่วนใหญ่ก็มักจะมีอาการเพียงเล็กน้อย สามารถรักษาด้วยการใช้สเตียรอยด์ชนิดทาเป็นครั้งคราว และสามารถไปทำงานและดำเนินชีวิตได้อย่างคนปกติทั่วไป
- โรคนี้มักมีอาการเป็น ๆ หาย ๆ แบบเรื้อรัง โดยมีบางช่วยที่อาจหายดีเหมือนปกติ แต่สักพักหนึ่งก็จะกำเริบขึ้นอีก ผู้ป่วยบางรายอาจมีระยะสงบจากอาการนานเป็นปี ๆ แต่บางรายอาจกำเริบได้บ่อย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีสิ่งที่มากระตุ้นอย่างความเครียดทั้งทางร่างกายและจิตใจ ดังนั้น ผู้ป่วยจึงควรติดต่อรักษากับแพทย์คนใดคนหนึ่งอย่างต่อเนื่อง อย่าเปลี่ยนแพทย์ หรือเปลี่ยนโรงพยาบาลบ่อย
- โรคสะเก็ดเงินแม้จะเป็นโรคเรื้อรัง แต่ก็มักจะไม่มีภาวะแทรกซ้อนที่ร้ายแรง และแม้จะมีรอยโรคที่ดูน่าเกลียด แต่ก็ไม่ใช่โรคติดต่ออย่างโรคเชื้อราหรือโรคเรื้อน หรือเป็นโรคร้ายแรงแบบโรคเอดส์หรือโรคมะเร็ง ผู้ป่วยจึงสามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่นอย่างใกล้ชิดได้ตามปกติ (การสัมผัสผู้ป่วยที่เป็นโรคสะเก็ดเงินหรือผิวหนังส่วนที่เกิดรอยโรคหรือแม้แต่สะเก็ดของผิวหนังส่วนที่เกิดรอยโรคก็ไม่ทำให้เป็นโรคสะเก็ดเงินได้) ดังนั้น ผู้ป่วยจึงควรอธิบายให้ญาติพี่น้องและคนทั่วไปเข้าใจ เพื่อเขาเหล่านั้นจะได้ให้การดูแลและให้กำลังใจแก่ผู้ป่วย และไม่แสดงความรังเกียจจนทำให้ผู้ป่วยรู้สึกมีปมด้อย เกิดความเครียด หรือมีอาการซึมเศร้า
- โรคนี้อาจแสดงอาการได้หลายแบบ และอาจคล้ายกับโรคผิวหนังอื่น ๆ เช่น กลาก รังแค โรคเชื้อราแคนดิดา ผื่นกุหลาบ ผิวหนังอักเสบจากภูมิแพ้ เป็นต้น ดังนั้น ถ้ารักษาโรคเหล่านี้แล้วไม่ได้ผล ควรนึกถึงโรคสะเก็ดเงินด้วยเสมอ
- โรงพยาบาลควรส่งเสริมให้กลุ่มผู้ป่วยที่เป็นโรคสะเก็ดเงินได้พบปะพูดคุยหรือแลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์ในการดูแลตนเอง และให้กำลังใจซึ่งกันและกัน และหากเป็นไปได้ ควรจัดให้ผู้ป่วยรวมตัวกันเป็นกลุ่มเพื่อนช่วยเพื่อนหรือกลุ่มมิตรภาพบำบัด
วิธีป้องกันโรคสะเก็ดเงิน
เนื่องจากโรคนี้เป็นโรคที่ยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด จึงยังไม่มีวิธีป้องกัน แต่ที่พอทำได้คือการหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงที่พอเลี่ยงได้ (เช่น ภาวะความเครียด ความอ้วน) และรักษาสุขอนามัยพื้นฐาน (สุขบัญญัติแห่งชาติ) เพื่อลดโอกาสติดเชื้อต่าง ๆ
เอกสารอ้างอิง
- หนังสือตำราการตรวจรักษาโรคทั่วไป 2. “โซริอาซิส/โรคเกล็ดเงิน (Psoriasis)”. (นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ). หน้า 1019-1024.
- ภาควิชาตจวิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล. “สะเก็ดเงิน คืออะไร”. (รศ.นพ.ปารยะ อาศนะเสน). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.si.mahidol.ac.th. [11 มิ.ย. 2016].
- ภาควิชาตจวิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล. “โรคสะเก็ดเงิน (Psoriasis)”. (ผศ.พญ.ชนิษฎา วงษ์ประภารัตน์). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.si.mahidol.ac.th. [11 มิ.ย. 2016].
- ภาควิชาจุลชีววิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. “โรคสะเก็ดเงิน (Psoriasis)”. (อ.พญ.ดร.จงกลนี วงศ์ปิยะบวร). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.cai.md.chula.ac.th/lesson/lesson4806/. [12 มิ.ย. 2016].
- หาหมอดอทคอม. “โรคสะเก็ดเงิน (Psoriasis)”. (ศ.เกียรติคุณ พญ.พวงทอง ไกรพิบูลย์). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : haamor.com. [12 มิ.ย. 2016].
ภาพประกอบ : dylansteinacupuncture.com, qsota.com, www.galdermabenelux.com, www.mayoclinic.org, ww.stelarainfo.com, www.healthline.com, www.minnesotaskin.com, www.papaa.org, www.health24.com, byebyedoctor.com, www.pcds.org.uk, www.health.auckland.ac.nz, www.torontopsoriasiscentre.com, www.onlinedermclinic.com, www.clevelandclinicmeded.com, noskinproblems.com, www.dermquest.com, hickeysolution.com, www.psoriasisexpert.org, www.psoriasis.com, escholarship.org, www.hometreatmentcure.com, healthh.com, www.onlinedermclinic.com., conditions.healthguru.com, noskinproblems.com, psoriasisfreetips.com, mddk.com, www.danderm-pdv.is.kkh.dk, www.clinicaladvisor.com, www.physio-pedia.com, www.prnewswire.com, emedicine.medscape.com
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)