โรคฉี่หนู
โรคฉี่หนู หรือ ไข้ฉี่หนู หรือ โรคเลปโตสไปโรซิส (Leptospirosis) เป็นโรคติดเชื้อแบคทีเรียจากสัตว์มาสู่คนที่พบได้เป็นครั้งคราวในแทบทุกจังหวัด พบได้มากในผู้ที่มีอาชีพที่ต้องเดินย่ำน้ำ ลุยน้ำ แช่น้ำ หรือสัมผัสกับสัตว์ที่เป็นพาหะ โดยจะพบโรคนี้ได้ในผู้ชายมากกว่าผู้หญิงประมาณ 2.5 เท่า และส่วนใหญ่พบในกลุ่มอายุ 15-54 ปี ความสำคัญของโรคนี้คือ ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้ และผู้ป่วยที่เคยเป็นโรคนี้แล้วก็สามารถกลับมาเป็นซ้ำได้อีก
โรคฉี่หนู เป็นโรคที่พบเกิดได้ประปรายตลอดทั้งปี แต่จะพบได้มากในช่วงเดือนสิงหาคมถึงเดือนพฤศจิกายน ซึ่งเป็นช่วงที่มีน้ำขังหรือเกิดภาวะน้ำท่วมและมีเชื้อโรคขังอยู่ในน้ำ เมื่อคนเดินลุยน้ำหรือลงแช่น้ำก็จะมีโอกาสได้รับเชื้อนี้ แต่ในบางครั้งก็อาจพบการระบาดของโรคนี้ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่มีภาวะน้ำท่วม
ในระยะหลัง ๆ นี้ พบผู้ป่วยเป็นโรคฉี่หนูกันมากทางภาคอีสาน เนื่องจากมีหนูชุกชุมอยู่ตามท้องนา และมักจะเป็นชนิดรุนแรง ชาวบ้านจึงมักเรียกว่า “โรคฉี่หนู” หรือ “ไข้ฉี่หนู“
สาเหตุของโรคโรคฉี่หนู
สาเหตุ : เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียที่มีชื่อว่า “เชื้อเลปโตสไปร่า” (Leptospira) ที่มีอยู่หลายสายพันธุ์ย่อย (ในทางปฏิบัติสามารถแบ่งสายพันธุ์ย่อยของเชื้อได้ตามวิธีการตรวจหาสารประกอบบนตัวแบคทีเรียจากเลือดของคน โดยจะเรียกแต่ละสายพันธุ์ย่อยว่า “ซีโรวาร์” (Serovars) ซึ่งแบ่งออกได้มากกว่า 250 ซีโรวาร์) ซึ่งจะก่อให้เกิดอาการและความรุนแรงแตกต่างกันไป
สัตว์ที่เป็นพาหะนำโรค : เชื้อเลปโตสไปร่านี้จะมีอยู่ในท่อไตเล็ก ๆ และอวัยวะเพศภายในของสัตว์หลากหลายชนิด (ส่วนใหญ่แล้วสัตว์จะไม่แสดงอาการใด ๆ คือจะเป็นได้เพียงรังโรคและพาหะของโรค) ซึ่งทั่วโลกพบสัตว์ที่มีเชื้อนี้มากกว่า 160 ชนิด ยกเว้นสัตว์ในเขตขั้วโลก
โดยจะมีหนูเป็นแหล่งรังโรคที่สำคัญที่สุด โดยพบทั้งในหนูนา หนูพุก หนูบ้าน หนูท่อ และหนูตะเภา ส่วนสัตว์ชนิดอื่น ๆ ที่อาจพบได้แต่น้อย คือ สุนัข สุกร โค กระบือ แกะ แพะ ม้า นก กระรอก พังพอน แรคคูน ปลาบางชนิด รวมทั้งแมวด้วย (ส่วนใหญ่สัตว์ที่นำเชื้อ คือ หนู โดยเฉพาะหนูนา หนูพุก รองลงมาคือ สุนัข โค กระบือ แพะ แกะ) ส่วนมากสัตว์ที่ไวต่อการรับเชื้อมักจะเป็นสัตว์ที่เลี้ยงลูกด้วยนมที่มีอายุน้อยหรือเป็นลูกสัตว์ที่ไม่เคยได้รับภูมิคุ้มกันจากแม่มาก่อน (เชื้อบางสายพันธุ์ย่อยจะมีความจำเพาะกับสัตว์บางชนิด และในสัตว์หนึ่งชนิดก็สามารถมีเชื้อได้หลายสายพันธุ์ย่อย)
การติดเชื้อ : เชื้อโรคฉี่หนูสามารถเข้าสู่ร่างกายของคนผ่านทางผิวหนังที่มีบาดแผล รอยถลอก หรือรอยขีดข่วนตามผิวหนัง หรืออาจไชเข้าทางผิวหนังปกติที่เปียกชุ่มจากการแช่น้ำเป็นเวลานาน ๆ หรือไชเข้าทางเยื่อบุตา จมูก หรือช่องปากที่ปกติ ดังนั้น การเดินย่ำน้ำที่ท่วมขัง (เช่น ตามซอกซอยในเมือง) หรือพื้นดินที่ชื้นแฉะ (เช่น ตามท้องนา) การแช่อยู่ในน้ำตามห้วยหนองคลองบึงเป็นเวลาเกิน 2 ชั่วโมงขึ้นไป (เช่น เล่นน้ำ แข่งกีฬาทางน้ำ จับปลา เก็บผัก) และการรับประทานอาหารหรือดื่มน้ำที่ปนเปื้อนเชื้อจากปัสสาวะสัตว์ก็อาจทำให้ติดเชื้อได้ด้วย โดยผู้ที่ติดเชื้อโรคฉี่หนูนี้จะติดได้จากหลายช่องทาง คือ
- การสัมผัสถูกเลือด ปัสสาวะ หรือเนื้อเยื่อของสัตว์ที่ติดเชื้อโดยตรง ส่วนการที่สัตว์ที่มีเชื้อกัดและการสูดหายใจเอาละอองปัสสาวะหรือของเหลวที่ปนเปื้อนเชื้อเข้าไปก็อาจทำให้ติดเชื้อได้ด้วยเช่นกัน
- การสัมผัสกับเชื้อโรคที่อยู่ในสิ่งแวดล้อม เนื่องจากเชื้อโรคฉี่หนูที่อาศัยอยู่ในท่อไตของสัตว์นั้นสามารถมีชีวิตอยู่ได้นานเป็นเดือนหรือเป็นปี ๆ โดยเชื้อจะถูกขับออกมากับปัสสาวะของสัตว์ (ที่พบบ่อยคือ หนู จึงเรียกโรคนี้ว่า “โรคฉี่หนู“) และเชื้อจะปนเปื้อนอยู่ในแหล่งน้ำต่าง ๆ เช่น ที่น้ำท่วมขังตามซอกซอยในเมือง แม่น้ำ ห้วย หนอง คลอง บึง น้ำตก รวมถึงดินโคลน หรือพื้นดินที่ชื้นแฉะได้นานหลายเดือน (เคยมีรายงานว่าเชื้ออาจอยู่ได้นานถึง 6 เดือนในที่น้ำท่วมขัง โดยมีปัจจัยแวดล้อมที่เหมาะสม คือ ความชื้น แสงแดดส่องไม่ถึง และมีความเป็นกรดปานกลาง)
- การติดต่อจากคนสู่คน (พบได้น้อยมาก) ที่อาจพบได้คือ ผ่านทางการมีเพศสัมพันธ์ ผ่านทางการตั้งครรภ์ไปสู่ทารกในครรภ์ และผ่านทางน้ำนมไปสู่ลูก ดังนั้น ผู้ป่วยจึงสามารถอยู่ร่วมกับคนในครอบครัวได้ตามปกติ
กลุ่มเสี่ยง : บุคคลที่จัดอยู่ในกลุ่มเสี่ยงต่อการติดเชื้อโรคฉี่หนู คือ ผู้ที่มีอาชีพที่ต้องเดินย่ำน้ำ ลุยน้ำ หรือแช่น้ำ หรือสัมผัสกับสัตว์ที่เป็นพาหะ เช่น เกษตรกร ชาวไร่ ชาวนา ชาวสวน คนจับปลา กรรมกรขุดท่อระบายน้ำ ทำเหมืองแร่ เก็บขยะ คนงานในโรงฆ่าสัตว์ คนงานในฟาร์มเลี้ยงสัตว์ ร้านขายสัตว์เลี้ยง สัตวแพทย์ แพทย์ เจ้าหน้าที่ห้องทดลอง แม่บ้านที่ต้องเตรียมอาหารจากเนื้อสัตว์ ทหารหรือตำรวจที่ปฏิบัติงานตามป่าเขา รวมไปถึงนักท่องเที่ยวที่นิยมการเที่ยวป่า น้ำตก ทะเลสาบ ล่องแก่ง ว่ายน้ำในแหล่งน้ำจืด เป็นต้น
- ในกลุ่มประชาชนทั่วไป มักเกิดการติดเชื้อเมื่อมีน้ำท่วม ที่บ้านมีหนูมาก ผู้ที่รับประทานอาหารปรุงไม่สุก หรือปล่อยอาหารทิ้งไว้โดยไม่ปิดฝา
- ในประเทศที่พัฒนาแล้ว มักพบโรคนี้ในกลุ่มคนที่ทำกิจกรรมพักผ่อนทางน้ำ เช่น เล่นเรือแคนู สกีน้ำ และวินด์เซิร์ฟ
ระยะฟักตัวของโรค : ตั้งแต่ได้รับเชื้อจนแสดงอาการจะใช้เวลาตั้งแต่ 2-26 วัน ที่พบบ่อยคือประมาณ 1-2 สัปดาห์
อาการของโรคฉี่หนู
ผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้จะมีอาการและความรุนแรงแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับชนิดและปริมาณของเชื้อ โดยเชื้อที่ก่อโรครุนแรง (เกิดอาการดีซ่าน เลือดออก และไตวาย) มีชื่อว่า Leptospira icterohaemorrhagiae ที่อาศัยอยู่ในหนูและสุนัข และเชื้อ Leptospira bataviae ที่อาศัยอยู่ในหนู โค กระบือ และสุนัข แต่การติดเชื้อส่วนใหญ่มักจะก่ออาการของโรคแบบไม่มีดีซ่าน (Anicteric illness) มากกว่าที่จะเป็นแบบดีซ่าน (Icteric disease) ซึ่งแม้แต่เชื้อ Icterohaemorrhagiae เองที่มักทำให้เกิดอาการดีซ่าน ก็มักพบดีซ่านได้ไม่เกิน 10%
เมื่อเชื้อเข้าสู่ร่างกายแล้วจะเข้าสู่กระแสเลือด กระจายไปสู่อวัยวะต่าง ๆ ของร่างกาย โดยเฉพาะอวัยวะที่สำคัญ เช่น หลอดเลือด ตับ ไต ปอด และกล้ามเนื้อ และเชื้อจะแบ่งตัวเพิ่มจำนวนมากขึ้น โดยที่เชื้อจะไปทำให้หลอดเลือดเล็ก ๆ ในอวัยวะต่าง ๆ เกิดการอักเสบเป็นหลัก และอาจเข้าไปทำลายเซลล์โดยตรง ทำให้เซลล์ตายและเกิดอาการตามอวัยวะต่าง ๆ ได้ หลังจากนั้นร่างกายจะสร้างสารภูมิต้านทาน (แอนติบอดี) ขึ้นมาทำลายเชื้อโรคเหล่านี้ และเชื้อโรคก็จะหมดไป แต่ยังอาจทำให้มีอาการต่าง ๆ เกิดขึ้นมาอีกจากปฏิกิริยาระหว่างเชื้อโรคกับสารภูมิต้านทานนั่นเอง
หลังจากผู้ป่วยได้รับเชื้อประมาณ 1-2 สัปดาห์ (โดยเฉลี่ยคือ 10 วัน) จะมีอาการแบ่งได้เป็น 3 กลุ่ม คือ
- กลุ่มที่ไม่มีอาการ พบได้ประมาณ 15-40% ของผู้ติดเชื้อ โดยจะไม่อาการแสดงใด ๆ เลย
- กลุ่มที่มีอาการไม่รุนแรง เป็นกลุ่มที่พบได้มากที่สุด ในช่วงแรกผู้ป่วยจะมีอาการไข้สูง (ประมาณ 39-40 องศาเซลเซียส) หนาวสั่น ปวดศีรษะค่อนข้างมาก (โดยเฉพาะบริเวณด้านหน้าผากหรือหลังเบ้าตา บางรายอาจปวดบริเวณขมับทั้ง 2 ข้าง) เยื่อบุตาบวมแดง และมีอาการปวดตามกล้ามเนื้อมาก ซึ่งเป็นลักษณะจำเพาะของโรคนี้ คือจะปวดบริเวณน่องขาทั้ง 2 ข้าง เวลากดหรือบีบบริเวณกล้ามเนื้อน่องจะมีอาการเจ็บปวดมาก และอาจมีอาการปวดกล้ามเนื้อหลังและหน้าท้องร่วมด้วยได้ (เกิดจากเชื้อโรคเข้าไปทำลายเซลล์กล้ามเนื้อ) ส่วนอาการอื่น ๆ ที่อาจพบร่วมด้วย คือ เบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน ไอ เจ็บคอ เจ็บหน้าอก เป็นผื่น (อาจเป็นผื่นแดงราบ ผื่นแดงนูน ผื่นลมพิษ) มีจุดเลือดออกตามผิวหนัง ตากลัวแสง มีอาการสับสน คอแดง ไอเป็นเลือด ต่อมน้ำเหลืองบริเวณคอและ/หรือรักแร้โต ตับม้ามโต อาจมีอาการตัวเหลืองตาเหลืองเล็กน้อย (อาการของดีซ่าน) ปวดท้องจากตับอักเสบ ตับอ่อนอักเสบ หรือถุงน้ำดีอักเสบ ปวดตามข้อ ท้องเสีย อุจจาระร่วง ปวดตรงชายโครงด้านขวา (ซึ่งอาจปวดรุนแรง จนแพทย์วินิจฉัยว่าเป็นภาวะปวดท้องเฉียบพลัน และผ่าตัดช่องท้องดู) โดยอาการเหล่านี้จะเป็นอยู่ประมาณ 1-2 สัปดาห์แล้วหายไป
และอีกประมาณ 1-3 วันต่อมา อาการจะกลับมาเป็นอีก (มีไข้ติดต่อกันหลายวันสลับกับระยะไข้ลด) ซึ่งเป็นลักษณะที่สำคัญอย่างหนึ่งของโรคฉี่หนู (เกิดจากร่างกายเริ่มผลิตสารภูมิต้านทานมาต่อสู้กับเชื้อโรค ซึ่งปฏิกิริยาระหว่างเชื้อโรคกับสารภูมิต้านทานจะทำให้เกิดอาการขึ้น) โดยอาการที่กลับมาเป็นอีกจะค่อนข้างหลากหลายกว่าอาการในช่วงแรก โดยจะมีความรุนแรงน้อยกว่า เช่น ปวดกล้ามเนื้อน่องเพียงเล็กน้อย แต่ที่เป็นลักษณะเฉพาะของอาการในช่วงที่ 2 คือ เกิดภาวะเยื่อหุ้มสมองอักเสบ ซึ่งจะทำให้ผู้ป่วยมีอาการต้นคอแข็ง ปวดศีรษะรุนแรง อาเจียน แต่ผู้ป่วยบางรายก็ไม่มีอาการ ถ้าตรวจน้ำไขสันหลัง (CSF) จะพบมีเซลล์เม็ดเลือดขาวขึ้นสูง โดยอาการอาจจะเป็นอยู่ประมาณ 2-3 วัน หรืออาจนานเป็นหลายสัปดาห์ แต่ในที่สุดก็จะหายไปโดยไม่มีภาวะแทรกซ้อนเกิดขึ้น
- ปวดกล้ามเนื้อ ผู้ป่วยมักมีอาการปวดกล้ามเนื้อน่อง ซึ่งพบได้บ่อยถึง 79-96% ของผู้ป่วย กดเจ็บกล้ามเนื้อ พบได้ประมาณ 42-53% ในผู้ป่วยที่ไม่มีอาการดีซ่าน และประมาณ 75% ในผู้ป่วยที่มีอาการดีซ่าน กดเจ็บท้องพบได้ประมาณ 11-30%
- ปวดศีรษะ พบได้ประมาณ 80-90% คอแข็งพบได้ประมาณ 6-19% หลังเป็นได้ประมาณ 1 สัปดาห์ และระดับความรู้สึกผิดปกติ พบได้ประมาณ 11-30%
- เยื่อหุ้มสมองอักเสบ พบมีอาการแสดงของเยื่อหุ้มสมองอักเสบไม่เกิน 50%
- อาการไอ พบได้ประมาณ 25-63% โดยจะเริ่มเป็นตั้งแต่วันที่ 1-4 ของโรค และจะเป็นอยู่นานประมาณ 3-4 วัน ส่วนอาการไอเป็นเลือดเล็กน้อย พบได้ประมาณ 3-50%
- เจ็บหน้าอก พบได้ประมาณ 7-30% ซึ่งเป็นผลมาจากการอักเสบของกล้ามเนื้อ
- อาการที่รุนแรงแต่พบได้น้อยและมักพบในกลุ่มที่มีอาการดีซ่านเท่านั้น ได้แก่ ไอเป็นเลือดสด และภาวะออกซิเจนในเลือดต่ำ (Hypoxemia)
- คลื่นไฟฟ้าหัวใจผิดปกติ พบได้บ่อยประมาณ 70% มักพบในระยะแรกของการดำเนินโรค พบหัวใจเต้นผิดจังหวะ โดยพบภาวะหัวใจห้องบนสั่นพลิ้ว (Atrial fibrillation) ได้บ่อยที่สุด ในรายที่มีอาการรุนแรงอาจพบภาวะหัวใจล้มเหลว และภาวะช็อกเนื่องจากหัวใจทำงานไม่มีประสิทธิภาพ (Cardiogenic shock) ได้ ซึ่งการทำงานของหัวใจจะกลับมาเป็นปกติภายใน 2-3 สัปดาห์หลังการรักษา
- คลื่นไส้อาเจียน พบได้ประมาณ 40-60%
- ท้องเสีย พบได้ประมาณ 24-29%
- ปวดท้อง พบได้ประมาณ 11-20% ในผู้ป่วยที่ไม่มีอาการดีซ่าน และประมาณ 44% ในผู้ป่วยที่มีอาการดีซ่าน
- ตับโต พบได้ประมาณ 15-34% ในผู้ป่วยที่ไม่มีอาการดีซ่าน และพบได้ประมาณ 75% ในผู้ป่วยที่มีอาการดีซ่าน
- ม้ามโต พบได้ประมาณ 22% ในผู้ป่วยที่ไม่มีดีซ่าน
- อาการดีซ่าน (ตัวเหลืองและตาเหลือง) ประมาณ 80% จะเริ่มมีอาการในช่วงวันที่ 4-7 ของโรค และเป็นอยู่ได้นานตั้งแต่ 2-3 วัน จนถึงหลายสัปดาห์
- เยื่อบุตาทั้งสองข้างบวมแดง (Conjunctival suffusion) พบได้ประมาณ 20-27% มักเกิดขึ้นภายใน 3 วันแรกของโรค และเป็นอยู่นาน 1-7 วัน
- เลือดออกที่เยื่อบุตา (Conjunctival haemorrhage) พบได้ประมาณ 6-7% และมักหายได้เองภายใน 1 สัปดาห์ โดยไม่ต้องให้การรักษา
- ม่านตาอักเสบ (Uveitis) พบได้ประมาณ 2% มักเกิดได้ตั้งแต่สัปดาห์ที่ 2 ของโรคถึง 6-12 เดือน อาจเป็นข้างเดียวหรือสองข้าง เป็นครั้งเดียวหรือหลายครั้งก็ได้ การพยากรณ์โรคมักดีและหายสนิทจนเป็นปกติได้ แต่ในผู้ที่เป็นเรื้อรังอาจทำให้ตาบอดได้
- จุดเลือดออกที่ผิวหนัง (Petechial hemorrhage) พบได้ประมาณ 2-10% เฉพาะในผู้ป่วยที่มีอาการดีซ่านเท่านั้น
- กลุ่มที่มีอาการรุนแรง หรืออาจเรียกว่า กลุ่มอาการเวล (Weil’s syndrome) เป็นกลุ่มที่พบได้ประมาณ 5-10% ของผู้ติดเชื้อ และมีอัตราการเสียชีวิตประมาณ 10% โดยผู้ป่วยจะเริ่มต้นด้วยอาการเหมือนผู้ป่วยในกลุ่มที่มีอาการไม่รุนแรง ซึ่งจะเป็นอยู่ประมาณ 4-9 วัน ต่อมาผู้ป่วยจะมีอาการตัวเหลือง ตาเหลืองจัด (อาการดีซ่าน) ซึ่งเกิดจากเชื้อโรคไปทำลายเซลล์ตับ นอกจากนี้เชื้อโรคยังทำให้เกิดการอักเสบของหลอดเลือดเล็ก ๆ ในอวัยวะต่าง ๆ แบบรุนแรงและเป็นบริเวณกว้าง จึงทำให้ร่างกายสูญเสียน้ำออกจากหลอดเลือด นำมาสู่ภาวะช็อก และเกิดภาวะไตวายเฉียบพลัน ทำให้ปัสสาวะออกน้อยมีสีเหลืองเข้มหรือไม่มีปัสสาวะออกเลย เกิดของเสียคั่งในร่างกาย ระบบเกลือแร่ขาดสมดุล และอาจทำให้เสียชีวิตได้ ถ้าผู้ป่วยไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที อาจทำให้เกิดภาวะเลือดออกง่าย เช่น มีอาการเลือดกำเดาไหล มีเลือดออกตามไรฟัน มีจุดเลือดออกหรือจ้ำเลือดตามตัว อาเจียนเป็นเลือด ปัสสาวะเป็นเลือด มีเลือดออกในลำไส้ทำให้ถ่ายอุจจาระเป็นเลือด มีเลือดออกในปอดซึ่งอาจทำให้ไอเป็นเลือดรุนแรง หายใจหอบเร็ว จนกระทั่งเกิดภาวะหัวใจล้มเหลว นอกจากนี้อาจทำให้เกิดกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ เยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ จนกระทั่งเกิดภาวะหัวใจวาย และในที่สุดอวัยวะต่าง ๆ ของร่างกายก็จะเกิดภาวะล้มเหลวและทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตในที่สุด
- อาการอื่น ๆ ที่พบได้ คือ ตับโตและเจ็บ ภาวะซีด ชีพจรเต้นไม่สม่ำเสมอ และความดันโลหิตต่ำ
- ภาวะไตวายเฉียบพลัน (Acute renal failure) ไม่จำเป็นต้องพบร่วมกับอาการดีซ่านเสมอไป ในผู้ป่วยไตวายที่ไม่มีอาการดีซ่านร่วมด้วยจะมีอัตราการเสียชีวิตน้อยมาก
ภาวะแทรกซ้อนของโรคฉี่หนู
- ภาวะแทรกซ้อนที่สำคัญและเป็นเหตุให้เสียชีวิต ได้แก่ ไตวาย ภาวะเลือดออก (ซึ่งเกิดจากการอักเสบของผนังหลอดเลือด) โดยเฉพาะอย่างยิ่งเลือดออกในทางเดินอาหารและในปอด ซึ่งมักพบในกลุ่มผู้ป่วยที่มีอาการดีซ่านร่วมด้วย
- อาจพบภาวะตับวาย เยื่อหุ้มสมองอักเสบ หัวใจล้มเหลว กล้ามเนื้ออักเสบ สมองและไขสันหลังอักเสบ กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ เยื่อบุหัวใจอักเสบ ภาวะหัวใจห้องบนเต้นแผ่วระรัว ปอดอักเสบ
- ดังที่กล่าวไปแล้วว่าเมื่อร่างกายสร้างสารภูมิต้านทาน (แอนติบอดี) ขึ้นมาแล้ว เชื้อเลปโตสไปร่าก็จะถูกกำจัดไปจากร่างกาย แต่ยกเว้นที่ตากับท่อไตเล็ก ๆ ที่เชื้อโรคอาจจะยังคงอยู่ได้นานเป็นสัปดาห์หรือนานเป็นเดือน ๆ ซึ่งการที่เชื้อยังคงอยู่ในตานี้ จึงมีโอกาสที่จะทำให้ผู้ป่วยบางรายเกิดอาการอักเสบเรื้อรังของเยื่อบุภายในลูกตา (Chronic uveitis) หรือม่านตา (Iritis) ได้
- การติดเชื้อในหญิงตั้งครรภ์ อาจทำให้ทารกในครรภ์ติดเชื้อโดยผ่านทางรกได้ ซึ่งอาจทำให้แท้งบุตรถ้าเป็นการตั้งครรภ์ในช่วงแรก หรืออาจทำให้ทารกเสียชีวิตในครรภ์ถ้าเป็นการตั้งครรภ์ในช่วงหลัง แต่ก็พบได้น้อย
- ผู้ป่วยบางรายหลังจากอาการทั่วไปหายดีแล้ว อาจมีอาการผิดปกติทางจิต เช่น โรคจิต (Psychosis) กระสับกระส่าย พฤติกรรมผิดปกติเป็นเวลานานมากกว่า 6 เดือน
การวินิจฉัยโรคฉี่หนู
แพทย์สามารถวินิจฉัยโรคฉี่หนูได้จากอาการที่แสดงของผู้ป่วย จากการตรวจร่างกาย รวมทั้งประวัติอาชีพการทำงาน สภาพแวดล้อมที่อยู่อาศัย การสัมผัสกับแหล่งน้ำต่าง ๆ และอาศัยการตรวจทางห้องปฏิบัติการช่วยเสริม ได้แก่
- การตรวจเลือด ได้แก่ การตรวจซีบีซี (CBC) ซึ่งจะพบจำนวนเม็ดเลือดขาวสูงกว่าปกติ บางรายอาจสูงถึง 50,000 ตัว/ลบ.มม. เกล็ดเลือดต่ำลง, การตรวจดูค่าการทำงานของตับ (พบขึ้นสูงเล็กน้อย), การตรวจค่าการตกตะกอนของเลือด (Erythrocyte sedimentation rate – ESR) ซึ่งจะพบค่าขึ้นสูง, การตรวจค่าน้ำดี (พบค่าขึ้นสูง), การตรวจค่าน้ำย่อยในตับอ่อน (อาจขึ้นสูง ถ้ามีตับอักเสบร่วมด้วย), ในรายที่เป็นรุนแรง ค่าการแข็งตัวของเลือดและค่าการทำงานของไตจะผิดปกติ โดยจะมีค่าสารของเสียในเลือดสูงขึ้น
- การตรวจปัสสาวะ (พบสารไข่ขาว เม็ดเลือดแดง และเม็ดเลือดขาว ซึ่งปกติจะไม่มีสิ่งเหล่านี้อยู่ในปัสสาวะ)
- การตรวจน้ำไขสันหลัง (ในรายที่ปวดศีรษะรุนแรงหรือสงสัยว่าเป็นเยื่อหุ้มสมองอักเสบแทรกซ้อน ซึ่งจะพบเม็ดเลือดขาวในน้ำไขสันหลังสูงขึ้น และอาจพบสารไข่ขาวสูงขึ้นด้วย)
- การตรวจทางห้องปฏิบัติการที่จำเพาะกับโรคฉี่หนู คือ การเพาะเชื้อจากเลือด น้ำไขสันหลัง หรือจากปัสสาวะ และการตรวจหาสารภูมิต้านทานต่อเชื้อเลปโตสไปร่า (Leptospira) จากการทดสอบทางน้ำเหลือง (มีอยู่หลายวิธี เช่น IgM ELISA, Microscopic agglutination test (MAT), Macroscopic slide agglutination test ( MSAT), Latex agglutination test, LEPTO dipstick test เป็นต้น โดยมักพบสารภูมิต้านทานต่อเชื้อนี้ขึ้นสูง) แต่การตรวจเหล่านี้จะต้องใช้เวลานาน ในการวินิจฉัยจึงต้องอาศัยประวัติอาการ การตรวจร่างกาย และการตรวจทางห้องปฏิบัติการเบื้องต้น แล้วพิจารณาให้การรักษา โดยไม่จำเป็นต้องรอผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการที่จำเพาะต่อเชื้อโรค
การแยกโรค
- อาการไข้สูง หนาวสั่น ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามตัว นอกจากจะต้องนึกถึงสาเหตุของโรคไข้หวัดใหญ่ สครับไทฟัส ไทฟอยด์ มาลาเรีย ไข้เลือดออก กรวยไตอักเสบเฉียบพลัน ถุงน้ำดีอักเสบ และท่อน้ำดีอักเสบแล้ว ยังต้องนึกถึงโรคฉี่หนูไว้ด้วยเสมอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าพบผู้ป่วยที่มีอาการตาแดงหรือดีซ่านร่วมด้วย หรือพบผู้ป่วยที่อยู่ในถิ่นที่มีโรคนี้ชุกชุม
- โรคนี้โดยส่วนใหญ่กว่า 90% ผู้ป่วยจะมีอาการไม่รุนแรง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้าไม่มีอาการของดีซ่านร่วมด้วย จนบางครั้งแพทย์มักวินิจฉัยว่าเป็นโรคไข้หวัดใหญ่หรือโรคติดเชื้อไวรัส ดังนั้น เมื่อผู้ป่วยมีอาการที่น่าสงสัยว่าเป็นโรคไข้หวัดใหญ่หรือโรคติดเชื้อไวรัส แพทย์จะตรวจดูด้วยการบีบน่องของผู้ป่วย ถ้าผู้ป่วยรู้สึกเจ็บน่องมาก แพทย์จะสงสัยไว้ก่อนว่าเป็นโรคฉี่หนู และจะสังเกตอาการเปลี่ยนแปลงอย่างใกล้ชิด และอาจส่งตรวจเพิ่มเติมที่โรงพยาบาลโดยเร็ว
- ในรายที่เป็นรุนแรง ซึ่งพบได้ประมาณ 10% ผู้ป่วยมักมีอาการตัวเหลือง ตาเหลืองจัด จนบางครั้งอาจทำให้เข้าใจผิดคิดว่าเป็นตับอักเสบจากไวรัส แต่มีข้อแตกต่างที่สังเกตได้ คือ ผู้ป่วยตับอักเสบจากไวรัสมักจะไม่มีไข้เมื่อมีอาการดีซ่าน ในขณะที่ผู้ป่วยซึ่งเป็นโรคฉี่หนูจะมีไข้สูงในขณะที่มีอาการดีซ่าน และมักจะมีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น ไตวาย (ปัสสาวะออกน้อย) เลือดกำเดาไหล หรือมีจุดจ้ำเขียวร่วมด้วย
วิธีรักษาโรคฉี่หนู
หากสงสัยว่าเป็นโรคฉี่หนู โดยเฉพาะผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงที่มีอาการไข้สูง หนาวสั่น ปวดศีรษะรุนแรง และรู้สึกปวดมากตรงบริเวณกล้ามเนื้อน่อง ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อช่วยวินิจฉัยโรคหรือให้การรักษาโดยเร็วภายใน 24 ชั่วโมง (ส่วนในกรณีที่มีอาการตัวเหลือง ตาเหลืองร่วมด้วย จะต้องรีบไปพบแพทย์ในทันที เพราะอาจเป็นชนิดที่รุนแรงซึ่งทำให้เสียชีวิตได้ ผู้ป่วยไม่ควรรักษาด้วยตัวเองโดยเด็ดขาด) แพทย์อาจรับไว้รักษาในโรงพยาบาลในรายที่เป็นรุนแรง ซึ่งผู้ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคฉี่หนูและได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง ก็มักจะหายได้เร็วภายในประมาณ 10-14 วัน หรือไม่เกิน 3 สัปดาห์
โดยการรักษาจะประกอบไปด้วยการให้ยาปฏิชีวนะที่รวดเร็วและเหมาะสมเพื่อไปฆ่าเชื้อโรค การรักษาไปตามอาการเพื่อแก้ไขความผิดปกติและภาวะแทรกซ้อน ร่วมกับการรักษาประคับประคองอาการ
- ในรายที่เป็นไม่รุนแรง แพทย์จะให้การรักษาแบบผู้ป่วยนอก โดยให้รับประทานยาปฏิชีวนะ เช่น อะม็อกซีซิลลิน (Amoxicillin) ในผู้ใหญ่ครั้งละ 500 มิลลิกรัม วันละ 4 ครั้ง หลังอาหารและก่อนนอน ส่วนในรายที่แพ้เพนิซิลลินให้เปลี่ยนไปใช้ดอกซีไซคลีน (Doxycycline) แทน โดยในผู้ใหญ่ให้รับประทานครั้งละ 100 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง นาน 7 วัน ส่วนในเด็กอายุมากกว่า 8 ปี ให้วันละ 2-4 มิลลิกรัม/กิโลกรัม โดยแบ่งให้วันละ 2 ครั้ง นาน 7 วัน
- ในรายที่เป็นรุนแรง แพทย์มักจะให้นอนโรงพยาบาล และให้ยาปฏิชีวนะแบบฉีดทางหลอดเลือดดำ เช่น เพนิซิลลิน จี (Penicillin G) ครั้งละ 1.5 ล้านยูนิต ทุก 6 ชั่วโมง นาน 7 วัน หรือแอมพิซิลลิน (Ampicillin) ครั้งละ 1 กรัม ฉีดเข้าหลอดเลือดดำ ทุก 6 ชั่วโมง นาน 7 วัน หรือดอกซีไซคลีน (Doxycycline) ครั้งละ 100 มิลลิกรัม ฉีดเข้าหลอดเลือดดำทุก 12 ชั่วโมง นาน 7 วัน หรือเซฟไตรอะโซน (Ceftriaxone) ครั้งละ 1 กรัม เข้าหลอดเลือดดำ วันละ 1 ครั้ง นาน 7 วัน (ดอกซีไซคลีนมักใช้ในกรณีที่ผู้ป่วยแพ้เพนิซิลลิน หรือในกรณีที่ไม่สามารถแยกได้ว่าผู้ป่วยติดเชื้อฉี่หนูหรือสครับไทฟัส)
- ผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงมักเป็นผู้ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยโรคช้า และ/หรือมารับการรักษาช้า (โดยมากจะมีอาการตั้งแต่ 4 วันขึ้น) และ/หรือในผู้ป่วยที่มีภาวะแทรกซ้อน (ดีซ่าน) ซึ่งผู้ป่วยเหล่านี้จะมีอัตราการเสียชีวิต (CFR) สูงถึง 15-40% แต่ถ้าได้รับการรักษาพยาบาลที่ได้มาตรฐานก็อาจช่วยลดอัตราการเสียชีวิตลงเหลือเพียง 5% ได้
- ให้การรักษาโรคแทรกซ้อน เช่น การรักษาภาวะการเต้นของหัวใจผิดปกติ, การรักษาตับวายหรือไตวาย, หากเกล็ดเลือดต่ำหรือเลือดออกง่ายก็อาจจำเป็นต้องให้เกล็ดเลือดหรือน้ำเหลือง เป็นต้น
- นอกจากนี้จะให้การรักษาประคับประคองตามอาการไปร่วมกัน เช่น การเช็ดตัวเพื่อลดไข้ การให้ยาลดไข้ ให้ยาแก้ปวด ให้ยาแก้ไอ และยาแก้คลื่นไส้อาเจียน ส่วนในรายที่เป็นรุนแรงอาจต้องมีการให้น้ำเกลือทางหลอดเลือดถ้ามีภาวะขาดน้ำ ให้เลือดถ้ามีเลือดออก หรือให้เกล็ดเลือด ในกรณีที่ผู้ป่วยมีภาวะไตวาย อาจต้องฟอกล้างของเสียหรือล้างไต (Dialysis) และถ้าเกิดภาวะหายใจล้มเหลว ก็ต้องใส่เครื่องช่วยหายใจ เป็นต้น
- คำแนะนำในการดูแลตนเองในเบื้องต้น
- ผู้ป่วยไม่จำเป็นต้องแยกห้องนอน สามารถใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้ ถ้ามีอาการเพียงเล็กน้อยก็สามารถไปทำงานตามปกติ เพียงแต่ให้ระวังการขับถ่ายให้ถูกสุขลักษณะ คือ ถ่ายลงส้วม ราดน้ำให้สะอาด และล้างมือทุกครั้งหลังถ่ายปัสสาวะหรืออุจจาระ เพราะปัสสาวะของผู้ป่วยอาจมีเชื้อโรคได้ (ส่วนผู้อื่นให้ระมัดระวังการสัมผัสเลือดหรือสารคัดหลั่งจากผู้ป่วยโดยตรงก็เพียงพอแล้ว)
- ควรงดการมีเพศสัมพันธ์ การให้นมบุตร แม้ว่าจะมีโอกาสติดจากคนสู่คนได้น้อยมาก ๆ ก็ตาม
- สิ่งของเครื่องใช้ที่ปนเปื้อนปัสสาวะ ต้องนำไปฆ่าเชื้อเสมอ
ผลการรักษาจะขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรคและสภาพของผู้ป่วย ถ้าไม่มีอาการดีซ่าน อาการมักจะไม่รุนแรง แต่ถ้ามีอาการดีซ่านร่วมด้วย ผู้ป่วยมักจะมีภาวะแทรกซ้อนรุนแรงและมีอัตราการเสียชีวิตสูงถึง 15-20% ซึ่งมักเกิดจากภาวะไตวายหรือช็อกจากการเสียเลือด (ภาวะรุนแรงมักเกิดในผู้สูงอายุและหญิงตั้งครรภ์)
วิธีป้องกันโรคฉี่หนู
- ควบคุมและกำจัดหนูในบริเวณที่พักอาศัยของคน โดยเฉพาะในบริเวณบ้านพักอาศัย ร้านอาหาร ตลาด สถานที่ทำงาน แหล่งพักผ่อน สถานที่ท่องเที่ยว และในนาข้าว เนื่องจากหนูเป็นแหล่งแพร่เชื้อที่สำคัญ
- ติดตามข่าวสารของทางการอยู่เป็นระยะ ๆ ว่าพื้นที่ใดมีการระบาดของโรคฉี่หนูอยู่บ้าง ถ้าพบว่ามีการระบาดในพื้นที่ของตน ก็ควรเพิ่มการระมัดระวังเป็นพิเศษ
- พยายามลดปริมาณขยะเท่าที่ทำได้ รักษาความสะอาดบริเวณบ้านเรือนอยู่เสมอ อย่าให้มีขยะและเศษอาหารตกค้าง อันจะเป็นแหล่งเพาะพันธุ์และที่อยู่อาศัยของหนู ส่วนวิธีการอื่น ๆ ที่เราสามารถทำได้คือ ไม่ถ่ายอุจจาระหรือทิ้งขยะลงน้ำ (ควรรวบรวมใส่ถุงพลาสติกแล้วมัดปากถุงให้แน่น), หาภาชนะหรือถุงขยะที่มีฝาปิดมาใช้เพื่อรวบรวมถุงขยะ (แต่ถ้าหาไม่ได้ ให้วางถุงขยะให้ห่างจากสุนัขหรือสัตว์อื่นที่อาจมาคุ้ยถุงขยะให้แตกและให้สูงกว่าบริเวณที่น้ำท่วมถึง), การติดต่อหน่วยงานท้องถิ่นเพื่อให้นำขยะไปทำลายให้บ่อยที่สุดเท่าที่ทำได้ เป็นต้น
- หมั่นล้างมือให้สะอาดอยู่เสมอ เมื่อไปจับต้องเนื้อสัตว์ ซากสัตว์ และสัตว์ทุกชนิด
- ควรดื่มน้ำสะอาด น้ำต้มสุก และรับประทานอาหารที่ปรุงสุกใหม่ ๆ ด้วยความร้อนทันที และล้างมือทุกครั้งก่อนรับประทานอาหาร
- เพื่อป้องกันเชื้อโรค ควรล้างผักผลไม้ด้วยน้ำที่สะอาด ภาชนะที่นำมาใช้ใส่อาหารควรล้างทำความสะอาดก่อนทุกครั้ง ไม่รับประทานผักดิบ ๆ แต่ควรนำมาต้มหรือผัดให้สุกก่อน ส่วนผลไม้ควรปอกเปลือกก่อนนำมารับประทาน นอกจากนี้น้ำแข็งก็ควรเลือกแบบที่สะอาด เพราะเชื้อโรคฉี่หนูสามารถมีชีวิตอยู่ได้ในน้ำแข็ง
- ควรเก็บหรือใช้ฝาปิดอาหารและน้ำดื่มให้มิดชิด รวมถึงการปิดฝาโอ่งน้ำหรือภาชนะบรรจุน้ำ เพื่อป้องกันไม่ให้หนูมากินและฉี่ทิ้งไว้โดยที่เราไม่รู้ตัว
- หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารค้างคืนที่ไม่มีฝาปิด (ถ้าจำเป็นจะต้องนำมาอุ่นให้เดือดเสียก่อน เพื่อให้เชื้อโรคที่อาจปะปนอยู่ในอาหารถูกทำลาย)
- ห้ามกินน้ำตามแหล่งน้ำธรรมชาติในช่วงน้ำท่วม (ถ้าเลี่ยงไม่ได้ ต้องกรองน้ำและต้มน้ำให้ร้อนจัดเสียก่อน) และหลีกเลี่ยงการลงแช่น้ำหรือใช้น้ำในแหล่งที่อาจปนเปื้อนเชื้อ เช่น แหล่งน้ำที่เป็นที่กินน้ำของโค กระบือ สุกร
- ถ้ามีบาดแผล รอยถลอก รอยขีดข่วน ให้ทำความสะอาดและปิดแผลด้วยปลาสเตอร์ ระวังอย่าให้บาดแผลโดนน้ำ และหลีกเลี่ยงการเดินย่ำน้ำหรือพื้นดินที่ชื้นแฉะ หรือลงแช่น้ำในห้วยหนองคลองบึง (ถ้าจำเป็นควรสวมรองเท้าบูตเสมอ โดยเฉพาะผู้ที่มีบาดแผลที่ขา แต่ถ้าไม่มีรองเท้าบูต อาจใช้ถุงพลาสติกสะอาดหรือวัสดุกันน้ำอื่น ๆ ห่อหรือคลุมขาและเท้าหรือบริเวณที่มีบาดแผลเอาไว้ก็ได้)
- รีบอาบน้ำทำความสะอาดร่างกายโดยเร็วหากสัมผัสกับปัสสาวะของสัตว์ที่อาจมีเชื้อโรค หรือเมื่อไปแช่น้ำหรือเดินย่ำลงไปในแหล่งน้ำที่สงสัยว่าอาจปนเปื้อนเชื้อ
- ควรสวมชุดป้องกันเสมอ (รองเท้าบูต รองเท้ายางหุ้มข้อ ถุงเท้ายาง ถุงมือยาง กางเกงกันน้ำ) เมื่อต้องสัมผัสกับน้ำ เช่น ต้องเดินย่ำน้ำหรือพื้นดินที่ชื้นแฉะตามตรอก ซอก คันนา ท้องนา, ทำความสะอาดบ้านหลังน้ำลด, ทำงานในน้ำหรือท้องไร่ หรือทำงานที่เกี่ยวข้องกับสัตว์ที่อาจมีเชื้อโรค
- ไม่เดินลุยน้ำลุยโคลนหรือลงแช่น้ำในห้วยหนองคลองบึงเป็นเวลานานเกินครั้งละ 2 ชั่วโมง และควรระวังอย่าให้น้ำไม่สะอาดกระเด็นเข้าตา จมูก หรือปาก เมื่อพ้นจากน้ำแล้วต้องรีบล้างเท้าให้สะอาดหรือฟอกสบู่และชำระล้างร่างกายด้วยน้ำสะอาด แล้วเช็ดให้แห้งโดยเร็วที่สุด
- เกษตรกรที่เลี้ยงสัตว์ ควรแยกที่อยู่อาศัยของคนกับบริเวณที่เลี้ยงสัตว์ให้ชัดเจน เช่น การทำคอกกั้นเพื่อไม่ให้มีสัตว์เข้ามาเพ่นพ่านในบริเวณบ้าน ภาชนะใส่น้ำหรืออาหารสำหรับสัตว์ ห้ามนำมาใช้ร่วมกับคน เป็นต้น
- ถ้าพบสัตว์ติดเชื้อต้องแยกออกเพื่อป้องกันไม่ให้แพร่เชื้อไปยังสัตว์ตัวอื่น ๆ หรือเกิดการปนเปื้อนเชื้อในบริเวณที่อยู่อาศัย สถานที่ทำงาน ฯลฯ
- ในสัตว์มีวัคซีนสำหรับฉีดป้องกันไม่ให้สัตว์ที่ติดเชื้อเกิดแสดงอาการ แต่วัคซีนดังกล่าวอาจไม่ได้ป้องกันการรับเชื้อเข้าสู่ร่างกายของสัตว์ ดังนั้น แม้จะฉีดวัคซีนให้สัตว์แล้ว สัตว์เหล่านั้นก็ยังสามารถรับเชื้อโรคและมาแพร่เชื้อสู่คนได้ในที่สุด
- ในกรณีที่ต้องเดินทางไปยังแหล่งที่มีการระบาดของโรคฉี่หนูในช่วงระยะเวลาสั้น ๆ เช่น การเดินทางไปท่องเที่ยว การตั้งค่ายของกองทหาร นักเรียน นักศึกษา หรือเป็นนักสำรวจที่มีภารกิจที่ต้องลุยน้ำ ฯลฯ และไม่สามารถใช้วิธีป้องกันอย่างอื่นได้ แนะนำให้รับประทานยาดอกซีไซคลีน (Doxycycline) เพื่อป้องกันโรคฉี่หนูตั้งแต่ในวันแรกที่เข้าไปในพื้นที่ โดยให้รับประทานครั้งละ 200 มิลลิกรัม ทุกสัปดาห์ ไปเรื่อย ๆ จนกว่าจะพ้นภาวะเสี่ยงในการติดเชื้อแล้วค่อยหยุดรับประทานยา
- สำหรับในคนมีวัคซีนสำหรับป้องกันไม่ให้เป็นโรคได้ แต่ไม่ค่อยมีประสิทธิภาพมากนัก เพราะในการฉีดวัคซีน 1 ครั้ง จะช่วยป้องกันเชื้อโรคได้เพียงบางสายพันธุ์ย่อยเท่านั้น ถ้าเกิดไปรับเชื้อสายพันธุ์ย่อยอื่น ๆ ที่ไม่มีในวัคซีน ก็จะทำให้ติดเชื้อและเกิดโรคได้ในที่สุด อีกทั้งการฉีดวัคซีนให้ครอบคลุมทุกเชื้อสายพันธุ์ย่อยก็เป็นไปไม่ได้ในทางปฏิบัติ เนื่องจากเชื้อสายพันธุ์ย่อยมีมากกว่า 250 ชนิด ซึ่งอาจต้องฉีดเป็นร้อยเข็ม และการหาวัคซีนให้ครบทุกเชื้อสายพันธุ์ย่อยก็เป็นไปไม่ได้ และที่สำคัญการฉีดวัคซีนก็ไม่ได้ป้องกันโรคไปตลอดชีวิตเหมือนวัคซีนที่ใช้ป้องกันโรคอื่น ๆ จึงไม่มีการแนะนำให้ฉีดวัคซีนป้องกัน
- ผู้ป่วยที่เคยเป็นโรคฉี่หนูแล้ว จะมีภูมิคุ้มกันต่อเชื้อสายพันธุ์ย่อยที่ทำให้เกิดโรคในครั้งนั้นได้เกือบตลอดชีวิต แต่ภูมิคุ้มกันนี้ไม่ได้ป้องกันต่อเชื้อสายพันธุ์ย่อยอื่น ๆ ถ้าได้รับเชื้อสายพันธุ์ย่อยตัวใหม่ก็จะกลับมาเป็นโรคซ้ำได้อีก
- สำหรับหน่วยงานต่าง ๆ ควรให้สุขศึกษาประชาสัมพันธ์เรื่องโรคฉี่หนูแก่ประชาชนให้เข้าใจ และตระหนักถึงอันตรายของโรค สาเหตุ วิธีการติดต่อ การป้องกัน และควบคุมโรค, จัดตั้งหน่วยเคลื่อนที่เร็วเพื่อดำเนินการควบคุมโรคในพื้นที่ที่มีการระบาด, ค้นหาแหล่งที่มาของการติดเชื้อ เช่น แหล่งน้ำ ฟาร์ม โรงงาน รวมทั้งสัตว์ที่ติดเชื้อ แล้วให้แก้ไขการปนเปื้อนเชื้อห้ามการใช้ชั่วคราว, ตรวจแหล่งน้ำดินทรายที่อาจปนเปื้อนเชื้อ (ถ้าเป็นท่อระบายน้ำ ควรล้างระบายน้ำที่ปนเปื้อนออกไป) เป็นต้น
เอกสารอ้างอิง
- หนังสือตำราการตรวจรักษาโรคทั่วไป 2. “เล็ปโตสไปโรซิส (Leptospirosis)/ไข้ฉี่หนู”. (นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ). หน้า 1116-1119.
- สำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค. “โรคฉี่หนู”. (เสาวพักตร์ เหล่าศิริถาวร, ธีรศักดิ์ ชักนำ). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.boe.moph.go.th. [02 ก.ย. 2016].
- หาหมอดอทคอม. “โรคฉี่หนู (Leptospirosis)”. (พญ.สลิล ศิริอุดมภาส). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : haamor.com. [02 ก.ย. 2016].
- โรงพยาบาลกรุงเทพ. “โรคฉี่หนู หรือ โรคเลปโตสไปโรซิส (Leptospirosis)”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.bangkokhospital.com. [03 ก.ย. 2016].
- มูลนิธิหมอชาวบ้าน. นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่มที่ 272 คอลัมน์ : โรคน่ารู้. “โรคฉี่หนู”. (นพ.สมชาญ เจียรนัยศิลป์). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.doctor.or.th. [03 ก.ย. 2016].
- ภาควิชาจุลชีววิทยา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล. “โรคระบาดที่มากับน้ำท่วม (ตอนที่ 3) โรคฉี่หนู”. (รศ.ม.ล.สุมาลย์ สาระยา). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.pharmacy.mahidol.ac.th. [03 ก.ย. 2016].
- Siamhealth. “อาการโรคฉี่หนู”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.siamhealth.net. [03 ก.ย. 2016].
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)