การรักษาโรคขาดวิตามินเอ (Vitamin A deficiency) & วิธีป้องกัน 5 วิธี !

โรคขาดวิตามินเอ

โรคขาดวิตามินเอ หรือ เกล็ดกระดี่ขึ้นตา (Vitamin A deficiency) เป็นโรคที่มักพบได้ในเด็กที่ครอบครัวมีฐานะยากจนและในท้องที่ชนบทบางแห่ง (โดยเฉพาะในประเทศที่ด้อยพัฒนาและกำลังพัฒนาอื่น ๆ ซึ่งรวมถึงประเทศไทยด้วย โดยเฉพาะทางภาคอีสาน) มักพบในเด็กวัยแรกเกิดจนถึงอายุ 5 ปี ส่วนในผู้ใหญ่จะพบเป็นโรคนี้ได้น้อย

ภาวะขาดวิตามินเอนี้จะทำให้ประสาทตาส่วนที่เรียกว่า จอตา หรือ เรตินา (Retina) เสื่อมลง ทำให้เยื่อบุตาแห้งและต่อมน้ำตาไม่ทำงาน จึงอาจทำให้เด็กที่เป็นโรคนี้ตาบอดได้ ซึ่งชาวบ้านจะรู้จักโรคนี้กันดีในชื่อว่า “โรคเกล็ดกระดี่ขึ้นตา” เพราะในสมัยก่อนโรคนี้เป็นโรคที่พบได้บ่อย แต่อย่างไรก็ตาม โรคนี้ก็สามารถรักษาและป้องกันได้ด้วยการเสริมวิตามินเอ

สาเหตุของโรคขาดวิตามินเอ

โรคนี้มีสาเหตุมาจากการที่ร่างกายได้รับวิตามินเอจากอาหารไม่เพียงพอต่อความต้องการ เช่น เด็กที่กินแต่นมข้นหวาน ข้าวและกล้วยบดเป็นหลัก เด็กที่ไม่ได้รับอาหารตามวัยเมื่อถึงเวลาอันสมควร โดยไม่ได้รับอาหารเสริมอื่น ๆ เลย โดยเฉพาะอาหารที่มีวิตามินเอ เช่น เนื้อสัตว์ ตับ ไข่แดง พืชผักใบเขียว

โรคนี้มักพบร่วมกับโรคขาดอาหารหรือภาวะทุพโภชนาการ (Malnutrition) แต่ผู้ป่วยบางรายอาจเป็นโรคนี้ได้หลังจากเป็นโรคติดเชื้อ (เช่น ปอดอักเสบ หัด) หรือท้องร่วงเรื้อรัง

ในผู้ใหญ่จะพบคนเป็นโรคนี้ได้น้อย ถ้าพบก็มักจะมีสาเหตุมาจากโรคอื่น ๆ ที่มีผลทำให้การดูดซึมวิตามินเอลดลง เช่น โรคท้องร่วงเรื้อรัง โรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง โรคตับเรื้อรัง ท่อน้ำดีอุดตัน เป็นต้น

กลุ่มที่เสี่ยงต่อการขาดวิตามินเอ

  • ทารกและเด็กก่อนวัยเรียน ที่พบได้บ่อย ๆ คือ
    • ทารกที่ไม่ได้กินนมแม่หรือทารกที่กินนมแม่แต่หย่านมเร็วเกินไปแล้วเลี้ยงต่อด้วยนมอื่น ๆ ที่ไม่เหมาะสมกับวัยของเด็ก
    • เด็กที่ไม่ได้รับอาหารตามวัยเมื่อถึงเวลาอันสมควร เช่น เด็กที่กินแต่แป้งหรือข้าวต้มใส่น้ำตาลหรือเกลือ หรือกินข้าวกับน้ำแกงจืดโดยไม่ได้กินเนื้อสัตว์ ไข่ ผักใบเขียวเข้ม ผักผลไม้สีเหลือง รวมทั้งไขมัน
    • เด็กที่เป็นโรคขาดสารอาหาร
    • เด็กที่เป็นโรคติดเชื้อ เช่น ท้องร่วง ไข้หวัดใหญ่ ปอดอักเสบ หัด อีสุกอีใส (เพราะในภาวะดังกล่าวร่างกายจะต้องการวิตามินเอมากกว่าปกติ)
    • เด็กที่ไม่ได้รับบริการด้านสาธารณสุขที่เหมาะสม เช่น ไม่ได้รับบริการเสริมภูมิคุ้มกันโรคและไม่ได้รับการชั่งน้ำหนักทุก 3 เดือน
  • เด็กวัยเรียน โดยเฉพาะในเด็กที่ขาดสารอาหารประเภทโปรตีนและไม่ได้บริโภคอาหารที่มีวิตามินเอ
  • หญิงตั้งครรภ์และหญิงให้นมบุตร ที่งดอาหารที่มีประโยชน์ เช่น เนื้อสัตว์ ผักใบเขียวเข้ม ผักผลไม้สีเหลือง รวมทั้งไขมัน
  • ผู้ที่รับประทานอาหารน้อย เช่น ผู้ที่ดื่มสุราเรื้อรัง และรวมถึงผู้ที่ขาดธาตุสังกะสี ซึ่งโดยมากจะพบร่วมกับผู้ที่ดื่มสุราเรื้อรัง

อาการของโรคขาดวิตามินเอ

เมื่อร่างกายได้รับวิตามินเอจากอาหารไม่เพียงพอต่อความต้องการ จะส่งผลให้ปริมาณวิตามินเอที่สะสมในตับ เลือด และเนื้อเยื่อลดน้อยลง ทำให้เกิดภาวะบกพร่องวิตามินเอในระดับที่ยังไม่แสดงอาการทางคลินิก (Subclinic Vitamin A Deficienc) และจะแสดงอาการทางตาหากร่างกายขาดวิตามินอย่างรุนแรงยิ่งขึ้น โดยอาการทางตานั้นมี 3 ระยะ คือ

  • ระยะที่ 1 หรือ ระยะตาบอดกลางคืน (Night Blindness) ในระยะเริ่มแรกนี้ (เมื่อร่างกายขาดวิตามินเออย่างรุนแรง) ผู้ป่วยจะมีอาการตาบอดกลางคืนหรือตาฟาง จึงทำให้มองไม่เห็นเฉพาะในที่มืด ๆ แสงน้อย แสงสลัว หรือในตอนกลางคืน (แต่ยังคงมองเห็นได้ปกติในที่สว่าง ๆ หรือในเวลากลางวัน) เนื่องจากจอตาเริ่มเสื่อม ซึ่งอาจทำให้เดินชนสิ่งของ เดินสะดุด หกล้ม หรือหาของไม่พบ (วิธีการตรวจสอบง่าย ๆ คือ เอาเด็กไปอยู่กับแม่ในที่มืดแล้วดูว่าเด็กมองเห็นแม่หรือไม่ก็ได้)

    อาการโรคขาดวิตามินเอ
    IMAGE SOURCE : www.wikipedia.org (by J.c.roeloffzen)

  • ระยะที่ 2 หรือ ระยะตาแห้ง (Xerophthalmia) ต่อมาเยื่อตาขาวจะแห้ง เมื่อเป็นมากขึ้นเยื่อตาขาวจะย่นอยู่รอบ ๆ กระจกตาดำทำให้ดูคล้ายเกล็ดปลา และในขณะเดียวกันกระจกตาดำจะแห้งและไม่มีประกาย (ปกติกระจกตาดำจะสะท้อนแสงวาววับ) ส่วนตาขาวจะเปลี่ยนเป็นสีเทา และบริเวณหางตาจะมีสารสีเทาหรือสีขาวทำให้เป็นจุดใหญ่ ๆ เรียกว่า “เกล็ดกระดี่” หรือ “จุดบิทอตส์” (Bitot’s spot) ซึ่งจะมีลักษณะเหมือนฟองโฟมมัน ๆ เล็ก ๆ หรือเป็นแผ่นสีขาวหนาตัวขึ้น โดยจุดที่เป็นเกล็ดกระดี่หรือจุดบิทอตส์นี้อาจเป็นที่ตาทั้งสองข้างหรือเป็นเพียงข้างใดข้างหนึ่งก็ได้ และเมื่อเอาผ้าเช็ดที่ตาอาจจะทำให้ตาหลุดได้ ในระยะนี้สามารถรักษาให้หายได้ด้วยการฉีดวิตามินเอในขนาดสูง แต่ถ้าปล่อยทิ้งไว้การดำเนินโรคก็จะเข้าสู่ระยะที่ 3 ซึ่งจะทำให้กระจกตาเป็นแผล เกิดรูทะลุ และตาบอดได้ในที่สุด ฉะนั้น ผู้ปกครองควรพาเด็กที่เป็นโรคนี้ทุกคนไปโรงพยาบาลหรือสถานีอนามัยโดยด่วน (โดยเฉพาะเด็กที่อายุต่ำกว่า 5 ปี และผอมแห้งขาดอาหาร) เพื่อรับวิตามินเอทั้งชนิดฉีดและชนิดกินซึ่งมีราคาไม่แพง และเป็นการรักษาที่คุ้มค่ามาก

    โรคเกล็ดกระดี่ขึ้นตา
    IMAGE SOURCE : eyerounds.org, www.nejm.org

  • ระยะที่ 3 หรือ ระยะตาอ่อน (Keratomalacia) เมื่อไม่ได้รับการรักษาอาการของผู้ป่วยจะเป็นมากขึ้น ตาขาวจะเลี่ยนเป็นสีเทาแก่ เยื่อบุตาจะมีรอยย่นมากขึ้น กระจกตาจะเป็นฝ้าขาวและลูกตาจะอ่อนนุ่มจนกระจกตาเป็นแผลและเกิดรูทะลุ จึงทำให้มีเชื้อโรคเข้าไปในลูกตาได้และทำให้เกิดการอักเสบภายในลูกตาและตาบอดในที่สุด (บางทีถ้าอาการของโรครวดเร็วและรุนแรงมากก็อาจทำให้ตาบอดได้ใน 2-3 วัน) ซึ่งถ้าเป็นในระยะนี้แล้วโอกาสรักษาให้หายก็มีน้อย แต่ถ้าผู้ป่วยได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที (รักษาด้วยวิตามินเอและรักษาการอักเสบควบคู่กันไป) อาการอักเสบอาจหาย และถึงแม้จะมีแผลเป็นแต่ถ้าไม่มากเต็มลูกตา ผู้ป่วยก็ยังอาจมองเห็นได้บ้าง

    อาการของโรคขาดวิตามินเอ
    IMAGE SOURCE : www.oculist.net, www.flickr.com (by Community Eye Health)

  • ในเด็กเล็กมักตรวจพบเมื่อมีการอ่อนตัวของกระตาดำแล้ว จะพบหนังตาบวม ปิดตาแน่น ไม่ยอมลืมตา

นอกจากอาการแสดงทางตาแล้ว ผู้ป่วยยังอาจพบร่วมกับอาการอื่น ๆ ได้ด้วย (เพราะวิตามินเอมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อสุขภาพ โดยมีบทบาทสำคัญต่อระบบการมองเห็น การสร้างภูมิคุ้มกันโรค การเจริญเติบโต รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงของเซลล์เยื่อบุผิวต่าง ๆ) เช่น

  • เจ็บป่วยได้บ่อยจากโรคติดเชื้อและใช้เวลานานกว่าจะหาย (เพราะภูมิคุ้มกันลดลง) โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรคท้องร่วง ไข้หวัดใหญ่ ปอดอักเสบ หลอดลมอักเสบ หัด อีสุกอีใส
  • การเจริญเติบโตของกระดูก กระดูกอ่อนและฟันช้ากว่าปกติ ทำให้เด็กมีการเจริญเติบโตช้า
  • ร่างกายจะมีการสร้างฮอร์โมนเพศชายน้อยลง มีอัตราการผสมของไข่และเชื้อต่ำ และอัตราการเสียชีวิตในครรภ์สูง

การวินิจฉัยโรคขาดวิตามินเอ

โรคนี้จะวินิจฉัยได้ก็ต่อเมื่อเกิดอาการของโรคแล้วเท่านั้น ซึ่งจากการตรวจร่างกายของผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้จะพบว่าเยื่อตาขาวรอบ ๆ กระจกตาดำของผู้ป่วยเป็นรอยย่น กระจกตาดำขุ่นมัวไม่สะท้อนแสง และมีเกล็ดกระดี่ตรงด้านหางตา

สำหรับในกลุ่มเสี่ยงที่แพทย์สงสัยว่าจะขาดสารอาหารหรือมีโรคท้องร่วงเรื้อรัง แพทย์อาจจะเจาะเลือดตรวจหาระดับวิตามินเอ Plasma retinol ซึ่งค่าปกติจะอยู่ที่ระหว่าง 20-80 µg/dL ถ้ามีค่าอยู่ที่ระหว่าง 10-19 ก็ถือว่ามีค่าต่ำ ส่วนผู้ที่มีค่าน้อยกว่า 10 µg/dL จะถือว่าขาดวิตามินเอ

วิธีรักษาโรคขาดวิตามินเอ

  • เมื่อเริ่มมีอาการตาบอดกลางคืน หรือเริ่มมีเกล็ดกระดี่ขึ้นตา แพทย์จะให้ผู้ป่วยกินวิตามินเอชนิดแคปซูล (ขนาด 25,000 ยูนิต) ครั้งละ 1-2 แคปซูล วันละ 2 ครั้ง ติดต่อกันเป็นเวลาประมาณ 3-5 วัน (ในเด็กเล็กควรฉีกแคปซูลให้กิน) พร้อมกับให้กินวิตามินบีรวมชนิดน้ำเชื่อมครั้งละ 1 ช้อนชา วันละ 3 ครั้ง
  • ถ้ามีวิตามินเอชนิดฉีด แพทย์จะฉีดวิตามินเอให้ผู้ป่วยในขนาด 100,000 ยูนิต โดยจะฉีดเข้ากล้ามเนื้อที่สะโพกเพียงครั้งเดียว เพิ่มเติมจากยากิน (วิตามินบีรวม) ดังกล่าว
  • ในกรณีที่ไม่มียาวิตามินเอชนิดแคปซูลหรือชนิดฉีดเลย แพทย์จะให้ผู้ป่วยกินวิตามินบีรวมชนิดน้ำเชื่อมครั้งละ 1 ช้อนชา วันละ 3 ครั้ง หรือให้กินน้ำมันตับปลา (ขนาด 1,000 ยูนิต) ครั้งละ 2-5 เม็ด วันละ 3 ครั้ง ร่วมกับกินอาหารที่มีวิตามินเอติดต่อกันนานประมาณ 2-3 เดือน
  • ถ้าผู้ป่วยมีอาการไม่ดีขึ้นใน 1 สัปดาห์ หรือมีอาการอ่อนตัวของกระจกตาดำควรรีบไปพบแพทย์
  • ถ้ามีการติดเชื้ออักเสบเกิดขึ้น ให้รีบนำตัวผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลทันที และในระหว่างที่เดินทางอาจให้กินวิตามินเอชนิดแคปซูล ร่วมกับให้กินยาปฏิชีวนะ เช่น เพนิซิลลินวี (Penicillin V), อะม็อกซีซิลลิน (Amoxicillin), อิริโทรมัยซิน (Erythromycin) เป็นต้น ถ้าเด็กปิดตาแน่น อย่าพยายามเปิดตาเด็ก เพราะอาจจะทำให้กระจกตาดำแตกทะลุได้
  • ในเด็กที่มีภาวะขาดวิตามินเอ เมื่อเป็นหัดควรรีบปรึกษาแพทย์เพื่อขอรับวิตามินเอเสริม ซึ่งจะช่วยลดความพิการและการเสียชีวิตลงได้

วิธีป้องกันโรคขาดวิตามินเอ

สามารถป้องกันการเกิดโรคขาดวิตามินได้จากการรับประทานอาหารที่มีวิตามินเอสูง ผู้ปกครองจึงควรให้เด็กรับประทานอาหารที่มีวิตามินเอสูง ๆ ให้มากเป็นประจำ โดยอาหารที่มีวิตามินสูง ได้แก่ เนื้อ ตับ ไข่ นม แคร์รอต แคนตาลูป ฟักทอง มะเขือเทศ มะละกอสุก มะม่วงสุก ผักสีเหลืองและสีเขียวเข้ม (เช่น ผักบุ้ง ผักคะน้า ผักกาดขาว ใบตำลึง ใบมันสำปะหลัง ยอดกระถิน ยอดชะอม บรอกโคลี แตงกวา) ผลไม้สีเหลือง พริกที่เผ็ด ๆ (เช่น พริกขี้หนู พริกชี้ฟ้า) เป็นต้น

โรคขาดวิตามินเอและวิธีป้องกัน
IMAGE SOURCE : www.day-news.info

เรื่องที่เกี่ยวข้อง
เอกสารอ้างอิง
  1. หนังสือตำราการตรวจรักษาโรคทั่วไป 2.  “โรคขาดวิตามินเอ/เกล็ดกระดี่ขึ้นตา (Vitamin A deficiency)”.  (นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ).  หน้า 838-839.
  2. สำนักโภชนาการ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข.  “ภาวะขาดวิตามินเอ”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : nutrition.anamai.moph.go.th.  [08 มี.ค. 2017].
  3. มูลนิธิหมอชาวบ้าน. นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่มที่ 4 คอลัมน์ : เด็กๆ..(ผู้ใหญ่ อ่านดี).  “เกล็ดกระดี่ขึ้นตา”.  (นพ.ปรีชา วิชิตพันธ์).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.doctor.or.th.  [09 มี.ค. 2017].
  4. Siamhealth.  “โรคขาดวิตามินเอ”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.siamhealth.net.  [09 มี.ค. 2017].
  5. สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน โดยพระราชประสงค์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว.  “โรคตาบอดจากการขาดวิตามินเอ”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : kanchanapisek.or.th/kp6/.  [10 มี.ค. 2017].

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด