โมก สรรพคุณและประโยชน์ของต้นโมกบ้าน 10 ข้อ !

โมก

โมกบ้าน ชื่อวิทยาศาสตร์ Wrightia religiosa (Teijsm. & Binn.) Benth. ex Kurz (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Echites religiosus Teijsm. & Binn., Wrightia religiosa (Teijsm. & Binn.) Benth.) จัดอยู่ในวงศ์ APOCYNACEAE เช่นเดียวกับโมกเครือ โมกแดง โมกมัน โมกหลวง[1]

โมกบ้าน มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า หลักป่า (ระยอง), โมกซ้อน โมกลา โมกบ้าน (ภาคกลาง), โมก โมกบ้าน โมกดอกหอม โมกกอ (ไทย), ปิดจงวา (เขมร-สุรินทร์) เป็นต้น[1],[3],[4]

ลักษณะของโมกบ้าน

  • ต้นโมกบ้าน มีถิ่นกำเนิดในประเทศไทย จัดเป็นไม้พุ่มขนาดกลางไม่ผลัดใบ มีความสูงของต้นประมาณ 1-3 เมตร เรือนยอดแผ่กว้าง เปลือกต้นเรียบเกลี้ยงเป็นสีน้ำตาลเข้ม และมีจุดเล็ก ๆ สีขาวประอยู่ทั่วไป แตกกิ่งต่ำใกล้ผิวดินเป็นลำต้นจำนวนมาก ทุกส่วนของต้นมีน้ำยางสีขาว ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด ปักชำกิ่ง และตอนกิ่ง เจริญเติบโตได้ดีในดินร่วนระบายน้ำได้ดี มีความชื้นปานกลาง ชอบแสงแดดแบบเต็มวันถึงรำไร เป็นพรรณไม้กลางแจ้ง ทนต่อความร้อนและแสงแดดได้ดี มักพบขึ้นตามป่าละเมาะที่ชื้น และตามป่าดงดิบ[1],[2],[3],[4]

ต้นโมก

  • ใบโมกบ้าน ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงตรงข้ามกัน ลักษณะของใบเป็นรูปรีหรือรูปไข่ ปลายใบแหลมหรือมน โคนใบมนหรือสอบเข้าหากัน ส่วนขอบใบเรียบไม่มีหยัก ใบมีขนาดกว้างประมาณ 0.8-2.5 เซนติเมตรและยาวประมาณ 1.3-7.8 เซนติเมตร เนื้อใบบาง ท้องใบเรียบ ส่วนก้านใบยาวประมาณ 1-2 เซนติเมตร[1]

ใบโมก

  • ดอกโมกบ้าน ออกดอกเป็นช่อตามซอกใบ ช่อหนึ่งมีประมาณ 4-8 ดอก ดอกมีกลิ่นหอมเย็น (ในตอนค่ำจะมีกลิ่นหอมแรงกว่าตอนกลางวัน) มีทั้งดอกชั้นเดียวที่เรียกว่า “โมกลา” และชนิดที่มีกลีบดอกเรียงซ้อนกันเรียกว่า “โมกซ้อน” ดอกย่อยเป็นสีขาว มีกลีบดอก 5-16 กลีบ กลีบดอกเป็นรูปไข่ โคนกลีบดอกเชื่อมติดกันเป็นหลอดเล็ก ๆ ยาวประมาณ 0.5 มิลลิเมตร ดอกมีกลิ่นหอม ส่วนกลีบเลี้ยงดอกเป็นสีเขียว โคนเชื่อมติดกัน ปลายแยกเป็นแฉกแหลม กลางดอกมีเกสรติดกับหลอดท่อดอก ก้านชูดอกยาวเป็นเส้นเล็ก เมื่อดอกบานเต็มที่จะมีขนาดกว้างประมาณ 1.5-2 เซนติเมตร สามารถออกดอกได้ตลอดทั้งปีหากอยู่ในสภาพที่เหมาะสม และจะออกดอกมากเป็นพิเศษในช่วงปลายฤดูและต้นฤดูหนาว[1],[2],[3],[4]

ดอกโมก

ดอกโมกบ้าน

ดอกโมกลา

ดอกโมกซ้อน

  • ผลโมกบ้าน ออกผลเป็นฝักคู่ โคนฝักเชื่อมติดกัน ปลายฝักแหลม ผิวฝักเรียบ ขนาดของฝักยาวประมาณ 5-6.5 นิ้ว เมื่อฝักแก่แล้วจะแตกออกเป็น 2 ซีก ภายในฝักมีเมล็ดจำนวนมาก ลักษณะของเมล็ดเป็นรูปกระสวย ที่ปลายเมล็ดมีขนปุยสีขาว ช่วยทำให้ปลิวลมไปได้ไกล ๆ โดยชนิดดอกลาจะติดฝักได้ดีกว่าชนิดดอกซ้อน[1],[2],[4]

ฝักโมกบ้าน

สรรพคุณของโมกบ้าน

  1. เปลือกเป็นยาช่วยทำให้เจริญอาหาร (เปลือก)[5]
  2. ยางจากต้นใช้เป็นยาแก้โรคบิดที่มีอาการเลือดออก (ยาง)[3]
  3. ดอกเป็นยาระบาย (ดอก)[5]
  4. เปลือกช่วยรักษาโรคไต (เปลือก)[5]
  5. ใบใช้ขับน้ำเหลือง (ใบ)[5]
  6. ยางใช้เป็นยาแก้พิษงูและแมลงกัดต่อย (ยาง)[3]
  7. รากมีรสเมามัน ใช้ปรุงเป็นยารักษาโรคผิวหนังจำพวกโรคเรื้อนและคุดทะราด (ราก)[1],[2]

ประโยชน์ของโมกบ้าน

  • ใช้ปลูกเป็นไม้ประดับทั่วไป มีใบสวยงาม ดอกหอม นิยมปลูกไว้ประดับสวน ปลูกริมน้ำตก ลำธาร ริมทะเล หรือปลูกลงในกระถางเป็นไม้แคระหรือบอนไซ หรือปลูกเป็นแถว ๆ เพื่อบังสายตา โดยจะทิ้งใบในช่วงฤดูหนาว ทนร่มได้ดี จึงปลูกในอาคารได้นาน สามารถควบคุมการออกดอกได้ ด้วยการควบคุมการให้น้ำและปุ๋ยอย่างเหมาะสม และสามารถตัดแต่งให้เป็นรูปทรงที่สวยงามได้ตามต้องการ การตัดแต่งทรงพุ่มต้องทำอย่างสม่ำเสมอ เพราะจะทำให้เป็นทรงพุ่มแน่นสวยงาม แต่จะไม่ค่อยออกดอกให้ชม และควรปลูกในพื้นที่กลางแจ้ง เพราะการปลูกในที่มีแสงแดดไม่เพียงพอจะทำให้ต้นสูงชะลูดและไม่ค่อยออกดอก[3],[4]
  • ดอกนิยมนำไปสกัดกลิ่นหอมทำเป็นน้ำอบไทยหรือน้ำปรุง
  • คนไทยโบราณเชื่อว่าหากบ้านใดปลูกต้นโมกไว้เป็นไม้ประจำบ้าน จะทำให้เกิดความสุขบริสุทธิ์ สดใส เพราะคำว่าโมกนั้นมีเสียงพ้องกับคำว่า “โมกข์” หรือ “โมกษ์” นั้นหมายถึงความหลุดพ้นจากกิเลสและทุกข์ทั้งปวง ซึ่งเป็นความหมายเดียวกับนิพพานนั่นเอง นอกจากนี้ยังเชื่อว่าจะช่วยคุ้มครองป้องกันภัยทั้งปวง (โดยเฉพาะกับชาวราศีพฤษภ (15 พ.ค.-14 มิ.ย.)) และเพื่อความเป็นสิริมงคล ให้ปลูกต้นโมกไว้ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ และผู้ปลูกควรปลูกในวันเสาร์เพื่อเอาคุณ[3]

ต้นโมก

ต้นโมกบอนไซ

โมกบอนไซ

ต้นโมกแคระ

เอกสารอ้างอิง
  1. หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1.  “โมกบ้าน (Mok Bann)”.  (ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์).  หน้า 247.
  2. หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5.  “โมกบ้าน”.  (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม).  หน้า 649-650.
  3. ฝ่ายปฏิบัติการวิจัยและเรือนปลูกพืชทดลอง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์.  “โมกซ้อน”.  (นพพล เกตุประสาท).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: clgc.rdi.ku.ac.th.  [19 พ.ค. 2014].
  4. ฐานข้อมูลพรรณไม้ที่ใช้ในงานภูมิสถาปัตยกรรม ศูนย์ความรู้ด้านการเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์.  “โมกลา โมกซ้อน”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: agkc.lib.ku.ac.th.  [19 พ.ค. 2014].
  5. ศูนย์ข้อมูลกลางทางวัฒนธรรม, กระทรวงวัฒนธรรม.  “ต้นโมกไม้มงคล”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: m-culture.in.th.  [19 พ.ค. 2014].

ภาพประกอบ : www.flickr.com (by rohana kamarul ariffin, cp7083, Jennie Pham, rogerphayao, 澎湖小雲雀, Cliff, Bobby9812, mcgarrett88, Shannon Chan)

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด