โปร่งกิ่ว สรรพคุณและประโยชน์ของต้นโปร่งกิ่ว 4 ข้อ !

โปร่งกิ่ว สรรพคุณและประโยชน์ของต้นโปร่งกิ่ว 4 ข้อ !

โปร่งกิ่ว

โปร่งกิ่ว ชื่อวิทยาศาสตร์ Dasymaschalon lomentaceum Finet & Gagnep (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Desmos lomentaceus (Finet & Gagnep.) P.T.Li) จัดอยู่ในวงศ์กระดังงา (ANNONACEAE)[1],[2]

สมุนไพรโปร่งกิ่ว มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า หอมนวล (ภาคเหนือ), เดือยไก่ ติดต่อ ตีนไก่ (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ), ลำดวน (ภาคกลาง) เป็นต้น[1],[2]

ลักษณะของโปร่งกิ่ว

  • ต้นโปร่งกิ่ว จัดเป็นพรรณไม้พุ่มหรือไม้ต้นขนาดเล็ก ไม่ผลัดใบ เรือนยอดเป็นพุ่มกลมทึบ ลำต้นตั้งตรง แตกกิ่งจำนวนมาก มีความสูงได้ประมาณ 1-2 เมตร เปลือกลำต้นเป็นสีน้ำตาลอมดำ มีช่องระบายอากาศสีขาวเป็นจุดกลมกระจายหนาแน่นทั่วลำต้น เนื้อไม้เหนียว กิ่งอ่อนเป็นสีเขียว ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด ในประเทศไทยพบขึ้นในป่าละเมาะ ตามป่าเบญจพรรณทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคตะวันออก ที่ระดับความสูงประมาณ 150-300 เมตร[1],[2]

ต้นโปร่งกิ่ว

เปลือกต้นโปร่งกิ่ว

  • ใบโปร่งกิ่ว ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับในระนาบเดียว ลักษณะของใบเป็นรูปขอบขนาน รูปรี รูปขอบขนานแกมใบหอก หรือรูปวงรีแกมขอบขนาน ปลายใบเรียวทู่หรือแหลมแล้วมน โคนใบเป็นรูปหัวใจ มนหรือเว้าเล็กน้อย ส่วนขอบใบเรียบ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 3-5 เซนติเมตร และยาวประมาณ 7-12 เซนติเมตร แผ่นใบด้านบนเป็นสีเขียวเข้มและเป็นมัน ส่วนด้านล่างมีนวล เส้นกลางใบด้านบนเป็นร่อง ส่วนด้านล่างเป็นสันนูนเด่น มีเส้นแขนงใบ 7-11 คู่ เห็นได้ไม่ชัดเจน ก้านใบยาวประมาณ 4 มิลลิเมตร[1],[2]

ใบโปร่งกิ่ว

รูปใบโปร่งกิ่ว

  • ดอกโปร่งกิ่ว ออกเป็นดอกเดี่ยว โดยจะออกตามซอกใบใกล้ปลายกิ่งหรือออกที่ปลายกิ่ง ดอกอ่อนเป็นสีขาวอมเขียว ดอกบานเป็นสีเขียวแกมเหลือง แล้วจะหลุดร่วงลงไปทั้งกรวย ก้านดอกยาวประมาณ 5 มิลลิเมตร กลีบดอกติดกันเป็นกรวย ยาวประมาณ 2-3 เซนติเมตร โคนดอกมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 0.7-1 เซนติเมตร ปลายมีลักษณะกรวยมน ส่วนกลีบเลี้ยงดอกมีลักษณะเป็นรูปไข่ สีเขียว มีขนาดกว้างและยาวประมาณ 3 มิลลิเมตร ออกดอกในช่วงประมาณมิถุนายนถึงเดือนสิงหาคม[1],[2]

เดือยไก่

รูปดอกโปร่งกิ่ว

  • ผลโปร่งกิ่ว ออกผลเป็นกลุ่ม ๆ มีผลย่อยประมาณ 6-12 ผล ผลย่อยเป็นผลสด ลักษณะของผลเป็นรูปทรงกระบอกยาว ออกมาจากจุดเดียวกัน เปลือกผลคอดถี่ตามรูปเมล็ดประมาณ 2-4 ข้อ แต่ไม่คอดถึงกลางผล ปลายผลแหลม ผลอ่อนเป็นสีเขียวอมขาว เมื่อแก่แล้วจะเปลี่ยนเป็นสีแดงสดหรือสีแดงปนดำ ก้านช่อผลยาวประมาณ 5 มิลลิเมตร ภายในผลมีเมล็ดสีน้ำตาลประมาณ 2-5 เมล็ด เรียงชิดติดกัน ลักษณะของเมล็ดเป็นรูปทรงรี จะติดผลในช่วงประมาณเดือนตุลาคมถึงเดือนพฤศจิกายน[1],[2]

ผลโปร่งกิ่ว

ฝักโปร่งกิ่ว

สรรพคุณของโปร่งกิ่ว

  • ตำรายาไทยจะนำลำต้นโปร่งกิ่วมาผสมกับลำต้นกันแสงและลำต้นพีพ่าย ใช้ต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้อาการปวดเมื่อย เคล็ดขัดยอก (ลำต้น)[1]

ประโยชน์ของโปร่งกิ่ว

  • นอกจากใช้เป็นสมุนไพรแล้วยังมีการใช้ประโยชน์ในด้านการนำมาปลูกเป็นไม้ประดับ และเป็นอาหารของสัตว์[2]
เอกสารอ้างอิง
  1. ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี.  “โปร่งกิ่ว”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.phargarden.com.  [26 ก.ย. 2015].
  2. ระบบจัดการฐานความรู้ด้านความหลากหลายทางชีวภาพ สำนักงานความหลากหลายทางชีวภาพด้านป่าไม้ กรมป่าไม้.  “โปร่งกิ่ว”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : biodiversity.forest.go.th.  [26 ก.ย. 2015].

ภาพประกอบ : www.annonagarden.com, biodiversity.forest.go.th, www.magnoliathailand.com (by marty)

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด