การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 สร้างความวิตกกังวลให้กับคนทั่วโลกอยู่ไม่น้อย เนื่องจากเป็นไวรัสชนิดใหม่ที่ส่งผลกระทบต่อร่างกาย โดยเฉพาะกับระบบทางเดินหายใจและปอด จึงทำให้มีอาการของโรคในเบื้องต้นคล้ายคลึงกับโรคไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ หรือโรคภูมิแพ้ได้ที่เราพบอยู่บ่อย ๆ ได้ แต่เราจะแยกความแตกต่างอาการของโรคเหล่านี้กับอาการของโควิด-19 เพื่อลดความวิตกกังวลได้อย่างไร บทความนี้มีคำตอบครับ
“การทำความรู้จักอาการของทั้ง 3 โรคที่พบบ่อยและโควิด-19 จะช่วยให้เราสามารถแยกอาการที่แตกต่างกันของโรคออกจากกันได้ เพื่อที่เราจะได้เฝ้าระวังโรคแบบตระหนักรู้และไม่ตื่นตระหนก”
โควิด-19
เป็นโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 ซึ่งทำให้มีอาการปอดอักเสบรุนแรงได้ โดยเป็นเชื้อไวรัสที่เพิ่งถูกค้นพบใหม่และนับเป็นสายพันธุ์ที่ 7 ของไวรัสในกลุ่มโคโรนา (Coronavirus) ที่สามารถติดต่อในมนุษย์ได้
เชื้อโควิด-19 อาจทำให้เกิดอาการในระบบทางเดินหายใจได้หลายระดับ ตั้งแต่ระดับที่ไม่รุนแรงไปจนถึงมีอาการรุนแรง และอาจนำไปสู่การเสียชีวิตได้ในบางกรณี ทั้งนี้ผู้ป่วยบางรายที่ติดเชื้อนี้อาจไม่มีอาการแสดงใด ๆ เลยก็ได้ (อาการรุนแรงที่สุด คือ อาการปอดอักเสบอันนำไปสู่การเสียชีวิต ความรุนแรงของโรคแตกต่างกันตามความแข็งแรงของแต่ละคน เด็กอายุน้อย และวัยรุ่นจะมีอาการน้อยกว่าผู้สูงอายุ ผู้ที่เสียชีวิตเกือบทั้งหมดเป็นผู้สูงอายุ และมักมีโรคประจำตัวเกี่ยวกับปอดหรือโรคหัวใจ)
โดยปกติแล้ว หลังได้รับเชื้อผู้ป่วยโควิด-19 จะมีอาการจะแสดงออกมาในช่วง 2-14 วัน ซึ่งอาการที่พบบ่อยที่สุด คือ
- มีไข้สูงมากกว่า 37.5 องศาเซลเซียสนานหลายวัน (88%)
- ไอแห้งๆ (68%)
- ไม่มีเรี่ยวแรง หอบเหนื่อย (38%)
- ไอมีเสมหะ (33%)
- หายใจลำบาก (18%)
- เจ็บคอ (14%)
- ปวดหัว (14%)
ส่วนอาการที่เข้าข่ายและมีโอกาสสูงมากที่จะเป็นโรคโควิด-19 คือ มีไข้สูงติดต่อกัน 48 ชั่วโมง ร่วมกับมีอาการหอบเหนื่อยและหายใจลำบาก (หากมีน้ำมูกไหลอย่างเดียว ไม่มีไข้ ไม่หอบเหนื่อยก็จะไม่ใช่อาการของโรคนี้)
สำหรับการรักษานั้นในปัจจุบันยังไม่มียาต้านไวรัสหรือวัคซีนใด ๆ ที่ใช้รักษาหรือป้องกันเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้ การรักษาหลักจึงเป็นการรักษาแบบประคับประคองไปตามอาการที่เกิดขึ้น อาจมีการให้ออกซิเจนหรือใส่ท่อช่วยหายใจเมื่อจำเป็น เป็นต้น โดยในเบื้องต้นหากตรวจพบว่ามีเชื้อโควิด-19 ผู้ป่วยจะถูกรับตัวไว้รักษาในห้องแยกที่มีความดันอากาศในห้องเป็นลบ ซึ่งมีอยู่แล้วในโรงพยาบาลขนาดใหญ่หรือโรงพยาบาลศูนย์
ไข้หวัด
หวัด หรือ ไข้หวัดธรรมดา (Common Cold) เป็นโรคติดเชื้อไวรัสพบบ่อยที่เกิดขึ้นได้กับคนทุกวัย มักพบในช่วงที่อากาศเปลี่ยนแปลงอย่างฤดูฝนหรือฤดูหนาว ส่วนใหญ่ประมาณ 30-80% มักเกิดจากเชื้อในกลุ่มไรโนไวรัส (Rhinovirus) ซึ่งมีมากกว่า 100 ชนิด นอกนั้นจะเป็นกลุ่มโคโรนาไวรัส (Coronavirus) ที่พบได้ลองลงมาประมาณ 10-15% (เชื้อไวรัสโคโรนาที่ติดต่อในมนุษย์ได้เดิมแล้วมีอยู่ 6 สายพันธุ์ ส่วนโควิด-19 คือสายพันธุ์ที่ 7) และกลุ่มอื่น ๆ ความรุนแรงของโรคไม่มาก สามารถหายได้เองภายในไม่กี่วัน และมักไม่มีโรคแทรกซ้อนที่รุนแรง
ทั้งนี้การแพร่กระจายของเชื้อไวรัสมักเป็นการแพร่จากผู้ที่มีอาการป่วยไปยังผู้อื่นผ่านสารคัดหลั่งในอากาศและการติดต่อสัมผัสอย่างใกล้ชิดกับผู้ที่มีเชื้อ เช่น ไอ ตาม พูดคุย หรือจากมือที่เปื้อนเชื้อมาสัมผัสบริเวณดวงตา จมูก หรือปากของตนเอง โดยหากเชื้อไวรัสเข้าสู่ร่างกายจะทำให้ผู้ป่วยแสดงอาการออกมาในช่วง 1-3 วัน ดังนี้
- มีไข้ต่ำ ๆ
- คัดจมูก มีน้ำมูกใสไหล และน้ำมูกอุดตันภายในจมูก
- จามบ่อย
- ไอเล็กน้อย
- เจ็บคอ
- ปวดศีรษะและปวดเมื่อยตามร่างกายเล็กน้อย
สำหรับการรักษาไข้หวัดธรรมดานั้น เนื่องจากภูมิคุ้มกันของผู้ป่วยจะกำจัดเชื้อได้เอง การรักษาจึงไม่จำเป็นต้องใช้ยาฆ่าเชื้อไวรัส และผู้ป่วยจะมีอาการดีขึ้นภายใน 7-10 วัน โดยในระหว่างนี้ผู้ป่วยสามารถบรรเทาอาการได้ด้วยการพักผ่อนให้มากขึ้น ดื่มน้ำให้เพียงพอ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ และอาจรับประทานยาดังต่อไปนี้
- ยาแก้ปวดลดไข้ ซึ่งโดยทั่วไปยาลดไข้ที่นิยมใช้กันมากที่สุด คือ พาราเซตามอล (Paracetamol)
- ยาแก้แพ้ เช่น เซทิริซีน (Cetirizine), ลอราทาดีน (Loratadine) หรือซูโดเอฟีดรีน (Pseudoephedrine) เพื่อบรรเทาอาการคัดจมูก ลดน้ำมูก และช่วยให้ใจได้สะดวกยิ่งขึ้น
- ยาแก้ไอหรือยาขับเสมหะ เพื่อบรรเทาอาการไอและช่วยให้เสมหะถูกขับออกมาได้ง่ายขึ้น
ไข้หวัดใหญ่
ไข้หวัดใหญ่ (Flu) เป็นโรคติดต่อทางเดินหายใจเช่นเดียวกับไข้หวัด แต่เกิดจากเชื้อไวรัสคนละชนิดและมีความรุนแรงสูงกว่าโรคหวัดธรรมดามาก แต่สามารถฉีดวัคซีนป้องกันได้ โดยเกิดจากเชื้อไวรัส “อินฟลูเอนซา” (Influenza virus) ซึ่งมีอยู่ในน้ำมูก น้ำลาย และเสมหะของผู้ป่วย ส่วนอาการแสดงที่สำคัญของโรคไข้หวัดใหญ่ คือ
- มีไข้สูงลอย 38-40 องศาเซลเซียส ไข้สูงแบบทันทีทันใด
- มีอาการปวดศีรษะปวดเมื่อยตัวมาก
- อ่อนเพลียมาก
- ไอแห้ง
- เจ็บคอ
- บางครั้งมีน้ำมูก
โดยรวมโรคไข้หวัดใหญ่จะมีอาการคล้ายกับโควิด-19 ค่อนข้างมาก แต่ที่แตกต่างคือมักจะไม่มีอาการหายใจลำบาก แน่นหน้าอก ร่วมด้วย เมื่อมีอาการคล้ายคลึงกันในระยะเริ่มต้น เวลาไปพบแพทย์ แพทย์จะทำการตรวจหาเชื้อไข้หวัดใหญ่ก่อนเป็นอันดับแรกเพื่อตัดโรคที่คล้ายคลึงนี้ออกไป (แต่ถ้าเปรียบเทียบกับโรคไข้หวัดธรรมดา อาการของไข้หวัดธรรมดานั้นผู้ป่วยจะค่อย ๆ แสดงอาการป่วยทีละนิดและยังใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติแม้จะมีอาการป่วยรบกวน แต่สำหรับโรคไข้หวัดใหญ่นั้นผู้ป่วยจะมีอาการเกิดขึ้นอย่างฉับพลัน มีไข้สูงร่วมกับมีอาการปวดเมื่อยตามกล้ามเนื้อและอ่อนเพลียจนต้องการพักผ่อน)
เมื่อป่วยเป็นไข้หวัดใหญ่ แพทย์จะจ่ายยาเพื่อรักษาไปตามอาการที่ป่วย หรือหากมีอาการป่วยเพียงเล็กน้อย สามารถใช้ยารักษาได้ด้วยตนเองภายใต้คำแนะนำของเภสัชกร เช่น ยาลดไข้พาราเซตามอล ใช้ผ้าชุบน้ำเช็ดตัวเมื่อมีไข้สูง หรือถ้ามีน้ำมูกก็ใช้ยาลดน้ำมูกและยาละลายเสมหะ ดื่มน้ำให้เพียงพอ รับประทานอาหารอ่อน ๆ ดื่มน้ำและนอนพักผ่อนให้มาก ๆ และไม่ควรออกกำลังกาย เพราะการป่วยเป็นโรคไข้หวัดใหญ่จะทำให้ร่างกายอ่อนล้าและต้องการการพักผ่อนมากกว่าปกติ (หากอาการยังไม่ดีขึ้นภายใน 3 วัน เช่น มีไข้สูงมากจนเพ้อ ซึม หายใจหอบ หายใจลำบาก เจ็บแน่นหน้าอก หน้ามืด ควรรีบไปพบแพทย์ทันที)
ผู้ที่มีสุขภาพแข็งแรงและไม่มีภาวะแทรกซ้อนเกิดขึ้น เมื่อรักษาไปตามอาการแล้ว ส่วนมากอาการไข้และอาการต่าง ๆ จะดีขึ้นภายใน 5-7 วัน (ไข้มักจะหายได้เองภายใน 3-5 วัน) แต่แม้ว่าอาการอื่น ๆ จะทุเลาลงแล้วก็ตาม ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการไอและอ่อนเพลียต่อเนื่องไปได้อีกประมาณ 1-4 สัปดาห์
ภูมิแพ้
โรคภูมิแพ้เป็นกลุ่มของโรคที่แสดงอาการได้กับหลายระบบของร่างกาย โดยอาการของจะขึ้นอยู่กับชนิดของโรคภูมิแพ้ที่เป็น ตั้งแต่ตา (เยื่อบุตาอักเสบจากภูมิแพ้), จมูก (จมูกอักเสบจากภูมิแพ้หรือหวัดภูมิแพ้), หลอดลม (หลอดลมอักเสบจากภูมิแพ้), ผิวหนัง (ผิวหนังอักเสบจากภูมิแพ้) และทางเดินอาหาร (โรคแพ้อาหาร) แต่ที่จะกล่าวถึงในบทความนี้จะหมายถึง “หวัดภูมิแพ้” หรือโรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ (Allergic rhinitis) ครับ เพราะมีอาการหลายอย่างที่คล้ายคลึงกับ 3 โรคที่กล่าวมา และยังเป็นอาการที่พบได้บ่อยที่สุดในบรรดาภูมิแพ้ทั้งหมดด้วย
โดยโรคนี้จะไม่ได้เกิดจากเชื้อไวรัสอย่าง 3 โรคที่กล่าวมาครับ แต่เกิดจากการที่ร่างกายได้รับสารก่อภูมิแพ้เข้าไปในร่างกาย อาทิ ควัน ไรฝุ่น เกสรละอองหญ้า รังแคแมว แมลงสาบ เชื้อรา ฯลฯ แล้วกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันและมีปฏิกิริยาตอบสนองต่อสารนั้นมากผิดปกติ ภายหลังเมื่อได้รับสารก่อภูมิแพ้นั้นอีก ภูมิคุ้มกันดังกล่าวก็จะกระตุ้นให้เกิดอาการอีกครั้ง ซึ่งจะเกิดเฉพาะในคนที่แพ้เท่านั้น ส่วนในคนปกติจะไม่เกิดอาการครับ (คนที่เป็นภูมิแพ้ไม่ได้เสี่ยงต่อการติดเชื้อโควิด-19 มากกว่าคนปกติ หากดูแลตัวเองหรือป้องกันได้ไม่ดีพอก็มีโอกาสติดเชื้อโควิด-19 ได้) สำหรับอาการที่แสดงนั้น ผู้ป่วยมักจะมีอาการดังต่อไปนี้
- จาม คัดจมูก จามบ่อย
- น้ำมูกไหล มักเป็นน้ำมูกใส ๆ
- คันในจมูก คันตา คันคอ
- น้ำตาไหล
- ไอแห้ง ๆ (แบบระคายคอ)
- เจ็บคอ
สำหรับการรักษาภูมิแพ้นั้น ถ้ามีอาการน้ำมูกไหลมากหรือไอจนน่ารำคาญให้ทานยาแก้แพ้หรือยาต้านฮีสตามีน (Antihistamines) ซึ่งเป็นยาที่ใช้รักษาอาการเยื่อจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ที่ทำให้มีอาการคัน จาม น้ำมูกไหล รวมถึงเยื่อบุตาอักเสบจากภูมิแพ้ที่เป็นตามฤดูกาล ผื่นลมพิษ และผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง นอกจากจะสามารถใช้ในการรักษาอาการแพ้ได้แล้วยังสามารถป้องกันอาการแพ้ได้ด้วย แต่ต้องใช้ยาอย่างสม่ำเสมอก่อนสัมผัสสารก่อภูมิแพ้ โดยยาแก้แพ้นี้จะแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ
- ยาแก้แพ้กลุ่มดั้งเดิมที่ทำให้ง่วงซึม ตัวอย่างยาในกลุ่มนี้ เช่น คลอเฟนิรามีน (Chlorpheniramine), ไดเฟนไฮดรามีน (Diphenhydramine), ไดเมนไฮดริเนต (Dimenhydrinate) ฯลฯ ยากลุ่มนี้มีผลต่อระบบประสาทส่วนกลาง ทำให้ง่วงซึม จึงไม่ควรใช้ในผู้ที่ทำงานเกี่ยวกับเครื่องจักรกล ขับรถ และห้ามใช้ร่วมกับยากดประสาทชนิดอื่น ๆ เช่น ยานอนหลับ ยาคลายเครียด ยากล่อมประสาท เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ส่วนผลข้างเคียงที่อาจพบได้ คือ ปากแห้ง คอแห้ง เสมหะและน้ำมูกเหนียวข้น ท้องผูก ทำให้อาการความดันในลูกตาผิดปกติและภาวะปัสสาวะคั่งแย่ลง จึงควรระวังในผู้ป่วยบางโรค เช่น ความดันลูกตาสูง ต้อหินบางชนิด ต่อมลูกหมากโต ส่วนหญิงตั้งครรภ์และหญิงให้นมบุตรต้องปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ยาทุกครั้ง ไม่ควรซื้อยามารับประทานเอง
- ยาแก้แพ้กลุ่มที่ไม่ทำให้ง่วงนอน ออกฤทธิ์เช่นเดียวกับยาแก้แพ้กลุ่มดั้งเดิม แต่ยาในกลุ่มนี้จะผ่านเข้าสมองได้น้อยมากจึงทำให้มีอาการง่วงซึมน้อย และยังออกฤทธิ์ได้นานกว่า เพราะจับกับตัวรับฮีสตามีนได้แน่นและนานขึ้น และไม่มีผลข้างเคียงเหมือนยาแก้แพ้กลุ่มแรก จึงแนะนำให้ใช้ยาแก้แพ้กลุ่มนี้มากกว่ากลุ่มดั้งเดิม โดยตัวอย่างยาในกลุ่มนี้ เช่น ลอราทาดีน (Loratadine), เซทิริซีน (Cetirizine), เลโวเซทิริซีน (Levocetirizine) ฯลฯ แต่การใช้ยังต้องระมัดระวังในผู้ป่วยโรคตับ โรคไต และผู้ที่มีประวัติคลื่นหัวใจผิดปกติ ส่วนหญิงตั้งครรภ์และหญิงให้นมบุตรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนใช้เช่นกัน
ส่วนด้านล่างคือตัวอย่างยาแก้แพ้ยอดนิยม “ลอราทาดีน” (Loratadine) ที่มีขายอยู่ตามร้านยาทั่วไปซึ่งมีชื่อทางการค้าว่า “คลาริทิน” (Clarityne) เป็นยาแก้แพ้ในกลุ่มที่ไม่ทำให้ง่วง ออกฤทธิ์นาน ใช้บรรเทาอาการแพ้อย่างอาการจาม คันจมูก คันตา น้ำมูกไหล รวมไปถึงอาการแพ้ทางผิวหนังหรือลมพิษเรื้อรัง
อย่างไรก็ตามวิธีการรักษาอาการแพ้ที่ดีที่สุดคือ สังเกตว่าอาการแพ้เกิดขึ้นเมื่อสัมผัสสิ่งใด เมื่อทราบแล้วควรกำจัดหรือหลีกเลี่ยงสารก่อภูมิแพ้นั้น
สรุปความแตกต่างระหว่างอาการโควิด-19 ไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ และภูมิแพ้
เนื่องจากไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ และภูมิแพ้ เป็นโรคที่เคยเกิดขึ้นแล้วและร่างกายของเราก็พอมีภูมิคุ้มกันบ้างในระดับหนึ่ง แต่สำหรับโควิด-19 นั้นเป็นเชื้อไวรัสสายพันธุ์ใหม่ที่ร่างกายยังไม่มีภูมิคุ้มกันเลย เมื่อเชื้อเข้าไปในร่างกายในระบบทางเดินหายใจเชื้ออาจลามเข้าสู่ปอด ทำให้เกิดอาการปอดบวม ปอดอักเสบ ได้มากกว่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งในคนคนที่เป็นกลุ่มเสี่ยง เช่น ผู้มีสุขภาพร่างกายไม่แข็งแรง ผู้มีโรคประจำตัว และผู้สูงอายุ
แต่สิ่งที่เหมือนกันของทั้ง 3 โรค คือ การป้องกัน เช่น การล้างมือบ่อย ๆ ไม่เอามือไปสัมผัสบริเวณใบหน้า หลีกเลี่ยงการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยหรือสิ่งที่เราแพ้ หลีกเลี่ยงพื้นที่ที่มีคนแออัดในช่วงที่มีการระบาด พักผ่อนให้เพียงพอ ออกกำลังกายอยู่เสมอเพื่อเสริมภูมิคุ้มกัน ในผู้สูงอายุและเด็กควรได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ปีละ 1 ครั้งเพื่อความปลอดภัย
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)