โกโก้
โกโก้ ชื่อสามัญ Cacoa (โกโก้), Cacao (กากาโอ), Chocolate Tree (ช็อกโกแลต)[1],[2]
โกโก้ ชื่อวิทยาศาสตร์ Theobroma cacao L.[1] ปัจจุบันจัดอยู่ในวงศ์ชบา (MALVACEAE)
โกโก้ มีชื่อเรียกอื่นว่า โคโค่ (ภาคกลาง)[2]
หมายเหตุ : ต้นโกโก้ที่กล่าวถึงในบทความนี้ เป็นพรรณไม้คนละชนิดกันกับต้นโคโค่ (Erythroxylon coca Lam.)
ลักษณะของโกโก้
- ต้นโกโก้ จัดเป็นพรรณไม้พื้นเมืองของประเทศเม็กซิโก แต่มีการนำมาปลูกทั่วไปในเขตร้อน ในประเทศไทยมีผู้นำเข้ามาปลูกตามสวนทั่วไปทางภาคใต้ โดยจัดเป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็ก มีความสูงของต้นประมาณ 3-8 เมตร และอาจสูงได้ถึง 13 เมตร ขึ้นใต้ร่มเงาไม้ อากาศร้อน ความชื้นสูง และมีฝนตกชุก[1],[2]
- ใบโกโก้ ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับหรือเวียนรอบ ลักษณะของใบเป็นรูปรี รูปไข่กลับ หรือรูปไข่แกมรูปขอบขนาน ปลายใบแหลม โคนใบมนหรือสอบ ส่วนขอบใบเป็นคลื่นเล็กน้อย ใบมีขนาดกว้างประมาณ 4-20 เซนติเมตร และยาวประมาณ 10-48 เซนติเมตร เส้นแขนงใบมีข้างละประมาณ 9-12 เส้น ปลายเส้นโค้งจรดกัน ก้านใบยาวประมาณ 1-3 เซนติเมตร โคนใบป่องทั้งสองข้าง มีหูใบขนาดเล็ก ลักษณะเป็นรูปใบหอก ขนาดกว้างประมาณ 1-2 มิลลิเมตร และยาวประมาณ 0.5-1.5 เซนติเมตร หลุดร่วงได้ง่าย[2]
- ดอกโกโก้ ดอกมีขนาดเล็กออกเป็นกลุ่ม ๆ ตามลำต้นหรือกิ่งใหญ่ ๆ ที่แก่แล้ว ตรงที่ใบร่วงไป เมื่อดอกบานเต็มที่จะมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1 เซนติเมตร ก้านดอกยาวประมาณ 1-2.3 เซนติเมตร ดอกเป็นสีเขียวหรือสีแดง มีขนขึ้นประปราย ดอกมีใบประดับขนาดเล็ก มีขน ส่วนกลีบดอกมี 5 กลีบ ออกเรียงสลับกับกลีบเลี้ยง กลีบดอกเป็นสีขาวอมเหลืองหรือสีขาวอมชมพู กลีบดอกตอนล่างมีลักษณะเป็นกระพุ้งสอบลงมาหาโคนกลีบ มีเส้นสีม่วงตามยาว 2 เส้น มีขนาดกว้างประมาณ 3 มิลลิเมตร และยาวประมาณ 3-4 มิลลิเมตร กลางกลีบดอกคอดเป็นเส้น โค้งออก ยาวได้ประมาณ 2 มิลลิเมตร ปลายกลีบดอกเป็นสีเหลือง แผ่ออกเป็นรูปช้อน มีขนาดกว้างประมาณ 2-3 มิลลิเมตร และยาวประมาณ 3 มิลลิเมตร ส่วนกลีบเลี้ยงดอกมี 5 กลีบ กลีบเป็นสีขาวหรือสีขาวประชมพู ลักษณะของใบเป็นรูปใบหอก มีขนาดกว้างประมาณ 2-3 มิลลิเมตร และยาวประมาณ 6-8 มิลลิเมตร ดอกมีเกสรเพศผู้ 10 อัน โคนก้านชูอับเรณูติดกันเป็นหลอดสั้น ๆ แยกออกเป็น 2 ชนิด ชนิดแรกมี 5 อัน อยู่ตรงกับกลีบเลี้ยง มีลักษณะตั้งตรง ปลายเรียว โคนกว้าง ไม่มีอับเรณู ยาวประมาณ 4-6 มิลลิเมตร สีม่วงเข้มมีขนอ่อนนุ่มสีขาว อีก 5 อัน อยู่ตรงกับกลีบดอก โค้งงอลงมาจนกระทั่งอับเรณูเข้าไปอยู่ในอุ้งกลีบดอกตอนล่าง ก้านชูอับเรณูยาวประมาณ 2 มิลลิเมตร อับเรณู 4 อัน ก้านเกสรเพศเมียยาวประมาณ 2-3 มิลลิเมตร ยอดเกสรเพศเมียแยกเป็นแฉก 5 แฉก[1],[2]
- ผลโกโก้ ลักษณะของผลเป็นรูปกลมยาว รูปไข่แกมรูปขอบขนาน หรือรูปรี ห้อยลงตามกิ่งและลำต้น ผลมีขนาดกว้างประมาณ 6-10 เซนติเมตร และยาวประมาณ 12-22 เซนติเมตร ผิวผลแข็งขรุขระ ตามผลมีร่องตามยาวประมาณ 10 ร่อง และมีสันเป็นปุ่มป่ำ ผลเป็นสีเขียว สีเหลือง ผลเมื่อแก่จัดจะเป็นสีแดงอมเหลืองหรือสีแดงอมม่วง ภายในผลมีเมล็ดโกโก้ประมาณ 20-60 เมล็ด เรียงเป็นแถว 5 แถว ยาวตามแกนกลางของผล[1],[2]
- เมล็ดโกโก้ ลักษณะของเมล็ดเป็นรูปรี มีขนาดกว้างประมาณ 1.3-1.5 เซนติเมตร และยาวประมาณ 2.2.5 เซนติเมตร เมล็ดเป็นสีน้ำตาล มีเยื่อหุ้มเมล็ดบาง ๆ รสหวาน[2]
สรรพคุณของโกโก้
- โกโก้เป็นแหล่งสำคัญของ polyphenol ซึ่งเป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพ (เมล็ด)[3]
- เมล็ดมีสรรพคุณช่วยกระตุ้นประสาท ช่วยบรรเทาภาวะของโรคเครียด โรคซึมเศร้า (เมล็ด)[2],[4]
- ช่วยลดระดับไขมันในเลือด (เมล็ด)[1],[4]
- ช่วยลดความดันโลหิต (เมล็ด)[1],[4]
- ช่วยระดับลดน้ำตาลในเลือด (เมล็ด)[1],[4]
- theobromine เป็นสารอัลคาลอยด์ที่แยกได้จากเมล็ดโกโก้ มีฤทธิ์กระตุ้นหัวใจ ขยายหลอดเลือด นิยมใช้เมื่อมีอาการบวมเกี่ยวกับโรคหัวใจ (เมล็ด)[1],[2]
- ช่วยป้องกันฟันผุ (เมล็ด)[1]
- theobromine มีฤทธิ์ขับปัสสาวะ จึงใช้เป็นยาขับปัสสาวะได้ (เมล็ด)[1],[2]
- ช่วยทำให้กล้ามเนื้อเรียบคลายตัว แก้หอบหืดคล้ายกับฤทธิ์ของ Theophylline แต่ถ้ากินเมล็ดมาก ๆ ก็อาจทำให้เสพติดได้ (เมล็ด)[1],[2]
- ช่วยบรรเทาอาการอักเสบ (เมล็ด)[4]
- ในประเทศฟิลิปปินส์จะใช้น้ำต้มจากรากโกโก้เป็นยาขับระดูของสตรี (ราก)[2]
- theobroma oil หรือ cocoa butter เป็นไขมันที่แยกออกเมื่อนำเมล็ดโกโก้มาคั่ว theobroma oil ใช้เป็นยาพื้นในการเตรียมยาเหน็บและเครื่องสำอาง (เมล็ด)[1]
วิธีการใช้ : ให้นำเมล็ดโกโก้ที่คั่วแห้งมาใช้เป็นเครื่องดื่มยามว่างหรือทำเป็นช็อกโกแลตผสมในอาหาร[1]
ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของโกโก้
- สารสำคัญที่พบในเมล็ดประกอบไปด้วยน้ำมัน (fixed oil) ประมาณ 30-50%, แป้ง 15%, โปรตีน 15%, alkaloid, theobromine ประมาณ 1-4%, caffeine ประมาณ 0.07-0.36%, สาร catechin, pyrazine, tyramine, tyrosine เป็นต้น[1]
- โกโก้มีฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรีย ต้านไวรัส ยับยั้งออกซิเดชั่น ป้องกันฟันผุ ขับปัสสาวะ ลดความดันโลหิต ลดไขมันในเลือด[1]
- สารสำคัญในโกโก้ คือ สารอัลคาลอยด์ theobromine มีโครงสร้างคล้ายกับกาเฟอีน (caffeine) มาก แต่จะมีฤทธิ์อ่อนกว่ากาเฟอีน โดยจะมีฤทธิ์กระตุ้นระบบประสาทส่วนกลาง กระตุ้นหัวใจ ขยายเส้นเลือด คลายกล้ามเนื้อเรียบ ขับปัสสาวะ และแก้หืดหอบคล้ายกับฤทธิ์ Theophylline ซึ่งถ้ากินเมล็ดมาก ๆ ก็จะเป็นสารเสพติดได้[2]
- จากการทดสอบความเป็นพิษ พบว่าโกโก้ไม่มีพิษต่อตัวอ่อน ไม่มีพิษต่อหนูขาว เมื่อนำโกโก้มาผสมอาหารให้กิน ในขนาดที่ทำให้หนูขาวตายเป็นจำนวนครึ่งหนึ่งมีค่าเท่ากับ 5.84 กรัมต่อกิโลกรัม[1]
รายงานผลการทดลองของโกโก้
- ค.ศ.1996 ประเทศจีน ได้ทำการทดลองในหนูทดลอง โดยแบ่งหนูทดลองออกเป็น 3 กลุ่ม กลุ่มแรกให้โกโก้ 10% กลุ่มที่สองให้ soybean oil 10% และกลุ่มที่สามคือกลุ่มควบคุม ผลการทดลองพบว่าหนูทดลองกลุ่มหนึ่งและกลุ่มสอง มีระดับไขมันในเลือดลดลง แต่กลุ่มที่สองจะลดได้มากกว่ากลุ่มที่หนึ่ง[1]
- ค.ศ.2006 ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้ทำการทดลองในอาสาสมัครกลุ่มที่หนึ่ง จำนวน 32 คน โดยให้ดื่มเครื่องดื่มโกโก้ 1.5 กรัม วันละ 2 ครั้ง ส่วนกลุ่มที่สองเป็นกลุ่มควบคุม คือไม่ได้ให้อะไรเลย การทดลองนี้ใช้เวลาประมาณ 6 สัปดาห์ ภายหลังการทดลองพบว่าระดับไขมันในเลือดของอาสาสมัครกลุ่มแรกลดลง LDL-c ลดลง 6% P<0.01[1]
- ค.ศ.2008 ประเทศสเปน ได้ทำการทดลองใช้โกโก้ในหนูทดลอง โดยการให้โกโก้ในหนูทดลอง โดยทำการเปรียบเทียบกับกลุ่มควบคุม ภายหลังการทดลองพบว่าหนูทดลองมีระดับไขมันในเลือดลดลง[1]
- ค.ศ.2008 ประเทศมาเลเซีย ได้ทำการทดลองใช้สารสกัดโกโก้ในหนูทดลองที่ถูกกระตุ้นให้เป็นเบาหวาน ด้วยสาร streptozocin โดยแบ่งกลุ่มการทดลองออกเป็น 3 กลุ่ม โดยให้สารสกัดโกโก้ในขนาด 10, 20, 30 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัมต่อวัน เป็นระยะเวลา 3 สัปดาห์ ภายหลังการทดลองพบว่า หนูมีระดับไขมันในเลือดลดลง[1]
- ค.ศ.2009 ประเทศมาเลเซีย ได้ทำการทดลองให้สารสกัดจากโกโก้ในหนูทดลองที่ถูกกระตุ้นให้มีระดับไขมันในเลือดสูง โดยทำการทดลองประมาณ 4 สัปดาห์ และในสารสกัดโกโก้ ประกอบไปด้วย polyphenol 2.7 มิลลิกรัม, epicatechin 1.52 มิลลิกรัม, eatechin 0.25 มิลลิกรัม, methyl xanthenes 8.55 มิลลิกรัม, caffeine 2.22 มิลลิกรัม, theobromine 1 กรัม พบว่าระดับไขมันในเลือดลดลงอย่างมีนัยสำคัญ P[1]
ประโยชน์ของโกโก้
- เมล็ดโกโก้นิยมนำมาใช้ทำช็อกโกแลต (Chocolate) เนื่องจากมีไขมันสูงและมีสารประกอบหลายอย่างที่ทำให้เกิดกลิ่นหอมเฉพาะตัวเมื่อผ่านกรรมวิธี และยังมีผลิตภัณฑ์อีกประเภทหนึ่งที่สกัดได้เมล็ดที่คั่วแล้วด้วยตัวทำละลาย ที่เรียกว่า “โกโก้สกัด” (Cocoa extract) ที่นำมาใช้ผสมในเครื่องดื่มผงรสช็อกโกแลต ขนมอบ ไอศกรีม ลูกกวาด ทอฟฟี่ เป็นต้น[1] โดยสรุปแล้วผลิตภัณฑ์ที่ได้จากเมล็ดโกโก้ คือ เนื้อโกโก้ (cocoa liquor หรือ cocoa mass), เนยโกโก้ (cocoa butter), โกโก้ผง (cocoa powder) และช็อกโกแลต (chocolate)[3]
- เมล็ดโกโก้นำมาคั่วเอาเปลือกหุ้มเมล็ดออก บดให้ละเอียด บีบเอาน้ำมันออก เนื้อโกโก้จะเกาะกันเป็นแท่ง ๆ แล้วนำมาบดให้แตกเป็นผงอีกครั้ง ใส่รวมกับแป้ง แล้วนำไปแต่งรสแต่งสีอาหาร ส่วนโกโก้ผงที่ชงกับเครื่องดื่มจะนำมาผสมกับแป้งทำขนม นอกจากนี้เมล็ดโกโก้ยังถูกนำมาใช้เป็นอาหารเสริมอย่างดีที่ชื่อว่า “Food of the gods” โดยการนำผลโกโก้มาหมักแล้วแยกเอาเมล็ดออก นำมาทำความสะอาดแล้วนำไปย่างไฟ เสร็จแล้วกะเทาะเปลือกออก ก็จะได้เนื้อในเมล็ดที่นำไปใช้ได้[2]
- น้ำมันโกโก้ใช้เป็นสารแต่งกลิ่นและรสของอาหาร ยา และเครื่องดื่มหลายชนิด[2]
- เปลือกเมล็ดที่กะเทาะแยกออกจากใบเลี้ยง อาจนำไปบีบเอาเนยโกโก้ (Cocoa Butter) ซึ่งนำมาใช้เป็นส่วนผสมในการทำครีม สบู่ โลชั่นบำรุงผิว และเครื่องสำอาง ใช้เป็นตัวยาพื้นของยาเหน็บ ขี้ผึ้ง และครีม หรือนำมาสกัด theobromine ซึ่งใช้เป็นสารกระตุ้นเช่นเดียวกับกาเฟอีนที่ได้จากกาแฟและชา[2]
หมายเหตุ : โกโก้ที่นำมาทำเป็นช็อกโกแลต รวมไปถึงโกโก้ที่นำมาใช้ทำเป็นเครื่องดื่มต่าง ๆ ยังมีประโยชน์ต่อสุขภาพอีกหลายอย่าง ซึ่งผมจะขอกล่าวถึงอย่างละเอียดในบทความหน้านะครับ ในเรื่องของ “ช็อกโกแลต“
เอกสารอ้างอิง
- หนังสือสมุนไพรลดไขมันในเลือด 140 ชนิด. (เภสัชกรหญิง จุไรรัตน์ เกิดดอนแฝก). “โกโก้” หน้า 58-59.
- ข้อมูลพรรณไม้, สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี. “โกโก้”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.rspg.or.th/plants_data/herbs/. [08 ก.ย. 2014].
- ศูนย์เครือข่ายข้อมูลอาหารครบวงจร. “Cocoa / โกโก้”. (ผศ.ดร.พิมพ์เพ็ญ พรเฉลิมพงศ์, ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.นิธิยา รัตนาปนนท์). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.foodnetworksolution.com. [08 ก.ย. 2014].
- สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล. (กฤติยา ไชยนอก). “โกโก้กับช็อกโกแลตวาเลนไทน์”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.medplant.mahidol.ac.th. [08 ก.ย. 2014].
ภาพประกอบ : www.flickr.com
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)