โกฐน้ำเต้า
โกฐน้ำเต้า ภาษาอังกฤษ Rhubarb[1],[2],[3]
โกฐน้ำเต้า ชื่อวิทยาศาสตร์ Rheum palmatum L. จัดอยู่ในวงศ์ผักไผ่ (POLYGONACEAE)
สมุนไพรโกฐน้ำเต้า มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า ตั้วอึ้ง (จีน), ตั่วอึ๊ง (จีนแต้จิ๋ว), ต้าหวง (จีนกลาง) เป็นต้น[1],[2],[3]
ลักษณะของโกฐน้ำเต้า
- ต้นโกฐน้ำเต้า เป็นพันธุ์ไม้ที่มีถิ่นกำเนิดอยู่ในแถบยุโรป ในประเทศอินเดีย จีน ทิเบต รัสเซีย โดยจัดเป็นพรรณไม้พุ่มที่มีความสูงของต้นประมาณ 2 เมตร ต้นแตกกิ่งก้านสาขามากและมีใบเป็นพุ่ม เปลือกลำต้นเป็นสีเขียวเรียบมัน มีลายเล็กน้อยและไม่มีขนปกคลุม มีเหง้าอยู่ใต้ดินขนาดป้อมและใหญ่ เนื้อนิ่ม ลำต้นใต้ดินมีลักษณะเป็นโพรงกลวงและมียางสีเหลือง ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการแยกลำต้น และวิธีการเพาะเมล็ด[1],[2]
- ใบโกฐน้ำเต้า ใบเป็นใบเดี่ยวออกเรียงสลับกัน ลักษณะของใบเป็นรูปไข่ เป็นแฉกคล้ายนิ้วมือ มีประมาณ 3-7 แฉก มีขนาดกว้างและยาวใกล้เคียงกัน ใบมีขนาดประมาณ 35-40 เซนติเมตร ปลายใบแหลม โคนใบเว้าเข้าหากันคล้ายรูปหัวใจ ส่วนขอบใบเป็นหยักแบบฟันเลื่อยเล็กน้อย หน้าใบและหลังใบมีขนขึ้นปกคลุม ก้านใบมีขนาดใหญ่และยาว ตรงบริเวณก้านใบมีขนสีขาวปกคลุมอยู่[1]
- ดอกโกฐน้ำเต้า ออกดอกเป็นช่อบริเวณปลายกิ่งก้าน ดอกเป็นข้อ ๆ ในก้านช่อกิ่งหนึ่งจะมีประมาณ 7-10 ช่อ ก้านดอกมีความยาวประมาณ 3-4 มิลลิเมตร ดอกย่อยจะแยกออกเป็นแฉก 6 แฉก ดอกมีความยาวประมาณ 1.5 มิลลิเมตร ส่วนกลีบดอกเรียงซ้อนกันเป็นชั้น 2 ชั้น ดอกมีเกสรเพศผู้จำนวน 9 ก้าน[1],[2]
- ผลโกฐน้ำเต้า ผลมีลักษณะเป็นรูปไข่คล้ายสามเหลี่ยม บริเวณเหลี่ยมจะมีเยื่อบาง ๆ หุ้มอยู่ ผลเป็นสีน้ำตาลเข้ม ผลมีขนาดกว้างประมาณ 7-8 มิลลิเมตรและยาวประมาณ 9-10 มิลลิเมตร โดยผลจะแก่ในช่วงเดือนสิงหาคม[1],[2]
สรรพคุณของโกฐน้ำเต้า
- เหง้ามีรสขมและมีกลิ่นหอม ใช้เป็นยาเย็น ออกฤทธิ์ต่อกระเพาะ ลำไส้ และตับ ใช้เป็นยาดับพิษร้อน ขับพิษร้อน ระบายความร้อน ขับพิษในร่างกาย ใช้ในผู้ป่วยที่มีระบบโลหิตร้อน (อาเจียนเป็นเลือด มีเลือดกำเดา ตาแดง เหงือกบวม คอบวม) (เหง้า)[1],[3]
- ช่วยเพิ่มการไหลเวียนของโลหิต ช่วยกระจายเลือดคั่ง (เหง้า)[3]
- ใช้เป็นยาบำรุงธาตุให้เป็นปกติ ช่วยแก้ธาตุพิการ และคายพิษในธาตุ (เหง้า)[1],[2]
- เหง้าใช้แก้โรคตาแดงแสบร้อน แก้โรคในดวงตา (เหง้า)[1],[2]
- ช่วยแก้โลหิตกำเดา (เหง้า)[1]
- ช่วยแก้อาการอาเจียนเป็นเลือด (เหง้า)[1]
- ใช้เป็นยาลดไข้และความร้อนในร่างกาย (เหง้า)[4]
- ช่วยแก้อาการตัวเหลือง (เหง้า)[1]
- ช่วยบำรุงกระเพาะอาหารและช่วยในการย่อยอาหาร (เหง้า)[2]
- ช่วยแก้อาการท้องเสีย (เหง้า)[1],[2]
- ช่วยแก้อาการท้องผูก เป็นยาระบาย ช่วยขับของเสียตกค้างที่อยู่ภายในกระเพาะอาหารและลำไส้ (อาการท้องผูกจากภาวะร้อน ตัวร้อนจัด) หยางในระบบม้ามไม่เพียงพอ มีของเสียและความเย็นตกค้าง ทำให้เกิดอาการท้องผูก มีอาหารตกค้าง มีอาการปวดท้องน้อย ขับถ่ายไม่สะดวก และมีฤทธิ์ทำให้ลำไส้บีบตัว (เหง้า)[1],[2],[3]
- ใช้เป็นยาแก้อุจจาระและปัสสาวะไม่ปกติ (เหง้า)[1],[2]
- ช่วยแก้ริดสีดวงทวาร ริดสีดวงงอก (เหง้า)[1],[2]
- แก้เลือดอุดตันหรือเลือดคั่ง ทำให้ประจำเดือนของสตรีมาไม่ปกติ (เหง้า)[1],[3]
- ช่วยแก้ไส้ติ่งอักเสบเฉียบพลัน (เหง้า)[1]
- ช่วยแก้ตับอักเสบเฉียบพลัน (เหง้า)[1]
- เหง้าใช้เป็นยาภายนอก เป็นยารักษาแผลไฟไหม้ น้ำร้อนลวก (เหง้า)[1]
- ช่วยแก้ผิวหนังอักเสบติดเชื้อ (ใช้เหง้าเป็นยาภายนอก)[1]
- ช่วยแก้แผลฝีหนองบวมตามผิวหนัง (ใช้เหง้าเป็นยาภายนอก)[1],[3]
- ช่วยแก้อาการฟกช้ำ ช้ำใน มีเลือดคั่ง ปวด บวม (เหง้า)[3]
- โกฐน้ำเต้าจัดอยู่ในตำรับยา “พิกัดตรีฉันทลามก” ซึ่งในตำรับประกอบไปด้วยสมุนไพร 3 อย่าง ได้แก่ โกฐน้ำเต้า รงทอง และสมอไทย ซึ่งเป็นตำรับยาที่ช่วยบำรุงธาตุในร่างกาย แก้ไข้เพื่อเสมหะ ขับลม ถ่ายโลหิตและน้ำเหลือง
สรรพคุณโกฐน้ำเต้าตามตำรับยาจีน
- โกฐน้ําเต้าผัดเหล้าช่วยขับพิษร้อนในเลือด โดยเฉพาะส่วนบนของร่างกายตั้งแต่ลิ้นปี่ขึ้นไป ได้ แก่ ปอด หัวใจ[3]
- โกฐน้ำเต้าถ่านช่วยระบายความร้อนในระบบโลหิต ช่วยเพิ่มการไหลเวียนของโลหิต และช่วยห้ามเลือด[3]
- โกฐน้ำเต้านึ่งเหล้าช่วยระบายความร้อนและขับสารพิษในร่างกาย และช่วยลดฤทธิ์ยาถ่ายของโกฐน้ำเต้าให้มีความรุนแรงน้อยลง[3]
- โกฐน้ำเต้าผัดน้ำส้มช่วยขับของเสียที่ตกค้างอยู่ภายในกระเพาะอาหารและลำไส้[3]
วิธีใช้โกฐน้ำเต้า
- หากเป็นเหง้าแห้ง ให้ใช้ครั้งละประมาณ 3-12 กรัม[1] (บ้างว่าใช้ในขนาด 3-30 กรัม[3]) นำมาต้มกับน้ำเป็นยาดื่ม แต่ถ้าเป็นเหง้าแบบที่บดเป็นผงมาแล้วให้ใช้ครั้งละประมาณ 1-1.5 กรัม[1]
ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของโกฐน้ำเต้า
- เหง้าของโกฐน้ำเต้าพบสาร Aloe-Emodin, Emodin, Chrysophanol, Rehein, Sennoside A, B, C (ซึ่งเป็นสารชนิดเดียวกันกับที่พบในมะขามแขก) และยาดำ ส่วนใบโกฐน้ำเต้าพบสาร Hyperoside เป็นต้น[1]
- โกฐน้ําเต้า มีสารในกลุ่มเอนทราควิโนน (สาร Sennosides และสาร Rheirpsides) ซึ่งเป็นสารที่ออกฤทธิ์โดยการกระตุ้นการบีบตัวของลำไส้และทำให้น้ำในลำไส้ใหญ่มีปริมาณเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากของเหลวได้ถูกดูดซึมเข้าสู่เยื่อเมือกของลำไส้ใหญ่ โดยสารในกลุ่มนี้จะใช้เวลาในการออกฤทธิ์ประมาณ 6-8 ชั่วโมง[1]
- โกฐน้ำเต้ามีสารแทนนิน (Tannin) ซึ่งเป็นสารที่มีฤทธิ์ฝาดสมาน ใช้ได้ทั้งการห้ามเลือดทั้งภายนอกและภายใน สามารถนำมาใช้เป็นยารักษาป้องกันการตกเลือด หรือการเกิดแผลในกระเพาะอาหาร และยังเหมาะสำหรับสตรีที่ประจำเดือนมาไม่เป็นปกติอีกด้วย[1]
- โกฐน้ำเต้ามีฤทธิ์ในการกระตุ้นการขับน้ำดี ลดความดันโลหิต ทำให้เกล็ดเลือดจับกันเป็นลิ่ม ช่วยลดคอเลสเตอรอลในหลอดเลือด ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการดูดซึมโลหิตของเส้นเลือดฝอย กระตุ้นไขกระดูกให้สร้างเม็ดโลหิตแดง และยังมีฤทธิ์ต้านเชื้อจุลินทรีย์ได้อีกหลายชนิด[1]
ข้อควรระวังและผลข้างเคียงในการใช้โกฐน้ำเต้า
- เนื่องจากโกฐน้ำเต้านั้นมีฤทธิ์เป็นยาถ่ายอย่างรุนแรง ดังนั้นในเวลาต้มให้ใส่ทีหลัง และหากจะนำไปนึ่งกับเหล้าก็จะช่วยทำให้ฤทธิ์เป็นยาถ่ายน้อยลง และจะช่วยปรับการหมุนเวียนของโลหิตให้ดีขึ้นด้วย[3]
- ห้ามใช้โกฐน้ําเต้าในผู้ป่วยที่มีอาการปวดเกร็งหรือมีอาการปวดเฉียบพลันในช่องท้อง ไตอักเสบ หรือมีอาการปวดท้อง คลื่นไส้อาเจียนโดยไม่ทราบสาเหตุ[3]
- การใช้โกฐน้ำเต้าในปริมาณเกินขนาดอาจทำให้มีอาการปวดเฉียบพลัน มีอาการมวนเกร็งในลำไส้ และอุจจาระเหลวเหมือนน้ำ ดังนั้นคุณควรเลือกใช้โกฐน้ำเต้าเฉพาะในเมื่อไม่สามารถแก้อาการท้องผูกได้ด้วยวิธีอื่นแล้วเท่านั้น เช่น การปรับเปลี่ยนโภชนาการหรือการใช้ยาระบายชนิดที่ช่วยเพิ่มเส้นใยอาหาร หากใช้วิธีอื่น ๆ แล้วอาการท้องผูกยังไม่ดีขึ้น ก็ขอให้ใช้เป็นโกฐน้ำเต้าเพื่อเป็นยาแก้ท้องผูกเป็นตัวเลือกสุดท้าย[3]
- ในกรณีที่ใช้โกฐน้ำเต้าแล้วมีอาการเลือดออกทางทวารหนัก หรือเมื่อใช้ในขนาดสูงแล้ว ลำไส้ยังไม่เกิดการเคลื่อนไหว อาจบ่งถึงภาวะรุนแรงที่อาจเกิดอันตรายได้[3]
- การใช้โกฐน้ำเต้าติดต่อกันเป็นระยะเวลานานเกินกว่าที่กำหนดอาจทำให้ลำไส้เกิดความเคยชินได้[3]
ประโยชน์ของโกฐน้ําเต้า
- ในต่างประเทศจะใช้ในส่วนของก้านใบนำมารับประทานเป็นผัก
คุณค่าทางโภชนาการของโกฐน้ำเต้าดิบ (ไม่ระบุว่าส่วนใด แต่เข้าใจว่าคือส่วนของก้านใบ) ต่อ 100 กรัม
- พลังงาน 88 กิโลแคลอรี
- คาร์โบไฮเดรต 4.54 กรัม
- น้ำตาล 1.1 กรัม
- เส้นใยอาหาร 1.8 กรัม
- ไขมัน 0.3 กรัม
- โปรตีน 0.8 กรัม
- วิตามินบี 1 0.02 มิลลิกรัม 2%
- วิตามินบี 2 0.03 มิลลิกรัม 3%
- วิตามินบี 3 0.3 มิลลิกรัม 2%
- วิตามินบี 5 0.085 มิลลิกรัม 2%
- วิตามินบี 6 0.024 มิลลิกรัม 2%
- วิตามินบี 9 7 ไมโครกรัม 2%
- โคลีน 6.1 มิลลิกรัม 1%
- วิตามินซี 8 มิลลิกรัม 10%
- วิตามินอี 0.27 มิลลิกรัม 2%
- วิตามินเค 29.3 ไมโครกรัม 28%
- ธาตุแคลเซียม 86 มิลลิกรัม 9%
- ธาตุเหล็ก 0.22 มิลลิกรัม 2%
- ธาตุแมกนีเซียม 12 มิลลิกรัม 3%
- ธาตุแมงกานีส 0.196 มิลลิกรัม 9%
- ธาตุฟอสฟอรัส 14 มิลลิกรัม 2
- ธาตุโพแทสเซียม 288 มิลลิกรัม 6%
- ธาตุโซเดียม 4 มิลลิกรัม 0%
- ธาตุสังกะสี 0.1 มิลลิกรัม 1%
% ร้อยละของปริมาณแนะนำที่ร่างกายต้องการในแต่ละวันสำหรับผู้ใหญ่ (แหล่งที่มา : USDA Nutrient database)
เอกสารอ้างอิง
- หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย-จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย. “โกฐน้ำเต้า”. (วิทยา บุญวรพัฒน์). หน้า 108.
- หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5. “โกฐน้ำเต้า”. (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม). หน้า 79-80.
- สถาบันการแพทย์ไทย-จีน เอเชียตะวันออกเฉียงใต้. “ตั่วอึ๊ง”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: tcm.dtam.moph.go.th. [05 ก.พ. 2014].
- มูลนิธิสุขภาพไทย. “เปิดผลงานวิจัยสมุนไพรไทย ชวนคนไทยเลิกพึ่งพาราเซลตามอล”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.thaihof.org. [05 ก.พ. 2014].
ภาพประกอบ : www.flickr.com (by vilb, Planting Designer-John Schoolmeesters, milenedekezel, vanaspati1, Aiko, Thomas & Juliette+Isaac, ksbuehler)
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)