10 สรรพคุณและประโยชน์ของต้นโกงกางใบเล็ก !

โกงกางใบเล็ก

โกงกางใบเล็ก ชื่อวิทยาศาสตร์ Rhizophora apiculata Blume (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Rhizophora candelaria DC.) จัดอยู่ในวงศ์โกงกาง (RHIZOPHORACEAE) เช่นเดียวกับโกงกางใบใหญ่[1],[2]

สมุนไพรโกงกางใบเล็ก มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า โกงกาง (ระนอง), พังกาทราย (กระบี่), พังกาใบเล็ก (พังงา), โกงกางใบเล็ก (ภาคกลาง) เป็นต้น[1],[2]

ต้นโกงกางใบเล็ก เป็นไม้ที่มักขึ้นในดินเลนค่อนข้างอ่อนและมีน้ำทะเลท่วมถึงแบบสม่ำเสมอ บริเวณชายฝั่ง ริมคลอง และริมแม่น้ำที่มีน้ำทะเลท่วมถึง และมักจะขึ้นอยู่ตามบริเวณด้านนอกของป่าชายเลน ซึ่งการกระจายพันธุ์ก็จะแตกต่างกันออกไปในแต่ละพื้นที่ เช่น ที่อำเภอคุระบุรี จังหวัดพังงา จะพบขึ้นกระจายทั่วไปถัดจากกลุ่มไม้ลำแพน ส่วนป่าชายเลนในท้องที่อำเภอเขาสมิง จังหวัดตราด มักจะพบขึ้นอยู่ลึกเข้าไปจากขอบป่าหลังเขตแนวของไม้แสมและไม้ลำพู เป็นต้น นอกจากนี้ยังสามารถพบต้นโกงกางใบเล็กได้ในบริเวณริมฝั่งของเขาหินปูน หิวควอร์ตไซต์ และเขาหินเชลอีกด้วย[1] โดยมีเขตการกระจายพันธุ์อยู่ในประเทศอินเดีย ศรีลังกา ทางเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และทางตอนเหนือของประเทศออสเตรเลีย[3]

ลักษณะของต้นโกงกางใบเล็ก

  • ต้นโกงกางใบเล็ก จัดเป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ มีความสูงประมาณ 20-30 เมตร ลำต้นแตกกิ่งก้านมาก เปลือกต้นเป็นสีเทาเกือบเรียบ เปลือกหนาประมาณ 1.5-3 เซนติเมตร เมื่อทุบทิ้งไว้สักครู่ด้านในของเปลือกจะเป็นสีแสดอมแดงไปจนถึงสีเลือดหมู ส่วนกระพี้เป็นสีเหลืองอ่อน แก่นเป็นสีน้ำตาลแดง เนื้อไม้มีลักษณะเป็นมันวาว เสี้ยนไม้ตรง มีรอยแตกตามแนวตั้งมากกว่าแนวนอน และนิยมขยายพันธุ์ด้วยวิธีการใช้ฝักโดยตรง ด้วยการเก็บฝักที่แก่และสมบูรณ์ หรือจะเก็บฝักที่ร่วงหล่นในน้ำ (ฝักสมบูรณ์จะลอยน้ำ) เมื่อเก็บมาแล้วก็ควรนำไปปลูกทันที เพราะหากเก็บไว้นานความสามารถในการงอกจะลดลงไปตามระยะเวลาที่เก็บ (เปลือกไม้มีสารแทนนินปริมาณมาก ประมาณ 7-27% ของน้ำหนักเปลือกไม้)[1]

ต้นโกงกางใบเล็ก

  • รากโกงกางใบเล็ก รากเป็นระบบรากแก้ว บริเวณโคนของลำต้นมีรากเสริมออกมาเหนือโคนต้นประมาณ 1-3 เมตร โดยรากที่โคนต้นหรือรากค้ำจุนลำต้นจะแตกแขนงไม่เป็นระเบียบ โดยมีหนึ่งหรือสองรากที่ทำมุมเกือบตั้งฉากกับลำต้นและหักเป็นมุมฉากลงดิน มีไว้เพื่อช่วยพยุงลำต้นให้ตั้งตรง[4]

รากโกงกางใบเล็ก

  • ใบโกงกางใบเล็ก ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงตรงข้ามกัน ใบแต่ละคู่จะออกแบบสลับทิศทางกัน ใบหนาเป็นมัน ลักษณะเป็นรูปมนค่อนไปทางรูปใบหอก ปลายใบแหลมหรือเป็นติ่งเล็กสีดำมองเห็นได้ชัดเจน ส่วนโคนใบสอบเข้าหากันคล้ายรูปลิ่ม ขอบใบเรียบ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 3-8 เซนติเมตรและยาวประมาณ 7-18 เซนติเมตรหรือเล็กกว่า ก้านใบยาวประมาณ 1.5-3 เซนติเมตร ส่วนหูใบเป็นสีแดงเข้ม ยาวประมาณ 4-8 เซนติเมตร หุ้มใบอ่อนไว้ ใบเกลี้ยงทั้งหน้าและหลังใบและมีจุดสีน้ำตาล[1]

ใบโกงกางใบเล็ก

  • ดอกโกงกางใบเล็ก ออกดอกเป็นช่อแบบ Cymes ในช่อหนึ่งจะมี 2 ดอกย่อยอยู่ชิดติดกัน แตกออกมาจากซอกใบบริเวณปลายกิ่ง ที่ฐานของดอกย่อยจะมีใบประดับเป็นรูปถ้วยรองรับอยู่ เมื่อแห้งจะมีลักษณะแข็ง โดยกลีบเลี้ยงจะมี 4 กลีบ เป็นสีเขียวอมเหลือง แข็งอวบ ยาวประมาณ 10-14 เซนติเมตร โดยโคนกลีบจะติดกัน ส่วนปลายกลีบแยกออกเป็นแฉก ๆ ลักษณะเป็นรูปไข่ ปลายกลีบแกลมและยังคงติดอยู่จนเป็นผล ส่วนกลีบดอกมี 4 กลีบ ลักษณะเป็นรูปใบหอกเป็นแผ่นบาง ๆ สีขาว มีความยาวประมาณ 8-11 มิลลิเมตร ไม่มีขนและร่วงเร็ว ดอกมีเกสรตัวผู้จำนวน 12 อัน ยาวประมาณ 0.6-0.75 เซนติเมตร โดยเกสรตัวผู้และเกสรตัวเมียจะอยู่ในดอกเดียวกัน ส่วนรังไข่เป็นแบบ Half-inferior มีอยู่ 2-3 ห้อง ซึ่งในแต่ละห้องจะมี 2 ออวุล โดยดอกโกงกางใบเล็กจะออกดอกในช่วงเดือนธันวาคมถึงเดือนมกราคม[1]

รูปโกงกางใบเล็ก

รูปดอกโกงกางใบเล็ก

ดอกโกงกางใบเล็ก

  • ผลโกงกางใบเล็ก ผลเป็นแบบ Drupebaceous ลักษณะของผลเป็นรูปทรงกลมคล้ายไข่ เมื่อผลแก่จะไม่แตก เปลือกของผลมีลักษณะหยาบสีน้ำตาล มีส่วนของกลีบเลี้ยงติดอยู่ ภายในหนึ่งผลจะมีเมล็ดอยู่ 1 เมล็ด โดยเมล็ดจะไม่มีการพักตัว และจะเจริญต่อไปในขณะที่ผลยังติดอยู่บนต้น ซึ่งเมล็ดจะงอกส่วนของ Radicle แทงทะลุออกมาทางส่วนปลายของผล ตามด้วยส่วนของต้นอ่อน โดยจะเจริญยาวออกมาเรื่อย ๆ มีลักษณะปลายแหลมยาว เป็นสีเขียว หรือที่เรียกโดยทั่วไปว่า “ฝักโกงกางใบเล็ก” โดยฝักจะยาวประมาณ 30-40 เซนติเมตร ซึ่งผลจะแก่ในช่วงเดือนพฤษภาคมจนถึงเดือนกรกฎาคม (มีรายงานว่าฝักของโกงกางจะแก่ไม่พร้อมกันทั่วประเทศ) และเมื่อผลแก่เอ็มบริโอจะหลุดออกจากเปลือกผลและปักลงดินเลนแล้วจะงอกทันที แต่ถ้าหล่นลงน้ำก็จะลอยไปตามน้ำและจะมีชีวิตอยู่ได้ประมาณ 2 เดือน เมื่อเกยตื้นและติดอยู่กับที่เมื่อไหร่ก็จะงอกทันที[1]

รูปผลโกงกางใบเล็กผลโกงกางใบเล็ก 

ฝักโกงกางใบเล็ก

รูปฝักโกงกางใบเล็ก

สรรพคุณของโกงกางใบเล็ก

  • ช่วยแก้อาการคลื่นเหียนอาเจียน ด้วยการใช้เปลือกนำมาต้มกับน้ำดื่ม (เปลือก)[4]
  • น้ำจากเปลือกใช้กินแก้อาการท้องร่วง ช่วยแก้บิด (น้ำจากเปลือก)[2] บ้างก็ว่าใช้ใบอ่อนรับประทานแก้ท้องร่วง (ใบอ่อน)[3]
  • น้ำจากเปลือกใช้ชะล้างแผลและใช้ห้ามเลือดได้ (น้ำจากเปลือก)[2] หรือจะนำเปลือกมาตำให้ละเอียด ใช้พอกห้ามเลือดจากบาดแผลสด หรือจะใช้ใบอ่อนนำมาเคี้ยวหรือบดให้ละเอียดก็ใช้พอกแผลสดเพื่อห้ามเลือดได้เช่นกัน อีกทั้งยังช่วยป้องกันเชื้อโรคได้ด้วย (ใบ, เปลือก)[4]

ประโยชน์ของต้นโกงกางใบเล็ก

  1. เนื้อไม้สามารถนำมาใช้ทำฟืนและถ่านที่มีคุณภาพดีได้ เนื่องจากเป็นไม้ที่ให้ความร้อนสูงและนาน (ให้ค่าความร้อนประมาณ 6,600-7,200 แคลอรี/กรัม) อีกทั้งยังมีขี้เถ้าน้อยและไม่เกิดสะเก็ดไฟเวลานำมาใช้ จึงเป็นที่นิยมของผู้ใช้โดยทั่วไป[1]
  2. เนื้อไม้โกงกางมีคุณสมบัติที่ดี มีลักษณะเปลาตรง มีความแข็งแรงและความเหนียว จึงสามารถนำมาแปรรูปเพื่อใช้ในงานก่อสร้างต่าง ๆ ทำกลอน หลังคาจาก รอด ตง อกไก่ของบ้าน หรือใช้สำหรับทำเสา ทำไม้เสาเข็ม หรือไม้สำหรับค้ำยัน ทำเป็นเครื่องมือเครื่องใช้ หรือใช้ทำเฟอร์นิเจอร์ก็ได้[1],[2]
  3. ฝักนำมาใช้ทำไวน์[4]
  4. เปลือกของต้นโกงกางใบเล็กและใบใหญ่เป็นแหล่งที่มีสารแทนนินและฟีนอลธรรมชาติที่มีราคาถูกที่สุด ซึ่งสารชนิดนี้สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้หลายอย่าง เช่น ทำสี ทำหมึก ยา ใช้ในการฟอกหนัง ใช้ทำกาวสำหรับติดไม้ ฯลฯ[1]
  5. เปลือกต้นให้น้ำฝาดประเภท Catechol ซึ่งให้สีน้ำตาลที่สามารถนำไปใช้ย้อมสีผ้า แห อวน เชือก หนัง ฯลฯ[2],[4]
  6. ป่าไม้โกงกางมีความสำคัญอย่างมากสำหรับสัตว์ทะเลจำพวก กุ้ง หอย ปู ปลา เพราะเป็นที่วางไข่และฟักตัวอ่อน เนื่องจากเป็นแหล่งที่มีสภาพสมดุลทางธรรมชาติสูงมาก
  7. ป่าไม้โกงกางมีประโยชน์อย่างมากในการช่วยป้องกันรักษาชายฝั่งทะเลจากการกัดเซาะของกระแสน้ำ และยังใช้เป็นแนวกำบังคลื่นลมที่เคลื่อนเข้ามาปะทะชายฝั่งได้อีกด้วย
เอกสารอ้างอิง
  1. สวนพฤกษศาสตร์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช.  “โกงกางใบเล็ก“.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.dnp.go.th.  [18 ธ.ค. 2013].
  2. ข้อมูลพรรณไม้ สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี.  “โกงกางใบเล็ก“.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.rspg.or.th/plants_data/.  [18 ธ.ค. 2013].
  3. ระบบจัดการฐานความรู้ด้านความหลากหลายทางชีวภาพ สำนักงานความหลากหลายทางชีวภาพด้านป่าไม้ กรมป่าไม้.  “โกงกางใบเล็ก“.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: biodiversity.forest.go.th.  [18 ธ.ค. 2013].
  4. โกงกางใบเล็ก“.  (วรรณี ทัฬหกิจ หัวหน้างานสิ่งแวดล้อม โรงเรียนท้ายหาด อ.เมืองฯ จ.สมุทรสงคราม).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.geocities.ws/Jukkrit_L.  [18 ธ.ค. 2013].

ภาพประกอบ : www.flickr.com (by Vietnam Plants & The USA. plants, Ahmad Fuad Morad, islandergirl23, wildsingapore, 呆鸟 Dai Jiao, Lauren Gutierrez, SierraSunrise, Shubhada Nikharge)

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด