แอสไพริน
แอสไพริน / กรดอะซิทิลซาลิไซลิก / อะซิทิลซาลิไซลิก แอซิด (Aspirin / Acetylsalicylic acid) หรือยาที่คนทั่วไปรู้จักกันในชื่อทางการค้าว่า ทัมใจ, บวดหาย, ประสะบอแรด, ปวดบูรา, อาซ่าแทป (Asatab), แอสเพนท์-เอ็ม (Aspent-M), แอสพิเลทส์ (Aspilets), เบบี้แอสไพริน (Baby Aspirin), บี-แอสไพริน 81 (B-Aspirin 81) เป็นยาในกลุ่มยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDs) และมีฤทธิ์แบบเดียวกับยาตัวอื่น ๆ ในกลุ่มเดียวกันนี้ โดยนิยมนำมาใช้เป็นยาลดไข้ แก้อาการปวด บรรเทาอาการอักเสบ และป้องกันภาวะแทรกซ้อนที่เกิดจากการอุดตันของหลอดเลือด เช่น เส้นเลือดสมองอุดตัน เส้นเลือดหัวใจอุดตัน และเส้นเลือดที่ขาอุดตัน เป็นต้น
ด้วยยาแอสไพรินเป็นยาที่มีข้อควรระวังในการใช้ ข้อห้ามใช้ และมีผลข้างเคียงค่อนข้างมาก การใช้ยานี้จะต้องใช้อย่างระมัดระวังและได้รับคำสั่งจากแพทย์เท่านั้น
ยาแอสไพรินสามารถดูดซึมได้ดีในระบบทางเดินอาหาร (หรือแม้แต่ดูดซึมเข้าทางผิวหนังโดยใช้ในรูปของยาทา) หลังการรับประทานยา ปริมาณยาในกระแสเลือดจะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วภายใน 1-2 ชั่วโมง และยาจะถูกทำลายที่ตับและถูกขับออกมาทางปัสสาวะ
ตัวอย่างยาแอสไพริน
ยาแอสไพริน (ชื่อสามัญ) มีชื่อทางการค้า เช่น เอ.เอส.เอ แคป (A.S.A Cap), เอ.เอส.เอ.-500 (A.S.A.-500), แอคโทริน (Actorin), อนาสซา (Anassa), อาร์ไพซิน (Arpisine), อาซ่าแทป (Asatab), แอสคอต (Ascot), แอสปาโก 300 (Aspaco 300), แอสเพนท์ (Aspent), แอสเพนท์-เอ็ม (Aspent-M), แอสพิเลทส์ (Aspilets), แอสพิแพค (Aspipac), แอสไพริน บีดี (Aspirin BD), แอสไพริน เอสเอสพี (Aspirin SSP), แอสไพริน 162 มก. (Aspirine 162 mg), แอสรินา (Asrina), บี-แอสไพริน 81 (B-Aspirin 81), เบบี้แอสไพริน (Baby Aspirin), เบเยอร์ แอสไพริน (Bayer Aspirin), บรรเทาปวด-บูรา (Buntaopoad-Bura), คาพาริน 100 (Caparin 100), เอมไพริน (Empirin), เอนทราริน (Entrarin), ไพริน (Pirin), เอส.พี. แท็ป (S.P. Tap), เซเฟริน-5 / เซเฟริน-10 (Seferin-5 / Seferin-10), ทัมใจ (ชื่อเดิม คือ ทันใจ), บวดหาย (ชื่อเดิม คือ ปวดหาย), บรรเทาปวดบูรา, ประสะบอแรด (ชื่อเดิม คือ ประสะนอแรด), เอเอ็นที, ยาแก้เด็กตัวร้อนตราหัวสิงห์, ไวคุลเด็ก ฯลฯ
รูปแบบยาแอสไพริน
- ยาเม็ด ขนาด 60, 80, 81, 125, 162, 162.5, 227.5, 300, 325, 500, 600, 650, 800, 975, 1,000 และ 1,200 มิลลิกรัม
- ยาผง ขนาด 650 มิลลิกรัม เช่น ยาทัมใจ
สรรพคุณของยาแอสไพริน
- ใช้เป็นยาลดไข้ แก้อาการตัวร้อน (Fever) ที่ไม่ได้มีสาเหตุมาจากโรคไข้เลือดออก อีสุกอีใส หรือไข้หวัดใหญ่[1],[2],[4]
- ใช้เป็นยาแก้อาการปวดทุกชนิด (Pain) เช่น ปวดศีรษะ ปวดตา ปวดหู ปวดกล้ามเนื้อ ปวดหลัง ปวดข้อ ปวดประจำเดือน ปวดแผล เป็นต้น[1],[2]
- ใช้เป็นยาบรรเทาอาการเจ็บปวดบวมจากภาวะการอักเสบของข้อ เช่น โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ (Rheumatoid arthritis), โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ในเด็ก (Juvenile rheumatoid arthritis), โรคข้อเสื่อม (Osteoarthritis), โรคข้อสันหลังอักเสบยึดติด (Ankylosing spondylitis), ข้ออักเสบจากโรคแพ้ภูมิตัวเอง (SLE) เป็นต้น[2],[4]
- ใช้รักษาโรคไข้รูมาติก (Rheumatic fever)[2]
- ใช้รักษาโรคคาวาซากิในเด็ก (Kawasaki disease)[2]
- ด้วยยาแอสไพรินมีฤทธิ์ต้านการเกาะกลุ่มกันของเกล็ดเลือด จึงมีการนำมาใช้เพื่อลดภาวะการอุดตันของหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงสมองและหัวใจ (โรคหลอดเลือดสมองและโรคหลอดเลือดหัวใจ) โดยใช้ในช่วงแรกของการเกิดการอุดตันของหลอดเลือด และการใช้อย่างต่อเนื่องเพื่อป้องกันการเกิดการอุดตันของหลอดเลือด เช่น ใช้ป้องกันโรคหลอดเลือดสมองตีบตัน (Thrombosis stroke), ใช้รักษาและป้องกันโรคสมองขาดเลือด (Ischemic stroke), ใช้รักษาและป้องกันโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด (Angina pectoris), ใช้รักษาและป้องกันโรคกล้ามเนื้อหัวใจตาย (Myocardial infarction)[1],[2],[6]
- ยานี้อาจมีประโยชน์ในการใช้ป้องกันโรคสมองเสื่อมในผู้สูงอายุ และป้องกันโรคมะเร็งได้ โดยเฉพาะโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ มะเร็งหลอดอาหาร มะเร็งเต้านม และมะเร็งรังไข่ แต่อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องรอการศึกษาวิจัยเพิ่มเติมอีกสักระยะหนึ่งจนกว่าจะแน่ใจก่อน[7]
- ยานี้อาจใช้เพื่อรักษาโรคหรืออาการอื่น ๆ นอกจากที่กล่าวมาได้ หากมีข้อสงสัยให้สอบถามแพทย์หรือเภสัชกร[4]
กลไกการออกฤทธิ์ของยาแอสไพริน
ยาแอสไพรินจะมีกลไกการออกฤทธิ์โดยการไปยับยั้งเอนไซม์ในร่างกายที่ทำให้เกิดสารอักเสบที่มีชื่อว่าไซโคลออกซีเจเนส (Cyclooxygenase) หรือเรียกย่อ ๆ ว่า ค็อกซ์ (COX) นอกจากนี้ เอนไซม์ค็อกซ์ (COX enzyme) ยังไปกระตุ้นการสร้างสารที่ทำให้เกิดการเกาะกลุ่มของเกล็ดเลือดที่มีชื่อว่า ทร็อมบ็อกเซน-เอทู (Thromboxane-A2) ดังนั้น ผลที่ได้จากการใช้ยาแอสไพริน นอกจากจะช่วยบรรเทาอาการอักเสบแล้ว ยังทำให้เกล็ดเลือดเกาะกลุ่มกันได้ยากมากขึ้นอีกด้วย ซึ่งขนาดยาที่สูงของแอสไพริน (ครั้งละ 375-650 มิลลิกรัม) จะได้ผลดีในการบรรเทาอาการปวดและอักเสบ ส่วนขนาดยาที่ต่ำของแอสไพริน (วันละ 75-150 มิลลิกรัม) จะได้ผลดีในแง่ฤทธิ์การต้านเกล็ดเลือด
ก่อนใช้ยาแอสไพริน
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมถึงยาแอสไพริน สิ่งที่ควรแจ้งให้แพทย์หรือเภสัชกรทราบมีดังนี้
- ประวัติการแพ้ยาทุกชนิด โดยเฉพาะยาแอสไพริน (Aspirin) และยากลุ่มต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDs) ตัวอื่น เช่น ไดโคลฟีแนค (Diclofenac), ไอบูโพรเฟน (Ibuprofen), อินโดเมทาซิน (Indomethacin) เป็นต้น รวมทั้งอาการจากการแพ้ยาดังกล่าว เช่น รับประทานยาแล้วคลื่นไส้มาก หรือแน่น หายใจติดขัด/หายใจลำบาก เป็นต้น
- โรคประจำตัว อาการ หรือโรคที่เคยเป็นมาในอดีต โดยเฉพาะโรคกระเพาะหรือแผลในกระเพาะอาหาร, โรคลำไส้ใหญ่อักเสบแบบมีแผลเปื่อย (Ulcerative colitis), โรคโครห์น (Crohn’s disease), โรคเลือดไหลไม่หยุดหรือเลือดออกง่าย, โรคความดันโลหิตสูง, โรคหอบหืดหรือโรคภูมิแพ้, โรคตับ, โรคไต, นิ่วในไต, โรคแพ้ภูมิตัวเอง (SLE) หรือมีปัญเรื่องโรคหลอดเลือดหรือโรคหัวใจ เป็นต้น และยาที่แพทย์สั่งจ่ายและยาที่ใช้เอง รวมถึงอาหารเสริม วิตามิน และยาสมุนไพรต่าง ๆ ที่กำลังใช้อยู่หรือกำลังจะใช้ เพราะยาแอสไพรินอาจส่งผลให้อาการของโรคที่เป็นอยู่รุนแรงขึ้น หรือเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่น ๆ และ/หรืออาหารเสริมอื่น ๆ ที่รับประทานอยู่ก่อนได้ (ในบางกรณีจะไม่สามารถใช้ยาที่มีปฏิกิริยาต่อกันระหว่างยาร่วมกันได้เลย แต่บางกรณีก็อาจจำเป็นต้องใช้ยา 2 ชนิดนั้นร่วมกัน ถึงแม้ว่าจะมีปฏิกิริยาต่อกันระหว่างยาเกิดขึ้นได้ก็ตาม ซึ่งในกรณีนี้แพทย์จะปรับเปลี่ยนขนาดยาหรือเพิ่มความระมัดระวังในการใช้ให้มากขึ้น) เช่น
- การรับประทานยาแอสไพรินร่วมกับยาเม็ดรักษาเบาหวาน และยาต้านการแข็งตัวของเลือด (Anticoagulants) เช่น เฮพาริน (Heparin), วาร์ฟาริน (Warfarin) อาจเสริมฤทธิ์ทำให้ยาเหล่านี้ออกฤทธิ์แรงขึ้นจนเป็นอันตรายได้ เช่น เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ ภาวะเลือดออก เป็นต้น
- การรับประทานยาแอสไพรินร่วมกับยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDs), สเตียรอยด์ (Steroid) และแอลกอฮอล์ อาจเสริมฤทธิ์ทำให้เกิดการระคายเคืองต่อกระเพาะอาหารมากยิ่งขึ้น
- การรับประทานยาแอสไพรินร่วมกับยาปิดกั้นบีตา, ยาต้านขับกรดยูริก เช่น โพรเบเนซิด (Probenecid) จะทำให้การใช้ยาดังกล่าวได้ผลน้อยลง
- การรับประทานยาแอสไพรินร่วมกับยาต้านการอักเสบบางกลุ่ม (เช่น ยากลุ่มสเตียรอยด์ (Steroid)), ยาที่มีฤทธิ์เป็นด่าง (เช่น กลุ่มยาลดกรดในกระเพาะอาหาร), ยาที่ใช้ดูดซับพิษในกระเพาะลำไส้ (เช่น ถ่านกัมมันต์ (Activated charcoal)) อาจทำให้การดูดซึมของยาแอสไพรินเข้าสู่ร่างกายลดลง จึงควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
- เป็นผู้ที่มีอายุน้อยกว่า 18 ปี หรือมากกว่า 65 ปี
- หากเป็นสุภาพสตรี ควรแจ้งว่ามีการตั้งครรภ์ หรือกำลังวางแผนในการตั้งครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายชนิดสามารถผ่านทางรกหรือน้ำนมและเข้าสู่ทารกจนอาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงต่อทารกได้
ข้อห้าม/ข้อควรระวังในการใช้ยาแอสไพริน
- ห้ามใช้ยานี้ในผู้ที่มีประวัติการแพ้ยาแอสไพริน (Aspirin) และยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDs)
- ห้ามใช้ยานี้ในผู้ป่วยโรคแผลเพ็ปติก (แผลในกระเพาะอาหารและลำไส้เล็กส่วนต้น) หรือเคยมีประวัติเลือดออกในกระเพาะอาหาร (อาเจียนเป็นเลือดหรือถ่ายดำ) เนื่องจากการใช้ยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ ซึ่งรวมถึงยาแอสไพรินด้วย
- ห้ามใช้ยานี้ในผู้ป่วยโรคหืด ลมพิษ หวัดภูมิแพ้ ที่เคยมีอาการกำเริบจากการใช้ยาแอสไพริน หรือยาในกลุ่มต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์
- ห้ามใช้ยานี้ในผู้ป่วยที่มีภาวะเลือดออกง่ายหรือผู้ป่วยที่สงสัยว่ามีความเสี่ยงต่อภาวะเลือดออก เช่น โรคไข้เลือดออก โรคเลือดต่าง ๆ (เช่น โรคไอทีพี (ITP), โรคฮีโมฟีเลีย (Hemoplilia) เป็นต้น) รวมถึงผู้ที่อยู่ในภาวะตกเลือด ผู้ที่มีบาดแผลหรือหลังผ่าตัดหรือถอนฟัน เพราะยาแอสไพรินมีฤทธิ์ยับยั้งการจับตัวของเกล็ดเลือด (Platelet aggregation) จึงทำให้เลือดออกง่าย (แต่ในขณะเดียวกันก็มีการนำฤทธิ์ของยาดังกล่าวมาใช้ป้องกันการเกิดลิ่มเลือดในหลอดเลือดสมองและหัวใจได้ด้วย แต่สำหรับผู้ที่มีความดันโลหิตสูง ก่อนจะให้ยานี้แพทย์จะคอยควบคุมความดันให้เป็นปกติตามเป้าหมายเสียก่อน เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดภาวะเลือดออกในสมองได้)
- ห้ามใช้ยานี้ในผู้ป่วยโรคเกาต์ (Gout) เนื่องจากอาจทำให้กรดยูริกในเลือดสูงและโรคเกาต์กำเริบได้
- ห้ามใช้ยานี้ในผู้ป่วยที่มีประวัติซีดเหลืองบ่อยจากภาวะพร่องเอนไซม์จีซิกส์พีดี (G-6-PD) เพราะจะทำให้เกิดภาวะเม็ดเลือดแตก (มีอาการซีดเหลือง) ได้
- ห้ามใช้ยานี้ในหญิงตั้งครรภ์ไตรมาสที่ 3 โดยเฉพาะในช่วง 1-2 สัปดาห์ก่อนคลอด เพราะจะทำให้คลอดบุตรยาก ตกเลือดได้ง่าย และอาจทำให้ทารกมีภาวะเลือดออกง่าย
- ห้ามใช้ยานี้ในหญิงให้นมบุตร เพราะยาสามารถถูกขับออกมากับน้ำนมและส่งผลให้เกิดภาวะเลือดออกในทารกได้
- ห้ามใช้ยานี้กับเด็กทารกหรือเด็กอายุต่ำกว่า 1 ปี เพราะอาจทำให้เลือดออกได้ง่าย
- ห้ามใช้ยานี้ในเด็กอายุต่ำกว่า 12-19 ปี (แล้วแต่แหล่งอ้างอิง) ที่เป็นโรคติดเชื้อไวรัส เช่น ไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ คางทูม หัด อีสุกอีใส เป็นต้น เพราะอาจทำให้เป็นโรคเรย์ซินโดรม (Reye’s syndrome) ซึ่งเป็นภาวะที่มีอันตรายร้ายแรงถึงตายได้ โดยจะทำให้เกิดอาการของตับอักเสบและสมองอักเสบ (ในกรณีนี้ควรเลือกใช้ยาลดไข้ที่เป็นตัวยาพาราเซตามอล (Paracetamol) ซึ่งมีประสิทธิภาพในการลดไข้ใกล้เคียงกับยาแอสไพริน หรือยาตัวอื่นในกลุ่มเดียวกันแทน เช่น ไอบูโพรเฟน (Ibuprofen), นาพรอกเซน (Naproxen) เป็นต้น)[1],[6],[7]
- บางข้อมูลระบุว่า ไม่ควรใช้ยานี้กับเด็กอายุน้อยกว่า 16 ปี[5]
- ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยานี้ร่วมกับยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDs), สเตียรอยด์ (Steroid) และเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ เพราะจะเสริมฤทธิ์กันทำให้เกิดการระคายเคืองต่อกระเพาะอาหารมากยิ่งขึ้น
- ควรระมัดระวังการใช้ยานี้ในผู้ที่มีภาวะเกล็ดเลือดต่ำ ผู้ป่วยโรคไตชนิดไตวายเรื้อรัง (Chronic Renal Insufficiency) และผู้ป่วยด้วยโรคตับ
- ผู้ป่วยบางรายที่ใช้ยานี้อาจไวต่อแสงมากกว่าปกติ เพราะฉะนั้นจึงควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสแสงแดดโดยตรง โดยเฉพาะแสงแดดในช่วงเวลา 10.00-15.00 น. สวมเสื้อผ้าปกปิดผิวหนัง และหมั่นทาครีมกันแดดเป็นประจำ โดยเฉพาะในรายที่มีผิวบอบบาง[5]
วิธีใช้ยาแอสไพริน
- สำหรับโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ (Rheumatoid arthritis), โรคข้อเสื่อม (Osteoarthritis), โรคข้อสันหลังอักเสบยึดติด (Ankylosing spondylitis) และข้ออักเสบจากโรคแพ้ภูมิตัวเอง (SLE) ในผู้ใหญ่ให้รับประทานยาวันละ 3,000 มิลลิกรัม โดยแบ่งให้วันละ 3-4 ครั้ง หลังอาหารและก่อนนอน[2]
- สำหรับโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ในเด็ก (Juvenile rheumatoid arthritis) ในเด็กอายุ 12 ขึ้นไป หรือมีน้ำหนักตัวมากกว่า 25 กิโลกรัม เริ่มแรกให้รับประทานยาวันละ 2,400-3,600 มิลลิกรัม โดยแบ่งให้วันละ 4 ครั้ง แล้วตามด้วย Maintenance dose ในขนาดวันละ 3,600-5,400 มิลลิกรัม ส่วนในเด็กอายุ 2-11 ปี หรือมีน้ำหนักตัวน้อยกว่าหรือเท่ากับ 25 กิโลกรัม ให้รับประทานยาวันละ 60-90 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม โดยแบ่งให้วันละ 4 ครั้ง แล้วตามด้วย Maintenance dose ในขนาดวันละ 80-100 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม (สูงสุดไม่เกินวันละ 5,400 มิลลิกรัม) โดยแบ่งให้วันละ 4 ครั้ง[2]
- สำหรับลดไข้ (Fever) และแก้อาการปวด (Pain) ในผู้ใหญ่และเด็กอายุ 12 ปีขึ้นไป ให้รับประทานยาครั้งละ 325-650 มิลลิกรัม และซ้ำได้ทุก 4 ชั่วโมงเมื่อมีอาการ ส่วนในเด็กอายุ 2-11 ปี ให้รับประทานยาครั้งละ 10-15 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม และซ้ำได้ทุก 4-6 ชั่วโมงเมื่อมีอาการ (ทั้งหมดนี้สูงสุดไม่เกินวันละ 4,000 มิลลิกรัม) และให้หยุดใช้ยาเมื่ออาการทุเลาแล้ว[2]
- บางข้อมูลระบุว่า ไม่แนะนำให้ใช้ยานี้เป็นยาลดไข้ในเด็กอายุต่ำกว่า 12-19 ปี แต่แนะนำให้ใช้ยาพาราเซตามอลแทน[1],[7]
- บางการศึกษาระบุว่า ควรเริ่มต้นด้วยขนาดยา 600-650 มิลลิกรัมขึ้นไปในการใช้เพื่อแก้อาการปวดปานกลางถึงรุนแรง และขนาด 500-1,000 มิลลิกรัมในการใช้เพื่อลดไข้[6]
- ในปัจจุบันแพทย์จะแนะนำให้ใช้ยาพาราเซตามอลเพื่อแก้ปวดลดไข้แทนยาแอสไพริน ด้วยเหตุผลว่า ยาแอสไพรินมีผลข้างเคียงทำให้เกิดโรคกระเพาะได้ง่าย เพราะมีฤทธิ์ระคายเคืองต่อกระเพาะอาหาร ในขณะที่ยาพาราเซตามอลก็มีสรรพคุณในการแก้ปวดลดไข้ได้ดีพอ ๆ กัน และไม่ทำให้เป็นโรคกระเพาะแทรกซ้อน นอกจากนี้ยาแอสไพรินก็ยังทำให้เกิดอาการแพ้ยา เป็นลมพิษ ผื่นคัน หรือหอบหืดได้ด้วย ในขณะที่ยาพาราเซตามอลมีโอกาสแพ้ได้น้อยกว่ากันมาก[7]
- สำหรับไข้รูมาติก (Rheumatic fever) ในผู้ใหญ่ให้รับประทานยาวันละ 80 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ถึงวันละ 6,500 มิลลิกรัม โดยแบ่งให้วันละ 4 ครั้ง ส่วนในเด็กให้รับประทานยาวันละ 90-130 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ถึงวันละ 6,500 มิลลิกรัม โดยแบ่งให้วันละ 4 ครั้งเช่นกัน[2]
- สำหรับโรคคาวาซากิในเด็ก (Kawasaki disease) การรักษาในช่วงเฉียบพลัน เริ่มแรกให้รับประทานยาวันละ 80-100 มิลลิกรัม โดยแบ่งให้วันละ 4 ครั้ง (จนกว่าไข้จะลดลงอย่างน้อย 48 ชั่วโมง) แล้วตามด้วยการรักษาในช่วงไม่เฉียบพลันและต่อเนื่อง (Maintenance dose) ให้รับประทานยาวันละ 3,000-5,000 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม หลังไข้ลดลงนานประมาณ 6-8 สัปดาห์[2]
- สำหรับรักษาโรคกล้ามเนื้อหัวใจตาย (Myocardial infarction) ในผู้ใหญ่ให้รับประทานยาวันละ 160-162.5 มิลลิกรัม ติดต่อกันเป็นเวลา 30 วัน[2]
- สำหรับรักษาโรคสมองขาดเลือด (Ischemic stroke) ในผู้ใหญ่ให้รับประทานยาวันละ 50-325 มิลลิกรัม[2]
- สำหรับรักษาโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด (Angina pectoris) ในผู้ใหญ่ให้รับประทานยาวันละ 75-325 มิลลิกรัม[2]
- สำหรับป้องกันโรคสมองขาดเลือด (Ischemic stroke), ป้องกันโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด (Angina pectoris), ป้องกันโรคหลอดเลือดสมองตีบตัน (Thrombosis stroke) และป้องกันโรคกล้ามเนื้อหัวใจตาย (Myocardial infarction) ในผู้ใหญ่ให้รับประทานยาครั้งละ 75-325 มิลลิกรัม วันละ 1 ครั้ง หลังอาหารเช้าเป็นประจำทุกวันตลอดไป (ในกรณีที่ไม่มียาแอสไพรินขนาด 75 มิลลิกรัม ให้ใช้ยาแอสไพรินขนาด 81 มิลลิกรัม 1 เม็ด แทนก็ได้)[1],[2],[7]
- บางข้อมูลระบุว่าการใช้ยาแอสไพรินเพื่อรักษาภาวะหลอดเลือดอุดตัน (ทั้งหลอดเลือดสมองและหลอดเลือดหัวใจ) ถ้าผู้ป่วยไม่เคยรับประทานยาแอสไพรินมาก่อน ในวันแรกที่มีอาการแพทย์จะแนะนำให้ผู้ป่วยเคี้ยวยาแอสไพรินในขนาด 300-325 มิลลิกรัม เพื่อให้ระดับยาในเลือดมากพอและเกิดการยับยั้งการเกาะกลุ่มกันของเกล็ดเลือดอย่างรวดเร็วเพื่อป้องกันการเกิดการอุดตันของหลอดเลือดซ้ำอีก หลังจากนั้นแพทย์จะให้ลดขนาดยาลงเหลือวันละ 75 หรือ 81 มิลลิกรัม และรับประทานยาไปตามปกติหลังอาหารทันทีและกลืนยาทั้งหมด โดยผู้ป่วยจะต้องรับประทานยาแอสไพรินในขนาดต่ำนี้อย่างต่อเนื่องไปตลอดเพื่อป้องกันการกลับมาเป็นซ้ำของภาวะหลอดเลือดอุดตัน[6]
คำแนะนำในการใช้ยาแอสไพริน
- ควรรับประทานยาหลังอาหารทันที (หรือพร้อมนม) โดยห้ามบดหรือเคี้ยวเม็ดยา ร่วมกับการดื่มน้ำสะอาดตาม 1 แก้ว เพื่อเพิ่มการดูดซึมยาให้เร็วขึ้น และไม่ก่อให้เกิดการระคายเคืองต่อกระเพาะอาหาร
- ให้รับประทานยาอย่างสม่ำเสมอและรับประทานยาในเวลาเดียวกัน
- การใช้ยานี้ในเด็กอายุต่ำกว่า 12 ปี จะต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์เท่านั้น
- หากจะรับประทานยานี้พร้อมกับยาลดกรด ให้รับประทานยาห่างกันอย่างน้อย 2 ชั่วโมง
- หากต้องเข้ารับการผ่าตัดหรือถอนฟัน ต้องแจ้งให้แพทย์หรือทันตแพทย์ทราบก่อนทำการรักษาว่า กำลังใช้ยาแอสไพรินอยู่ และควรหยุดใช้ยานี้เป็นเวลาอย่างน้อย 7 วัน ก่อนเข้ารับการผ่าตัดหรือถอนฟัน
- สิ่งที่ควรระวังของการใช้ยาแอสไพรินเพื่อลดไข้ คือ หากผู้ป่วยกำลังเป็นโรคไข้เลือดออก ยานี้จะทำให้อาการเลือดออกผิดปกติเกิดได้ง่ายมากขึ้น ผู้ป่วยจึงควรสังเกตอาการหลังการใช้ยานี้อย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะจุดจ้ำเลือดที่ขึ้นตามผิวหนัง หากพบความผิดปกติดังกล่าว ควรหยุดใช้ยาและรีบไปพบแพทย์ทันที
- หากมีไข้นานเกิน 3 วัน หรืออาการปวดยังไม่ทุเลาเกิน 10 วัน ควรรีบไปพบแพทย์
- หากเกิดอาการดังต่อไปนี้ให้หยุดใช้ยาและรีบไปพบแพทย์ทันที เช่น อาเจียนเป็นเลือดหรือถ่ายอุจจาระดำ มีผื่นคัน แน่นหน้าอก หอบเหนื่อย หน้าและหนังตาบวม หอบหืดกำเริบ
- หากรับประทานยานี้ครั้งละมาก ๆ อาจเกิดพิษต่อร่างกายจนเป็นอันตรายได้ ถ้าพบคนที่รับประทานยานี้ในขนาดมาก ๆ ต้องรีบนำส่งโรงพยาบาลโดยด่วน
การเก็บรักษายาแอสไพริน
- ควรเก็บยานี้ในภาชนะบรรจุเดิมที่บรรจุมา ปิดให้สนิท และเก็บยาให้พ้นมือเด็กเสมอ
- ควรเก็บยานี้ที่อุณหภูมิห้อง เก็บยาให้พ้นแสงแดดและความร้อน ไม่ให้อยู่ในที่มีอุณหภูมิร้อนมากกว่า 30 องศาเซลเซียส และไม่เก็บยาในบริเวณที่เปียกหรือชื้น (เช่น ในห้องน้ำ) เพราะความร้อนหรือความชื้นอาจเป็นสาเหตุทำให้ยาเสื่อมคุณภาพได้
- ให้ทิ้งยาที่หมดอายุหรือเสื่อมสภาพแล้ว (เช่น ยามีกลิ่นเหม็นเปรี้ยว)
เมื่อลืมรับประทานยาแอสไพริน
หากลืมรับประทานยาแอสไพริน ให้รับประทานยาในทันทีที่นึกขึ้นได้ แต่ถ้าเป็นเวลาที่ใกล้เคียงกับมื้อต่อไป ให้ข้ามไปรับประทานยามื้อต่อไปได้เลย โดยไม่ต้องเพิ่มขนาดยาเป็น 2 เท่าหรือมากกว่าปกติ
ผลข้างเคียงของยาแอสไพริน
- ผลข้างเคียงของยาแอสไพรินที่พบบ่อย คือ คลื่นไส้อาเจียน ระคายเคืองต่อกระเพาะอาหาร ทำให้เกิดโรคแผลเพ็ปติก (แผลในกระเพาะอาหารและลำไส้เล็กส่วนต้น) กระเพาะอาหารอักเสบ ถ้ารุนแรงอาจทำให้กระเพาะอาหารทะลุ อาเจียนเป็นเลือดหรือถ่ายดำได้ (ผลข้างเคียงนี้จะพบบ่อยขึ้นในผู้ใช้ยาที่มีอายุมาก)
- ผลข้างเคียงอื่น ๆ ที่อาจพบได้ คือ รู้สึกไม่สบายในระบบทางเดินอาหาร เกิดภาวะกรดไหลย้อน ปวดแสบยอดอก อาหารไม่ย่อย จุกเสียดท้อง ปวดท้อง เบื่ออาหาร ตับอักเสบ มีไข้ ตัวเหลืองตาเหลือง เป็นต้น[3],[5]
- อาจทำให้โรคภูมิแพ้ เช่น ลมพิษ หวัดภูมิแพ้ กำเริบได้
- อาจทำให้เกิดอาการแพ้ มีอาการเป็นลมพิษ ผื่นคัน บวมที่ตา ใบหน้า ริมฝีปาก ลิ้น หรือช่องคอ หายใจลำบาก หอบหืด หรือภาวะช็อกจากการแพ้ (Anaphylactic shock)[1],[4]
- อาจทำให้เกิดภาวะช็อกจากปฏิกิริยาอะนาไฟแล็กทอยด์ (Anaphylactoid reaction) ในผู้ที่ใช้ยานี้เป็นครั้งแรก
- การใช้ยากลุ่มเอ็นเสด (NSAIDs) ซึ่งรวมถึงยาแอสไพริน (Aspirin) จะเป็นการเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด และโรคหลอดเลือดสมอง ซึ่งความเสี่ยงนี้จะเพิ่มขึ้นเมื่อใช้ยาเป็นเวลานาน และยังมีปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดอีกด้วย
- ถ้าใช้ยาในขนาดสูง อาจทำให้เกิดอาการหูอื้อ มีเสียงดังในหูได้
- ถ้ารับประทานยานี้เกินขนาดมาก ๆ เช่น เด็ก 4 กรัม ผู้ใหญ่ 20-25 กรัม อาจทำให้เกิดพิษต่อร่างกาย เกิดภาวะเลือดเป็นกรด (Acidosis) และเป็นอันตรายได้
ยาแอสไพรินเป็นยาที่มีประสิทธิภาพดี แต่ก็มีรายละเอียดการใช้ยาในขนาดของยาที่ใช้ วิธีการรับประทานยา และข้อควรระวังในการใช้ยาที่แตกต่างกันไป หากผู้ใช้ยานี้มีความเข้าใจเกี่ยวกับยาและใช้ยาอย่างถูกต้องก็จะช่วยให้เกิดประสิทธิภาพที่ดีในการรักษาและช่วยลดผลข้างเคียงจากการใช้ยาลงได้
ยาแอสไพรินรักษาสิว
สาเหตุของการเกิดสิวส่วนใหญ่แล้วจะมีอยู่ด้วยกัน 2-3 อย่าง คือ การติดเชื้อ (โดยเฉพาะเชื้อ P.acne) รูขุมขนอุดตัน และฮอร์โมน ซึ่งถ้าไปรักษาสิวตามคลินิกความงาม เราก็มักจะได้ยา 3-4 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มยาฆ่าเชื้อ เช่น ยาทาคลินดามัยซิน (Clindamycin) ยารับประทานดอกซีไซคลิน (Doxycycline) เป็นต้น, กลุ่มยาผลัดเซลล์ผิวหนัง เช่น เรตินเอ (Retin A) เพื่อเร่งให้เซลล์เก่าถูกผลัดออกและให้เซลล์ใหม่ขึ้นมาแทน, กลุ่มยาผลัดเซลล์ผิวเก่า (แก้รูขุมขนอุดตัน โดยป้องกันเซลล์ที่ตายไปอุดตันรูขุมขน) เช่น เบนโซอิลเปอร์ออกไซด์ (Benzoyl peroxide) เอเอชเอ (AHA) บีเอชเอ (BHA) เป็นต้น และกลุ่มยาฮอร์โมน เช่น ยาเม็ดคุมกำเนิด
สำหรับยาแอสไพรินนั้นก็เป็นกรดซาลิซิลิก (Salicylic acid) ซึ่งจัดอยู่ในกลุ่มยาผลัดเซลล์ผิวเก่าจำพวกบีเอชเอ (BHA) นั่นเอง ยานี้จึงสามารถนำมาใช้รักษาสิวที่เกิดจากการอุดตันได้ และด้วยตัวยาแอสไพรินนั้นมีคุณสมบัติลดการอักเสบด้วย การนำมาใช้พอกหรือมาส์กหน้าจึงไม่ค่อยรู้สึกว่ากัดหรือระคายเคืองมากนักเหมือนกับเอเอชเอ (AHA) โดยสูตรที่นิยมนำมาใช้พอกหน้ารักษาสิวนั้นจะมีสิ่งที่ต้องเตรียมและวิธีการดังนี้
- ให้เตรียมยาแอสไพรินขนาด 500 มิลลิกรัม 4-5 เม็ด, น้ำอุ่น 1-2 ช้อนโต๊ะ และน้ำผึ้งหรือโยเกิร์ตรสธรรมชาติ (ส่วนนี้จะใส่หรือไม่ก็ได้)
- ให้ผสมยาแอสไพรินกับน้ำอุ่นให้พอมีเนื้อข้น ๆ (ถ้าอยากได้มาส์กเนื้อหนากว่านี้ให้เติมน้ำผึ้งลงไป 1-2 หยด หรือถ้าอยากได้มาส์กหน้าที่ช่วยเยียวยาผิวหน้าให้ดีขึ้นก็ให้เติมโยเกิร์ตลงไปเล็กน้อย)
- จากนั้นให้ทาส่วนผสมลงไปบนใบหน้าบาง ๆ ทิ้งไว้ให้แห้งประมาณ 5 นาที แล้วให้ถูส่วนผสมที่ทาลงไปนั้นออกจากใบหน้าโดยใช้นิ้วถูเบา ๆ เป็นวงกลม เพื่อเป็นการช่วยผลัดเซลล์ผิวเก่า และให้ล้างออกเป็นอันเสร็จ (โดยทั่วไปแนะนำให้ทำอาทิตย์ละ 2 ครั้ง สำหรับผู้ที่ผิวแพ้ง่าย ควรลองทาบริเวณท้องแขนก่อนทาลงบนใบหน้า)
อย่างไรก็ตาม แม้ยาแอสไพรินจะใช้รักษาสิวที่เกิดจากการอุดตันได้จริง (ในการใช้ช่วงแรกอาจได้ผลดี แต่หลังจากพอใช้ไปเรื่อย ๆ จนเซลล์ผิวเก่าถูกผลัดออกไปหมดแล้วจะรู้สึกไม่ต่างจากเดิมมากนัก) แต่ถ้าใช้ติดต่อกันเป็นเวลานาน หรือทายาทิ้งไว้นานเกินไป หรือผสมผิดสูตรจนยาเข้มข้นเกินไป ตัวยาอาจจะกัดหน้าและอาจรุนแรงถึงขั้นเป็นรอยด่างขาว (Vitiligo) ได้ ซึ่งปัญหานี้จะไม่ค่อยพบกับเครื่องสำอางหรือยารักษาสิวสำเร็จรูป เพราะว่าส่วนผสมจะค่อนข้างแน่นอนและมีความเข้มข้นไม่สูงมากนัก
หมายเหตุ : มาส์กแอสไพรินนอกจากจะช่วยลดการเกิดสิวอุดตันได้แล้ว ยังช่วยกระชับรูขุมขน ลดการอักเสบของสิวอักเสบ ช่วยทำให้ความมันบนใบหน้าลดลง และช่วยทำให้หน้าขาวใสขึ้นได้ด้วย
เอกสารอ้างอิง
- หนังสือตำราการตรวจรักษาโรคทั่วไป 1. “แอสไพริน (Aspirin/Salicylate)”. (นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ). หน้า 225-226.
- Drugs.com. “Aspirin”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.drugs.com. [04 พ.ย. 2016].
- หาหมอดอทคอม. “ยาแอสไพริน (Aspirin)”. (ภก.อภัย ราษฎรวิจิตร). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : haamor.com. [04 พ.ย. 2016].
- ยากับคุณ (Ya & You), มูลนิธิเพื่อการวิจัยและพัฒนาระบบยา (วพย.). “ASPIRIN”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.yaandyou.net. [04 พ.ย. 2016].
- Siamhealth. “Aspirin”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.siamhealth.net. [04 พ.ย. 2016].
- ภาควิชาเภสัชวิทยา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล. “แอสไพริน (aspirin)”. (ภญ.วิภารักษ์ บุญมาก). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.pharmacy.mahidol.ac.th. [05 พ.ย. 2016].
- มูลนิธิหมอชาวบ้าน. นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่มที่ 238 คอลัมน์ : พูดจาภาษายา. “แอสไพริน : เป็นมากกว่ายาแก้ปวดลดไข้”. (นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.doctor.or.th. [05 พ.ย. 2016].
- acne.org. “Aspirin Mask reviews”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.acne.org. [05 พ.ย. 2016].
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)