แอมบรอกซอล (Ambroxol) สรรพคุณ วิธีใช้ ผลข้างเคียง ฯลฯ

แอมบรอกซอล

แอมบรอกซอล (Ambroxol) หรือยาที่คนทั่วไปรู้จักกันในชื่อทางการค้าว่า มูโคลิด (Mucolid), มิวโคโซลวาน (Mucosolvan), สเตร็ปซิล เชสตี้ คอฟ (Strepsils chesty cough) เป็นยาละลายเสมหะในโรคระบบทางเดินหายใจทั้งชนิดเฉียบพลันและเรื้อรังที่มีเสมหะเหนียวข้น สามารถหาซื้อได้ตามร้านขายยาและมีใช้ในสถานพยาบาลทั่วไป

ตัวอย่างยาแอมบรอกซอล

ยาแอมบรอกซอล (ชื่อสามัญ) มีชื่อทางการค้า เช่น แอมบิซอล (Ambixol), แอมโบรซิน (Ambrocin), แอมโบรเลกซ์ (Ambrolex), แอมโบรไลติค (Ambrolytic), แอมบรอนซ์ (Ambronc), แอมโบรแทป (Ambrotab), แอมบรอกซ์ (Ambrox), แอมโบรซาน (Ambroxan), แอมบรอกแซน (Ambroxcan), แอมโบรซิล (Ambroxyl), แอมเมด (Ammed), แอมโปรเมด (Ampromed), แอมทัสส์ (Amtuss), อะมาซอล (Amazol), แอมซอล (Amxol), บู๊ทส์ แอมบรอกซอล (Boots ambroxol), โบร-แอม (Bro-am), โบรเมซอล (Bromexol), บรอนคอล (Broncol), โบรซอล (Broxol), แคนโบรซอล (Canbroxol), คอฟซอล (Cofxol), ไดโบรซอล (Dybroxol), ฟาโบรซอล (Fabrosol), กาโบรซอล (Gabroxol), เจ-บรอก (J-brox), เอ็ม-โบรซิล (M-broxil), แมกซ์ (Max), เมย์โซวาน (Maysovan), เมโดวาน (Medovan), Medovent (เมโดเวนท์), โมเวนท์ (Movent), ไมโซแวน (Misovan), โมเวนท์ (Movent), มูแอมลิด (Muamlid), มูโบรซอล (Mubroxol), มูซิล (Mucil), มิวโค พาตาร์ (Muco patar), มิวโคบรอกซ์ (Mucobrox), มิวโคโบรซอล (Mucobroxol), มูโคดิค (Mucodic), มูโคแลกซ์ (Mucolax), มูโคแลน (Mucolan), มูโคลิค (Mucolid), มูโคโล (Mucolo), มูโคลิล (Mucolyl), มูโคเมด (Mucomed), มูคอน (Mucon), มิวโคโซลวาน (Mucosolvan), มิวโคโซลวาน ลิควิด (Mucosolvan liquid) มิวโคโซลวาน พีแอล (Mucosolvan PL), มูโคซิน เอฟ (Mucoxine F), มูโซแคน (Musocan), มายบรอกซอล (Mybroxol), นูโคบรอกซ์ (Nucobrox), โพลิโบรซอล (Polibroxol), รอมแบกซ์ (Rombax), ซีครีติน (Secretin), ซีโทวาน (Setovan), ไซมูซอล (Simusol), ซัลโวทราน (Salvotran), สเตร็ปซิล เชสตี้ คอฟ (Strepsils chesty cough), สเตรปทัสส์ เอเอ็กซ์ (Sreptuss AX), อัปโควาน (Upcovan), วีโซลวาน (Vesolvan), ไวโควาน (Vicovan), แซมเพคท์ (Zampect) ฯลฯ

รูปแบบยาแอมบรอกซอล

  • ยาเม็ด ขนาด 30 มิลลิกรัม (มีส่วนประกอบของแอมบรอกซอล ไฮโดรคลอไรด์ (Ambroxol hydrochloride) อยู่ 30 มิลลิกรัม/เม็ด)
  • ยาแคปซูลออกฤทธิ์นาน (ควบคุมการปลดปล่อยยา) ขนาด 75 มิลลิกรัม
  • ยาน้ำ / ยาน้ำเชื่อม ขนาด 30 มิลลิกรัม/1 ช้อนชา (5 มิลลิลิตร)
  • ยาอม ขนาด 15 มิลลิกรัม
  • ยาฉีด ขนาด 15 มิลลิกรัม/2 มิลลิลิตร

มูโคลิด (Mucolid)
IMAGE SOURCE : www.greaterpharma.com

มิวโคโซลวาน (Mucosolvan)
IMAGE SOURCE : www.zakkatai.com, www.mims.com

สเตร็ปซิล เชสตี้ คอฟ (Strepsils chesty cough)
IMAGE SOURCE : www.terapeak.com, www.mims.com

สรรพคุณของยาแอมบรอกซอล

  • ยานี้เป็นยาขับและละลายเสมหะในโรคของระบบทางเดินหายใจทั้งชนิดเฉียบพลันและเรื้อรังที่มีเสมหะเหนียวข้น (ทำให้ทางเดินหายใจโล่ง) เช่น ใช้ละลายเสมหะของผู้ป่วยโรคถุงลมโป่งพอง โรคนิวโมโคนิโอซีส (Pneumoconiosis) หลอดลมอักเสบเรื้อรังและเฉียบพลัน โรคหอบหืด ไซนัส กล่องเสียงอักเสบ หลอดลมอักเสบเฉียบพลัน โดยอาการจะเริ่มดีขึ้นหลังจากรับประทานยาไปได้ประมาณ 30 นาที ทำให้เสมหะมีความหนืดน้อยลง และขับออกได้ง่ายขึ้นโดยการไอ ในที่สุดปริมาณเสมหะก็ลดลง[1],[2],[3],[5]
  • ช่วยบรรเทาอาการไอเนื่องจากการระคายในลำคอที่มีสาเหตุมาจากการมีเสมหะมากและเหนียว[2]
  • ช่วยรักษาอาการเจ็บคอชนิดเฉียบพลันที่เกิดจากเชื้อไวรัส[1]
  • ใช้ก่อนและหลังการผ่าตัด เพื่อป้องกันอาการแทรกซ้อนทางระบบทางเดินหายใจ[5]
  • ยานี้อาจใช้เพื่อรักษาโรคหรืออาการอื่น ๆ ได้ หากมีข้อสงสัยควรสอบถามแพทย์หรือเภสัชกร[2]

กลไกการออกฤทธิ์ของยาแอมบรอกซอล

ยาแอมบรอกซอลมีคุณสมบัติช่วยละลายเสมหะ ช่วยให้เสมหะเหลวลง ทำให้เสมหะที่เหนียวข้นและคั่งค้างอยู่ในหลอดลมถูกขับออกได้ง่าย เป็นผลทำให้การหายใจสะดวกขึ้น อาการไอและเสมหะจะลดลงอย่างเห็นได้ชัด[5]

ก่อนใช้ยาแอมบรอกซอล

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมถึงยาแอมบรอกซอล สิ่งที่ควรแจ้งให้แพทย์หรือเภสัชกรทราบมีดังนี้

  • ประวัติการแพ้ยาแอมบรอกซอล (Ambroxol) และประวัติการแพ้ยาอื่น ๆ ทุกชนิด รวมทั้งอาการจากการแพ้ยา เช่น รับประทานยาแล้วคลื่นไส้มาก หรือแน่น หายใจติดขัด/หายใจลำบาก เป็นต้น
  • โรคหรืออาการเจ็บป่วยที่เป็นอยู่หรือเคยเป็นมาก่อนหน้า (เช่น โรคตับ โรคไต โรคภูมิแพ้ โรคหอบหืด ลมพิษ เป็นต้น) และยาที่แพทย์สั่งจ่ายหรือที่ใช้เอง รวมถึงอาหารเสริม วิตามิน และยาสมุนไพรต่าง ๆ ที่กำลังใช้อยู่หรือกำลังจะใช้ เพราะยาแอมบรอกซอลอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรือเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่น ๆ และ/หรืออาหารเสริมอื่น ๆ ที่รับประทานอยู่ก่อนได้
  • หากเป็นสุภาพสตรี ควรแจ้งว่ามีการตั้งครรภ์ หรือกำลังวางแผนการตั้งครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายชนิดสามารถผ่านทางรกหรือน้ำนมและเข้าสู่ทารกจนอาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงต่อทารกได้

ข้อห้าม/ข้อควรระวังในการใช้ยาแอมบรอกซอล

  • ควรระมัดระวังการใช้ยาในผู้ที่แพ้ยานี้ และห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้ หรือใช้ยาที่หมดอายุหรือเสื่อมสภาพแล้ว
  • ควรระมัดระวังการใช้ยาในผู้ที่มีประวัติเป็นโรคกระเพาะอาหาร
  • สำหรับหญิงตั้งครรภ์ ยาแอมบรอกซอลจัดอยู่ในประเภท B แม้จะจัดว่าปลอดภัยแต่ก็ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยานี้ในหญิงตั้งครรภ์ 3 เดือนแรก หากจำเป็นต้องใช้ควรปรึกษาแพทย์ก่อน
  • ควรระมัดระวังในการใช้ยาน้ำในเด็ก เพราะยานี้มีแอลกอฮอล์ผสมอยู่ 2.70% v/v[3]

วิธีใช้ยาแอมบรอกซอล

  • ในผู้ใหญ่ให้รับประทานยาวันละ 30-120 มิลลิกรัม หรือวันละ 1-4 เม็ด (ห้ามรับประทานยานี้เกินวันละ 4 เม็ด) โดยแบ่งให้วันละ 2-3 ครั้ง[4]
  • ในเด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี ให้รับประทานยาน้ำเชื่อมครั้งละ ½ ช้อนชา (2.5 มิลลิลิตร) วันละ 2 ครั้ง ในเด็กอายุ 2-5 ปี ให้รับประทานยาน้ำเชื่อมครั้งละ ½ ช้อนชา (2.5 มิลลิลิตร) วันละ 3 ครั้ง ในเด็กอายุมากกว่า 5 ปี ให้รับประทานยาน้ำเชื่อมครั้งละ 1 ช้อนชา (5 มิลลิลิตร) วันละ 2-3 ครั้ง ส่วนในเด็กอายุมากกว่า 10 ปี ให้รับประทานยาน้ำเชื่อมครั้งละ 2 ช้อนชา (10 มิลลิลิตร) วันละ 3 ครั้ง[4]
  • สำหรับการใช้ยาเม็ดในเด็กอายุ 5-10 ปี ให้เด็กรับประทานยาครั้งละ ½ เม็ด วันละ 3 ครั้ง ส่วนเด็กอายุมากกว่า 10 ปี ให้รับประทานยาครั้งละ 1 เม็ด วันละ 3 ครั้ง (หรือครั้งละ 1 แคปซูล วันละ 1 ครั้ง ในรูปของยาออกฤทธิ์นาน)[2],[3],[5]
  • สำหรับยาอมสเตร็ปซิล เชสตี้ คอฟ (ใช้สำหรับอมให้ละลายในปาก โดยมีข้อบ่งใช้เพื่อละลายเสมหะ และบรรเทาอาการไอแบบมีเสมหะ) ในผู้ใหญ่ให้อมครั้งละ 1 เม็ด ติดต่อกัน 2 เม็ด วันละ 3 ครั้ง ส่วนในเด็กอายุ 5-10 ปี ให้อมครั้งละ 1 เม็ด วันละ 3 ครั้ง

คำแนะนำในการใช้ยาแอมบรอกซอล

  • ให้รับประทานยานี้พร้อมอาหารหรือหลังอาหารทันทีพร้อมกับน้ำเล็กน้อย เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการระคายเคืองกระเพาะอาหารและลำไส้
  • สำหรับยาน้ำเชื่อม ควรใช้ช้อนสำหรับตวงยาโดยเฉพาะในการรับประทานยาเท่านั้น ไม่ควรใช้ช้อนชงกาแฟหรือช้อนโต๊ะในครัวเรือนทั่วไป
  • ควรดื่มน้ำอุ่นบ่อย ๆ เพื่อช่วยละลายเสมหะและทำให้เสมหะเหลวลงและขับออกได้ง่าย
  • ควรรับประทานยานี้ตามวิธีใช้ที่ระบุไว้บนฉลากยาหรือตามคำสั่งของแพทย์อย่างเคร่งครัด ห้ามใช้ยาในขนาดที่น้อยกว่าหรือมากกว่าที่ระบุไว้ หากมีข้อสงสัยควรสอบถามแพทย์หรือเภสัชกร
  • ยาแอมบรอกซอลมีขนาดการใช้ที่แตกต่างกันไป ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับอายุ ความรุนแรง สภาวะความเจ็บป่วยของร่างกายของผู้ป่วย รวมถึงชนิดของยาที่ใช้รับประทาน ดังนั้นจึงควรให้แพทย์เป็นผู้วินิจฉัยและสั่งจ่ายยาที่เหมาะสม ผู้ป่วยไม่ควรหาซื้อยามารับประทานด้วยตัวเองโดยปราศจากคำแนะนำจากแพทย์หรือเภสัชกร (โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้ยานี้ในเด็ก)
  • ในการใช้รักษาระยะยาว ควรลดขนาดการรับประทานยาลงเหลือวันละ 2 ครั้ง (สำหรับยาเม็ด 30 มิลลิกรัม) และดื่มน้ำมาก ๆ[5]

การเก็บรักษายาแอมบรอกซอล

  • ควรเก็บยานี้ในภาชนะบรรจุเดิมที่บรรจุมา ปิดให้สนิท และเก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยงเสมอ
  • ควรเก็บยานี้ที่อุณหภูมิห้อง เก็บยาให้พ้นแสงแดด ไม่ให้อยู่ในที่ร้อนมากกว่า 30 องศาเซลเซียส (เช่น ในรถยนต์ บริเวณใกล้หน้าต่าง) และไม่เก็บยาในบริเวณที่เปียกหรือชื้น (เช่น ในห้องน้ำ)
  • ห้ามเก็บยารูปแบบน้ำเชื่อมในช่องแช่แข็งของตู้เย็น
  • ให้ทิ้งยาที่หมดอายุหรือเสื่อมสภาพ

เมื่อลืมรับประทานยาแอมบรอกซอล

โดยทั่วไปเมื่อลืมรับประทานยาแอมบรอกซอล ให้รับประทานยาในทันทีเมื่อนึกขึ้นได้ แต่ถ้าเป็นเวลาที่ใกล้เคียงกับมื้อต่อไป ให้ข้ามไปรับประทานยามื้อต่อไปได้เลย โดยไม่ต้องเพิ่มขนาดยาเป็น 2 เท่าหรือมากกว่าปกติ

ผลข้างเคียงของยาแอมบรอกซอล

  • ผลข้างเคียงทั่วไปที่อาจพบได้ของการใช้ยาแอมบรอกซอล คือ คลื่นไส้ อาเจียน ปวดแสบยอดอก ไม่สบายท้อง ระคายเคืองกระเพาะอาหารและลำไส้ (โดยปกติแล้วมักไม่ค่อยพบผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นจากยานี้)
  • ผลข้างเคียงที่อาจพบได้และควรแจ้งแพทย์หรือเภสัชกรทันที คือ อาการแพ้ (ผื่นคัน ลมพิษ กลืนลำบากหรือหายใจลำบาก) แต่เมื่อหยุดยาอาการดังกล่าวจะหายไป
เอกสารอ้างอิง
  1. หาหมอดอทคอม.  “แอมบรอกซอล (Ambroxol)”.  (ภก.อภัย ราษฎรวิจิตร).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : haamor.com.  [10 พ.ย. 2016].
  2. ยากับคุณ (Ya & You), มูลนิธิเพื่อการวิจัยและพัฒนาระบบยา (วพย.).  “AMBROXOL HYDROCHLORIDE”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.yaandyou.net.  [10 พ.ย. 2016].
  3. Siamhealth.  “ยาขับเสมหะ Ambroxol”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.siamhealth.net.  [10 พ.ย. 2016].
  4. Drugs.com.  “Ambroxol Hydrochloride”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.drugs.com.  [10 พ.ย. 2016].
  5. ThaiRx.  “Mucolid tablet”, “Amxol tab”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : thairx.com.  [10 พ.ย. 2016].

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด