แมงลักคา
แมงลักคา ชื่อสามัญ Wild spikenard, Mild spikenard bushtea, Pugnet west Indian spikenard[1],[8]
แมงลักคา ชื่อวิทยาศาสตร์ Hyptis suaveolens (L.) Poit. จัดอยู่ในวงศ์กะเพรา (LAMIACEAE หรือ LABIATAE)[1],[2]
สมุนไพรแมงลักคา มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า การา (สุราษฎร์ธานี), เซ๋อไป๋จื่อ (จีน), กะเพราผี, แมงลักป่า, อีตู่ป่า, กอมก้อหวย เป็นต้น[2],[4],[5],[8]
ลักษณะของแมงลักคา
- ต้นแมงลักคา มีถิ่นกำเนิดในอเมริกากลาง และภายหลังได้กระจายพันธุ์ไปสู่ประเทศอื่น ๆ ซึ่งสามารถพบได้ทั่วไปในประเทศมาเลเซีย ฟิลิปปินส์ ออสเตรเลีย ประเทศในแถบอเมริกาใต้ ปาปัวนิกินี อินเดีย และไทย โดยจัดเป็นไม้พุ่มล้มลุกที่มีอายุหลายปี ลำต้นตั้งตรง มีความสูงได้ประมาณ 1.5 เมตร แตกกิ่งก้านมาก ลำต้นเป็นสันสี่เหลี่ยม มีขนสีขาวเหนียวติดมือ และมีกลิ่นฉุนเฉพาะตัว ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด และวิธีการปักชำ เจริญเติบโตได้ดีในดินร่วน ชอบความชื้นค่อนข้างมากและแสงแดดแบบเต็มวัน มักพบขึ้นตามที่รกร้างริมทาง พื้นที่การเกษตรที่ถูกทิ้งร้าง ตามที่แห้ง เปิดโล่ง ริมถนน ริมน้ำ เนินทราย และตามป่าละเมาะทั่วไป ที่ระดับความสูงไม่มากนักจากระดับน้ำทะเล หรือตั้งแต่ที่ระดับความสูง 0-1,300 เมตร สามารถออกดอกและติดผลได้ตลอดปี[2],[3],[4]
- ใบแมงลักคา ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงตรงข้ามกัน ลักษณะของใบเป็นรูปไข่ ปลายใบแหลม โคนใบสอบ ส่วนขอบใบหยักเล็กน้อย ใบมีขนาดกว้างประมาณ 2-5 เซนติเมตร และยาวประมาณ 2.5-6 เซนติเมตร แผ่นใบมีขนทั้งสองด้าน เป็นร่องบริเวณเส้นใบ ก้านใบยาวได้ประมาณ 0.5-3 เซนติเมตร[2]
- ดอกแมงลักคา ออกดอกเป็นช่อแบบช่อกระจุก โดยจะออกตามซอกใบและที่ปลายกิ่งประมาณ 2-5 ดอกย่อย ดอกเป็นสีม่วงอ่อน ลักษณะเป็นรูปากเปิด ก้านช่อดอกยาวประมาณ 0.5-1 เซนติเมตร มีขน ริ้วประดับเล็ก กลีบดอกโคนกลีบเป็นสีขาวเชื่อมติดกันเป็นหลอด ปลายแยกออกเป็นปาก 2 ปาก และมีขน ปากด้านบนมี 2 แฉก ลักษณะเป็นรูปช้อน มีขนาดกว้างประมาณ 2.2.5 มิลลิเมตร และยาวประมาณ 2.5-3 มิลลิเมตร ส่วนด้านล่างมี 3 แฉก กลีบดอกด้านข้างมีลักษณะเป็นรูปรี มีขนาดกว้างประมาณ 2-2.5 มิลลิเมตร และยาวประมาณ 1-1.5 มิลลิเมตร และกลีบกลางมีลักษณะคล้ายเรือ กว้างประมาณ 0.5-1 มิลลิเมตร กลีบเลี้ยงดอกเป็นรูปเรียวแหลม มีลักษณะคล้ายหนาม มีสันตามยาว 10 สัน ที่โคนเชื่อมติดกัน ยาวประมาณ 5-5.5 เซนติเมตร ปลายแยกเป็นแฉกแหลม 5 อัน ด้านนอกมีขนยาวปกคลุม ดอกมีเกสรเพศผู้ 4 อัน แยกเป็นคู่ 2 คู่ ความยาวไม่เท่ากัน ก้านเกสรไม่ติดกัน อับเรณูติดกับก้านชูเกสรที่ด้านหลัง ส่วนเกสรเพศเมีย รังไข่จะอยู่เหนือวงกลีบ ก้านชูเกสรเพศเมียยาวประมาณ 3-5 มิลลิเมตร[2]
- ผลแมงลักคา เป็นผลแห้งแบบแคปซูล ลักษณะเป็นรูปขอบขนานแคบ ยาวประมาณ 1.2-1.5 มิลลิเมตร ปลายผลมักเว้า ผลเป็นสีดำ ผิวผลมีรอยย่นเด่นชัด เมื่อผลแห้งจะไม่แตก ภายในผลมีเมล็ดขนาดเล็ก 4 เมล็ด เมล็ดเป็นสีน้ำตาลเข้ม มีลักษณะค่อนข้างกลม กว้างประมาณ 2-3 มิลลิเมตร และยาวประมาณ 3-5 มิลลิเมตร อยู่ภายในกลีบเลี้ยงที่เป็นถ้วย[2]
สรรพคุณของแมงลักคา
- รากใช้ต้มกับน้ำดื่มเป็นยาช่วยทำให้เจริญอาหาร (ราก)[2]
- ช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด ป้องกันเบาหวาน ด้วยการใช้ใบและต้นสดประมาณ 1 กำมือ นำมาต้มกับน้ำ 3 แก้ว เคี่ยวให้นาน 30 นาที แล้วนำมาแบ่งดื่มเช้าและเย็น (ใบ, ต้น)[1]
- ตำรายาไทยจะใบนำมาชงกับน้ำดื่มเป็นยาลดไข้ (ใบ)[2]
- ช่วยฆ่าเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ ไข้หวัดนก (ทั้งต้นยกเว้นราก)[5]
- ยอดอ่อนมีสรรพคุณเป็นยาแก้หวัดและช่วยขับเหงื่อ ส่วนยาชงจากต้นก็มีสรรพคุณเป็นยาขับเหงื่อในคนที่เป็นหวัดเช่นกัน (ยอดอ่อน, ทั้งต้น)[2]
- ใบนำมาชงกับน้ำดื่มเป็นยาแก้ปวดท้อง (ใบ)[2] ส่วนอีกข้อมูลระบุว่า ให้ใช้ทั้งต้นเป็นยาพอกแก้อาการปวดท้อง (ทั้งต้น)[8]
- รากนำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยาช่วยขับระดูของสตรี (ราก)[2],[8]
- ทั้งต้นและใบใช้ตำพอกแก้โรคผิวหนัง (ใบ, ทั้งต้น)[2],[3]
- ใบนำมาบดใช้เป็นยาฆ่าเชื้อ (ใบ)[3]
- ใบและปลายยอด ใช้เป็นยารักษาอาการชักกระตุกและโรคปวดข้อ (ใบ, ปลายยอด)[8]
- ยอดอ่อนแมงลักคามีสรรพคุณช่วยขับน้ำนม (ยอดอ่อน)[2]
ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของแมงลักคา
- สารสำคัญที่พบในแมงลักคา ได้แก่ amyrin, aromadendrene, azulene, bergamotol, betulinic acid, cadinol, caryophyllene, citronellol acetate, elemene, eugenol, fenchone, friedelin, fucosterol, germacrene, hyptadienic acid, linalool, lupeol, oleanolic acid, rimuene, sabinene, terpinolene, ursolic acid, valencene[1]
- เหง้าประกอบไปด้วยน้ำมันหอมระเหยร้อยละ 0.08 มีองค์ประกอบทางเคมี ดังนี้ a-bergamotene, a-copaene, a-guaiene, a-fenchol, a-humulene, a-thujene, a-terpinene, a-terpineol, a-phellandrene, a-pinene, borneol, b-bourbonene, b-caryophyllene, b-pinene, camphene, camphor, caryophyllene oxide, d-3-carene, g-terpinene, fenchone, linalool, myrcene, p-cymene, sabinene, terpinolene, terpinen-4-ol, thymol, 1,8-cineole, (Z)- b-ocimene, (E)- b-ocimene [9]
- แมงลักคามีฤทธิ์ลดระดับน้ำตาลในเลือด เพิ่มอัตราการเต้นของหัวใจ ทำให้กล้ามเนื้อเรียบหดตัว คลายตัว[1]
- สารสกัดจากแมงลักคามีฤทธิ์ยับยั้งเชื้อจุลินทรีย์ซาโมเนลลา ยับยั้งเชื้อไวรัสต่าง ๆ เช่น ไข้หวัดใหญ่ และเสริมภูมิคุ้มกันโรคเอดส์ ไม่มีผลข้างเคียงทั้งในคนและสัตว์ (นพ.วัลลภ ไทยเหนือ)[5]
- มีรายงานว่า การใช้แมงลักคาเพื่อเป็นยากระตุ้นเพื่อการขับลม ขับเหงื่อ ขับน้ำนม และต้านการติดเชื้อ ส่วนน้ำมันหอมระเหยในแมงลักคามีฤทธิ์ต้านการเจริญเติบโตของแบคทีเรียทั้งแกรมบวกและลบ รวมไปถึงฤทธิ์อย่างอ่อนในการต้านเชื้อรา Aspergillus niger และ Candida albicans[7]
- เมื่อปี ค.ศ.1984 ที่ประเทศอินเดีย ได้ทำการทดลองใช้สารสกัดจากส่วนที่อยู่เหนือดินของต้นแมงลักคาในหนูถีบจักรทดลอง ผลการทดลองพบว่า สามารถลดระดับน้ำตาลในเลือดของหนูได้จริง[1]
- จากการทดสอบใช้สารสกัดแมงลักคากับอาสาสมัครคนละ 3,000 มิลลิกรัม พบว่าได้ผลฆ่าเชื้อถึงร้อยละ 50 เมื่อเทียบกับการใช้ยาทามิฟลู (Tamiflu) พบว่าอยู่ในสัดส่วนที่ใกล้เคียงกัน โดยสารสกัดจากแมงลักคาสามารถออกฤทธิ์ฆ่าเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ทั้ง 3 สายพันธุ์ คือ H1-3 รวมถึง H5 ที่เป็นสายพันธุ์ไข้หวัดนก และคาดว่าจะใช้เวลาอีก 1-2 ปี เพื่อพัฒนาเป็นสารสกัดแมงลักคาแคปซูล ก่อนจะขึ้นทะเบียนเป็นยาสมุนไพรแผนปัจจุบัน (นพ.พงศ์พันธ์ วงศ์มณี)[5]
- กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้ประสบความสำเร็จในการวิจัยสมุนไพรแมงลักคาเพื่อใช้รักษาไข้หวัดใหญ่ ที่มีชื่อว่า “ไฟโต-1” (Phyto-1) โดยสามารถฆ่าเชื้อไข้หวัดได้ในระดับห้องปฏิบัติการ โดยการใช้สมุนไพรไฟโต-1 ในขนาด 5 มิลลิกรัม สามารถช่วยลดเชื้อไข้หวัดใหญ่ (H3N2) ลงได้ถึงร้อยละ 93 มีความปลอดภัยต่อสัตว์ทดลองและอาสาสมัครที่มีสุขภาพแข็งแรง (ส่วนที่นำมาสกัดเป็นยาฆ่าเชื้อ คือส่วนของลำต้น ใบ ดอก และผล ยกเว้นราก)[5],[7]
- น้ำมันแมงลักคามีฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรีย เชื้อรา ราพืชก่อโรคพืช และยีสต์[9]
- สารสกัดด้วยแอลกอฮอล์ของใบแมงลักคามีฤทธิ์ช่วยสมานแผล ซึ่งอาจเกิดจากคุณสมบัติในการต้านอนุมูลอิสระ และส่งเสริมเอนไซม์ต้านปฏิกิริยาออกซิเดชั่นที่ช่วยในการสร้างเนื้อเยื่อใหม่เพื่อทดแทนเนื้อเยื่อที่ตายไป[7]
- จากการศึกษา พบว่าสูตรสะเดาผสมกับแมงลักคาความเข้มข้น 5,000 ส่วนในล้านส่วน สามารถทำให้ต้นมะละกอเจริญเติบโตได้ดีกว่า เมื่อเปรียบกับการใช้สารในกลุ่มโมโนโครโตฟอส และสารสกัดดังกล่าวยังสามารถทำให้ไข่ไรแดงแอฟริกันไม่สามารถฟักได้ร้อยละ 95 ภายในเวลาเพียง 10.39 ชั่วโมง ในขณะที่สารเคมีสังเคราะห์จะต้องใช้เวลาถึง 21.30 ชั่วโมง[6]
- จากการทดสอบความเป็นพิษ พบว่า เมื่อใช้สารสกัดจากส่วนที่อยู่เหนือดินของต้นแมงลักคา ฉีดเข้าท้องของหนูถีบจักร ขนาดที่ทำให้หนูตายครึ่งหนึ่ง มีค่าเท่ากับ 56.2 มิลลิกรัมต่อกรัม ถ้าเป็นสารสกัดจากใบสด พบว่าในขนาดที่ทำให้เกิดพิษคือ 1 มิลลิกรัมต่อสัตว์ทดลอง 1 ตัว[1] ส่วนอีกข้อมูลหนึ่งระบุว่า ขนาดที่ทำให้หนูทดลองตายครึ่งหนึ่ง มีค่าเท่ากับ 1.412 กรัมต่อกิโลกรัม เมื่อทดลองโดยการฉีดเข้าทางช่องท้องของหนูถีบจักร[9]
ประโยชน์ของแมงลักคา
- ยอดอ่อนของแมงลักคาสามารถนำมาใช้ปรุงแต่งรสชาติอาหารได้[2]
- น้ำมันหอมระเหยจากแมงลักคา มีกลิ่นคล้ายกับน้ำมันแพตซูลี่ จึงได้มีการนำไปใช้เจือปนในน้ำมันแพตซูลี่[9]
- รากนำมาเคี้ยวช่วยดับกลิ่นปากได้[2],[8]
- แมงลักคาเป็นวัชพืชที่มีคุณสมบัติในการช่วยป้องกันและกำจัดแมลง[4] (โดยสามารถนำส่วนที่อยู่เหนือดินมาสกัดเป็นน้ำมันหอมระเหย มีฤทธิ์ป้องกันและกำจัดแมลงศัตรูพืช จึงเหมาะกับการนำไปใช้กับพืชผลทางการเกษตรแทนการใช้สารเคมี เพื่อป้องกันและกำจัดเพลี้ยอ่อนในพริก หนอนห่อใบมะม่วง อย่างได้ผลและไม่ทำลายสภาพแวดล้อม)
- กิ่งและใบนำมาทุบวางไว้ในเล้าไก่ จะช่วยไล่ไรไก่ได้ ส่วนทั้งต้นและใบมีประโยชน์ในด้านการช่วยไล่แมลง[2] โดยนำส่วนของใบมาใส่ตามเครื่องเรือนเพื่อไล่แมลง[3]
- ต้นแมงลักคาอาจใช้เป็นอาหารปศุสัตว์ได้[3]
เอกสารอ้างอิง
- หนังสือสมุนไพรบำบัดเบาหวาน 150 ชนิด. (เภสัชกรหญิง จุไรรัตน์ เกิดดอนแฝก). “แมงลักคา”. หน้า 140.
- ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี. “แมงลักคา”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.phargarden.com. [18 ส.ค. 2014].
- ฐานข้อมูลพรรณไม้ องค์การสวนพฤกษศาสตร์, กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม. “แมงลักคา”. อ้างอิงใน : หนังสือ Flora Malesiana Volume 8, หน้า 371-372. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.qsbg.org. [18 ส.ค. 2014].
- การใช้สารสกัดจากพืชเพื่อควบคุมแมลงวันผลไม้, สำนักวิชาวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี. “แมงลักคา”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : science.sut.ac.th. [18 ส.ค. 2014].
- ศูนย์วิทยบริการ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา. “แมงลักคาฆ่าเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่-ไข้หวัดนก”. อ้างอิงใน : คม ชัด ลึก. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : elib.fda.moph.go.th. [18 ส.ค. 2014].
- การประชุมทางวิชาการของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ครั้งที่ 37 วันที่ 3-5 ก.พ. 2542. (กนก อุไรสกุล). “ผลของสารสกัดจากพืชบางชนิดต่อการเจริญเติบโตของต้นมะละกอ และยับยั้งการเจริญเติบโตของไรแดงแอฟริกัน”. หน้า 11-18.
- กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข . [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.dmsc.moph.go.th. [18 ส.ค. 2014].
- มูลนิธิหมอชาวบ้าน. นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่มที่ 320 คอลัมน์ : เรื่องเด่นจากปก. “รับมือไข้หวัดนกรอบ ๓”. (ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.doctor.or.th. [18 ส.ค. 2014].
- ไม้หอมเมืองไทย, สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.). “แมงลักคา”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : tistr.or.th/essence/. [18 ส.ค. 2014].
ภาพประกอบ : www.flickr.com (by Russell Cumming, Ahmad Fuad Morad)
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)