แผลเป็น
แผลเป็น เกิดจากกระบวนการรักษาแผลที่เกิดจากการฉีกขาดของเนื้อเยื่อ และมีการสร้างเนื้อเยื่อที่เป็นคอลลาเจนมาทดแทนเนื้อเยื่อที่ถูกทำลายไป ซึ่งเป็นกระบวนการรักษาแผลตามธรรมชาติ เมื่อแผลหายดีแล้วก็จะทิ้งรอยแผลเป็นเอาไว้ โดยแผลที่มักทำให้เกิดแผลรอยแผลเป็นก็ได้แก่ แผลจากอุบัติเหตุ ถูกของมีคมบาด แผลผ่าตัด แผลปลูกฝี ฉีดวัคซีน แผลไฟไหม้น้ำร้อนลวก แผลสิว แผลจากโรคอีสุกอีใส แผลจากรอยสัก เป็นต้น และนอกจากจะเป็นรอยแผลที่ผิวหนังภายนอกแล้ว ยังเกิดขึ้นได้กับอวัยวะภายในอีกด้วย
ส่วนปัจจัยที่มีผลต่อการเกิดแผลเป็นจะเกิดได้มากน้อยก็ขึ้นอยู่กับ 2 ปัจจัย ได้แก่ ปัจจัยความรุนแรงของแผลหรือการฉีกขาดของเนื้อเยื่อตื้นลึกเพียงใด และปัจจัยการรักษาแผลของเราว่ารักษาแผลดีแค่ไหน ถ้ามีการดูแลรักษาที่ดีและทำให้แผลหายเร็ว รอยแผลเป็นก็จะลดน้อยลง เมื่อเปรียบเทียบกับการดูแลรักษาที่ไม่ดี
เมื่อหายเป็นปกติแล้วก็มักจะทิ้งรอยแผลเป็นที่มีลักษณะเป็นสีแดงหรือสีน้ำตาลและนูนเอาไว้ แต่เมื่อปล่อยทิ้งไว้ตามธรรมชาติประมาณ 1-2 ปีเป็นต้นไป รอยแผลเป็นก็จะจางลงพร้อมทั้งแบนราบลงได้เอง และยังพบว่าในเด็กจะมีโอกาสเกิดแผลเป็นได้น้อยกว่าในผู้ใหญ่, ในเพศหญิงจะมีโอกาสเกิดแผลเป็นได้มากกว่าเพศชาย, ในวัยรุ่นและวัยเจริญพันธุ์จะมีโอกาสเกิดแผลเป็นได้บ่อยกว่าวัยอื่น ๆ, ในคนผิวคล้ำจะมีโอกาสเกิดแผลเป็นได้มากกว่าคนผิวขาว และผู้มีประวัติเคยเกิดแผลเป็นและมีประวัติของครอบครัวเกิดแผลเป็นจะมีโอกาสเกิดแผลเป็นได้มากกว่าผู้ที่ไม่เคยมีประวัติดังกล่าว
ชนิดของแผลเป็น
แผลเป็นนูน จะมีอยู่ด้วยกัน 2 แบบ ซึ่งทั้งสองแบบจะคล้ายคลึงกันทั้งสาเหตุที่เกิด ปัจจัยเสี่ยง อาการ และวิธีการรักษา แต่จะต่างกันเพียงแค่ลักษณะของแผล คือ
- แผลเป็นนูนหนาธรรมดา หรือ แผลเป็นนูนชนิดเกิดเฉพาะบนตัวแผล (Hypertrophic) คือ แผลเป็นที่เป็นสีแดงและนูนขึ้นมาจากผิวหนังปกติ แต่ยังอยู่ในขอบเขตของรอยแผลเดิม แผลเป็นชนิดนี้เกิดจากการสร้างคอลลาเจนมากเกินไปและมักไม่ขยายกว้างขึ้นจากรอยเดิม โดยมักจะเกิดขึ้นภายใน 1 เดือน หลังแผลหาย และมักจะค่อย ๆ ยุบตัวแบนราบลงเมื่อเวลาผ่านไปเป็นเดือนหรือเป็นปี
- แผลเป็นนูนชนิดลุกลามออกนอกตัวแผล หรือ แผลเป็นคีลอยด์ (Keloid) คือ แผลเป็นที่มีอาการนูนและแดงคล้ายกับรอยแผลเป็นนูนหนาชนิดแรก ตัวแผลมักนูนเหนือผิวหนังตั้งแต่ 4 มิลลิเมตรขึ้นไป และมักเกิดตามหลังแผลหายแล้วอย่างน้อย 3 เดือนไปแล้ว โดยจะมีความผิดปกติที่ทำให้เกิดการขยายตัวกว้างขึ้นเรื่อย ๆ เข้าสู่เนื้อเยื่อโดยรอบของแผลแรกเริ่ม ไม่ยุบหายไปเอง โดยมักจะเกิดขึ้นบริเวณหัวไหล่ ต้นแขน ผนังหน้าอก และบริเวณหู (คีลอยด์จัดเป็นเนื้องอกธรรมดา ไม่ใช่เนื้อร้ายหรือมะเร็ง และไม่เป็นอันตรายต่อร่างกายแต่อย่างใด)
วิธีรักษาแผลเป็น
- การป้องกันแผลเป็น เป็นสิ่งสำคัญอย่างแรกที่ควรใส่ใจ ถ้าเป็นไปได้ก็ควรลดสาเหตุและระดับความรุนแรงของการเกิดแผลให้ได้ แต่ถ้าเกิดแผลขึ้นแล้ว คุณควรดูแลรักษาความสะอาดของแผลอย่างเหมาะสมเพื่อให้แผลหายเร็วที่สุด เพราะยิ่งแผลหายเร็วเท่าใดโอกาสการเกิดแผลเป็นก็จะน้อยลงหรือเบาบางลงด้วย ส่วนปัจจัยอื่น ๆ ที่มีผลต่อการหายของแผลก็ได้แก่ อายุ การขาดอาหาร การสูบบุหรี่ อุณหภูมิ ความชื้น ความเป็นกรดด่าง ออกซิเจน และยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ ซึ่งจากการศึกษาพบว่าแผลจะหายได้เร็วขึ้นเมื่ออยู่ในสภาวะแวดล้อมที่มีอุณหภูมิอบอุ่นได้ดีกว่าอากาศเย็น ส่วนความชื้น ความเป็นกรดด่าง และออกซิเจนก็ช่วยให้แผลหายได้เร็วขึ้นเช่นกัน
- รักษาแผลให้หายเร็วที่สุด จากที่กล่าวมาว่า การรักษาแผลให้หายเร็ว คุณควรรักษาสภาวะแวดล้อมและความสะอาดของแผลอย่างเหมาะสม หลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ เช่น การสูบบุหรี่ การขาดวิตามินซี และธาตุสังกะสี สำหรับการดูแลแผลเล็ก ๆ น้อย ๆ เบื้องต้น ก็เริ่มจากการล้างหรือเช็ดทำความสะอาดแผลด้วยน้ำสะอาด แล้วตามด้วยการปิดทำแผลโดยปราศจากเชื้อ ส่วนถ้าเป็นแผลใหญ่คุณควรรีบไปพบแพทย์ นอกจากนี้การเกิดแผลเป็นอาจลดลงได้ ถ้าปากแผลแนบสนิทกันพร้อมทั้งลดแรงตึงต่อแผลให้น้อยลง
- ปล่อยให้แผลเป็นจางลงเองตามธรรมชาติ เมื่อเวลาผ่านไปแผลเป็นอาจหดและจางลงได้เองในระดับหนึ่ง ดังนั้นศัลยแพทย์ตกแต่งส่วนมากจึงแนะนำให้ทิ้งไว้เฉย ๆ สัก 1 ปี เพื่อให้แผลจางลงเต็มที่ก่อนเข้ารับการรักษา
- ใช้วิธีแบบธรรมชาติ สำหรับผู้ที่กำลังประสบปัญหามีรอยแผลเป็นที่เกิดจากการหกล้มหรือรอยขีดข่วนต่าง ๆ ที่พยายามลบเท่าไรแต่ก็ไม่หายหรือจางลงสักที วันนี้จึงอยากจะขอแนะนำวิธีดี ๆ จากสมุนไพรธรรมชาติจากต้นมะลิ โดยการนำเอาใบจากต้นมะลิลาหรือมะลิซ้อน นำมาตำให้ละเอียด คั้นเอาแต่น้ำมาทาบริเวณรอยแผลเป็นวันละ 3-4 ครั้ง เมื่อแผลเป็นเริ่มจางลงแล้วก็ค่อยเอาใบมะลิมาถูเบา ๆ ได้เลย วันละ 3-4 ครั้ง เช่นกัน ส่วนสมุนไพรอื่น ๆ ที่สามารถทำให้รอยแผลเป็นจางลงได้ ก็เช่น หัวหอม ใบบัวบก ว่านหางจระเข้ แตงกวา มะขามเปียก มะเขือเทศ มะนาว มะละกอสุก เป็นต้น
- การทายาแก้แผลเป็น (Topical products) เป็นวิธีที่นิยมมากในปัจจุบัน เนื่องจากสามารถหาซื้อได้ตามร้านขายยาทั่วไป และวิธีการใช้ก็ทั้งง่ายและสะดวก เช่น ยาทาแผลเป็น หรือ ครีมลบรอยแผลเป็น ที่มีส่วนผสมของวิตามินอี ช่วยทำให้เซลล์สามารถซ่อมแซมแผลได้อย่างสมบูรณ์ (บางรายงานอ้างว่าการทาครีมวิตามินอีสามารถช่วยเร่งให้แผลเป็นหายเร็วขึ้นหรือทำให้ดูจางลงได้ ซึ่งแพทย์บางคนก็แนะนำให้ใช้ควบคู่ไปกับการรักษาอื่น ๆ แต่ก็มีรายงานการศึกษาที่พบว่าวิตามินอีไม่ช่วยทำให้แผลเป็นดีขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับยาหลอก), วิตามินเอ, วิตามินบี 3 ที่ช่วยลดสีผิวของแผลไม่ให้เข้มกว่าสีผิวปกติ, สารสกัดจากหัวหอม (Allium cepa) ที่ช่วยยับยั้งการอักเสบ ลดการสร้างคอลลาเจนบริเวณรอยแผล, สารสกัดจากใบบัวบก (Asiatic acid, Madecassic และ Asiaticoside) ที่ช่วยกระตุ้นการหายของแผลได้อย่างสมบูรณ์ ลดการสร้างคอลลาเจนบริเวณรอบแผล, สารมิวโคโพลีแซคคาไรด์ (MPS) ที่ช่วยเพิ่มการไหลเวียนเลือดบริเวณรอยแผล ทำให้การซ่อมแซมมีความสมบูรณ์, ยากลุ่มสเตียรอยด์, ยาที่เป็นซิลิโคนเจล เป็นต้น ซึ่งโดยทั่วไปอาจช่วยทำให้แผลเป็นมีสีจางลงหรือบางลงได้เล็กน้อย แต่ก็ต้องใช้ระยะเวลาพอสมควร อย่างยาทารักษาแผลเป็นที่นิยมใช้กันมากก็เช่น ยี่ห้อ MEDERMA เป็นยี่ห้อที่ได้รับความนิยม ๆ มาก หลอด 10 กรัม ประมาณ 330-400 บาท, Scagel หลอด 9 กรัม ราคาประมาณ 150 บาท, Hiruscar เนื้อเจลซึมซาบเร็ว มีประสิทธิภาพสูง หลอด 5 กรัม ราคาประมาณ 150-200 บาท ฯลฯ
- การใช้แผ่นเจลซิลิโคน (Silicone gel sheet) เป็นแผ่นเจลที่มีลักษณะโครงสร้างเชื่อมต่อกันหลายแผ่น ทำให้มีความยืดหยุ่นตามการเคลื่อนไหวของผิวหนังได้ดี สามารถช่วยรักษาการสูญเสียน้ำออกจากบริเวณรอยแผล ช่วยลดการทำงานของเส้นเลือดฝอย และลดกระบวนการสร้างคอลลาเจนของเซลล์ไฟโบรบลาสต์ โดยมีรายงานว่าการใช้แผ่นเจลซิลิโคนสามารถช่วยทำให้สีของแผลจางลงและแผลเป็นแบนราบลงได้ แต่จะเหมาะสำหรับแผลเป็นที่มีสีแดงหรือสีคล้ำหรือนูนเท่านั้น โดยนำมาปิดทับแผลที่เป็นหรือคีลอยด์ เป็นระยะเวลานานมากกว่าวันละ 12 ชั่วโมง จึงจะช่วยทำให้แผลเป็นยุบลงได้ แต่อาจต้องใช้เวลาประมาณ 4-6 เดือน (การใช้แผ่นเจลซิลิโคนนี้ไม่ควรใช้ในขณะแผลเปิด แต่ควรเริ่มใช้ทันทีหลังแผลปิดสนิทหรือหลังตัดไหมเย็บแผล) แต่บางครั้งเราก็พบว่าการปิดแผลเป็นด้วยซิลิโคนอาจไม่สะดวกเท่าไรนัก การเลือกใช้แผ่นเทปเหนียว (Microporous tape) เพื่อทดแทนการใช้แผ่นซิลิโคนก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่น่าสนใจ โดยสามารถนำมาปิดลงบนแผลได้โดยตรง และจะทำให้ผิวหนังบริเวณนั้นมีความชุ่มชื้นมากขึ้น ทำให้มีการอักเสบลดน้อยลง
- สักสีผิว ในกรณีของรอยแผลเป็นที่มีลักษณะการเปลี่ยนของสีผิวอย่างชัดเจน เช่น มีสีเข้มกว่าหรืออ่อนกว่าสีผิวปกติ แพทย์อาจต้องใช้วิธีการสักสีเข้าไปในแผลเป็น เพื่อให้แผลมีสีใกล้เคียงกับผิวหนังปกติ เช่น ถ้าคุณมีผิวสีขาวก็จะใช้สีขาวในการสักอย่างนี้เป็นต้น หรือบางคนอาจใช้เครื่องสำอางในการตกแต่งเพื่อกลบรอยแผลเป็นให้ดูเรียบเนียนก็เป็นทางเลือกที่ดีนะ
- การลอกผิวด้วยกรดผลไม้ (Chemical Peeling) เหมาะกับแผลเป็นตื้นมาก ๆ อาศัยหลักการที่ว่าใช้สารเคมีไปขจัดผิวชั้นบนออก ซึ่งการจะขจัดได้มากหรือน้อยก็ขึ้นอยู่กับความเข้มข้นและชนิดของสารที่ใช้ ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์
- การฉีดยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ (Intra lesional corticosteroid) การฉีดยาสเตียรอยด์ควรอยู่ในความดูแลของแพทย์ โดยเฉพาะศัลยแพทย์ตกแต่งจะฉีดยาสเตียรอยด์นี้เข้าใต้ตำแหน่งของแผลเป็น ซึ่งจะช่วยให้แผลเป็นนั้นนุ่มและแบนราบลงได้ ขนาดของยาที่ใช้จะอยู่ระหว่าง 10-120 มิลลิกรัมต่อครั้ง (ขึ้นอยู่กับขนาดของแผลเป็น) และควรให้ห่างกันประมาณเดือนละ 1 ครั้ง จนกว่าแผลเป็นจะแบนราบ ซึ่งวิธีนี้ก็ได้ผลพอใช้ แต่ยานี้ควรใช้ก็ต่อเมื่อใช้แผ่นซิลิโคนรักษามาแล้วแต่ยังไม่หายดี (ภาพก่อนและหลังการฉีดคีลอยด์)
- การฉีดฟิลเลอร์ ในกรณีที่มีแผลเป็นแบบเป็นรอยบุ๋ม แพทย์อาจฉีดสารสังเคราะห์อย่างคอลลาเจน หรือ Hyaluronic acid เข้าไปในรอยบุ๋ม เพื่อทำให้ผิวดูเต็มขึ้น แต่วิธีนี้ผลลัพธ์ที่ได้จะอยู่ได้ประมาณ 6-8 เดือน แล้วต้องมาฉีดยาเติมใหม่ เนื่องจากสารดังกล่าวที่นำมาฉีดจะเป็นสารสังเคราะห์ที่มีการยุบตัวลงได้เอง แต่ก็ไม่เป็นอันตราย
- การฉีดสารเคมี โดยเป็นการฉีดสารเคมี 3 ชนิด คือ Interferon (alpha, beta และ gamma), Intralesional 5-fluorouracil, Bleomycins เข้าไปบริเวณแผลเป็นที่มีขนาดกว้างและแข็ง สามารถช่วยลดขนาดและทำให้นิ่มขึ้นได้ เป็นต้น
- การผ่าตัดแผลเป็น การผ่าตัดจะช่วยจัดตำแหน่งร่องรอยแผลเป็นให้ดูดีขึ้นได้ โดยแพทย์จะทำการผ่าตัดเพื่อเอาแผลเก่าออกแล้วเย็บแผลใหม่อีกครั้ง ซึ่งวิธีนี้อาจจะใช้ได้ผลกับแผลเป็นบางชนิดเท่านั้น และยังขึ้นอยู่กับขนาดของแผลเป็นด้วย แต่ต้องเป็นการทำกับแผลเป็นที่สมบูรณ์เต็มที่แล้วเท่านั้น ไม่ใช่กับแผลเป็นที่เพิ่งเกิดขึ้น แต่ถ้าแผลเป็นมีบริเวณกว้างก็อาจต้องใช้วิธีการผ่าตัดย้ายผิวหนังส่วนใดส่วนหนึ่งมาปิด ส่วนวิธีการผ่าตัดอื่น ๆ ก็เช่น การผ่าตัดออกเป็นรูปซิกแซกเพื่อให้แผลเป็นที่เกิดขึ้นใหม่มีลักษณะใกล้เคียงกับรอยย่นตามผิวหนัง, การผ่าตัดเพื่อลดขนาดของแผลเป็นออกบ้างบางส่วน โดยไม่ตัดออกทั้งหมด หรือเรียกว่าการตัดแบบทีละน้อย, การผ่าตัดโดยใช้วิธีขัดกรอผิวหนังที่เรียกว่า dermabrasion ในกรณีที่มีแผลเป็นเป็นรอยขรุขระหรือไม่เรียบหรือเป็นรอยบุ๋ม แผลเป็นจากสิว สุกใส และแผลหลังการผ่าตัด, การใช้หัวกรอหรือใช้แสงเลเซอร์ยิงบริเวณที่ขรุขระเพื่อปรับสภาพผิวให้เรียบ เป็นต้น ซึ่งจะเป็นการทำโดยศัลยแพทย์ที่เชี่ยวชาญเท่านั้น และทุกครั้งที่มีการผ่าตัดก็อาจจะเกิดแผลเป็นใหม่แทนที่แผลเป็นเก่าได้เสมอ
- เลเซอร์แผลเป็น (Laser therapy) เพื่อไปทำลายเนื้อเยื่อผิวที่นูนออกให้เรียบขึ้น แต่การใช้เลเซอร์รักษาแผลเป็นก็ได้ผลปานกลาง โดยแพทย์อาจทำการรักษาควบคู่ไปกับการรักษาอื่น ๆ ด้วย เช่น การกรอผิวเพื่อปรับสภาพผิว ในกรณีที่คุณมีแผลเป็นตื้น (ภาพก่อนและหลังทำการรักษาคีลอยด์ ด้วยเครื่อง Fraxel Restore Laser)
- การทำไอพีแอล (Intense pulse light – IPL) โดยเชื่อว่าพลังงานของแสงระดับหนึ่งสามารถทำให้เนื้อเยื่อที่เป็นพังผืดเกิดการเรียงตัวได้อย่างเป็นระเบียบ เป็นผลทำให้แผลเป็นมีขนาดเล็กลง แต่จะต้องทำการรักษาเป็นเวลานานและต่อเนื่อง
- การฉายรังสี (Radio therapy) เพื่อป้องกันไม่ให้แผลเป็นนูนมากขึ้น แต่ไม่ว่าจะใช้วิธีใดในการรักษาก็ไม่ทำให้แผลเป็นนั้นหายไปได้ 100% เพียงแต่จะดีขึ้นในระดับหนึ่ง จนไม่เป็นที่สังเกตเห็นได้อย่างชัดเจน ฉะนั้นในส่วนนี้ต้องทำใจไว้ด้วย และควรระมัดระวังตัวเองให้มากขึ้น อย่าให้มีแผลเกิดขึ้นอีกจะเป็นดีที่สุด
- การใช้ความเย็นหรือไนโตรเจนเหลว (Cryotherapy) เป็นการใช้เครื่องทำความเย็นจี้บริเวณแผลให้เกิดภาวะถุงน้ำและเกิดการแตกสลายไป เทคนิคนี้พบว่าสามารถช่วยลดขนาดของแผลเป็นลงได้บ้าง เหมาะใช้กับแผลเป็นนูน
- การใช้แรงกด (Pressure therapy) ที่เป็นวิธีการรักษาเก่าแก่ เป็นการใช้แรงกดให้แผลมีขนาดแบนลง แต่ต้องทำอย่างต่อเนื่องหลายเดือน และรักษาร่วมกับวิธีอื่น
ดังที่กล่าวมาข้างต้นแล้วว่า ในปัจจุบันยังไม่มีวิธีการรักษาใดที่จะรักษารอยแผลเป็นให้หายได้แบบ 100% แต่ถ้าคุณได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีอย่างเหมาะสมจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ รอยแผลเป็นก็สามารถราบเรียบหรือจางลงได้อย่างแน่นอน ซึ่งการจะรักษาแผลเป็นด้วยวิธีการใดเป็นหลักนั้นก็ขึ้นอยู่กับขนาดของแผล ตำแหน่งของแผล การรักษาวิธีที่ผ่านมา ความต้องการของผู้ป่วย และดุลยพินิจของแพทย์ แต่โดยมากแล้วแพทย์มักจะใช้วิธีการรักษาหลักร่วมกับวิธีอื่น ๆ อยู่เสมอ
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)