แผลพุพอง (Impetigo/Ecthyma) อาการ, สาเหตุ, การรักษา ฯลฯ

แผลพุพอง

โรคพุพอง โรคแผลพุพอง หรือ โรคแผลติดเชื้อแบคทีเรีย (Impetigo/Ecthyma) เป็นการอักเสบของผิวหนังแบบหนึ่ง ซึ่งเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียชนิดสแตฟีโลค็อกคัส ออเรียส (Staphylococcus aureus) หรือชนิด สเตรปโตค็อกคัส ไพโอจีนัส (Streptococcus pyogenes) หรือที่เรียกกันในอีกชื่อหนึ่งว่า สเตรปโตค็อกคัสกลุ่มเอ (Group A streptococcus) โดยแผลพุพองสามารถแบ่งออกเป็น 2 ชนิด คือ

  1. แผลพุพองชนิดตื้น (Impetigo) เป็นการติดเชื้อของหนังกำพร้าชั้นนอกสุด (Stratum corneum) เป็นโรคที่พบได้บ่อย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเด็กวัยที่ขาดการรักษาความสะอาดและไม่สนใจดูแลบาดแผลเล็ก ๆ น้อย ๆ สามารถติดต่อกันได้ง่าย แต่ไม่อันตราย และสามารถหายเองได้ภายใน 2 สัปดาห์โดยไม่มีแผลเป็น โดยสามารถติดต่อได้จากการสัมผัสถูกแผลพุพองโดยตรง หรือจากการสัมผัสของเล่นเด็ก ของใช้ หรือเสื้อผ้าของผู้ที่เป็นโรคแผลพุพองมาก่อน ซึ่งเชื้อจะเข้าสู่ผิวหนังผ่านทางรอยถลอก และเชื้อจะแพร่กระจายจากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่งโดยการเกาหรือตามเสื้อผ้า
  2. แผลพุพองชนิดลึก (Ecthyma) เป็นการติดเชื้อที่ลึกถึงชั้นหนังแท้ (Dermis) มักพบได้ในเด็กที่สุขภาพไม่ดี ในเด็กวัยเรียนหรือในผู้ใหญ่ที่ไม่รู้จักรักษาความสะอาด ไว้เล็บยาว ผิวหนังสกปรก ไม่ใส่ใจดูแลบาดแผลเล็ก ๆ น้อย ๆ เช่น รอยขีดข่วน รอยถลอก รอยแผลจากยุงหรือแมลงกัด หรืออาจพบเป็นภาวะแทรกซ้อนของโรคผิวหนังอื่น ๆ เช่น ผื่นแพ้ ผื่นคัน หิด เหา เริม งูสวัด อีสุกอีใส เป็นต้น

หมายเหตุ : แผลพุพอง (Impetigo) ที่กล่าวถึงในบทความนี้เป็นคนละอาการกับบาดแผลไฟไหม้น้ำร้อนลวก (Burns) ซึ่งมักมีสาเหตุมาจากอุบัติเหตุ ความประมาท หรือขาดความระมัดระวัง

อาการของแผลพุพอง

  • แผลพุพองชนิดตื้น (Impetigo) แบ่งออกเป็น 2 ลักษณะ คือ
    1. แผลพุพองชนิดตื้นแบบไม่มีตุ่มน้ำใส (Non-Bullous impetigo) มักพบตามใบหน้า ใบหู จมูก ปาก ศีรษะ ก้น และบริเวณนอกร่มผ้า เช่น มือ แขน ขา หัวเข่า หรือบริเวณที่มีผื่นแพ้หรือแผลอยู่เก่า เป็นชนิดที่พบได้เป็นส่วนใหญ่ มักพบในเด็กวัย 2-5 ขวบ โดยรอยโรคจะเริ่มจากเป็นผื่นแดงและคัน ต่อมาจะกลายเป็นตุ่มน้ำใสเล็ก ๆ มีฐานสีแดง (ในรายที่ติดเชื้อสเตรปโตค็อกคัส) ต่อมากลายเป็นตุ่มหนอง ซึ่งจะแตกออกง่าย กลายเป็นสีแดงและมีน้ำเหลืองเหนียว ๆ ติดเยิ้ม แห้งกรังเป็นสะเก็ดเกรอะกรังสีเหลือง ๆ คล้ายน้ำผึ้ง เมื่อผื่นส่วนแรกแตกแล้ว มักจะมีผื่นขึ้นตามบริเวณข้างเคียงหลายตุ่ม และอาจลุกลามไปยังส่วนอื่น ๆ ของร่างกายได้ง่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการลุกลามจากการเกา ในบางรายอาจมีไข้ต่ำหรือต่อมน้ำเหลืองโตร่วมด้วย และถ้าเป็นพุพองที่ศีรษะชาวบ้านจะเรียกว่า “ชันนะตุ
    2. แผลพุพองชนิดตื้นแบบที่เป็นตุ่มน้ำใส (Bullous impetigo) รอยโรคมักขึ้นตามที่อับชื้น มักพบในเด็กแรกเกิด มีสาเหตุมาจากสารพิษของเชื้อสแตฟีโลค็อกคัส ออเรียส (Staphylococcus aureus) ที่ผิวหนังชั้นหนังกำพร้า ทำให้เกิดเป็นตุ่มน้ำใสสีเหลืองขนาดใหญ่ แตกได้ง่าย ผิวหนังรอบ ๆ มีรอยแดง ซึ่งจะทำให้เด็กแสบร้อน ร้องไห้โยเย แต่ไม่มีไข้หรืออาการรุนแรงอื่น ๆ
  • แผลพุพองชนิดลึก (Ecthyma) มักพบขึ้นบริเวณขา ในระยะแรกเริ่มจะขึ้นเป็นตุ่มแดง ตุ่มน้ำ หรือตุ่มหนองเล็ก ๆ มีฐานสีแดง แล้วจะโตขึ้นอย่างช้า ๆ มีขนาดประมาณ 1-3 เซนติเมตร ต่อมาจะมีสะเก็ดหนาปกคลุม ลักษณะเป็นสะเก็ดแข็งสีคล้ำติดแน่น ข้างใต้เป็นน้ำหนอง ถ้าเป็นนาน ๆ ขอบแผลจะยกนูน เมื่อหายแล้วจะกลายเป็นแผลเป็น

ภาวะแทรกซ้อนของแผลพุพอง

  • เชื้ออาจลุกลามเข้ากระแสเลือด ทำให้เป็นโลหิตเป็นพิษได้ ถ้าพบในทารกอาจมีอันตรายร้ายแรงได้
  • ภาวะแทรกซ้อนรุนแรงที่อาจเกิดขึ้นจากโรคแผลพุพองชนิดตื้นแบบไม่มีตุ่มน้ำ (Non-Bullous impetigo) ในกรณีที่เกิดจากเชื้อบีตาฮีโมไลติกสเตร็ปโตค็อกคัสกลุ่มเอ (Group A Beta hemolytic streptococcus) คือ อาจทำให้เป็นหน่วยไตอักเสบเฉียบพลัน (Poststreptococcal glomerulonephritis) ได้ ซึ่งการรักษาด้วยยาปฏิชีวนะจะช่วยลดการเกิดของภาวะแทรกซ้อนชนิดนี้
  • ภาวะแทรกซ้อนรุนแรงที่อาจเกิดขึ้นจากโรคแผลพุพองแบบที่เป็นตุ่มน้ำใส (Bullous impetigo) คือ กลุ่มอาการผิวหนังลอกทั้งตัวจากเชื้อสแตฟีโลค็อกคัส (Staphylococcal scalded skin syndrome – SSSS) ซึ่งเกิดจากการกระจายของสารพิษเข้ากระแสเลือด ในเด็กจะมีไข้ กระวนกระวาย ต่อมาภายใน 24-48 ชั่วโมง จะมีตุ่มน้ำใสขึ้นทั่วตัว เมื่อแตกหนังกำพร้าจะหลุดลอกเหลือแต่หนังแท้สีแดงที่อยู่ข้างใต้คล้ายกับถูกไฟไหม้ และจะมีการสูญเสียน้ำออกทางผิวหนังอยู่ตลอดเวลา จึงทำให้เด็กมีอาการเจ็บปวดทุรนทุรายมาก ซึ่งต้องให้การรักษาอย่างเร่งด่วน
  • สำหรับแผลพุพองชนิดลึก เมื่อแผลหายแล้วมักจะทำให้เกิดแผลเป็น

การวินิจฉัยโรคแผลพุพอง

โดยทั่วไปแพทย์สามารถวินิจฉัยโรคนี้ได้จากการสอบถามประวัติอาการ ประวัติการเกิดแผล ประวัติการสัมผัสโรค จากการตรวจร่างกาย และจากการตรวจดูรอยโรคเป็นสำคัญ โดยแพทย์อาจส่งเพาะเชื้อจากแผลเพื่อยืนยันถึงชนิดของเชื้อโรคและเพื่อดูประสิทธิภาพของยาปฏิชีวนะต่อเชื้อที่ก่อโรคแผลพุพอง หรืออาจทำการตัดชิ้นเนื้อจากรอยโรคเพื่อการตรวจทางพยาธิวิทยาในกรณีที่แพทย์ไม่แน่ใจในการวินิจฉัยหรือพบในผู้ป่วยที่เป็นแผลมานานและรักษาแล้วยังไม่ดีขึ้น

ในผู้ใหญ่ที่เป็นโรคแผลพุพองแบบตุ่มน้ำใส ต้องวินิจฉัยแยกโรคจากโรคเริม, อีสุกอีใส, โรคบุลลัสเพมฟิกอยด์ (Bullous pemphigoid), โรคเพมฟิกัสวัลการิส (Pemphigus vulgaris), ตุ่มจากความร้อน และตุ่มจากแมลงกัด

วิธีรักษาแผลพุพอง

เมื่อมีบาดแผลที่ไม่หายจากการดูแลตนเองในเบื้องต้นหรือมีอาการแย่ลง เช่น มีหนอง แผลลุกลามขยายใหญ่ขึ้น หรือมีอาการเจ็บหรือปวด หรืออักเสบมากขึ้น ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุและรับการรักษาอย่างถูกต้อง

  • ในกรณีที่มีหนองและน้ำเหลืองให้ทำความสะอาดและทำแผลแบบเปียก (Wet dressing) ด้วยน้ำเกลือสำหรับล้างแผล (ใช้น้ำเกลือทำความสะอาดแผลจนสะอาด ซับแผลให้แห้ง ใช้ผ้าก็อซทบหนา 6-8 ชั้น แล้วชุบน้ำเกลือ (0.9% Normal saline) ให้พอชุ่มแปะที่แผลทิ้งไว้ประมาณ 30 นาที จากนั้นให้เอาผ้าก๊อซเปียกออก ซับแผลให้พอหมาด แล้วปิดแผลด้วยผ้าก๊อซแห้งอีกครั้ง)
  • แผลพุพองชนิดตื้น ถ้าเป็นน้อย แพทย์อาจให้ใช้แค่ยาปฏิชีวนะในรูปแบบทาที่เหมาะสมกับชนิดของเชื้อเพื่อกำจัดเชื้อบริเวณแผลและช่วยให้แผลหายเร็วขึ้น เช่น ขี้ผึ้งเตตราไซคลีน (Tetracycline), การามัยซินครีม (Garamycin cream), ฟิวซิดินครีม (Fucidin cream), ยาทาแบคโตรแบน (Bactroban) หรือเจนเชียนไวโอเลต (Gentian violet) หลังการอาบน้ำทุกครั้ง โดยให้ทาวันละ 3-4 ครั้ง แต่ในกรณีที่เป็นมากถึงค่อยให้ใช้ยาปฏิชีวนะชนิดรับประทาน เช่น เพนิซิลลินวี (Penicillin V), คล็อกซาซิลลิน (Cloxacillin), ไดคล็อกซาซิลลิน (Dicloxacillin), อิริโทรมัยซิน (Erythromycin) หรือโคอะม็อกซิคลาฟ (Co-amoxiclav) ตามชนิดของเชื้อ เช่น หากเกิดจากเชื้อสแตฟีโลค็อกคัสจะใช้คล็อกซาซิลลิน หรือถ้าเกิดจากเชื้อสเตร็ปโตค็อกคัสจะใช้เพนิซิลลิน เป็นต้น ถ้าอาการดีขึ้นภายใน 3-5 วัน ให้รับประทานยาปฏิชีวนะต่อไปจนครบ 10 วัน เพื่อป้องกันโรคหน่วยไตอักเสบเฉียบพลันในรายที่ติดเชื้อบีตาฮีโมไลติกสเตร็ปโตค็อกคัสกลุ่มเอ
  • แผลพุพองชนิดลึก ถ้าเป็นไม่มาก แพทย์จะให้รับประทานยาคล็อกซาซิลลิน (Cloxacillin) ในขนาด 100 มิลลิกรัม/กิโลกรัม/วัน และติดตามผลการรักษา เนื่องจากผู้ป่วยอาจมีภาวะแทรกซ้อน เช่น การติดเชื้อลุกลาม หรือมีหนองสะสมทำให้ต้องดูดเอาหนองออก หรือทำการผ่าเอาหนองออก (Incision and Drainage) แต่ในกรณีที่เป็นมาก ผู้ป่วยมีโรคประจำตัว เช่น เบาหวาน ภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง โรคตับแข็ง เด็กเล็ก หรือผู้ป่วยมีไข้สูงร่วมด้วย แพทย์จะให้การรักษาด้วยยาปฏิชีวนะชนิดฉีด (แนะนำให้ไปรับการรักษากับแพทย์ที่โรงพยาบาล)
  • ส่วนในรายที่มีอาการคันมาก อาจพิจารณาให้รับประทานยาแก้แพ้ เช่น คลอร์เฟนิรามีน (Chlorpheniramine) หรือไฮดรอกไซซีน (Hydroxyzine) เป็นต้น
  • การดูแลตนเองเมื่อเป็นแผลพุพอง ผู้ป่วยควรปฏิบัติดังนี้
    1. ปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ โดยเฉพาะรับประทานยาตามที่แพทย์สั่งให้ถูกต้องครบถ้วน ไม่หยุดยาเอง และไปพบแพทย์ตามนัดเสมอ
    2. ทำความสะอาดแผลด้วยน้ำเกลือล้างแผล (Normal saline)
    3. ล้างมือให้สะอาดบ่อย ๆ ด้วยสบู่และน้ำ หรือแอลกอฮอล์เจลสำหรับฆ่าเชื้อโรค โดยเฉพาะหลังการสัมผัสแผล
    4. ตัดเล็บให้สั้น รวมถึงรักษาความสะอาดเสื้อผ้าและเครื่องใช้อยู่เสมอ
    5. ไม่แคะ แกะ เกา หรือบีบบริเวณแผล เพราะจะเพิ่มโอกาสให้เชื้อกระจายไปยังผิวหนังบริเวณอื่น ๆ แผลลุกลามลงลึก และทำให้แผลหายช้า
    6. อาบน้ำฟอกสบู่วันละ 2 ครั้ง และใช้น้ำด่างทับทิมชะล้างเอาคราบสะเก็ดออกไป สำหรับแผลพุพองที่มีสะเก็ดแข็งควรประคบด้วยน้ำอุ่นจัด ๆ และชุ่ม ๆ เพื่อให้สะเก็ดนุ่มและหลุดออกได้เร็วขึ้น
    7. รักษาสุขอนามัยพื้นฐานโดยการปฏิบัติตามหลักสุขบัญญัติแห่งชาติ 10 ประการ เพื่อให้ร่างกายมีสุขภาพแข็งแรงและลดโอกาสการติดเชื้อโรคต่าง ๆ
    8. ถ้าอาการพุพองยังไม่ดีขึ้น หรืออาการต่าง ๆ แย่ลง (เช่น มีการอักเสบมากขึ้น มีหนอง หรือลุกลามขยายใหญ่ขึ้น) หรือมีอาการใหม่ที่เคยมีมาก่อน (เช่น ตาบวม แขนขาบวม ปัสสาวะเป็นเลือด) หรือเมื่อกังวลในอาการ หรือพบในทารก ควรพาไปพบแพทย์ หรือพบแพทย์ก่อนนัดเสมอเพื่อตรวจวินิจฉัยและรับการรักษาอย่างถูกต้องต่อไป โดยแพทย์อาจต้องย้อมเชื้อหรือเพาะเชื้อ และให้ยาปฏิชีวนะตามชนิดของเชื้อที่ตรวจพบ
รักษาแผลพุพอง
IMAGE SOURCE : www.wikihow.com

วิธีป้องกันแผลพุพอง

การป้องกันโรคแผลพุพองคือการป้องกันไม่ให้แผลติดเชื้อ ซึ่งสามารถทำได้โดย

  1. เมื่อมีบาดแผลเกิดขึ้นไม่ว่าจะเป็นบาดแผลเล็ก ๆ น้อย ๆ รอยถลอก หรือรอยขีดข่วน ก็ควรรักษาความสะอาดแผลทันที และอาจทาแผลด้วยยาฆ่าเชื้อหรือยาปฏิชีวนะที่เหมาะสมจนกว่าแผลจะหาย
  2. ตัดเล็บให้สั้น ไม่แคะ แกะ เกา หรือบีบบริเวณที่เป็นแผล
  3. ล้างมือให้สะอาดบ่อย ๆ และล้างมือทุกครั้งหลังจากสัมผัสแผล รวมถึงการทำความสะอาดเสื้อผ้าและเครื่องใช้ที่สัมผัสกับแผล
  1. หมั่นรักษาความสะอาดผิวหนังอยู่เสมอด้วยการอาบน้ำฟอกสบู่วันละ 2 ครั้ง
  2. ทำความสะอาดผิวหนังทุกครั้งด้วยสบู่เมื่อสัมผัสกับสิ่งสกปรก
  3. ไม่คลุกคลีกับผู้ป่วยที่มีแผลพุพอง และไม่ใช้สิ่งของเครื่องใช้ร่วมกัน
  4. รักษาสุขอนามัยพื้นฐานโดยการปฏิบัติตามหลักสุขบัญญัติแห่งชาติ 10 ประการ
  5. เพื่อป้องกันไม่ให้แผลลุกลาม เมื่อเกิดแผลพุพอง แผลเป็นหนอง แผลติดเชื้อ ทางที่ดีที่สุดคือการไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาล ผู้ป่วยไม่ควรซื้อยาปฏิชีวนะมาใช้เอง
  6. นอกจากการดูแลรักษาบาดแผลเล็ก ๆ น้อย ๆ แล้ว การรักษาโรคผิวหนังที่เป็นอยู่ เช่น หิด เหา เริม งูสวัด อีสุกอีใส ก็ควรรักษาอย่างจริงจังด้วย

ลักษณะของโรคแม้จะไม่รักษาก็สามารถหายได้เอง แต่การรักษาจะช่วยลดการแพร่กระจาย ลดระยะเวลาที่เป็น และภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นในภายหลังได้ ซึ่งในผู้ป่วยที่มีสุขภาพแข็งแรง แม้ไม่ได้รับการรักษา แผลก็อาจหายไปได้เองภายใน 2-3 สัปดาห์ แต่หากได้รับการรักษาที่เหมาะสมแผลจะดีขึ้นภายใน 7-10 วัน ส่วนผู้ป่วยที่มีผื่นที่ผิวหนังจากโรคอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น ผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง ผื่นผิวหนังที่เกิดจากร่างกาย การติดเชื้อพยาธิก็อาจทำให้โรคหายช้ากว่าปกติ เป็นต้น และโรคนี้เมื่อรักษาหายแล้วก็สามารถกลับมาเป็นซ้ำได้อีก และโดยทั่วไปถ้าการติดเชื้อไม่ลุกลามลงไปในผิวหนังชั้นลึก ๆ หลังแผลหายแล้วก็มักจะไม่เกิดแผลเป็น

เรื่องที่เกี่ยวข้อง
เอกสารอ้างอิง
  1. หนังสือตำราการตรวจรักษาโรคทั่วไป 2.  “แผลพุพอง (Impetigo/Ecthyma)”.  (นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ).  หน้า 988-989.
  2. กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข.  “โรคติดเชื้อแบคทีเรียที่ผิวหนัง”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.dms.moph.go.th.  [26 ส.ค. 2016].
  3. หาหมอดอทคอม.  “โรคพุพอง (Impetigo)”.  (พญ.ธนัฐนุช วงศ์ชินศรี).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : haamor.com.  [28 ส.ค. 2016].
  4. MutualSelfcare.  “โรคพุพอง (Impetigo)”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : mutualselfcare.org.  [28 ส.ค. 2016].
  5. Siamhealth.  “แผลพุพองหรือที่เรียกว่า Bullous impetigo”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.siamhealth.net.  [28 ส.ค. 2016].

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด