แคหางค่าง สรรพคุณและประโยชน์ของต้นแคหางค่าง 11 ข้อ !

แคหางค่าง สรรพคุณและประโยชน์ของต้นแคหางค่าง 11 ข้อ !

แคหางค่าง

แคหางค่าง ชื่อวิทยาศาสตร์ Markhamia stipulata (Wall.) Seem. (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Markhamia stipulata var. kerrii Sprague, Dolichandrone cauda-felina (Hance) Benth. ex Hemsl., Markhamia cauda-felina (Hance) Sprague[1],[3]) จัดอยู่ในวงศ์แคหางค่าง (BIGNONIACEAE)[1]

สมุนไพรแคหางค่าง ชนิดนี้มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า แคเขา (ภาคเหนือ)[1]

หมายเหตุ : ต้นแคหางค่างที่กล่าวถึงในบทความนี้เป็นคนละชนิดกับต้นแคหางค่างที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Fernandoa adenophylla (Wall. ex G.Don) Steenis และเป็นคนละชนิดกับแคหางค่างหรือแคหัวหมูที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Markhamia stipulata var. stipulata[1]

ลักษณะของแคหางค่าง

  • ต้นแคหางค่าง จัดเป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางที่มีความสูงได้ประมาณ 5-15 เมตร และอาจสูงได้ถึง 20 เมตร มีลักษณะทั่วไปคล้ายแคหัวหมู แต่ใบประกอบจะสั้นกว่าเล็กน้อย มีเขตการกระจายพันธุ์ในจีนตอนใต้ ลาว เวียดนามและทางภาคเหนือของไทย โดยมักพบขึ้นตามป่าเบญจพรรณชื้น ป่าผลัดใบผสม ป่าดิบแล้ง และชายป่าดิบเขาทั่วไป ที่ระดับความสูงประมาณ 400-1,600 เมตร[1],[2],[3]
  • ใบแคหางค่าง ใบเป็นใบประกอบแบบขนนก ออกเรียงตรงข้าม ใบย่อยมีหลายคู่หรือประมาณ 4-8 คู่ ลักษณะของใบย่อยเป็นรูปขอบขนาน รูปวงรีแกมขอบขนาน หรือรูปวงรีแกมใบหอกถึงรูปใบหอก ปลายใบแหลม เรียวแหลม หรือยาวคล้ายหาง ส่วนโคนใบแหลมกว้างถึงกลม ใบมีขนาดกว้างประมาณ 6-13 เซนติเมตร และยาวประมาณ 12-26 เซนติเมตร มีต่อมรูปถ้วยที่บริเวณใกล้โคนใบ ใบอ่อนมีขนสีน้ำตาลแดงหนาแน่น[1],[2],[3]
  • ดอกแคหางค่าง ออกดอกเป็นช่อกระจะที่ปลายกิ่ง ยาวประมาณ 10-25 เซนติเมตร ดอกย่อยมีหลายดอก ขนาดใหญ่ กลีบดอกเป็นสีเหลืองหม่น เมื่อดอกบานเต็มที่จะมีขนาดกว้างประมาณ 10 เซนติเมตร ออกดอกในช่วงประมาณเดือนตุลาคมถึงเดือนกุมภาพันธ์[1],[2],[3]
  • ผลแคหางค่าง ผลมีลักษณะเป็นฝัก ลักษณะของฝักเป็นรูปทรงกระบอก แตกออกได้ตามพู ฝักมีขนาดกว้างประมาณ 2.5-3.5 เซนติเมตร และยาวประมาณ 35-55 เซนติเมตร และมีขนยาวคล้ายขนสัตว์ขึ้นปกคลุมแน่น เมล็ดเป็นรูปสามมุมและปักเป็นเยื่อ ติดผลในช่วงประมาณเดือนพฤศจิกายนถึงเดือนเมษายน[1],[2],[3]

สรรพคุณของแคหางค่าง

  1. เมล็ดใช้เป็นยาบำรุงโลหิต (เมล็ด)[1],[3]
  2. เมล็ดใช้เป็นยาขับเสมหะ (เมล็ด)[1],[3]
  3. ตำรายาพื้นบ้านล้านนาจะใช้เปลือกต้นแคหางค่าง นำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้ท้องอืดเฟ้อ (เปลือกต้น)[1],[3]
  4. ใบใช้เป็นยาห้ามเลือด (ใบ)[1]
  5. ใบใช้ตำพอกรักษาแผล แผลสด แผลถลอก แผลไฟไหม้น้ำร้อนลวก (ใบ)[1],[3]
  6. ใบใช้ต้มกับน้ำอาบหรือนำมาตำคั้นเอาน้ำเป็นยาทาหรือพอกแก้โรคผิวหนัง ผื่นคัน หูด (ใบ)[1]
  7. ชาวเขาเผ่าอีก้อ กะเหรี่ยงจะใช้ราก ต้น และเปลือกผล นำมาต้มกับน้ำอาบบรรเทาอาการปวดตามร่างกาย ปวดหลัง (ต้น, ราก, เปลือกผล)[1]
  8. เมล็ดใช้เป็นยาแก้โรคชัก (เมล็ด)[1],[3]

ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของแคหางค่าง

  • สารสกัดจากเปลือกต้นด้วยแอลกอฮอล์มีฤทธิ์ต้านเชื้อไวรัสเอดส์ (HIV-1) ได้บ้าง มีฤทธิ์ในการต้านเชื้อราได้ดี และยังพบว่ามีฤทธิ์ลดความดันโลหิตในสัตว์ทดลองอีกด้วย[1]

ประโยชน์ของแคหางค่าง

  1. ดอกสดมีรสขมใช้รับประทานร่วมกับน้ำพริกหรือกับลาบ[2]
  2. ขนที่ฝักแก่เอามาใช้ยัดหมอนแทนนุ่น[4]
  3. เนื้อไม้นำมาใช้ทำโครงสร้างต่าง ๆ ของบ้าน เช่น ฝาบ้าน ไม้กระดานดำ หรือใช้ทำด้ามปืน เป็นต้น[4]
เอกสารอ้างอิง
  1. หนังสือสมุนไพรพื้นบ้านล้านนา.  (ภาควิชาเภสัชพฤกษศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล).  “แคหางค่าง”.  หน้า 148.
  2. ฐานข้อมูลพรรณไม้ องค์การสวนพฤกษศาสตร์, กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม.  “แคหางค่าง”.  อ้างอิงใน : หนังสือไม้ต้นในสวน Tree in the Garden.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.qsbg.org.  [11 ม.ค. 2015].
  3. ฐานข้อมูลชนิดพรรณพืช พื้นที่เขื่อนศรีนครินทร์ จังหวัดกาญจนบุรี.  “แคหางค่าง”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.en.mahidol.ac.th/conservation/.  [11 ม.ค. 2015].
  4. โครงการเผยแพร่ข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นบนพื้นที่สูง, สถาบันวิจัยและพัฒนาที่สูง (องค์กรมหาชน).  “แคหางค่าง”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : eherb.hrdi.or.th.  [11 ม.ค. 2015].

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด