แครอท
แครอท ชื่อสามัญ Carrot
แครอท ชื่อวิทยาศาสตร์ Daucus carota L. จัดอยู่ในวงศ์ผักชี (APIACEAE หรือ UMBELLIFERAE)
แครอท เป็นพืชในแถบเอเชียตะวันออกและเอเชียกลาง เป็นที่นิยมปลูกและรับประทานทั้งในประเทศและต่างประเทศ มีหลายขนาดตั้งแต่ขนาดเล็กเท่าดินสอไปจนถึงขนาดใหญ่ และมีหลากหลายสี เช่น สีเหลือง สีม่วง แต่ที่นิยมรับประทานนั้นจะเป็นแครอทสีส้มและยังจัดเป็นอาหารเพื่อสุขภาพอีกด้วย
แครอทเป็นผักหรือผลไม้ ?
ตอบ แครอทเป็นผัก เพราะแครอทคือส่วนของราก ซึ่งถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของพืชนั่นเอง แครอทจึงไม่ใช่ผลไม้
แครอทอุดมไปด้วยวิตามินและแร่ธาตุที่มีประโยชน์ เช่น เบตาแคโรทีน วิตามินเอ วิตามินบี 1 วิตามินบี 2 วิตามินซี วิตามินอี ธาตุแคลเซียม ธาตุโพแทสเซียม ธาตุฟอสฟอรัส ธาตุเหล็ก และยังมีสารสำคัญคือสาร “ฟอลคารินอล” (falcarinol) ซึ่งช่วยต่อต้านเซลล์มะเร็ง เป็นต้น สำหรับประโยชน์ของแครอทนั้นที่เด่น ๆ ก็เห็นจะเป็นการนำมาใช้ประกอบอาหารได้อย่างหลากหลายเมนู ไม่ว่าจะเป็นของหวานของคาว ทั้งผัด ทอด แกง ต้ม ซุป สลัด ยำ ก็มีแครอทเป็นส่วนประกอบทั้งนั้น และยังมีเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพอย่างน้ำแครอทปั่นอีกด้วย ยังไม่หมดเท่านี้สรรพคุณของแครอทที่ใช้เป็นยารักษาโรคก็ใช้รักษาได้อย่างหลากหลายเช่นกัน
สรรพคุณของแครอท
- ช่วยบำรุงสุขภาพผิวให้สดใสเปล่งปลั่ง
- ช่วยป้องกันเซลล์ผิวไม่ให้ถูกทำลายได้ง่ายจากมลภาวะแสงแดดต่าง ๆ
- ช่วยเสริมสร้างการเจริญเติบโตของร่างกาย
- ช่วยบำรุงกระดูก ฟัน เหงือก เล็บ ให้แข็งแรงยิ่งขึ้น
- มีสารต่อต้านอนุมูลอิสระ ซึ่งมีส่วนช่วยในการชะลอวัยและการเกิดริ้วรอยแห่งวัย
- ช่วยสร้างสร้างภูมิต้านทานโรคของร่างกายให้แข็งแรงยิ่งขึ้น
- ช่วยยับยั้งต่อต้านการเกิดโรคมะเร็ง
- ช่วยลดระดับคอเลสเตอรอลในร่างกาย
- ช่วยรักษาโรคความดันโลหิตสูง
- ช่วยรักษาระดับน้ำตาลในเลือด
- ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในระบบไหลเวียนของเลือด
- ช่วยบำรุงเซลล์ผิวหนัง
- ช่วยบำรุงเส้นผม
- ช่วยลดอัตราการเกิดโรคหลอดเลือดสมอง อัมพฤษ์ อัมพาต
- ช่วยลดความเสี่ยงจากการเกิดโรคหัวใจและภาวะหัวใจล้มเหลว
- ช่วยบำรุงและรักษาสายตา รักษาโรคตาฟาง และต้อกระจก
- ช่วยรักษาโรคถุงลมโป่งพองและไทยรอยด์เป็นพิษ
- ช่วยย่อยอาหาร และช่วยแก้และบรรเทาท้องผูก
- แครอทมีสรรพคุณใช้เป็นยาขับปัสสาวะ
- ใช้เป็นยาถ่ายพยาธิไส้เดือน
- ช่วยรักษาฝี แผลเน่าต่าง ๆ
ประโยชน์ของแครอท
- นิยมนำมาประกอบอาหารทั้งคาวและหวาน
- ใช้ทำเป็นน้ำผลไม้เพื่อสุขภาพหรือน้ำแครอท หรือนำมาทำเป็นเค้กแครอท
- ในด้านความงาม นำน้ำแครอทผสมมะนาว ทาผิวหน้าบำรุงผิวพรรณ ลดรอยเหี่ยวย่นบนใบหน้า
- ใช้เป็นส่วนผสมในเครื่องสำอางบางชนิด เช่น สบู่แครอท เป็นต้น
คุณค่าทางโภชนาการของแครอท ต่อ 100 กรัม
- พลังงาน 41 กิโลแคลอรี
- คาร์โบไฮเดรต 9.6 กรัม
- น้ำตาล 4.7 กรัม
- เส้นใย 2.8 กรัม
- ไขมัน 0.24 กรัม
- โปรตีน 0.93 กรัม
- วิตามินเอ 835 ไมโครกรัม 104%
- เบตาแคโรทีน 8,285 ไมโครกรัม 77%
- ลูทีนและซีแซนทีน 256 ไมโครกรัม
- วิตามินบี 1 0.066 มิลลิกรัม 6%
- วิตามินบี 2 0.058 มิลลิกรัม 5%
- วิตามินบี 3 0.983 มิลลิกรัม 7%
- วิตามินบี 5 0.273 มิลลิกรัม 5%
- วิตามินบี 6 0.138 มิลลิกรัม 11%
- วิตามินบี 9 19 ไมโครกรัม 5%
- วิตามินซี 5.9 มิลลิกรัม 7%
- วิตามินอี 0.66 มิลลิกรัม 4%
- ธาตุแคลเซียม 33 มิลลิกรัม 3%
- ธาตุเหล็ก 0.3 มิลลิกรัม 2%
- ธาตุแมกนีเซียม 12 มิลลิกรัม 3%
- ธาตุแมงกานีส 0.143 มิลลิกรัม 7%
- ธาตุฟอสฟอรัส 35 มิลลิกรัม 5%
- ธาตุโพแทสเซียม 320 มิลลิกรัม 7%
- ธาตุโซเดียม 69 มิลลิกรัม 5%
- ธาตุสังกะสี 0.24 มิลลิกรัม 3%
- ธาตุฟลูออไรด์ 3.2 ไมโครกรัม
% ร้อยละของปริมาณแนะนำที่ร่างกายต้องการในแต่ละวันสำหรับผู้ใหญ่ (ข้อมูลจาก : USDA Nutrient database)
วิธีทำน้ําแครอท
- อันดับแรกให้เตรียมวัตถุดิบดังนี้ แครอท 1 ผล / น้ำเชื่อม 1 ถ้วย / เกลือ 2 ช้อนชา / น้ำมะนาว 2 ช้อนโต๊ะ / และน้ำต้มสุก 4 ถ้วย
- นำแครอทมาล้างน้ำให้สะอาด แล้วปอกเปลือกออก หั่นเป็นชิ้นเล็ก ๆ
- จากนั้นนำแครอทที่ได้ใส่โถปั่น แล้วตามด้วยน้ำเชื่อม น้ำต้มสุก น้ำมะนาว และเกลือ
- ปั่นจนเนื้อละเอียด เป็นอันเสร็จจะได้น้ำแครอทฝีมือเราแล้ว (จะดื่มสด ๆ หรือนำไปแช่เย็นหรือเติมน้ำแข็งก็ได้ตามใจชอบเลย)
- หรืออีกสูตรให้นำแครอทที่หั่นเป็นชิ้นเล็ก ๆ ครึ่งถ้วย / น้ำเชื่อม 5 ช้อนโต๊ะ / น้ำแข็งบด 1 ถ้วย นำมาปั่นรวมกันก็อร่อยใช้ได้เหมือนกัน เสร็จแล้ววิธีทำน้ำแครอท
การรับประทานแครอทให้ได้คุณค่าทางอาหารอย่างสูงสุด มีคำแนะนำว่าควรปรุงให้สุกก่อนนำมารับประทาน เนื่องจากแครอทมีผนังเซลล์ที่แข็ง การรับประทานแบบดิบ ๆ จะได้รับประโยชน์ไม่เต็มที่ เพราะร่างกายได้รับสารเบตาแคโรทีนไม่ถึง 25% การทำให้สุกก่อนนำมารับประทานจะทำให้ผนังเซลล์ที่แข็งตัวสลายออกไป ทำให้ร่างกายได้รับเบต้าแคโรทีนได้อย่างสูงสุด และมีคำแนะนำว่าควรรับประทานแครอทร่วมกับอาหารที่มีไขมัน เนื่องจากเบตาแคโรทีนละลายได้ดีในไขมัน จึงทำให้ร่างกายสามารถดูดซึมสารเบต้าแคโรทีนได้มากกว่าครึ่งจากการรับประทานปกติ (ที่มา : หนังสือชีวจิต)
แต่มีงานวิจัยล่าสุดออกมาว่าไม่ควรหั่นแครอทเป็นชิ้น ๆ ก่อนนำมาปรุงอาหาร เพราะจะทำให้สูญเสียประสิทธิภาพของสาร “ฟอลคารินอล” ซึ่งเป็นสารต้านมะเร็งที่อยู่ในแครอท เนื่องจากการหั่นแครอทเป็นชิ้น ๆ จะไปเพิ่มพื้นที่ผิวซึ่งทำให้สารอาหารที่เราควรจะได้รับถูกกรองทิ้งลงไปรวมกับน้ำในขณะประกอบอาหาร ดังนั้นถ้าอยากให้สารอาหารครบถ้วนก็ไม่ควรนำแครอทไปหั่นก่อนการปรุงอาหาร แต่ควรนำมาหั่นหลังปรุงอาหารเสร็จแล้วจะดีกว่า
แครอทนั้นนอกจากจะมีประโยชน์ต่อร่างกาย แต่สิ่งที่ต้องระวังก็คือสารตะกั่วที่อาจจะเป็นของแถมที่คุณไม่ต้องการ เพราะถ้าแครอทที่นำมาขายนั้นเพาะปลูกใกล้แหล่งอุตสาหกรรมหรือใกล้แหล่งน้ำที่มีสารตะกั่วปนเปื้อน จะทำให้แครอทดูดซึมสารตะกั่วเข้าไปสะสมในหัวแครอทได้ การนำมารับประทานสด ๆ จึงเท่ากับว่าร่างกายได้รับสารตะกั่วเข้าไปเต็ม ๆ แต่สารตะกั่วนั้นการปลอมปนเพียงเล็กน้อยถือว่าเป็นเรื่องปกติถ้าไม่เกินค่ามาตรฐานคือ 1 มิลลิกรัมต่ออาหาร 1 กิโลกรัมถือว่ารับประทานได้อย่างอย่างปลอดภัย ดังนั้นควรเลือกซื้อแครอทที่มาจากแหล่งเพาะปลูกที่ปลอดภัย หรือเลือกรับประทานผักผลไม้ให้หลากหลาย และการรับประทานแครอทสีส้มเป็นจำมากเป็นประจำติดต่อกันอาจทำให้สีผิวเปลี่ยนเป็นสีเหลืองได้ (สารตะกั่วมีผลเสียโดยตรงกับระบบประสาท ระบบการทำงานของไต ทางเดินอาหาร เซลล์ไขกระดูก อาการเบื่ออาหาร คลื่นไส้อาเจียน โรคโลหิตจาง ทำให้เซลล์เม็ดเลือดแดงแตกง่าย)
แหล่งอ้างอิง : วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี, หนังสือชีวจิต
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)