แครนเบอร์รี่
แครนเบอร์รี่ ภาษาอังกฤษ Cranberry จัดอยู่ในวงศ์ ERICACEAE[1]
แครนเบอร์รี่ จัดเป็นผลไม้ตระกูลเบอร์รี่ มีลักษณะเป็นไม้เลื้อย นิยมปลูกเพื่อประโยชน์เชิงพาณิชย์ในอเมริกา ผลแครนเบอร์รี่เป็นผลสีแดงสด มีรสเปรี้ยวหวาน[3]
สรรพคุณของแครนเบอร์รี่
- ช่วยป้องกันโรคเหงือก[2]
- ช่วยรักษาแผลในช่องท้อง[2]
- ช่วยรักษาโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ โรคทางเดินปัสสาวะอักเสบ ติดเชื้อในท่อปัสสาวะ ขจัดกลิ่นปัสสาวะได้ดี (บ้างว่าใช้แก้อาการปวดปัสสาวะแบบกระปริบกระปอยได้ด้วย)[2]
- ช่วยรักษาและป้องกันโรคที่มาจากเชื้อแบคทีเรีย โดยผลงานวิจัยของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดได้ระบุว่า การดื่มน้ำแครนเบอร์รี่วันละ 30 ml. จะช่วยลดจำนวนของแบคทีเรียในปัสสาวะลง และป้องกันการติดเชื้อแบคทีเรียในกระเพาะปัสสาวะได้ดี เพราะผลไม้ชนิดนี้มีฤทธิ์ฆ่าเชื้อแบคทีเรีย[2]
- ช่วยยับยั้งเชื้อแบคทีเรียอีโคไล (E.coli)[2] โดยมีรายงานว่าผู้หญิงที่ได้รับสารสกัดจากแครนเบอร์รี่อย่างต่อเนื่อง จะช่วยยับยั้งการยึดเกาะตัวของเชื้ออีโคไลได้อย่างมีนัยสำคัญ (p<0.0001) เมื่อเทียบกับหญิงที่ไม่ได้รับสารสกัดจากผลแครนเบอร์รี่[5]
- ด้วยความเป็นกรดอ่อน ๆ ของผลแครนเบอร์รี่ จึงสามารถช่วยยับยั้ง ป้องกัน และรักษาการเกิดนิ่วในไตได้[2],[3] การดื่มน้ำแครนเบอร์รี่ 500 มิลลิกรัม แล้วดื่มน้ำตาลอีก 1,500 มิลลิลิตร สามารถช่วยป้องกันการตกตะกอนของ Calcium oxalate ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของนิ่วในไตได้อย่างมีนัยสำคัญ เมื่อเปรียบเทียบกับการดื่มน้ำเปล่าอย่างเดียว[7]
- ช่วยทำให้ร่างกายสามารถกลับคืนสู่สภาวะปกติได้หลังเกิดอาการชัก[2]
ประโยชน์ของแครนเบอร์รี่
- แครนเบอร์รี่เป็นผลไม้ที่มีรสเปรี้ยวอมหวาน สามารถนำมาบริโภคได้ทั้งในรูปของผลสด ผลตากแห้ง น้ำคั้น หรือจะนำไปทำเป็นเครื่องดื่มประเภทสมูทตี้ผลไม้ก็ได้ ด้วยการนำส้มคั้นลูกขนาดกลาง 1 ลูก เกรปฟรุต 1/2 ลูกคั้นเอาแต่น้ำใส่ลงในเครื่องปั่น แล้วเติมผลแครนเบอร์รี่ 2 กำมือ และกล้วยอีก 1 ผลลงไป ปั่นจนเข้ากัน แล้วนำมาดื่ม จะช่วยทำให้ร่างกายรู้สึกสดชื่นกระปรี้กระเปร่าได้[3]
- แครนเบอร์รี่อุดมไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระ มีวิตามินซีสูง และยังประกอบไปด้วยสารพฤกษเคมีที่ออกฤทธิ์เป็นสารต้านอนุมูลอิสระ เช่น Catechins, Quinic acid, Hippuric acid, Proanthocyanidins, Triterpenoids, และ Tannin จึงมีประโยชน์ต่อสุขภาพโดยรวม[2]
- เนื่องจากแครนเบอร์รี่มีวิตามินซีสูง จึงช่วยเสริมสร้างภูมิต้านทานโรคให้กับร่างกาย และช่วยป้องกันโรคภัยไข้เจ็บที่มากับอากาศหนาวได้ดี[2]
- ช่วยป้องกันมะเร็งและต้านการก่อกลายพันธุ์ของเซลล์ในร่างกาย[2] มีรายงานทางการแพทย์มากมายเกี่ยวกับการบริโภคแครนเบอร์รี่ว่าสามารถช่วยลดการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งเต้านม มะเร็งปอด มะเร็งลำไส้ มะเร็งรังไข่ มะเร็งต่อมลูกหมากและอื่น ๆ ได้อีกมากมาย[4] โดยสารประกอบฟลาโวนอยด์ (Proanthocyanidins) จะเป็นตัวเหนี่ยวนำให้เกิดการตายของเซลล์มะเร็ง ซึ่งจากการศึกษาพบว่าสาร Proanthocyanidins สามารถยับยั้งกลไกการเติบโตของเซลล์มะเร็งต่อมลูกหมากด้วยหลายกลไก และพบว่าเป็นตัวเลือดที่ดีที่จะนำไปพัฒนาเป็นยาต้านมะเร็งต่อไป[14] และยังมีผลในการทำลายเซลล์มะเร็งรังไข่ได้ โดยสาร Proanthocyanidins จะเหนี่ยวนำให้เซลล์มะเร็งตายลง หรือเมื่อร่วมกับยารักษามะเร็งรังไข่ ก็จะไปช่วยเสริมฤทธิ์ยาในการลดการแพร่กระจายของเซลล์มะเร็ง[15] การรับประทานแครนเบอร์รี่สามารถช่วยลดการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งเต้านมในสัตว์ทดลองได้[3] Proanthocyanidins ที่พบได้มากในผลแครนเบอร์รี่สามารถก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของยีนมะเร็งและนำไปสู่การตายของเซลล์มะเร็งปอด[13]
- สาร Proanthocyanidins ในผลแครนเบอร์รี่มีคุณสมบัติเป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่ช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด[2] แครนเบอร์รี่ประกอบไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระนกลุ่มฟลาโวนอยด์ (Anthocyanin, Flavonoids, Proanthocyanidins) โดยที่ Flavonoids จะไปยับบั้งปฏิกิริยาออกซิเดชั่นของไขมันเลว (LDL) ทำให้ป้องกันเกิด Oxidized LDL ซึ่งเป็นสาเหตุของหลอดเลือดตีบและอุดตันได้[8]
- ช่วยลดไขมันเลว (LDL) ในเลือด ที่เป็นอันตรายต่อร่างกาย[2] สารต้านอนุมูลอิสระจากผลแครนเบอร์รี่สามารถเหนี่ยวนำให้ตัวรับไขมันเลว (LDL) ที่ตับทำงานมากขึ้น ส่งผลทำให้เพิ่มการขับออกของไขมันเลวจากระบบไหลเวียนของเลือด และเพิ่มการนำคอเลสเตอรอลเข้าสู่เซลล์ตับเพื่อขับออกได้ จึงช่วยลดคอเลสเตอรอลได้[9]
- การรับประทานแครนเบอร์รี่เป็นประจำสามารถช่วยต่อต้านอาการป่วยเรื้อรังของสมองได้[2]
- ช่วยกระตุ้นการไหลเวียนของโลหิต[2]
- แครนเบอร์รี่อุดมไปด้วยลูทีนและซีแซนทีน (Lutein & Zeaxanthin) ซึ่งมีประโยชน์ในด้านการช่วยชะลอความเสื่อมของจอประสาทตา ช่วยป้องกันรังสีจากแสงแดดที่เป็นอันตรายจ่อดวงตา ช่วยปกป้องเซลล์ของจอประสาทตาไม่ให้ถูกทำลาย ช่วยกรองแสงสีน้ำเงินที่ทำลายดวงตา และช่วยลดอุบัติการณ์ของโรคต้อกระจุก และโรคจอตาเสื่อมได้
- สาร Proanthocyanidins ที่ได้จากน้ำแครนเบอร์รี่เข้มข้น สามารถช่วยลดสารที่ก่อให้เกิดการอักเสบที่สร้างมาจากเซลล์ gingival fibroblasts ได้ เช่น interieukin (IL-6,IL-8) และ PGE(2) ในโรคปริทันต์ จึงส่งผลให้สามารถช่วยลดขบวนการอักเสบได้ ซึ่งเป็นคุณสมบัติที่ดี ที่จะสามารถพัฒนาเป็นสารช่วยในการรักษาโรคปริทันต์ (Perlodontitis) ต่อไป[10]
- น้ำแครนเบอร์รี่มีส่วนประกอบของ High molecular weight non-dialyzable material ที่สามารถช่วยยับยั้งการยึดเกาะและการรวมตัวกันของแบคทีเรียในช่องปากได้หลายชนิดที่เป็นสาเหตุทำให้เกิดโรคทางช่องปาก การเกิดคราบหินปูน และจุลินทรีย์บนผิวฟัน และยังช่วยลดอาการฟันผุ และป้องกันโรคเหงือกอักเสบได้อีกด้วย[11]
- การดื่มน้ำแครนเบอร์รี่วันละ 250 มิลลิลิตร ร่วมกับการได้รับยาฆ่าเชื้อในกระเพาะอาหาร จะสามารถเพิ่มอัตราการฆ่าเชื้อได้สูงขึ้นในเพศหญิงที่ติดเชื้อ Helicobacter pylori ซึ่งเป็นเชื้อที่พบได้ในกระเพาะอาหาร[12]
- แครนเบอร์รี่เป็นผลไม้จากธรรมชาติที่สามารถป้องกันและต่อสู้กับโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบและการติดเชื้อในระบบทางเดินอาหารปัสสาวะได้ดีที่สุด โดยแครนเบอร์รี่นั้นได้รับการบันทึกอย่างเป็นทางการในเภสัชตำรับของสหรัฐอเมริกา (U.S. Pharmacopeia) ให้เป็นยาที่ใช้รักษาปัญหาเหล่านี้อย่างได้ผล (แต่ยังมีข้อโต้แย้งจากนักวิชาการเพียงไม่กี่คนว่า แครนเบอร์รี่ทำให้ปัสสาวะเป็นกรด จึงทำให้เชื้อแบคทีเรียที่ทำให้เกิดการติดเชื้อตาย หรือเพียงแต่ป้องกันไม่ให้แบคทีเรียเกาะกับผนังของกระเพาะปัสสาวะ) คนที่เป็นโรคนี้ถ้าดื่มน้ำแครนเบอร์รี่เข้มข้น (ไม่ผสมน้ำตาล) วันละ 300 ml. ทุกวัน จะชวยป้องกันไม่ให้เป็นโรคนี้ได้อีก ซึ่งจากการศึกษาในกลุ่มผู้หญิงวัยเจริญพันธุ์กับผลการรักษาอาการติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ พบว่าแครนเบอร์รี่สามารถลดอัตราการติดเชื้อได้สูงถึง 50% นอกจากนี้แครนเบอร์รี่ยังสามารถช่วยป้องกันการยึดเกาะของแบคทีเรียกับเนื้อเยื่อในร่างกาย ด้วยเหตุนี้เองผลไม้ชนิดนี้จึงถูกนำไปใช้เพื่อรักษาอาการติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ กระเพาะปัสสาวะอักเสบ แผลในกระเพาะอาหาร รวมถึงการเกิดคราบจุลินทรีย์บนผิวฟัน[1],[2]
- การรับประทานสารสกัดจากแครนเบอร์รี่ในขนาด 500 มิลลิกรัม เมื่อเปรียบเทียบกับยา Trimethoprim ในการป้องกันการเป็นซ้ำของโรคทางเดินปัสสาวะอักเสบ พบว่าสารสกัดจากแครนเบอร์รี่สามารถป้องกันได้ แต่จะได้ผลน้อยกว่ายา Trimethoprim อย่างไรก็ตามผู้ป่วยให้การยอมรับสารสกัดจากแครนเบอร์รี่มากกว่า Trimethoprim เนื่องจากแครนเบอร์รี่เป็นสารสกัดจากธรรมชาติที่ให้ผลข้างเคียงต่ำกว่าในการทำให้เชื้อดื้อยา และการเกิดติดเชื้อรา และ Clostridium difucile ซ้ำซ้อน อีกทั้งยังมีราคาที่ถูกกว่าด้วย[6]
- วิตามินซีในแครนเบอร์รี่จะช่วยทำให้ผิวพรรณชุ่มชื่น เกลี้ยงเกลา ผิวมีสุขภาพที่ดีขึ้น และยังช่วยเสริมสร้างและฟื้นฟูคอลลาเจน[2]
- ผลแครนเบอร์รี่สามารถนำไปทำเป็นลิปมัน เพื่อใช้ป้องกันริมฝีปากแห้งแตกในช่วงฤดูหยาวได้ โดยใช้ผลแครนเบอร์รี่ 10 ผล นำมาผสมกับน้ำมันสวีทอัลมอนด์ 1 ช้อนโต๊ะ น้ำผึ้ง ช้อนชา และน้ำมันวิตามินอี 1 หยด นำไปต้มจนเดือด แล้วนำส่วนผสมที่ได้ไปบดให้เอียดผ่านกระชอน เสร็จแล้วทิ้งไว้ให้เย็น แล้วนำมาทาปากเวลาปากแห้ง (ข้อมูลจากกระปุก)
- ในปัจจุบันผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับแครนเบอร์รี่มีวางจำหน่ายในหลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็น น้ำผลไม้ แครนเบอร์รี่อบแห้ง ซอส แยม โยเกิร์ต อาหารเสริมทั้งในรูปแบบชงและแบบแคปซูล และที่สำคัญที่สุดก็คือ ผลไม้แครนเบอร์รี่ไม่ใช่ยา แต่เป็นผลิตภัณฑ์ที่มาจากธรรมชาติ จึงสามารถรับประทานได้โดยไม่มีผลข้างเคียงใด ๆ ซึ่งในวงการแพทย์ต่างก็ให้การยอมรับกันอย่างกว้างขวางว่าแครนเบอร์รี่ไม่ว่าจะอยู่ในรูปแบบของน้ำผลไม้สด สารสกัดแบบบรรจุแคปซูล แบบชงดื่ม ต่างก็มีประสิทธิภาพในการรักษาและป้องกันโรคเกี่ยวกับกระเพาะปัสสาวะ และอวัยวะภายในช่องท้องของสตรี ที่มักประสบปัญหาการอักเสบขึ้นภายในและการอั้นปัสสาวะ เมื่อได้รับประทานอย่างต่อเนื่องก็จะเห็นผลดีขึ้น[2]
คุณค่าทางโภชชนาการของแครนเบอร์รี่ ต่อ 100 กรัม
- พลังงาน 46 กิโลแคลอรี่
- คาร์โบไฮเดรต 12.2 กรัม
- น้ำตาล 4.04 กรัม
- ใยอาหาร 4.6 กรัม
- ไขมัน 0.13 กรัม
- โปรตีน 0.39 กรัม
- น้ำ 87.13 กรัม
- วิตามินเอ 3 ไมโครกรัม (0%)
- เบต้าแคโรทีน 36 ไมโครกรัม (0%)
- ลูทีน และ ซีแซนทีน 91 ไมโครกรัม
- วิตามินบี1 0.012 มิลลิกรัม (1%)
- วิตามินบี2 0.02 มิลลิกรัม (2%)
- วิตามินบี3 0.101 มิลลิกรัม (1%)
- วิตามินบี5 0.295 มิลลิกรัม (6%)
- วิตามินบี6 0.057 มิลลิกรัม (4%)
- วิตามินบี9 1 ไมโครกรัม (0%)
- วิตามินซี 13.3 มิลลิกรัม (16%)
- วิตามินอี 1.2 มิลลิกรัม (8%)
- วิตามินเค 5.1 ไมโครกรัม (5%)
- แคลเซียม 8 มิลลิกรัม (1%)
- ธาตุเหล็ก 0.25 มิลลิกรัม (2%)
- แมกนีเซียม 6 มิลลิกรัม (2%)
- แมงกานีส 0.36 มิลลิกรัม (17%)
- ฟอสฟอรัส 13 มิลลิกรัม (2%)
- โพแทสเซียม 85 มิลลิกรัม (2%)
- โซเดียม 2 มิลลิกรัม (0%)
- สังกะสี 0.1 มิลลิกรัม (1%)
% ร้อยละของปริมาณแนะนำที่ร่างกายต้องการในแต่ละวันสำหรับผู้ใหญ่ (ข้อมูลจาก : USDA Nutrient database)
คำแนะนำในรับประทานแครนเบอร์รี่
- แครนเบอร์รี่ในรูปของแคปซูลนั้นมีขนาดที่แนะนำให้รับประทานคือ 1 แคปซูล วันละ 1-3 เวลา[1]
- น้ำแครนเบอร์รี่สำเร็จรูปที่มีจำหน่ายอยู่ทั่วไปนั้นจะมีรสหวานมาก และผ่านกระบวนการแปรรูปมาแล้ว จึงไม่แนะนำให้รับประทาน (เพราะต้องระวังในเรื่องของปริมาณน้ำตาล โดยเฉพาะผู้ที่อ้วนและเสี่ยงต่อโรคเบาหวาน) แต่ควรเลือกรับประทานน้ำแครนเบอร์รี่สดไม่เจือปนจะให้ผลดีในการรักษามากกว่า (แต่ถ้ามีรสฝาดมากก็ให้หาน้ำแอปเปิ้ลมาผสมแครนเบอร์รี่ที่มีจำหน่ายตามร้านขายอาหารเพื่อสุขภาพ ซึ่งอาจจะได้ผล แต่คุณก็ไม่ควรเป็นแบบที่มีการเติมน้ำตาลลงไป)[1],[3]
- การดื่มน้ำแครนเบอร์รี่ไม่ควรดื่มในปริมาณที่มากเกินไปในผู้ที่รับประทานยาละลายลิ่มเลือด เนื่องจากมีรายงานว่า การดื่มน้ำแครนเบอร์รี่มากกว่าวันละ 1,420 มิลลิลิตร จะมีผลทำให้มีโอกาสเลือดออกภายในได้ แต่การดื่มแต่น้อยนั้นจะไม่มีอันตราย เพราะมีรายงานสนับสนุนว่าการดื่มน้ำแครนเบอร์รี่วันละ 240 มิลลิเมตร วันละ 2 ครั้ง ติดต่อกัน 1 สัปดาห์ ในผู้ที่รับประทานยาละลายลิ่มเลือดไม่พบว่ามีอันตรายจากภาวะเลือดออกภายในแต่อย่างใด[16]
เอกสารอ้างอิง
- หนังสือวิตามินไบเบิล. (ดร.เอิร์ล มินเดลล์). “แครนเบอร์รี่ (Cranberry)”. หน้า 245.
- THE CRANBERRY INSTITUTE. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.cranberryinstitute.org. [05 ส.ค. 2014].
- สถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล. (ดร.นัฐพล ตั้งสุภูมิ). “แครนเบอร์รี่ดีกับสุขภาพจริงหรือ?”.
- J. Nutr. “Cranberry and Its Phytochemicals: A Review of In Vitro Anticancer Studies.” (Catherine C. Neto)
- Int J Immunopathol Pharmacol. “Inhibitory activity of cranberry extract on the bacterial adhesiveness in the urine of women: an ex-vivo study.” (Tempera G, Corsello S, Genovese C, Caruso FE, Nicolosi D.)
- J Antimicrob Chemother. “Cranberry or trimethoprim for the prevention of recurrent urinary tract infections? A randomized controlled trial in older women.” (McMurdo ME, Argo I, Phillips G, Daly F, Davey P.)
- BJU Int. “Influence of cranberry juice on the urinary risk factors for calcium oxalate kidney stone formation.” (McHarg T, Rodgers A, Charlton K.)
- Life Sci. “Cranberries inhibit LDL oxidation and induce LDL receptor expression in hepatocytes.” (Chu YF, Liu RH.)
- J Indian Soc Periodontol. “Inhibitory effect of cranberry juice on the colonization of Streptococci species: An in vitro study.” (Sethi R, Govila V.)
- Eur J Oral Sci. “Cranberry components inhibit interleukin-6, interleukin-8, and prostaglandin E production by lipopolysaccharide-activated gingival fibroblasts.” (Bodet C, Chandad F, Grenier D.)
- J Antimicrob Chemother. “Effect of a high-molecular-weight component of cranberry on constituents of dental biofilm.” (Steinberg D, Feldman M, Ofek I, Weiss EI.)
- Mol Nutr Food Res. “Effect of cranberry juice on eradication of Helicobacter pylori in patients treated with antibiotics and a proton pump inhibitor.” (Shmuely H, Yahav J, Samra Z, Chodick G, Koren R, Niv Y, Ofek I.)
- Molecules. “Cranberry proanthocyanidins mediate growth arrest of lung cancer cells through modulation of gene expression and rapid induction of apoptosis.” (Laura A. Kresty, Amy B. Howell, Maureen Baird)
- Nutr Cancer. “North American cranberry (Vaccinium macrocarpon) stimulates apoptotic pathways in DU145 human prostate cancer cells in vitro.” (MacLean MA, Scott BE, Deziel BA, Nunnelley MC, Liberty AM, Gottschall-Pass KT, Neto CC, Hurta RA.)
- Phytother Res. “Cranberry proanthocyanidins are cytotoxic to human cancer cells and sensitize platinum-resistant ovarian cancer cells to paraplatin.” (Singh AP, Singh RK, Kim KK, Satyan KS, Nussbaum R, Torres M, Brard L, Vorsa N.)
- .Br J Clin Pharmacol. “Effect of high-dose cranberry juice on the pharmacodynamics of warfarin in patients.” (Mellen CK, Ford M, Rindone JP.)
ภาพประกอบ : www.flickr.com (by KLnyc)
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)