แข้งกวางดง
แข้งกวางดง ชื่อวิทยาศาสตร์ Wendlandia paniculata (Roxb.) DC. จัดอยู่ในวงศ์เข็ม (RUBIACEAE)[1],[2]
สมุนไพรแข้งกวางดง มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า กว้างดง ซั่ง จ่อล่อ น้าน (เชียงใหม่), ประดงแดง (สุโขทัย), ฮุนเต้า (เลย), แข้งกวาง (คนเมือง), ไม้กว้าว (คนเมือง, ไทใหญ่), ไม้กว๊าง (ลั้วะ), เส่ควอบอ (กะเหรี่ยงแม่ฮ่องสอน) เป็นต้น[1],[2]
ลักษณะของแข้งกวางดง
- ต้นแข้งกวางดง จัดเป็นพรรณไม้ยืนต้นผลัดใบขนาดเล็ก มีความสูงได้ประมาณ 3-6 เมตร เรือนยอดเป็นทรงกลมโปร่ง เปลือกต้นเป็นสีน้ำตาลอมเทาแตกเป็นร่องตื้นตามขอบลำต้น พบขึ้นได้ในป่าเบญจพรรณหรือป่าดิบเขา[1],[2]
- ใบแข้งกวางดง ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงตรงข้ามสลับตั้งฉาก ลักษณะของใบเป็นรูปวงรีหรือรูปวงรีแกมใบหอก ปลายใบแหลม โคนใบเป็นรูปลิ่มหรือสอบ ส่วนขอบใบเรียบ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 5-8 เซนติเมตร และยาวประมาณ 8-12 เซนติเมตร แผ่นใบบาง ท้องใบมน เส้นแขนงใบเป็นร่องลึกชัดเจนข้างละ 10-12 เส้น มีหูใบอยู่ระหว่างก้านใบ[1],[2]
- ดอกแข้งกวางดง ออกดอกเป็นช่อแบบช่อแยกแขนง โดยจะออกที่ปลายกิ่งเป็นสามเหลี่ยม ดอกย่อยมีจำนวนมาก ดอกเป็นสีขาวและมีกลิ่นหอม กลีบเลี้ยงและกลีบดอกเชื่อมติดกันเป็นหลอด ปลายแยกออกเป็นแฉก 4-5 แฉก ออกดอกในช่วงประมาณเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนมีนาคม[1],[2]
- ผลแข้งกวางดง ผลเป็นผลแห้ง ลักษณะของผลเป็นรูปทรงกลม แตกออกได้ตามพู ภายในผลมีเมล็ดจำนวนมาก จะออกผลในช่วงประมาณเดือนเมษายนถึงเดือนพฤษภาคม[1],[2]
สรรพคุณของแข้งกวางดง
- ตำรายาพื้นบ้านล้านนาจะใช้ลำต้นแข้งกวางดง นำมาผสมกับสมุนไพรจำพวกประดงรวม 9 ชนิด ต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้โรคประดง (ลำต้น)[1]
- ลำต้นแข้งกวางดงใช้ผสมกับแก่นขี้เหล็ก แก่นราชพฤกษ์ แก่นมะดูก แก่นไม้เล็ม และรากเดือยหิน นำมาต้มกับข้าว กินข้าวและน้ำเป็นยาแก้ปวดบั้นเอว (ลำต้น)[1]
- บางข้อมูลระบุว่า ใบใช้ตำกับเหล้าขาวคั้นเอาน้ำทาแก้โรคผิวหนัง ผดผื่นคัน ส่วนยางที่ได้จากการสับเปลือกใช้เป็นกาวได้ (เป็นข้อมูลจากเว็บไซต์ biogang.net โดยอ้างอิงมาจากเว็บไซต์ pgr.rmutto.ac.th แต่น่าเสียดายที่ลิงก์ต้นฉบับเสีย เลยไม่ทราบว่าข้อมูลส่วนนี้ถูกต้องหรือไม่)
ประโยชน์ของแข้งกวางดง
- ชาวลั้วะจะใช้ยอดอ่อนเป็นผักจิ้มกับน้ำพริก ส่วนชาวไทใหญ่จะใช้ดอกลวกรับประทานกับน้ำพริก[3]
- ไม้แข้งกวางดงเป็นไม้เนื้ออ่อน สามารถนำมาใช้ทำรั้ว ใช้สร้างบ้าน ทำโครงสร้างต่าง ๆ ของบ้าน เช่น เสาบ้าน หรือใช้ทำที่พักชั่วคราว และทำฟืน[3]
เอกสารอ้างอิง
- หนังสือสมุนไพรพื้นบ้านล้านนา. (ภาควิชาเภสัชพฤกษศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล). “แข้งกวางดง”. หน้า 226.
- ระบบจัดการฐานความรู้ด้านความหลากหลายทางชีวภาพ สำนักงานความหลากหลายทางชีวภาพด้านป่าไม้ กรมป่าไม้. “แข้งกวางดง”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : biodiversity.forest.go.th. [26 ม.ค. 2015].
- โครงการเผยแพร่ข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นบนพื้นที่สูง, สถาบันวิจัยและพัฒนาที่สูง (องค์กรมหาชน). “แข้งกวางดง”. อ้างอิงใน : หนังสือชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย (เต็ม สมิตินันทน์). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : eherb.hrdi.or.th. [26 ม.ค. 2015].
ภาพประกอบ : biodiversity.forest.go.th
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)