แก้มขาว สรรพคุณและประโยชน์ของต้นแก้มขาว 9 ข้อ !

แก้มขาว

แก้มขาว ชื่อสามัญ Butterfly Flower[4]

แก้มขาว ชื่อวิทยาศาสตร์ Mussaenda sanderiana Ridl.[1],[2] จัดอยู่ในวงศ์เข็ม (RUBIACEAE)[1]

สมุนไพรแก้มขาว มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า กะเบ้อขาว (เลย), กำเบ้อ กำเบ้อขาว ผีเสื้อ (เพชรบูรณ์), แก้มขาว (นครราชสีมา, ภาคกลาง), รางแก้ม (ลั้วะ), พอแต (กะเหรี่ยง-เชียงใหม่), แก้มอ้น, ดอกย่าป่า, ใบต่างดอก เป็นต้น[1],[2],[3],[4]

ลักษณะของแก้มขาว

  • ต้นแก้มขาว จัดเป็นพรรณไม้พุ่มรอเลื้อย มีความสูงได้ประมาณ 1-2 เมตร เนื้อไม้เหนียว ผิวเปลือกเป็นสีน้ำตาลเทาถึงเข้ม ส่วนกิ่งก้านแตกแขนงเป็นพุ่มแน่นในช่วงปลายกิ่ง ลำต้นและกิ่งก้านมีขนละเอียดสีน้ำตาลแดงขึ้นหนาแน่น[1],[2] ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ดกับวิธีตอนกิ่ง มีถิ่นกำเนิดในคาบสมุทรอินโดจีน พบได้มากตามชายป่าดิบทางภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และพบได้ตามป่าดิบเขา หรือป่าดิบแล้งทั่วทุกภาคของประเทศไทย ที่ความสูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 400-1,300 เมตร ชอบความชุ่มชื้นและมีแสงแดดปานกลาง[4]

ต้นแก้มขาว

  • ใบแก้มขาว ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงตรงข้ามกัน ลักษณะของใบแผ่เป็นรูปรี ปลายใบแหลม โคนใบสอบ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 4-5 เซนติเมตร และยาวประมาณ 5-8 เซนติเมตร มีขนละเอียดทั้งสองด้าน หลังใบเป็นสีเขียวเข้มเป็นมัน แผ่นใบแผ่มองเห็นเส้นแขนงใบเป็นลอน หูใบชัดเจนอยู่ระหว่างก้านใบ[1],[2]

ใบแก้มขาว

  • ดอกแก้มขาว ออกดอกเป็นช่อสั้น ๆ ที่ปลายกิ่ง ดอกย่อยมีจำนวนมาก ก้านดอกสั้น กลีบดอกเป็นสีเหลืองสดถึงสีส้ม เชื่อมติดกันเป็นหลอด ส่วนกลีบเลี้ยงส่วนโคนเชื่อมติดกันเป็นหลอด ส่วนปลายแยกออกเป็น 5 แฉก กลีบดอกเป็นหลอดยาวประมาณ 2 เซนติเมตร ปากหลอดมีขนละเอียดยาว ปลายแยกออกเป็น 5 กลีบ เมื่อดอกบานจะมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1 เซนติเมตร เกสรเพศผู้อยู่ในหลอดดอกมี 5 อัน ดอกแก่มีใบเลี้ยงขนาดใหญ่ 1 กลีบ มีสีขาวนวล ลักษณะคล้ายใบเป็นรูปรี มีขนาดกว้างประมาณ 3-5 เซนติเมตร และยาวประมาณ 5-6 เซนติเมตร ปลายแหลมคอดเรียว โคนใบมนและสอบเรียว[1],[2],[3]

ดอกแก้มขาว

รูปแก้มขาว

รูปดอกแก้มขาว

  • ผลแก้มขาว ผลเป็นผลสด มีลักษณะเป็นรูปไข่หรือรูปรีขนาดเล็ก สีเขียว ผิวมีช่องอากาศ ปลายผลยังคงมีกลีบเลี้ยงติดอยู่ ผลแก่เนื้อจะนุ่ม ภายในผลมีเมล็ดจำนวนมาก ใน 1 พวงจะมีผลประมาณ 15-20 ผล[1],[2]

สรรพคุณของแก้มขาว

  1. เปลือก เนื้อไม้ และเหง้าแก้มขาว มีสรรพคุณเป็นยากระจายโลหิต (เปลือก, เนื้อไม้, เหง้า)[1]
  2. ชาวลั้วะจะใช้ลำต้นนำมาต้มน้ำดื่มและผสมกับสมุนไพรอื่น ๆ อีก 9 ชนิด เป็นยาบำรุงกำลัง (ลำต้น)[3]
  3. เถาแก้มขาวมีสรรพคุณเป็นยาแก้ไข้ผิดสำแดง (เถา)[1]
  4. เถาใช้เป็นยาแก้ไข้ทับระดู (เถา)[1]
  5. ตำรายาพื้นบ้านล้านนาจะใช้รากแก้มขาว นำมาขูดผสมกับรากผักคราด และรากแข้งกวางดง ใช้ตุ๋นกับไก่กิน เป็นยาแก้ปวดฟัน (ราก)[2]
  6. ชาวเขาเผ่าแม้วจะใช้รากแก้มขาวนำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยาระบาย ช่วยเจริญอาหาร (ราก)[2]
  7. ลำต้นใช้เข้ายารักษาโรคริดสีดวงทวาร (ลำต้น)[3]
  8. ใช้เป็นยาขับน้ำนิ่วในไต (เปลือก, เนื้อไม้, เหง้า)[1]

ประโยชน์ของแก้มขาว

  • ในปัจจุบันนิยมนำมาใช้ปลูกเป็นไม้ดอกไม้ประดับทั่วไป[4]
เอกสารอ้างอิง
  1. หนังสือสมุนไพรในอุทยานแห่งชาติภาคกลาง.  (พญ.เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ, ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, กัญจนา ดีวิเศษ).  “แก้มขาว”.  หน้า 75.
  2. หนังสือสมุนไพรพื้นบ้านล้านนา.  (ภาควิชาเภสัชพฤกษศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล).  “แก้มขาว”.  หน้า 157.
  3. โครงการเผยแพร่ข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นบนพื้นที่สูง, สถาบันวิจัยและพัฒนาที่สูง (องค์กรมหาชน).  “แก้มขาว”.  อ้างอิงใน : หนังสือชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย (เต็ม สมิตินันทน์).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : eherb.hrdi.or.th.  [13 มิ.ย. 2015].
  4. ฐานข้อมูลพรรณไม้ องค์การสวนพฤกษศาสตร์, กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม.  “แก้มขาว”.  อ้างอิงใน : หนังสือพรรณไม้สวนพฤกษศาสตร์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ เล่ม 1.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.qsbg.org.  [13 มิ.ย. 2015].

ภาพประกอบ : www.flickr.com (by SierraSunrise, Tony Rodd)

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด