เห็ดหูหนู
เห็ดหูหนู ชื่อสามัญ Jew’s ear, Wood ear, Jelly ear
เห็ดหูหนู ชื่อวิทยาศาสตร์ Auricularia auricula-judae (Bull.) J.Schröt. จัดอยู่ในวงศ์ AURICULARIACEAE[1]
สมุนไพรเห็ดหูหนู มีชื่อเรียกอื่นว่า เห็ดหูหนูดำ, เห็ดหูแมว, เห็ดหูลัวะ เป็นต้น[3]
หมายเหตุ : เห็ดหูหนูจะมีอยู่ด้วยกัน 2 ชนิด คือ เห็ดหูหนูดำที่กล่าวถึงในบทความนี้ และเห็ดหูหนูขาว (Tremella fuciformis Berk.)
ลักษณะของเห็ดหูหนู
- เห็ดหูหนูถูกจำแนกอยู่ในกลุ่มเห็ดราของเห็ดฟันไจ (Fungi) ชนิดหนึ่ง ที่เกิดขึ้นตามลำต้นของต้นใหญ่ที่เน่าเปื่อยหรือซากไม้ที่ผุสลาย โดยจะมีลักษณะเป็นแผ่นเหมือนกับหูหนูหรือหูคน แผ่นคล้ายวุ้นใส เนื้อนิ่มอ่อนและเหนียว มีสีออกน้ำตาลเทาหรือน้ำตาลอ่อน แผ่นใบด้านบนเรียบเป็นมันเงา ส่วนขอบแผ่นมีรอยจีบหรือเป็นลอน แผ่นใบมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 12 เซนติเมตร มีความหนาประมาณ 2 มิลลิเมตร ด้านใต้ใบมีขนละเอียดขึ้นปกคลุมอยู่เล็กน้อย ถ้าใบแห้งจะมีความแข็งและเหนียว ก้านใบเห็ดหูหนูนั้นสั้นมาก โดยจะอยู่กลางดอกหรือค่อนไปข้างใดด้านหนึ่งยึดติดกับลำต้นไม้หรือท่อนไม้ที่เน่าเปื่อย ส่วนสปอร์ของเห็ดหูหนูจะมีลักษณะเป็นรูปไส้ คด งอ ยาว หรือมีลักษณะเป็นรูปทรงกระบอก มีสีเทาม่วงอ่อน[1]
สรรพคุณของเห็ดหูหนู
- ดอกเห็ดหูหนูมีรสจืดชุ่ม เป็นยาสุขุม ออกฤทธิ์ต่อปอด ตับ กระเพาะอาหาร และลำไส้ใหญ่ ใช้เป็นยาบำรุงร่างกาย รักษาพลังพร่อง ร่างกายอ่อนแอ[1]
- ใช้เป็นยาซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอในร่างกาย[1]
- ตำรับยารักษาโรคความดันโลหิตสูงหรือเส้นเลือดแข็งตัว ระบุให้ใช้เห็ดหูหนู 3 กรัม นำมาแช่ในน้ำ 1 คืน จากนั้นนำมานึ่งประมาณ 1-2 ชั่วโมง ใส่น้ำตาลกรวดลงผสมกัน ใช้รับประทานวันละครั้งก่อนนอน[1]
- ใช้เป็นยาประสะเลือดหรือฟอกเลือด[1]
- ช่วยทำให้ปอดชุ่มชื่น และช่วยทำให้เลือดเย็น[1]
- ช่วยแก้อาการไอ แก้อาเจียนเป็นเลือด แก้เลือดกำเดาไหล[1]
- ใช้รักษาอาการท้องผูก ด้วยการใช้เห็ดหูหนู 3-6 กรัม และลูกพลับอบแห้ง 30 กรัม นำมารวมกันต้มกับน้ำรับประทาน[1]
- ช่วยรักษาริดสีดวงทวารมีเลือด หรือถ่ายเป็นเลือด ด้วยการใช้เห็ดหูหนู 3-6 กรัม และลูกพลับอบแห้ง 30 กรัม นำมารวมกันต้มกับน้ำรับประทาน[1]
- ใช้รักษาอาการประจำเดือนมามากหรืออาการตกขาวของสตรี ด้วยการใช้เห็ดหูหนูอบแห้งนำมาบดให้เป็นผง ใช้ชงกับน้ำรับประทานครั้งละ 3-6 กรัม วันละ 2 ครั้ง[1]
- ใช้รักษาอาการตกเลือด หรือแก้สตรีตกเลือด ด้วยการใช้เห็ดหูหนูอบแห้งนำมาบดให้เป็นผง ใช้ชงกับน้ำรับประทานครั้งละ 3-6 กรัม วันละ 2 ครั้ง[1]
- ใช้เป็นยาห้ามเลือด[1]
- ช่วยแก้มือเท้าเย็นชา[1]
ขนาดและวิธีใช้ : ให้ใช้ครั้งละ 3-10 กรัม นำมาต้มกับน้ำรับประทาน หรือนำไปใช้เป็นอาหารรับประทาน[1]
ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของเห็ดหูหนู
- สารที่พบ ได้แก่ โปรตีน, ไขมัน และกลูโคสกลูโคลิน เช่น D-Mannanm Glueuronic acid, Methyl pentose, Licithin, Cephalin, Sphingomyelin, Ergosterol และยังมีแร่ธาตุอีกหลายชนิด[1]
ประโยชน์ของเห็ดหูหนู
- เห็ดหูหนูเป็นเห็ดที่หาได้ง่าย ราคาไม่แพง นิยมนำมาบริโภคกันอย่างกว้างขวาง โดยนำมาใช้ประกอบอาหาร เช่น ผัดเนื้อไก่ใส่ขิงใส่เห็ดหูหนู แกงจืดเห็ดหูหนู ยำเห็ดหูหนู เป็นต้น[2] โดยคุณค่าทางโภชนาการของเห็ดหูหนู ต่อ 100 กรัม จะประกอบไปด้วยพลังงาน 321.5 แคลอรี, ไขมัน 0.70%, โปรตีน 7.25%, คาร์โบไฮเดรต 71.50%, ความชื้น 85.70%, กาก 18.70%, เถ้า 1.69%, วิตามินบี 1 0.008 มิลลิกรัม, วิตามินบี 2 1.173 มิลลิกรัม, วิตามินบี 3 0.43 มิลลิกรัม, วิตามินซี 0.38 มิลลิกรัม, แคลเซียม 332.60 มิลลิกรัม, ธาตุเหล็ก 14.30 มิลลิกรัม, ฟอสฟอรัส 122.10 มิลลิกรัม (ข้อมูลจาก : มหาวิทยาลัยแม่โจ้ สาขาพืชผัก)
- เห็ดหูหนูได้ชื่อว่าเป็น “อาหารคาวของอาหารเจ” และยังเป็น “สุดยอดของเห็ด” เพราะมีส่วนช่วยในการป้องกันการเกิดโรคฮิตต่าง ๆ ได้หลายโรค โดยชาวจีนนั้นถือว่าเห็ดหูหนูเป็นอายุวัฒนะ ส่วนในทางการแพทย์จีนถือว่าเห็ดหูหนูเป็นยาบำรุงเลือดและพลัง[2],[3]
- เห็ดหูหนูเป็นอาหารที่เหมาะกับผู้สูงอายุหรือผู้ที่มีโรคหัวใจ เนื่องจากมีฤทธิ์ต้านการเกาะตัวของเกล็ดเลือด และมีคุณสมบัติในการลดไขมันในเลือด โดยมีสารอะดีโนซีนที่ช่วยลดความเข้มข้นของเลือด ช่วยป้องกันโรคหลอดเลือดอุดตัน จึงไม่ทำให้เกิดเป็นลิ่มเลือดไปอุดตันเส้นเลือดหัวใจ สมอง และอวัยวะอื่น ๆ[2],[3]
- เห็ดหูหนูมักถูกนำมาใช้เป็นอาหารสำหรับผู้ที่มีไขมันในเลือดสูง ความดันเลือดสูง หลอดเลือดแข็งตัว หลอดเลือดตีบ เลือดจาง อ่อนเพลีย วัณโรค หอบหืด ไอแห้ง ไอเป็นเลือด เจ็บคอ เป็นโรคร้อนใน เป็นนิ่วในถุงน้ำดี นิ่วในทางเดินกระเพาะปัสสาวะ นิ่วในไต อุจจาระเป็นเลือด อีกทั้งยังช่วยป้องกันมะเร็ง ต้านมะเร็ง และช่วยลดอาการแทรกซ้อนภายหลังจากการฉายรังสีได้อีกด้วย อีกทั้งเห็ดหูหนูมีฤทธิ์ในการลดความร้อนของเลือด หยุดเลือด เช่น ริดสีดวง อุจจาระ ปัสสาวะเป็นเลือด ประจำเดือนมามากผิดปกติ ซึ่งเกิดจากความร้อนของระบบเลือด[2],[3]
- เห็ดหูหนูมีน้ำยางธรรมชาติและไฟเบอร์ที่ช่วยในการระบายและขับของเสียในลำไส้[2]
- นอกจากนี้เห็ดหูหนูยังมีประโยชน์ในการช่วยเสริมสร้างโลหิต ทำให้หัวใจแข็งแรง ช่วยบำรุงสายตา บำรุงตับ นอกจากนี้เห็ดหูหนูยังมีส่วนช่วยทำให้ร่างกายเกิดความกระฉับกระเฉง กระปรี้กระเปร่า ช่วยผ่อนคลายกล้ามเนื้อที่ตึงเครียดให้คลายตัว บำรุงผิวพรรณให้เปล่งปลั่งสดใส[3]
ข้อควรระวัง : เห็ดหูหนูมีลักษณะทำให้เกิดความชุ่มชื้น ความเย็น ผู้ที่มีระบบการย่อยอาหารหรือมีภาวะของร่างกายค่อนข้างไปทางเย็นมาก ๆ ต้องมีอาหารหรือสมุนไพรอื่นที่มีคุณสมบัติร้อนประกอบด้วย และควรระมัดระวังไม่ควรกินมากในช่วงกลางคืน แต่ควรกินในช่วงเวลากลางวันจะเหมาะสมกว่า[2]
เอกสารอ้างอิง
- หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย-จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย. (วิทยา บุญวรพัฒน์). “เห็ดหูหนู”. หน้า 628.
- มูลนิธิหมอชาวบ้าน. นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่มที่ 300 คอลัมน์ : แพทย์แผนจีน. (นพ.วิทวัส (ภาสกิจ) วัณนาวิบูล). “เห็ดหูหนู : สุดยอดของเห็ด”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.doctor.or.th. [24 ก.ย. 2014].
- อาหารพื้นบ้านล้านนา, สำนักหอสมุด และสำนักบริการคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่. “เห็ดหูหนู”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : library.cmu.ac.th/ntic/lannafood/. [24 ก.ย. 2014].
ภาพประกอบ : www.flickr.com (by Martin Smith, Sytske Roskam, Roger Butterfield)
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)