เห็ดหลินจือ
เห็ดหลินจือ ชื่อสามัญ Lingzhi mushroom, Reishi mushroom
เห็ดหลินจือ ชื่อวิทยาศาสตร์ Ganoderma lucidum (Curtis) P. Karst จัดอยู่ในวงศ์ GANODERMATACEAE
สมุนไพรเห็ดหลินจือ มีชื่อเรียกอื่นว่า เห็ดหมื่นปี, เห็ดอมตะ เป็นต้น
เห็ดหลินจือ จัดเป็นยาจีนที่ใช้กันมายาวนานกว่า 2,000 ปีแล้ว (Chinese traditional medicine) โดยใช้กันนับตั้งแต่สมัยจักรพรรดิฉินซีฮ่องเต้เป็นต้นมา เห็ดหลินจือที่ขึ้นอยู่ตามธรรมชาติมีมากกว่า 100 สายพันธุ์ โดยสายพันธุ์ที่นิยมและมีสรรพคุณทางยาที่ดีที่สุดคือสายพันธุ์สีแดง หรือเห็ดหลินจือแดง หรือกาโนเดอร์มา ลูซิดัม (Ganoderma lucidum) โดยในเห็ดหลินจือจะมีสารพอลิแซ็กคาไรด์ (Polysaccharide) ซึ่งจะช่วยยับยั้งและรักษาอาการต่าง ๆ (ประโยชน์ด้านล่าง) โดยแต่ละชนิดจะมีปริมาณสารพอลิแซ็กคาไรด์ในปริมาณที่แตกต่างกันออกไป ซึ่งแน่นอนว่าคงหนีไม่พ้นสายพันธุ์สีแดงที่กล่าวข้างต้น
เห็ดชนิดนี้จัดว่าเป็นของหายากที่มีคุณค่าสูงในทางสมุนไพรจีน โดยมีการยกย่องว่าเป็นยอดเห็ด เป็นเห็ดที่ดีที่สุดในหมู่สมุนไพรจีน เพราะได้มีการบันทึกในคัมภีร์โบราณ “เสินหนงเปินเฉ่า” (ตำราเก่าแก่ที่คนจีนนับถือกันมากที่สุด) ซึ่งได้กล่าวไว้ว่า เห็ดหลินจือนี้เป็นเทพเจ้าแห่งชีวิตที่มีพลังมหัศจรรย์ นักวิทยาศาสตร์พบว่าในเห็ดชนิดนี้มีสารต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกายมากกว่า 250 ชนิด ! เป็นยาบำรุงร่างกายและใช้เป็นยาอายุวัฒนะในการยืดอายุ นอกจากนี้ยังช่วยทำให้ผิวพรรณเปล่งปลั่ง รักษาโรคต่าง ๆ ได้หลายโรค และยังปลอดภัยไม่มีสารพิษใด ๆ ต่อร่างกาย !
ในปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับเห็ดหลินจือออกมาจำหน่ายค่อนข้างมาก สำหรับการเลือกซื้อ คุณควรศึกษาตั้งแต่ขั้นตอนการเพาะปลูก เพราะเห็ดหลินจือที่มีคุณภาพดีนั้น จะต้องได้รับการเพาะเลี้ยงในสภาวะที่เหมาะสม ทั้งความชื้น แสงสว่าง รวมไปถึงสารอาหารที่ได้รับ และสิ่งที่ต้องดูอีกเรื่องก็คือขั้นตอนการแปรรูป ตรงนี้ก็สำคัญเพราะเป็นกระบวนการที่จะต้องสารสกัดพอลิแซ็กคาไรด์จากเห็ดออกมาให้ได้มากที่สุด นอกจากนี้ยังรวมไปถึงบรรจุภัณฑ์ที่ต้องให้ความสนใจด้วย โดยต้องเป็นบรรจุภัณฑ์ที่สามารถกันความชื้นได้เป็นอย่างดี เนื่องจากเห็ดชนิดนี้จะไวต่อความชื้นเป็นพิเศษและความชื้นจะทำให้เห็ดหลินจือขึ้นราได้นั่นเอง
ประโยชน์ของเห็ดหลินจือ
- ใช้เป็นยาบำรุงร่างกาย
- ช่วยทำให้ผิวพรรณเปล่งปลั่ง สีหน้าแจ่มใส
- ช่วยบำรุงและรักษาสายตา
- ใช้เป็นยาอายุวัฒนะ ช่วยทำให้อายุยืนยาว
- ช่วยชะลอแก่ ชะลอวัย
- ช่วยเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกันให้ร่างกายแข็งแรง
- ช่วยทำให้กล้ามเนื้อหัวใจแข็งแรงขึ้น ให้พลังชีวิตมากขึ้น
- ช่วยส่งเสริมระบบการไหลเวียนของเลือดให้ดียิ่งขึ้น
- ช่วยทำให้ความจำดีขึ้น
- ช่วยผ่อนคลายระบบประสาทและกล้ามเนื้อ ทำให้นอนหลับได้สนิท
- ช่วยทำให้ประสาทสัมผัสต่าง ๆ ดีขึ้น
- ช่วยรักษาและต่อต้านมะเร็งโดยส่งเสริมภูมิคุ้มกัน กระตุ้นให้เม็ดเลือดขาวสร้างสารต้านมะเร็ง
- ช่วยแก้พิษจากรังสี คีโม เช่น เม็ดเลือดขาวต่ำจากคีโม ท้องเสียอักเสบจากการฉายรังสี อาการปวดจากพิษบาดแผล
- ช่วยลดความดันโลหิตและรักษาโรคความดันโลหิตสูง
- ช่วยปรับความดันโลหิตทั้งสูงและต่ำให้สมดุล
- ช่วยรักษาโรคเส้นเลือดหัวใจตีบ
- ช่วยป้องกันเส้นเลือดในสมองและหัวใจอุดตัน ป้องกันอัมพฤกษ์ อัมพาต
- ช่วยลดไขมันในเลือด
- ช่วยรักษาและบรรเทาอาการของโรคหมอนรองกระดูกแตกกดทับเส้นประสาทให้ทุเลาลง
- ช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด ช่วยควบคุมอาการเบาหวาน
- ช่วยรักษาโรคภูมิแพ้ หอบหืด
- ช่วยรักษาโรคประสาท
- ช่วยบำรุงตับและรักษาโรคตับ ตับแข็ง ตับอักเสบ
- เห็ดหลินจือรักษาโรคไตเรื้อรังบางชนิด โดยช่วยฟื้นฟูสมรรถภาพการทำงานของไตให้ดีขึ้น
- ช่วยรักษาโรคลมบ้าหมู
- ช่วยแก้อาการอาหารเป็นพิษ
- ช่วยรักษาแผลในกระเพาะอาหารและลำไส้
- ช่วยขับปัสสาวะ
- ช่วยรักษาและบรรเทาอาการของโรคริดสีดวงทวาร
- ช่วยแก้อาการปวดเมื่อยตามร่างกาย ปวดตามข้อ
- ช่วยรักษาโรคเกาต์
- ช่วยสลายใยแผลเป็นหรือพังผืดหดยืด ทำให้ใยแผลเป็นอ่อนนิ่มและหดตัวเล็กลง
- ช่วยยับยั้งเชื้อไวรัสอย่างเช่น ไวรัสเอดส์ อีสุกอีใส งูสวัด
- ช่วยรักษาโรคลูปัส อีริทีมาโตซัสทั่วร่าง (SLE) หรือโรคที่เกิดจากภูมิคุ้มกันของร่างกายทำงานผิดปกติ
- ช่วยแก้อาการป่วยบนที่สูง เช่น อาการหูอื้อ
- ช่วยรักษาโรคที่มีสาเหตุมาจากการขาดออกซิเจน เช่น ถุงลมโป่งพอง หัวใจล้มเหลว เส้นเลือดหัวใจตีบ
- ช่วยแก้อาการปวดประจำเดือน
- ช่วยแก้ปัญหาภาวะมีบุตรยาก
- ช่วยป้องกันการเสื่อมสรรถภาพทางเพศ
- เห็ดหลินจือจัดเป็นสเตียรอยด์ธรรมชาติ ซึ่งไม่มีสารพิษหรือผลข้างเคียงเหมือนกับสเตียรอยด์สังเคราะห์
ข้อควรรู้และคำแนะนำ
- เห็ดหลินจือเหมาะกับใคร ? เนื่องจากเห็ดชนิดนี้มีสรรพคุณที่ช่วยป้องกันและบำบัดรักษาโรคซะเป็นส่วนใหญ่ มันจึงเหมาะกับโรคของผู้สูงอายุและวัยก่อนสูงอายุที่เป็นโรคดังกล่าวข้างต้น
- รูปแบบของการรับประทาน แบ่งได้หลายรูปแบบ อย่างแรกเลยก็คือยาต้มแบบโบราณ ด้วยการนำเห็ดหลินจือที่แห้งนำมาต้มและเคี่ยว ซึ่งเป็นวิธีที่ค่อนข้างยุ่งยากและไม่สะดวก แบบที่สอง คือเนื้อเห็ดหลินจือบดเป็นผงบรรจุแคปซูล หากไม่ผ่านการฆ่าเชื้ออาจทำให้มีเชื้อราปนเปื้อนได้ โดยรูปแบบนี้จะมีความเข้มน้อยและดูดซึมได้ยาก แบบที่สามซึ่งเป็นแบบที่ได้รับความนิยมมากที่สุดก็คือ เห็ดหลินจือสกัดหรือสารสกัดจากเห็ดหลินจือแคปซูล ซึ่งจะได้สารสกัดที่เข้มข้น มีสรรพคุณที่ดีกว่า ดูดซึมและออกฤทธิ์ได้ดีกว่า ที่สำคัญก็คือมีมาตรฐานการผลิตที่สะอาดและปลอดภัย เช่น เห็ดหลินจือโครงการหลวง
- เห็ดหลินจือกินอย่างไร ? สำหรับเวลาที่เหมาะสมก็คือการรับประทานตอนเช้าในขณะที่ท้องว่าง แล้วดื่มน้ำตามมาก ๆ ถ้าทานร่วมกับวิตามินซีด้วยก็จะดีมากเพราะจะช่วยเสริมสรรพคุณ และสำหรับผู้ที่ต้องกินยากดภูมิต้านทานหรือผู้ที่เป็นโรค SLE หรือผ่าตัดปลูกถ่ายอวัยวะควรงดรับประทาน
- ผลข้างเคียงของเห็ดหลินจือ สำหรับผู้ที่เริ่มรับประทานเห็ดหลินจือใหม่ ๆ อาจจะรู้สึกเวียนศีรษะ อาเจียน ง่วงนอน ปวดเมื่อยตามร่างกาย ตามข้อ เกิดอาการท้องผูก ท้องเสีย ปัสสาวะบ่อย ผิวหนังเกิดอาการคัน เป็นต้น แต่ก็ถือเป็นปฏิกิริยาสะท้อนกลับที่เป็นเรื่องปกติของการบำบัดด้วยสมุนไพร เมื่อตัวยาเข้าไปในร่างกายจะเข้าไปชำระล้างสารพิษต่าง ๆ ให้สลายไป หรือเคลื่อนไปช่วยขับสารพิษออกจากร่างกาย จึงทำให้ร่างกายเกิดอาการผิดปกติดังกล่าว ซึ่งอาการเช่นนี้จะเกิดขึ้นในระยะเวลาสั้น ๆ เพียง 2-7 วันก็จะกลับสู่สภาวะปกติ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสภาพร่างกายของแต่ละคน หากมีอาการคุณสามารถรับประทานต่อไปได้เลย แต่หากมีอาการมากก็ควรลดปริมาณลงจนกว่าอาการจะเป็นปกติ และให้รับประทานตามคำแนะนำต่อไป และสำหรับผู้ป่วยที่กำลังรับประทานยาตามที่แพทย์สั่ง ก็สามารถรับประทานเห็ดชนิดนี้ควบคู่ไปได้
แหล่งอ้างอิง : นพ.นิวัฒน์ ศิตวัฒน์, รศ.พญ.นริสา ฟูตระกูล, นพ.บรรเจิด ตันติวิท
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)