เหา
เหา หรือ Louse (Lice คือ เหาตัวเดียว) เป็นแมลงชนิดหนึ่งที่เป็นปรสิต (Parasite) ต้องอาศัยอยู่บนร่างกายของคนหรือสัตว์ และดำรงชีวิตโดยการดูดเลือดเป็นอาหาร เหามีมากกว่า 3,000 ชนิด บางชนิดเป็นปรสิตของสัตว์ แต่ชนิดที่เป็นปรสิตของคนจะมีอยู่เพียง 3 ชนิด ซึ่งจะมีชื่อต้นคือ Pediculus spp. ในภาษาอังกฤษจึงเรียกคนที่เป็นเหาว่า “Pediculosis” ฟอสซิลของเหาที่มีอายุเก่าแก่ที่สุดเท่าที่ค้นพบได้คือ 10,000 ปี เหาจึงเป็นโรคเก่าแก่โรคหนึ่งและยังคงสร้างความรำคาญให้มนุษย์มาถึงปัจจุบัน
การติดเหาสามารถเกิดขึ้นได้ในคนทุกเชื้อชาติ สถิติทั่วโลกพบว่ามีผู้ที่เป็นเหามากกว่าร้อยล้านคนต่อปี และพบอัตราการเป็นเหาทั้งในประเทศที่พัฒนาแล้วและในประเทศด้อยพัฒนาไม่แตกต่างกันนัก เหาสามารถแพร่กระจายจากคนหนึ่งไปสู่อีกคนหนึ่งได้โดยการอยู่ใกล้ชิดกัน ซึ่งมีอาการหลักคือ อาการคัน ส่วนปัญหาสำคัญของผู้ที่เป็นเหาคือ อาจกลายเป็นที่รังเกียจของคนรอบข้าง อย่างไรก็ตาม วิธีกำจัดเหาให้หมดไปจากร่างกายก็มีอยู่ด้วยกันหลายวิธี ดังจะกล่าวต่อไปในหัวข้อวิธีการรักษา
ดังที่กล่าวไปแล้วว่า เหาที่เป็นปรสิตของคนนั้นมีเพียง 3 ชนิด ซึ่งเหาแต่ละชนิดจะอาศัยอยู่บนร่างกายในตำแหน่งที่แตกต่างกันไป ได้แก่ เหาที่ศีรษะ (Pediculosis capitis) ซึ่งเป็นโรคที่พบได้บ่อยในคนที่ไม่ค่อยรักษาความสะอาด พบได้ในคนทุกระดับตั้งแต่ในผู้มีฐานะยากจน จนกระทั่งในผู้ที่มีฐานะร่ำรวย และมักพบในเด็กมากกว่าผู้ใหญ่ อายุที่พบได้บ่อย คือ อยู่ในช่วงอายุ 3-11 ปี โดยเฉพาะอย่างยิ่งในหมู่นักเรียนหญิงที่ไว้ผมยาวและไม่ค่อยสระผม ในบางครั้งอาจพบเป็นกันเกือบทั้งชั้นเรียนในโรงเรียนตามชนบท และตามแหล่งชุมชนแออัด, เหาที่ลำตัว (Pediculosis corporis) เป็นชนิดที่ส่วนใหญ่จะพบในผู้มีฐานะยากจน คนเร่ร่อนไม่มีที่อยู่อาศัย และเหาที่อวัยวะเพศ หรือโลน (Pediculosis pubis) ที่พบได้มากในวัยรุ่นหรือในวัยเจริญพันธุ์
สาเหตุของการเกิดเหา
- เหาที่ศีรษะ (Head louse, Pediculosis capitis หรือ Pediculus humanus capitis) เป็นชนิดที่พบได้บ่อยที่สุด โดยเกิดจากตัวเหา (Pediculosis capitis) ที่อาศัยอยู่บนศีรษะ มีรูปร่างยาวรี ขนาดประมาณ 1-2 มิลลิเมตร มีสีขาวหรือสีเทา ไม่มีปีก มีขาอยู่ 3 คู่ ซึ่งจะมีตะขออยู่ตรงปลายเอาไว้เกี่ยวกับเส้นผมได้และสามารถเคลื่อนตัวได้ในอัตรา 23 เซนติเมตรต่อนาที แต่เหาจะไม่สามารถกระโดดหรือดีดตัวได้เหมือนตัวหมัด
- เหาที่ศีรษะจะมีอายุอยู่ได้ประมาณ 30 วัน สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้โดยการดูดเลือดเป็นอาหาร โดยมักดูดเลือดกินในเวลากลางคืน เหาเพศเมียจะวางไข่ (เรียกว่า Nit) วันละประมาณ 10 ฟอง โดยจะวางไข่อยู่ใกล้ ๆ กับโคนผม เพราะเป็นบริเวณที่มีอุณหภูมิที่อุ่นซึ่งเหมาะกับการเจริญเติบโตของไข่ แล้วไข่เหาจะใช้เวลาในการฟักเป็นตัวโดยเฉลี่ยประมาณ 7-10 วัน (อาจเร็วหรือช้ากว่านี้ก็ได้ ตั้งแต่ 3-14 วัน) และจะใช้เวลาประมาณ 8-10 วันเพื่อโตเต็มวัยและสามารถวางไข่ต่อไปได้ ซึ่งในคนคนหนึ่งจะมีเหาชนิดนี้อยู่ประมาณ 10-20 ตัว หากเหาชนิดนี้อยู่นอกตัวคนจะมีชีวิตอยู่ได้เพียง 1-2 วัน
- สามารถติดต่อได้โดยการสัมผัสใกล้ชิด นอนร่วมกัน หรือจากการใช้สิ่งของร่วมกัน เช่น แปรงผม หวี ที่มัดผม หมวก หมวกกันน็อก ผ้าคลุมผม ผ้าเช็ดตัว หรือที่เป่าผมร่วมกับผู้ที่เป็นเหา โดยพบว่าการหวีผมอาจส่งเหาออกไปได้ไกลถึง 1 เมตร เหาที่ศีรษะจึงพบได้มากในเด็ก เพราะเด็กจะมีการอยู่ใกล้ชิดกันมากกว่าผู้ใหญ่ และจะพบได้ในเด็กผู้หญิงมากกว่าเด็กผู้ชาย เพราะเด็กผู้หญิงมักชอบอยู่ใกล้ชิดกันมากกว่าและมักแบ่งของใช้ร่วมกัน เช่น หวี ที่มัดผม หมวก ฯลฯ ส่วนความยาวของผมไม่ใช่ปัจจัยที่ทำให้ติดเหาได้ง่ายขึ้น ในผู้ชายจึงสามารถเป็นเหาได้เช่นกัน
- ในทางเชื้อชาติพบว่า คนผิวดำจะมีอัตราการเป็นเหาน้อยกว่าคนเอเชียและคนผิวขาว ซึ่งอาจเป็นเพราะคนผิวดำมีเส้นผมที่หยิกและหนา จึงทำให้เหาเกาะอยู่ได้ยาก
- เหาที่ลำตัว (Pediculosis corporis) ตัวเหาชนิดนี้จะเหมือนกับเหาที่ศีรษะ แต่จะตัวใหญ่กว่าเล็กน้อย คือมีขนาดยาวประมาณ 2-4 มิลลิเมตร มักอาศัยอยู่บนเสื้อผ้า เมื่อจะกินอาหารก็จะคลายออกมาจากเสื้อผ้าและมาดูดเลือดบนลำตัวของคน เหาเพศเมียจะวางไข่ได้วันละประมาณ 10-15 ฟอง โดยจะวางอยู่บนเส้นใยของเสื้อผ้า โดยเฉพาะบริเวณที่ใกล้กับรอยเย็บหรือตะเข็บ ซึ่งในคนคนหนึ่งจะพบเหาชนิดนี้ได้ประมาณ 20 ตัว หากเหาชนิดนี้อยู่นอกตัวคนจะมีชีวิตอยู่ได้นานถึง 10 วัน
- สามารถติดต่อได้โดยการสัมผัสใกล้ชิดเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะในผู้ที่ไม่ได้อาบน้ำ ไม่ได้เปลี่ยนหรือซักเสื้อผ้า เช่น ผู้ที่เดินทางบนรถบัสหรือรถไฟเป็นระยะทางยาวนานหลาย ๆ วัน ผู้ที่อยู่ในค่ายกักกัน ค่ายอพยพ ในคุก หรือในคนเร่ร่อน ไม่มีที่อยู่อาศัย
- เหาที่อวัยวะเพศ หรือ โลน (Pediculosis pubis) เกิดจากตัวโลน (Pthirus pubis) ซึ่งเป็นแมลงตัวเล็ก ๆ แบบเดียวกับเหา แต่ชนิดนี้จะไม่ค่อยเคลื่อนตัว จึงมักพบเจอได้ง่ายกว่าชนิดอื่น ๆ โดยมักเกาะอยู่กับเส้นขนบริเวณอวัยวะเพศและดูดกินเลือดบริเวณหัวหน่าวและขาหนีบ เพศเมียสามารถวางไข่ได้วันละแค่ 1-2 ฟอง ลำตัวของมันจะมีลักษณะแบนกว้าง มีขนาดกว้างประมาณ 0.8-1.2 มิลลิเมตร และที่ขาตรงปลายจะมีตะขอใหญ่ดูคล้ายปู (โรคนี้จึงมีอีกชื่อเรียกหนึ่งในภาษาอังกฤษว่า “Crab”) จึงทำให้มันสามารถเกาะเกี่ยวกับเส้นขนที่มีความหยาบหนาได้ เช่น ขนที่อวัยวะเพศ ขนรอบรูก้น ขนรักแร้ ฯลฯ หากอยู่นอกตัวคนจะมีชีวิตอยู่ได้ไม่เกิน 1 วัน
- สามารถติดต่อได้จากการร่วมเพศ หรือใช้เครื่องสุขภัณฑ์ในห้องส้วม หรือใช้เสื้อผ้าหรือผ้าเช็ดตัวร่วมกัน ซึ่งนอกจากจะติดได้จากการร่วมเพศที่มักพบได้ในวัยรุ่นหรือในวัยเจริญพันธุ์แล้ว ยังอาจพบได้ในเด็กซึ่งเกิดจากพ่อแม่ที่เป็นเหาที่อวัยวะเพศหรือโลนด้วยเช่นกัน ซึ่งมักติดมาจากการอยู่ใกล้ชิด การนอนร่วมกัน จึงทำให้เด็กติดมาจากพ่อแม่ได้ หรือในบางครั้งก็อาจติดมาจากการถูกข่มขืนกระทำชำเราได้เช่นกัน
- แม้เหาชนิดนี้จะก่อความรำคาญกับมนุษย์ แต่มันก็พอจะมีประโยชน์อยู่บ้างในกรณีที่ใช้เป็นเบาะแสในการสืบคดีจากเหยื่อที่ถูกข่มขืนกระทำชำเราและติดเหามาด้วย โดยการนำเลือดจากตัวเหา (ซึ่งกินเลือดมาจากทั้งเหยื่อและผู้ร้าย) มาตรวจหารหัสพันธุกรรม (DNA) ก็พบรหัสพันธุกรรมของเหยื่อและของผู้ร้าย เราจึงสามารถนำรหัสพันธุกรรมนี้มาสืบหาผู้ร้ายต่อไปได้นั่นเอง
- เหาที่อาศัยอยู่บนตัวคนเหล่านี้ ในบางครั้งอาจอาศัยอยู่บนตัวสัตว์เลี้ยงต่าง ๆ รวมทั้งหมูได้ด้วย หรือในทางกลับกัน เหาของสัตว์เลี้ยงต่าง ๆ และนก ในบางครั้งก็อาจติดมาอยู่บนตัวคนได้เช่นกัน
อาการของเหา
- เหาที่ศีรษะ ผู้ป่วยจะมีอาการคันและระคายเคืองบนหนังศีรษะ ซึ่งเกิดจากร่างกายมีปฏิกิริยาต่อการกัดของเหาที่หนังศีรษะเวลาดูดเลือด ถ้าตรวจร่างกายดูหลังการดูดเลือดเสร็จใหม่ ๆ จะพบตุ่มนูนแดงเล็ก ๆ และจะมีอาการคันมากในตอนกลางคืน เพราะเหามักดูดเลือดในช่วงนี้ ทำให้เด็กมีปัญหานอนหลับพักผ่อนไม่เพียงพอ และอาจส่งผลต่อการเจริญเติบโตและการเรียนรู้ได้ แต่ผู้ป่วยบางรายอาจไม่มีอาการก็ได้ จากการตรวจร่างกายจึงมักพบรอยเกาบนหนังศีรษะ หนังศีรษะแดง เป็นขุยหรือเป็นสะเก็ด และพบตัวเหาและไข่เหาซึ่งจะเห็นเป็นจุดขาว ๆ ขนาดประมาณ 1 มิลลิเมตรติดอยู่บริเวณโคนผมและเส้นผม ส่วนใหญ่มักพบที่บริเวณเหนือใบหูและที่ท้ายทอย (ไข่เหามีได้ทั้งไข่ที่มีตัวอ่อนอยู่ภายในที่มีสีเหลืองเข้มหรือไข่ที่ฝ่อแล้วที่มีสีขาว)
- เหาที่ลำตัว อาการหลักคืออาการคันเช่นเดียวกับเหาที่ศีรษะ และผู้ป่วยจะคันมากในตอนกลางคืน การตรวจร่างกายจะพบรอยเกา ตุ่มนูนแดงเล็ก ๆ ที่เกิดจากการกัดดูดเลือดของเหา โดยจะพบได้ตามลำตัวเป็นส่วนใหญ่ ส่วนบริเวณอื่น ๆ ที่อาจพบได้คือ บริเวณรักแร้ ขาหนีบ ส่วนบริเวณหน้า แขนและขาจะพบได้น้อย และที่บริเวณหนังศีรษะจะไม่พบตุ่มนูนแดงนี้ นอกจากนี้ ยังอาจพบผื่นแบนเรียบเล็ก ๆ สีออกเทา-น้ำเงิน เรียกว่า “Macula cerulea” ที่เป็นลักษณะเฉพาะที่เกิดจากเหาหรือหมัดกัด ซึ่งเกิดจากน้ำลายของเหาไปทำปฏิกิริยากับองค์ประกอบในเม็ดเลือด ทำให้เกิดเม็ดสีที่ทำให้เกิดสีดังกล่าวขึ้นมา
- เหาที่อวัยวะเพศ (โลน) จะพบรอยเกา ตุ่มนูนแดง มีรอยบุ๋มตรงกลาง และ Macula cerulea ตามบริเวณที่เหาอยู่ ผู้ป่วยจะมีอาการคันมากและอาจเกาจนกลายเป็นตุ่มหนองพุพอง โดยอาการคันจะเกิดขึ้นในบริเวณที่มีเหาอาศัยอยู่ คือ ขนที่อวัยวะเพศ นอกจากนี้ยังอาจพบที่ขนรอบรูก้น ขนรักแร้ ขนหน้าอก ขนหน้าท้อง หากมีปริมาณมากก็อาจลามไปถึงขนคิ้วและขนตาได้ แต่จะไม่ลามไปที่ผม นอกจากนี้ยังอาจพบต่อมน้ำเหลืองที่บริเวณขาหนีบและรักแร้โตได้
ภาวะแทรกซ้อนของเหา
- สำหรับเหาที่ศีรษะ ผู้ป่วยบางรายอาจเกาจนมีเชื้อแบคทีเรียอักเสบแทรกซ้อนกลายเป็นตุ่มฝีหรือพุพอง อาจพบต่อมน้ำเหลืองที่คอโตร่วมด้วย หรือหากมีปริมาณมากและปล่อยทิ้งไว้ไม่รักษา เส้นผมอาจจะพันกันกลายเป็นก้อน มีสะเก็ดหนอง และมีกลิ่นเหม็นรุนแรงได้ ซึ่งเรียกว่า “Plica polonica“
- สำหรับเหาที่ลำตัว หากปล่อยทิ้งไว้ไม่รักษาเป็นเวลาหลายปี ผิวหนังจะหนาตัวและมีสีคล้ำขึ้น ซึ่งเกิดจากการเกาผิวหนังเป็นระยะเวลานาน ๆ หรือมีชื่อเรียกจำเพาะในกรณีนี้ว่า “Vagabond disease“
- สำหรับเหาที่อวัยวะเพศ (โลน) อาจพบต่อมน้ำเหลืองที่บริเวณขาหนีบและรักแร้โตได้
- ไม่ว่าจะเป็นเหาชนิดใด หากมีปริมาณมาก หรือผู้ป่วยมีอาการคันมากและเกาจนผิวหนังถลอกก็อาจทำให้ติดเชื้อแบคทีเรียอักเสบแทรกซ้อน เกิดผิวหนังอักเสบ พุพอง และเป็นฝีหนองได้
- ตัวเหาเป็นพาหะนำโรคได้หลายโรค เช่น โรคไข้รากสาดใหญ่ชนิด Epi demic typhus, โรคไข้เทรนช์ (Trench fever) และโรคไข้กลับ (Relapsing fever) เป็นต้น แต่ตัวเหาไม่สามารถแพร่เชื้อเอชไอวี (HIV) ได้
การวินิจฉัยการติดเหา
แพทย์สามารถวินิจฉัยการติดเหาได้จากอาการคันของผู้ป่วย รวมกับการตรวจพบตัวเหาหรือไข่เหา ซึ่งมีวิธีการตรวจอยู่หลายเทคนิค ตั้งแต่การหาด้วยตาเปล่า, การใช้แว่นขยายช่วยส่องตรวจ, การใช้หวีซี่เล็ก ๆ ที่เรียกว่าหวีเสนียดหวีผมหรือเส้นขนในขณะเปียก ซึ่งจะช่วยทำให้พบตัวเหาและไข่เหาได้ง่ายขึ้น, การตัดเส้นผมออกมาตรวจดูด้วยกล้องจุลทรรศน์, การใช้เทปเหนียวใสแปะลงไปบนเส้นผม ขน หรือเสื้อผ้า ซึ่งตัวเหาและไข่เหาจะติดมากับเทปเหนียว และสามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า หรือนำไปแปะบนแผ่นสไลด์แล้วนำไปส่องดูด้วยกล้องจุลทรรศน์ นอกจากนี้ยังมีการทดสอบโดยใช้แสงอัลตราไวโอเลตในช่วงคลื่นความยาวสูงที่เรียกว่า Wood’s lamp ใช้ส่องไปยังบริเวณที่สงสัย ซึ่งตัวเหาและไข่เหาจะเรืองแสงออกมาให้เห็น
วิธีกำจัดเหา
หลักในการรักษาการติดเหา คือ การรักษาผู้ที่เป็นเหาและผู้ที่อยู่ใกล้ชิดที่เป็นเหาไปพร้อม ๆ กัน ร่วมไปกับการควบคุมกำจัดเหาที่อยู่ในสิ่งแวดล้อม เพื่อป้องกันการแพร่สู่ผู้อื่นและการกลับมาติดเหาซ้ำอีก
- การรักษาเหาที่ศีรษะ ให้ใช้ยาฆ่าตัวเหาร่วมไปกับการกำจัดเหาด้วยวิธีทางกายภาพ เช่น
- เบนซิลเบนโซเอต (Benzyl benzoate) ชนิด 25% มีทั้งในรูปแบบครีมและโลชั่น ใช้ชโลมให้ทั่วศีรษะและโพกผ้าทิ้งไว้ประมาณ 12-20 ชั่วโมง แล้วจึงสระให้สะอาด ซึ่งวิธีที่สะดวกคือ ให้ใส่ยาตอนเย็นแล้วทิ้งไว้ค้างคืน หลังจากนั้นให้สระผมให้สะอาด พร้อมทั้งใช้หวีเสนียดสางเอาไข่เหาออกมา และให้ทำซ้ำอีกครั้งในอีก 1 สัปดาห์ต่อมา เพราะเป็นระยะที่ไข่เหาหลงเหลืออยู่ (ซึ่งยังไม่ถูกฆ่าด้วยยาดังกล่าว) จะฟักตัวอีกครั้งหนึ่ง ยาชนิดนี้พบว่ามีประสิทธิภาพดีในการรักษา แต่พบอาการระคายเคืองบนหนังศีรษะได้บ่อย ในกรณีที่ใช้แล้วอาการไม่ดีขึ้นหรือไม่หาย ควรปรึกษาแพทย์เพื่อให้การรักษาที่เหมาะสมต่อไป
- มาลาไทออน (Malathion) ใช้แชมพูทาลงบนผมและหนังศีรษะที่แห้งโดยทั่วแล้วขยี้ให้เกิดฟอง โดยเน้นบริเวณเหนือใบหูและที่ท้ายทอย หลังจากนั้นให้ปล่อยทิ้งไว้ประมาณ 10-15 นาที แล้วจึงล้างแชมพูและฟองออก และให้ทำซ้ำอีกครั้งในอีก 1 สัปดาห์ต่อมา ยาชนิดนี้พบว่ามีประสิทธิภาพดีและมีความปลอดภัยอยู่ในระดับที่น่าพอใจ สามารถใช้ได้ในผู้ใหญ่ เด็ก และทารกตั้งแต่ 6 เดือนขึ้นไป
- เพอร์เมทริน (Permethrin) มีอยู่ 3 รูปแบบ คือ แบบครีม โลชั่น และแชมพู ก่อนทายาให้สระผมเพื่อชำระล้างคราบฝุ่นสิ่งสกปรกออกก่อน เช็ดผมให้แห้ง แล้วใช้เพอร์เมทรินโลชั่นหรือแชมพูในขนาดที่พอเหมาะกับผม ทาลงบนหนังศีรษะและผมให้ทั่ว ทิ้งไว้ประมาณ 10 นาที จากนั้นให้สระผมล้างน้ำยาออกให้หมด แล้วจึงหวีผมด้วยหวีเสนียด และให้ทำซ้ำอีกครั้งในอีก 1 สัปดาห์ต่อมา หากการใช้ยานี้มีอาการแพ้ยา เช่น มีผื่นคันขึ้นตามร่างกาย ไม่แนะนำให้ทาหรือใช้ยาซ้ำ แต่ควรไปพบแพทย์
- ลินเดน (Lindane®) หรือ 1% Gamma benzene hexachloride มีอยู่ 2 รูปแบบ คือ แบบครีมและแบบโลชั่น ใช้ชโลมบนศีรษะที่แห้งและทิ้งค้างคืนไว้ประมาณ 8-10 ชั่วโมงก่อนที่จะล้างออก และให้ทำซ้ำอีกครั้งในอีก 1 สัปดาห์ต่อมา ยาชนิดนี้พบว่ามีประสิทธิภาพดีในการรักษา พิษของยาต่ำมากถ้าใช้อย่างถูกต้องและถูกวิธีตามฉลากกำกับยา แต่ถ้าใช้ยามากเกินไปหรือใช้ผิดวิธีก็สามารถทำให้เกิดอาการทางระบบประสาทได้
- สปินโนแซด (Spinosad) หรือ Natroba™ เป็นสารเคมีที่ใช้สำหรับกำจัดเพลี้ยไฟเป็นหลัก แต่ถูกนำมาใช้เป็นยากำจัดเหาในมนุษย์ด้วย และทางองค์การอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกา (FDA) ก็ให้การรับรองแล้วว่าสามารถใช้รักษาเหาบนหนังศีรษะมนุษย์ได้
- นอกจากนี้ยังมียาในรูปแบบรับประทานที่ต้องรับประทานซ้ำอีกครั้งในอีก 1 สัปดาห์ต่อมาเช่นกัน แต่ยาแบบรับประทานจะมีผลข้างเคียงเกิดขึ้นได้มากกว่า จึงไม่ควรเลือกใช้เป็นอันดับแรก
- หวีเสนียด (Nit picking) อย่างที่กล่าวไปแล้วว่า แม้ยาทุกชนิดที่กล่าวมาจะฆ่าตัวเหาได้ แต่ก็ไม่สามารถฆ่าไข่เหาได้ ดังนั้น นอกจากจะต้องใช้ยาซ้ำอีกครั้งในอีก 1 สัปดาห์ต่อมาแล้ว ทางที่ดียังควรกำจัดไข่เหาด้วยการใช้หวีซี่ถี่หรือหวีเสนียดควบคู่ไปด้วย โดยการนำหวีเสนียดมาจุ่มในน้ำร้อนผสมน้ำส้มสายชูแล้วใช้สางผมทุกวัน หรือใช้หวีเสนียดสางผมทุกครั้งหลังจากใช้ยาฆ่าเหาไปแล้ว เพื่อช่วยกำจัดเหาที่อาจรอดชีวิตและกำจัดไข่เหาได้ (ขั้นตอนการหวีให้แบ่งผมออกเป็นช่อ ๆ สางผมโดยเริ่มจากหนังศีรษะมาจนสุดที่ปลายเส้นผม แล้วหวดหวีลงในน้ำร้อนผสมน้ำส้มสายชู จากนั้นให้หวีผมไปเรื่อย ๆ ทีละช่อจนหมดทั้งหัว และทำความสะอาดหวีโดยการใส่ลงไปในถ้วยที่มีน้ำร้อนจัดทุกครั้งหลังใช้เสร็จ) ส่วนอีกวิธีที่จะช่วยเอาตัวเหาและไข่เหาออกได้ง่ายขึ้นนั้น คือให้นำน้ำส้มสายชูมาผสมกับน้ำในอัตราส่วน 1:1 ใช้หมักลงบนหนังศีรษะและเส้นผม ทิ้งไว้ประมาณ 10-15 นาที แล้วจึงใช้หวีเสนียดสางเอาตัวเหาและไข่เหาออก โดยควรสางผมในขณะเปียกและควรซ้ำทุก 2-3 วัน (ซึ่งการใช้วิธีนี้ จากการศึกษาพบว่า หากทำทุก ๆ 2-3 วัน เป็นเวลาอย่างน้อย 2 สัปดาห์ โดยไม่ได้ใช้ยาฆ่าเหาร่วมด้วย พบว่าจะมีประสิทธิภาพในการกำจัดเหาได้ดีพอ ๆ กับการใช้ยาฆ่าร่วมกับการใช้หวีเสนียด)
- การเอาตัวเหาและไข่เหาออกจากเส้นผมและหนังศีรษะโดยวิธีการแปรงออกหรือเป่าลมแรงออก สามารถช่วยลดจำนวนของไข่เหาและตัวเหาบนหนังศีรษะได้ดี แต่อาจไม่เพียงพอในการรักษา ดังนั้น จึงจำเป็นต้องได้รับการรักษาด้วยยาร่วมด้วย
- ยังมีสารอื่น ๆ อีกหลายชนิดที่ถูกนำมาใช้รักษาโรคนี้ แต่ยังไม่มีหลักฐานทางการแพทย์ที่ดีเพียงพอว่ามีประสิทธิภาพ เช่น น้ำมันพืช, น้ำมันมะพร้าว, น้ำมันสะเดา, น้ำมันใส่ผม, ปิโตรเลียมเจลลี่ ฯลฯ (ให้ใช้ร่วมกับหวีเสนียด) ซึ่งสารดังกล่าวอาจล้างออกยากและอาจก่อให้เกิดอันตรายจากการใช้ได้ นอกจากนี้ยังมีน้ำมันหอมระเหยบางอย่างที่ช่วยขับไล่เหาได้ เช่น ทีทรีออยล์, ลาเวนเดอร์, ออริกาโน, เปปเปอร์มินต์, ยูคาลิปตัส, ไธม์ ฯลฯ (ให้ใช้น้ำมันหอมระเหย 5 หยดต่อน้ำ 30 มิลลิลิตร)
- หากใช้วิธีเหล่านี้แล้วยังไม่สามารถกำจัดเหาได้ การโกนผมจะช่วยได้
- ถ้ามีตุ่มฝีหรือพุพองเกิดขึ้น แพทย์จะให้รับประทานยาปฏิชีวนะ เช่น ไดคล็อกซาซิลลิน (Dicloxacillin) หรืออิริโทรมัยซิน (Erythromycin) นาน 10 วัน
- การรักษาเหาที่ลำตัว การรักษาความสะอาดของเสื้อผ้าและที่นอนเป็นปัจจัยสำคัญของการรักษาเหาที่ลำตัว เนื่องจากเหาชนิดนี้ไม่ได้อาศัยอยู่บนเส้นขนของคน แต่อาศัยอยู่บนเสื้อผ้า ดังนั้น การอาบน้ำ เปลี่ยนผ้าเช็ดตัว เปลี่ยนเสื้อผ้า เปลี่ยนผ้าปูที่นอน ผ้าห่ม ปลอกหมอน ก็สามารถกำจัดเหาชนิดนี้ได้แล้ว แต่หากยังต้องการใช้เสื้อผ้า ผ้าเช็ดตัว ผ้าปูที่นอน ฯลฯ ตัวเดิม ก็ต้องนำไปซักและแช่ในน้ำร้อนที่อุณหภูมิมากกว่า 55 องศาเซลเซียสเป็นเวลานานกว่า 5 นาที ซึ่งจะช่วยทำให้ตัวเหาและไข่เหาตายได้ แต่อย่างที่ได้กล่าวไปแล้วเหาชนิดนี้มักพบได้ในผู้เร่ร่อน ผู้อพยพ การรักษาความสะอาดจึงอาจเป็นไปได้ยาก ซึ่งการใช้ยาในรูปแบบกินกับกลุ่มคนเหล่านี้อาจช่วยกำจัดเหาได้สะดวกกว่า
- การรักษาเหาที่อวัยวะเพศ (โลน) การรักษาให้ใช้ยาฆ่าเหาแบบเดียวกับการรักษาเหาที่ศีรษะ โดยให้ซ้ำอีกครั้งในอีก 1 สัปดาห์ต่อมา ร่วมกับการกำจัดเหาออกด้วยวิธีทางกายภาพ สำหรับเบนซิลเบนโซเอต (Benzyl benzoate) ให้ใส่ยาบริเวณที่เป็นโลน ทิ้งไว้ประมาณ 24 ชั่วโมง แล้วจึงสระให้สะอาด เมื่อครบ 1 อาทิตย์ ก็ให้ใส่ยาซ้ำอีกครั้ง ส่วนเพอร์เมทริน (Permethrin) ก่อนใช้ให้เช็ดหรือล้างทำความสะอาดบริเวณผิวหนังที่อวัยวะเพศให้สะอาดและเช็ดให้แห้ง (อาจจำเป็นต้องโกนขนที่อวัยวะเพศออกด้วย) โดยให้ใช้เพอร์เมทรินในรูปแบบโลชั่นหรือครีมในขนาดที่พอเหมาะกับขนบริเวณนั้น ใช้ชโลมหรือทาผิวบริเวณที่เป็นโลน ทิ้งไว้ประมาณ 10 นาที แล้วล้างน้ำออกให้หมด ทั้งนี้โรคมักจะหายจากการใช้ยาเพียงครั้งเดียว
- การรักษาให้ทำร่วมกับการกำจัดเหาออกด้วยวิธีทางกายภาพ เช่น ใช้แหนบคีบออก การสางออกด้วยหวีเสนียด หรือใช้วิธีการโกนขนให้เตียนทั้งที่อวัยวะเพศ ขนรอบก้น ขนรักแร้ ขนหน้าท้อง และขนหน้าอกออก
- หากมีเหาที่ขนคิ้วหรือขนตา ไม่ควรใช้ยาฆ่าเหาแบบเดียวกับการใช้ที่ศีรษะ เนื่องจากเป็นสารเคมีที่มีฤทธิ์ทางเคมีในการฆ่าเหาด้วยการไปทำลายระบบประสาทของมัน การใช้ยาบริเวณนี้จึงอาจเกิดอันตรายต่อดวงตาได้ แต่ให้ใช้สารเคมีที่ออกฤทธิ์ทางกายภาพแทน คือสารเคมีที่มีความหนืด ซึ่งจะไปช่วยในการขัดขวางการหายใจและทำให้ตัวเหาตายได้ เช่น ปิโตรเลียมเจลลี่, น้ำมันมะกอก หรืออาจใช้เป็นตัวยาสำเร็จรูป เช่น Benzyl alcohol lotion ซึ่งการใช้สารเคมีในกลุ่มนี้จะต้องใช้ซ้ำอีกครั้งในอีก 1 สัปดาห์ต่อมาเช่นกัน เนื่องจากไม่สามารถกำจัดไข่เหาได้ นอกจากนี้ควรใช้ร่วมกับวิธีทางกายภาพอื่น ๆ ด้วย อย่างเช่นการใช้แหนบคีบออก
- สิ่งสำคัญที่สุดคือต้องรักษาคู่นอนของตนไปพร้อม ๆ กัน เนื่องจากเหาชนิดนี้ติดมาจากการมีเพศสัมพันธ์เป็นหลัก และหากเป็นครอบครัวที่มีลูกนอนอยู่ด้วยกับพ่อแม่ที่เป็นเหาชนิดนี้แล้ว ก็ต้องรักษาเด็ก ๆ ไปพร้อมกันด้วย
- สมุนไพรกำจัดเหา (โดยเฉพาะกับเหาที่ศีรษะ) สามารถใช้สมุนไพรในการรักษาได้ เช่น
- กฤษณา ( Aquilaria crassna Pierre ex Lecomte) ใช้ผงไม้กฤษณานำมาโรยลงบนเสื้อผ้าหรือบนร่างกายจะช่วยฆ่าหมัดและเหา
- กระดึงช้างเผือก (Trichosanthes tricuspidata Lour.) ใช้ส่วนของเถาเป็นยาฆ่าเหา
- กระทิง (Calophyllum inophyllum L.) น้ำมันจากเมล็ดใช้เป็นยาฆ่าเหา
- คำมอกหลวง (Gardenia sootepensis Hutch.) เมล็ดนำมาต้มเคี่ยวกับน้ำใช้ผสมเป็นยาฆ่าเหา
- ชุมเห็ดไทย (Senna tora (L.) Roxb.) ในประเทศอินเดียจะใช้เมล็ดและใบเป็นยาฆ่าหิดเหา
- ตีนเป็ดน้ำ (Cerbera odollam Gaertn.) น้ำมันจากเมล็ดใช้ใส่ผมเป็นยาแก้เหา โดยใช้ส่วนผสมของเมล็ดตีนเป็ดน้ำกับน้ำในอัตราส่วน 1:1 ใช้ชโลมผมทิ้งไว้ประมาณ 6 ชั่วโมง จะทำให้เหาทั้งหมดตายและไข่ฝ่อทั้งหมด (มีข้อมูลระบุว่าเมล็ดจากลูกตีนเป็ดน้ำจะมีประสิทธิภาพในการกำจัดเหาดีกว่ายาฆ่าเหาที่ใช้สารเคมีที่มีวางขายตามท้องตลาด และมีประสิทธิภาพที่ดีกว่าการใช้ใบน้อยหน่า เนื่องจากใช้ระยะเวลาในการชโลมผมน้อยกว่า อีกทั้งยังมีความปลอดภัยมากกว่าอีกด้วย)
- เทียนสัตตบุษย์ (Pimpinella anisum L.) ใช้น้ำมันจากเมล็ดเป็นยาฆ่าแมลงต่าง ๆ เช่น หมัด เหา
- น้อยหน่า (Annona squamosa L.) ใช้ใบสดประมาณ 4 ใบนำมาตำผสมกับเหล้าขาว แล้วเอาน้ำที่ได้มาชโลมให้ทั่วศีรษะ แล้วใช้ผ้าคลุมไว้ประมาณ 10 นาที แล้วใช้หวีสางออก (หรือจะใช้แค่น้ำคั้นจากใบอย่างเดียวก็ได้) หรืออีกวิธีให้นำเมล็ดมาตำให้ละเอียดผสมกับน้ำมะพร้าวในอัตราส่วน 1 ต่อ 2 ใช้ชโลมทิ้งไว้ประมาณ 2 ชั่วโมง แล้วล้างออก โดยให้ทำซ้ำทุกสัปดาห์จนกว่าเหาจะหาย แต่ต้องระวังอย่าให้น้ำยาเข้าตา เพราะอาจทำให้เยื่อตาขาวอักเสบได้ หากมีผลข้างเคียงดังกล่าว ผู้ป่วยควรใช้ยาหยอดตาที่เข้าสเตียรอยด์ในการรักษา
- น้อยโหน่ง (Annona reticulata L.) ใบนำมาคั้นเอาแต่น้ำใช้เป็นยาฆ่าเหา
- บวบขม (Trichosanthes cucumerina L.) ตำรายาไทยจะใช้ผลสดเป็นยาพอกศีรษะฆ่าเหา โดยนำมาขยี้ฟอกศีรษะเส้นผมหลังสระผม หมักทิ้งไว้ประมาณ 5-10 นาที แล้วค่อยล้างน้ำออก โดยให้ฟอกทุกครั้งหลังสระผม
- ฝิ่นต้น (Jatropha multifida L.) ใช้ใบเป็นยาสระผมแก้เหา
- ฟักข้าว ( Momordica cochinchinensis (Lour.) Spreng) ใช้รากแช่น้ำสระผมเป็นยาฆ่าเหา
- มะกรูด (Citrus hystrix DC.) ให้เอาผลที่แก่จัดไปเผาไฟหรือย่างไฟให้สุก ทิ้งไว้ให้เย็น จากนั้นให้นำมาคลึงให้มีน้ำมาก ๆ แล้วผ่าครึ่ง บีบน้ำลงบนหัวพร้อมกับขยี้ให้ทั่ว แล้วใช้หวีเสนียดค่อย ๆ สางเส้นผมเพื่อกำจัดไข่เหาออก โดยให้ทำสัปดาห์ละ 1 ครั้ง ติดต่อกัน 3 ครั้ง
- มะขาม (Tamarindus indica L.) ให้นำมะขามเปียกมาผสมกับน้ำแล้วใช้มือคั้นเนื้อมะขามเพื่อให้ละลายออกผสมกับน้ำ น้ำที่ได้นั้นจะมีลักษณะเหลว (ไม่ควรเหลวมาก) แล้วนำมานวดศีรษะหลังจากที่สระผมเสร็จแล้วทิ้งไว้ประมาณ 30 นาทีแล้วล้างออก
- มะคำดีควาย (Sapindus trifoliatus L.) ใช้เนื้อผล 1 ผล นำมาตีกับน้ำจนเกิดเป็นฟอง แล้วใช้สระผมวันละ 1 ครั้ง จนกว่าจะหาย
- มะตูม (Aegle marmelos (L.) Corrêa) ให้นำผลสุกมาผ่า แล้วเอายางจากผลมาใช้ทาผม แล้วหวีให้ทั่ว ปล่อยทิ้งไว้ให้แห้ง เหาจะตายหมด แล้วให้ล้างน้ำและหวีออก
- ยอ (Morinda citrifolia L.) ใบสดมีการนำมาใช้สระผมและกำจัดเหา หรือจะใช้น้ำมันสกัดจากเมล็ดยอก็ได้
- ยอเถื่อน (Morinda elliptica (Hook.f.) Ridl.) ใบสดใช้ตำพอกศีรษะช่วยฆ่าไข่เหา
- ยอป่า (Morinda coreia Buch.-Ham.) ใบสดใช้ตำพอกศีรษะเป็นยาฆ่าเหา
- ยาสูบ (Nicotiana tabacum L.) ให้ใช้ใบยาสูบแก่ที่ตากแห้งแล้ว 1 หยิบมือ นำมาผสมกับน้ำมันก๊าดประมาณ 3-4 ช้อนแกง แล้วใช้ชโลมทั้งน้ำและยาเส้นลงบนผมทิ้งไว้ประมาณ 1 ชั่วโมง แล้วสระออกให้สะอาด โดยให้ทำติดต่อกันประมาณ 3-4 วัน
- เลี่ยน (Melia azedarach L.) เปลือกต้น ดอก และผลมีสรรพคุณเป็นยาฆ่าเหา
- ลำโพงกาสลัก (Datura metel L.) น้ำมันจากเมล็ดมีรสเมาเบื่อ ใช้ปรุงเป็นยาฆ่าเหา
- ลำโพง (Datura metel L.) น้ำมันจากเมล็ดมีฤทธิ์ฆ่าเหา
- สะเดา ( Azadirachta indica A.Juss.) ให้ใช้ใบแก่นำมาโขลกผสมกับน้ำ แล้วนำไปทาให้ทั่วหัวและใช้ผ้าหรือถุงพลาสติกคลุมหัวไว้ด้วย ปล่อยทิ้งไว้สักพัก จะทำให้ไข่เหาฝ่อ และฆ่าเหาให้ตายได้
- เสม็ด (Melaleuca quinquenervia (Cav.) S.T.Blake) ใบและเปลือกเมื่อนำมาตำรวมกันใช้เป็นยาทาฆ่าเหา
- หมี่ (Litsea glutinosa (Lour.) C.B.Rob.) ใบสดใช้เป็นยาพอกศีรษะเพื่อฆ่าเหา
- หนอนตายหยากเล็ก (Stemona tuberosa Lour.) ตำรายาไทยจะใช้รากนำมาทุบหรือตำผสมกับน้ำหรือหมักกับน้ำแล้วเอาน้ำมาพอกทาฆ่าเหา
- หวดหม่อน (Clausena excavata Burm.f.) ใบใช้ตำพอกฆ่าหิดและเหา
- หญ้าดอกขาว (Cyanthillium cinereum (L.) H.Rob.) เมล็ดมีรสเฝื่อน ใช้ตำพอกช่วยกำจัดเหา
- หญ้าแส้ม้า (Verbena officinalis L.) ใบนำมาคั้นเอาน้ำทาหรือพอก หรือต้มกับน้ำอาบ สระผม ช่วยกำจัดเหา โลน
- หางไหลขาว (Derris malaccensis Prain) รากใช้ผสมกับสบู่และน้ำสำหรับใช้ฆ่าหิดและเหา
- หางไหลแดง (Derris elliptica (Wall.) Benth.) ใช้เถาสดยาวประมาณ 2-3 นิ้วฟุต นำมาตำให้ละเอียดผสมกับน้ำมันพืช ใช้ชโลมบนเส้นผมทิ้งไว้ประมาณ 1 ชั่วโมง แล้วสระออกให้สะอาด โดยให้สระติดต่อกัน 2-3 วัน
- คำแนะนำในการดูแลตนเองในเบื้องต้น คือ
- ควรป้องกันการแพร่เหาสู่ผู้อื่น ด้วยการรักษาเหาของตนเองให้หาย และกำจัดเหาที่อาจหลงเหลืออยู่ในสิ่งแวดล้อมเพื่อป้องกันไม่ให้ตัวเองกลับมาเป็นเหาซ้ำอีก
- ถ้ามีคนในบ้านหรือในชั้นเรียนเป็นเหาหลายคน ควรรักษาทุกคนไปพร้อม ๆ กัน เพื่อป้องกันการติดเหาจากคนข้างเคียงซ้ำอีก
- ผู้ป่วยควรแยกนอนต่างหากและไม่คลุกคลีกับผู้อื่น
- ไม่ควรใช้ของส่วนตัวต่าง ๆ เช่น หวี ที่มัดผม หมวก ฯลฯ ร่วมกับผู้อื่น โดยเฉพาะเด็ก พ่อแม่หรือคุณครูควรเน้นย้ำสอนให้เด็ก ๆ ฟังอยู่เสมอ
- ควรนำที่นอนและหมอนออกไปผึ่งแดดทุกวัน
- พยายามอย่าเกา ถึงแม้จะมีอาการคันแค่ไหนก็ตาม
- การซื้อยาฆ่าเหามาใช้เอง ควรได้รับคำแนะนำในการใช้จากเภสัชกรก่อนเสมอ เพราะยาแต่ละชนิดอาจมีวิธีการใช้ไม่เหมือนกัน แต่ไม่ว่าจะเป็นยาแบบใด ที่สำคัญคือ ต้องใช้ซ้ำ 2 ครั้ง ตามเหตุผลที่กล่าวมา สำหรับเด็กและหญิงตั้งครรภ์ไม่ควรซื้อยามาใช้เอง แต่ควรไปพบแพทย์
- คนส่วนใหญ่มักเข้าใจผิดคิดว่าเหาเป็นโรคที่เกิดขึ้นกับผู้มีฐานะยากจนหรือผู้เร่ร่อนที่ไม่ดูแลตนเอง ผู้ที่เป็นเหาจึงไม่กล้าบอกคนอื่น เพราะกลัวจะโดนรังเกียจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเด็กที่กลัวโดนเพื่อนล้อ จึงทำให้ไม่ยอมไปรักษา ส่วนพ่อแม่ของเด็กเองก็อาจอายที่จะบอกว่าลูกตัวเองเป็นเหา จึงอาจพยายามปกปิด ทำให้การควบคุมการแพร่กระจายของเหาในโรงเรียนหรือในชุมชนทำได้ยาก แต่อย่างที่ได้กล่าวไปแล้วว่าเหาส่วนใหญ่ (โดยเฉพาะเหาที่ศีรษะ ยกเว้นเหาที่ลำตัว) ไม่ได้เกี่ยวข้องกับฐานะหรือความสกปรกแต่อย่างใด ผู้ใหญ่และเด็กทุกคนควรทำความเข้าใจถึงเรื่องนี้และช่วยกำจัดเหาให้หมดไป หรือทางโรงเรียนอาจกำหนดหน้าที่ให้พยาบาลประจำห้องพยาบาลมีหน้าที่ตรวจหาเหาให้เด็ก ๆ ทุกคนเดือนละครั้งก็ได้ หากพบว่ามีเด็กคนใดเป็นเหาก็อาจต้องให้หยุดเรียนไปก่อนชั่วคราว รวมถึงจัดการให้การรักษาพร้อมกับเดินทางไปสำรวจบ้านของนักเรียนว่ามีใครเป็นเหาอีกบ้าง ซึ่งจะได้ให้คำแนะนำในการรักษาและการกำจัดเหาภายในบ้านไปพร้อมกันในคราวเดียว
สาเหตุที่รักษาเหาไม่หาย
- การรักษาด้วยยากำจัดเหาทำไม่ถูกวิธี และบ่อยครั้งที่ไม่หมักผมไว้นานพอ
- ไม่ทำการรักษาซ้ำ
- การใช้หวีเสนียดสางผม อาจไม่ได้ทำซ้ำหรือทำนานพอ
- ไม่ตรวจดูเหาอีกอย่างน้อย 2 สัปดาห์ต่อมา หลังจากที่ไม่พบตัวเหาแล้ว
- การรักษาอย่างถูกต้องด้วยวิธีเดิม ๆ หลายครั้งอาจไม่ได้ผล 100% ดังนั้น จึงควรลองเปลี่ยนไปใช้วิธีอื่นหรือยาชนิดอื่นบ้าง
- บางครั้งการรักษาแม้จะได้ผล แต่เด็กกลับไปติดเหามาใหม่ เพราะไปคลุกคลีกับเด็กที่มีเหา ในกรณีเช่นนี้ควรแจ้งทางโรงเรียนให้ทราบ เพื่อจะได้ตรวจเช็กเด็กและให้คำแนะนำกับผู้ปกครองต่อไป
วิธีป้องกันเหา
- พยายามไว้ผมให้สั้น (ถ้าทำได้) และสระผมบ่อย ๆ ตลอดจนอย่าไปคลุกคลีหรือใช้สิ่งของร่วมกับคนที่เป็นเหา
- เพื่อป้องกันการติดต่อ ควรระวังสิ่งของที่น่าสงสัยทั้งหลาย เช่น หมวกที่ซื้อมาจากร้านมือสอง เป็นต้น ทางที่ดีคุณควรนำไปซักให้สะอาดหรือเอาไปใส่ไว้ในถุงพลาสติกให้มิดชิดอย่างน้อย 2 สัปดาห์ก่อนที่จะนำมาใช้ดีกว่า และไม่ควรลองหมวกจากร้านเหล่านี้ หรือร้านที่วางตามพื้น หรือแม้แต่แขวนเสื้อโค้ตก็ต้องระวังด้วยเช่นกัน
- ของใช้ส่วนตัวต่าง ๆ เช่น แปรงผม หวี ที่มัดผม หมวก หมวกกันน็อก ผ้าคลุมผม ผ้าเช็ดตัว ผ้าปูที่นอน ปลอกหมอน รวมถึงของเล่นต่าง ๆ เช่น ตุ๊กตา ควรนำมาซักทำความสะอาดและแช่น้ำร้อนที่อุณหภูมิมากกว่า 55 องศาเซลเซียสเป็นเวลานานกว่า 5 นาที ส่วนสิ่งของที่ไม่สามารถนำมาซักล้างได้ เช่น ที่เป่าผม อุปกรณ์ใส่ผม เส้นผมที่ตัดทิ้งไว้ ให้ใช้วิธีนำมาใส่ถุงพลาสติกและรัดปากถุงให้แน่นมิดชิดเป็นระยะเวลาอย่างน้อย 2 สัปดาห์ เพื่อให้แน่ใจว่าตัวเหาและเหาที่จะฟักออกจากไข่เหาตายทั้งหมด แล้วจึงค่อยนำกลับมาใช้ต่อ
- ในกรณีที่เป็นของใช้ร่วมกันและมีขนาดใหญ่ เช่น พรม โซฟา อาจใช้เครื่องดูดฝุ่นในการช่วยกำจัดได้
- หลีกเลี่ยงการสำส่อนทางเพศเพื่อป้องกันการติดเหาที่อวัยวะเพศ เพราะการใส่ถุงยางอนามัยไม่สามารถป้องกันการติดเหาชนิดนี้ได้
- แพทย์ไม่แนะนำให้ใช้ยาฆ่าเหา เช่น แชมพูหรือโลชั่นกำจัดเหา มาใช้ในการป้องกันการเกิดเหา เพราะนอกจากจะไม่เกิดประโยชน์แล้ว ยังอาจเป็นพิษได้หากใช้บ่อยครั้ง
- การฉีดยาฆ่าแมลงที่ใช้กำจัดแมลงตามบ้านทั่วไป พบว่าไม่ช่วยในการกำจัดเหาที่อาจหลงเหลืออยู่ในสิ่งแวดล้อมได้
เอกสารอ้างอิง
- หนังสือตำราการตรวจรักษาโรคทั่วไป 2. “เหา (Pediculosis capitis/Head louse)”. (นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ). หน้า 996-997.
- หาหมอดอทคอม. “เหา และ โลน (Pediculosis)”. (พญ.สลิล ศิริอุดมภาส). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : haamor.com. [16 มิ.ย. 2016].
- ASTV ผู้จัดการออนไลน์. “เหา….แก้ไขได้อย่างไรเมื่อเด็กติดเหา”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.manager.co.th. [17 มิ.ย. 2016].
ภาพประกอบ : vrachfree.ru, idsc.nih.go.jp, www.staticwhich.co.uk, www.wikimedia.org (by Gilles San Martin), kids.nationalgeographic.com, www.pcds.org.uk, getridofnits.co.uk, www.scottcamazine.com, delusion.ucdavis.edu, entnemdept.ufl.edu, www.onlinedermclinic.com, web.stanford.edu, www.chospab.es, www.regionalderm.com, www.dermquest.com, www.wikimedia.org (by KostaMumcuoglu), www.cbc.ca, eflorakkl.in
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)