เหงือกปลาหมอ
เหงือกปลาหมอ ชื่อสามัญ Sea holly, Thistleplike plant
เหงือกปลาหมอ ชื่อวิทยาศาสตร์ Acanthus ebracteatus Vahl (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Acanthus ilicifolius Lour., Acanthus ilicifolius var. ebracteatus (Vahl) Benoist, Dilivaria ebracteata (Vahl) Pers.) จัดอยู่ในวงศ์เหงือกปลาหมอ (ACANTHACEAE)
สมุนไพรเหงือกปลาหมอ มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า แก้มหมอ (สตูล), แก้มหมอเล (กระบี่), อีเกร็ง (ภาคกลาง), นางเกร็ง จะเกร็ง เหงือกปลาหมอน้ำเงิน เป็นต้น
เหงือกปลาหมอมีอยู่ด้วยกัน 2 สายพันธุ์ คือ พันธุ์ที่เป็นดอกสีม่วง (Acanthus ilicifolius L.) ที่พบได้มากทางภาคใต้ และพันธุ์ที่เป็นดอกสีขาว (Acanthus ebracteatus Vahl) ที่พบได้มากทางภาคกลางและภาคตะวันออก และเป็นพรรณไม้ที่ขึ้นชื่อของจังหวัดสมุทรปราการ
เหงือกปลาหมอ สมุนไพรใกล้ตัวหรืออาจจะเรียกว่าเป็นสมุนไพรชายน้ำหรือชายเลนก็ได้ สามารถนำสรรพคุณทางยามาใช้ในการรักษาโรคได้หลายชนิด ที่โดดเด่นมากก็คือการนำมารักษาโรคผิวหนังได้เกือบทุกชนิด แก้น้ำเหลืองเสีย และการนำมาใช้รักษาริดสีดวงทวาร เป็นต้น โดยส่วนที่นำมาใช้เป็นยาสมุนไพรก็ได้แก่ ส่วนลำต้นทั้งสดและแห้ง ใบทั้งสดและแห้ง ราก เมล็ด และทั้งต้น (ส่วนทั้ง 5 ประกอบไปด้วย ต้น ราก ใบ ผล เมล็ด)
ลักษณะของเหงือกปลาหมอ
- ต้นเหงือกปลาหมอ เป็นไม้พุ่มขนาดกลาง มีความสูงประมาณ 1-2 เมตร ลำต้นแข็ง มีหนามอยู่ตามข้อของลำต้น ข้อละ 4 หนาม ลำต้นกลม กลวง ตั้งตรง มีสีขาวอมเขียว ลำต้นมีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1.5 เซนติเมตร ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ดและการใช้กิ่งปักชำ เป็นพรรณไม้ที่มักขึ้นกลางแจ้ง เจริญเติบโตได้ดีในที่ร่มและในที่ที่มีความชื้นสูง ชอบขึ้นตามชายน้ำหรือบริเวณริมฝั่งคลองบริเวณปากแม่น้ำ เช่น บริเวณริมแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันออกเหนือปากคลองมหาวงก์ และที่โรงเรียนนายเรือ เป็นต้น
- ใบเหงือกปลาหมอ ใบเป็นใบเดี่ยว ลักษณะของใบมีหนามคมอยู่ริมขอบใบและปลายใบ ขอบใบเว้าเป็นระยะ ๆ ผิวใบเรียบเป็นมันลื่น แผ่นใบสีเขียว เส้นใบสีขาว มีเหลือบสีขาวเป็นแนวก้างปลา เนื้อใบแข็งและเหนียว ใบกว้างประมาณ 4-7 เซนติเมตร และยาวประมาณ 10-20 เซนติเมตร ใบจะออกเป็นคู่ตรงข้ามกัน ก้านใบสั้น
- ดอกเหงือกปลาหมอ ออกดอกเป็นช่อตั้งตามปลายยอด ยาวประมาณ 4-6 นิ้ว ดอกมีทั้งพันธุ์ดอกสีม่วง (หรือสีฟ้า) และพันธุ์ดอกสีขาว ที่ดอกมีกลีบรองดอกมี 4 กลีบ กลีบแยกจากกัน บริเวณกลางดอกจะมีเกสรตัวผู้และเกสรตัวเมียอยู่
- ผลเหงือกปลาหมอ ลักษณะของผลเป็นฝักสีน้ำตาล ลักษณะของฝักเป็นทรงกระบอก รูปไข่ หรือกลมรี ยาวประมาณ 2-3 เซนติเมตร เปลือกฝักมีสีน้ำตาล ปลายฝักป้าน ข้างในฝักมีเมล็ด 4 เมล็ด
สรรพคุณของเหงือกปลาหมอ
- ใช้เป็นยาอายุวัฒนะ ทำให้อายุยืน ร่างกายแข็งแรง เลือดลมไหลเวียนดี เส้นเลือดไม่อุดตัน บำรุงผิวพรรณ ด้วยการใช้ทั้งต้นเหงือกปลาหมอนำมาตำผสมกับพริกไทยในอัตราส่วน 2:1 แล้วคลุกเคล้าผสมกับน้ำผึ้ง ปั้นเป็นยาลูกกลอน ว่ากันว่าหากรับประทานติดต่อกัน 1 เดือน จะทำให้ปัญญาดี ไม่มีโรค / 2 เดือน ผิวหนังเต่งตึง / 3 เดือน ทำให้ริดสีดวงหาย / 4 เดือน ช่วยแก้ลม 12 จำพวก หูไว / 5 เดือน หมดโรค / 6 เดือน ทำให้เดินไม่รู้จักเหนื่อย / 7 เดือนผิวสวย / 8 เดือน เสียงเพราะ / 9 เดือน หนังเหนียว (ทั้งต้น, ราก)
- เหงือกปลาหมอมีสรรพคุณช่วยบำรุงประสาท (ราก)
- ช่วยรักษาอาการธาตุไม่ปกติ (ทั้งต้น)
- ช่วยทำให้เลือดลมเป็นปกติ (ทั้งต้น)
- ช่วยทำให้เจริญอาหาร (ทั้งต้น)
- ช่วยแก้โรคกระษัย อาการซูบผอมเหลืองทั้งตัว ด้วยการใช้ทั้งต้นของเหงือกปลาหมอนำมาตำเป็นผงกินทุกวัน (ต้น)
- ช่วยแก้อาการร้อนทั้งตัว เจ็บระบบทั้งตัว ตัวแห้ง เวียนศีรษะ หน้ามืดตามัว มือตายตีนตาย ด้วยการใช้ทั้งต้นของเหงือกปลาหมอและเปลือกมะรุมอย่างละเท่ากัน ใส่หม้อต้มผสมกับเกลือเล็กน้อย หมาก 3 คำ เบี้ย 3 ตัว วางบนปากหม้อ แล้วใช้ฟืน 30 ดุ้น ต้มกับน้ำเดือดจนงวดแล้วยกลง เมื่อเสร็จให้กลั้นใจกินขณะอุ่น ๆ จนหมด อาการก็จะดีขึ้น (ทั้งต้น)
- ช่วยยับยั้งมะเร็ง ต้านมะเร็ง (ทั้งต้น)
- ช่วยรักษาอาการปอดอักเสบ ด้วยการใช้เหงือกปลาหมอทั้งต้นและข้าวเย็นเหนือ ข้าวเย็นใต้ในสัดส่วนที่เท่ากัน นำมาต้มกับน้ำจนเดือดแล้วนำมาดื่มในขณะอุ่น ๆ ครั้งละ 1 แก้ว เช้า กลางวัน เย็น อาการจะดีขึ้น (ทั้งต้น)
- รักษาปอดบวม ข้อมูลนี้ยังไม่น่าเชื่อถือ* (ใบ)
- ต้นมีรสเค็มกร่อย สรรพคุณช่วยแก้อาการปวดศีรษะ (ต้น)
- รากช่วยแก้และบรรเทาอาการไอ หรือจะใช้เมล็ดนำมาต้มดื่มแก้อาการไอก็ได้เช่นกัน (ราก, เมล็ด)
- ช่วยแก้หืดหอบ (ราก)
- ช่วยรักษาวัณโรค ด้วยการใช้ต้นนำมาตำผสมเป็นน้ำดื่ม (ต้น)
- ช่วยแก้อาการเจ็บตา ตาแดง ด้วยการใช้เหงือกปลาหมอทั้งต้นนำมาตำผสมกับขิง คั้นเอาแต่น้ำใช้หยอดตาแก้อาการ (ทั้งต้น)
- ใบช่วยแก้ไข้ (ใบ)
- ช่วยแก้ไข้จับสั่น ด้วยการใช้ทั้งต้นเหงือกปลาหมอมาตำผสมกับขิง (ทั้งต้น)
- ช่วยแก้พิษไข้หัว ด้วยการใช้ทั้งต้นรวมทั้งรากนำมาต้มอาบแก้อาการ (ทั้งต้น)
- แก้อาการไอ เมล็ดใช้ผสมกับดอกมะเฟือง เปลือกอบเชย น้ำตาลกรวด นำมาต้มรวมกันแล้วเอาแต่น้ำมากินเป็นยาแก้ไอ (เมล็ด)
- ช่วยขับเสมหะ (ราก)
- ถ้าเป็นลม ให้ใช้ต้นเหงือกปลาหมอ 1 ส่วน / พริกไทย 2 ส่วน ผสมรวมกัน ตำให้ละเอียดเป็นผงแล้วนำมาละลายน้ำร้อนดื่ม (ต้น)
- ช่วยแก้โรคกระเพาะ ด้วยการใช้ทั้งต้นและพริกไทย (10:5 ส่วน) ตำผสมปั้นเป็นยาลูกกลอน (ทั้งต้น)
- ช่วยขับพยาธิ (เมล็ด)
- ช่วยรักษาโรคริดสีดวงทวาร ด้วยการใช้ต้นเหงือกปลาหมอกับขมิ้นอ้อย นำมาตำละลายกับน้ำแล้วทาบริเวณที่เป็นริดสีดวง หรือจะใช้ปรุงกับฟ้าทะลายโจร ใช้รมหัวริดสีดวงก็ได้ (ต้น, ใบ)
- ช่วยขับปัสสาวะ ข้อมูลนี้ยังไม่น่าเชื่อถือ* (ไม่ระบุส่วนที่ใช้)
- ช่วยรักษามุตกิดระดูขาว ตกขาวของสตรี ด้วยการใช้ใบและต้นนำมาตำเป็นผง ผสมกับน้ำผึ้งหรือน้ำมันมันงา ปั้นเป็นยาลูกกลอนรับประทานแก้อาการ (ต้น, ใบ, ราก)
- ช่วยแก้ประจำเดือนมาไม่เป็นปกติของสตรี ด้วยการใช้ทั้งต้นนำมาตำผสมกับน้ำผึ้ง น้ำมันงา (ทั้งต้น)
- ช่วยรักษานิ่วในไต ด้วยการใช้ใบนำมาต้มเป็นน้ำดื่ม (ใบ)
- ช่วยแก้ไตพิการ ข้อมูลนี้ยังไม่น่าเชื่อถือ* (ไม่ระบุส่วนที่ใช้)
- ผลช่วยขับโลหิต หรือจะใช้เมล็ดผสมกับดอกมะเฟือง เปลือกอบเชย น้ำตาลกรวด นำมาต้มรวมกันแล้วเอาแต่น้ำมากิน หรือใช้ต้น 10 ส่วนและพริกไทย 5 ส่วน ผสมทำเป็นยาลูกกลอนกินก็ได้ (เมล็ด, ผล, ทั้งต้น)
- ช่วยฟอกโลหิต ข้อมูลนี้ยังไม่น่าเชื่อถือ* (ไม่ระบุส่วนที่ใช้)
- แก้พิษเลือด ข้อมูลนี้ยังไม่น่าเชื่อถือ* (เปลือกต้น)
- ช่วยสมานแผล ด้วยการใช้ทั้งต้นนำมาตำผสมกับหัวสามสิบ ในอัตราส่วน 2:1 (ทั้งต้น)
- ต้นเหงือกปลาหมอมีสรรพคุณช่วยรักษาแผลพุพอง (ต้น)
- ใบมีรสเค็มกร่อย สรรพคุณช่วยรักษาแผลอักเสบ (ใบ)
- ช่วยแก้น้ำเหลืองเสีย ด้วยการใช้ต้น 3-4 ต้น นำมาหั่นเป็นชิ้น แล้วต้มน้ำอาบแก้อาการ (ต้น, ใบ, เมล็ด)
- สำหรับผู้ป่วยเอดส์ที่มีแผลพุพองตามผิวหนัง หากใช้ต้นมาต้มอาบและทำเป็นยากินติดต่อกันประมาณ 3 เดือนจะช่วยทำให้อาการของแผลพุพองบรรเทาลงอย่างชัดเจน (ต้น)
- ช่วยรักษาโรคผิวหนังหรือประดง รักษากลากเกลื้อน อีสุกอีใส (ใบ)
- ช่วยรักษาโรคเรื้อน คุดทะราด ด้วยการใช้ทั้งต้นนำมาตำเอาแต่น้ำกิน (ทั้งต้น)
- ช่วยแก้ผดผื่นคันตามร่างกาย ใช้ล้างแผลเรื้อรัง ด้วยการใช้ต้นสดและใบสดล้างสะอาดประมาณ 3-4 กำมือ นำมาสับแล้วต้มกับน้ำอาบแก้ผื่นคันติดต่อกัน 3-4 ครั้ง (ต้น, ใบ)
- เหงือกปลาหมอมีสรรพคุณทางยาช่วยแก้ลมพิษ (ต้น)
- รากสดนำมาต้มเอาแต่น้ำ ใช้ดื่มเป็นยารักษาโรคงูสวัดได้ (ราก)
- ช่วยรักษาฝี ฝีเรื้อรัง แผลฝีหนอง ฝีดาษ ตัดรากฝี แก้พิษฝีทุกชนิดทั้งภายในภายนอก ด้วยการใช้ต้นและใบทั้งสดและแห้งประมาณ 1 กำมือ นำมาบดให้ละเอียด แล้วนำมาพอกบริเวณที่เป็นฝี หรือวิธีที่สองจะนำมาสับเป็นชิ้นเล็ก ๆ ใส่น้ำให้ท่วมแล้วต้มในน้ำเดือดทิ้งไว้ 10 นาที แล้วนำมาดื่มก่อนอาหารครั้งละครึ่งแก้ว วันละ 3 ครั้ง ประมาณ 2-3 อาทิตย์ หรือจะใช้เมล็ดนำมาคั่วให้เกรียมแล้วป่นให้ละเอียด ชงกับน้ำกินเป็นยาแก้ฝีก็ได้ (ต้น, ใบ, เมล็ด)
- เมล็ดใช้ปิดพอกฝี (เมล็ด)
- ผลมีรสเผ็ดร้อน สรรพคุณช่วยถอนพิษ (ผล, ต้น)
- ใบสดนำมาตำให้ละเอียด สามารถใช้พอกบริเวณแผลที่ถูกงูกัดได้ (ใบ)
- ช่วยแก้ผิวแตกทั้งตัว ด้วยการใช้ทั้งต้นของเหงือกปลาหมอ 1 ส่วน / ดีปลี 1 ส่วน ใช้ผสมกันบดให้เป็นผงชงกับน้ำร้อนดื่มแก้อาการ (ทั้งต้น)
- ต้น ถ้านำมาใช้จะช่วยแก้โรคเหน็บชา อาการชาทั้งตัวได้ (ต้น)
- รากมีสรรพคุณช่วยแก้อัมพาต (ราก)
- แก้อาการเจ็บหลังเจ็บเอว ด้วยการใช้ต้นกับชะเอมเทศนำมาบดเป็นผง ผสมกับน้ำผึ้งปั้นเป็นยาลูกกลอนกิน (ต้น)
- ใบใช้เป็นยาประคบแก้ไขข้ออักเสบและแก้อาการปวดต่าง ๆ (ใบ)
- ช่วยบำรุงรากผม ด้วยการใช้น้ำคั้นจากใบนำมาทาให้ทั่วศีรษะ จะช่วยบำรุงรากผมได้ (ใบ)
ประโยชน์ของเหงือกปลาหมอ
- ในปัจจุบันสมุนไพรเหงือกปลาหมอมีการนำไปผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ที่เป็นยาแคปซูลสมุนไพร (เหงือกปลาหมอแคปซูล) หรือเป็นยาชงสมุนไพร (เหงือกปลาหมอผงสำเร็จรูป) หรือในรูปแบบของยาเม็ด
- นอกจากการใช้เป็นยาสมุนไพรที่ใช้ในการอบตัวหรืออบด้วยไอน้ำ สมุนไพรเหงือกปลาหมอยังใช้เป็นส่วนผสมในการผลิตเป็นผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางอีกด้วย ไม่ว่าจะเป็น สบู่ ผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในการเปลี่ยนสีผม จนกระทั่งแชมพูของสุนัข เป็นต้น
แหล่งอ้างอิง : เว็บไซต์สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี, ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี, หนังสือพิมพ์บ้านเมือง (ชำนาญ หิมะคุณ), หนังสือพรรณไม้สวนพฤกษศาสตร์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ เล่ม 4, ฐานข้อมูลพันธุ์ไม้ องค์การส่วนพฤกษศาสตร์, สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.), หนังสือยอดสมุนไพรยาอายุวัฒนะ (อาจารย์ยุวดี จอมพิทักษ์), หนังสือกายบริหารแกว่งแขน (โชคชัย ปัญจทรัพย์)
ภาพประกอบ : www.phargarden.com (by Sudarat Homhual), เว็บไซต์ buriramtime.com
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)