เสี้ยวป่า
เสี้ยวป่า ชื่อสามัญ Orchid Tree, Purple Bauhinia[4]
เสี้ยวป่า ชื่อวิทยาศาสตร์ Bauhinia saccocalyx Pierre จัดอยู่ในวงศ์ถั่ว (FABACEAE หรือ LEGUMINOSAE) และอยู่ในวงศ์ย่อยราชพฤกษ์ (CAESALPINIOIDEAE หรือ CAESALPINIACEAE)[1]
สมุนไพรเสี้ยวป่า มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า ส้มเสี้ยวโพะ เสี้ยวดอกขาว (เลย), ส้มเสี้ยว (นครสวรรค์, อุดรธานี), คิงโค (นครราชสีมา), ชงโค (นครราชสีมา, สุพรรณบุรี, อุทัยธานี, จันทบุรี), ชงโคป่า เป็นต้น[1],[2]
ลักษณะของเสี้ยวป่า
- ต้นเสี้ยวป่า จัดเป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็ก มีความสูงของต้นได้ประมาณ 10 เมตร ทรงพุ่มกลมเตี้ย แตกกิ่งก้านเป็นพุ่มเตี้ย ลำต้นขรุขระ เปลือกลำต้นเป็นสีเทาปนสีน้ำตาล แตกเป็นร่องยาวตื้นและลึกตามลำต้น บางครั้งร่อนเป็นแผ่นบาง[1] กิ่งก้านคดงอ แตกออกจากลำต้นอย่างไม่เป็นระเบียบ เนื้อไม้เปราะและหักง่าย ลายไม้ไม่เป็นระเบียบ การขยายพันธุ์ของเสี้ยวป่าโดยมากแล้วมักจะงอกต้นใหม่ขึ้นมาจากรากที่กระจายไปตามพื้นดินรอบ ๆ ต้นมากกว่าการงอกจากเมล็ด ทำให้ต้นเสี้ยวป่ามักขึ้นอยู่เป็นกลุ่ม ๆ มากกว่าพบเป็นต้นเดี่ยว โดยจะมีรากแก้วหยั่งลึกลงไปในดินและมีรากแขนงแตกออกโดยรอบแผ่ออกไปตามพื้นดิน เป็นพืชที่สามารถขึ้นได้ในทุกสภาพดิน มีเขตการกระจายพันธุ์ในภูมิภาคอินโดจีน ในประเทศไทยพบได้ทั่วไปในพื้นที่โล่ง ป่าทุ่งหญ้า ป่าเบญจพรรณ ป่าเต็งรัง และตามป่าผลัดใบผสมเกือบทุกภาคของประเทศ ยกเว้นทางภาคใต้ ที่ระดับความสูงจากระดับน้ำทะเลจนถึง 800 เมตร[2],[4]
- ใบเสี้ยวป่า ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับ ลักษณะของใบเป็นรูปไข่กว้าง ปลายใบเว้าลึกถึงครึ่งใบ เป็น 2 พู ปลายแฉกแหลม โคนใบตัดหรือเป็นรูปหัวใจ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 5-9 เซนติเมตร และยาวประมาณ 6-10 เซนติเมตร แผ่นใบบางคล้ายกระดาษ หลังใบเกลี้ยง ส่วนท้องใบมีขนและต่อมน้ำมันสีน้ำตาล มีเส้นแขนงใบออกจากกลางโคนใบ 9-11 เส้น ก้านใบยาวประมาณ 2-3.5 เซนติเมตร หูใบขนาดเล็กหลุดร่วงง่าย[1],[2]
- ดอกเสี้ยวป่า ออกดอกเป็นช่อแบบกระจะตามซอกใบใกล้กับปลายกิ่ง ลักษณะเป็นดอกแบบแยกเพศอยู่ต่างต้นกัน มีดอกย่อยหนาแน่นเป็นพวง ยาวได้ถึง 7 เซนติเมตร ดอกย่อยเมื่อบานเต็มที่จะมีขนาดกว้างประมาณ 1-1.4 เซนติเมตร ดอกเป็นสีขาว สีขาวแกมชมพู หรือสีชมพูอ่อน มีกลีบดอก 5 กลีบ ลักษณะเป็นรูปไข่กลับ หรือรูปขอบขนาน ปลายมน ขนาดเท่ากัน กลีบเลี้ยงมีลักษณะคล้ายกาบปลายแยกเป็น 2 แฉก ดอกเพศผู้ที่ไม่เป็นหมันจะมีเกสรเพศผู้ 10 อัน ยื่นออกมาภายนอกดอก 5 อัน ส่วนที่เหลือมีความยาวเป็นครึ่งหนึ่งและอยู่ภายในดอก ไม่มีเกสรเพศเมีย ส่วนดอกเพศเมียจะมีเกสรเพศผู้ที่เป็นหมันคล้ายเส้นด้าย 10 อัน และมีเกสรเพศเมีย 1 อัน อยู่เหนือวงกลีบ รังไข่มีขน โดยจะออกดอกในช่วงเดือนเมษายนถึงเดือนพฤษภาคม[1],[2]
- ผลเสี้ยวป่า ผลมีลักษณะเป็นฝักรูปดาบ ผิวเรียบ ช่วงปลายกว้างและโค้งงอ ปลายผลแหลม ฝักมีขนาดกว้างประมาณ 2-2.5 เซนติเมตร และยาวประมาณ 7-14 เซนติเมตร เมื่อฝักแก่เต็มที่จะแตกออก ภายในฝักมีเมล็ดประมาณ 3-5 เมล็ด เมล็ดมีลักษณะแบน เป็นผลในช่วงเดือนมิถุนายนถึงเดือนกรกฎาคม[1],[2]
สรรพคุณของเสี้ยวป่า
- ใบเสี้ยวป่า ใช้ผสมกับลำต้นกำแพงเจ็ดชั้น นำมาต้มกับน้ำดื่มวันละ 3 ครั้ง เป็นยาฟอกโลหิต (ใบ)[1]
ประโยชน์ของเสี้ยวป่า
- ใช้ปลูกเป็นไม้ประดับริมทางทั่วไป ออกดอกดกดีมาก ดอกมีสีขาวและมีกลิ่นหอมอ่อน ๆ ตัดแต่งหรือให้เลื้อยขึ้นค้างได้ แต่ยังไม่นิยมนำมาปลูกเป็นไม้ประดับตามบ้านมากนัก[2]
- ลำต้นหรือกิ่งที่มีความตรงอยู่บ้าง สามารถนำมาใช้ทำเป็นเสาค้ำยันให้แก่บางส่วนของบ้านได้ แต่ไม่ค่อยเป็นที่นิยมมากนัก หรือจะนำมาทำเป็นเสาสำหรับพืชผักที่เป็นไม้รอเลื้อย ใช้ทำเป็นเชื้อเพลิง เผาถ่านก็ได้เช่นกัน[3],[4]
เอกสารอ้างอิง
- หนังสือสมุนไพรในอุทยานแห่งชาติภาคเหนือ. (พญ.เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ). “เสี้ยวป่า”. หน้า 184.
- หนังสือพรรณไม้สวนพฤกษศาสตร์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ เล่ม 7. “เสี้ยวป่า”.
- ศูนย์ปฏิบัติการโครงการปลูกป่าถาวรเฉลิมพระเกียรติฯ, กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช. “เสี้ยวป่า, ชงโคป่า”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.goldenjubilee-king50.com. [07 ต.ค. 2014].
- งานสวนพฤกษศาสตร์โรงเรียน โรงเรียนน้ำดิบวิทยาคม. “เสี้ยวป่า”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.ndk.ac.th. [07 ต.ค. 2014].
ภาพประกอบ : www.flickr.com (by Kukiat Tanteeratarm), www.facebook.com/pages/Plants/111574952278668
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)