เสน่ห์จันทน์แดง
เสน่ห์จันทน์แดง ชื่อสามัญ King of Heart[2]
เสน่ห์จันทน์แดง (เสน่ห์จันทร์แดง) ชื่อวิทยาศาสตร์ Homalomena rubescens (Roxb.) Kunth (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Calla rubescens Roxb., Chamaecladon rubescens (Roxb.) Schott, Zantedeschia rubens K.Koch) จัดอยู่ในวงศ์บอน (ARACEAE)[1]
ลักษณะของเสน่ห์จันทน์แดง
- ต้นเสน่ห์จันทน์แดง หรือ ว่านเสน่ห์จันทน์แดง มีถิ่นกำเนิดในเขตร้อนชื้นของเอเชียและอเมริกา จัดเป็นพรรณไม้ล้มลุก ลำต้นเกิดจากหัวใต้ดิน ลำต้นมีลักษณะตั้งตรง ประกอบด้วยก้านใบหลาย ๆ ก้าน ไม่แตกกิ่งก้านสาขา มีความสูงได้ประมาณ 45-60 เซนติเมตร นอกนั้นจะเป็นก้านใบและตัวใบ ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการปักชำหรือแยกหัว เป็นพรรณไม้ในที่ร่มหรือแดดรำไร เจริญเติบโตได้ดีในดินที่มีความชื้นสูง ระบายน้ำได้ดี แต่ไม่ชอบน้ำขัง[1],[2]
- ใบเสน่ห์จันทน์แดง ใบเป็นใบเดี่ยว แตกใบออกตรงส่วนยอดของลำต้น ก้านใบเป็นสีแดงและยาวกว่าแผ่นใบ โคนก้านใบเป็นกาบห่อหุ้มลำต้น ลักษณะของใบเป็นรูปหัวใจ ปลายใบแหลม โคนใบเว้าลึก ส่วนขอบใบเรียบไม่มีหยัก ใบมีขนาดกว้างประมาณ 4-8 นิ้ว และยาวประมาณ 6-12 นิ้ว แผ่นใบเป็นสีเขียวสด เส้นใบเป็นสีแดง (หากโดนแสงแดดมากเกินไปจะทำให้ใบเปลี่ยนสี) ส่วนก้านใบมีลักษณะกลมยาวเป็นสีเขียวหรือสีเขียวอมแดง หากเลี้ยงได้อย่างสมบูรณ์ก้านใบอาจเป็นสีแดงปนดำหรือเป็นสีแดงเลือดหมูตลอดทั้งก้านใบ[1],[2]
- ดอกเสน่ห์จันทน์แดง ออกดอกเป็นช่อบริเวณกลางต้น ลักษณะของดอกเป็นแท่งกลมยาว ช่อดอกยาวได้ประมาณ 3-4 นิ้ว มีลักษณะอวบและจะมีกาบสีแดงห่อหุ้มเอาไว้[1]
- ผลเสน่ห์จันทน์แดง ผลเป็นผลสดขนาดเล็ก จับดูจะนุ่ม ๆ[1]
สรรพคุณของเสน่ห์จันทน์แดง
- ทั้งต้นมีสารพิษชนิดหนึ่งอยู่ ฉะนั้นจึงใช้เป็นยาพิษ (ทั้งต้น)[1]
- ใบใช้ภายนอกเป็นยารักษาแผล (ใบ)[1]
- หัวหรือเหง้าใช้เป็นยาทาเฉพาะภายนอก โดยจะช่วยแก้โรคไขข้ออักเสบได้ (หัว)[1]
ข้อควรระวัง : เสน่ห์จันทน์แดงทั้งต้นรวมทั้งใบจะมีสารพิษชนิดหนึ่ง ฉะนั้นการนำมาใช้เป็นยาควรใช้เฉพาะภายนอกเท่านั้น ห้ามนำมารับประทาน[1]
ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของเสน่ห์จันทน์แดง
- เมื่อใช้ไอน้ำกลั่นจะได้น้ำมันหอมระเหยและมีสารประกอบจำพวก linalyl acetate, -terpineol-l-linalool 60%[1]
ประโยชน์ของเสน่ห์จันทน์แดง
- ใช้ปลูกเป็นไม้กระถางประดับทั่วไปในบริเวณบ้าน หรือปลูกตามแนวต้นไม้ใหญ่ เสน่ห์จันทน์แดงเป็นไม้ประดับที่มีรูปทรงสวยงาม เพราะความโดดเด่นของแผ่นใบที่เป็นรูปหัวใจที่มีสีเขียวเข้มตัดกับสีแดงเข้มของก้านใบ ว่านชนิดนี้เป็นว่านชนิดที่เจริญเติบโตได้ทั้งในที่ร่มและในที่มีแสงแดดจัด แต่เป็นพืชที่ไม่ค่อยทนทาน จึงต้องการการดูแลรักษาอยู่พอสมควร โดยควรปลูกในดินร่วนหรือดินทราย และควรรดน้ำอย่างสม่ำเสมอทั้งเช้าและเย็น[2]
- เสน่ห์จันทน์แดงเป็นไม้ประดับที่มีความสามารถในการดูดสารพิษในอากาศได้ปานกลาง โดยเฉพาะสารพิษจำพวกแอมโมเนีย[2]
- ในด้านของความเป็นมงคล ว่านเสน่ห์จันทน์แดงจัดเป็นไม้มงคลในเรื่องมหานิยม หากปลูกไว้ในบริเวณบ้าน จะเป็นศรีมีเสน่ห์แก่ครอบครัว และหากผู้ใดจะคิดเข้ามาทำร้ายใด ๆ ก็จะไม่เป็นผลสำเร็จ เพราะจะทำให้คนร้ายผู้นั้นกลับมีจิตใจที่มีเมตตาขึ้นมาแทน นอกจากนี้ยังเชื่อว่าหากปลูกไว้แล้วจะโชคดี ถ้านำมาตั้งไว้ในร้านค้าจะช่วยให้ค้าขายดีมีกำไร เป็นเมตตามหานิยมแก่คนทั่วไป[2] และหัวยังใช้แกะเป็นรูปนางกวักได้เช่นเดียวกับว่านเสน่ห์จันทน์เขียว ส่วนวิธีการปลูกนั้นให้นำอิฐหักทุบให้แหลกละเอียดตากน้ำค้างไว้ 1 คืน แล้วเอามาปนดินที่ปลูกด้วยหัวว่าน โดยให้ปลูกในวันจันทร์ และเวลารดน้ำให้เสกด้วยคาถานะโม พุทธายะ 3 จบ (ว่านเสน่ห์จันทน์แดงนี้เป็นว่านคู่กันกับว่านเสน่ห์จันทน์เขียว หากนำมาปลูกไว้คู่กันจะทำให้ขลังดีนักแล)[3]
เอกสารอ้างอิง
- หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5. (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม). “เสน่ห์จันทน์แดง (เสน่ห์จันทร์แดง)”. หน้า 786-787.
- ๑๐๘ พรรณไม้ไทย. “ว่านเสน่ห์จันทน์แดง”., “เสน่ห์จันทน์แดง”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.panmai.com. [07 ต.ค. 2014].
- ศูนย์ข้อมูลกลางทางวัฒนธรรม, กระทรวงวัฒนธรรม. “ความเชื่อเกี่ยวกับว่านเสน่ห์จันทน์แดง”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.m-culture.in.th. [07 ต.ค. 2014].
ภาพประกอบ : www.flickr.com (by François Guibert, Leo breman, jayjayc, Ahmad Fuad Morad)
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)