เสนียด สรรพคุณและประโยชน์ของต้นเสนียด 20 ข้อ !

เสนียด สรรพคุณและประโยชน์ของต้นเสนียด 20 ข้อ !

เสนียด

เสนียด ชื่อสามัญ Adhatoda, Vassica, Malabar Nut Tree[3]

เสนียด ชื่อวิทยาศาสตร์ Justicia adhatoda L. (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Adhatoda adhatoda (L.) Huth, Adhatoda vasica Nees, Adhatoda zeylanica Medik., Ecbolium adhatoda (L.) Kuntze, Gendarussa adhadota Steud.) จัดอยู่ในวงศ์เหงือกปลาหมอ (ACANTHACEAE)[1],[2],[10]

สมุนไพรเสนียด มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า โบราขาว (เชียงใหม่), หูหา (เลย), หูรา (นครปฐม, นครพนม), กุลาขาว บัวลาขาว บัวฮาขาว (ภาคเหนือ), โมรา เสนียดโมรา (ภาคกลาง), กระเหนียด (ภาคใต้), กระเนียด (ทั่วไป), ชิตาโหระ (กะเหรี่ยงเชียงใหม่), จะลึ้ม (ปะหล่อง), เจี่ยกู่เฉ่า ต้าปั๋วกู่ ยาจุ่ยฮวา (จีนกลาง) เป็นต้น[1],[3],[4],[6]

ลักษณะของต้นเสนียด

  • ต้นเสนียด จัดเป็นไม้พุ่ม ที่มีความสูงของต้นประมาณ 1.4-3 เมตร แตกกิ่งก้านสาขามากมายรอบ ๆ ต้นเป็นพุ่มทึบ ยอดกิ่งอ่อนมีขนเล็กน้อย ขยายพันธุ์โดยใช้เมล็ดและการปักชำ จัดเป็นพรรณไม้กลางแจ้ง เจริญเติบโตได้ดีในดินที่ร่วนซุยและมีความชุ่มชื้นปานกลาง พบได้มากในแถบป่าเต็งรัง[1],[3],[4]

ต้นเสนียด

  • ใบเสนียด ใบเป็นใบเดี่ยวออกเรียงตรงข้ามกัน ลักษณะของใบเป็นรูปไข่ รูปรีใหญ่ หรือเป็นรูปใบหอก ปลายใบแหลม โคนใบแหลมสอบหรือเรียวมนรี ส่วนขอบใบเรียบ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 4-7 เซนติเมตร และยาวประมาณ 8-15 เซนติเมตร พื้นใบเป็นสีเขียวและมีขนอ่อน ๆ ปกคลุมอยู่ทั้งสองด้าน หลังใบและท้องใบเรียบ ก้านใบยาวประมาณ 1-2 เซนติเมตร[1],[3]

ใบเสนียด

  • ดอกเสนียด ออกดอกเป็นช่อ โดยจะออกตามง่ามใบใกล้กับปลายยอด ช่อดอกจะรวมกันเป็นแท่ง ก้านช่อดอกยาวประมาณ 10 เซนติเมตร ดอกมีใบประดับสีเขียวหุ้มดอกเรียงซ้อนกันเป็นชั้นเดียว ดอกย่อยของเสนียดกลีบดอกเป็นสีเขียว ดอกย่อยมีกลีบยาวประมาณ 1.2-1.4 เซนติเมตร และกว้างประมาณ 3 มิลลิเมตร กลีบดอกเป็นสีขาว มีเส้นสีม่วง ยาวได้ประมาณ 3 เซนติเมตร ลักษณะคล้ายปากแยกแบ่งเป็นกลีบล่างและกลีบบน มี 2 กลีบ ส่วนบนมีรอยแยก 2 แฉกสีขาว ส่วนล่างมีรอยแยกเป็นแฉก 3 แฉกสีขาวปะม่วง ดอกมีเกสรเพศผู้ 2 อัน ยื่นออกมา ก้านเกสรเพศเมียจะสั้นกว่า เกสรเพศผู้เป็นเส้นกลมยาว ที่ปลายแยกเป็นแฉก 2 แฉก[1],[3],[4]

รูปดอกเสนียด

ดอกเสนียด

  • ผลเสนียด ออกผลเป็นฝัก ยาวได้ประมาณ 2 เซนติเมตร และมีขน ภายในพบเมล็ด 4 เมล็ด[4] ผลเป็นผลแห้ง และแตกออกได้ แต่ไม่ติดผล[1]

สรรพคุณของเสนียด

  1. รากมีรสขม ใช้ปรุงเป็นยาแก้วัณโรค (ราก[1],[2], ต้น[7], ทั้งต้น[3])
  2. ทั้งต้นมีรสเผ็ดขมเล็กน้อย เป็นยาสุขุม ไม่มีพิษ ใช้เป็นยาฟอกเลือด และกระจายเลือด (ทั้งต้น)[4] ใบใช้เข้ายาที่เกี่ยวกับการบำรุงโลหิต (ใบ)[1],[3]
  3. รากมีสรรพคุณเป็นยาบำรุงปอด ช่วยทำให้หายใจได้ดีขึ้น (ราก[1],[2], ต้น[7], ทั้งต้น[3])
  4. ช่วยลดอาการเกร็งของกล้ามเนื้อเรียบหลอดลม (ใบ)[5]
  5. ใบแห้งนำมาหั่นมวนเป็นบุหรี่สูบ ช่วยแก้หอบหืด (ใบ)[1],[3],[5] ส่วนต้น ราก ใบ และดอกก็มีสรรพคุณเป็นยาแก้หอบหืดเช่นกัน (ต้น,ราก,ใบ,ดอก)[1] ชาวกะเหรี่ยงเชียงใหม่จะใช้รากมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยารักษาโรคหอบหืด (ราก)[6]
  1. ใบมีรสขมสุขุม มีสรรพคุณเป็นยาแก้ไข้ (ใบ)[5]
  2. ช่วยแก้อาการไอ (ต้น,ราก,ใบ,ดอก)[1] ตำรายาแก้ไอและขับเสมหะจะใช้น้ำคั้นจากใบสดประมาณ 15 มิลลิลิตร นำมาผสมกับน้ำผึ้งหรือน้ำขิงสดดื่มกินเป็นยา (ใบ)[3],[5]
  3. ต้น ราก ใบ และดอกมีรสขม สรรพคุณเป็นยาขับเสมหะ (ต้น,ราก,ใบ,ดอก)[1]
  4. ตัวยาของต้นเสนียดจะมีฤทธิ์ลดอาการระคายเคืองของอวัยวะในระบบทางเดินอาหาร ถ้ากินมากเกินขนาดจะทำให้อาเจียนและมีอาการท้องเดิน (ต้น,ราก,ใบ,ดอก)[1],[3]
  5. ใบใช้ต้มกับน้ำอาบหลังจากหญิงคลอดบุตร หรือใช้เข้ายากรณีประจำเดือนมาไม่เป็นปกติ (ใบ)[1] ส่วนชาวปะหล่องจะใช้ใบหรือรากนำมาต้มกับน้ำให้สตรีหลังคลอดบุตรอาบ รวมไปถึงคนที่ป่วยมาเป็นเวลานาน ไม่ค่อยมีแรง จะช่วยทำให้ร่างกายฟื้นตัวได้เร็วขึ้น (ราก,ใบ)[6]
  6. ใบนำมาต้มกับน้ำอาบช่วยแก้ลมผิดเดือนของสตรี (น่าจะเป็นโรคประสาทชนิดหนึ่งที่มีสาเหตุมาจากความเครียดระหว่างการอยู่ไฟของสตรี) (ใบ)[7]
  7. ทั้งต้นมีสรรพคุณแก้ประจำเดือนมามากเกินไป หรือประจำเดือนมาไม่เป็นปกติ (ทั้งต้น[4], ใบ[8])
  8. ใบมีรสขม ใช้เป็นยาห้ามเลือดได้ (ใบ)[1],[2],[3]
  9. ใช้เป็นยาแก้ฝี (ต้น,ราก,ใบ,ดอก)[1],[3] รากใช้เป็นยาแก้ฝีภายใน (ราก)[8]
  10. ใบใช้เป็นยาแก้ปวดบวม (ใบ)[5] แก้เจ็บปวดข้อ (ใบ)[8]
  11. ทั้งต้นใช้เป็นยาแก้ปวดเมื่อย ปวดเอว ปวดหลัง ปวดเข่า และเคล็ดขัดยอก (ทั้งต้น)[4]
  12. ตำรับยาแก้ปวดบวม ฟกช้ำดำเขียว แก้กระดูกร้าว แก้ปวดบวม หรือปวดตามข้อ รวมถึงเหน็บชาอันเนื่องมาจากลมชื้น ให้ใช้ต้นเสนียดสด 60 กรัม, เถ้ากุเสียว 30 กรัม, เจ็กลั้ง 30 กรัม, เจตพังคี 20 กรัม และหญ้าผีเสื้อบิน 20 กรัม นำมารวมกันแล้วคั่วกับเหล้าให้ร้อน ใช้เป็นยาประคบบริเวณที่เป็น (ต้น)[4]
  13. นอกจากนี้ยังมีข้อมูลอื่นที่ระบุสรรพคุณนอกเหนือจากที่กล่าวมาแล้วข้างต้นอีกหลายอย่าง เพียงแต่ข้อมูลดังกล่าวไม่ได้ระบุแหล่งอ้างอิงไว้ เช่น รากมีสรรพคุณช่วยบำรุงน้ำนม แก้ลม แก้ปอดพิการ ช่วยรักษาหลอดลมอักเสบ แก้ผอมแห้ง อุจจาระเป็นเลือด แก้คุดทะราด และทำให้ผิวพรรณผ่องใส เปลือกต้นมีสรรพคุณเป็นยาแก้ไข้ ทำให้อาเจียนและท้องเดิน ใบมีสรรพคุณเป็นยารักษาแผลในปากและในลำคอ ช่วยป้องกันไข้จับสั่น วัณโรค บำรุงปอด แก้ถ่ายอุจจาระเป็นเลือด และทำให้ผิวพรรณผ่องใส ใบและก้านมีสรรพคุณเป็นยาขับเสมหะ และรักษากระดูกหัก ดอกมีสรรพคุณเป็นยาแก้ไข้ บำรุงปอด และฆ่าพยาธิในท้อง ส่วนทั้งต้นมีสรรพคุณเป็นยาแก้ไข้ แก้ลักปิดลักเปิด และช่วยห้ามเลือด

หมายเหตุ : วิธีการใช้ตาม [4] ให้ใช้ยาแห้งครั้งละ 10-30 กรัม นำมาต้มกับน้ำรับประทาน ถ้าเป็นยาสดให้ใช้ครั้งละ 30 กรัม นำมาตำพอกแผลภายนอก สามารถเก็บได้ตลอดปี จะใช้สดหรือตากแห้งเก็บไว้ใช้ก็ได้[4]

ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของเสนียด

  • รากเสนียดพบว่ามีสาร Alkaloids อยู่หลายชนิด เช่น Vasicinol ส่วนในใบและดอกพบสาร Vasicine, Vasicinone ในใบพบ Vasakin, วิตามินซี ส่วนดอกพบสาร Adhatodine, Anisoine, Betaine, Vasicinine เป็นต้น[4]
  • ใบและดอกเสนียดมีสารอัลคาลอยด์ Vasicine และ Vasicinone ซึ่งเป็นสารที่มีฤทธิ์ขยายหลอดลมและละลายเสมหะ โดยยาละลายเสมหะที่มีจำหน่ายกันอย่างแพร่หลายในปัจจุบันคือยา Bromhexine ซึ่งเป็นสารที่ได้จากการสังเคราะห์ขึ้นโดยเลียนแบบโครงสร้างของอัลคาลอยด์จากใบเสนียด[2]
  • เนื่องจากสาร Vasicine มีประสิทธิภาพทำให้หลอดลมขยายตัว จึงสามารถนำมาใช้เป็นยารักษาโรคหืดหอบได้[4]
  • สาร Vasicine มีฤทธิ์ลดความดันโลหิตของสุนัขทดลองได้เล็กน้อย และยังมีฤทธิ์กระตุ้นหัวใจที่อยู่นอกร่างของหนูและกระต่ายทดลองให้มีการบีบตัวและมีการสูบฉีดหัวใจแรงขึ้น[4]
  • สารสกัดด้วยเอทานอลจากใบเสนียด สามารถต้านการฝังตัวของตัวอ่อนของหนูขาวเพศเมียได้ประมาณ 60-70%[10]
  • เมื่อให้สารสกัดปิโตรเลียมอีเทอร์ สารสกัดแอลกอฮอล์และสารสกัดด้วยน้ำจากใบเสนียด ทางปากแก่หนูถีบจักรเพศเมียก่อนการผสมพันธุ์ 7 วัน และ 14 วัน ในระหว่างการผสมพันธุ์ พบว่าไม่มีผลทำให้หนูเป็นหมัน[10]
  • สาร Vasicine จากเสนียดมีฤทธิ์ทำให้หนูตะเภาแท้งได้ โดยขึ้นอยู่กับระยะเวลาการตั้งท้อง และก่อนเกิด estradiol priming แต่ไม่มีฤทธิ์ทำให้หนูขาวแท้ง และได้มีการศึกษาในผู้ป่วยหลังคลอดปกติ ในวันที่ 2-8 ในโรงพยาบาล โดยได้รับสาร Vasicine ในขนาด 16 มิลลิกรัม พบว่าผู้ป่วยสามารถทนต่อสารได้ดี ไม่มีผลข้างเคียง และมดลูกมีการบีบตัวดี ส่วนอีกงานวิจัยหนึ่งได้ทำการทดลองให้สารสกัดด้วยน้ำจากใบเสนียดในขนาด 175 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ทางปากแก่หนูขาวที่ตั้งท้องได้ 10 วัน พบว่าทำให้หนูแท้งได้ 100% แต่เมื่อให้สารสกัดจากใบเสนียด (ไม่ระบุตัวทำละลาย) ในขนาด 325 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัมต่อวัน ทางสายยางแก่หนูขาวที่ตั้งท้องในระหว่างวันที่ 1-9 และเมื่อให้ใบเสนียดละลายน้ำ 0.25 และ 2.5% แก่หนูขาวที่ตั้งท้องระหว่างวันที่ 1-9 พบว่าไม่ทำให้แท้ง[10]
  • จากการทดสอบความเป็นพิษ ไม่พบว่าเป็นพิษในคนที่กินสารสกัดจากใบเสนียดในขนาด 20 มิลลิลิตรต่อคน ไม่พบว่าเป็นพิษกับหนูถีบจักรที่รับสารสกัดด้วยเอทานอลและน้ำ ในอัตรา 1:1 จากใบเสนียดทางสายยางหรือฉีดเข้าใต้ผิวหนัง ในขนาด 10 กรัมต่อกิโลกรัม และไม่พบพิษ ไม่มีการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมและอาการทางระบบประสาทในหนูขาวเพศผู้ที่กินสมุนไพรตำรับ Antiasthma Kada (ตำรับสมุนไพรที่ประกอบด้วยสมุนไพร 5 ชนิด รวมถึงเสนียดด้วย) ในขนาด 100-1,600 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม และเมื่อให้สาร Vasicine แก่หนูขาวและลิงเป็นระยะเวลา 6 เดือน ก็ไม่พบพิษเช่นกัน[10]
  • เมื่อให้สารสกัดด้วยเอทานอลและน้ำ ในอัตรา 1:1 จากใบเสนียดทางหลอดเลือดดำสุนัข ไม่พบว่าเป็นพิษต่อหัวใจ แต่ในกบที่ได้รับสมุนไพรตำรับ Antiasthma Kada ในขนาด 2.5 และ 25 มก. พบว่ามีฤทธิ์กดหัวใจ และลดแรงบีบตัวของหัวใจ[10]
  • สารสกัดด้วยเอทานอลและน้ำ ในอัตรา 1:1 จากใบเสนียด ไม่เป็นพิษต่อเซลล์เพาะเลี้ยง CA-9KB ขนาดของสารสกัดที่ทำให้เป็นพิษต่อเซลล์ 50% มากกว่า 20 ไมโครกรัมต่อมิลลิกรัม[10]

ข้อห้ามใช้สมุนไพรเสนียด

  • สตรีมีครรภ์ห้ามรับประทานสมุนไพรชนิดนี้ เพราอาจทำให้แท้งบุตรได้[4]

ประโยชน์ของเสนียด

  • เนื้อไม้สามารถนำมาใช้ทำรั้วได้[6]
  • ต้นใช้ปลูกไว้ตามริมตลิ่ง เพื่อช่วยป้องกันการกัดเซาะ[6]
เอกสารอ้างอิง
  1. หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1.  (ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์).  “เสนียด (Sa Niat)”.  หน้า 306.
  2. หนังสือสมุนไพรสวนสิรีรุกขชาติ.  (คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล).  “เสนียด”.  หน้า 37.
  3. หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5.  (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม).  “เสนียด”.  หน้า 787-789.
  4. หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย-จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย.  (วิทยา บุญวรพัฒน์).  “เสนียด”.  หน้า 558.
  5. สวนพฤกษศาสตร์สายยาไทย.  “เสนียด”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.saiyathai.com.  [13 มิ.ย. 2014].
  6. โครงการเผยแพร่ข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นบนพื้นที่สูง, สถาบันวิจัยและพัฒนาที่สูง (องค์กรมหาชน).  “เสนียด”.  อ้างอิงใน: หนังสือชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย (เต็ม สมิตินันทน์).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: eherb.hrdi.or.th. [13 มิ.ย. 2014].
  7. ฐานข้อมูลพรรณไม้ องค์การสวนพฤกษศาสตร์, กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม.  “Justicia adhatoda L.”.  อ้างอิงใน: หนังสือสมุนไพรพื้นบ้าน เล่ม 4 หน้า 665.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.qsbg.org.  [13 มิ.ย. 2014].
  8. ศูนย์วิจัยพืชสวนชุมพร, กรมวิชาการเกษตร.  “เสนียด”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.doa.go.th/hrc/chumphon/.  [13 มิ.ย. 2014].
  9. ศูนย์รวมข้อมูลสิ่งมีชีวิตในประเทศไทย, สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน).  “เสนียด, MALABAR NUT”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.thaibiodiversity.org.  [13 มิ.ย. 2014].
  10. ฐานข้อมูลความปลอดภัยของสมุนไพรที่มีการขึ้นทะเบียนยาแผนโบราณ, สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล.  “เสนียด”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.medplant.mahidol.ac.th/poisonpr/.  [13 มิ.ย. 2014].

ภาพประกอบ : www.flickr.com (by Desert Botanical Garden, DarinAZ, guzhengman, Arif Masud)

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด