กรดเมเฟนามิค (Mefenamic acid) สรรพคุณ วิธีใช้ ผลข้างเคียง ฯลฯ

เมเฟนามิค

เมเฟนามิค แอซิด / มีเฟนามิค แอซิด หรือ กรดเมเฟนามิค / กรดเมเฟนามิก (Mefenamic acid) หรือยาที่คนทั่วไปรู้จักกันในชื่อการค้าว่า เฟนามิค (Fenamic), มีฟา (Mefa), มีฟาเมด (Mefamed), เมเฟนสตาร์ (Mefenstar), พอนสแตน (Ponstan) เป็นยาในกลุ่มยาแก้ปวดจำพวกเอ็นเสด (NSAIDs) ซึ่งเป็นยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ นิยมนำมาใช้เป็นยาบรรเทาอาการปวดที่มีอาการเล็กน้อยถึงปานกลางจากสาเหตุต่าง ๆ รวมทั้งอาการปวดประจำเดือน[1]

ตัวอย่างยาเมเฟนามิค

ยาเมเฟนามิคแอซิด (ชื่อสามัญ) มีชื่อทางการค้า เช่น อะนาแกน (Anagan), อะนัลจิค แคปซูล (Analgic capsule), อะนัลจิค-500 (Analgic-500), อนาแคป 250 (Anacap 250), เบเฟนิค (Befanic), เบโมนิค (Bemonic), บูทาริน (Butarin), บู๊ทส์ เมเฟนามิค แอซิด 500 มิลลิกรัม (Boots mefenamic acid 500 mg), แคนสแตน-500 (Canstan-500), เซเฟนีน (Cefenine), โคลี แคปซูล (Coly capsule), โคลี แท็บเล็ต (Coly tablet), คอลลูเมฟ แคปซูล (Collumef capsules), โคนามิค (Conamic), โคนามิค 500 (Conamic 500), ดาโนตา (Danota), ดอลเฟน 250 (Dolfen 250), ดอลเฟน 500 (Dolfen 500), ดอเฟนอล 250 แคปซูล (Dolfenal 250 capsule), ดอลเฟนอล 500 (Dolfenal 500), ดิสเมน (Dismen), ไดเมเฟน (Dymefen), ดิสเพน แคปซูล (Dyspen capsules), อีนามิค แคปซูล (Enamic capsule), อีนามิค แท็บเล็ต (Enamic tablet), ฟาสแตน (Fastan), ฟาสแตน ฟอร์ท (Fastan forte), ฟีเมด (Feemed), ฟีมิค แท็บเล็ต (Feemic tablet), ฟีนาซิส (Feenasis), เฟมิค (Femic), เฟเมน (Femen), เฟเมนสแตน 500 (Femenstan 500), เฟนามิค 250 (Fenamic 250), เฟนมิค (Fenmic), เฟนนิค (Fennic), เฟสปา 250 (Fespa 250), เฟสปา 500 (Fespa 500), เฟเวค (Fevek), เฟเวสท์ (Fevest), เฟวิค 500 (Fevic 500), ไกโนเจสิค (Gynogesic), ไกโนเจสิค-500 (Gynogesic-500), ไฮโปมิค 500 (Hypomic 500), เจ.วี. มิค 500 (J.V. mic 500), ล็อคแพน (Locpan), มาเจสิค แคปซูล (Magesic capsules), มาแทน 250 (Matan 250), มาแทน 500 (Matan 500), มานิค (Manic), มาโนมิค (Manomic), มาซาเฟน (Masafen), เมด-เฟนามิค แท็บเล็ต (Med-fenamic tablets), เมดนิล แคปซูล (Mednil capsules), มีฟา 500 (Mefa 500), เมฟาเจสิค (Mefagesic), มีฟาเมด (Mefamed), มีฟาเมด 500 (Mefamed 500), เมฟามิค (Mefamic), เมเฟค (Mefec), เมเฟน แคปซูล (Mefen capsules), เมเฟน ฟอร์ท แท็บเล็ต (Mefen forte tablets), เมเฟแนค 250 (Mefenac 250), เมเฟแนค 500 (Mefenac 500), เมเฟนามิค 500 (Mefenamic 500), เมเฟนสตาร์ (Mefenstar), เมฟมิค 500 (Mefmic 500), เมฟนาสิค (Mefnasic), เมนา แท็บ (Mena tab), เมนาเจสิค (Menagesic), เมโอมิค (Meomic), เมโรเฟน (Merofen), โมเฟเมด ฟอร์ท (Mofemed forte), เมเฟแนน (Mefenan), เมเฟนติค (Mefentic), เมฟนา (Mefna), เมฟพอน-250 (Mefpon-250), เมเจสิค (Megesic), เมมิค แคปซูล (Memic capsule), เมนา แคปซูล (Mena capsules), เมนามิค 250 (Menamic 250 ), เมนอน (Menon), ไมเจสิค (Migesic), โมเฟเมด แคปซูล (Mofemed capsules), นามิค (Namic), นิวเฟน (Newfen), นามิค็อกซ์ (Namicox), นามิค็อกซ์ 500 (Namicox 500), นัลเจซิน-500 (Nalgesin-500), นีโอเพน (Neopain), นูเฟมิค (Nufemic), พานามิค (Panamic), ไพนามิค (Painamic), เพนนามิค (Painnamic), เพนน็อกซ์ (Painnox), พามิค 250 (Pamic 250), พามิค 500 (Pamic 500), แพนเฟมิค (Panfemic), พารอน-1981 (Paron-1981), เพฟามิค (Pefamic), เพกาโซ (Pekaso), พินมิค (Pinmic), โพนาแคป (Ponacap), โพนาแกน (Ponagan), โพนามิค (Ponamic), พอนเฟน (Ponfen), พอนเจสิคส์ (Pongesics), พอนเมด (Ponmed), พอนแนค 500 (Ponnac 500), พอนนีเซีย แคปซูล (Ponnesia capsules), พอนซาแคป (Ponsacap), พอนสิค (Ponsic), พอนสแตน แคปซูล (Ponstan capsules), พอนสแตน 500 (Ponstan 500), พอนทาลอน (Pontalon), พรีมิค (Premic), โปรนามิค (Pronamic), โปรสแตน (Prostan), ไพนามิค (Pynamic), เซฟมิค (Sefmic), ซีนามิค 500 (Seanamic 500), สปาน็อต (Spanot), ซันสแตน 250 (Sunstan 250), ซันสแตน 500 (Sunstan 500), แทนดาลอน (Tandalon), โวโคมิค (Wocomic) ฯลฯ

รูปแบบยาเมเฟนามิค

  • ยาแคปซูล ขนาด 250 มิลลิกรัม
  • ยาเม็ด ขนาด 500 มิลลิกรัม

มีฟา500
IMAGE SOURCE : www.coolswop.com

มีฟาเมด500
IMAGE SOURCE : banyagroup.net

พอนสแตน
IMAGE SOURCE : pantip.com (by สมาชิกหมายเลข 2787599) ยาพอนสแตน 500 (Ponstan 500) 1 แผง 10 เม็ด ราคาประมาณ 46-50 บาท

สรรพคุณของยาเมเฟนามิค

  • ใช้เป็นยาบรรเทาอาการปวดที่มีอาการเล็กน้อยถึงปานกลางจากสาเหตุต่าง ๆ[1],[3] เช่น ปวดศีรษะ ปวดฟัน ปวดกล้ามเนื้อ ปวดกระดูก ปวดบาดแผล ปวดหลังผ่าตัด ปวดแบบไซอาติกา (Sciatica)[5],[6] ปวดจากโรคข้อบางชนิด เช่น โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ (Rheumatoid arthritis), โรคข้อเสื่อม (Osteoarthritis) เป็นต้น[3],[4],[6]
  • ใช้เพื่อบรรเทาอาการปวดท้องประจำเดือน (Dysmenorrhea) ทั้งก่อนมีประจำเดือนหรือระหว่างการมีประจำเดือน[1],[3],[5] นอกจากนี้ยังช่วยบรรเทากลุ่มอาการผิดปกติก่อนมีประจำเดือน ประจำเดือนออกมาเกินปกติ ซึ่งอาจมาจากการใส่ห่วงคุมกำเนิด การทำหมัน ประจำเดือนออกมากและนานโดยไม่ทราบสาเหตุ (Dysfunctional uterine bleeding – DUB)[6]
  • ใช้เป็นยาลดไข้[4]
  • ยานี้อาจใช้เพื่อรักษาโรคหรืออาการอื่น ๆ ได้ หากมีข้อสงสัยควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัช[3]

กลไกการออกฤทธิ์ของยาเมเฟนามิค

ยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDs) ซึ่งรวมถึงยาเมเฟนามิคแอซิด เป็นยามีฤทธิ์ยับยั้งการสร้างสารโพรสตาแกลนดิน (Prostaglandin) ในร่างกาย ซึ่งเป็นตัวชักนำให้เกิดการอักเสบ โดยจะเข้าไปขัดขวางการทำงานของเอนไซม์ไซโคลออกซีจีเนส (Cyclooxygenase) ทั้งชนิด 1 (Cox-1) และชนิด 2 (Cox-2) ซึ่งเป็นส่วนสำคัญของกระบวนการสังเคราะห์สารโพรสตาแกลนดิน ยากลุ่มนี้จึงมีสรรพคุณในการต้านการอักเสบของเนื้อเยื่อต่าง ๆ แก้อาการปวด ลดไข้ ป้องกันและบรรเทาอาการปวดประจำเดือน แต่ในขณะเดียวกันตัวยาก็ไปยับยั้งกลไกการสร้างเมือกปกคลุมเยื่อบุผิวในกระเพาะอาหาร จึงทำให้เยื่อบุผิวกระเพาะอาหารเกิดการระคายเคืองจากน้ำย่อยกลายเป็นโรคแผลเพ็ปติก (แผลในกระเพาะอาหารและลำไส้เล็กส่วนต้น) และกระเพาะอาหารอักเสบได้ง่าย

ก่อนใช้ยาเมเฟนามิค

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมถึงยาเมเฟนามิคแอซิด สิ่งที่ควรแจ้งให้แพทย์หรือเภสัชกรทราบมีดังนี้

  • ประวัติการแพ้ยาทุกชนิด โดยเฉพาะยาเมเฟนามิคแอซิด (Mefenamic acid) ยาแอสไพริน (Aspirin) และยากลุ่มต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDs) รวมทั้งอาการจากการแพ้ยาดังกล่าว เช่น รับประทานยาแล้วคลื่นไส้มาก หรือแน่น หายใจติดขัด/หายใจลำบาก เป็นต้น
  • โรคประจำตัวต่าง ๆ และยาที่แพทย์สั่งจ่ายและยาที่ใช้เอง รวมถึงอาหารเสริม วิตามิน และยาสมุนไพรต่าง ๆ ที่กำลังใช้อยู่หรือกำลังจะใช้ เพราะยาเมเฟนามิคแอซิดอาจส่งผลให้อาการของโรคที่เป็นอยู่รุนแรงขึ้น หรือเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่น ๆ และ/หรืออาหารเสริมอื่น ๆ ที่รับประทานอยู่ก่อนได้ (ในบางกรณีจะไม่สามารถใช้ยาที่มีปฏิกิริยาต่อกันระหว่างยาร่วมกันได้เลย แต่บางกรณีก็อาจจำเป็นต้องใช้ยา 2 ชนิดนั้นร่วมกัน ถึงแม้ว่าจะมีปฏิกิริยาต่อกันระหว่างยาเกิดขึ้นได้ก็ตาม ซึ่งในกรณีนี้แพทย์จะปรับเปลี่ยนขนาดยาหรือเพิ่มความระมัดระวังในการใช้ให้มากขึ้น) เช่น
    • การรับประทานยาเมเฟนามิคแอซิดร่วมกับยาต้านการแข็งตัวของเลือด (Anticoagulants) เช่น แอบซิไซแมบ (Abciximab), อะซีโนคูมารอล (Acenocoumarol), ไดคูมารอล (Dicumarol), เฮพาริน (Heparin), วาร์ฟาริน (Warfarin) ตัวยาจะเสริมฤทธิ์กันและก่อให้เกิดภาวะเลือดออกในกระเพาะอาหารได้ง่าย[1],[4]
    • การรับประทานยาเมเฟนามิคแอซิดร่วมกับยาลดความดันโลหิต เช่น อะลาซีพริล (Alacepril), อัลพรีโนลอล (Alprenolol) จะทำให้ประสิทธิภาพในการลดความดันโลหิตของยาเหล่านี้ลดลง
    • การรับประทานยาเมเฟนามิคแอซิดร่วมกับยารักษาอาการทางจิตเวช เช่น ลิเทียม (Lithium) อาจเพิ่มผลข้างเคียงของยาทางจิตเวชให้สูงขึ้น[4]
    • การรับประทานยาเมเฟนามิคแอซิดร่วมกับยาต้านโรคซึมเศร้า เช่น ไซตาโลแพรม (Citalopram), เอสซิตาโลแพรม (Escitalopram), ฟลูออกซิทีน (Fluoxetine), ฟลูวอกซามีน (Fluvoxamine), พาร็อกซีทีน (Paroxetine), เซอร์ทราลีน (Sertraline) จะทำให้เลือดออกง่ายขึ้น[5]
    • การรับประทานยาเมเฟนามิคแอซิดร่วมกับการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ จะเพิ่มความเสี่ยงต่อการมีเลือดออกในกระเพาะอาหารและลำไส้มากขึ้น[4]
    • ยาอื่น ๆ ที่อาจมีปฏิกิริยาต่อกันระหว่างยา ได้แก่ ยาต้านมะเร็งเมโธเทรกเซท (Methotrexate), ยากดภูมิต้านทานไซโคลสปอริน (Cyclosporine), ยาสเตียรอยด์ (Steroids), ยาขับปัสสาวะ (Diuretics drugs), ยาเอ็นเสด (NSAIDs) ตัวอื่น[5]
  • การมีอาการหรือเป็นโรคเหล่านี้ ได้แก่ โรคในช่องปาก (Dental disease), โรคเบาหวาน, โรคความดันโลหิตสูง, โรคหลอดเลือด, โรคหัวใจหรือภาวะที่ระบบไหลเวียนเลือดมีความผิดปกติ, มีหรือเคยมีประวัติภาวะที่เลือดออกง่ายกว่าปกติหรือกำลังรับประทานยาต้านการแข็งตัวของเลือด, โรคหืด (โดยเฉพาะหืดที่เกิดจากการใช้ยาแอสไพริน), โรคภูมิแพ้, โรคลำไส้อักเสบ (Ulcerative colitis), โรคแผลเพ็ปติก (แผลในกระเพาะอาหารและลำไส้เล็กส่วนต้น), โรคแพ้ภูมิตนเองหรือโรคเอสแอลอี (SLE), มีความผิดปกติของการทำงานของตับหรือไตหรือเป็นโรคตับหรือไต, มีภาวะติ่งเนื้อเมือกที่โพรงจมูก (Nasal polyps), มีภาวะสูญเสียน้ำจากท้องเสียหรืออาเจียน, เคยมีประวัติเป็นโรคหลอดเลือดสมอง (Stroke), เคยมีประวัติการบวมที่แขน น่อง เท้า หรือข้อเท้า, เคยทำศัลยกรรมปลูกถ่ายหลอดเลือดหัวใจโคโรนารี (Coronary bypass graft surgery) มาแล้วภายใน 2 อาทิตย์ก่อนใช้ยา[3],[5]
  • เป็นผู้ดื่มแอลกอฮอล์มากกว่าวันละ 3 แก้ว หรือเป็นผู้ที่สูบบุหรี่
  • หากเป็นสุภาพสตรี ควรแจ้งว่ามีการตั้งครรภ์ หรือกำลังวางแผนในการตั้งครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายชนิดสามารถผ่านทางรกหรือน้ำนมและเข้าสู่ทารกจนอาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงต่อทารกได้

ข้อห้าม/ข้อควรระวังในการใช้ยาเมเฟนามิค

  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ที่เคยมีประวัติการแพ้ยาเมเฟนามิคแอซิด (Mefenamic acid) ยาแอสไพริน (Aspirin) หรือกลุ่มยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDs)[1]
  • ห้ามใช้ยานี้ในผู้ป่วยที่กำลังเป็นโรคแผลเพ็ปติก, โรคหืด, ลมพิษ, หวัดภูมิแพ้, โรคเลือดชนิดต่าง ๆ (เช่น โรคเกล็ดเลือดต่ำ), โรคหัวใจและผู้ที่ผ่าตัดเส้นเลือดที่หัวใจ, ผู้ป่วยที่เคยมีอาการกำเริบจากการใช้ยาแอสไพรินหรือยากลุ่มนี้[1],[4]
  • ห้ามใช้ยานี้ในหญิงตั้งครรภ์ระยะไตรมาสที่ 3 (ยาอาจก่อให้เกิดความพิการต่อทารกในครรภ์ได้) และหญิงในบุตร (ยาอาจปนออกมากับน้ำนมและก่อผลอันไม่พึงประสงค์ต่อเด็กได้)[1]
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้และห้ามใช้ยาที่เสื่อมสภาพหรือหมดอายุแล้ว
  • ห้ามใช้ยานี้ในเด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี[5] และไม่แนะนำให้ใช้ยานี้ในเด็กอายุต่ำกว่า 14 ปี[1]
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาเมเฟนามิคแอซิดร่วมกับยาแอสไพริน, ยาสเตียรอยด์, ยากลุ่มเอ็นเสด (NSAIDs) และเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ เพราะอาจเป็นการเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคแผลเพ็ปติกได้[1]
  • ควรระมัดระวังในการใช้ยาเมเฟนามิคแอซิดในผู้ป่วยตับแข็ง ไตวาย และหัวใจวาย[1] (ผู้ป่วยที่เป็นโรคตับหรือโรคไตควรหลีกเลี่ยงการใช้ยานี้ เพราะยาอาจก่อให้เกิดการบาดเจ็บเสียหายทั้งกับตับและไตได้ เมื่อจะใช้ต้องเป็นคำแนะนำจากแพทย์เท่านั้น[4])

วิธีใช้ยาเมเฟนามิค

  • ในผู้ใหญ่และผู้ที่มีอายุ 14 ปีขึ้นไป ครั้งแรกให้รับประทานยา 500 มิลลิกรัม (2 แคปซูล หรือ 1 เม็ด) ต่อไปให้รับประทานยาครั้งละ 250 มิลลิกรัม โดยให้ซ้ำได้ทุก 6 ชั่วโมงเมื่อมีอาการ และสามารถหยุดรับประทานยาได้เมื่อหายจากอาการปวด (สำหรับอาการปวดทั่วไปโดยปกติไม่ควรรับประทานยาติดต่อกันเกิน 7 วัน ส่วนอาการปวดประจำเดือน โดยปกติแล้วระยะเวลาการรับประทานยาจะอยู่ที่ประมาณ 2-3 วัน)[1],[2],[5]

คำแนะนำในการใช้ยาเมเฟนามิค

  1. ให้รับประทานยานี้พร้อมกับน้ำ 1 แก้ว (ให้กลืนยาทั้งเม็ด ห้ามหักแบ่งหรือเคี้ยวเม็ดยา) โดยควรรับประทานยาหลังอาหารทันที เพื่อลดอาการระคายเคืองในกระเพาะอาหาร (หากรับประทานยาไม่ตรงกับมื้ออาหาร ควรหาอาหารว่างมารับประทานรองท้องเสียก่อน)
  2. โดยทั่วไปยานี้ให้รับประทานเมื่อเริ่มมีอาการและให้รับประทานยาทุก 6 ชั่วโมง หรือไม่เกินวันละ 3 ครั้ง (ขนาดสูงสุดที่รับประทานในผู้ใหญ่ไม่ควรเกินครั้งละ 500 มิลลิกรัม) และไม่ควรใช้ยาติดต่อกันนานเกิน 7 วัน หรือให้ใช้ยานี้ตามวิธีใช้ที่ระบุไว้บนฉลากยาหรือตามคำสั่งของแพทย์อย่างเคร่งครัด ห้ามใช้ยาในขนาดที่น้อยกว่าหรือมากกว่าที่ระบุไว้ หากมีข้อสงสัยควรสอบถามแพทย์หรือเภสัชกร[1],[4],[6]
  3. ยาเมเฟนามิคแอซิดจัดเป็นยาอันตรายและมีผลข้างเคียงมาก ผู้ป่วยไม่ควรซื้อยานี้มารับประทานเอง อีกทั้งขนาดยาที่ใช้ในเด็กและผู้ใหญ่ในแต่ละอาการอาจมีขนาดแตกต่างกันไป ดังนั้นจึงควรได้รับคำแนะนำในการใช้ยานี้จากแพทย์หรือเภสัชกรเท่านั้น[4]
  4. หากต้องเข้ารับการผ่าตัด (รวมทั้งการผ่าตัดในช่องปาก เช่น ทำฟัน) ควรแจ้งให้แพทย์หรือทันตแพทย์ทราบว่ากำลังใช้ยานี้อยู่ เพราะยาอาจทำให้เลือดแข็งตัวช้า มีโอกาสเกิดเลือดออกในระหว่างและหลังการผ่าตัดเพิ่มขึ้น
  5. ในกรณีที่จำเป็นต้องรับประทานยาเมเฟนามิคติดต่อกันนาน ๆ ควรรับประทานยาชนิดใดชนิดหนึ่งเพื่อป้องกันการเกิดแผลเพ็ปติก[1] เช่น
    • รานิทิดีน (Ranitidine) ให้รับประทานครั้งละ 300 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง
    • โอเมพราโซล (Omeprazole) ให้รับประทานครั้งละ 20 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง
    • ไมโซพรอสทอล (Misoprostol) ซึ่งเป็นยาโพรสตาแกลนดินสังเคราะห์ ให้รับประทานครั้งละ 100-200 ไมโครกรัม วันละ 4 ครั้ง
    • ยาลดกรด (Antacids) ให้รับประทานครั้งละ 30 มิลลิลิตร วันละ 7 ครั้ง
  6. ให้หยุดใช้ยาเมเฟนามิคแอซิดเมื่อมีอาการดังต่อไปนี้[5]
    • มีไข้ ผื่นแดง ผิวหนังลอก เจ็บคอ
    • คลื่นไส้อาเจียน แน่นท้อง มีไข้ต่ำ ๆ เบื่ออาหาร ปัสสาวะมีสีเข้ม อุจจาระซีด ตัวเหลืองตาเหลือง
    • แน่นหน้าอก หายใจหอบ อ่อนเพลีย พูดไม่ชัด มีปัญหาเกี่ยวกับการทรงตัว หรือการมองเห็น
    • อาเจียนเป็นสีดำหรือเป็นเลือด ถ่ายอุจจาระเหลวเป็นสีดำหรือถ่ายเป็นเลือด
    • ปัสสาวะน้อยกว่าปกติ
    • มีอาการปวดเมื่อปัสสาวะ หรือปัสสาวะมีเลือดปน
    • ผิวมีจ้ำเลือด เลือดออกง่าย มีอาการปวดกล้ามเนื้อ

การเก็บรักษายาเมเฟนามิค

  • ควรเก็บยานี้ในภาชนะบรรจุเดิมที่บรรจุมา ปิดให้สนิท และเก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยงเสมอ
  • ควรเก็บยานี้ที่อุณหภูมิห้อง เก็บยาให้พ้นแสงแดดและความร้อน ไม่ให้อยู่ในที่มีอุณหภูมิร้อนมากกว่า 30 องศาเซลเซียส และไม่เก็บยาในบริเวณที่เปียกหรือชื้น (เช่น ในห้องน้ำ ช่องแช่แข็งของตู้เย็น) เพราะความร้อนหรือความชื้นอาจเป็นสาเหตุทำให้ยาเสื่อมคุณภาพได้
  • ให้ทิ้งยาที่เสื่อมสภาพหรือหมดอายุแล้ว

เมื่อลืมรับประทานยาเมเฟนามิค

หากลืมรับประทานยาเมเฟนามิคแอซิด ให้รับประทานยาในทันทีที่นึกขึ้นได้ แต่ถ้าเป็นเวลาที่ใกล้เคียงกับมื้อต่อไป ให้ข้ามไปรับประทานยามื้อต่อไปได้เลย โดยไม่ต้องเพิ่มขนาดยาเป็น 2 เท่าหรือมากกว่าปกติ และสามารถหยุดรับประทานยาได้เมื่อหายจากอาการปวด

ผลข้างเคียงของยาเมเฟนามิค

  • ผลข้างเคียงสำคัญของยาเมเฟนามิคแอซิด คือ อาจทำให้เกิดโรคแผลเพ็ปติก (Peptic ulcer) และกระเพาะอาหารอักเสบ (Gastritis) โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้สูงอายุ ซึ่งอาจทำให้มีเลือดออก (อาเจียนเป็นเลือดหรือถ่ายอุจจาระเป็นสีดำ) หรือกระเพาะอาหารทะลุได้[1]
  • อาจทำให้เกิดอาการปวดศีรษะ เวียนศีรษะ มึนงง ตามัว เสียงดังในหู คลื่นไส้ อาเจียน ง่วง ซึม อ่อนเพลีย เหงื่อออก น้ำมูกไหล ปากแห้ง แน่นกระเพาะ จุกเสียดหน้าอก รู้สึกไม่สบายท้อง แสบท้อง ปวดท้อง ท้องผูกหรือท้องเสีย ตับอักเสบหรือเอนไซม์ตับ (AST, ALT) สูง โรคภูมิแพ้กำเริบ เม็ดเลือดขาวต่ำ เกล็ดเลือดต่ำ โลหิตจางจากไขกระดูกฝ่อ[1],[3],[5]
  • อาจทำให้ร่างกายคั่งน้ำ (Fluid retention) ทำให้มือเท้าบวม ความดันโลหิตสูงได้ และอาจทำให้ผู้ที่มีภาวะหัวใจวายเกิดอาการกำเริบได้[1]
  • อาจทำให้เกิดอาการแพ้ยา เป็นลมพิษ ผื่นคัน หอบหืด กลุ่มอาการสตีเวนส์จอห์นสัน (Stevens-Johnson syndrome) ภาวะช็อกจากการแพ้ (Anaphylactic shock)[1]
  • อาจเกิดภาวะช็อกจากปฏิกิริยาอะนาไฟแล็กทอยด์ (Anaphylactoid) ในผู้ที่ใช้ยานี้เป็นครั้งแรก[1]
  • ถ้าใช้ยาเมเฟนามิคแอซิดในขนาดสูง ตัวยาอาจไปยับยั้งการจับตัวของเกล็ดเลือด ทำให้เลือดออกได้ จึงควรระมัดระวังการใช้ยานี้ในผู้ป่วยที่มีภาวะเลือดออกง่าย (โรคเลือด) และผู้ป่วยที่ใช้ยาต้านการแข็งตัวของเลือด[1]
  • ถ้าใช้ยาเมเฟนามิคแอซิดติดต่อกันเป็นเวลานาน อาจทำให้เกิดภาวะไตวายเรื้อรังได้[1] ส่วนอีกข้อมูลระบุว่าการได้รับยานี้อย่างต่อเนื่องอาจทำให้เกิดภาวะเกล็ดเลือดแตก (ทำให้เลือดออกง่ายและหยุดยาก) โลหิตจาง/ภาวะซีด ระคายเคืองในช่องท้อง ท้องผูกหรือท้องเสีย เกิดแผลในกระเพาะอาหารและลำไส้ ปวดศีรษะ หงุดหงิด ง่วงนอน หอบหืด ภาวะหัวใจล้มเหลว ความดันโลหิตสูง ใจสั่น ผิวหนังบวม ลมพิษ ตับและไตทำงานผิดปกติ[4]
  • การใช้ยากลุ่มเอ็นเสด (NSAIDs) ซึ่งรวมถึงยาเมเฟนามิคแอซิด (Mefenamic acid) จะเป็นการเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด และโรคหลอดเลือดสมอง ซึ่งความเสี่ยงนี้จะเพิ่มขึ้นเมื่อใช้ยาเป็นเวลานาน และยังมีปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดอีกด้วย[5]
  • ผลข้างเคียงที่ต้องแจ้งแพทย์หรือเภสัชกรทันที ได้แก่ ไม่มีแรง เหนื่อยง่ายกว่าปกติ อาเจียนเป็นเลือดหรือมีสีคล้ายเมล็ดกาแฟบด อุจจาระเป็นสีดำ ปัสสาวะมีเลือดปน น้ำหนักตัวขึ้นโดยไม่ทราบสาเหตุหรือมีอาการบวม ผื่นลมพิษ ผื่นคัน คันตา ตามัวมองเห็นไม่ชัดเจน เบื่ออาหาร ตัวเหลืองตาเหลือง มีอาการคล้ายโรคหวัด แผลพุพอง (Blisters) มีไข้ อาการบวมที่บริเวณช่องคอ ลิ้น ริมฝีปาก ตา มือ เท้า ข้อเท้า หรือน่อง กลืนอาหารลำบากหรือหายใจลำบาก หัวใจเต้นเร็วผิดปกติ ผิวซีด ปวดหลัง ปัสสาวะลำบาก ปัสสาวะแสบขัด ปวดท้อง หรือเป็นตะคริวที่ท้อง[3]
เอกสารอ้างอิง
  1. หนังสือตำราการตรวจรักษาโรคทั่วไป 1.  “กรดเมเฟนามิก (Mefenamic acid)”.  (นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ).  หน้า 233.
  2. Drugs.com.  “Mefenamic Acid”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.drugs.com.  [26 ต.ค. 2016].
  3. ยากับคุณ (Ya & You), มูลนิธิเพื่อการวิจัยและพัฒนาระบบยา (วพย.).  “MEFENAMIC ACID”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.yaandyou.net.  [26 ต.ค. 2016].
  4. หาหมอดอทคอม.  “เมเฟนามิค (Mefenamic)”.  (ภก.อภัย ราษฎรวิจิตร).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : haamor.com.  [26 ต.ค. 2016].
  5. Siamhealth.  “Mefenamic Acid”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.siamhealth.net.  [24 ต.ค. 2016].
  6. ThaiRx.  “Ponstan tab 500 mg”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : thairx.com.  [26 ต.ค. 2016].

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด